fbpx

ความล้มเหลวในการโอนย้ายธุรกิจออกจากกองทัพอินโดนีเซีย

ในการปฏิรูปกองทัพอินโดนีเซียที่เริ่มดำเนินการกันอย่างจริงจังหลังจากระบอบซูฮาร์โตล่มสลายในปี 1998 นั้นมีเป้าหมายสำคัญอยู่ 3 ด้านด้วยกัน คือ (1) แยกทหารออกจากการเมือง (2) ดึงภารกิจการรักษาความสงบภายในออกจากกองทัพ (แยกตำรวจออกจากการควบคุมของกองทัพ) และ (3) ให้กองทัพเลิกทำธุรกิจ

โดยภาพรวมอาจจะกล่าวได้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีแห่งการปฏิรูป อินโดนีเซียประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการนำทหารออกจากการเมือง ยกเลิกหลักนิยมทวิหน้าที่ (dwifungsi) ให้กองทัพมีภารกิจในการป้องกันประเทศเพียงอย่างเดียว แยกการบังคับบัญชาตำรวจออกจากกองทัพ ทำให้กองทัพอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและทำให้รัฐสภามีอำนาจเหนือกองทัพ

แต่เป้าหมายด้านที่สามซึ่งห้ามกองทัพยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจนั้นเรียกได้ว่าล้มเหลวเกือบจะสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถเลิกล้มจารีตประเพณีที่มีมาแต่อดีตที่อนุญาตให้กองทัพทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง ประกอบกับระเบียบกฎหมายที่คลุมเครือไม่ชัดเจน ระบบปฏิบัติการในกองทัพที่ไม่โปร่งใสเป็นทุนเดิม อนุญาตให้นายทหารผู้นำเหล่าทัพแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเข้าพกเข้าห่อของตนเองแหละหมู่คณะได้ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการต่อต้านและบิดพลิ้วแนวทางในการปฏิรูปมาโดยตลอด

กองทัพอินโดนีเซียเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่เริ่มแรก เพราะพัฒนามาจากกองทัพประชาชนที่ต้องต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมเพื่อปลดปล่อยประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องหารายได้มาหล่อเลี้ยงกองทัพและทำสงคราม ต่อมาเมื่อปลดปล่อยประเทศได้แล้ว แต่กองทัพยังได้รับอนุญาตให้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปเพราะงบประมาณจากรัฐบาลไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงกำลังพลและสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหาร

แต่การดำเนินธุรกิจเกิดขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ถึงขนาดที่ถือว่ากองทัพเป็นหน่วยทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศเกิดขึ้นในยุคที่ทหารครองเมืองคือในช่วง 30 ปีของระบอบซูฮาร์โต (1968-1988) ซึ่งหน่วยในกองทัพและนายทหารระดับสูงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำธุรกิจหลายอย่างที่ทำรายได้ให้กับประเทศ ตั้งแต่ป่าไม้ เหมืองแร่ ไปจนถึงอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 1970 รายได้จากวิสาหกิจน้ำมันทั้งหลาย เช่น เปอร์ตามีนา (Pertamina) ดูเหมือนจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของกองทัพอินโดนีเซีย

ด้วยอำนาจและอภิสิทธิทางการเมืองของระบอบซูฮาร์โต เอื้ออำนวยให้กองทัพและกำลังพลในระดับนำได้รับสิทธิพิเศษในการทำธุรกิจและในหลายกรณีผูกขาด หรือใช้อำนาจและเส้นสายเอื้ออำนวยผลประโยชน์ทางธุรกิจให้กับบริวารและพวกพ้องที่อยู่ในภาคเอกชนให้สามารถเข้ามาเกาะกินทรัพยากรของชาติได้โดยปราศจากการตรวจสอบหรือความรับผิดชอบใดๆ

นี่ไม่นับว่าหน่วยทหาร นายทหารและกำลังพลหลายระดับชั้นเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจผิดกฎหมายตั้งแต่การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ค้าของเถื่อน คุมซ่องโสเภณี บ่อนการพนัน รับจ้างรักษาความปลอดภัยให้กับบรรดามาเฟียทั้งหลายไปจนถึงเรียกค่าคุ้มครองราวกับนักเลงโตแทนที่จะเป็นรั้วของชาติ

การทุจริต การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนของบุคลากรในกองทัพ ไปจนถึงความเหลวแหลกในระบบทำให้อินโดนีเซียมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องดึงธุรกิจออกมาจากกองทัพเพื่อให้กองทัพสามารถระดมสรรพกำลังและทรัพยากรเพื่อหน้าที่หลักของตนคือ ‘การป้องกันประเทศ’ เป็นสำคัญ ถ้าปล่อยให้กองทัพทำธุรกิจ พวกทหารคงเพลินกับการทำมาหากินเกินกว่าจะสนใจป้องกันประเทศ

นอกไปจากนี้ การศึกษาวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า ยิ่งกองทัพมีโอกาสหารายได้นอกเหนือจากการพึ่งพิงงบประมาณจากรัฐมากเท่าใด ก็ยิ่งเท่ากับเป็นการบ่อนทำลายอำนาจรัฐบาลพลเรือนและรัฐสภามากขึ้นเท่านั้น กล่าวในเชิงทฤษฎี การปล่อยให้กองทัพทำธุรกิจคือการบ่อนทำลายหลักการพลเรือนเป็นใหญ่ (civilian supremacy) เพราะกองทัพที่เลี้ยงตัวเองได้ย่อมไม่ฟังคำสั่งใครทั้งสิ้น

บทความนี้ต้องการสำรวจเพื่อเก็บรับบทเรียนว่า ทำไมประเทศที่เคยมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการปฏิรูปกองทัพอย่างอินโดนีเซีย จึงประสบกับความล้มเหลวในการดึงธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกจากการควบคุมของกองทัพ ส่วนหนึ่งก็เพื่อว่าอาจจะมีบางแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อความพยายามในการโอนย้ายธุรกิจออกจากกองทัพไทยที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

ธุรกิจทหาร และ ทหารทำธุรกิจ

เท่าที่ตรวจสอบได้จากแหล่งข้อมูลที่เปิดเผย เช่น รายงานของ Human Rights Watch ซึ่งออกมาเมื่อปี 2006[1] และ 2010[2] พบว่ากองทัพอินโดนีเซียให้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจในความควบคุมและดำเนินการของตัวเองไม่ชัดเจนและไม่คงเส้นคงวา กล่าวคือ กองทัพแจ้งกระทรวงกลาโหม เมื่อเดือนกันยายน 2005 ตอนที่เริ่มทำการสำรวจเพื่อเตรียมการโอนย้ายตามนโยบายรัฐบาลในสมัยนั้น ว่าทุกเหล่าทัพมีการดำเนินธุรกิจในรูปของกองทุนมูลนิธิ (Foundation) สหกรณ์ (Cooperative) และบริษัทที่มีมูลนิธิเป็นเจ้าของทั้งสิ้นเพียง 219 แห่ง แต่ปรากฏว่าในเดือนมีนาคม 2006 กองทัพให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับกระทรวงกลาโหมว่า มีหน่วยธุรกิจที่อยู่ในความครอบครองของทุกเหล่าทัพทั้งสิ้น 1,520 แห่ง แต่หลังจากนั้นในปี 2007 กองทัพอินโดนีเซียแจ้งต่อสาธารณะว่า ได้ดำเนินธุรกิจในรูปแบบกองทุนมูลนิธิ 23 แห่ง สหกรณ์อีกมากกว่า 1,000 แห่ง และบริษัทที่ถือหุ้นโดยมูลนิธิและสหกรณ์ 55 แห่ง กองบัญชาการของกองทัพอินโดนีเซียและทุกเหล่าทัพจะมีกองทุนมูลนิธิอย่างน้อย 1 กองทุน เฉพาะกองทัพบกมีกองทุนมูลนิธิแบบเดียวกันนี้ 16 กองทุน กองทุนมูลนิธิแต่ละกองทุนก็จะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอีกหลายบริษัท

กองทัพอินโดนีเซียมักจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรภายนอก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล รัฐสภา หรือสื่อมวลชน ในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางธุรกิจของกองทัพ หน่วยทหาร หรือนายทหารระดับสูง ในหลายกรณีหุ้นในกิจกรรมต่างๆ ที่หน่วยหรือนายทหารถืออยู่ในบริษัทอาจจะเป็น ‘หุ้นลม’ ที่มีนักลงทุนตัวจริงเอามาให้ถือไว้เพื่อเป็นของกำนัลแลกเปลี่ยนกับการได้อาศัยอภิสิทธิของทหารในการทำธุรกิจ

นอกจากนี้บรรดานายทหารทั้งระดับสูงและระดับกลางก็มักจะมีธุรกิจส่วนตัวกันทั้งสิ้น (ทั้งๆ ที่มีระเบียบห้ามตั้งแต่สมัยซูฮาร์โตมาแล้ว) ในบางกรณีพบว่าหน่วยทหารมอบหมายนายทหารนอกราชการไปเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นผู้ดำเนินธุรกิจ หรือบางกรณีนายทหารเหล่านั้นได้สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตั้งแต่ยังรับราชการอยู่ พอเกษียณออกไปแล้วก็ดำเนินการต่อเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติมจากเงินบำเหน็จบำนาญที่ได้จากรัฐ

อย่างไรก็ตามเท่าที่รวบรวมข้อมูลได้ สามารถจัดประเภทของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจของกองทัพอินโดนีเซียออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกันดังต่อไปนี้

ประเภทแรก คือ กองทุนมูลนิธิ (Foundation ในภาษาอังกฤษ หรือ Yayasan ในภาษาบาฮาซ่าอินโดนีเซีย) กองทัพอินโดนีเซียเริ่มตั้งกองทุนทำธุรกิจมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960s โดยยุคแรกๆ นั้นรัฐบาลจะจัดเงินงบประมาณก้อนหนึ่งมาจัดตั้งเป็นกองทุนทำธุรกิจเพื่อหารายได้มาเป็นสวัสดิการให้กำลังพล และเหตุที่ทำเป็นรูปแบบของมูลนิธิเพราะจะได้รับการยกเว้นภาษี แต่เอาเข้าจริงธุรกิจสำคัญๆ ที่แสวงหากำไรเหมือนธุรกิจเอกชนทั่วไปที่กองทัพดำเนินการนั้น ก็ทำในรูปแบบของกองทุนมูลนิธิทั้งสิ้น กองทุนหลายแห่งที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยซูฮาร์โตจะเติบโตรวดเร็วมากเพราะเข้าไปประกอบธุรกิจผูกขาดในหลายภาคส่วน แต่หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997-1998 ที่ทำให้ระบอบซูฮาร์โตล่มสลาย ก็ส่งผลให้กองทุนมูลนิธิที่ทำธุรกิจแบบผูกขาดภายใต้ร่มธงของระบอบเผด็จการพลอยประสบปัญหาไปด้วย หลายแห่งขาดทุนหรือถึงขั้นล้มละลายไปก็มาก

ธุรกิจของมูลนิธิภายใต้การควบคุมของกองทัพประสบกับความเปลี่ยนแปลงจนต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ในปี 2001 เมื่อมีการออกกฎหมายว่าด้วยกองทุนมูลนิธิฉบับใหม่ ที่จำกัดไม่ให้กองทุนเหล่านี้ไปทำธุรกิจแสวงหากำไรจากกิจการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวัตถุประสงค์หลักซึ่งเน้นเรื่องมนุษยธรรม สังคม หรือศาสนา ดังนั้น กองทัพจึงปรับบทบาทของกองทุนมูลนิธิเหล่านี้ให้มีลักษณะเป็น Holding หรือไปถือหุ้นข้างมากในบริษัท Holding และจำกัดการลงทุนในบริษัทหรือกิจการต่างๆเพื่อแสวงหากำไรให้ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ที่มีอยู่ของกองทุนเหล่านั้นตามที่กฎหมายกำหนด

แม้จะมีกฎหมายเช่นว่านั้นแล้ว แต่สถานะทางกฎหมายของกองทุนมูลนิธิเหล่านี้ก็ยังคลุมเครืออยู่ เพราะส่วนหนึ่งยังใช้ทรัพยากรของรัฐ และบริหารจัดการโดยนายทหารในราชการของกองทัพ ทางการอินโดนีเซียถือว่า กองทุนมูลนิธิของกองทัพนี้เป็นหน่วยงานกึ่งราชการ แม้ว่าบางกรณีผู้บริหารของกองทุนเหล่านี้อาจจะเกษียณหรือลาออกจากราชการแล้ว แต่กิจกรรมและกิจการทั้งหลายของมูลนิธิเหล่านี้ก็ยังเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการปฏิบัติการของกองทัพอยู่เช่นเดิม ทว่ากองทัพมักจะปฏิเสธอยู่เนืองๆ ว่า มูลนิธิเหล่านี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกองทัพแล้ว แม้ในความเป็นจริง กองบัญชาการของเหล่าทัพเป็นผู้ก่อตั้งกองทุนนี้และก็มีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของมันอยู่ก็ตาม

อย่างไรก็ตามมีหลายกรณีที่บริษัทหรือกิจการเหล่านั้นเปิดเผยว่าเกี่ยวข้องกับมูลนิธิของกองทัพโดยตรง เช่น บริษัท Admiral Lines ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งทางเรือ เว็บไซต์ของบริษัทระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1966 โดยมีกองทุนมูลนิธิกองทัพเรืออินโดนีเซียเป็นเจ้าของ และผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทคือ พลเรือตรี บูดีฮาร์จา ราเดน (Budiharja Raden) นายทหารเรือนอกราชการ เป็นต้น

ประเภทที่สอง คือ สหกรณ์ น่าจะเป็นรูปแบบในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เก่าแก่ที่สุดของกองทัพอินโดนีเซีย คือเริ่มมีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 สหกรณ์แห่งแรกเป็นของกองทัพบก ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 7 มกราคม ปี 1954 ภายใต้ชื่อสหกรณ์เครดิต แรกๆ ก็เหมือนกับมูลนิธิ คือตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับกำลังพล แต่ต่อมาเมื่อปี 1965 ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างอื่นได้อีกหลายอย่าง สหกรณ์จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินธุรกิจของกองทัพมาจนถึงปัจจุบัน

การทำธุรกิจในรูปสหกรณ์ได้รับความนิยมในกองทัพอินโดนีเซียเพราะมักจะถูกตรวจสอบน้อยกว่ากองทุนมูลนิธิ ด้วยความเข้าใจที่ผิดๆ ที่ว่า สหกรณ์พวกนี้มักจะเป็นร้านค้าสวัสดิการเล็กๆ ในหน่วยทหารที่มีไว้สำหรับขายสินค้าราคาถูกให้กำลังพลและครอบครัว ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้อะไรมากมายนัก แต่ในความเป็นจริง สหกรณ์ของกองทัพไม่ได้ทำแค่นั้นหรือมีรายได้จากสมาชิกเท่านั้น หากแต่หลายแห่งมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากหุ้นในธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดใหญ่เช่น โรงแรม หรือบริษัทคลังสินค้า เป็นต้น

ประเภทที่สาม คือ หน่วยทหารหรือนายทหารเข้าไปทำธุรกิจโดยตรง หรือเป็นหุ้นส่วนร่วมทุนกับบริษัทเอกชน แต่ข้อมูลส่วนนี้มักจะหาได้ยาก และเกิดความสับสนได้ง่ายๆ รายงานของ Human Rights Watch ที่เผยแพร่ในปี 2010 พบว่า กองบัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ มีกิจการเป็นของตัวเองตั้งแต่โรงงานทำไม้อัด ไปจนถึงสายการบิน มีสินทรัพย์รวมกันหลายล้านดอลล่าร์สหรัฐ

แต่จากการตรวจสอบในระยะหลังพบว่า กิจการหลายอย่างที่กองทัพถือหรือดำเนินการอยู่ไม่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจและมีอันต้องเลิกล้มไปก็มี เช่น บริษัท PT. Manunggal Air Service ของกองบัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย ประกอบธุรกิจสายการบิน มาตั้งแต่ปี 1997 เคยมีรายงานอุบัติเหตุในปี 2008 และเลิกล้มกิจการไปเมื่อปี 2015

สถานะของบางบริษัทแตกต่างไปจากรายงานของ Human Rights Watch ปี 2010 เช่นกรณีของ PT. Sumber Mas Indah Plywood ในรายงานบอกว่าเป็นบริษัทไม้อัดของกองทัพบกอินโดนีเซีย แต่เว็บไซต์ของบริษัทที่เข้าถึงล่าสุดในเดือนมีนาคมบ่งชี้ว่า บริษัทนี้เป็นธุรกิจครอบครัวของเอกชนที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 1976 ไม่มีอะไรที่บ่งบอกว่าเกี่ยวข้องกับกองทัพ

มีบางกิจการที่แม้ว่าไม่เปิดเผยโดยตรง แต่ก็ยังทิ้งร่องรอยให้รู้ว่ามีประวัติที่เกี่ยวข้องกับทหารหรือกองทัพอยู่ เช่นกรณีของ Klub Persada Halim ซึ่งมีรายงานว่าเป็นคลับเฮาส์ของกองทัพอากาศ ริเริ่มโดยอดีตนายทหารอากาศเพื่อสานฝันของเขาที่ต้องการจะมีสโมสรเอาไว้ให้เพื่อนฝูงมาพบปะกันในยามเกษียณ จึงได้จัดตั้งบริษัทขึ้นในปี 1988 ด้วยความสนับสนุนและอำนวยความสะดวกของเพื่อนทหารที่เป็นนายพลของกองทัพบกหลายคน บริษัทแห่งนี้ให้บริการเช่าห้องพัก ร้านอาหาร สถานที่แต่งงาน และอุปกรณ์กีฬานานาชนิด เท่าที่เห็นโฆษณาในเว็บไซต์ดูเป็นสถานที่หรูหราพอสมควร รายงานของ Human Rights Watch เมื่อปี 2010 ยังระบุมีสินทรัพย์มากกว่า 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

เหตุแห่งความล้มเหลว

อินโดนีเซียตระหนักถึงผลเสียของการทำธุรกิจของทหารมานานแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าในสมัยซูฮาร์โตมีการออกระเบียบในปี 1974 (ระเบียบ 6/1974) ห้ามกำลังพลของกองทัพเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางธุรกิจของเอกชน เว้นแต่ในสถานการณ์พิเศษ (ซึ่งไม่ได้กำหนดไว้แน่ชัดนักว่าคืออะไร) ในระเบียบนั้นมุ่งควบคุมทหารในระดับปัจเจก แต่ไม่ได้ห้ามระดับสถาบัน กล่าวคือ ห้ามเฉพาะนายทหารที่มียศตั้งแต่ร้อยโทขึ้นไป (เรือโท สำหรับกองทัพเรือ และเรืออากาศโทสำหรับกองทัพอากาศ) เข้าไปถือหุ้นในธุรกิจเอกชน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารบริษัทธุรกิจเอกชน เป็นที่ปรึกษาหรือทำการใดอันเกี่ยวข้องกับการแสวงหากำไร ไม่ว่าจะทำเป็นงานประจำหรือไม่ประจำก็ตาม

แต่ก็อีกนั่นแหละ ระเบียบนี้เป็นเรื่องปากว่าตาขยิบ เพราะในสมัยซูฮาร์โต กองทัพทำธุรกิจและนายทหารใหญ่ทั้งหลายก็ไปนั่งเป็นประธาน เป็นกรรมการในกิจการเหล่านั้น ยังไม่นับว่านายทหารใหญ่ก็ฝ่าฝืนระเบียบนั้นเสียเองด้วยการใช้อำนาจของตนเอื้ออำนวยให้กับธุรกิจเอกชนในเครือข่ายพวกพ้องและบริวาร

แต่การเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคปฏิรูปกองทัพหลังระบอบซูฮาร์โต กล่าวคือในช่วงปลายสมัยประธานาธิบดี เมกะวาตี ซูการ์โน บุตรี รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยกองทัพอินโดนีเซียฉบับใหม่ (Law No.34/2004 on TNI) ในเดือนกันยายน 2004 ซึ่งตัวบทมาตรา 76 บัญญัติเอาไว้ใน (1) ว่า “ภายใน 5 ปีนับแต่วันประกาศใช้กฎหมายนี้ รัฐบาลจะต้องเข้าควบคุมกิจการที่กองทัพเป็นเจ้าของหรือจัดการอยู่ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม” และใน (2) “กำหนดให้การใช้บังคับกฎหมายนี้อยู่ในอำนาจประธานาธิบดี”

ประธานาธิบดีที่มีอำนาจเต็มในการใช้บังคับกฎหมายนี้คือ อดีตนายทหารหัวปฏิรูป ซูซิโร บัมบัง ยุดโดโยโน ประธานาธิบดีจากระบบเลือกตั้งโดยตรงคนแรกของอินโดนีเซีย แต่ปรากฎว่าเขาแทบจะไม่สามารถทำให้กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับได้เลย แม้ว่าประธานาธิบดีจะตั้งพลเรือนเป็นรัฐมนตรีกลาโหม แต่ซูดาร์โซโน (Sudarsono) ผู้ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ระบบหารายได้พึ่งตนเองของกองทัพมาอย่างต่อเนื่อง กลับเอาแต่คอยแก้ต่างให้ท้ายกองทัพในการรักษาธุรกิจเอาไว้ต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐบาลไม่สามารถจัดหางบประมาณในการปฏิบัติการให้กับกองทัพได้อย่างเพียงพอ และถ้าหากรัฐบาลจำเป็นจะต้องทำตามกฎหมายก็จะเลือกเอาแต่กิจการขนาดใหญ่เท่านั้น ส่วนกิจการขนาดเล็กก็จะเก็บไว้ให้เป็นสวัสดิการแก่กำลังพล โดยเฉพาะชั้นผู้น้อยต่อไป

แม้ว่าประธานาธิบดียุดโดโยโน จะได้ชื่อว่าเป็นนายทหารหัวปฏิรูป และมีประสบการณ์ในการบริหารงานของรัฐบาลมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอับดุลเราะห์มาน วาฮิด เรียกได้ว่ารู้เห็นและเข้าอกเข้าใจเรื่องการปฏิรูปกองทัพดีกว่าใครทั้งหมด แต่ปรากฎว่าเขากลับปล่อยให้เวลาในการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพหมดไปเปล่าๆ เพิ่งจะมาขยับตัวเอาในเดือนตุลาคม ปี 2009 ซึ่งเหลืออีกไม่กี่วันจะถึงกำหนดเส้นตาย 5 ปี ตามกฎหมาย จึงได้ออกกฤษฎีกา No.43/2009 เพื่อถ่ายโอนธุรกิจกองทัพไปอยู่ในความควบคุมของรัฐบาล โดยกฤษฎีกาดังกล่าว ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลการถ่ายโอนกิจการของกองทัพ จากนั้นกระทรวงกลาโหมจึงได้ออกระเบียบ No. 22/2009 ว่าด้วยการถ่ายโอนกิจการเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายปี 2004

ความจริงเนื้อหาของกฤษฎีกาคำสั่งประธานาธิบดียุดโดโยโน ไม่ได้มีอะไรใหม่ไปกว่าล้อข้อความในมาตรา 76 ของกฎหมายกองทัพที่ออกมาในปี 2004 แต่อย่างใด แถมยังจะด้อยศักดิ์กว่าเพราะเป็นคำสั่งฝ่ายบริหาร และที่แย่ไปกว่านั้นคือ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการเอาไว้เหมือนในตัวกฎหมาย จะมีพิเศษอยู่บ้างก็ตรงที่ระเบียบกระทรวงกลาโหมที่ออกตามมานั้นได้พูดถึงทรัพย์สินของรัฐที่กองทัพครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่

รายงานของ Human Rights Watch ที่ออกมาในปี 2010 ซึ่งเป็นเวลาที่ผ่านเส้นตายไปแล้วหลายเดือนยังชี้ให้เห็นสาเหตุแห่งความล่าช้า หรืออาจจะเรียกว่าล้มเหลวในการใช้บังคับกฎหมายเพื่อโอนย้ายธุรกิจกองทัพไปอยู่ในความควบคุมและการบริหารงานของรัฐบาลอยู่หลายประการ ได้แก่

ประการแรก กฎหมายและระเบียบดังกล่าวเปิดช่องให้มีการตีความและโต้แย้งถึงเจตนารมณ์และนิยามประเภทกิจการหรือธุรกิจที่กองทัพ ‘เป็นเจ้าของ’ (own) หรือ ‘จัดการ’ (manage) ‘โดยตรง’ (direct) หรือ ‘โดยอ้อม’ (indirect) ได้อย่างกว้างขวาง มีการตีความกฎหมายกิจการที่รัฐบาลจะเข้าเทกโอเวอร์ได้ว่าจะต้องเป็นธุรกิจที่หน่วยทหารทำเองโดยตรงเท่านั้น ส่วนกิจการที่กองทัพดูแลโดยอ้อมนั้นสมควรจะทำแค่การปรับโครงสร้างก็เพียงพอ

ฝ่ายกองทัพมักจะโต้แย้งว่า ธุรกิจส่วนใหญ่นั้นไม่น่าจะอยู่ในขอบเขตของระเบียบกฎหมายว่าด้วยการโอนย้ายกิจการที่จะให้อำนาจรัฐบาลเข้าเทกโอเวอร์ได้ เพราะผู้ที่เป็นเจ้าของตัวจริงคือ กองทุนมูลนิธิหรือสหกรณ์ เป็นนิติบุคคลที่เป็นเอกเทศจากกองทัพ และการบริหารจัดการมักจะทำโดยสมาชิก ไม่ใช่เหล่าทัพหรือกองบัญชาการต่างๆ แต่อย่างใด

แม้กองทัพจะยอมจำนนด้วยถ้อยคำในกฎหมายว่าเป็นเจ้าของหรือบริหารจัดการโดยอ้อม ด้วยว่ากองทุนมูลนิธินั้นจัดตั้งโดยเงินจากกองทัพ ผู้บริหารจัดการและสมาชิกก็เป็นกำลังพลของกองทัพทั้งในและนอกราชการ แต่ก็ยังสามารถยื้อได้อีกด้วยการอ้างว่าระเบียบกระทรวงกลาโหมกำหนดว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างกิจการเหล่านั้น ไม่ได้อนุญาตให้รัฐบาลเข้าเทกโอเวอร์

นอกจากนี้ยังจะต้องคำนึงถึงกฎหมายว่าด้วยกองทุนมูลนิธิและสหกรณ์ที่กำหนดว่าไม่ให้ลงทุนแสวงหากำไรเกิน 25 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินที่มีอยู่ นั่นหมายความว่าภารกิจส่วนใหญ่ของบรรดากองทุนและสหกรณ์พวกนี้ทำเพื่อสังคมไม่ใช่เพื่อแสวงหาผลกำไรเชิงธุรกิจ

แต่หลังจากโต้แย้งกันไปมาอยู่ตลอดระยะเวลา 5 ปีจนกระทั่งเลยเส้นตาย ก็ได้ข้อสรุปว่า รัฐบาลไม่สามารถเข้าเทกโอเวอร์กิจการหรือธุรกิจที่กองทุนมูลนิธิหรือสหกรณ์เป็นเจ้าของหรือบริหารจัดการอยู่

ประการที่สอง คณะกรรมาธิการหรือคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลการถ่ายโอนธุรกิจ ไม่มีอำนาจและขาดความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะตั้งขึ้นภายใต้การกำกับของกระทรวงกลาโหม ซึ่งไม่เพียงแต่ถูกครอบงำโดยทหารเท่านั้น หากแต่รัฐมนตรีที่มากำกับดูแลกระทรวงนี้ก็ไม่มีความกล้าหาญมากพอที่จะขัดแย้งกับผู้นำเหล่าทัพได้ แม้ว่าคณะทำงานนี้จะมีองค์ประกอบของผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานอื่นๆ ถึง 9 คนด้วยกัน แต่ในจำนวนนั้นเกินครึ่งเป็นทหาร กล่าวคือ 1 คนมาจากกองบัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย 3 คนคือผู้แทนเหล่าทัพบก เรือ อากาศ และอีก 1 คนจากกระทรวงกลาโหมซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่และทำหน้าที่เป็นประธาน เรื่องจึงกลายเป็นว่า คณะทำงานดูจะเป็นคณะผู้แทนที่มาปกป้องผลประโยชน์ในกองทัพมากกว่าจะมาดำเนินการโอนย้ายธุรกิจเหล่านั้นให้ไปอยู่ในมือรัฐบาล

ประการที่สาม ซึ่งสำคัญอย่างมาก รัฐบาล รัฐสภา และสาธารณะชนทั่วไป จะได้ข้อมูลหยาบๆ เกี่ยวกับกิจการของกองทัพ แต่จะไม่มีทางล่วงรู้รายละเอียดได้เลยว่า กองทัพมีธุรกิจหรือกิจการอยู่ในมือทั้งหมดเท่าไหร่ กองทุนหรือสหกรณ์แต่ละที่เข้าไปถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของกิจการอะไรบ้าง ทำธุรกิจประเภทไหนบ้าง สถานที่ประกอบการตั้งอยู่ที่ไหน ดังนั้นตัวเลขจำนวนกิจการและธุรกิจที่ปรากฏออกมาแต่ละครั้ง (ดังที่กล่าวข้างต้น) จะไม่เคยตรงกันเลย ยิ่งไม่ต้องพูดเลยว่า รัฐบาลหรือบุคคลภายจะสามารถเข้าถึงข้อมูลทางบัญชีเพื่อให้ทราบถึงผลการประกอบการ รายรับ รายจ่าย อีกทั้งระบบการสอบบัญชี (auditing) หรือ การตรวจเงินแผ่นดินของอินโดนีเซียก็ไม่สู้จะเข้มแข็งอีกด้วย การสอบบัญชีของธุรกิจกองทัพเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในประเทศนี้

ประการที่สี่ การดำเนินการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพขาดความโปร่งใสและขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ ในวงกว้าง ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากระบบการทำงานของกองทัพที่ไม่ชัดเจนตั้งแต่ต้น การปกปิดข้อมูลด้วยเจตนาที่ไม่ต้องการให้รัฐสภา สื่อมวลชน หรือภาคประชาชนได้ตรวจสอบ เพื่อซ่อนเร้นความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายหรือแม้แต่ปกป้องนายทหารที่ทุจริตก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดความล้มเหลว

ปริศนาวาทกรรมของธุรกิจกองทัพ

กองทัพอินโดนีเซียก็เหมือนกับกองทัพในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายในโลกนี้ ที่สร้างวาทกรรมต่างๆ นานาเพื่อรักษาธุรกิจและผลประโยชน์ในกองทัพเอาไว้ใช้สอยกันในหมู่ทหาร ป้องกันไม่ให้รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐอื่นใดมายึดเอาไป หรือเข้ามาตรวจสอบกันได้ง่ายๆ วาทกรรมต่างๆ เหล่านั้นพอจะประมวลได้ดังต่อไปนี้

แรกสุดเลยทีเดียว กองทัพอินโดนีเซียจำต้องทำธุรกิจหารายได้เพื่อหล่อเลี้ยงกองทัพและกำลังพล ตลอดถึงเพื่อการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ในการป้องกันประเทศและรักษาความสงบภายใน เพราะงบประมาณด้านกลาโหมที่รัฐบาลจัดสรรให้ไม่เพียงพอกับความต้องการ เรื่องนี้อาจจะจริงในระยะเริ่มแรก แต่เป็นข้ออ้างที่ไม่มีมูลเลยในระยะหลังเพราะกองทัพมักจะอ้างความต้องการจิปาถะแบบลอยๆ โดยไม่มีแผนงานที่ชัดเจนว่าความต้องการในการใช้งบประมาณไปใช้จ่ายมาจากเรื่องอะไรบ้าง

ธนาคารโลกรายงานว่า แม้งบประมาณทางทหารของอินโดนีเซียจะลดลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับทศวรรษ 1970 ในยุคที่ทหารเป็นใหญ่ คือลดลงในอยู่ในระดับที่น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศมาตลอด นับแต่ปี 1998 เป็นต้นมา จนมาอยู่ในระดับ 0.7 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2022 แต่รัฐบาลอินโดนีเซียก็จัดงบประมาณให้กองทัพมากถึง 4 เปอร์เซ็นต์ของการใช้จ่ายของรัฐบาลทั้งหมด

รายงานของ Human Rights Watch ระบุว่า ระหว่างปี 2002-2005 คือก่อนที่จะมีการออกกฎหมายห้ามกองทัพทำธุรกิจ รัฐบาลอินโดนีเซียอนุมัติงบประมาณให้เกินกว่าการใช้จ่ายจริงทุกปี ยิ่งไปกว่านั้นกองทัพยังสามารถเบิกงบประมาณสำหรับการปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉินนอกเหนือไปจากงบประมาณประจำปีได้อีก นั่นหมายความว่าถ้าใช้กันให้เกิดประสิทธิภาพก็น่าจะเพียงพอกับการปฏิบัติภารกิจ

การศึกษาทางวิชาการ เช่นงานของ Deni Angela และ Meidi Kosandi[3] จากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในปี 2007 สินทรัพย์ของกองทุนมูลนิธิและสหกรณ์ของกองทัพมีมูลค่ารวมกันประมาณ 350 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และธุรกิจของกองทัพเท่าที่ตรวจสอบได้ น่าจะทำกำไร 28.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียจัดสรรงบประมาณให้กองทัพในปีเดียวกันนั้น 3.2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ กำไรจากการประกอบธุรกิจเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้กองทัพแล้วไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ไม่น่าจะเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงกองทัพได้อย่างมีนัยสำคัญ

ประการต่อมา มีการอ้างกันเสมอว่า รายได้จากธุรกิจนั้นนำไปเพิ่มสวัสดิการกำลังพล โดยเฉพาะชั้นผู้น้อย แต่กองทัพไม่สามารถพิสูจน์หรือแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์เลยว่า รายได้หรือผลกำไรจากการประกอบธุรกิจนั้นเอาไปจ่ายเป็นสวัสดิการให้กับกำลังพลชั้นผู้น้อยอย่างไร หรือในรูปแบบไหน การศึกษาของ Chia Choon Hoong จาก Marine Corps University พบว่า ประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของธุรกิจกองทัพจะถูกยักย้ายถ่ายโอนไปเข้าบัญชีส่วนตัวของนายทหาร[4] รายงานของ Human Rights Watch ฉบับปี 2006 ซึ่งสัมภาษณ์นายทหารในกองทัพอินโดนีเซียให้ข้อมูลว่า ธุรกิจของกองทัพเป็นวัวนม (cash cow) ให้กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพได้สูบกิน มากกว่าจะนำมาใช้เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับกำลังพลชั้นผู้น้อย แน่นอนอาจจะมีการแบ่งปันผลกำไรมาจัดสวัสดิการเล็กๆ น้อยๆ ให้กับกำลังพลอยู่บ้าง แต่ในเมื่อไม่มีใครสามารถตรวจสอบระบบบัญชีของธุรกิจเหล่านี้ได้ เรื่องเหล่านี้ก็จะยังคงเป็นปริศนาอยู่ต่อไป กองทัพก็จะอ้างแบบนี้ต่อไปทั้งๆ ที่อาจจะรู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีใครเชื่อแล้วก็ได้

บทเรียนและหนทางที่ยาวไกล

ถ้าจะสรุปว่า ผู้นำอินโดนีเซียตั้งแต่สมัยยุดโดโยโนเป็นต้นมาไม่มีเจตจำนงค์ทางการเมืองที่แรงกล้าอย่างเพียงพอที่จะดึงธุรกิจออกจากกองทัพ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงสักเท่าใด เพราะในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีประธานาธิบดีเพียงแค่ 2 คน นั่นหมายความว่าแต่ละคนมีเวลาอยู่ในตำแหน่งยาวนานพอที่จะทำงานต่อเนื่องได้ ซึ่งถ้าเอาจริงเอาจังน่าจะปฏิรูปกองทัพในส่วนนี้ให้สำเร็จได้ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีของยุดโดโยโน ซึ่งเป็นนายทหาร มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกองทัพเป็นอย่างดี อีกทั้งเขาเองก็มีส่วนร่วมในการปฏิรูปกองทัพมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรก

แต่ความล้มเหลวส่วนหนึ่งนั้นน่าจะมาจากแผนการดำเนินงานไม่ชัดเจนและประเมินแรงต้านจากกองทัพต่ำไป รัฐบาลในสมัยยุดโดโยโน มีกฎหมายอยู่ในมือตั้งแต่เริ่มแรก แต่แทนที่จะจัดทำแผนปฏิบัติการให้ชัดเจน แล้วลงมือขุดคุ้ยตรวจสอบธุรกิจในกองทัพอย่างจริงจังเสียก่อนตั้งแต่ต้น กลับเสียเวลาไปกับการตีความกฎหมาย โต้เถียงกันและปล่อยให้กองทัพอาศัยเหตุแห่งความคลุมเครือมาต่อล้อต่อเถียงด้วยเจตนาที่จะเหนี่ยวรั้งกระบวนการถ่ายโอนกิจการต่างๆ จนกระทั่งหมดเวลา

ถ้ารัฐบาลแสดงเจตนาให้ชัดเจนเสียตั้งแต่ต้นว่า ธุรกิจของกองทัพหมายถึงธุรกิจที่เป็นเจ้าของ ดำเนินการ บริหารและจัดการโดยกองทุนมูลนิธิและสหกรณ์ ตลอดถึงหน่วยทหารและนายทหารทั้งหมด ก็อาจจะทำให้เข้าไปจัดการได้ตรงจุด

สิ่งที่น่าจะเรียกว่าเป็นจุดผิดพลาดที่สุด คือ คณะกรรมาธิการหรือคณะทำงานในการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพที่เตรียมการให้รัฐบาลเข้าเทกโอเวอร์ ไม่มีอำนาจในการสอบบัญชีธุรกิจของกองทุนหรือสหกรณ์เหล่านั้นเลย ถ้าหากมีความสามารถในการตรวจบัญชี (หรือหากมีอำนาจในการจัดจ้างผู้สอบบัญชีอิสระหรือจากต่างประเทศได้) อาจจะทำให้รัฐบาลได้คำตอบเร็วขึ้นว่า อาจจะมีกิจการไม่กี่แห่งที่จะต้องเข้าเทกโอเวอร์ ส่วนที่เหลืออาจจะอยู่ในภาวะที่ล้มละลายและต้องทำการชำระบัญชีไปเลยก็ได้

ผู้นำคนต่อมาของอินโดนีเซียคือ โจโค วิโดโด ซึ่งรับตำแหน่งต่อในช่วงปี 2014-2024 ดูเหมือนจะไม่ได้ดำเนินการอะไรเกี่ยวกับธุรกิจกองทัพเลย สาเหตุส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเขาต้องการแรงสนับสนุนจากกองทัพเพื่อค้ำจุนให้เขาอยู่ในตำแหน่งได้อย่างมั่นคง

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังปล่อยให้ทหารขยายอำนาจเพิ่มขึ้นและโจโควีได้ผูกสัมพันธ์กับอดีตนายพลหลายคน รวมทั้งผู้เคยมีประวัติฉาวโฉ่ในสมัยซูฮาร์โตเข้ามาเป็นพันธมิตรทางการเมืองและร่วมงานในคณะรัฐมนตรี โจโควีใช้กองทัพทำโครงการหลายอย่างเพื่อช่วยยกฐานะรัฐบาล และในเวลาเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมบทบาททหารไปด้วยในตัว การสำรวจความคิดเห็นประชาชนในช่วงรัฐบาลโจโควีพบว่า คะแนนนิยมของกองทัพอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น แม้ว่าบางโครงการ เช่น ให้ทหารช่วยทำนาปลูกข้าว จะไม่ได้ช่วยการยกระดับผลผลิตทางการเกษตรแต่อย่างใดเลยก็ตาม

การที่เขาให้บทบาททหารเข้ามานั่งในคณะรัฐมนตรีนั้นไม่เพียงทำให้กองทัพขยายบทบาท หากแต่พวกนายพลเหล่านี้ยังถือโอกาสปรับโครงสร้างขยายตัวและรุกกลับเข้าไปในพื้นที่ซึ่งเคยสูญเสียไปช่วงการปฏิรูปกองทัพ เช่น เข้าปฏิบัติการรักษาความมั่นคงภายในแทนตำรวจในหลายพื้นที่ เพิ่มจำนวนหน่วยทหารและตำแหน่งให้กับนายทหารอีกจำนวนมาก[5]

เป็นที่คาดหมายว่า บราโบโว ซูเบียนโต อดีตนายพลในระบอบซูฮาร์โต ผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา น่าจะสืบต่อภารกิจในการสร้างเสริมบทบาทกองทัพในสังคมการเมืองอินโดนีเซียให้มากขึ้น แทนที่จะทำการปฏิรูปเพื่อลดบทบาทกองทัพเหมือนก่อน มีความเป็นไปได้ว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกองทัพอินโดนีเซียที่เตรียมการกันเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วน่าจะได้รับการสานต่อให้เป็นจริงเพื่อเปิดช่องให้นายทหารในราชการเข้าไปดำรงตำแหน่งในหน่วยงานของพลเรือนได้

มาถึงตรงนี้คงจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า แนวคิดที่จะดึงธุรกิจออกจากกองทัพอินโดนีเซียน่าจะตายสนิทไปแล้ว

เหล่าทัพกองทุนมูลนิธิ
กองบัญชาการกองทัพอินโดนีเซียYayasan Markas Besar ABRI (Yamabri)
กองทัพบกYayasan Kartika Eka Paksi (YKEP)
กองบัญชาการยุทธศาสตร์กำลังสำรอง (Kostrad)Yayasan Kesejahteraan Sosial Dharma Putra (YKSDP Kostrad) (ก่อนหน้านี้รู้จักกันในชื่อ Yayasan Darma Putra Kostrad (YDPK)
กองบัญชาการรบพิเศษ (Kopassus)Yayasan Kesejahteraan Korps Baret Merah (Yakobame)
กองทัพเรือYayasan Bhumyamca (Yasbhum)
กองทัพอากาศYayasan Adi Upaya (Yasau)
รายชื่อกองทุนมูลนิธิ (บางส่วน) ของกองทัพอินโดนีเซียที่ประกอบธุรกิจ | ที่มา: Human Rights Watch, 2010


[1] Human Rights Watch. “Too High a Price: The Human Rights Cost of the Indonesia Military’s Economic Activities” Vol.18 No.5 (C) June 2006 (https://www.hrw.org/reports/2006/indonesia0606/indonesia0606webwcover.pdf)

[2] Human Rights Watch. “Unkept Promise: Failure to End Military Business Activity in Indonesia” January 11, 2010 (https://www.hrw.org/report/2010/01/12/unkept-promise/failure-end-military-business-activity-indonesia)

[3] Deni Angela and Meidi Kosandi “Military Business in Indonesia: Army Cooperative after Acquisition Policy 2009 and its Impact on Civil-Military Relations” International Journal of Social Science and Economic Research Vol. 1 Issue 10 October 2019

[4] Chia Choon Hoong, Major. The Business of Indonesia Armed Forces. Thesis of Master of Military Studies Marine Corps University, Virginia 2002

[5] Institute for Policy Analysis of Conflict. Civil-Military Relations in Indonesia After Jokowi Report No.87 July 17,2023

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save