fbpx

อนาคตไทยและโลก ปี 2023 : จีนปรับทัพใหม่ – เงินเฟ้อยังไม่ไปไหน – การเลือกตั้งและความหวังอันริบหรี่(?)

โลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปี 2023 โดยที่หลายสถานการณ์จากปีเก่ายังไม่คลี่คลาย ตั้งแต่สงครามรัสเซียบุกยูเครน วิกฤตเศรษฐกิจโลก ไปจนถึงปมขัดแย้งทางการเมืองไทยที่จะส่งผลต่อบรรยากาศการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง  ซึ่งแม้ปัญหาใหญ่ร่วมกันของทุกประเทศอย่างสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้นบ้างแล้ว แต่หลายคนมองว่ายังมีปัญหาอีกมากให้ต้องสะสาง

ท่ามกลางวิกฤตที่หลากหลายเช่นนี้ โลกจะเดินต่อไปอย่างไร เราจะอยู่ตรงไหนในวงโคจรของปัญหา และมีโอกาสแบบไหนรอเราอยู่บ้าง

101 เปิดวงสนทนา Round Table ชวนพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร พร้อมด้วยประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปี 2023 ที่เป็นปีแห่งการตั้งหลักใหม่



โลกสะเทือนเมื่อจีนกลับมาพร้อมการปรับทัพใหม่


ปี 2023 เปิดมาด้วยการเปิดประเทศอีกครั้งของจีน หลังสิ้นสุดมาตรการ ‘ซีโร่โควิด’ ที่ก่อให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศจีน สำหรับ อาร์ม ตั้งนิรันดร แม้ในปีนี้โลกอาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ การสิ้นสุดของโลกาภิวัตน์ ยังคงเป็นประเด็นแนวโน้มใหญ่ที่ดำเนินต่อไป แต่โลกจะได้เห็นประเทศจีนเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างกลับทิศทาง 180 องศาทั้งหมด 3 ด้าน คือ

หนึ่ง นโยบายทางเศรษฐกิจภายในจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน – ภายหลังเดือนมีนาคมจะมีการกระตุ้นทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ ซึ่งเน้นภาคเอกชนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาประเทศจีนประสบปัญหาแรงกดดันเรื่องเศรษฐกิจสูงมาก

สอง ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโลกตะวันตก – อาร์มชวนตั้งข้อสังเกตว่าหลังการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน โลกได้เห็น สี จิ้นผิง ในท่าทีเป็นมิตรมากขึ้น ทั้งภาพการต้อนรับผู้นำเยอรมนี การจับมือกับผู้นำฝรั่งเศส หรือการเจรจากับผู้นำสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงทิศทางทางการทูตของจีนที่มีแนวโน้มดีขึ้น เพื่อรักษาระดับความสัมพันธ์กับตะวันตกไม่ให้แย่ลงไปมากกว่านี้ อีกทั้งเพื่อดึงดูดการลงทุนจากชาติตะวันตก

สาม ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศกำลังพัฒนา – ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จีนดำเนินมาตรการปิดประเทศส่งผลให้ขาดความเชื่อมโยงทางการทูตกับโลกภายนอก หลังการเปิดประเทศครั้งนี้ จีนจะดำเนินนโยบายการทูตเชิงรุกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การประชุมสำคัญที่น่าจับตาคือ ‘การประชุม Belt and Road’ ณ กรุงปักกิ่ง คาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมถึง 200 ประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้แนวคิดนโยบาย Belt and Road กลับมาครึกโครมอีกครั้ง

กล่าวโดยสรุปคือ หาก สี จิ้นผิง ต้องการรักษาอำนาจของตนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องกลับมาเน้นนโยบายทางเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะตอนนี้เศรษฐกิจของจีนอยู่ในวิกฤตอย่างมาก ต้องผ่อนคลายมาตรการโควิด และรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนตรงข้ามกับนโยบายตลอดสามปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด การเปลี่ยนวิธีเล่นของจีนจะส่งผลกระทบทั้งโลกและประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้านสหรัฐฯ ในปีนี้จะพบเจอกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมือง นโยบายของสหรัฐฯ จะดำเนินต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทั้งสงครามเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งประเด็นความขัดแย้งในไต้หวัน อาร์มมองว่าสหรัฐฯ จะไม่เปลี่ยนวิธีการเล่น เพราะทั้งสองพรรคต่างมีจุดร่วมกันคือ การมองว่าประเทศจีนคือ ‘ภัยคุกคาม’

“นอกจากเรื่องจีนและสหรัฐฯ โลกอาจจะมีเรื่องเหนือความคาดหมายแบบปีที่แล้วที่พบเจอสงครามยูเครน และโอไมครอน โดยปีนี้จะมีโควิดกลายพันธุ์อีกหรือไม่ หรือความขัดแย้งในไต้หวันจะปะทุหรือไม่ คงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาต่อไป หากวิเคราะห์จากสถานการณ์ปัจจุบันคงกล่าวได้ว่าสถานการณ์โควิดกำลังจะจบลง และจะไม่มีสงครามใหม่ มีเพียงแต่ความยืดเยื้อจากสมรภูมิเก่าๆ ที่สืบเนื่องจากปีที่แล้ว”

สำหรับประเทศไทย อาร์มมองว่าไทยจะต้องเตรียมรับมือกับการขยับตัวครั้งใหม่ระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยต้องจับตาสองประเด็นใหญ่

“หนึ่ง การท่องเที่ยวปีนี้จะมีทิศทางเป็นบวก สำหรับผมมองว่าจีนจะเดินทางมายังประเทศไทยเร็วกว่าที่คาด เพราะประชากรจีนต่างอัดอั้นและพร้อมจะเดินทางจำนวนมาก ซึ่งการเปิดประเทศในช่วงแรกนั้น การเดินทางจากจีนไปยังโลกตะวันตกอาจเป็นเรื่องที่ลำบาก ดังนั้นประเทศไทยจะกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญ ผมว่าที่เราประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวไว้ 5 ล้านคนนั้นนับเป็นการประเมินที่ต่ำ เพราะผมประเมินว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากและเร็วกว่าที่เราคาด ดังนั้นประเด็นดังกล่าวจึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับประเทศไทยว่าเราจะรับมือกับโอกาสนี้อย่างไร

“สอง ประเทศไทยต้องรู้จักเดินเกมทางภูมิรัฐศาสตร์และการทูตเชิงรุกมากขึ้น เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างเป็นมิตรกับเรา ประเด็นสำคัญคือ เราจะรักษาสมดุลเชิงรุกนี้อย่างไร หากการเมืองในประเทศของเรานิ่ง มีรัฐบาลใหม่ เพราะต่อไปนี้นโยบายทางเศรษฐกิจหรืออะไรก็ตามจะต้องผูกโยงกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” อาร์มกล่าว


เงินเฟ้อทั่วโลกยังไม่ไปไหน แต่เศรษฐกิจไทย (น่า) จะกลับมาแข็งแกร่ง


ต่อเนื่องจากการมองเกมการเมืองโลกในปี 2023 พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ก็เห็นด้วยว่าประเด็นภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ปัจจุบันเราเริ่มเห็นการขยับขยายของสงครามเทคโนโลยีและข่าวการเปลี่ยนแปลงฐานการผลิตอยู่เนืองๆ ฉะนั้น เกมการลงทุนด้านห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างๆ จะเป็นเกมระยะยาวในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ต้องจับตาต่อเนื่อง

แต่สำหรับเรื่องระยะสั้น คงไม่มีอะไรน่าสนใจไปกว่าข่าวการกลับมาเปิดประเทศของจีนที่พิพัฒน์มองว่าอาจเป็นตัวแปรสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เพราะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าคนจีนติดเชื้อโควิดกันมากน้อยแค่ไหน การเดินทางออกนอกประเทศอย่างคึกคักอาจก่อให้เกิดโรคระบาดกลายพันธุ์ระลอกใหม่หรือไม่ หรือจะกลายเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทย สิ่งเหล่านี้ยังคงต้องรอดูผลลัพธ์

ขณะเดียวกัน หนึ่งในปัญหาสำคัญที่โลกตามแก้ไขกันมาตั้งแต่ปีก่อนๆ อย่างเรื่องเงินเฟ้อ พิพัฒน์กล่าวว่า “แนวโน้มเงินเฟ้อดูดีขึ้น เราน่าจะผ่านจุดสูงสุดที่ 8-9% ไปแล้ว ตอนนี้จึงเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เป้าหมายของธนาคารกลางคือลดลงมาให้เหลือแค่ 2% แต่วันนี้ระดับของเงินเฟ้ออยู่ที่ 5-6% ถือว่าเป็นความเสี่ยงค่อนข้างหนัก ต้องลุ้นกันว่าจะลดลงมาสู่เป้าหมายของธนาคารได้เมื่อไหร่

“คนส่วนใหญ่มองว่าไม่ใช่ปีนี้แน่ เผลอๆ อาจไม่ใช่ปีหน้าด้วย”

พิพัฒน์อธิบายว่าต้นเหตุของภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกรอบนี้มีที่มาจากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการล็อกดาวน์ในหลายประเทศช่วงโควิดติดต่อกันมา สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นสูง โดยธนาคารกลางทั่วโลกล้วนเห็นตรงกันว่าปัญหาเงินเฟ้อเป็นเรื่องร้ายแรง และพยายามคลี่คลายสถานการณ์ด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้แซงระดับเงินเฟ้อ ทว่า ปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนทำได้สำเร็จ จึงทำให้หลายคนถกเถียงกันมากว่าปี 2023 จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ทั่วโลกหรือไม่ และกังวลว่าหากเกิดเหตุการณ์ ‘ช็อก’ เศรษฐกิจครั้งใหญ่ในอนาคต ภาวะเงินเฟ้อจะกลับมารุนแรงเกินรับมือ ดังที่เคยเกิดในช่วงปี 1970-1980 มาแล้ว

สำหรับพิพัฒน์ มองว่าวิธีการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของธนาคารกลางปัจจุบันยังคงเอาอยู่และจัดการได้ ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ ‘ช็อก’ ที่ว่าขึ้นเสียก่อน 

“ความเสี่ยงของการเกิดช็อกใหญ่ๆ ตอนนี้มีสองเรื่อง หนึ่งคือราคาพลังงานยังไม่สงบ เพราะสงครามยังมีอยู่ และอุปสงค์อุปทานด้านพลังงานก็ตึงตัวมาก นี่อาจเป็นปัญหาที่เราสร้างกันเอง เพราะก่อนมีสงคราม เราตื่นตัวเรื่องลดโลกร้อน ประชุม COP26 การลงทุนด้านพลังงาน วันนี้กลับกลายเป็นปัญหาเมื่ออุปทานลดลงจากสงคราม ราคาน้ำมันเพิ่ม แต่ไม่มีใครลงทุนด้านพลังงานเพิ่มเลย”

พิพัฒน์เสริมว่ายิ่งประเทศจีนเริ่มดำเนินการเปิดประเทศเต็มรูปแบบแล้ว ไม่แน่ว่าความต้องการพลังงานหรือน้ำมันในภาพรวมอาจจะเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาพุ่งทะยานขึ้นอีก

“ส่วนช็อกที่สอง ถ้าเรามองเศรษฐกิจสหรัฐฯ เศรษฐกิจฝั่งการผลิตเริ่มโตช้าลง ราคาสินค้าเริ่ม disinflation คือเงินเฟ้อเริ่มชะลอ แต่ภาคบริการยังแก้ไม่หาย และตัวที่แข็งแกร่งคือตลาดแรงงาน ตัวเลขในตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.5% ต่ำสุดในรอบหลายสิบปี มีการจ้างงานทุกเดือนนับแสนตำแหน่ง ถือว่าสูงกว่าในอดีตค่อนข้างมาก และค่าจ้างแรงงานยังโตอยู่ 4-5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ตรงนี้กลายเป็นสิ่งที่คนสงสัยกันว่าตกลงเศรษฐกิจชะลอหรือแข็งแกร่งกันแน่

“ถ้าโมเมนตัมของเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วธนาคารกลางไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาเบรกตลาดแรงงาน เงินเฟ้อก็อาจจะไม่ลง ค้างไว้ที่ระดับสูงนานๆ ก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วง หลายคนเลยหวังให้เกิด recession เงินเฟ้อจะได้ลง FED (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) จะได้ลดดอกเบี้ยสักที เพราะถ้าเงินเฟ้อไม่ลง ดอกเบี้ยเพิ่มไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจอาจจะแย่หนักกว่าเดิมก็ได้” 

แม้เราจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจโลกจะเจอแต่เรื่อง ‘ช็อก’ อยู่ตลอดเวลา ทั้งโรคระบาด สงคราม ภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 30 ปี จนพิพัฒน์ชวนตั้งคำถามว่า “ช่วงที่ไม่มีช็อกถือว่าแปลกประหลาดมากกว่าหรือเปล่า” แต่เขาเองก็มองว่าผู้กำหนดนโยบายและนโยบายที่ออกมาให้เห็นแต่ละประเทศมีความยืดหยุ่น (resilient) รับมือเหตุการณ์ผันผวนได้มากขึ้นเรื่อยๆ

“ใครจะไปคิดว่าเราสามารถปิดโลกทั้งโลกได้หนึ่งปีเต็มๆ ในช่วงโควิดโดยที่ไม่เกิดวิกฤต มองย้อนหลังกลับไปก็ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก เอาแค่ประเทศไทย เรารอดกันมาได้ไงใน 3 ปีที่ผ่านมา แสดงว่าเศรษฐกิจสังคมก็ยืดหยุ่นได้ในระดับหนึ่ง ถึงจะมีต้นทุนที่ต้องเสีย แต่ก็กลับมาได้อย่างค่อนข้างแข็งแกร่ง”

‘กลับมาได้อย่างค่อนข้างแข็งแกร่ง’ คือคำจำกัดความที่พิพัฒน์ทำนายเศรษฐกิจไทยในปี 2023 เพราะ “ถ้าวันนี้เศรษฐกิจโลกเถียงกันว่าจะมี recession หรือไม่ เมืองไทยกลับไม่มีใครพูดว่าเศรษฐกิจไทยจะมี recession” ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นตัวชูโรงสำคัญ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 11 ล้านคน ปีนี้ย่อมดีกว่าแน่นอนจากการที่นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเร็วกว่าที่คาด ซึ่งจะทำให้ยอดนักท่องเที่ยวอาจสูงกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ และทำให้ธุรกิจบริการ โรงแรม ร้านอาหารที่เกี่ยวข้องกลับมาคึกคักอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม พิพัฒน์ระบุว่าการฟื้นตัวดังกล่าวอาจเป็นการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึงทุกภาคส่วน ขณะที่การท่องเที่ยวกลับมามีชีวิตชีวา ด้าน ‘พระเอก’ ของเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอย่างการผลิตและส่งออก ซึ่งเคยทำยอดสูงสุด 2.8 พันล้านบาทต่อเดือนแบบที่เห็นกันไม่บ่อยนักเมื่อปีก่อน อาจจะชะลอตัวลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกแผ่ว แล้วค่อยกลับมาฟื้นตัวในครึ่งปีหลังที่นักท่องเที่ยวเริ่มหลั่งไหลเข้ามาตามฤดูกาล

“แต่อย่าลืมว่าการท่องเที่ยวจังหวะที่พีกสุดๆ มูลค่าก็แค่ 10% ของ GDP และ 95% ของรายได้จากการท่องเที่ยวมักกระจายอยู่แค่ 4-5 จังหวัดเท่านั้น ทำให้คนกรุงเทพฯ และคนในเมืองใหญ่อาจจะได้ประโยชน์ แต่คนเมืองเล็กๆ อาจจะเหนื่อยสักหน่อย จึงมีหลายมิติสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจปีนี้”

ด้านการลงทุนจากต่างชาติ พิพัฒน์มองว่าน่าจะได้เห็นการกลับมาลงทุนอยู่บ้าง หลังจากในช่วงโควิด การลงทุนภาคเอกชน FDI (Foreign Direct Investment : การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) หายไปมาก กระนั้นสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือวันนี้ประเทศไทยได้รับการลงทุนน้อยลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน สะท้อนว่าความสามารถในการแข่งขันและแรงดึงดูดนักลงทุนของเราลดลงไปพอสมควร

ทั้งนี้ ในเทศกาลไฮไลต์เด่นของปีนี้อย่างการเลือกตั้งระดับชาติ พรรคการเมืองย่อมออกมาแข่งขันนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจแก่ประชาชน ซึ่งพิพัฒน์มองว่าปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจไทยวันนี้พบเจอกับความท้าทายมากมาย ลำพังการพูดถึงการแก้ปัญหาปากท้องอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป

“หลายคนอาจจะมองว่าต้องแก้ไขปัญหาปากท้องก่อน นโยบายจึงอาจกลับลงมาเป็นแบบประชานิยม เถียงกันเรื่องเบี้ยคนชรา ใครจะให้มากกว่ากัน ใครจะยกเลิกข้อมูลเครดิตบูโรมากกว่ากัน เป็นประเด็นระยะสั้นที่ได้รับความนิยม แต่ก็อยากชวนให้มองประเด็นระยะยาวที่พรรคการเมืองต้องนำเสนอด้วย

“ต้องยอมรับว่าเมืองไทยมีความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายมิติ เช่น เศรษฐกิจโตช้าลง โอกาสของคนไทยในการดิ้นรนข้ามสถานะทางสังคมเศรษฐกิจยากขึ้น ความท้าทายจากโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุเยอะขึ้น วัยทำงานลดลง ทำให้เศรษฐกิจไทยติดหล่มและออกลำบาก ถ้าเราไม่มีการปรับตัว คุยถึงเรื่องพวกนี้ เรื่องนโยบายการย้ายถิ่นของแรงงาน (immigration policy) มองการแก้ปัญหาในระยะยาว มันอาจจะสายเกินแก้”

พิพัฒน์เสริมว่านอกจากปัญหาข้างต้น ยังมีประเด็นเรื้อรังอย่างความเหลื่อมล้ำและปัญหาคอร์รัปชันที่ยังไม่จากคนไทยไปไหน “การเลือกตั้งจึงเป็นจุดที่เราน่าจะเอาประเด็นเหล่านี้มาดีเบตกัน ให้แต่ละพรรคการเมืองนำเสนอทางออก เพราะเรารู้แล้วว่าโจทย์ของประเทศคืออะไร แต่เราอาจจะยังหาฉันทมติ (consensus) ทางสังคมและการเมืองได้ไม่ชัดเจนนักว่าจะหาทางออกยังไง”

ด้านนโยบายซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากในช่วงที่ผ่านมา เช่น นโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของพรรคเพื่อไทย พิพัฒน์กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าค่าแรงขั้นต่ำมีไว้เพื่อไม่ให้มีคนถูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นรายได้ที่ทำให้อยู่ได้โดยมีศักดิ์ศรี” พร้อมแสดงความเห็นว่าการแก้ไขปัญหารายได้แรงงานไม่ได้มีแค่การยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำเพียงอย่างเดียว และการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเดียวอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ความสามารถในการแข่งขัน คนตกงาน

“จริงๆ การแก้ไขปัญหารายได้แรงงานที่ยั่งยืนที่สุดตามหลักทฤษฎีคือ การยกระดับความสามารถในการผลิต ทำยังไงให้คนทำงานสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างรายได้ สร้างกำไรให้ธุรกิจแบบที่คุ้มค่าแรงงานของเขา จึงต้องดูว่าจะมีนโยบายอะไรส่งเสริมให้คน productive บ้างไหม”

ท้ายที่สุดแล้ว พิพัฒน์มองภาพรวมเศรษฐกิจโลกและไทยในปี 2023 ว่ามีความหวังให้เห็นชัดเจนมากขึ้นจากปีก่อนๆ

“ปีนี้มีสัญญาณว่าเราออกจากวิกฤตที่หนักที่สุดคือโควิด จีนอาจจะเป็นประเทศใหญ่ที่สุดที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แม้ว่ามองกลับไปอาจจะมีการสูญเสียมากมาย และไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นอีก แต่อย่างน้อยก็มีความหวังว่าในที่สุดชีวิตเราจะกลับสู่ภาวะปกติสักที

“ในแง่เศรษฐกิจก็เช่นกัน ถึงแม้จะมีความวุ่นวายไม่แน่นอน แต่เราก็เริ่มเห็นความหวังที่ดีขึ้น อย่างประเทศไทย หลังเจอช็อกขนาดใหญ่ ฟื้นตัวช้ากว่าชาวบ้าน ปีนี้เราน่าจะค่อยๆ ทยอยฟื้น คนในภาคธุรกิจบริการ การท่องเที่ยวที่เจอปัญหามานานน่าจะเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติมากขึ้น ถึงแผลเป็นและความเจ็บปวดในสองสามปีที่ผ่านมาจะโหดร้ายเหลือเกิน แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีใครคิดว่าเศรษฐกิจจะถดถอย นับว่ายังมีความหวัง” พิพัฒน์กล่าว


การเลือกตั้งในสภาวะกึ่งล็อกดาวน์และความหวังในรอยปริแตกของชนชั้นนำทหาร


สำหรับการเมืองไทย ปี 2023 แสงไฟคงถูกสาดส่องไปยังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น หลายคนคาดหวังว่าการเลือกตั้งจะสามารถนำพาประเทศไทยออกจากวังวนแห่งปัญหา เราจะได้เห็นหน้าตารัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ และมีความเป็นประชาธิปไตยเข้ามาแก้ปัญหาทั้งความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ การเมือง ที่เปรียบเสมือนโรคร้ายเรื้อรังของผู้ป่วยชื่อประเทศไทยมาแสนนาน

แต่ ประจักษ์ ก้องกีรติ ไม่คิดเช่นนั้น เขามองว่าในปีนี้การเมืองไทยยังไม่นิ่ง การเลือกตั้งจะเต็มไปด้วยความขลุกขลักไม่ราบรื่น ทั้งในประเด็นกระบวนการเลือกตั้งและความวุ่นวายทางการเมือง นำมาสู่การวิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คงยังไม่สามารถพาเราออกจากหล่มทางการเมืองที่ติดมายาวนานไปได้ โดยปัจจัยสำคัญคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจไม่วางมือทางการเมือง ทำให้สนามเลือกตั้งอาจจะไม่ได้ต่อสู้ในเชิงนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่จะมีการแทรกแซงโดยองค์กรอิสระ กองทัพ และสถาบันอื่นๆ

ดังนั้น โจทย์เรื่องการสืบทอดอำนาจของผู้นำจากการรัฐประหารนั้นจะกลับมาถูกพูดถึงในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ประชาชนจะได้เห็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและชนชั้นนำทำทุกวิถีทางให้ได้ไปต่อ นอกจากนี้บทบาทขององค์กรอิสระอาจกลับมา ทั้งการนับคะแนนอย่างไม่โปร่งใส การคิดคำนวณคะแนน การตัดสิทธิ์ผู้ชนะการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งการยุบพรรคการเมืองก็อาจจะมีโอกาสถูกหยิบขึ้นมาใช้ใหม่ได้

“การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการแข่งกันเรื่องนโยบายระยะสั้นเป็นส่วนมาก แต่นโยบายระยะยาวที่แก้ไขเชิงโครงสร้างจะไม่ถูกนำเสนอมากเท่าไหร่ จะมีการต่อสู้เชิงการเมืองวัฒนธรรมและอุดมการณ์สูง อย่างวาทกรรมคนดี หาเสียงว่าให้เลือกตัวเองเพราะเป็นคนรักชาติมากกว่า สิ่งเหล่านี้จะยังมีให้เห็นอยู่” ประจักษ์กล่าว พร้อมมองว่าประเด็นใหม่ที่จะถูกหยิบยกมาพูดถึงในสนามเลือกตั้ง คือ ‘การปฎิรูปสถาบันกษัตริย์’ ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนของสังคมไทย และรัฐไทยเองก็ไม่อนุญาตให้มีบทสนทนาอย่างปลอดภัย แต่ในสนามเลือกตั้งอาจจะต้องหยิบมาพูดถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีพรรคการเมืองอย่าง ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ชูนโยบายการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ส่งผลให้พรรคก้าวไกลอาจเจอแรงเสียดทานจากชาวบ้านที่ไม่พอใจท่าทีดังกล่าว

ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดพรรคการเมืองที่มีจุดยืนอนุรักษนิยมสุดโต่งอย่าง ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ที่ไม่ได้เน้นขายนโยบาย แต่เสนอภาพลักษณ์ปกป้องความเป็นไทยทั้งชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และต่อสู้กับภัยคุกคาม ประจักษ์ให้ความเห็นว่าการที่พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวแทนชิงนายกรัฐมนตรีของพรรค กำลังจะสื่อนัยว่า พลเอกประยุทธ์ คือผู้พิทักษ์ความเป็นไทยที่กำลังถูกคุกคาม ซึ่งเป็นจุดขายอย่างเดียวของพลเอกประยุทธ์มากกว่าวิสัยทัศน์นโยบายต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ประจักษ์มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีโอกาสพาการเมืองกลับสู่สภาวะปกติมากกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 หากเปรียบเทียบเป็นการจัดการโควิด การเลือกตั้งปี 2562 เป็นเหมือนการเลือกตั้งท่ามกลางสภาวะ ‘ล็อกดาวน์’ กล่าวคือประชาชนคาดเดาผลการเลือกตั้งได้ว่ากลุ่มอำนาจเดิมจะได้ไปต่อ ผ่านการคุมกติกาและกลไกการเลือกตั้งอย่างเป็นเอกภาพ แต่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้เปรียบเหมือนสภาวะ ‘กึ่งล็อกดาวน์’ เพราะรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม ส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐหรือพรรครวมไทยสร้างชาติไม่สามารถเข้าไปคุมกลไกรัฐในทุกกระบวนการได้

นอกจากนี้ ยังเกิดรอยปริแตกระหว่างชนชั้นนำที่มาจากการรัฐประหาร ส่งผลให้พวกพ้องบริวาร กลุ่มทุน และข้าราชการต้องเลือกว่าจะสนับสนุนใคร ในแง่นี้มีโอกาสที่จะทำให้ระบอบเดิมอ่อนแอลง

“ที่ผ่านมาประชาชนเริ่มมีเสียงเรียกร้องมากขึ้นเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาไม่ควรมีบทบาทการเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ น่าสนใจว่ามีคนหลายฝ่ายออกมาร่วมเรียกร้องด้วย เช่น อานันท์ ปันยารชุน และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่จะให้การเมืองไทยมีสภาวะที่ผ่อนคลายมากขึ้น

“หากวันนี้ประชาชนแสดงฉันทมติทั้งสังคม สมาชิกวุฒิภาจะยอมตกเป็นจำเลยของสังคมหรือ และสภาวะรอยปริแตกระหว่างชนชั้นนำก็ยิ่งมีโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภาฟรีโหวตมากขึ้น ที่สำคัญคือต้องจับตาดูเสียงจากภาคธุรกิจด้วย” ประจักษ์กล่าวสรุป

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save