ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปคงทำให้มาตรฐานอะไรต่างๆ ต้องเปลี่ยนตาม ความบันเทิงที่เราเคยได้รับกันจากโรงภาพยนตร์ ทุกวันนี้สามารถเสพกันบนหน้าจอส่วนตัวขนาดเล็กภายในบ้านผ่านระบบสตรีมมิงแสนทันสมัย ซึ่งหลายๆ ค่ายต่างก็แข่งขันกันเอาอกเอาใจลูกค้าสมาชิกด้วยการลงทุนสร้างเนื้อหาใหม่ๆ ไม่ต้องคอยรอโปรแกรมหนังเก่าลาโรงกันอีกต่อไป เกิดเป็นกิจกรรมการสร้างภาพยนตร์สำหรับแพล็ตฟอร์ม สตรีมมิง ออนไลน์ ที่หลายๆ เรื่องก็พิสูจน์แล้วว่าคุณภาพดีงามเสียยิ่งกว่าภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงทั่วไป ทั้งยังเล่นเยอะเล่นใหญ่ใส่เต็มคาราเบล ไม่ว่าจะงานโปรดักชั่นและงานภาพ ที่ควรจะได้ดื่มด่ำกำซาบกันในโรงภาพยนตร์มากกว่ากรอบจอเล็กๆ ในครัวเรือน!
เมื่อวัฒนธรรมการสร้างภาพยนตร์มีรูปแบบใหม่ๆ ที่แตกต่าง การสร้างมาตรฐานกรอบเกณฑ์ประเมินคุณค่าก็ดี การหาตัวชี้วัดมาบ่งบอกระดบความสำเร็จของหนังแต่ละเรื่องก็ดี ย่อมต้องมีรายละเอียดที่แตกต่างไปด้วย เมื่อภาพยนตร์ที่สร้างสำหรับระบบสตรีมมิ่งนั้นไม่ได้วัดกันที่รายได้ยอดขายตั๋วแบบบ็อกซ์ ออฟฟิศอีกต่อไป กระทั่งไม่ได้เข้าชิงรางวี่รางวัลจากสถาบันภาพยนตร์ใดๆ แล้วอย่างนี้เราจะใช้อะไรมาเป็นปัจจัยชี้วัดความสำเร็จของหนังสตรีมมิงแต่ละเรื่องกันดี
ปรากฏการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์ไทยในแพล็ตฟอร์มสตรีมมิงเรื่อง ‘HUNGER คนหิว เกมกระหาย’ (2023) ของค่ายเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) น่าจะเป็นภาพร่างที่สร้างดัชนีชี้วัดความสำเร็จของหนังในกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี โดยวิธีดูง่ายๆ คือมันสร้างกระแสไวรัลจนคนที่ได้ดูรู้สึกอยากสะท้อนความคิดเห็นว่าผลงานมีความโดดเด่น มีความความอ่อนด้อย ถูกใจไม่ถูกใจตรงไหน กลายเป็นชนวนจุดความสนใจให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง สร้างความฮือฮานำไปบอกต่อเล่นล้อสร้างมุกสร้างมีม (meme) จนเหมือนเป็นบทสนทนาภาคบังคับที่ใครที่ยังไม่ได้ดูก็อาจรู้สึกตกกระแสไปเลย!
‘กัลปพฤกษ์’ เอง จากที่เคยหมกมุ่นวุ่นวายกับการติดตามดูแต่หนังฉายโรงหนังฉายเทศกาล จนไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับบ้านดูหนังสตรีมมิงอะไรเหล่านี้มากนัก ยังถูกคนรู้จักทักถามอยู่หลายครั้งว่าดูหนังเรื่องนี้แล้วหรือยัง มีเขียนถึงไว้บ้างไหม เดี๋ยวจะตามไปอ่าน จนรู้สึกเหมือนเป็นนักวิจารณ์ที่ไม่รับผิดชอบหากจะผ่านเลยหนังเรื่องนี้ไป ยังต้องกลับมานั่งดูเลยว่า ไหนดูซิ! ว่าเขาฮือฮาอะไร ก่อนจะพบความน่าสนใจที่ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เพราะหนังมีอะไรให้ได้วิพากษ์วิจารณ์ชวนคิดชวนอ่านร่วมพูดคุยมากมายเหลือเกิน!
มองในภาพรวมแล้ว การที่ ‘HUNGER คนหิว เกมกระหาย’ กลายเป็นหนังไวรัลจนคนเขาต่างพูดถึงกันนั้น นอกเหนือจากว่ามันจะพูดถึง everyone’s favorite subject นั่นคือเรื่องอาหารการกินแล้ว ตัวหนังเองยังมีทั้งส่วนผสมที่จัดว่าดีเอามากๆ กับอีกบางส่วนที่กากถึงกากมากอยู่ในเรื่องเดียวกันจนกลายเป็นความแปลกพิเศษ มันมิใช่หนังเกรด A ดีงามทุกภาคส่วนที่ทุกคนจะสรรเสริญเยินยอไปในทางเดียวกัน และไม่ใช่หนังที่ย่ำแย่ถึงขั้นต้องออกมาประจานขานเตือนไม่ให้เพื่อนคนอื่นต้องเสียเวลาดู แต่มันเป็นหนังที่กระตุ้นให้เกิด ‘ความรู้สึก’ ที่ผสมปนเปกันหลายๆ อย่าง ทั้งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ จนใคร ๆ ก็อดรนทนไม่ไหวต้องร่ำระบายแลกเปลี่ยนสนทนาจนกลายเป็นวาระสำคัญของเหล่าคนรักหนังที่เป็นสมาชิกของสตรีมมิงค่ายนี้
ขอเริ่มที่สิ่งที่ดีงามที่สุดในหนังเรื่องนี้กันก่อน เนื่องจากตอนที่ได้ดูรู้สึกอยู่เสมอว่า เนื้อหาหลักของ ‘HUNGER คนหิว เกมกระหาย’ มี premise (สิ่งที่อยากเล่า) ที่กินขาด กับการบริภาษความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นสังคมด้วยธุรกิจการให้บริการอาหารแบบ fine dining ของครัว HUNGER ซึ่งนำทีมดูแลโดย ‘เชฟพอล’ (นพชัย ชัยนาม) ชื่อดัง จนเชฟทั้งประเทศต่างก็อยากจะมาเป็นลูกมือเรียนรู้เคล็ดลับ กับการไต่เต้าของแม่ค้าขายผัดซีอิ๊วร้านห้องแถวที่อยากจะกลายเป็น ‘คนพิเศษ’ กว่าใครๆ และได้มาทดสอบงานกับเชฟพอล ซึ่งเป็นไอเดียเริ่มต้นที่ขายเอามากๆ
แต่ก่อนอื่นก็อยากจะอธิบายไว้สักนิดว่า ในการวิจารณ์หนัง บางครั้งเราต้องแยกส่วน ‘premise’ กับ ‘execution’ (วิธีการเล่า) ออกจากกัน เพราะมันมักจะมีอิสระเป็นเอกเทศ โดย premise หรือส่วนที่เป็นไอเดียเริ่มต้น เรื่องราวย่อๆ เพียงไม่กี่บรรทัดว่าหนังกำลังจะเล่าอะไร กับ execution ที่เริ่มนับตั้งแต่การนำเรื่องย่อนั้นมาขยายเป็นบทหนัง การลงมือถ่ายทำ ตัดต่อ และกระบวนการหลังการถ่ายทำ (post-production) จนสำเร็จออกมาเป็นหนัง สามารถเป็นไปได้ทั้งกรณี premise ชั้นดี แต่วิธีการ execution ห่วย หรือ premise ไม่น่ารอด แต่ execute แล้วกลับออกมาดีเฉย! บางครั้งเราเลยต้องจำแนกระหว่าง premise กับ execution เพื่อจะบอกว่า ในขณะที่ premise ของ ‘HUNGER คนหิว เกมกระหาย’ เป็นอะไรที่วิเศษดีงาม execution ของหนังตั้งแต่การเขียนบทของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี และการกำกับของ สิทธิศิริ มงคลศิริ ที่ตามมา มันกลับไม่น่าชื่นชมเท่าตัว premise สักเท่าไหร่ มันเลยเป็นบาดแผลที่ใครต่อใครต่างก็พิเคราะห์พาดพิงถึงกันไปมากมายแล้ว
เอาที่บทภาพยนตร์ของ ‘HUNGER คนหิว เกมกระหาย’ ก่อน ในขณะที่โครงเรื่องทั้งหมดที่วางไว้ อยู่ในขั้นแข็งแรงจนน่าพอใจ ทุกส่วนมีความเป็นไปได้ แม้แต่ด้านแรงจูงใจสำคัญแต่หนหลังของเชฟพอลเองก็ยังอยู่ในวิสัยที่พอจะสมเหตุสมผลอยู่ แต่วิธีการเขียนบทของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่มีความเทศนาโวหาร (didactic) มากมาย อยากจะนำเสนอความคิดอ่านใด ก็จะประดิษฐ์คำคมยัดใส่ปากตัวละครแบบเสียมิได้ จนกลายเป็นความแข็งกระด้างไร้ชั้นเชิงอย่างไม่น่าให้อภัยเลย คือสารเดียวกันมันพอจะมีวิธีให้ตัวละครถ่ายทอดออกมาแบบเนียนๆ ไม่ตรงๆ ลุ่นๆ เลี่ยนๆ จนชวนให้คลื่นเหียนกันถึงขนาดนี้ พอบทพยายามจะยัดเยียด คนดูก็จะรู้สึกรังเกียจว่าจะมาตักมาป้อนกันทำไม ยังพอมีสมองคิดตีความเองได้ แค่สื่อมาโดยนัยๆ ให้ชัดประมาณนึงก็พอ!
ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ เนื้อหาของ ‘HUNGER คนหิว เกมกระหาย’ ว่าด้วยธุรกิจเฉพาะกลุ่ม (niche) ที่ผู้ชมน้อยคนนักอาจเคยใช้บริการ หรือที่เคยทำงานทำการอยู่ในแวดวงนี้ก็อาจจะน้อยเข้าไปใหญ่ สร้างภาระให้คนเขียนบทต้องค้นคว้าวิจัย ลองใช้ชีวิตคลุกคลีกับผู้ที่เคยทำอาชีพนี้เพื่อจะได้มีข้อมูลเด็ดๆ ลึกๆ มาร้อยเรียงเป็นบทหนัง เพราะอาชีพคนเขียนบทนี่มันช่างอาภัพ มิเคยได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงอื่นนอกเหนือไปจากการทำหนัง พอตั้งใจจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนอื่นก็เลยต้องใช้เวลาหาข้อมูลกันยกใหญ่ เพื่อให้ได้รายละเอียดต่างๆ มาสร้างเป็นบท แต่ดูเหมือนคงเดชใน ‘HUNGER คนหิว เกมกระหาย’ จะยังศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ไม่มากพอ กลเม็ดเคล็ดลับทั้งหลายเช่นต้องรอให้ข้าวหุงสุกแข็งเป็นเม็ดด้วยการแช่ตู้เย็นค้างคืนก่อนจะนำมาทำเป็นข้าวผัด หรือการตัดฝานก้อนเนื้อวากิวที่ห้ามไม่ให้ใช้การเลื่อยไถจึงกลายเป็นอะไรที่ใครๆ ก็รู้ จนคนดูบางรายอาจไม่ได้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับธุรกิจนี้ในทางใด ซึ่งก็ยิ่งสะท้อนความอ่อนชั้นเชิงของบทหนังโดยรวมเข้าไปใหญ่ที่มักจะใช้การเพ้อมโนของผู้เขียนบทมากเกินไปจนกลายเป็นความไม่สมจริง สิ่งที่น่าสนใจในส่วนของของบทหนังจึงไปอยู่ที่การเสียดสีพฤติกรรมทำตามๆ กันด้วยอุปทาน ผ่านฉากปาร์ตี้รวมตัวกันรับประทานอาหารชั้นเลิศจากฝีมือกุ๊กอันดับต้นๆ ของประเทศที่กลับกลายเป็นดูรสนิยมแย่ (low taste) มิได้มีรสนิยมวิไลไปตามสถานะทางสังคม ซึ่งส่วนนี้เองที่ตัวบทพอจะอนุญาตให้ใช้วิธีการเล่นล้อแบบการ์ตูนล้อเลียน (caricature) ที่จะต้องเล่นใหญ่เกินจริงอยู่สักหน่อย มันถึงจะต่อยฮุกได้ชวนสะใจ เป็นส่วนเดียวของหนังที่พอจะมีความคมคาย สร้างเนื้อหาสาระให้ ‘HUNGER คนหิว เกมกระหาย’ มีความเป็นงานสะท้อนสังคมที่น่าดูชมอยู่
จากบทหนังมาถึงการกำกับของ สิทธิศิริ มงคลศิริ ที่เห็นงานโปรดักชั่นแล้วต้องยอมรับว่าหรูหราโฉบเฉี่ยวฟู่ฟ่าด้วยลีลาที่ฉูดฉาดอย่างมีรสนิยม สร้างบรรยากาศให้ ‘HUNGER คนหิว เกมกระหาย’ เป็นงานระทึกขวัญสะท้อนสังคมที่ดูแพงอย่างไม่เสแสร้ง สะท้อนภาพความย้อนแย้งระหว่างครัว HUNGER กับร้านผัดซีอิ๊วห้องแถวและผู้คนในแต่ละชนชั้นได้อย่างสร้างสรรค์ แต่ละฉากรับประทานอาหารของเหล่าคนรวยก็สร้างเอกลักษณ์ในแบบที่ไม่ซ้ำกัน ค่อยๆ เผยความจัญไรภายใต้ภาพเบื้องหน้าอันแสนฉาบฉวยด้วยความเว่อร์วัง ซึ่งก็แสดงความตั้งใจในการล้อเลียนผู้คนในชนชั้นนี้ได้อย่างมีที่มา
ทว่าสิ่งที่ผู้กำกับพลาดมากที่สุดคือการกำกับนักแสดง ที่ทั้งแก๊งนี่แต่ละคนเล่นกันแบบคนละทิศละทาง สร้างความกระดำกระด่าง เดี๋ยวคนนั้นเล่นดี เดี๋ยวคนนี้ไม่ได้เรื่อง ทำให้หนังทั้งเรื่องดูเละเทะเป็นจับฉ่ายไม่รู้ว่าต้องตักตรงไหนมาชิมก่อนดี เอาที่ตัวละครหลักอย่าง ‘เชฟพอล’ ซึ่งรับบทโดยนพชัย ชัยนาม ดูแล้วหลอนมากมายว่าทำไมถึงเล่นได้กระด้างแข็งถึงเพียงนี้ ที่กระด้างแข็งนี่มิใช่เพราะตัวบทเขียนมาให้บ้าอำนาจเป็นเผด็จการ แต่นพชัยอาศัยขนบการแสดงแบบโบราณ คือออกอาการด้วยการ ‘เล่นใหญ่’ เข้าไว้ ข้างในตัวละครคิดหรือรู้สึกอะไรไม่ต้องไปใส่ใจ บทเขียนมายังไงจะต้องท่องได้ แล้วเตรียมแรงไว้แผดสาดมันออกไป เดี๋ยวคนดูก็ตกใจเอง! คือทุกครั้งที่ ‘เชฟพอล’ เอ็ดตะโร ทำตาโต มีน้ำโห โชว์พาวขู่ตะคอก นัยน์ตาทั้งสองของเขาบอกอย่างชัดเจนจนไม่รู้ว่าจะชัดเจนอย่างไรว่าข้างในนั้นกลวงแสนกลวงจนล้วงหาอะไรไม่เจอเลย มันว่างเปล่าดูตาลอยจนน่าตกใจว่า นพชัยจะไม่สร้างแรงจูงใจ (motivation) ใดๆ ให้ตัวละครเลยหรือ นี่ถือว่าเดชะบุญขนาดไหนแล้วที่หนังเผยแพร่จัดฉายผ่านจอขนาดเล็กในที่พักอาศัย ลองถ้าได้ขึ้นบนจอใหญ่ความไร้วิญญาณภายในทางการแสดงของเขาจะกลวงโบ๋ขนาดไหนนี่ไม่อยากจะคิดเลย
ที่ขำคือในหนังจะมีอยู่ฉากหนึ่งที่ตัวละครเชฟพอลเปิดเผยแรงบันดาลใจอันเป็นที่มาว่าเขากลายเป็นพ่อครัวหัวร้อนบ้าอำนาจในทุกวันนี้ด้วยมูลเหตุใด ซึ่งพอดูแล้วเรายังรู้สึกเลยว่า “อ้าว! ก็มีเหตุผลที่มาที่ไป” แล้วทำไมตอนปรากฏตัวในฉากแรกๆ เราจึงไม่เห็นถึงเค้าเงาของสิ่งเหล่านี้ผ่านการแสดงในระดับลึกของเขาเลย พอการแสดงของตัวละครหลักสำคัญพังถึงขนาดนี้ บทจะมีส่วนดียังไงเราก็ไม่สามารถร่วมอินไปด้วยได้ เพราะไม่ว่าจะมองจากมุมใดเราก็จะเห็นแต่จริตอันจอมปลอม
ยกตัวอย่างอีกฉากที่ไม่อาจจะยอมรับได้เลยก็คือ ตอนที่เชฟพอลสาธิตการฝานเนื้อวากิวเอห้าให้ได้ความหนาระดับกำลังดี คือพอคุณพี่ตั้งมีดเตรียมจะเฉือน ภาพก็ตัดแล้วกล้องก็เลื่อนมาถ่ายมุมแคบเห็นแต่มือกับมีดกับเนื้อที่เถือออกมาได้บางเฉียบสวยเป๊ะ แต่เอ๊ะ นี่คือมือของคุณนพชัยเองจริงๆ ไหม คือผู้กำกับไม่รู้เลยหรือว่าในการทำหนังถ่ายทอดตัวละครยอดฝีมืออย่างเชฟพอลทำนองนี้ จะมาใช้วิธีลักไก่แอบตัดแล้วผลัดให้พ่อครัวมืออาชีพตัวจริงมาแสดงแทนแบบนี้มิได้ ถ้านักแสดงจะรับผิดชอบจริงๆ ก็ควรใช้ภาพกว้างถ่ายถ่างให้เห็นทั้งตัวกันไปเลยว่าเขาทำได้ อย่ามาใช้มุมกล้องคอยเฉไฉ เพราะไม่งั้นตำนานเชฟพอลมันจะไม่ขลังจริง ๆ!
พอมาเทียบกับบทบาทของ ‘ออย’ แม่ค้าร้านผัดซีอิ๊วที่รับบทโดย ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง นักแสดงหญิงรายนี้กลับรับบทบาทโดยใช้สัญชาตญาณ จัดการกับตัวละครที่คงเดชเขียนขึ้นมา ปรับจูนหาบุคลิกที่จะสอดรับกับความเป็นตัวเองได้ ‘ออย’ ในฉบับที่เราเห็นจึงยังมีความเป็น ออกแบบ-ชุติมณฑน์ผสมผสานอยู่ในท่าที ซึ่งถ้าเทียบกับการแสดงขนบเก่า การเอาตัวเองไปใส่ในตัวละครแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ หากมันกำลังกลายเป็นกระแสใหม่ที่นักแสดงรุ่นหลังๆ นิยมใช้ เพราะข้อดีใหญ่หลวงของมันคือจะได้การแสดงที่เป็นธรรมชาติ หากบทบาทที่ได้รับกับตัวผู้แสดงจะหาจุดพอดีในการหลอมรวมได้ การแสดงของออกแบบ-ชุติมณฑน์ ใน ‘HUNGER คนหิว เกมกระหาย’ จึงกลายเป็นการตอบโจทย์ตรงตามที่บทหนังต้องการแบบเป๊ะๆ เมื่อเธอแสดงให้ทุกคนเห็นว่า ถ้าตัวเธอเกิดมาในสถานะของการเป็น ‘ออย’ แล้ว ตัวละครนี้จะออกมาเป็นเช่นไร ซึ่งเมื่อเธอหาคำตอบได้ การแสดงทั้งหมดจึงลื่นไหล จะหยิบ จะจับ จะหันไปทำอะไร ก็แลดูน่าเชื่อไปทั้งหมด ดูง่ายๆ ในฉากที่ออยจดจ้องคอยรอความเห็นต่อสำรับอาหารจานร้อนที่เธอเพิ่งจะปรุงเสร็จใหม่ๆ ที่ใครเห็นก็คงรู้อยู่แล้วว่าเป็นจานที่ทีมงานจัดเตรียมมาให้ โดยที่ออกแบบ-ชุติมณฑน์มิได้เป็นคนปรุงเอง แต่เธอก็แสดงความอยากรู้อยากฟังออกมาจนคนดูรู้สึกได้อย่างเต็มหัวใจว่าเธอเป็นคนปรุงทุกจานมากับมือจริงๆ มิได้มีทีมงานคอยวิ่งหยิบของประกอบฉากมาส่งให้ เพราะเธอ ‘เชื่อ’ สนิทใจในทุกสถานการณ์ที่ ‘ออย’ ได้พบเจอ ออกแบบ-ชุติมณฑน์นำเสนอตัวละครออยได้อย่างเป็นธรรมชาติ ขนาดที่ตัวบทหนังที่คงเดชเขียนไว้ บางช่วงจะเทศนาบอกโพล่งจนดูสะเหร่อขนาดไหน พอมันออกจากปากของตัวละครฝ่ายออย เธอกลับทำให้มันกลายเป็นการเทศนาที่น่าฟัง เพราะเธอตั้งใจเปล่งทุกคำพูดด้วยความเชื่อและศรัทธาที่มาจากข้างใน พอนักแสดงเชื่อ มีหรือที่คนดูจะไม่เชื่อตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับบทพูดทำนองเดียวกันที่ออกมาจากปากของนพชัย ความเป็นธรรมชาติลักษณะนี้ จะเห็นได้จากเหล่าบรรดาบทบาทของตัวละครที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกับออย ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร อู๊ด (ภูมิภัทร ถาวรศิริ), น้องสาว หรือเหล่าเพื่อน ๆ สมัยเรียนของออยเองก็ตาม
ความกะพร่องกะแพร่งอีกส่วนที่น่าจะมีที่มาจากบทหนังก็คือการวางบทบาทตัวละครสมทบในครัว HUNGER ที่ช่วงแรกๆ ก็อุตส่าห์แนะนำเหล่าพ่อครัวแต่ละรายไว้อย่างดิบดี แต่แต่ละคนกลับมีบทบาทที่ดำเนินไปตามคิวที่ผู้เขียนบทได้วางสถานการณ์ประจำตัวเอาไว้ เราจึงแทบไม่ได้รู้จักตัวละครพ่อครัวแต่ละรายว่าพวกเขารับมือกับความยะโสโอหังบ้าพลังอำนาจของเชฟพอลกันอย่างไร ยกเว้นก็แต่ ‘เชฟโตน’ ซึ่งรับบทบาทโดย กรรณ สวัสดิวัฒน์ ณ อยุธยา ที่โดดออกมาในฐานะคนรักของเชฟออย ซึ่งเขาก็แสดงแบบคอย ‘play safe’ แบบเดียวกับที่เชฟออยโดนเจ้านายด่า จนไม่ได้มีความโดดเด่นหรือน่าประทับใจอะไร ความละเมียดละไมในการเขียนบทส่วนหนึ่งจึงมาจากการสร้างสีสันให้ตัวละครสมทบเหล่านี้นี่แหละว่าจะผู้เขียนบทจะสร้างคาแร็กเตอร์และทำให้แต่ละคนมีบทบาทเป็นหมุดเปลี่ยนของโครงสถานการณ์ในภาพใหญ่กันอย่างไร มิใช่โผล่หน้ามาแล้วค่อย ๆ จมหายไปไม่ได้มีบทบาทอะไรอื่นใดจนกลายเป็นเพียงแค่ ‘ตัวประกอบ’ มากกว่าจะเป็น ‘ตัวละครสมทบ’
ตำหนิด่าหนังกันมาเสียยืดยาว เห็นน่าถึงคราวตบหัวแล้วลูบหลังว่า เมื่อหันไปมองในภาพรวมกันใหม่ ความน่าสนใจที่เริ่มจาก ‘premise’ อันแสนวิเศษของหนัง มันก็ยังมีพลังจนกดข่มตาชั่งฝั่ง ‘ควรต้องดู’ ให้มีน้ำหนักเหนือกว่าข้อบกพร่องทั้งหลายอยู่ดี แล้วที่ไปตำหนิเขาว่าตรงโน้นไม่ดีตรงนี้ไม่ใช่ มันจะไปมีผลอะไร ในเมื่อหนังก็ไม่ได้คิดจะหารายได้จากตัวเลขบ็อกซ์ ออฟฟิศ กระหายคะแนนดาวจากนักวิจารณ์ หรือกวาดรางวัลด้านภาพยนตร์จากเวทีต่าง ๆ กันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว การสร้างปรากฏการณ์เป็นไวรัล เป็น ‘talk of the town’ ใครๆ ก็กล่าวขวัญถึงทั้งด้านดีและไม่ดีนี่สิ ที่จะเป็นดัชนีบ่งชี้ความสำเร็จของหนังสตรีมมิงค่ายเน็ตฟลิกซ์อย่าง ‘HUNGER คนหิว เกมกระหาย’ ได้เหนือวิธีอื่นใด เพราะฉะนั้นใครจะมาว่าพี่ๆ คนทำหนังทำนองว่าทำไมช่างมักง่าย ตั้งกระทะคั่วทั้งถั่วทั้งงาโดยไม่ยอมเสียเวลา กว่าที่ถั่วจะสุก งาก็เริ่มเกรียมไหม้ ก็ไม่เห็นต้องสนต้องแคร์อันใด ก็ถ้าพอถั่วสุกแล้วมันกรอบหอมกรุบมันกัดเคี้ยวกันได้อย่างแสนเอร็ดอร่อย ถึงงาจะไหม้เดี๋ยวเราก็ค่อยเขี่ยออกไปทิ้งให้ก็ได้ เพราะยังไงก็ยังได้เพลิดเพลินใจไปกับเมล็ดถั่วคั่วรสเลิศที่อยู่ในจานเดียวกันอยู่นั่นเอง!
นึกๆ แล้วก็สงสัยอยากจะชวนซือเจ๊ออสการ์ ป้า Evelyn Wang จาก Everything Everywhere All at Once (2022) ไปทะลุมัลติเวิร์ส จักรวาลคู่ขนานกันสักที ว่าถ้าสมมติ ‘HUNGER คนหิว เกมกระหาย’ มันกลายเป็นหนังที่ออกฉายตามโรงภาพยนตร์จริงๆ ไม่ได้เป็นหนังค่ายสตรีมมิง ผลตอบรับที่ออกมาจะเหมือนหรือต่างจากที่เป็นอยู่นี้อย่างไร ช่างเป็นสถานการณ์จำลองที่แทบจะมโนนึกคาดเดาอะไรไม่ได้กับโลกทุกวันนี้ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของทุกสิ่งอย่างไปจนบางครั้งนักวิจารณ์หัวเก่าอย่างเราก็ยังไล่ตามไม่ค่อยทัน!