fbpx

ไม่ยาก ถ้าอยากเป็น ‘วัยรุ่นเทสต์ดี’ : เข้าใจจักรวาลซื้อขายรูป กับการพยายามอยากเป็น ‘คนอื่น’ บนโลกออนไลน์

“หาเรียลน่ารักแอบอ้างได้” 

“หารูปหรูๆ อวดรวยในร้านอาหาร”

“หาคนรับแท็กสตอรี่ไอจีค่ะ🥺” 


เราอยู่ในโลกที่เสก ‘รสนิยม’ ได้ด้วยปลายนิ้ว เราอยู่ในโลกที่สามารถซื้อรูปเทสต์ดี ไวบ์หรู ดูคุณหนูคุณชายของ ‘คนอื่น’ มาแอบอ้างเป็นของ ‘ตัวเอง’ ได้ 

ยินดีต้อนรับสู่จักรวาลซื้อขายรูปออนไลน์ ตลาดแห่งนี้เปิดโอกาสให้ทุกคนซื้อและขายรูปซึ่งแสดงถึงการมี ‘ชีวิตดีย์’ ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะรูปคนหน้าตาดี รูปไวบ์หรูหรา รูปแต่งตัวมีสไตล์ ไปจนถึงรูปที่แสดงถึงการมีสังคมเพื่อนและมีแฟนที่รักเราสุดหัวใจ …เพื่อให้ได้ครอบครองและโพสต์รูปที่ไม่ได้ถ่ายเอง – และอาจไม่เคยสัมผัสสิ่งนั้นในชีวิตจริง – บนโซเชียลมีเดียส่วนตัว 

การซื้อขายรูปออนไลน์แบบนี้กลายเป็นการซื้อ ‘รสนิยม’ ที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมาพร้อมสังคมที่มีโซเชียลมีเดียเป็นส่วนสำคัญของชีวิต 

กลุ่มซื้อขายรูปเพิ่งตกเป็นประเด็นบนโลกออนไลน์ไม่นานนี้ จนนำมาสู่การถกเถียงว่าเพราะเหตุใดคนถึงอยากสร้างโลกอีกใบโดยการเอารูปคนอื่นมาอ้างว่าเป็นตนเอง และเพราะเหตุใดคนจึงยอม ‘ลงทุน’ เพื่อพยายามเป็นคนอื่นบนโลกออนไลน์ 

“ลูกค้าบางคนมีผู้ติดตาม 4,000-5,000 คน แต่ในนั้นไม่มีรูปตัวเองเลยสักรูป” คือข้อความที่หนึ่งในแม่ค้าจากกลุ่มซื้อขายรูปบอกกับเรา 

มากไปกว่าการตั้งคำถามกับตัวบุคคลว่า ‘เขาทำเพื่ออะไร’ 101 ชวนตั้งคำถามต่อว่าปรากฏการณ์นี้บอกอะไรเรา และสะท้อนความเป็นไปของสังคมอย่างไรบ้าง  สกู๊ปชิ้นนี้อยากชวนผู้อ่านไปสำรวจจักรวาลการซื้อขายรูป ‘ชีวิตดีย์’ ผ่านเลนส์ของลูกค้าและผู้ขายไปด้วยกัน   

ตัวอย่างรูป ‘เทสต์ดี’ ที่ผู้เขียนทดลองซื้อจากกลุ่มซื้อขายรูป

คนเราจะซื้อรูปของคนอื่นไปทำไม? 


“ถ้าให้โพสต์ชีวิตตัวเองจริงๆ 100% ก็ทำได้แหละ แต่เราก็อยากได้อะไรมาเพิ่มเติมชีวิตด้วย ขอมีรูปวิว รูปอาหารบ้าง” คือข้อความที่ คริส (นามสมมติ) วัย 17 ปี บอกกับเรา

คริสเข้าวงการนี้ในฐานะผู้ซื้อ (ภายหลังพัฒนาเป็นผู้ขายด้วย) จากการบังเอิญเจอกลุ่มซื้อขายรูปออนไลน์ระหว่างเล่นเกม ด้วยความสนใจ เธอจึงทดลองเข้ากลุ่ม ก่อนจะทดลองซื้อภาพวิวทะเลมาเก็บไว้ในโทรศัพท์เป็นครั้งแรก 

ตั้งแต่นั้นมา คริสเล่าว่าภาพวิวเป็นประเภทภาพที่เธอซื้อเก็บไว้ส่วนตัวมากที่สุด รองลงมาคือรูป ‘เรียล’ (รูปภาพบุคคลที่มีตัวตนจริง ในกรณีนี้ หมายถึงการซื้อรูปของบุคคลอื่น อาจเห็นใบหน้าหรือไม่เห็นใบหน้าก็ได้) ไปจนถึงรูปอาหาร แมว วิวต่างประเทศ และรูปประเภทอื่นๆ

ท่ามกลางปรากฏการณ์ซื้อขายรูปออนไลน์ สิ่งที่ใครหลายคนสงสัยมากที่สุดคือ คนเราจะซื้อรูปไปทำไม? ซื้อเพื่ออะไร? ซึ่งเหตุผลของคนซื้ออาจไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนมากมายนัก คริสบอกเพียงว่า “เพราะเราไม่สามารถไปสัมผัสจุดนั้นได้ในชีวิตจริง”

“คนที่ขายรูปให้เรา เขามีโอกาสไปสัมผัสในจุดจุดนั้น เราเองก็อยากรู้ว่าจุดนั้นมีอะไรบ้างเลยลองซื้อมา เอามาแต่งวอลเปเปอร์โทรศัพท์หรือแต่งอินสตาแกรม ”

“คนเราก็อยากมีชีวิตที่ดีในสายตาคนอื่น” คริสขยายความ 

คริสเป็นเพียงหนึ่งในเยาวชนจำนวนมากที่เกาะเกี่ยวกับวงการซื้อขายรูปออนไลน์เท่านั้น แต่ยังมี ‘เหล่านักช็อป’ อีกมากที่ฝังตัวอยู่ในตลาด ส่วนมากกลุ่มลูกค้ามักเลือกใช้วิธีโพสต์ความต้องการลงไปในกลุ่มปิดของเฟซบุ๊กหรือไลน์ โดยระบุชัดเจนว่าอยากได้ภาพแบบไหนและใช้ ‘สิทธิ’ แบบใด

ตัวอย่างโพสต์หาซื้อภาพบนเฟซบุ๊ก
ตัวอย่างโพสต์หาซื้อภาพบนเฟซบุ๊ก
ตัวอย่างโพสต์หาซื้อภาพบนเฟซบุ๊ก
ตัวอย่างโพสต์หาซื้อภาพบนเฟซบุ๊ก
ตัวอย่างข้อความคนแท็กสตอรี่ (tag story) บนไลน์

คริสประเมินว่าคนในกลุ่มซื้อขายรูปจำนวนมากเป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยมีทั้งจากโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน 

นอกจากประเด็นเรื่องการไม่มีโอกาสได้สัมผัสบางอย่างด้วยตัวเองแล้ว คริสยังพูดถึงปัจจัยด้านการยกระดับฐานะ ความมั่นใจ และการเป็น ‘วัยรุ่นเทสต์ดี’ ของผู้ซื้อด้วย 

คริสเล่าว่า ด้วยอาชีพเสริมทำให้เธออยากได้ภาพมาโพสต์เพื่อพัฒนาโปร์ไฟล์ธุรกิจ รวมถึงอยากใช้ภาพเหล่านี้เพื่อยกระดับฐานะให้คนอื่นรู้สึกว่าตนเองก็มีหน้ามีตาเหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เธอมั่นใจในตัวเองมากยิ่งขึ้น

“โลกเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป โลกออนไลน์ทำให้คนรู้สึกอยากเป็นแบบนั้นแบบนี้ อยากมีรสนิยมดี มีแบรนด์เนม มีรถหรู ได้ไปเที่ยว นั่งจิบกาแฟ หรือกินข้าวร้านอาหารหรูๆ คนแข่งกันเพื่อบอกว่าเราเองก็มีเหมือนกัน ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร” เยาวชนวัย 17 ปี กล่าว 

ต่อประเด็นที่สังคมอาจตั้งคำถามว่า การซื้อภาพมาโพสต์เพราะมีความคาดหวังอยากให้คนอื่นมองว่าตัวเองเป็น ‘วัยรุ่นเทสต์ดี’ หรือไม่ คริสไม่ปฏิเสธเรื่องนี้

คริสอธิบายว่าการมีเทสต์ดีในวัยรุ่นสมัยนี้คือการมีรสนิยม การทำให้ตัวเองดูดี การเอาตัวเองไปอยู่ในที่เท่ๆ และโพสต์อะไรดีๆ เช่น วิวกรุงเทพฯ ยามค่ำคืน วิวสยาม ภาพคอนเสิร์ต เป็นต้น ซึ่งสำหรับคริส การเป็นวัยรุ่นเทสต์ดีจะทำให้เพื่อนยอมรับมากขึ้น 

“ในชีวิตจริงมีเพื่อนอยู่สองเทสต์ สมมติว่าคนหนึ่งชิวๆ เป็นเด็กธรรมดา ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นเด็กเทสต์ดี ฟังเพลง The Weeknd ถ่ายรูปแต่งตัวคุมโทน เด็กที่เทสต์ดีจะมีคนเข้าหาเยอะกว่า ยิ่งโพสต์ลงโซเชียลฯ ที่คนก็ชอบสไตล์แบบนี้อยู่แล้ว ยิ่งทำให้เด็กเทสต์ดีมีคนเข้าหามากขึ้น” คริสระบุ 

เสียงของลูกค้าอย่างคริสสะท้อนให้เห็นว่า สำหรับบางคน อัตลักษณ์บนโลกออนไลน์คือเรื่องใหญ่และสำคัญขนาดที่พร้อมลงทุนและควักเงินจ่ายเพื่อให้ตัวเองดูมีชีวิตดีขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนวิธีคิดเบื้องหลังได้ว่า แม้อาจยังไขว่คว้าการมีชีวิตที่ดีในโลกจริงไม่ได้ แต่การมีชีวิตดีในโลกเสมือนก็อาจทำให้รู้สึกดีขึ้นได้บ้าง


ตลาดซับซ้อนมากกว่าตาเห็น: สำรวจสินค้า ราคา และสิทธิ ของการซื้อขายรูปเทสต์ดี


ประเด็นเรื่องความต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคมเป็นเพียงเหตุผลของผู้ซื้อส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ในตลาดซื้อขายรูปยังมีลูกค้ากลุ่มใหญ่อีกกลุ่ม คือลูกค้าที่ซื้อรูปเพื่อไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง กลายเป็นความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของตลาดที่ต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งขึ้น

ก่อนจะไปถึงรายละเอียดว่าวงการนี้ซื้อขายกันอย่างไร ซื้อขายรูปอะไรบ้าง และทำธุรกิจกันที่ไหน เราอาจต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจศัพท์พื้นฐานกันก่อน ซึ่งแม้จะเป็นศัพท์ประเภท ‘คนเล่นเขารู้กัน’ ที่คนมาใหม่อาจยังสับสน แต่ก็ไม่ยากเกินทำความเข้าใจ


ศัพท์แสง

  • สิทธิส่วนตัว คือ เมื่อจ่ายเงินซื้อรูปด้วยสิทธินี้ จะสามารถเอารูปไปใช้ส่วนตัวเท่านั้น ห้ามขายต่อ
  • สิทธิสูบธรรมดา คือ เมื่อจ่ายเงินซื้อรูปด้วยสิทธินี้ จะสามารถเอารูปไปขายต่ออีกกลุ่มได้ อย่างไรก็ดี ผู้ซื้อในอีกกลุ่มจะไม่สามารถเอารูปไปขายต่ออีกทอด แต่จะใช้ได้แค่แบบสิทธิส่วนตัว 
  • สิทธิสูบลงสูบ คือ เมื่อจ่ายเงินซื้อรูปด้วยสิทธินี้ จะสามารถเอารูปไปขายต่ออีกกลุ่มได้ ขณะที่ผู้ซื้อในอีกกลุ่มก็สามารถเอารูปไปขายต่ออีกทอดได้เช่นกัน
  • แอบอ้างได้ คือ การที่อนุญาตให้ผู้ซื้อเอารูปไปทำอะไรก็ได้ เช่น หากซื้อรูปเรียลก็สามารถแอบอ้างว่าเป็นบุคคลนั้นจริงๆ 
  • มีมูล คือ การที่ภาพนั้นๆ มีข้อมูลกล้องที่ถ่ายบันทึกไว้อยู่ เช่น ถ่ายวันไหน ถ่ายที่ไหน เป็นต้น รูปมีมูลจะราคาดีกว่ารูปไม่มีมูล เพราะมันดูจริง ดูถ่ายเองกับมือ และยืนยันได้ว่าเป็นรูปที่ผู้ขายถ่ายกับมือจริงๆ ไม่ได้ก็อปปี้รูปมาขาย
  • จอนรูป คือ การก็อปปี้ของคนอื่นบนโลกออนไลน์มาขาย เช่น พินเทอเรสต์ เว่ยป๋อ อินสตาแกรม เป็นต้น

เมื่อแต่ละสิทธิที่กล่าวถึงข้างต้น หมายถึงการได้สิทธิถือครองรูปที่แตกต่างกัน จึงทำให้ราคาของรูปไม่เท่ากันโดยปริยาย โดยสิทธิส่วนตัวมักมีราคาถูกที่สุด และเพิ่มขึ้นในสิทธิสูบธรรมดา และสิทธิสูบลงสูบ ตามลำดับ

ทั้งนี้ แต่ละร้านจะมีกฎในการซื้อขายสิทธิไม่เหมือนกัน บางเจ้าอาจไม่อนุญาตให้ใช้รูปทำบางอย่าง เช่น ห้ามเอาไปแอบอ้าง ห้ามเอาไปด่าคน ห้ามเอาไปใช้หาคู่ ห้ามใช้ตั้งโปรไฟล์ ห้ามใช้ลงสตอรี่ ห้ามเอาไปใช้โกงคนอื่น ฯลฯ แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีเจ้าที่ไม่ห้ามอะไรเลย คือเอารูปไปทำอะไรก็ได้ 


ประเภทรูปที่ซื้อขาย 

แทบทุกรูปที่ซื้อขายกันมักเป็นรูปที่แสดงถึงการมีชีวิตที่ดี ทั้งหน้าตาดี หุ่นดี มีเงินทอง รสนิยมเด่น เพื่อนเยอะ แฟนรัก แต่งตัวเก๋ ไลฟ์สไตล์โก้ โดยเราทดลองแบ่งประเภทของรูปไว้ ดังนี้

  • รูปเรียล เช่น คนหน้าตาดี คนหุ่นดี คนสวยหล่อตามมาตรฐานความงาม ฯลฯ
  • รูปของหรูราคาแพง เช่น แบรนด์เนม เครื่องสำอาง รถหรู หมู่บ้านหรู เครื่องบิน พาสปอร์ต สมาร์ตโฟน ฯลฯ
  • รูปอาหารแพง เช่น อาหารนานาชาติ อาหารในร้านหรู กาแฟในคาเฟ่ ไวน์ ภัตตาคาร ฯลฯ
  • รูปวิว เช่น สถานที่ท่องเที่ยว เมืองยามค่ำคืน ห้างสรรพสินค้า หอศิลป์ฯ วิวต่างประเทศ 
  • รูปฟีลแฟน เช่น การเดตกับคนรัก การกินอาหารกับคนรัก หน้าจอโทรศัพท์ที่แสดงเวลาโทรหาคนรักติดต่อกันหลายชั่วโมง 
  • รูปฟีลเพื่อน เช่น การสังสรรค์และไปเที่ยวกับเพื่อน 
  • รูปเทาๆ ไปจนถึงดาร์ก เช่น รูปวาบหวิว 18+ บุหรี่ การใช้สารเสพติด 
  • รูปสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว ฯลฯ
  • รูปอื่นๆ เช่น โรงพยาบาล ใบรับรองโรคซึมเศร้า เท้า ฯลฯ

นอกจากการซื้อขายรูปแล้ว วงการนี้ยังมีการซื้อขายการแท็กสตอรี่ (tag story) บนอินสตาแกรมด้วย เช่น การแท็กเพื่ออวยพรวันเกิด การแท็กคลิปคอนเสิร์ต เป็นต้น

ตัวอย่างรูป ‘เครื่องสำอางค์แบรนด์เนม’ ที่ผู้เขียนทดลองซื้อจากกลุ่มซื้อขายรูป

ลักษณะการซื้อขาย 

การซื้อขายรูปมักเกิดขึ้นบนกลุ่มเฟซบุ๊ก และกลุ่มไลน์ โดยบนเฟซบุ๊กเริ่มจากการที่ผู้ซื้อและผู้ขายตั้งโพสต์เพื่อซื้อขายรูป ขณะที่ในไลน์เริ่มจากการชักชวนเข้ากลุ่มไลน์เพื่อซื้อขาย ซึ่งลักษณะการซื้อขายในไลน์จะสามารถแบ่งได้อีกสองประเภท ได้แก่ 

ประเภทแรก คือ จ่ายเงินค่าเข้ากลุ่มไลน์ก่อน โดยราคาเข้ากลุ่มจะแตกต่างตามสิทธิ เช่น ค่าเข้าสิทธิส่วนตัว 10 บาท สิทธิสูบธรรมดา 25 บาท สิทธิสูบลงสูบ 35 บาท เป็นต้น ผู้ซื้อต้องเลือกว่าจะซื้อสิทธิไหน และเมื่อเข้ากลุ่มไลน์แล้ว ก็จะสามารถใช้รูปอะไรก็ได้ตามสิทธิที่ตัวเองจ่ายเงินเท่านั้น ซึ่งกลุ่มแบบนี้จะมีค่าเข้าประมาณ 10-35 บาท

ประเภทต่อมา คือ เข้ากลุ่มไลน์ฟรี หากส่องอัลบั้มแล้วอยากได้รูปไหนก็ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อรูปนั้นๆ โดยเฉพาะ กลุ่มลักษณะนี้ขายรูปใบละประมาณ 5-50 บาท เช่น รูปเรียล 40-50 บาท รูปวิว 10-20 บาท รูปฟีลเพื่อน 30-50 บาท เป็นต้น 

ด้วยลักษณะการขายแบบ ‘สิทธิสูบ’ ที่อนุญาตให้คนจ่ายเงินเพื่อนำรูปจำนวนมากไปขายต่อได้ กลุ่มลูกค้าจึงไม่ได้มีแค่วัยรุ่นเทสต์ดีที่ซื้อภาพไปใช้ส่วนตัวเท่านั้น แต่จำนวนมากเป็นกลุ่มวัยรุ่นสร้างตัวที่รับบทผู้ค้าคนกลางและลงทุนจ่ายเงินซื้อรูปเพื่อเอาไปหารายได้ต่อ

ทั้งนี้ ผู้ขายในตลาดมักอ้างว่า ภาพที่ซื้อขายเป็นภาพที่ถ่ายเองจริงๆ ถ่ายมาเพื่อขาย ไม่ได้ก็อปปี้รูปมาขาย แต่คงไม่ใช่ทุกร้านที่จริงใจตามที่ว่า เพราะเคยมีกรณีที่ผู้ใช้เอ็กซ์ (x) ออกมาอ้างว่าถูกเอารูปไปใช้ โดยคนที่เอาไปใช้ก็อ้างว่าซื้อรูปมาจากกลุ่มซื้อขายรูปอีกที 


วัยรุ่นสร้างตัว 


ว่ากันต่อเรื่องสาเหตุแห่งการซื้อขาย การจะเข้าใจปรากฏการณ์ซื้อขายรูปอาจหนีไม่พ้นการสนทนากับตัวแปรสำคัญอย่างพ่อค้าแม่ขาย 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ลูกค้าจำนวนมากคือกลุ่มที่ซื้อเพื่อเอารูปไปขายต่อ ซึ่ง นัท (นามสมมติ) อีกหนึ่งเยาวชนวัย 17 ปีก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอคลุกคลีกับวงการซื้อขายรูปมาตั้งแต่อายุ 14 ปัจจุบันเป็นเจ้าของกลุ่มไลน์ดังที่คิดค่าเข้าไม่แพงนัก ซึ่งเธอทำไปเพราะต้องการหาเงินค่าขนมเพิ่ม 

“รายได้ดีอยู่นะ วันๆ หนูได้ประมาณ 300 กว่าบาทเลย ก็เยอะแล้วสำหรับเด็ก” นัทเล่า 

รูปที่นัทขายมีหลายประเภท มีทั้งรูปที่ถ่ายเองกับมือ รูปที่รับมาขายต่อ และรูปที่ลงทุนจ้างบุคคลให้ถ่ายภาพตามโจทย์ที่กำหนดไว้ เช่น ไปถ่ายที่สยาม ถ่ายตอนกินขนมหวานร้านดัง ถ่ายถือดอกไม้ที่สะพานพุทธ เป็นต้น เธอเรียกตัวเองว่าเป็นแม่ค้าที่มีจรรยาบรรณ เพราะร้านของเธอไม่สนับสนุนการก็อปปี้รูปจากอินเทอร์เน็ตมาขาย

นัทคาดว่ารูปที่ถูกนำใช้เยอะสุด คือ รูปเรียลที่มีใบหน้า ซึ่งในมุมของผู้ขาย เธอเข้าใจที่คนภายนอกมองว่าการซื้อขายรูปลักษณะนี้คือเรื่องไม่ดี แต่ขณะเดียวกันเธอก็เข้าใจว่าคนซื้อ (บางคน) อาจไม่สามารถ ‘ทำ’ หรือ ‘มี’ สิ่งนั้นในชีวิตจริงได้ แต่ว่าอยากทำหรืออยากมี จึงเลือกซื้อและสร้างโปรไฟล์ปลอมขึ้นมา 

“ก็ปลอมแหละ แต่ไม่ใช่การก็อปปี้ คนที่ขายก็เต็มใจให้ลง คนที่ซื้อก็เต็มใจซื้อไปลง เหมือนของซื้อของขาย เปรียบกับการซื้อกระเป๋ามือสองก็ได้ เพราะคนขายเต็มใจขาย คนซื้อเต็มใจใช้” นัทกล่าว พร้อมยืนยันว่าตนไม่มีจุดประสงค์ขายรูปเพื่อให้ใครเอาไปก่อเรื่อง เพราะตั้งกฎห้ามใช้ภาพแอบอ้าง หรือห้ามใช้ในเชิงเสียหายกำกับไว้แล้ว

นัทขายรูปมาตลอด 3 ปี ไม่เคยเลิกขาย แม้จะเคยโดนเอารูปหน้าตัวเองไปโปรโมตเว็บพนันออนไลน์ หรือเคยโดนมิจฉาชีพซื้อรูปหน้าตัวเองไปแอบอ้างและโกงเงินคนอื่น จนสร้างความลำบากเดือดร้อนถึงขนาดที่คนโดนโกงทักแชตมาขู่แฉชื่อและบัญชีทั้งที่เธอไม่เกี่ยวกับการโกง

ในฐานะแม่ค้า นัทเองทราบดีถึงความเสี่ยง ผลกระทบ และอันตรายที่เกิดขึ้นในวงการ แต่ดูเหมือนอันตรายเหล่านั้นไม่อาจหยุดเส้นทาง ‘สร้างตัว’ ของเธอได้


อันตรายจากธุรกิจซื้อขายรูป


วงการซื้อขายรูปออนไลน์มีวัตถุดิบที่ชวนให้ศึกษาต่ออย่างจริงจัง แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีประเด็นที่น่าจับตา โดยเฉพาะในมิติอาชญากรรม อย่างที่นัทเล่าว่าใครเคยถูกนำรูปไปแอบอ้างเพื่อหลอกคนอื่น ซึ่งนัทคงไม่ใช่รายสุดท้าย

ด้วยความที่พื้นที่ซื้อขายของกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อขายของอย่างรัดกุมปลอดภัย กล่าวคือ ไม่ใช่การช็อปรูปบนแพลตฟอร์มซื้อขายรูปทั่วไปอย่างชัตเตอร์สต็อก (shutterstock) ที่ต้องผ่านการลงทะเบียนและมีระบบที่รัดกุมจนสามารถติดตามข้อมูลของผู้ซื้อและผู้ขายได้ จึงกลายเป็นช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีนำรูปไปใช้ก่ออาชญากรรมหลอกลวงผู้อื่น เช่น ใช้รูปสร้างโปร์ไฟล์เพื่อหลอกเอาเงิน โปรโมตเว็บไซต์พนัน ไปจนถึงสร้างโปรไฟล์เพื่อโรแมนซ์สแกม เป็นต้น

นอกจากอาชญากรรมหลอกลวงข้างต้น กลุ่มลักษณะนี้ยังสร้างความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรมต่อเด็กและเยาวชนด้วย คนจำนวนมากในพื้นที่นี้คือเด็กอายุไม่ถึง 18 (บางคนยังมีคำนำหน้าว่า ‘เด็กหญิง’) แต่กลับเป็นพื้นที่ที่มีรูปเด็กและเยาวชนในลักษณะ 18+ อยู่ ทำให้หลายคนกังวลว่าอาจนำไปสู่การเป็นแหล่งรวมตัวของกลุ่มใคร่เด็ก (pedophile) ที่อาจอันตรายต่อเด็กได้

ต่อให้ไม่ใช่รูปโชว์เรือนร่าง แต่แค่รูปร่างหน้าตาหรือรูปใช้ชีวิตธรรมดา ก็อาจนำไปสู่ความเสี่ยงข้างต้นได้เช่นกัน เพราะรูปเหล่านี้บอกหน้าตา ข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น และลักษณะการใช้ชีวิต ซึ่งหากมิจฉาชีพประสงค์ร้ายจริง ภาพเหล่านั้นอาจนำไปสู่อันตรายอย่างการพยายามตามหาตัวคนในรูป หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นการพยายามลักพาตัว 

ในบางกรณีเช่นรูปประเภท ‘มีมูล’ ที่ถูกถ่ายขึ้นจริงโดยบุคคลหนึ่ง ใครก็ตามที่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของภาพประเภทนั้น จะสามารถสืบค้นข้อมูลการถ่ายภาพใบนั้นได้ ไม่ว่าจะวันที่ถ่าย เวลาที่ถ่าย กล้องที่ใช้ถ่าย และที่น่ากลัวที่สุด คือสถานที่ที่ใช้ถ่ายภาพนั้น 

‘ช่องว่าง’ เหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเฝ้าระวัง

ตัวอย่างภาพ ‘มีมูล’ ที่มีข้อมูลภาพถ่ายเบื้องต้น


อาการ ‘อยากเป็นคนอื่น’ บนโลกออนไลน์


นอกจากประเด็นทางอาชญากรรมแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องทางจิตวิทยาด้วย คือเรื่อง ‘อาการ’ อยากเป็นคนอื่นและอยากดูดีบนโลกโซเชียลมีเดียจนต้องสร้างโลกอีกใบขึ้นมา ซึ่งปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างอัตลักษณ์บนโลกออนไลน์ด้วย

การโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย คือการพยายามสร้างอัตลักษณ์ออนไลน์และเป็นการประกาศให้สังคมรับรู้ว่าเราเป็นคนแบบใด หน้าตารูปร่างเป็นอย่างไร มีไลฟ์สไตล์แบบไหน ฉะนั้น การโพสต์ภาพของคนอื่นและทำราวกับเป็นภาพจากชีวิตจริงตัวเอง คือการพยายามทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าอัตลักษณ์และตัวตนของเราเป็นเช่นนั้น 

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักมานุษยวิทยาอธิบายกับ 101 ว่า ปรากฏการณ์ซื้อขายรูปสะท้อนความพยายามสร้างอัตลักษณ์ในโลกดิจิทัลที่เต็มไปด้วยความเร็ว โดยพื้นฐานผู้ซื้ออาจเป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาสทางสังคมและเข้าไม่ถึงทรัพยากรบางอย่าง ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลก็รวดเร็วมากจนทำให้การตัดสินใจยั้งคิดเชิงศีลธรรมของมนุษย์หดสั้นลงอย่างไม่น่าเชื่อ กลุ่มซื้อขายรูปจึงเป็นผลผลิตจากเหตุเหล่านี้

ขณะที่เดวิด เบล (David Bell) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมออนไลน์ เคยอธิบายผ่านหนังสือ An Introduction to Cybercultures ว่า โลกอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่จำเป็นสำหรับคนที่ต้องการแสดงออกในสิ่งซึ่งพวกเขาไม่สามารถทำได้ในโลกจริง ซึ่งหากลองวิเคราะห์กับวงการซื้อขายภาพแล้ว นี่อาจสะท้อนว่ากลุ่มลูกค้าที่ซื้อภาพไปโพสต์อาจกำลังแสดงออกซึ่งสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง ท่ามกลางความฝันที่สร้างขึ้นบนโลกดิจิทัล 

การปลอมเป็นคนอื่นบนโซเชียลมีเดียไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีนักวิจัยจากอินโดนีเซียทำวิจัยเรื่อง Teen Motivation to Create Fake Identity Account on Instagram Social Media ที่ศึกษากลุ่มวัยรุ่นผู้สร้างตัวตนปลอมๆ บนโซเชียลมีเดีย โดยค้นพบว่า เพราะวัยรุ่นมักสะท้อนตัวตนผ่านอินสตาแกรมและอยากทำให้ตัวเองดูดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้บนแพลตฟอร์ม ทำให้บางคนตัดสินใจสร้างอัตลักษณ์ปลอมๆ ขึ้นมา 

สาเหตุก็เพราะขาดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกไม่ถูกยอมรับจากสังคมรอบข้าง สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้พวกเขาตัดสินใจสร้างภาพที่ต่างจากโลกความจริงเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่าและเพื่อทำให้สังคมออนไลน์ยอมรับ ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของคริสที่บอกว่า “คนเราก็อยากจะมีชีวิตที่ดีในสายตาคนอื่น”

ท้ายที่สุด คำถามสำคัญที่เราอาจแลกเปลี่ยนกันได้ต่อจากนี้คือ บนความต้องการที่หลากหลายของสังคม จะทำอย่างไรให้เราสร้างบาดแผลต่อกันและกันน้อยที่สุด และในสังคมที่เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญภาวะเปราะบางเช่นนี้ ผู้ใหญ่จะโอบรับเด็กอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ ‘ชีวิตจริง’ เป็นชีวิตแบบที่พวกเขาต้องการ


อ้างอิงจาก

Tanti Hermawati, Rila Setyaningsih, and Rahmadya Putra Nugraha. “Teen Motivation to Create Fake Identity Account on Instagram Social Media.” International Journal of Multicultural and Multireligious Understanding 8, no. 4 (2021): 87-98. http://dx.doi.org/10.18415/ijmmu.v8i4.2459.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save