fbpx

Golden Boy: เรื่องเล่าใหม่ของสายธารประวัติศาสตร์ จากอีสานใต้สู่ลุ่มทะเลสาบเขมร

ภาพปกจาก The Met

อดีตย่อมเปลี่ยนไปตามการค้นพบในปัจจุบัน เช่นเรื่องราวต่อจากนี้ที่เผยให้เห็นว่าการค้นพบใหม่อาจเปลี่ยนทิศของสายธารประวัติศาสตร์ ให้กลับจากล่างขึ้นบน เป็นบนลงล่าง

เมื่อร้อยเรียงเส้นทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ราบสูงโคราชจวบจนพื้นที่ลุ่มทะเลสาบเขมรในปัจจุบัน ในห้วงเวลานี้คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่กล่าวถึงหลักฐานชิ้นสำคัญอย่าง ‘Golden Boy’ ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองซึ่งถูกสันนิษฐานว่าเป็นรูปสนองพระองค์ของ ‘พระเจ้าชัยวรมันที่ 6’ หรือนับเป็น ‘พระเชษฐบิดร’ ของวงศ์มหิธรปุระ

อิทธิพลทางศิลปะวัฒนธรรมที่เคยถูกเข้าใจว่าเป็นการแผ่จากล่างขึ้นบน จากพื้นที่ลุ่มทะเลสาบเขมรมาสู่พื้นที่อีสานใต้ในปัจจุบัน กำลังถูกพิสูจน์ว่าแท้จริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น ผ่านการปะติดปะต่อเรื่องราวจากหลักฐานของพ่อค้าโบราณวัตถุเลื่องชื่อของโลก หมู่บ้านในอีสานใต้ที่แสงแฟลชยังไม่เคยไปเยือน ความทรงจำของผู้คนที่เผยภาพบริเวณเขาปลายบัดในอดีต จุดเริ่มต้นของราชวงศ์อันยิ่งใหญ่อย่าง ‘มหิธรปุระ’ ที่อดีตมีศูนย์กลางอยู่บริเวณอีสานใต้ และความรุ่งเรืองของพุทธศาสนานิกายมหายาน

หมายเหตุ – สรุปความจากงานเสวนา สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ตามหา ‘Golden Boy’ เทพแห่งที่ราบสูง?” เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 มีวิทยากรได้แก่ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ และ ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

Golden Boy: รูปสนองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 และถิ่นฐานดั้งเดิม

‘Golden Boy’ เป็นชื่อทางการค้าของประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองชิ้นนี้ เคยอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The Met) ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 โดยป้ายในพิพิธภัณฑ์เขียนอธิบาย Golden Boy ว่าเป็น ‘พระศิวะยืน กัมพูชา อังกอร์ (นครวัด) เสียมเรียบ’

แม้ The Met จะระบุในป้ายว่าประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองชิ้นนี้เป็น ‘พระศิวะ’ ในรูปของพระศิวะทวารบาล แต่นักวิชาการของ The Met กลับระบุไว้ในเอกสารตีพิมพ์ของพิพิธภัณฑ์ที่มีรายละเอียดของโบราณวัตถุทั้งหมด โดยสันนิษฐานว่าอาจจะไม่ใช่พระศิวะ แต่เป็นรูปสนองพระองค์ของ ‘พระเจ้าชัยวรมันที่ 6’

ต่อประเด็นนี้ ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี หนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า Golden Boy มีขนาดเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับประติมากรรมพระศิวะทวารบาลองค์อื่น ทั้งรูปแบบศิลปะก็มีลักษณะเฉพาะตัวทั้งมงกุฎ ทรงผม และลายผ้านุ่ง

ไม่เคยมีการสงสัยหรือระบุว่า ‘Golden Boy’ เป็นของไทยมาก่อน จนกระทั่งคณะติดตามโบราณวัตถุพบเอกสารของดักลาส แลตช์ฟอร์ด นายหน้าค้าโบราณวัตถุคนสำคัญของโลก เผยถึงประติมากรรมชิ้นหนึ่งว่ามีประติมากรรมสำคัญอยู่ในประเทศไทย เป็นแบบบาปวน กะไหล่ทอง อยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิทัน  

เอกสารระบุว่าเจอประติมากรรมชิ้นนี้ที่บ้านยาง อำเภอละหาน แต่การสืบค้นในช่วงแรกเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะ ‘บ้านยาง อำเภอละหาน’ มีอยู่ในหลายที่หลายจังหวัด บางแห่งเขียนในแผนที่ว่า ‘ละหานทราย’ แต่ชาวบ้านไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็น ‘คนละหานทราย’ แต่เรียกเป็น ‘คนละหาน’ เป็นต้น จึงทำให้เกิดความสับสนอยู่พอสมควร แต่สุดท้ายแล้วคณะติดตามทวงคืนก็พบจุดหมายปลายทางในที่สุด และที่แห่งนั้นคือ ‘บ้านยางโป่งสะเดา อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์’

“เมื่อเข้าไปในพื้นที่จึงพบว่า พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และโบราณคดี และเอกสารชิ้นสำคัญที่สุดที่ได้รับจากฝ่ายกัมพูชา คือแผนที่เส้นทางการค้าของแลตช์ฟอร์ด ที่มีการระบุจุดสำคัญไว้เลยว่า ‘ละหาน’ ถ้าได้แผนที่นี้มาก่อนก็คงไม่งมและสับสนเท่าที่ควร คงจำกัดกรอบพื้นที่ได้เร็วขึ้น แต่โชคดีที่คณะติดตามทวงคืนของฝ่ายกัมพูชาติดต่อทีมพวกเราอยู่ตลอด” ดร.ทนงศักดิ์กล่าว


ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์
ภาพจากเฟซบุ๊กเพจศิลปวัฒนธรรม

แลตช์ฟอร์ด: พ่อค้าโบราณวัตถุคนสำคัญของโลก

‘ดักลาส แลตช์ฟอร์ด’ เกิดที่อินเดียแล้วจึงย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทยจนได้สัญชาติไทยและมีชื่อเป็นภาษาไทย โดยใช้ทั้งสองชื่อในการติดต่อค้าขาย คือ แลตช์ฟอร์ด และ นายภัคพงษ์ เกรียงศักดิ์

แลตช์ฟอร์ดเป็นพ่อค้าโบราณวัตถุคนสำคัญที่สุดของโลกในกลุ่มของวัฒนธรรมเขมรโบราณ เขาเอาโบราณวัตถุข้ามชาติในแถบเขมรผ่านไทยและส่งออกไปทั่วโลก ทั้งนี้ แลตช์ฟอร์ดยังบันทึกข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโบราณวัตถุที่ตนซื้อขายทุกชนิด เอกสารเหล่านี้จึงนับเป็นเอกสารสำคัญที่เจ้าหน้าที่สืบสวนของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ (U.S. Department of Homeland Security) ใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องและดำเนินคดีแลตช์ฟอร์ด และส่งโบราณวัตถุที่ยึดคืนกลับไปยังประเทศต้นทาง ซึ่งบางพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ยอมส่งกลับโดยอ้างว่าต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนถึงจะส่งกลับได้

ดังนั้น เมื่อเอ่ยถึงแลตช์ฟอร์ด ทั่วโลกจะรู้จักคนคนนี้ เพราะถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาฟ้องร้องและดำเนินคดี ซึ่ง ‘Golden Boy’ ก็เป็นอีกหนึ่งประติมากรรมชิ้นสำคัญที่เคยผ่านมือแลตช์ฟอร์ด

เอกสารของแลตช์ฟอร์ดนำพาคณะติดตามฯ ไปสู่บ้านยางโป่งสะเดาและพบกับครอบครัวคุณเสถียร ลูกชายของคนที่แลตช์ฟอร์ดเคยมาซื้อขายโบราณวัตถุด้วย มากไปกว่านั้น พ่อของคุณเสถียรยังให้แลตช์ฟอร์ดเช่าบ้านเป็นสำนักงานทำการซื้อขายโบราณวัตถุกรุพระประโคนชัยและโบราณวัตถุในบริเวณโดยรอบทั้งหมด

“แลตช์ฟอร์ดเป็นที่น่าจดจำของชาวบ้าน เพราะมาแต่ละที แลตช์ฟอร์ดมักเอาแชมป์นักเพาะกายติดสอยห้อยตามมาด้วยแล้วมาโชว์ให้ชาวบ้านดู ชาวบ้านจึงจำแลตช์ฟอร์ดได้หมดว่าชอบเอานักเพาะกายมาโชว์ ส่วนทำไมต้องเอานักเพาะกายมาด้วยนั้น เพราะเขาเป็นนายกสมาคมกีฬาเพาะกายแห่งประเทศไทย” ศิริพจน์กล่าวเสริมถึงเหตุการณ์ในอดีต

เมื่อครอบครัวคุณเสถียรได้ดูภาพถ่ายปัจจุบันของ Golden Boy ที่คณะติดตามฯ นำไปให้ดู ก็ชี้และระบุชัดเจนว่าองค์นี้สูง 110 ซม. ซึ่งในหนังสือของแลตช์ฟอร์ดระบุว่าสูง 105.5 ซม. ถือว่ากล่าวได้ใกล้เคียงเพราะห่างแค่ 4.5 ซม. เท่านั้น ส่วนลูกสาวของคุณเสถียรกล่าวชัดว่า “หนูจำองค์นี้ได้ดี เพราะล้างเองกับมือ แล้วเป็นคนทำผ้ารูปสมอที่ห้อยอยู่ข้างหน้าหัก ตอนพ่อขาย พ่อเอาลวดมัดไว้แล้วค่อยขายออกไป” ทำให้คณะติดตามฯ มั่นใจว่าครอบครัวนี้เป็นครอบครัวที่ได้เจอ Golden Boy จริง

ชาวบ้านในหมู่บ้านยางโป่งสะเดายังให้ข้อมูลว่าจำปีที่พ่อของคุณเสถียรขุดเจอประติมากรรมชิ้นนี้ได้ เพราะเขาจ้างมหรสพมาฉลองสามวันสามคืนในหมู่บ้าน และเป็นปีที่ลูกสาวของเขากำลังตั้งท้องอยู่ ทำให้ระบุปีได้แน่ชัดว่าคือ พ.ศ. 2518 และขายออกหลังจากที่ขุดพบเพียงคืนเดียวในราคา 1 ล้านบาท

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าแลตช์ฟอร์ดจดบันทึกไว้ก่อนที่พื้นที่นั้นจะมีการเปลี่ยนชื่ออำเภอ เพราะฉะนั้นข้อมูลจึงลักลั่นกับปัจจุบัน ในสมัยก่อนโดยเฉพาะทางฝั่งอีสาน ชื่อของบ้าน ตำบล อำเภอนั้นเป็นชื่อท้องถิ่น แต่ช่วงหลังสงครามเย็น รัฐไทยให้ท้องถิ่นเปลี่ยนชื่อเป็นคำภาษาไทยถิ่นกลาง ทำให้หลายอำเภอมีหลายชื่อ มีทั้งชื่อที่คนในท้องถิ่นใช้เรียกกันและชื่อที่ระบุในเอกสารราชการ

ประติมากรรมกรุประโคนชัยเป็นประติมากรรมที่เป็นที่ต้องการของนักค้าโบราณวัตถุและพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก มีตั้งแต่ข่าวที่บอกว่าที่ขุดเจอแค่ 20 องค์ จนพบถึง 200 องค์

เมื่อ 20 ปีก่อนขณะที่ศิริพจน์ศึกษาอยู่ภาควิชาโบราณคดี เขาไปสอบถามชาวบ้านเกี่ยวกับประติมากรรมดังกล่าว ชาวบ้านต่างให้ข้อมูลว่า “เอากันไปเป็นรถสิบล้อ” ช่วงเวลานั้นศิริพจน์ยังไม่แน่ใจว่าเจอจำนวนมากขนาดนั้นจริงหรือไม่ แต่เมื่อดูข้อมูลปัจจุบันพบว่าที่ชาวบ้านเล่ามายังถือว่าน้อยไปด้วยซ้ำ

ขณะที่ ดร.ทนงศักดิ์ เสริมความเห็นต่อแลตช์ฟอร์ดไว้ว่า “ผมไม่เคยเป็นศัตรูกับแลตช์ฟอร์ดเลย ในทางตรงกันข้าม ผมเห็นว่าเขาเป็นนักค้าโบราณวัตถุที่มีจริยธรรมเสียด้วยซ้ำ เพราะเขาเขียนที่มาให้เรารู้หมดว่าโบราณวัตถุแต่ละชิ้นมีถิ่นกำเนิดมาจากไหน ต่างจากนักค้าโบราณวัตถุคนอื่นที่ขายอย่างเดียว ไม่ได้จดบันทึกอะไรทั้งสิ้น”

Golden Boy: ศิลปะแบบพิมาย

ดร.ทนงศักดิ์เสนอว่า Golden Boy คือศิลปะแบบพิมาย เนื่องจากปราสาทหินพิมายเป็นปราสาทประจำรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 มีความโดดเด่นเฉพาะและไม่เคยปรากฏ ณ ที่แห่งใดมาก่อนในศิลปะเขมร แม้นครวัดจะใช้ศิลปะแบบพิมายแต่เป็นรูปแบบที่เติมลวดลายแล้ว

ราชวงศ์มหิธรปุระนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก ทั้งมีการสร้างปราสาทหินพิมายถวายให้กับพระพุทธเจ้า รากฐานเดิมที่พบจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ที่พนมรุ้งนั้นมีระบุถิ่นฐานว่าอยู่ ‘กษิตินทราคาม’ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าคือบริเวณพิมาย พนมรุ้ง บ้านยาง

รูปแบบศิลปะพิมายพัฒนามาจากศิลปะแบบบาปวน ซึ่งประติมากรรมในศิลปะแบบบาปวนที่สระกำแพงใหญ่ ตรงเข็มขัดมีลักษณะเป็นวงกลมสองวงเรียงคู่ขนานทั้งบนและล่าง มีการนำรูปแบบนี้มาใช้กับ Golden Boy และปรับเป็นสี่เหลี่ยมที่มีรูปเฉพาะเป็นของตนเอง และผ้านุ่งต่างจากสระกำแพงใหญ่ตรงชายสมอ โดยผ้าที่โผล่ออกมามีพัฒนาการค่อนข้างชัดเจน

“การที่รูปแบบศิลปะไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแบบบาปวนหรือศิลปะแบบพิมาย มาจากการที่ช่างแต่ละสำนักมีรูปแบบเฉพาะของตัวเอง แต่ละราชวงศ์ก็มีช่างเป็นของตัวเอง ช่างของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 กับช่างของพระสุริยวรมันที่ 2 เป็นคนละกลุ่ม จึงมีการแบ่งเส้นและการแต่งตัวไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นการสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า Golden Boy คือรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ศิริพจน์กล่าวเสริม


ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพจากเฟซบุ๊กเพจศิลปวัฒนธรรม

Golden Boy: ‘พระเชษฐบิดร’ ของวงศ์มหิธรปุระ และความยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนานิกายมหายาน

ศิริพจน์เสนอว่า Golden Boy คือ ‘พระเชษฐบิดร’ หรือ ‘ผีบรรพชน’ ที่สร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 1600 เป็นผีประจำตระกูลของราชวงศ์ ‘มหิธรปุระ’ ซึ่งมีพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เป็นต้นราชวงศ์ พบที่ปราสาทบ้านยางและอยู่ใกล้กับปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเขาปลายบัด 2

ในโลกโบราณไม่มีการทำ ‘รูปเหมือนตัวบุคคล’ ด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นการดึงวิญญาณไปสู่รูปเหมือนนั้นๆ แต่เมื่อบุคคลตายไปแล้ว หากมีการทำรูปเหมือนก็เสมือนการทำให้วิญญาณหรือพลังของตัวบุคคลนั้นไปสถิตที่รูปเหมือน และเรียกว่า ‘พระเชษฐบิดร’ หรือ ‘ผีบรรพชน’ ซึ่งสมัยโบราณจะไม่ได้แยกรูปเหมือนของกษัตริย์แต่ละองค์อย่างชัดเจน แต่จะรวมรูปเหมือนในองค์เดียว ไม่ได้แยกเป็นปัจเจก 

การมีพระเชษฐบิดรยังสำคัญในแง่ของการระบุถิ่นฐานบ้านเกิด เพราะการเอารูปสถิตพลังบรรพชนมาตั้งไว้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษและวงศ์ของเขาอยู่ตรงนั้น ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถิ่นฐานดั้งเดิมของตนเอง

พระเชษฐบิดรปรากฏในหลายพื้นที่ ในประเทศไทยเองก็มีปรากฏอยู่ คือ ‘พระเทพบิดร’ ซึ่งเป็นรูปสนองพระองค์ของรัชกาลที่ 1-9 ประดิษฐานอยู่ในหอพระเทพบิดร ที่วัดพระแก้ว ในสมัยอยุธยาก็มีการทำรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าอู่ทองไว้ที่วัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมของพระเจ้าอู่ทองก่อนที่จะมาสร้างหนองโสนให้เป็นเมืองอยุธยา หรือที่บริเวณกษิตินทราคามหรือบ้านยางซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ก็มีการสร้างรูปพระเชษฐบิดรที่เป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ประดิษฐานที่ปราสาทบ้านยาง

ทั้งนี้ศิริพจน์ชี้แจงว่าเหตุผลที่เรียกพระเชษฐบิดรองค์นี้ว่า ‘เทพ’ เนื่องจากลักษณะการสลักรูปเหมือนตัวเองในระเบียงคดของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตรงบริเวณทั้ง 6 ด้านของปราสาท หรือการสลักรูปเหมือนตัวเองในริ้วขบวนทหารของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 มีการสลักรวมไว้กับรูปสลักของพระราม พระนารายณ์ รวมทั้งเทพองค์อื่นๆ กล่าวได้ว่ากษัตริย์ในราชวงศ์มหิธรปุระทำตัวเสมือนเป็น ‘เทพ’ ดังนั้นพระเชษฐบิดรที่เป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จึงเปรียบเสมือนเทพองค์หนึ่ง

พร้อมกล่าวแย้งข้อสันนิษฐานที่ว่า Golden Boy คือ ‘พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2’ เพราะพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 เป็นลูกของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ซึ่งถิ่นฐานเดิมอยู่ติดกับเวียดนาม หากพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 จะสร้างรูปสนองพระองค์คงสร้างบริเวณดังกล่าว ไม่ใช่แถบอีสานใต้ เพราะฉะนั้นการสันนิษฐานนี้จึงถือว่าเป็นไปไม่ได้

นอกจากนี้ บริเวณปราสาทเขาปลายบัด 2 คือพื้นที่ที่พบประติมากรรมกรุพระประโคนชัยจำนวนมาก โดยทั้งหมดเป็นประติมากรรมในพุทธศาสนานิกายมหายาน สังเกตได้จากกลุ่มพระพุทธรูปที่มีรูปของพระศรีอริยเมตไตรยและพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เป็นส่วนใหญ่ สันนิษฐานได้ว่าอาณาบริเวณโดยรอบนี้พุทธศาสนานิกายมหายานเคยรุ่งเรืองมาก่อน

จากบันทึกของพระภิกษุรูปหนึ่งในอินเดีย นามว่าปุณโยทยะ หรือปุณโยไท ได้บันทึกเกี่ยวกับการเดินทางไปจีนสมัยที่พุทธศาสนากำลังรุ่งเรืองในจีน ระหว่างการเดินทาง ปุณโยไทหยุดและแวะพักอยู่ที่ ‘เจนละบก’ หรือพื้นที่อีสานใต้ในปัจจุบัน และทำการเผยแพร่พุทธศาสนานิกายมหายานแบบโยคาจารในเจนละบก เมื่อคราวล่องเรือกลับจากจีน ปุณโยไทพบว่าพุทธศาสนาแบบโยคาจารเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในบริเวณนี้

ต่อมามีการขุดพบประติมากรรมที่มีลักษณะคล้ายกับประติมากรรมกรุพระประโคนชัยที่บ้านฝ้าย อำเภอลำปลายมาศ และบ้านโตนด จังหวัดบุรีรัมย์ รูปลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นพระพุทธรูปพระศรีอริยเมตไตรยและพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ทำให้การบันทึกของปุณโยไทมีน้ำหนัก แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้เคยมีพุทธศาสนานิกายมหายานแบบโยคาจารเจริญรุ่งเรืองมาก่อน

หากเชื่อมโยงกับข้อสันนิษฐานการมีวิทยาลัยสงฆ์และความเฟื่องฟูของพุทธศาสนานิกายมหายานในศรีเทพแล้ว กล่าวได้ว่าในภาคพื้นแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ตั้งแต่ศรีเทพลงมายังอีสานใต้ พุทธศาสนานิกายมหายานเจริญรุ่งเรืองมาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 1300 และเจริญต่อมาเรื่อยๆ จนมีปราสาทหลังใหญ่อย่างปราสาทพิมาย ซึ่งเป็นช่วงที่มี Golden Boy ทั้งยังมีจารึกที่บ่งชี้ว่าตัวของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 นับถือพุทธศาสนานิกายมหายานอีกด้วย โดยจารึกที่เก่าที่สุดของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ก็ตั้งอยู่ในปราสาทพนมวัน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากปราสาทพิมายที่เป็นศิลปะในพุทธศาสนานิกายมหายานเท่าใดนัก

“ถ้าบ้านยางคือกษิตินทราคาม ทุกอย่างคือลงล็อก เมื่อดูจากหลักฐานทางพุทธศาสนาและรูปของศิลปะทุกอย่างบ่งชี้ชัดเจนและเชื่อมโยงกันหมด นี่คือรูปของพระเชษฐบิดรของราชวงศ์ที่ไปสร้างหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างนครวัด นี่คือต้นราชวงศ์ของคนที่ไปสร้างเมืองนครธม เมืองนครหลวงที่เจ้าสามพระยาไปตี คือสองปราสาทหลังใหญ่ที่สุดของวัฒนธรรมเขมรโบราณ แต่เราอย่าเพิ่งไปแบ่งแยกว่าเป็นของไทยหรือของเขมร สมัยนั้นยังไม่มีแผนที่ เมืองใหญ่ๆ ไม่มีทางที่จะพูดภาษาเดียวหรือมีวัฒนธรรมเดียว ในโลกโบราณเวลาเขาวัดความยิ่งใหญ่ของเมือง คือการมีหลายชนชาติ มีหลายภาษา” ศิริพจน์กล่าว

ความสำคัญของ Golden Boy

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้เป็นหลักฐานที่เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา และยังอาจบ่งบอกได้ว่าวัฒนธรรมเขมรในอดีตเกิดขึ้นบนที่ราบสูงโคราชแล้วจึงแผ่ลงไปทางลุ่มทะเลสาบ

“เวลาเราเรียนเรื่องศิลปะวัฒนธรรมเขมร เรามักจะถูกสอนว่าวัฒนธรรมเขมรแผ่จากข้างล่างขึ้นมาข้างบนเสมอ เราไม่เคยนึกเลยว่าครั้งหนึ่งความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมนี้จะเกิดขึ้นบนที่ราบสูงและแผ่ลงข้างล่าง” ดร.ทนงศักดิ์กล่าว

พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สถาปนาปราสาทหินพิมายขึ้นเป็นปราสาทประจำรัชกาล และนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน ไม่ใช่แค่ช่วง พ.ศ. 1623-1650 ที่พระองค์ขึ้นครองราชย์เท่านั้น แต่หลักฐานทางพุทธศาสนาที่ศิริพจน์ทำวิทยานิพนธ์นั้นเจอตั้งแต่ พ.ศ. 1300 ก่อนหน้าที่จะเกิดปราสาทหินพิมาย 300 ปี ว่าบริเวณนี้นับถือพุทธศาสนาอย่างยิ่งใหญ่ ความสำคัญของชาวพุทธบริเวณนี้เป็นรากเหง้าให้ราชวงศ์มหิธรปุระเติบโตขึ้น และเป็นเหตุผลเดียวที่ตอบคำถามว่า ทำไมจึงไม่พบประติมากรรมสำริดกลุ่มประโคนชัยในกัมพูชามากเกิน 50 องค์

สังคมการก่อสร้างร่างตัวของวัฒนธรรมเขมรนั้นนับถืออยู่สองส่วนเท่านั้น คือ ‘พุทธ’ และ ‘ฮินดู’ หากไม่สร้างถวายให้พระพุทธเจ้าก็สร้างถวายให้พระศิวะหรือพระวิษณุ เห็นได้ชัดว่าวัฒนธรรมทางศาสนาในสังคมแบ่งเป็นสองสาย และส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่อยู่ตรงนี้ที่ ‘อีสานใต้’

ความยิ่งใหญ่ดังกล่าวยังสอดคล้องกับภาพสลักชิ้นหนึ่งที่ปราสาทหินพิมาย คือ ‘กระบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรก’ ซึ่งพอถึงรุ่นเหลนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีจารึกระบุชัดเจนว่า ทุกเดือน 4 คือวันขึ้นปีใหม่หรือวันสงกรานต์ ให้แห่พระพุทธรูปลงไปที่เสียมเรียบให้คนบูชาและเคารพ เพราะฉะนั้นประเพณีสงกรานต์เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น แม้ประเพณีสงกรานต์จะมีจารึกที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ด้วย แต่ทว่าไม่ชัดเจนเท่ากับตรงนี้

“สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่โยงไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความคิดเห็นในโซเชียลฯ แตกคอกันมากเกี่ยวกับการกล่าวอ้างทางวัฒนธรรม เราอาจต้องมานั่งคิดว่าทำไมจึงต้องแตกคอกัน เราอาจมาจากรากเหง้าเดียวกันก็ได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกนานในการทำความเข้าใจในสังคม” ดร.ทนงศักดิ์กล่าว

ต่อประเด็นเรื่องการสร้างความเข้าใจในสังคม ศิริพจน์กล่าวเสริมว่า “เมื่อเราได้โบราณวัตถุมา ไม่ใช่เอาไปจัดแสดงเพื่อให้คนเข้าไปดูเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการผลิตชุดความรู้และเผยแพร่ออกไปด้วย ซึ่งการผลิตชุดความรู้สามารถทำได้หลายรูปแบบ อาจไม่ใช่แค่ให้กรมศิลปากรทำหรือจัดวงเสวนาเท่านั้น แต่ทุกวันนี้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายเราก็สามารถกระจายข้อมูลได้มากกว่าแต่ก่อน อาจรวมถึงการพ่วงเรื่องเศรษฐกิจด้วย ในเมื่อประติมากรรมชิ้นนี้มาจากบ้านยาง ทำไมคุณไม่ทำอะไรที่บ้านยาง ไม่ต้องไปนึกถึงภาพมิวเซียมขนาดใหญ่ แต่ประติมากรรมควรกลับไปในที่ที่เคยอยู่”  

ทั้งนี้เขายังกล่าวต่อว่า “ถ้ากล่าวถึงคำยอดนิยมอยู่ตอนนี้อย่างซอฟต์พาวเวอร์ ประติมากรรมองค์นี้มีคุณค่ามาก เราควรผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับ Golden Boy ออกมา และหาวิธีจัดการกับคอนเทนต์นั้นเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและชุมชนที่อยู่รอบๆ”

จุดเริ่มต้นของการหวนคืน

Golden Boy ไม่ใช่โบราณวัตถุชิ้นสุดท้ายที่ต้องติดตามทวงคืน ยังมีอีกหลายชิ้นที่อยู่ระหว่างการติดตามทวงคืน The Met ยอมที่จะคืนประติมากรรมเหล่านี้ เพราะทางอัยการรัฐนิวยอร์กเตรียมที่จะฟ้องร้องคดี ถ้าฟ้องได้ประติมากรรมก็จะถูกยึดและ The Met กลายเป็นผู้ต้องหา ทางพิพิธภัณฑ์จึงมาเจรจากับกรมศิลปากรว่าจะเสนอคืนให้สองชิ้น แต่รายการที่คณะติดตามทวงคืนส่งหนังสือไปแล้วมีทั้งหมด 30 กว่าชิ้น ในกลุ่มนั้นมีกรุพระประโคนชัยที่มีมูลค่าและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จะยืนยันว่าบริเวณกษิตินทราคามนับถือพุทธศาสนาและยิ่งใหญ่มาก่อนที่กลุ่มฮินดูจะเข้ามา ซึ่งกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายหลักที่คณะติดตามฯ อยากติดตามทวงคืนมาให้ได้

ประเทศไทยใช้วิธีการเจรจาทางการทูต ในขณะที่กัมพูชาใช้ทนายเข้าไปเจรจาถึงพิพิธภัณฑ์ โดยส่งเอกสารไปทางกระทรวงต่างประเทศ จากนั้นกระทรวงต่างประเทศก็ส่งไปที่หน่วยงานของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องมีการสืบสวนก่อน ดังนั้นฝั่งพิพิธภัณฑ์จึงใช้ขั้นตอนนี้อ้างว่า พิพิธภัณฑ์รอการพิสูจน์หลักฐานว่าได้มาจริงหรือไม่จริง ทำให้ต้องใช้เวลา

“ถ้าใช้เวลาทวงคืนชิ้นละ 3 ปี ผมก็จะมีอายุประมาณ 150 ปี แต่ถ้าเขายอมคืนชิ้นหนึ่งแล้ว ชิ้นอื่นๆ อาจได้เร็วขึ้น ตอนนี้มีพิพิธภัณฑ์หลายที่กำลังเปิดเจรจากับประเทศไทยอยู่ว่าจะขอคืน แต่ทางนักสืบของโฮมแลนด์ซีเคียวริตี้ยืนยันมาชัดว่า ประเทศไทยไม่ควรเปิดเจรจา เพราะหลักฐานทุกชิ้นที่ไทยส่งไปติดตามคืนโบราณวัตถุ อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ได้ยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อน เพราะทางสหรัฐฯ ต้องการปราบการฟอกเงินจากการค้าโบราณวัตถุ กระบวนจึงง่ายและเร็วขึ้น เขาต้องการฟ้องทุกสิ่งทุกอย่างและให้กลับไปยังประเทศต้นทาง ส่วนที่เหลือน่าจะได้มาเร็วๆ นี้” ดร.ทนงศักดิ์กล่าว

ความยากลำบากในการติดตามทวงคืน ศิลปะรูปแบบเฉพาะตัว และข้อสันนิษฐานของเหล่านักวิชาการ แสดงถึงคุณค่าของ Golden Boy ที่ไม่ใช่เพียงการเติมเต็มพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นการเติมเต็มหน้าประวัติศาสตร์อันแหว่งเว้าและตัวตนของผู้คนในพื้นถิ่น พร้อมทั้งเป็นใบเบิกทางสู่ภาพอนาคตใหม่จากประติมากรรมชิ้นต่อไป


MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save