fbpx
ก้าวต่อไปข้อกำหนดกรุงเทพ สู่การสร้าง ‘นวัตกรรม’ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีนอกกำแพงเรือนจำ

ก้าวต่อไปข้อกำหนดกรุงเทพ สู่การสร้าง ‘นวัตกรรม’ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีนอกกำแพงเรือนจำ

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ ปรัชญพล เลิศวิชา ภาพ

 

ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) สมัยที่ 65 ได้ให้ความเห็นชอบ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและผู้กระทำผิดหญิงอย่างเหมาะสมตามเพศภาวะ เน้นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตทั้งในและมองไกลไปถึงชีวิตนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และขยายผลไปปรับใช้ในหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวข้อง

หนึ่งทศวรรษผ่านไป ข้อกำหนดกรุงเทพฉายผลหลายอย่างให้เป็นที่ประจักษ์ว่า สามารถช่วยปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงได้จริง อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีความท้าทายอีกหลายประการ โดยเฉพาะชีวิต ‘นอก’ กำแพงเรือนจำที่รออดีตผู้ต้องขังอยู่ เพราะเมื่อเราพูดถึงเรือนจำและผู้ต้องขัง คนจำนวนมากในสังคมยังคงมีภาพลบ และปฏิเสธที่จะตอบรับพวกเขาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ยังมิวายพูดถึงการสมัครงานที่อดีตผู้ต้องขังต้องเจอกับอุปสรรคหลายอย่าง ทำให้ไม่สามารถหางานและใช้ชีวิตได้อย่างที่หวัง สุดท้ายก็ทำให้ผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งต้องลงเอยด้วยการวนกลับเข้าสู่หลังกำแพงเรือนจำอีกครั้ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ บทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังจึงไม่ได้อยู่ที่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ในระบบยุติธรรมเท่านั้น แต่ ‘สังคม’ เป็นอีกหนึ่งตัวแสดงสำคัญที่จะรองรับอดีตผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทางสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้จัดงาน ‘ก้าวสู่ 10 ปีข้อกำหนดกรุงเทพ: ร่วมจุดประกายพลังแห่งความร่วมมือทางสังคม’ ถือเป็นงานที่รวบรวมทั้งผู้กำหนดนโยบาย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘นวัตกรรมทางความคิดเพื่อสร้างกลไกความช่วยเหลือผู้ก้าวพลาด’ เพื่อร่วมกันหาทางสร้างหนทางใหม่ๆ ที่จะรองรับและช่วยเหลืออดีตผู้ต้องขังให้ได้กลับมาใช้ชีวิตปกติอีกครั้งหนึ่ง

 

ก้าวต่อไปของข้อกำหนดกรุงเทพ: มุมมองจากไทยและต่างประเทศ

 

สำหรับมุมมองของตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรมอย่าง ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ข้อกำหนดกรุงเทพในความเข้าใจของกระทรวงยุติธรรมเป็นเหมือนจุดสำคัญในการเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติต่อผู้กระทำความผิด โดย วิศิษฏ์ชี้ว่า ปกติเวลามองผู้ต้องขัง เราจะมีมาตรฐานทั่วไปอยู่แล้ว แต่การจะพิจารณาผู้กระทำผิด แยกออกเป็นหมวดหมู่รายย่อย รายบุคคล เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่านั้น

“นานาชาติได้เล็งเห็นแล้วว่า ข้อกำหนดกรุงเทพมีความสำคัญ โดยเฉพาะกับผู้ต้องขังหญิง ที่แม้จะมีจำนวนไม่มากเท่าผู้ต้องขังชาย แต่พวกเธอมีความต้องการพิเศษทำให้ต้องได้รับการดูแลเฉพาะบางอย่าง และถ้ามองภาพแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ข้อกำหนดกรุงเทพก็สามารถถูกใช้เป็นฐานแนวความคิดในการทำงานเรื่องอื่นๆ ที่พิจารณากลุ่มเปราะบางในฐานะผู้ที่ต้องถูกคุมขังได้ด้วย”

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น วิศิษฏ์เท้าความว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังทั้งสิ้นประมาณ 348,000 คน และก่อนที่จะมีการพระราชทานอภัยโทษ ไทยมีจำนวนผู้ต้องขังประมาณ 380,000 คน 17% เป็นผู้หญิง เท่ากับว่าอัตราการขยายตัวของผู้ต้องขังหญิงในไทยสูงขึ้น จากเดิมที่อาจมีอยู่ประมาณ 10-15%

แม้จำนวนผู้ต้องขังจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่จากการวัดประสิทธิผลของการดูแลผู้ต้องขังพบว่า ผู้ต้องขังประมาณ 33% จะกระทำผิดซ้ำในห้วงเวลา 3 ปี หลังจากได้รับการปล่อยตัวออกไป ซึ่งวิศิษฏ์มองว่า เป็นตัวเลขที่ “เราอยากจะลดลงไปอีก”

 

 

เพื่อเป็นการลดความแออัดในเรือนจำและป้องกันการกระทำผิดซ้ำในหลายๆ เรื่อง กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการหลายอย่าง โดยวิศิษฏ์ยกตัวอย่าง ‘การพัฒนาพฤตินิสัย’ ที่ทางผู้ปฏิบัติงานเล็งเห็นว่า จำเป็นต้องมีการพัฒนาในด้านบวกมากกว่าด้านลบ ตรงนี้เองที่ข้อกำหนดกรุงเทพจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นฐานดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานความเป็นอยู่ เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำได้รับการปฏิบัติอย่างดีในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องสุขภาพอนามัย เทียบเคียงได้กับบริการที่ประชาชนด้านนอกได้รับ

อีกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ ‘การใช้อุปกรณ์ตรวจตราทางอิเล็กทรอนิกส์’ (electronic monitoring) เพื่อใช้ดูแลผู้กระทำความผิดที่ไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในเรือนจำ โดยใช้กับผู้ต้องขังที่ทางกระทรวงฯ ประเมินความเสี่ยงแล้วว่า สามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอกได้ ภายใต้การให้ความช่วยเหลือจากกรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติ และยังมีการจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือของกรมราชทัณฑ์ หรือศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ (CARE)

ประเด็นสุดท้ายคือ การปรับแนวคิดเรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับผู้ต้องขัง วิศิษฏ์อธิบายว่า แต่เดิมการสร้างงาน สร้างอาชีพจะเป็นการฝึกอาชีพโดยทั่วไป แต่ในปัจจุบันได้มีการตั้งตัวชี้วัดเรื่องรายได้และเงินส่วนแบ่งให้ผู้ต้องขัง ซึ่งพบว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมา จำนวนตัวเลขทั้งรายได้และเงินส่วนแบ่งสูงขึ้นกว่าเดิม 20%

อย่างไรก็ดี วิศิษฏ์ชี้ว่า ปัญหาเรื่องการจัดการเป็นปัญหาใหญ่และแม้จะมีความพยายามในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว แต่สิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญในการเปิดประตูเริ่มต้นชีวิตของผู้พ้นโทษคือ ‘สังคม’

“ผมเชื่อว่า การกลับไปสู่สังคมและมีอนาคตที่ดีจะเกิดขึ้นได้จริง ก็คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานราชการเท่านั้น แต่ต้องหมายถึงสังคมและผู้ที่มีส่วนร่วมในด้านต่างๆ ด้วย ที่จะมาร่วมสร้างนวัตกรรมและหาแนวทางเปิดรับและดูแลผู้พ้นโทษ ในลักษณะของการเป็นพี่น้องหรือเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ซึ่งน่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถดูแลบุคคลทั้งในเรือนจำ และบุคคลที่พ้นโทษไปแล้ว” วิศิษฏ์ทิ้งท้าย

 

 

ขณะที่ในระดับนานาชาติ เจเรมี ดักลาส (Jeremy Douglas) ตัวแทนระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวว่า การนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เริ่มเปลี่ยนวิธีคิดในการปฏิบัติกับผู้ต้องขังหญิงรวมถึงในกระบวนการยุติธรรมไป แน่นอนว่ายังมีความท้าทายอีกมากที่รออยู่ เช่น การรับประกันว่าผู้หญิงจะไม่ถูกจำคุกหรือกักขังโดยไม่จำเป็น รวมถึงการทำให้เรือนจำมีความละเอียดอ่อนต่อเพศภาวะมากขึ้น ซึ่งประเด็นหลังเป็นเรื่องที่ท้าทายและยังต้องอาศัยความพยายามอีกมากในการทำให้ลุล่วง

“เราทุกคนรู้ดีว่าจำนวนผู้ต้องขังหญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่วนมากมาจากเรื่องยาเสพติดถึง 80% หรือมากกว่านั้นเสียด้วยซ้ำ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ขณะที่เราให้ความสำคัญกับความช่วยเหลือทางเทคนิคและการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง เราต้องรู้ด้วยว่า แค่เรือนจำอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ”

ดักลาสเสนอการใช้มุมมองแบบองค์รวม ไล่เรียงตั้งแต่การทบทวนผลกระทบของกฎหมาย กระบวนการทางกฎหมาย และนโยบายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการพิจารณามาตรการที่ไม่ใช่การคุมขัง และไม่ลืมที่จะดูเรื่องการกลับคืนสู่สังคมด้วย

“ข้อกำหนดกรุงเทพครบรอบ 10 ปีในช่วงเวลาที่โรคระบาดเกิดขึ้นอย่างที่เราไม่คาดคิดมาก่อน” ดักลาสกล่าว “โรคระบาดทำให้โลกของเราโกลาหลไปหมด เราทุกคนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานที่บ้าน ใช้เวลากับครอบครัว แต่กับผู้หญิงทั่วโลกที่ถูกกักขังอยู่ เรื่องราวของพวกเธอแตกต่างออกไป”

“ถ้าโควิด-19 สอนให้เราตระหนักถึงคุณค่าของการปกป้องตัวเองและครอบครัว สำหรับกลุ่มเปราะบางอย่างผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำแล้วก็อาจจะเป็นเรื่องตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะพวกเธอจะต้องพึ่งพาระบบยุติธรรม และพวกเราในการปกป้องพวกเธอให้ปลอดภัย การบังคับใช้และการอภิปรายเกี่ยวกับข้อกำหนดกรุงเทพจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพเรือนจำ เพื่อที่เมื่อผู้ต้องขังหญิงหวนกลับไปหาครอบครัว พวกเธอจะได้รับการโอบกอดอย่างอบอุ่นอีกครั้ง”

 

10 ปีข้อกำหนดกรุงเทพ ร่วมจุดประกายความร่วมมือทางสังคม – กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

 

 

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘นวัตกรรม’ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า นวัตกรรมคือวิธีคิดหรือวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เราทำสิ่งเดิมได้ดีขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ หัวใจของนวัตกรรมจึงไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่การมีความคิดเชิงนวัตกรรม (innovative idea) มีการปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการ

“ในบริบทนี้ สถานที่อย่าง ‘เรือนจำ’ ก็สามารถมีนวัตกรรมได้เช่นกัน และจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดสำหรับผมคือ เริ่มที่วิธีคิด”

กิตติพงษ์ขยายความว่า ‘วิธีคิด’ ที่ว่า คือการมองว่าเรือนจำไม่ใช่สถานที่สำหรับลงโทษ แต่เป็นสถานที่สำหรับให้กำลังใจ พร้อมทั้งอธิบายต่อว่า จริงอยู่ที่ผู้กระทำผิดต้องได้รับผลของการกระทำ แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น การที่คนบางคนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นเพราะพวกเขาขาดโอกาสในหลายๆ ด้านอยู่แล้ว ทำให้การควบคุมเสรีภาพ นอกจากจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา กลับจะยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้นเวลากลับออกมา

“โจทย์ของพวกเราในวันนี้จึงเป็นการปรับวิธีคิด มองว่าเรือนจำจะไม่ใช่สถานที่ลงโทษอีกต่อไป เพราะผู้ต้องขังได้สูญเสียเสรีภาพและถูกลงทัณฑ์ไปแล้ว เราจึงต้องเข้ามาช่วยกันให้โอกาสและเปลี่ยนแปลง และวิธีที่ดีที่สุดและทรงพลังที่สุด คงเป็นอะไรไม่ได้มากไปกว่าการเป็นหุ้นส่วนเพื่อสังคม (social partnership)”

กิตติพงษ์ทิ้งท้ายว่า แม้ความคิดของใครคนใดคนหนึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นนวัตกรรมได้ แต่นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไม่ได้เกิดจากความคิดของใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่จะเกิดจากการมีคนมาช่วยกันคิด วิจารณ์ นำประสบการณ์มาทำให้ความคิดที่ดีอยู่แล้วดียิ่งขึ้น จนนำไปสู่การปฏิบัติได้ในที่สุด

 

‘ปลูกคน’ ด้วยชีวิตที่ ‘มีอะไรต้องเสีย’ – ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล

 

คำถามที่ ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เริ่มต้นก่อนการบรรยายคือ “ทำผิด ติดคุก พ้นโทษ แล้วไปไหน? ถ้าอดีตผู้ต้องขังจะไปสมัครงาน มีสักกี่คนที่จะเปิดโอกาสให้กับเขา”

“ถ้าสมัครงานหน่วยงานภาครัฐจะมีระบุไว้ว่า ต้องไม่เคยมีคำพิพากษา ไม่เคยถูกลงโทษ ไม่เคยถูกไล่ออก ส่วนเอกชนก็บอกว่าต้องไม่เคยต้องโทษในอดีตอาญา ไม่มีประวัติ ไม่มีคดีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เมื่อเป็นแบบนี้ โอกาสที่อดีตผู้ต้องขังจะตกงานจึงมีมากมายเหลือเกิน”

ม.ล.ดิศปนัดดากล่าวว่า แม้เราจะได้ยินคำว่า ‘โอกาส’ อยู่ตลอด แต่คำถามคือ โอกาสสำหรับพวกเขามีอยู่จริงหรือ เพราะสำหรับอดีตผู้ต้องขังแล้ว ถ้าไม่เป็นแรงงานที่ทำงานแบบไม่มีคุณภาพ ก็จะต้องเป็นเจ้าของกิจการเองจึงจะพอมีช่องทางให้ไปต่อได้ แต่คำถามคือ จะมีอดีตผู้ต้องขังสักกี่คนที่มีทุนเริ่มต้นทำกิจการของตนเองได้

 

 

“ผมมีโอกาสไปคุยกับผู้ต้องขัง คำพูดหนึ่งที่กินใจผมมากคือ เขาบอกว่า “ชีวิตผมไม่มีอะไรต้องเสีย” ประโยคนี้น่าสนใจนะ เพราะถ้าเขามองว่า ชีวิตตนเองไม่มีอะไรต้องเสียแล้ว การจะกลับไปทำผิดหรือทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมือนที่เคยทำมาก็ง่ายมาก เพราะเขาไม่มีอะไรจะเสียไง การจะสร้างความเปลี่ยนแปลงจึงต้องแก้จากความคิดว่า ไม่มีอะไรต้องเสีย เป็น “ชีวิตมีอะไรต้องเสีย” แทน”

คำถามต่อมาคือ ‘อะไรที่ต้องเสีย’ หมายถึงอะไรกันแน่ ม.ล.ดิศปนัดดาเล่าถึงร้านกาแฟต้นแบบที่เรือนจำดอยฮาง ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษได้เข้ามาทำงานด้วย ซึ่งเขามองว่า เราต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของอดีตผู้ต้องขังว่าจะลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะถ้าเราเองยังไม่เชื่อในสิ่งนั้น เราก็อาจจะทำงานแบบไม่ทุ่มเทพอที่จะสร้างสภาพแวดล้อมให้เขาไปต่อได้ เพราะ “เราต้องมองในสิ่งที่เขาทำได้ มากกว่าสิ่งที่เขาเคยทำ”

“ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงระบบได้ ต้องสร้างงาน สร้างโอกาส และสร้างสถานที่ปลอดภัย และที่สำคัญกว่านั้นคือ การสร้างเกียรติและศักดิ์ศรี เวลาเราบอกว่ามีอะไรในชีวิตที่ต้องเสีย ถ้าสิ่งที่ว่าคือเงินอย่างเดียว มันก็อาจสู้กับความเถื่อนของยาเสพติดไม่ได้ แต่ความภาคภูมิใจที่คนรอบตัวมีให้เราต่างหากที่เป็นอะไรที่เราจะต้องเสีย” ม.ล.ดิศปนัดดาทิ้งท้าย

 

เพิ่ม ‘โอกาส’ จากธุรกิจระดับชุมชน – จิราพร ขาวสวัสดิ์

 

 

สำหรับ จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (OR) ‘คน’ คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับชุมชน เพราะไม่ว่าโลก ประเทศ หรือเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราก็จะก้าวข้ามผ่านไปได้อย่างยั่งยืนเพราะคน และถ้ามองในระดับองค์กร การที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืนได้ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล สังคม และองค์กร ก็มาจากการอยู่ร่วมกันของคนและองค์กรนั่นเอง

“ในองค์กรของเรา ทุกท่านทราบดีว่าเราทำธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง แต่ปรัชญาในการทำงานเกี่ยวกับคนของเราคือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้คนในชุมชนและสังคมรอบๆ สถานประกอบการมีโอกาส และมีสิ่งที่จะทำให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน”

สำหรับการทำงานกับผู้ต้องขังโดยตรง จิราพรเล่าว่า OR เข้าไปช่วยพัฒนาฝีมือให้ผู้ต้องขังที่เรือนจำกลางสุโขทัย โดยให้โอกาสพวกเขาได้ฝึกอาชีพบาริสต้า (barista) และได้บริหารร้านค้าด้วยอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน

“ผลที่ได้คือ ผู้ต้องขังรู้สึกว่าแม้เขาจะยังอยู่ในเรือนจำ แต่เขาได้รับการยอมรับและได้โอกาสให้ออกมาที่ร้านกาแฟเพื่อให้บริการ พบปะผู้คน และส่งมอบรอยยิ้มให้แก่กัน ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เขามีความหวังว่า ตนเองได้รับการยอมรับ”

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ การออกแบบร้านค้า และการคิดเมนูเพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า “นี่คือกำลังใจ”

“ร้านกาแฟที่เรือนจำกลางสุโขทัยจะมีเมนูพิเศษ เรียกว่า ‘กำลังใจ’ ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบกันอยู่ในหนึ่งแก้วจะมีนม มะพร้าวน้ำหอม และช็อตกาแฟเข้มข้น ชั้นบนเป็นกาแฟเข้มข้นสีดำ ชั้นกลางลงมาจะมีสีเหลือง และชั้นล่างสุดจะเป็นสีขาว เปรียบเหมือนชีวิตของคนที่ก้าวพลาด”

“ถ้าเรายกดื่มจะพบว่า แรกดื่มจะรู้สึกขมจากช็อตของกาแฟเข้มข้น นั่นคือจังหวะที่เขาก้าวพลาดไปแล้ว แต่ถ้าเราช่วยกันคลุกเคล้ากาแฟจะพบว่า กาแฟจะเปลี่ยนไป มีรสชาติที่หอมหวาน มีความมัน นั่นคือความรู้สึกว่า ฉันได้รับกำลังใจ และได้รับโอกาสในที่สุด”

 

สร้างงาน สร้างโอกาส ด้วยดิจิทัล – จรัล งามวิโรจน์เจริญ และ ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล

 

“ทุกท่านทราบไหมครับว่า ทุกวันนี้เรามี AI อยู่รอบๆ ตัวเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นการสแกนป้ายทะเบียนรถ สแกนหน้าเข้าตึก หรือพอเราเข้าบ้าน สั่งให้ AI เปิดหน้าต่าง เปิดไฟ หรือแม้แต่เปิดเพลงก็ได้ หรือจะเป็นเรื่องการวินิจฉัยโรคในทางการแพทย์ หรือการออกแบบสำหรับสถาปนิก AI ก็ทำได้ แต่จริงๆ แล้ว เราต้องอาศัยคนไปสอน AI  เหมือนสอนให้เด็กอ่านหนังสือ”

 

 

ข้างต้นคือการเกริ่นนำจาก จรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist และ VP of Data Innovation Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า เราสามารถสอนข้อมูลให้ AI ได้ เช่น ถ้าเราอยากจะให้ AI ทำความเข้าใจสิ่งที่กำลังพูดหรือแปลงให้เป็นตัวหนังสือ เราก็ต้องมีข้อมูลของเสียงหรือของตัวหนังสือก่อน

“ถ้าพูดให้ชัดขึ้น เวลาคนพิมพ์ข้อความลงโซเชียลมีเดีย ถ้าเราอยากรู้ว่าอารมณ์ของเขาเป็นยังไง เราก็ต้องให้ตัวอย่าง AI ไปก่อน เช่น ถ้าเราบอกว่า ‘เปิดแว้ว’ อันนี้คือคำพูดที่เป็นบวกใช่ไหมครับ เหมือนอารมณ์ดีใจ เพราะฉะนั้น การจะทำให้ AI ฉลาดได้ต้องอาศัยคนมาสอน และอาจต้องมีคนสอนเยอะพอสมควรด้วย”

“นี่คือจุดเริ่มต้นที่เราจะนำงานตรงนี้มาพัฒนาคนและพัฒนาดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งในการพึ่งพากันระหว่างคนและเครื่องจักร” จรัลกล่าว

ขณะที่ ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด เสริมต่อว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่สามารถสอน AI ได้ แต่เรามักจะมองข้ามไปคือ กลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ เพราะในเมื่องานเหล่านี้ต้องใช้ทักษะของคนและทำจากที่ไหนก็ได้บนโลก ผู้ต้องขังก็สามารถทำได้เช่นกัน

“เราอาจจะมองว่าชีวิตในเรือนจำน่ากลัว แต่สำหรับผู้ต้องขังแล้ว โลกข้างนอกเรือนจำน่ากลัวยิ่งกว่า เพราะทันทีที่เขาก้าวขาออกมานอกเรือนจำวันแรก ค่าใช้จ่ายในชีวิตของเขาจะเกิดขึ้นทันที อดีตผู้ต้องขังต้องคิดว่า ตนเองจะไปหางานที่ไหน และยิ่งสังคมได้ตีตราเขาไปแล้วก็ทำให้หางานได้ยากขึ้นไปอีก หรือถ้าจะไปทำธุรกิจของตนเอง ก็อย่าลืมว่าการทำธุรกิจต้องอาศัยเงินตั้งต้นและเงินลงทุน ทำให้การทำธุรกิจเองแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย”

ธิษณาแบ่งปันประสบการณ์ที่พวกเธอได้เข้าไปกับทำงานกับกลุ่มผู้ต้องขังและออกแบบโครงการนำร่องในสถานที่ 3 แห่ง ได้แก่ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนชายในจังหวัดกาญจนบุรี ชุมชนแออัดคลองเตย และเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยากับกลุ่มผู้ต้องขังหญิง

 

 

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดของเรือนจำที่ไม่ให้นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไป ธิษณาและคณะจึงต้องทดลองทำตัวอย่างต้นแบบ (prototype) ในกระดาษให้ผู้ต้องขังดู สิ่งที่พวกเธอพบคือ ผู้ต้องขังสามารถทำงานสอน AI ได้จริงๆ และจากการเก็บ feedback ในภายหลังแล้ว ผู้ต้องขังจำนวนมากบอกว่า อยากทำงานนี้

“เมื่อเราลองประเมินมูลค่าการจ้างงานพบว่า การที่ให้คนมาสอน AI ตลาดจะจ่ายอยู่ที่ 70 บาท/ชั่วโมง และถ้าทำงานวันหนึ่งสัก 5 ชั่วโมงก็จะได้เงินประมาณ 350 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าแรงงานขั้นต่ำต่อวัน ถ้าเดือนหนึ่งทำงานประมาณ 20 กว่าวัน ตีว่าได้เงินประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน หรือถ้าขยันหน่อยก็ได้มากกว่านั้น ก็เป็นราคาที่พอๆ กับการจ้างพนักงานปฏิบัติการระดับต้นเลยด้วยซ้ำ”

อย่างไรก็ดี ธิษณาชี้ว่า หนึ่งในความท้าทายสำคัญคือ จำนวนข้อมูล ที่ยังมีไม่เยอะมาก เธอจึงเสนอว่า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอาจจะลองพิจารณาการเก็บข้อมูลต่างๆ ให้อยู่ในรูปดิจิทัล เพราะเมื่อทุกอย่างอยู่ในรูปแบบดิจิทัลแล้วก็หมายถึงข้อมูลที่จะนำไปต่อยอดได้มากขึ้น เปรียบเหมือนต้นน้ำที่ทำให้ปลายน้ำมีโอกาสสร้างอาชีพได้ด้วย

 

สร้างนวัตกรรมสนับสนุนการจ้างงานอดีตผู้ต้องขัง ด้วยกลไกทาง ‘ภาษี’ – เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

 

“มีสถิติบอกว่า 35% ของคนที่ออกจากเรือนจำกลับมากระทำผิดซ้ำ นี่คือวงจรอุบาทว์ที่ไม่ได้ทำร้ายเฉพาะตัวเขา แต่ทำร้ายประเทศชาติของเราด้วย ที่ต้องขาดแรงงานที่มีความรู้ความสามารถ”

“คำถามคือเราจะตัดวงจรอุบาทว์นี้ได้อย่างไร” คือคำถามจาก ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร โดยเอกนิติเท้าความว่า แม้มนุษย์ส่วนมากจะเกิดมาเท่ากัน คือมีอวัยวะเท่ากัน แต่ชีวิตกลับต่างกัน เพราะโอกาสจริงๆ เริ่มต้นตั้งแต่เกิด บางคนได้โอกาสที่ดี ครอบครัวส่งเสียให้เรียนหนังสือ ทำให้ได้ทำงานดีๆ และได้โอกาสหลายอย่างในชีวิต แต่ยังมีอีกหลายคนที่ขาดโอกาส ไม่แม้แต่จะได้เรียนหนังสือ ทำให้เมื่อใดก็ตามที่เห็นช่องทางพอมีรายได้ พวกเขาก็จะหยิบฉวยช่องทางนั้นเอาไว้ เช่น เลือกที่จะขายหรือยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

 

 

“ที่เราบอกว่าพวกเขาทำผิด จริงๆ แล้วเขาคือคนทำผิดหรือสังคมไม่เคยให้โอกาสเขา ประเทศไม่ให้โอกาสเขามีงาน เมื่อเขาไม่มีโอกาส ก็เลยต้องหยิบฉวยอะไรที่เข้ามา ซึ่งเราสิ่งนั้นว่า ‘การทำผิด’ เมื่อทำผิดก็ต้องเข้าสู่เรือนจำ ถูกกักขังอิสรภาพ พอเขาออกมาก็ไม่มีงานทำเหมือนเดิม เลยต้องกลับไปทำผิดซ้ำอีกครั้ง กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ว่ามาข้างต้น”

เอกนิติฉายภาพว่า ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ กำลังแรงงานในวัย 15-59 ปี มีอยู่แค่ 37 ล้านคนในปัจจุบัน จากประชากรทั้งหมด 70 ล้านคน และด้วยอัตราการเกิดที่ไม่ถึงปีละ 0.5% ทำให้ในอนาคต กำลังแรงงานอาจหายไปถึงประมาณ 6-7 ล้านคน นอกจากนี้ จากวงจรอุบาทว์ที่เขาว่ามาข้างต้น ทำให้ประเทศต้องใช้งบประมาณในแต่ละปีกว่า 14,000 ล้านบาทในการดูแลผู้ต้องขังที่ถูกดึงออกมาจากตลาดแรงงาน

ในมุมมองภาครัฐ เอกนิติจึงเสนอว่า เราต้องปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการ มองว่าเรือนจำเป็นที่สร้างโอกาส เป็นเหมือนโรงเรียนที่จะให้การศึกษา สร้างให้คนมีความรู้ความสามารถในการตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และอีกประเด็นที่น่าสนใจและอาจนำมาปรับใช้ในเรื่องนี้ได้ด้วยคือ ‘ภาษี’

“เราคิดถึงการนำภาษีมาทำเป็นแรงจูงใจเพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมบางอย่าง ในกรณีนี้คือ การมีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ถ้าหน่วยงานไหนจ้างคนพ้นโทษออกมาทำงาน ในช่วงเวลาไม่เกิน 3 ปี เราให้หักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50% หรือ 1.5 เท่า”

ในตอนท้าย เอกนิติกล่าวว่า หน่วยงานเอกชนที่รู้ว่าตนเองต้องการคนทำงานแบบไหน อาจเริ่มตั้งแต่การจัดอบรมหรือจัดกิจกรรม เข้าไปพัฒนาคนจากในเรือนจำ เปลี่ยนเรือนจำจากพื้นที่จำกัดโอกาสเป็นพื้นที่แห่งการสร้างโอกาสที่แท้จริง

 

หนทางสร้าง ‘เมล็ดพันธุ์’ แหล่งทุนสำหรับผู้พ้นโทษ – รื่นวดี สุวรรณมงคล

 

 

วิทยากรท่านสุดท้าย รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชี้ให้เห็นว่า หลายครั้งที่เราบอกว่าเงินทุนเป็นเมล็ดพันธุ์ในการสร้างสิ่งใหม่ๆ สิ่งดีๆ ให้กับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน เงินทุนอาจเป็นกำแพงหนากีดขวางโอกาสในการเริ่มต้นธุรกิจของใครหลายคนเช่นกัน ยิ่งในกรณีของผู้ต้องขังที่แม้จะได้รับการฝึกฝนอาชีพมาจากในเรือนจำแล้ว แต่คำถามสำคัญคือพวกเขาจะนำทุนจากที่ไหนเพื่อประกอบกิจการ เพราะหากจะกู้เงินจากธนาคารก็จะเจอข้อจำกัดด้านประวัติ หรือถ้าอยากจะสมัครงานก็อาจจะติดข้อจำกัดที่เคยถูกจำคุกอีก

จากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับกระทรวงยุติธรรม รื่นวดีเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และร่วมกับเพื่อนร่วมงานพัฒนาแหล่งเงินทุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคนที่เคยก้าวพลาดและพ้นโทษออกมาแล้ว ได้มีเงินทุนไปประกอบอาชีพที่สุจริตต่อไป และยังเป็นการลดการกระทำผิดซ้ำอีกด้วย

นอกจากนี้ รื่นวดียังยกตัวอย่างนวัตกรรมทางการเงิน 4 แบบ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งอาจถูกนำมาประยุกต์ใช้ได้ เช่น พันธบัตรเพื่อสังคม (social impact bond) หุ้นกู้เพื่อพัฒนาสังคม กิจการเพื่อสังคม (social enterprise) และสิ่งที่เราอาจจะพอคุ้นชินกันอย่างการระดมทุน (crowdfunding) เช่น เว็บไซต์ระดมทุน GoFundMe หรือ Crowdfunder

ทั้งนี้ รื่นวดีทิ้งท้ายว่า นอกจากเรื่องแหล่งทุนแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การสร้างวินัยทางการเงิน ที่เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยปัจจุบันมีการพัฒนา e-learning เพื่อให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงินกับผู้พ้นโทษผ่าน 4 คำหลัก ได้แก่ “ใช้เป็น หาได้ จัดการ และมีออม” ซึ่งเครื่องมือทางการเงินดังกล่าวน่าจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้ผู้พ้นโทษสามารถหาแหล่งเงินทุน เพื่อนำมาต่อยอดในการประกอบอาชีพและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขอีกครั้งหนึ่ง

 

 

ภาพบรรยากาศ โดย ปรัชญพล เลิศวิชา

 

ภาพบรรยากาศ โดย ปรัชญพล เลิศวิชา

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save