fbpx

มาเฟียตกสวรรค์ Goodfellas

ในการประกาศผลรางวัลครั้งล่าสุด หนังเรื่อง Killers of the flower Moon ของมาร์ติน สกอร์เซซี ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงมากถึง 10 สาขา แต่จบลงด้วยการกลับบ้านมือเปล่า ไม่ได้อะไรติดมือเลย

ย้อนถอยกลับไปก่อนหน้านั้น ปี 2013 The Wolf of Wall Street เข้าชิง 5 สาขา ปี 2019 The Irishman เข้าชิง 10 สาขา ต่างลงเอยด้วยจำนวนรางวัลเป็นเลขศูนย์สะอาดหมดจด

นี่ยังไม่นับรวม การเข้าชิงในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมถึง 10 ครั้ง แต่สมหวังเพียงหนเดียว จากเรื่อง The Departed ในปี 2006

ผลลัพธ์ดังกล่าว หากเกิดขึ้นกับคนทำหนังอื่นๆ อาจดูเป็นความพ่ายแพ้น่าผิดหวัง แต่สำหรับมาร์ติน สกอร์เซซีแล้ว ถือเป็นเหตุการณ์เล็กน้อย ไม่มีอะไรสลักสำคัญถึงขั้นทำให้จิตตก

พูดอีกแบบ ความพ่ายแพ้ซ้ำๆ บนเวทีออสการ์ แค่เพียงสะท้อนให้เห็นว่าหนังของเขามีกระแสนิยมไม่แรงมากพอจะเป็นผู้ชนะ แต่การเข้าชิงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอต่างหาก ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันถึงมาตรฐานฝีมืออันยอดเยี่ยมคงเส้นคงวา ชนิดยากจะหาใครเท่าเทียมเสมอเป็นคนที่สอง

ที่ต้องไม่ลืมอีกอย่างคือ หนังของมาร์ติน สกอร์เซซี เคยกวาดรางวัลออสการ์ในแขนงสาขาอื่นๆ ไปเยอะพอสมควรเช่นกัน

เปรียบเป็นทีมฟุตบอล ก็เข้าอีหรอบได้แชมป์ไม่มาก แต่เข้าชิงอยู่เนืองๆ จนนับได้ว่าเป็นขาประจำ

ในฐานะแฟนคลับ ผมเชื่อและรู้สึกว่าสถานะของมาร์ติน สกอร์เซซีนั้น ยิ่งใหญ่เหนือกว่ารางวัลออสการ์ไปไกลแล้ว

Goodfellas ผลงานปี 1990 เป็นบทพิสูจน์ยืนยันที่เด่นชัด ปีนั้นหนังเรื่องนี้ได้เข้าชิงออสการ์ 6 สาขา และชนะเพียงหนึ่ง คือ โจ เปสชี ในสาขานักแสดงสมทบชาย ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง Dances With Wolves ของเควิน คอสท์เนอร์ เข้าชิง 12 สาขาและกวาดไป 7 รางวัล

ล่วงเลยถึงปัจจุบัน Dances With Wolves เป็นที่จดจำเพียงแค่หนังที่ได้รางวัลออสการ์ ขณะที่ Goodfellas ขึ้นหิ้งคลาสสิก ติดกลุ่มการคัดเลือกจัดอันดับต่างๆ มากมาย เช่น 100 หนังอเมริกันที่ดีที่สุดในรอบ 100ปี, ติดกลุ่มหนังดีที่สุดของโลกตลอดกาลของนิตยสาร Sight &Sound ซึ่งทำขึ้นทุกๆ 10 ปี ในสายที่ลงคะแนนโหวตโดยผู้กำกับหนังทั่วโลก

ที่สำคัญคือได้รับเลือกเป็น 100 หนังแก๊งสเตอร์ที่ดีที่สุดตลอดกาล โดย AFI (American Film Institute) ด้วยคะแนนสูงเป็นอันดับสอง (อันดับหนึ่งคือ The Godfather ของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา)

การทาบรัศมีสุดยอดภาพยนตร์อย่าง The Godfather ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ปรากฏชัดตั้งแต่ Goodfellas เริ่มออกฉาย หนัง 2 เรื่องนี้ถูกจับคู่เทียบเคียงว่าเป็นด้านตรงข้าม เหมือนหยิน-หยางของแวดวงหนังอาชญากรรม

The Godfather เป็นหนังเกี่ยวกับมาเฟียที่นำเสนออย่างปรุงแต่งประดิดประดอยอย่างวิจิตรบรรจง เต็มไปด้วยบรรยากาศขรึมขลัง สงบนิ่ง สุขุมลุ่มลึก ลีลาสง่างาม

Goodfellas กลับตรงกันข้าม หวือหวาจัดจ้าน โลดโผนโจนทะยาน เต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวไม่หยุดหย่อน อึกทึกครึกโครม และดิบเถื่อน

ทั้ง 2 เรื่องต่างทำได้ถึงพร้อมเป็นที่สุดในแนวทางของตนเอง และได้รับการยกย่องกล่าวขวัญเคียงคู่กันเสมอมาจนถึงปัจจุบัน

เช่นเดียวกับที่ The Godfather ได้รับการประเมินว่า เป็นจุดสูงสุดบนเส้นทางการทำหนังของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา Goodfellas ก็สามารถนับเนื่องได้ว่าเป็นช่วงเวลาเปล่งประกายถึงขีดสุดในฐานะผู้กำกับของมาร์ติน สกอร์เซซี

Goodfellas ดัดแปลงจากงานเขียน Non-fiction เรื่อง Wiseguy: Life in a Mafia Family ของนิโคลัส ปิเรจจี (ซึ่งเขียนบทหนังเรื่องนี้ร่วมกับมาร์ติน สกอร์เซซี) เล่าถึงประวัติชีวิตของเฮนรี ฮิลล์ อาชญากรที่มีตัวตนอยู่จริง

ด้วยเหตุที่หนังสร้างจากเรื่องจริง เส้นเรื่องหรือพล็อตจึงอยู่ในกรอบบังคับ คือดำเนินเหตุการณ์เรียงลำดับตามเวลา จากทศวรรษ 1950 ไปจนถึง 1980 ในระหว่างนั้นเรื่องราวก็แยกย่อยกระจัดกระจายไปได้หลายทิศทาง ไม่เป็นไปตามโครงสร้างของ ‘เรื่องแต่ง’ ซึ่งมุ่งเน้นไปยัง ‘ใจความหลัก’ มีต้น กลาง ปลายที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม บทหนังก็จัดระเบียบให้กับเรื่องที่เล่า จนเกิดเป็นพล็อตหลวมๆ ได้อย่างชาญฉลาด

เล่าแบบประมลผลสรุปความ Goodfellas พรรณนาสาธยายถึงชีวิตของเฮนรี ฮิลล์ ตั้งแต่วัยเด็กอายุ 13 (ปี 1955) และไปสิ้นสุดที่ทศวรรษ 1980 เริ่มจากความใฝ่ฝันอยากเป็นสมาชิกของกลุ่มมิจฉาชีพในละแวกใกล้บ้าน (ด้วยบทพูดเริ่มเรื่องอันลือลั่นว่า “นึกย้อนกลับไปไกลสุดเท่าที่จะจดจำได้ ผมใฝ่ฝันปรารถนาที่จะเป็นแก๊งสเตอร์เสมอมา สำหรับผมแล้ว การเป็นพวกแก๊งสเตอร์ดีกว่าการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นไหนๆ”) เหตุผลของเด็กชายคือเป็นนักเลงแล้วเท่ มีชีวิตความเป็นอยู่อู้ฟู่สุขสบาย และได้รับอภิสิทธิ์เล็กๆ น้อยๆ 

จากนั้นก็เป็นเรื่องราวเส้นทางชีวิตของเฮนรี ที่เริ่มต้นเข้าแก๊งด้วยการเป็นคนขับรถไปยังลานจอด พร้อมกับเดินโพยการพนัน หนีโรงเรียน ค้าของเถื่อน จนกระทั่งถูกตำรวจจับ และสามารถพิสูจน์ตนเองว่า ‘สอบผ่าน’ เป็นที่ยอมรับของพวกพ้องด้วยการปิดปากสนิท ไม่แพร่งพรายความลับและไม่ซัดทอดใคร จนได้รับการช่วยเหลือด้วยเส้นสายอิทธิพล พ้นโทษในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงได้รับความไว้วางใจให้จับงานใหญ่สำคัญยิ่งกว่าเดิม

เหตุการณ์ถัดมา คือการพบเจอและรู้จักกับชายสองคน จิมมี คอนเวย์ และทอมมี เดอวิโต ซึ่งจะกลายเป็นเพื่อนรักกัน รวมถึงร่วมทีมก่ออาชญากรรมฉกาจฉกรรจ์ในเวลาต่อมา, การพบเจอหญิงสาวชื่อคาเรน จนผูกพันเป็นความรักและแต่งงานกัน, โลกที่แตกต่างกัน ระหว่างชีวิตครอบครัวกับการทำงานสกปรกนอกบ้าน

หลังจากปูพื้นแนะนำความเป็นมาของตัวละครหลักๆ เสร็จสรรพ เส้นเรื่องถัดจากนั้นไปจนจบ ก็ตรงตามขนบของหนังอาชญากรรม นั่นคือเล่าแสดงถึงการค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นสู่ช่วงรุ่งโรจน์สูงสุด แล้วค่อยๆ พลิกผันสู่ความตกต่ำดำดิ่ง เกิดความผิดพลาด ความระแวงแคลงใจซึ่งกันและกัน ทรยศหักหลัง และโดนมือกฎหมายตามรังควานเล่นงาน

พล็อตคร่าวๆ ประมาณราวๆ นี้นะครับ

ความน่าสนใจประการแรกของ Goodfellas คือหนังเล่าถึงบุคคลจากเรื่องจริง ซึ่งเต็มไปด้วยรายละเอียดข้อมูลมากมาย ทั้งผู้คนที่เกี่ยวพันข้องแวะ ชนิดจำไม่หวาดไม่ไหวว่าใครเป็นใคร เหตุการณ์สารพัดสารพันครอบคลุมระยะเวลาหลายสิบปี โดยหลีกเลี่ยงวิธีการตรงไปตรงมาในลักษณะสารคดี แต่เลือกใช้วิธีการตรงกันข้าม ด้วยการทำให้ผู้ชมรู้สึกตลอดเวลาว่ากำลังพบกับ ‘เรื่องเล่า’ ที่เต็มไปด้วยลูกเล่น ภาษา ไวยากรณ์ทางภาพยนตร์

พูดง่ายๆ คือ เล่าเรื่องจริงให้ผู้ชมรู้ตัวตลอดว่ากำลังดูหนัง

ในแง่นี้ Goodfellas ทำได้โดดเด่นมากๆ และกลายเป็นหนังที่เล่าเรื่องอย่าง ‘บ้าพลัง’ แพรวพราวไปด้วยเทคนิควิธีการทางภาพยนตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียงบรรยายเล่าเรื่องสรุปเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา, การใช้เทคนิค freeze frame หรือการหยุดภาพเคลื่อนไหวเป็นภาพนิ่งอยู่บ่อยครั้ง ด้วยจังหวะเด็ดขาดคาดไม่ถึง และส่งผลต่อารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมอย่างยิ่งยวด, การตัดต่อลำดับภาพอย่างรวดเร็วฉับไวและถี่ยิบ ฯลฯ

ลูกเล่นลีลาในการใช้เทคนิคภาพยนตร์ต่างๆ อย่างสนุกมือในหนังเรื่องนี้ สร้างความตื่นเต้นฮือฮาให้แก่ผู้ชมตั้งแต่แรกออกฉาย เมื่อมาดูในปัจจุบันก็ยังคงสดใหม่ทันสมัย ไม่มีตรงไหนตอนใดเชยหรือพ้นสมัย ตรงข้าม กลับเห็นถึงการแผ่อิทธิพลให้กับหนังรุ่นหลังจำนวนมากที่นำวิธีเหล่านี้ไปใช้เจริญรอยตาม

มีฉากหนึ่งซึ่งเคยทำให้ผมตื่นตะลึงตอนได้ดูครั้งแรกเมื่อชาติปางก่อน นั่นคือฉากที่เฮนรีพาคาเรนออกเดตในภัตตาคารหรูหรา ฉากดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อทั้งคู่ลงจากรถ เดินข้ามถนน เข้าไปในภัตตาคารทางด้านหลัง ทะลุผ่านห้องครัว เลี้ยววกไปมาบนทางคับแคบ แออัดจอแจไปด้วยบรรดาพ่อครัวกำลังวุ่นวายสาละวนกับการปรุงอาหาร จนกระทั่งทะลุผ่านเข้าไปยังบริเวณภัตตาคาร ซึ่งลูกค้าเนืองแน่น แทบไม่มีโต๊ะว่าง

ตลอดการเดินผ่านทางลัดเข้าไปในภัตตาคาร เฮนรีหว่านเงินตกรางวัลให้กับใครต่อใครอยู่ตลอดเวลา และเมื่อเข้าสู่บริเวณภายในที่หมาย เขาก็ใช้อิทธิพลและความคุ้นเคยกับผู้จัดการ บันดาลเนรมิตโต๊ะพิเศษ ในตำแหน่งที่ดีที่สุด ติดขอบเวที ได้ชมการแสดงในมุมมองดีสุด

ฉากดังกล่าวถ่ายทำแบบลองเทค กินความยาวราวๆ 3 นาที โดยไม่มีการตัดภาพ แต่ใช้การเคลื่อนกล้องติดตามตัวละครอย่างใกล้ชิด

ในฐานะคนดู เราติดตามฉากเหล่านี้ด้วยความรู้สึกเหมือนถ่ายทำกันง่ายๆ แต่สำหรับคนทำหนังแล้ว น่าจะรู้ซึ้งในรสพระธรรมว่ายากเย็นแสนเข็ญมากเพียงไร ตั้งแต่การจัดแสงกินพื้นที่มากมาย คิวนักแสดงหลักและตัวประกอบเข้าออก การท่องจำบทพูด การรักษาองค์ประกอบภาพ (ควรทราบนะครับว่าสิ่งที่ยากสุดในการถ่ายหนัง ไม่ใช่การถ่ายสวยหรือถ่ายไม่สวย แต่อยู่ที่การปรับโฟกัสให้ชัดไม่เบลอ ซึ่งถ้าหากกล้องเข้าใกล้หรือไกลจากวัตถุที่ถ่ายเพียงเล็กน้อย จะหลุดโฟกัสทันที)

รวมความแล้ว การถ่ายเทคยาวๆ เช่นนี้ มีจุดที่ต้องระวังมากมาย และทุกอย่างต้องแม่นยำผิดพลาดไม่ได้เลย

ยากระดับรากเลือดเลยนะครับ

เมื่อมาดูครั้งล่าสุด ความทึ่งของผมไม่ได้อยู่ที่การเล่นท่ายากของผู้กำกับ แต่เป็นความประทับใจกับการใช้ประโยชน์ดังกล่าว เพื่อทำหน้าที่เล่าเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในฉากดังกล่าว นอกจากผลลัพธ์ด้านความน่าตื่นตาแล้ว ยังเข้าลักษณะ ‘เล่าน้อย กินความเยอะ’ ตั้งแต่การแสดงให้คาเรนเห็นว่าเฮนรีนั้นไม่ใช่หนุ่มธรรมดาดาษดื่น แต่มีเส้นสายจนไม่ต้องรอคิวหน้าทางเข้าภัตตาคาร มีฐานะการเงินร่ำรวย จนสามารถหว่านเงินแจกจ่ายใครต่อใครอย่างสบายมือสบายใจ และสำคัญจนผู้จัดการภัตตาคารยังต้องเกรงใจ

มากไปกว่านั้น ฉากดังกล่าวจบลงด้วยภาพการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนบนเวที

เมื่อตัดภาพสู่ฉากต่อมา เสียงที่ผมได้ยินยังคงเป็นการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน แต่ภาพนั้นเป็นเหตุการณ์อื่น เล่าถึงการ ‘ทำมาหากิน’ โดยมิชอบของเฮนรีกับเพื่อนๆ และตัดภาพอีกครั้ง ชวนให้เข้าใจในเบื้องต้นว่าเป็นเฮนรีกับคาเรนที่ภัตตาคารเดิมกำลังชำระค่าอาหาร แต่เมื่อกล้องถอยห่าง ผู้ชมก็พบว่าทั้งคู่อยู่ในสถานที่อื่น และเวลาได้ล่วงผ่านไปแล้วหลายเดือน

ทั้งหมดนี้ใช้เวลาไม่กี่นาที แต่เล่าครอบคลุมถึงการออกเดตครั้งแรก ความฉงนสนเท่ห์ที่คาเรนมีต่อเฮนรี สิ่งที่ละเว้นไม่เล่าให้เห็น คือการที่หญิงสาวยอมรับในความไม่ปกติของชายหนุ่ม และคบหาผูกพันกันต่อมา

ผมยกตัวอย่างมายาวเหยียดหลายย่อหน้าหลายอย่าง ก็เพื่อจะบอกว่าตลอดทั้งเรื่องของ Goodfellas เต็มไปด้วยการเล่าเรื่องราวอย่างลื่นไหลไปเร็วทำนองนี้นับครั้งไม่ถ้วน ด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์อันแพรวพราว แทบจะไม่ซ้ำกันเลย

อาจกล่าวได้ว่าหนังความยาว 2 ชั่วโมง 25 นาที บรรจุเหตุการณ์อัดแน่นแบบที่ผู้กำกับทั่วไปอาจต้องใช้เวลาร่วมๆ 4 ชั่วโมง เพื่อบอกเล่าให้ได้เนื้อความเท่าๆ กัน

ที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่านั้น คือวิธีการเล่าอันสร้างสรรค์และแพรวพราวไปด้วยลูกเล่นลีลา จนสามารถนำหนังเรื่องนี้มาใช้เป็นตำราชั้นยอดสำหรับคนที่เรียนภาพยนตร์ได้สบายๆ เทคนิคทั้งหลายประดามียังก่อให้เกิดเป็นรสบันเทิงเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

ในแง่นี้ Goodfellas เป็นหนังดูสนุกครบรส มีทั้งดรามา โหด มัน ฮา ความอึดอัดตึงเครียด ลุ้นระทึกเร้าใจ ความน่าสะพรึงกลัว การหักมุมชวนตกตะลึงเหนือความคาดหมาย และเข้มข้นชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ

สิ่งที่น่าสนใจคือขณะที่ตัวหนังเต็มไปด้วยการใช้ ‘ภาษาภาพยนตร์’ ชนิดไม่อั้น เนื้อหาเรื่องราวที่ถ่ายทอดกลับเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายที่สะท้อนถึงโลกของอาชญากรรมอันเต็มไปด้วยความสมจริง แตกต่างตรงข้ามกับ The Godfather ซึ่งสมบูรณ์แบบในเชิงของเรื่องแต่ง

ในทางเนื้อหา Goodfellas เสนอคติธรรมแก่นเรื่องตามขนบของหนังอาชญากรรม ว่าด้วยการพัวพันกับโลกอาชญากรรมนั้น ถึงที่สุดแล้วก็ยากที่จะจบสวย

ประเด็นดังกล่าวไม่ได้แปลกใหม่ หรือมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดดเด่นเป็นพิเศษ แต่ความโดดเด่นของ Goodfellas อยู่ที่ว่าไม่ได้เล่าแสดงคติสอนใจเหล่านี้แบบขึ้นธรรมาสน์เทศน์สั่งสอนผู้ชม ตรงข้าม หนังของเขาแสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาอันรื่นรมย์แสนสุขของชีวิตอาชญากร และเมื่อผ่านคืนวันสวยงามเหล่านี้ไปแล้ว ตัวละครก็ยังรำลึกนึกถึง ด้วยความอาวรณ์โหยหา

อย่างไรก็ตาม ผู้ชมก็ไม่ต้องใช้วิจารณญาณในการรับชมแต่อย่างไร เพราะท่ามกลางการเล่าเรื่องแบบไม่ตัดสินสรุปความ ไม่ได้แสดงความสำนึกผิดของตัวละคร ความรุนแรง ชีวิตรอบครัวที่พังพินาศในบั้นปลาย รวมถึงความทารุณโหดร้ายที่เกิดขึ้นรอบๆ ข้าง

ทั้งหมดก็หนักแน่นและมากพอที่จะสื่อสารสาระสำคัญของหนังได้อย่างเด่นชัด และเป็นตัวอย่างอันทรงพลังของอีกหนึ่งความใฝ่ฝันแบบอเมริกัน ซึ่งเลือกเดินทางลัดผิดเลน จนต้องลงเอยอย่างฝันสลาย

ป.ล. เรื่องนี้ดูได้ใน Netflix นะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save