fbpx

ความหมายของเวลา

1

2023 เป็นปีที่ ‘พีก’ ที่สุดปีหนึ่งของสังคมไทย 

มองย้อนกลับไป ใครจะกล้าคิดว่า ฉากทัศน์การเมืองไทยจะเป็นแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน – พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง, เพื่อไทยแพ้เลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี, การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วแบบ (ส.ว.) พลเอกประยุทธ์เอาด้วย, คุณทักษิณกลับบ้าน, การพระราชทานอภัยลดโทษ, การได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรีของพลเอกประยุทธ์ และส่งท้ายปีด้วยคำถามทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญที่ทำให้หลายคนผิดหวัง    

นี่ยังไม่นับการกลับประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 27 ปีของ ‘ท่านอ้น’ – วัชเรศร วิวัชรวงศ์  ซึ่งแม้ไม่ใช่เรื่องการเมืองโดยตรง แต่ด้วยสถานะส่วนตัวก็ทำให้การ ‘กลับบ้าน’ ครั้งนี้มีความเป็นการเมืองอย่างที่สุด และเป็นการเมืองที่ยังมิอาจมีใครที่คาดเดานัยได้ 

“หากเราไม่ใช่คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย นี่คือช่วงเวลาที่น่าตื่นตาตื่นใจทางการเมืองไทยมากที่สุด” บางคนพูดถึงการเมืองในปี 2023 ไว้แบบนี้ 

แต่เพราะเราต่างเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดปีจึงเรียกร้องพลังงานทางความคิดและอารมณ์ความรู้สึกอย่างมาก – ไม่ใช่แค่กับผู้แพ้เท่านั้น เชื่อเถอะว่าฝ่ายชนะก็สะบักสะบอมไม่ต่างกัน – ต่อให้พรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจสามารถเป็นรัฐบาลได้ก็จริง แต่ก็ต้องแลกกับการถูกด่าว่า “ตระบัดสัตย์” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงอย่างยิ่งสำหรับการทำงานการเมือง 

ยิ่งไปกว่านั้น ฉากทัศน์ทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ใช่สิ่งที่ชนชั้นนำอยากได้มากที่สุด หากเลือกได้ ชนชั้นนำไทยย่อมอยากได้รัฐบาลแบบพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชามากกว่า ทว่าพวกเขาก็ต้องตระหนักถึงความจริงที่ว่า ตัวเลือกที่ดีที่สุดที่มีนั้นแพ้อย่างหลุดลุ่ยในสนามเลือกตั้งทั้งๆ ที่กุมอำนาจรัฐและรัฐราชการอย่างเข้มแข็งมาตลอดหลายปี 

ในแง่นี้ รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจึงไม่ใช่ ‘ไพ่’ ที่ชนชั้นนำไทยอยากได้ตั้งแต่แรก หากแต่ถูกกดดันให้ต้องเลือกเล่นเกมแบบนี้ 

ยิ่งหากถอยมามองการเมืองในห้วงจังหวะเวลาที่ยาวขึ้น – จากวันที่คนจำนวนมากยังเชียร์รัฐประหารเมื่อ 9 ปีก่อน ถึงวันที่พรรคการเมืองที่ชูธงสู้กับกับระบอบเผด็จการ (ซึ่งหมายรวมทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย) ได้คะแนนชนะอย่างท่วมท้นในวันนี้ -การเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก และกระแสแห่งอนาคตก็วิ่งไปทางนี้อย่างชัดเจน

บางทีเวลาก็มีความหมายแบบนี้

2

เมื่อปีใหม่มาถึง สิ่งหนึ่งที่เรามักทำเป็นประจำคือ การคาดการณ์ว่าอะไรจะเป็นหมุดหมายสำคัญของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทย (และโลก) สำหรับปี 2567 โจทย์ใหญ่ที่คาดเดาได้ไม่ยากและนักวิเคราะห์การเมืองแทบทุกสำนักเห็นตรงกันคือ การจัดทำรัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษกรรม และนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

ซึ่งทั้งหมดเริ่มปรากฏให้เห็นเค้าลางมาตั้งช่วงปลายปี 2566 

ในบรรดาประเด็นใหญ่เหล่านี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกฎหมายนิรโทษกรรม น่าจะเป็นประเด็นที่มีความแหลมคมและสร้างข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางที่สุด เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าผลลัพธ์สุดท้ายของรัฐธรรมนูญและกฎหมายนิรโทษกรรมจะมีส่วนกำหนดความเป็นไปของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่จะตามมาอีกหลายปี หรือกระทั่งหลายสิบปีข้างหน้า 

คนที่ติดตามการเมืองต่างตระหนักดีว่า ‘ใจกลาง’ ของข้อถกเถียงทางการเมืองในปัจจุบันคือ การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทย ซึ่งแม้จะยังไม่พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ทว่าการออกแบบคำถามประชามติที่มีแนวโน้มว่าจะไม่ให้มีการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ตั้งแต่แรก หรือข้อกังวลของรัฐบาลในประเด็นการนิรโทษกรรมคดี ม.112 ก็เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่สะท้อนปมนี้ได้เป็นอย่างดี

ไม่นับการแก้ไข ม.112 ที่เป็นประเด็นดีเบตใหญ่กันมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และถูกใช้ ‘อ้าง’ เป็นเงื่อนไขในการไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ รัฐยังใช้กฎหมายเล่นงานกลุ่มที่เห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรงและต่อเนื่องนับตั้งพลเอกประยุทธ์ประกาศให้นำกฎหมายมาใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชี้ว่า ตลอดระยะเวลาเป็นเวลาสามปีเต็มพอดี มีผู้ถูกดำเนินคดีไป 259 คน ใน 281 คดี

พูดให้ถึงที่สุด หากแก้ปมนี้ไม่ได้ ก็ยากที่สังคมไทยจะก้าวไปสู่การเมืองที่ ‘ปกติ’ มากขึ้น


นโยบายเงินดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สังคมไทยต้องจับตา 

การใช้เงินงบประมาณกว่า 500,000 บาทในการแจกเงินคนโดยตรง มีโอกาสอยู่มากที่จะ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ ตลอดปีที่ผ่านมาเว็บ The101.world ก็มีผลงานสื่อที่ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้อยู่จำนวนหนึ่ง ในขณะที่ 101 PUB เองก็แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า เหตุใดนโยบายนี้จึงไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจไทยปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งคือ การเบรกนโยบายด้วยกลไกขององค์กรอิสระ อย่าง ปปช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ อย่างที่เคยทำกันมา สังคมไทยต้องช่วยกันยืนยันว่า รัฐบาลควรเดินหน้าทำนโยบายต่อไปตามที่ได้หาเสียงกับประชาชนไว้ และปล่อยให้สภาเป็นพื้นที่ของการถกเถียงเชิงนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐบาลประกาศแล้วว่าจะทำนโยบายผ่านพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นกระบวนการของสภาโดยแท้  

กล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่า ‘สภา’ เป็นกลไกวิเศษที่กลไกอื่นห้ามเข้ามายุ่ง สังคมยังควรที่จะช่วยกันตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น ส่วนนโยบายจะผิดถูก ดีแย่แค่ไหน ก็ให้รัฐบาลรับผิดรับชอบทางการเมืองตามกลไกปกติ บทเรียนที่ผ่านมาชี้ว่า การเข้ามาแทรกแซงกระบวนการเชิงนโยบายขององค์กรอิสระนี่แหละที่มีส่วนทำให้รัฐบาลรับผิดรับชอบต่อประชาชนน้อยลง  


ในประเทศว่าเหนื่อยแล้ว มองออกไปข้างนอกประเทศก็ต้องพบเจอกับความวุ่นวายและซับซ้อนไม่ต่างกัน 

ในภาพใหญ่ที่สุด ระเบียบโลกยังอยู่บนความไร้ระเบียบ – พื้นที่สงครามอย่างรัสเซียและยูเครนก็ยังไม่มีทีท่าจะลดความคุกกรุ่น ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเเอล-ปาเลสไตน์ ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ‘สงครามร้อน’ อาจกลายเป็นความปกติมากขึ้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเริ่มเห็นตรงกันแล้วว่ากำลังจะกลายเป็น ‘สงครามเย็น’ ครั้งใหม่ 

ควรกล่าวด้วยว่า ความ ‘ไร้ระเบียบ’ ไม่ได้หมายถึงความวุ่นวายเพียงอย่างเดียว หากแต่หมายถึงการเสื่อมถอยของระบบการเมืองโลกที่อยู่บนฐานของกติกา (rule based system) ซึ่งมีกฎหมายระหว่างประเทศและคุณค่าสิทธิมนุษยชนสากลเป็นแกนกลาง แม้จะถูกวิจารณ์เรื่องความเท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำระหว่างชาติมหาอำนาจกับชาติขนาดเล็กอย่างหนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบการเมืองที่อยู่บนฐานกติกาเป็นคุณให้กับประเทศขนาดเล็กและทรัพยากรน้อยมากกว่าความไร้ระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการแก้ไขปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ปัญหามลพิษ การกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ และการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นต้น

กล่าวโดยย่อ ความเสี่ยงประเทศไทยเผชิญในระดับโลกไม่ใช่เรื่องการบอกให้ใครสักคนใดคนหนึ่งเร่งปรับตัว เพราะเอาเข้าจริงแล้ว หน่วยทางสังคมขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น ปัจเจกบุคคล ครอบครัว หรือชุมชน ไม่สามารถรับมือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้โดยลำพัง รัฐจึงจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการจัดการความเสี่ยงผ่านการกำหนดกฎระเบียบและนโยบายสาธารณะที่เหมาะสม

คำถามคือ รัฐ (และรัฐบาล) ไทยตีโจทย์นี้อย่างไร มีศักยภาพในการทำเรื่องนี้แค่ไหน และเลือกหนทางไหนในการทำงาน

3

‘ทางที่ง่าย แต่สร้างอิมแพ็กสูง’ 

‘เรื่องไหนทำได้ ทำก่อน’ 

นี่คือหลักคิดที่เรามักจะถูกสอนอยู่เสมอ เมื่อต้องตัดสินใจเลือกว่าจะแก้ปัญหาอะไรก่อนหลัง และควรต้องใช้ทรัพยากรไปกับเรื่องไหนดี – ในการทำงานจริง นี่คือวิธีการทำงานที่ฉลาดอย่างยิ่ง และคงไม่มีใครปฏิเสธหลักคิดนี้  

หากถอดรหัสกันไม่ผิด รัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันก็เดินทางนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากไม่ตีโจทย์ให้ดี วิธีคิดเช่นนี้อาจนำไปสู่การหลีกเลี่ยงไม่เผชิญปัญหาที่แท้จริงด้วยเช่นกัน เพราะในการบริหารประเทศ รัฐบาลย่อมมีเรื่องที่ ‘ทำได้ง่าย’ และ ‘ทำได้ก่อน’ อยู่เสมอ  

ประทีป คงสิบ สรุปการเมืองในปี 2566 ไว้อย่างแหลมคมว่า การที่ปีกอนุรักษนิยมเดินเกมทุกวิถีทางเพื่อสกัดก้าวไกลไม่ให้เป็นรัฐบาล ทั้งๆ ที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ยิ่งทำให้ผู้คน ‘ตาเบิกโพลง’ มองเห็น ‘ช้างตัวใหญ่’ ที่อยู่ในห้อง

ขอขยายความอีกนิดว่า ‘ช้างตัวใหญ่’ ที่อยู่ในห้อง ไม่ได้มีอยู่แค่ตัวเดียว ‘นายทุน ขุนศึก ศักดินา’ ตัวละครเหล่านี้ยังอยู่กันครบ (แน่นอนว่า บางตัวใหญ่กว่าตัวอื่น!)

ข้อสังเกตของประทีป คล้ายกับที่ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยปรารภไว้ตั้งแต่ 9 ปีก่อนว่า “อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้เห็น และอะไรที่เคยเห็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว”  

จาก 2549 – 2566 เวลาได้ทำงานของมันอย่างเต็มที่ และ 2566 ได้โยนคำถามกับสังคมไทยอย่างจริงจังว่า การแกล้งมองข้ามช้างไปเพื่อทำอะไรที่ ‘ง่าย แต่อิมแพ็ก’ แบบที่ชอบอ้างกันมาเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลจริงแล้วหรือ

หรือการพูดถึงช้างอย่างตรงไปตรงมา เพื่อออกแบบ ออกแรง เพื่อสร้างห้องที่อยู่ร่วมกันใหม่นี่แหละคือ วิธีการที่ ‘ง่าย’ และ ‘อิมแพ็ก’ ที่สุดแล้ว 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save