fbpx

ที่สุดแห่งปี 2023 โดยกองบรรณาธิการ The101.world

ถ้ามีการจัดอันดับปีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญมากมาย ปี 2023 ย่อมติดโผอย่างไม่ต้องสงสัย

ปีนี้เป็นปีที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้งออกมา ‘ช็อก’ หลายคน เป็นปีที่คนที่จากบ้านเกิดไปนานได้กลับบ้าน เป็นปีที่เส้นแบ่งทางการเมืองเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เป็นปีที่เผยเนื้อในการเมืองไทยอย่างชัดแจ้ง เป็นปีที่คนไทยหลายคนบอกว่า ‘มีความหวัง’ และ ‘หมดหวัง’ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไปจนถึงเป็นปีที่มีการเปิดโปงวงการตำรวจและแวดวงสีเทา จนเป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน หรือหากขยับออกไปนอกประเทศ โลกก็เกิดสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ขณะที่พื้นที่สงครามหลายแห่งของโลกก็ไม่มีทีท่าจะลดความคุกรุ่นลง

เพราะเป็นปีที่ ‘สุด’ เช่นนี้ กองบรรณาธิการ The101.world จึงจัดอันดับ ‘ที่สุดแห่งปี’ ในแต่ละด้าน เพื่อเป็นการจดบันทึกไว้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในปี 2023 หลายเรื่องเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หลายเรื่องเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และหลายเรื่องดูเหมือนจะเป็นจุดสิ้นสุด

ทั้งหมดเล่าไว้ใน ‘12 เรื่องที่สุดแห่งปี 2023’ โดยกองบรรณาธิการ The101.world

1.วันนี้ที่รอคอยแห่งปี: ทักษิณ-วัชเรศรกลับไทย

15 ปี – ทักษิณ ชินวัตร

27 ปี – วัชเรศร วิวัชรวงศ์

ตัวเลขข้างต้นคือปีที่บุคคลสำคัญของไทยจำต้องเดินทางออกนอกประเทศไทยและใช้ชีวิตในต่างแดน ก่อนจะกลับมาพร้อมกันด้วยความ ‘บังเอิญ’ ในปี 2566

หลังรัฐประหาร 2549 ทักษิณ ชินวัตรกลับมาไทยอีกครั้งในปี 2551 จนเกิดเป็นซีน ‘กราบแผ่นดิน’ ในตำนานที่สนามบินสุวรรณภูมิ เขาบินออกไปอีกครั้งเมื่อปลายปี 2551 โดยบอกว่าจะไปดูกีฬาโอลิมปิกที่จีน แต่แม้โอลิมปิกจะแข่งขันจบไปแล้ว ทักษิณก็ยังไม่ได้กลับไทยอีกเลยเป็นสิบปี แต่ชื่อของเขายังคงเป็นศูนย์กลางของสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยนับทศวรรษ

ชื่อของทักษิณถูกพูดถึงอย่างหนาหูอีกครั้ง เมื่อ ‘รีแบรนด์’ ตัวเองใหม่มาในนาม ‘Tony Woodsome’ จนคนเรียก ‘พี่โทนี่’ ทั่วบ้านทั่วเมือง หลังจากขยันทวีตและออกช่องคลับเฮาส์มากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งเข้มข้นในช่วงใกล้เลือกตั้ง 2566 เมื่อเขาทวีต ‘ขอกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน’ ซึ่งสอดคล้องกับความหวังที่พรรคเพื่อไทยจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาพลิกโผ พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคที่ชนะเลือกตั้ง ทำให้ ‘ความมั่นใจ’ ในการกลับบ้านของทักษิณดูเบาบางลง การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่มั่นคงพอ และไม่รู้ว่ารัฐบาล ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ จะผ่านด่าน ส.ว. ไปได้อย่างไร จนการทวีต ‘กลับบ้าน’ ของทักษิณ เจอพิษโรคเลื่อนมากกว่าหนึ่งครั้ง หลายคนแซวว่า “ทักษิณจะกลับบ้านกี่โมง?”

แต่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการตั้งรัฐบาลนั่นเอง ที่เพื่อไทยปล่อยมือก้าวไกล แล้วไปดื่มช็อกมินต์กับภูมิใจไทย เกิดการ ‘ย้ายขั้ว’ ไปร่วมกับพรรครัฐบาลเดิม ก็มีคนที่ได้ ‘กลับบ้าน’ จริงๆ เพียงแต่คนนั้นไม่ใช่ทักษิณ ชินวัตร หากแต่เป็น ‘วัชเรศร วิวัชรวงศ์’ โอรสในรัชกาลที่ 10

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 ปรากฏภาพวัชเรศรเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ หลายคนไม่อยากเชื่อจนต้องซูมแล้วซูมอีกว่านี่คือสนามบินประเทศไหนกันแน่ ก่อนจะเป็นที่แน่ชัดเมื่อมีภาพเผยแพร่ออกมาว่าวัชเรศรนั่งรถตุ๊กๆ เดินทางรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ร่วมกิจกรรมเพื่อการกุศลอีกหลายงาน และให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่า “เหมือนฝันเป็นจริงที่ได้กลับมา” กลายเป็น ‘ตัวละครลับ’ ที่ปรากฏในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการเมืองไทย

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเพื่อไทยแถลงจัดตั้งรัฐบาล (ที่ไม่มีก้าวไกล) เพียงหนึ่งวัน ทักษิณก็กลับมาเหยียบแผ่นดินไทยในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ด้วยเครื่องบินส่วนตัวจากสิงคโปร์ เข้ามอบตัวตามหมายจับ ปัจจุบันถูกส่งตัวไปรักษาอาการป่วยที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ รวมเวลาแล้วกว่า 4 เดือน นับจากวันที่ถูกคุมขัง (นับถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2566)

ปี 2566 กลายเป็นปีที่ ‘การรอคอย’ ของใครหลายคนสิ้นสุดลง

2.สื่อมวลชนแห่งปี: ไอทีวี

ในช่วงเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา ถ้าถามว่าชื่อของสื่อสำนักใดมีบทบาทอย่างสูงจนส่งผลกระเพื่อมต่อการเมืองไทยอย่างรุนแรง คำตอบคงหนีไม่พ้น ‘ไอทีวี’

เปล่า – ไอทีวีไม่ได้นำเสนอข่าวสารอย่างตรงไปตรงมาและเปิดโปงเรื่องสำคัญที่ถูกเก็บงำไว้ ที่ไม่ได้ทำ ไม่ใช่เพราะไอทีวีไม่มีศักยภาพมากพอ แต่เป็นเพราะไม่มีไอทีวีแล้วต่างหาก

ไอทีวีถูกสั่งระงับการออกอากาศตั้งแต่ปี 2550 ปัจจุบันไม่มีนักข่าว ไม่มีแม้แต่จอดำซ่า เป็นเพียงบริษัทที่ผู้ถือหุ้นรอรับเงินปันผลจากค่าชดเชยในคดีเท่านั้น แต่เหตุที่ ‘ไอทีวี’ กลายเป็นสื่อที่ส่งผลกระเพื่อมต่อการเมืองไทย เพราะมีชื่อของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคที่ชนะเลือกตั้งอย่างก้าวไกลถือหุ้นอยู่ในฐานะ ‘ผู้จัดการมรดก’

แม้จะชัดเจนว่าไอทีวีหยุดประกอบธุรกิจสถานีโทรทัศน์มาตั้งแต่ปี 2550 แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ ‘รับคำร้อง’ คดีพิธาถือหุ้นไอทีวี ในวันเลือกนายกฯ ครั้งที่สอง (19 กรกฎาคม 2566) เรียกว่า ‘ทำงานเร็ว’ กันอย่างน่าชื่นชม มีจดหมายสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ส่งตรงไปยังพิธา จนหัวหน้าพรรคส้มต้องถอดป้ายประจำตัววางบนโต๊ะ แล้วเดินออกจากสภาไป เรื่องราวทั้งหมดนี้อยู่ในสายตาของคนไทยที่กำลังสนใจการเมืองทั่วประเทศ

เรื่องนี้อาจารย์สอนกฎหมายอาจกุมขมับ เพราะไม่รู้จะสอนลูกศิษย์อย่างไร แต่อาจารย์สื่อสารมวลชนคงตื่นเต้นที่ได้เห็นตัวอย่างสื่อไทยที่ทรงพลังต่อสังคมถึงเพียงนี้(?)

3.ชัยชนะของหนังไทยแห่งปี: สัปเหร่อ

หลังจากยุครุ่งเรืองของหนังไทยช่วงปี 2540-2560 หนังไทยก็เข้าสู่ช่วงซบเซา หลายคนบอกว่าหนังไทยไม่มีอะไรใหม่ บทซ้ำซากจำเจ วนเวียนอยู่กับหนังผี ตลก และเรื่องรักใคร่ของหนุ่มสาวที่บทไม่ได้น่าสนใจนัก ยังไม่นับว่าระบบนิเวศของหนังไทยไม่ได้สนับสนุนให้เกิดคนทำหนังที่หลากหลายและการฉายหนังที่เข้าถึงคนจำนวนมาก ทำให้หลายคนพูดตรงกันว่าหนังไทยอยู่ในช่วงขาลง และไม่รู้ว่าจะกลับขึ้นมาได้อย่างไร

แต่แล้ว ในช่วงที่คำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ กำลังฮอตฮิตอยู่ในหน้าสื่อ หนังนอกสายตาอย่างเรื่อง ‘สัปเหร่อ’ ก็ค่อยๆ ทำเงินขึ้นมา จนก้าวเข้ามาอยู่ ‘ในสายตา’ ของมวลชนได้ ระเบิดลูกแรกเกิดขึ้นเมื่อหนังทำรายได้แตะ 100 ล้านบาทหลังฉายไปได้เพียง 6 วัน หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรฉุดอยู่ หนังไต่ระดับไปสู่ 720 ล้านบาทภายในเวลา 46 วัน สร้างปรากฏการณ์หนังไทยที่ทำรายได้มากที่สุดในรอบสิบปี

สิ่งที่ทำให้ ‘สัปเหร่อ’ ถูกพูดถึง ไม่ใช่แค่เพราะเป็นหนังที่ทำรายได้สูงเท่านั้น แต่นี่เป็นหนัง ‘บ้านๆ’ ที่นำเสนอเรื่องราว ‘บ้านๆ’ ในภาคอีสาน ด้วยกลุ่มนักแสดงที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ – จริงอยู่ กลุ่มนักแสดง ‘ไทบ้าน’ และหนังในจักรวาลไทบ้าน เป็นที่รู้จักอยู่แล้วในกลุ่มคนดูหนัง (โดยเฉพาะในภาคอีสาน) ตั้งแต่ ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ ‘ไทบ้านxBNK48 จากใจผู้สาวคนนี้’ ไปจนถึงเรื่อง ‘หมอปลาวาฬ’ แต่ทั้งหมดก็เป็นการรู้จักกันในหมู่แฟนคลับเท่านั้น ไม่ได้กลายเป็นกระแสในหมู่มวลชนเช่นสัปเหร่อ

การที่ ‘สัปเหร่อ’ โด่งดังและเป็นที่นิยมในคนทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่ารสชาติหนังแบบใหม่ทำให้คนหันมาสนใจได้จริง และอะไรที่เป็นตัวของตัวเองโดยไม่ได้ทำตามตลาด ก็กลายเป็นการเปิดตลาดขึ้นใหม่ได้ ในช่วงเดียวกันก็มีหนังผีฟอร์มยักษ์ ที่นำแสดงโดยณเดชณ์ คูกิมิยะ เรื่อง ‘ธี่หยด’ ออกฉายพร้อมกัน กลายเป็นกอดคอกันโลดแล่นในโรงหนัง และพากันทำรายได้รวมกันกว่า 1,200 บาท (ธี่หยดทำรายได้ไป 500 ล้านบาท)

จริงอยู่ที่หนังไทยอีกหลายเรื่องยังไม่ได้รับความนิยมเท่าสองเรื่องที่กล่าวมา แต่ปรากฏการณ์สัปเหร่อก็ทำให้เราเห็นว่า หนทางที่คิดว่ามืดมิดไปแล้วยังมีทางสว่างเสมอ และ ‘หนังไทยจะไม่ตาย’

4.ดาราดาวรุ่งแห่งปี: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ถ้าจะมีใครสักคนที่ปรากฏตัวในหน้าสื่อบ่อยที่สุดตลอดปี 2566 คงหนีไม่พ้น ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ บุคคลที่เกือบจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี หากไม่ถูก ส.ว. สกัดไว้เสียก่อน

ช่วงเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน 2566 ชื่อของ ‘พิธา’ ยังเป็นรอง ‘อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร’ ในการสำรวจ ‘บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี’ ของนิด้าโพลในสองครั้งแรก สอดคล้องไปกับกระแสความนิยมพรรคการเมืองที่ ‘เพื่อไทย’ ขี่ ‘ก้าวไกล’ อยู่หลายขั้น แต่เมื่อการเมืองทวีความร้อนแข่งกับอากาศหน้าร้อนประเทศไทย ช่วงหลังสงกรานต์ คะแนนของพิธาและก้าวไกลก็ค่อยๆ ทะยานพุ่งสูง และเริ่มจุดไฟติดครั้งใหญ่ในวันปราศรัยโค้งสุดท้ายที่สามย่านมิตรทาวน์เมื่อ 22 เมษายน 2566 ประโยคที่ว่า “มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา” ออกจากปากของพิธาอย่างหนักแน่น จนกลายเป็นจุดชี้ขาดในการทำคะแนนทิ้งห่างของก้าวไกล เมื่อเพื่อไทยให้ความชัดเจนเรื่องการร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติไม่ได้

หลังจากนั้นยุทธการ ‘ปักธงก้าวไกล’ ก็ค่อยๆ ตระเวนไปทั่วประเทศ พิธาชู ‘ก้าวไกลหักปากกาเซียน’ ที่ภูเก็ต และค่อยๆ ทยอยปราศรัยที่จังหวัดใหญ่ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ขอนแก่น ระยอง ชลบุรี ฯลฯ ขณะเดียวกันเขาก็ปรากฏตัวในทุกดีเบตและให้สัมภาษณ์กับทุกช่องโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ คลิปที่เขาปรากฏตัวเหล่านี้กลายเป็น ‘ฟุตเทจ’ ให้คนเอาไปตัดต่อ ใส่เพลง และเล่นเกมในโซเชียลมีเดีย จนเกิดเป็น ‘พิธาฟีเวอร์’ ที่ร้อนแรง พลังจากโลกออนไลน์ ทำให้เกิดภาพออฟไลน์ที่คนวิ่งตาม ‘รถแห่พิธา’ อย่างล้นหลาม และเข้ารุมล้อมทุกครั้งที่เขาปรากฏตัว

กระแสก้าวไกลจุดติดจากก้าวเล็กๆ โดยมีพิธาเป็นหัวหอก แทงทะลุทะลวงไปทุกพื้นที่ในประเทศไทย จนสุดท้ายออกมาเป็น 14 ล้านเสียงที่เลือกก้าวไกล แม้จะถูกฝ่ายตรงข้ามเรียกว่าเขาเป็น ‘นายกฯ รถแห่’ หรือเป็น ‘ดาวดับ’ หลังจากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลและก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านักการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุดและพุ่งทะยานขึ้นมาอย่างรวดเร็วในหน้าสื่อคือพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งควรนับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของการเมืองไทย

หลังความฝันสู่เก้าอี้นายกฯ ของพิธาถูกดับลง เขาค่อยๆ หลบฉากไปเลียแผลใจและลดการออกสื่อลง แต่การปรากฏตัวของเขาทุกครั้งยังคงถูกสายตาจำนวนมหาศาลจับจ้องอย่างสนใจ โดยเฉพาะเซ็ตภาพ ‘นิวยอร์ก’ ที่หลายคนให้ความเห็นว่าออร่าจับประหนึ่ง ‘ดาราท่านหนึ่ง’

5.คู่กัดแห่งปี: นางแบก vs ติ่งส้ม

แม้หลายคนจะดีใจในคราวแรกที่ผลเลือกตั้งออกมาว่า ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ หรือ ‘ฝ่ายค้านเดิม’ อย่างก้าวไกลและเพื่อไทยมีคนเลือกรวมกันกว่า 25 ล้านเสียง และกวาดที่นั่งในสภามากว่า 292 ที่นั่ง คิดคร่าวๆ เป็น 60% ของคนที่มาเลือกตั้งทั้งหมด

หากมองเผินๆ ดูเหมือนว่าฝ่ายประชาธิปไตยชนะ ‘ฝ่ายเผด็จการ’ เบ็ดเสร็จเด็ดขาด กลายเป็นทีม ‘ส้ม-แดง’ ที่ “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อไทย-ก้าวไกลจะอยู่ด้วยกันกันตลอดไป” เหมือนที่ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยพูด แต่ฝ่ายอำนาจเก่าใช้เวลาเพียงสองเดือนในการแยกทั้งสองพรรคออกจากกัน ด้วยการใช้กลไกทางการเมืองครบทุกรูปแบบ ซึ่งนั่นส่งผลกระทบถึงกองเชียร์ของทั้งก้าวไกลและเพื่อไทยที่ออกมาถกเถียงกันเอง

ฝ่ายหนึ่งก็ว่าเพื่อไทยตระบัดสัตย์ ขณะที่กองเชียร์ฝั่งเพื่อไทยก็มองว่า การเอาหัวชนกำแพงไม่ได้ช่วยให้ชนะในทางการเมือง เมื่อคุณตั้งรัฐบาลไม่ได้ เราก็จำเป็นต้องทำ

เมื่อ ‘ช็อกมินต์-กาแฟส้ม’ ถูกคว่ำแก้วระเนระนาด ความขัดแย้งก็ค่อยๆ ขยายใหญ่โต จากเรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ จนเกิดเป็นศึก ‘นางแบก vs ติ่งส้ม’ ในโซเชียลมีเดีย

6.คดีแห่งปี: คุกคามทางเพศ

ก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีการประท้วง 2563 คดีที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือคดี 112 แต่เมื่อการเมืองเริ่มคลี่คลาย คดี 112 ก็เริ่มถูกพูดถึงน้อยลง แม้ว่าจะยังมีการจับกุมนักกิจกรรมด้วยคดีนี้อยู่ก็ตาม

ในปีที่ผ่านมาเกิดคดีที่ก็ส่งผลทางการเมืองและส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง คือคดีคุกคามทางเพศ ที่เกิดขึ้นแทบจะทุกวงการ ตั้งแต่การเมือง หนังสือ ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ไปจนถึงนักมวย ทำให้เห็นว่าแนวคิดชายเป็นใหญ่ในสังคมไทยส่งผลไม่มากก็น้อยที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องนี้บ่อยครั้ง ผู้คนในสังคมพยายามให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากขึ้น และหลายเหตุการณ์ก็ทำให้เห็นว่าการคุกคามนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นการคุกคามทางร่างกายเสมอไป แต่เรื่องทางจิตใจก็ส่งผลไม่แพ้กัน

คดีที่ผู้คนให้ความสำคัญอย่างมาก คือกรณีของพรรคก้าวไกลที่เรื่องการล่วงละเมิดถูกโยงเข้ากับประเด็นการเมือง รวมถึงการสอบสวนและการลงโทษของพรรคก้าวไกลที่สร้างข้อถกเถียงเป็นวงกว้างในสังคม แต่ในช่วงท้ายปี เมื่อเกิดกรณี ‘นักมวยดัง’ กับเยาวชน ความสนใจของชาวไทยก็เทไปที่การค้นหารายละเอียดเหตุการณ์ จนอาจทำให้ผู้คนมองข้ามความละเอียดอ่อนในคดี อันเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องถกเถียงและเรียนรู้ต่อไป

7.เพลงแห่งปี: คนจนมีสิทธิ์มั้ยคะ? มีงานให้ทำมั้ยคะ? ปริญญาไม่มี แต่มี…นะคะ

ถ้าจะมีเพลงไหนสะท้อนคุณภาพชีวิตคนไทยได้คมชัดและเป็นจริงที่สุด เพลง ‘คนจนมีสิทธิ์มั้ยคะ?’ ที่เดือนเพ็ญ เด่นดวงเอาเพลง ‘สมองจนจน’ ของมืด ไข่มุก (วงพลอย) ที่ปล่อยมาตั้งแต่ปี 2531 มาร้องใหม่ในสไตล์หมอลำลูกทุ่ง ใส่เนื้อหาสองแง่สามง่าม ย่อมติดอันดับต้นๆ

วิดีโอการแสดงของเดือนเพ็ญ เด่นดวงปรากฏเป็นไวรัลในโลกอินเทอร์เน็ต ใช้เวลาไม่นาน ก็กลายเป็น ‘เนื้อหา’ ที่คนหยิบจับไปเปรียบเทียบกับชีวิตคนไทย ที่สังคมเรายังอยู่ในวังวนของคำถามที่ว่า ‘คนจนมีสิทธิ์ไหม’ ‘ถ้าเรียนไม่สูง ทำงานได้ไหม’ คนจำนวนมากต้องมุ่งหางานทำ และถึงมีงานทำ แต่ ‘ค่าแรง’ ก็ยังอาจได้ไม่พอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน

“คนจนมีสิทธิ์มั้ยคะ?” เป็นคำถามสั้นๆ ที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

8.โฆษณาแห่งปี: ปิดสวิตช์ ส.ว. ปิดสวิตช์ 3 ป. คนไทยมีกินมีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไปพร้อมๆ กันค่า

ประโยคที่ว่า “ปิดสวิตช์ ส.ว. ปิดสวิตช์ 3 ป. คนไทยมีกินมีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไปพร้อมๆ กันค่า” คือประโยคที่อิ๊งค์-แพทองธาร ประกาศบนเวทีปราศรัยใหญ่ก่อนเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยที่อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 โดยชูเรื่องการเมืองผ่านประโยค ‘ปิดสวิตช์ ส.ว. ปิดสวิตช์ 3 ป.’ ที่ถูกถามย้ำๆ มาตลอดช่วงหาเสียง และชูเรื่องปากท้องที่เป็นจุดขายหลักของพรรคเพื่อไทยในท่อน ‘คนไทยมีกินมีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไปพร้อมๆ กันค่า’

แต่ดูเหมือนว่าคำสัญญาในท่อนแรกจะถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเพื่อไทยตัดสินใจจับมือกับพรรครัฐบาลเดิมจัดตั้งรัฐบาล ส่วนเรื่องคนไทยมีกินมีใช้ แม้จะผ่านการทำงานมาเพียงสามเดือน แต่คนก็เริ่มตั้งคำถามถึงการทำงานด้านเศรษฐกิจของเพื่อไทยว่าทำให้คนไทยมีกินมีใช้ได้จริงแค่ไหน จนหลายคนหยิบเอาคำพูดของชลน่านที่บอกว่าวลี ‘ไล่หนู ตีงูเห่า’ เป็นเทคนิคการหาเสียงเท่านั้น มาแทงกลับไปที่คำพูดของแพทองธารว่าใช้เพื่อการโฆษณาเท่านั้นหรือไม่

ผู้ชมโปรดใช้วิจารณญาณ!

9.คอสตูมแห่งปี: ชุดนอนโจ๊ก-สุรเชษฐ์

ขึ้นชื่อว่า ‘แมว 9 ชีวิต’ อย่าง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เมื่อปรากฏภาพหน่วยคอมมานโดบุกบ้านพัก ‘รองโจ๊ก’ ทำให้คนเสพข่าวพากันคิดว่า หรือนี่จะถึงคราวโจ๊ก ‘เกม’ หลังรอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์มาแล้วหลายครั้ง แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ยังไม่ใช่ ‘ชีวิตที่ 9’ ของเขา

เหตุการณ์ที่ตำรวจพร้อมอาวุธครบมือบุกค้นบ้านสุรเชษฐ์ปมโยงเว็บพนันออนไลน์ ในช่วงเช้าตรู่วันที่ 25 กันยายน 2566 จนเกิดภาพที่โจ๊กต้องออกมาคุยกับตำรวจด้วยชุดนอน เสื้อยืดสีขาว กางเกงบ็อกเซอร์ และถุงเท้ายาวครึ่งข้อ กลายเป็นมีมที่ปรากฏทั่วไปในอินเทอร์เน็ต

ภาพของโจ๊กที่สวมชุดนอนออกมาคุยกับตำรวจหน้าบ้าน สะท้อนภาพวงการตำรวจที่ระหว่างนั้นกำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักในสังคมว่ามีความไม่โปร่งใสอยู่มาก ไล่เรียงตั้งแต่สติกเกอร์รถบรรทุก, คดีกำนันนก, การเลือก ผบ.ตร. และความเกี่ยวข้องกับเว็บพนัน

กระแส ‘ปฏิรูปตำรวจ’ ถูกจับตามองอย่างมากในสังคมตั้งแต่การอภิปรายเรื่อง ‘ตั๋วช้าง’ ของ ส.ส. รังสิมันต์ โรม ตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์ ยาวมาถึงปัจจุบัน

การสวมชุดนอนของโจ๊ก ในแง่หนึ่งจึงเหมือนการเปิดเปลือยสิ่งที่เราไม่เคยเห็นให้ได้เห็นกันอย่างชัดแจ้งถนัดตา

10.คำแห่งปี: ซอฟต์พาวเวอร์

“การพยายามบอกว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร ก็เหมือนเราพยายามนิยามว่าความรักคืออะไร” คือประโยคที่หมอเลี้ยบ-สุรพงษ์ สืบวงศ์ลีใช้อธิบายความหมายของ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในรายการ ‘กรรมกรข่าว คุยนอกจอ’ ของสรยุทธ สุทัศนะจินดา

ที่หมอเลี้ยบต้องออกมาพูดเช่นนี้ เพราะคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในสังคม จากการที่รัฐบาลเพื่อไทยตั้งใจจะผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของไทย จนถึงขั้นมีคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยมีอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร นั่งเก้าอี้ประธาน หลังจากนั้นคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ก็ถูกประกาศออกมาทุกเช้าเย็นจากคนเพื่อไทย และนโยบายหลายอย่างก็ถูกใส่คำว่าซอฟต์พาวเวอร์เข้าไปจนทำให้คนฟังเกาหัวแกรก ว่าที่สุดแล้วคำนี้มีความหมายอย่างไร

แม้กระทั่ง ‘ต้องเต’ ผู้กำกับ ‘สัปเหร่อ’ เองก็หลุดปากพูดว่า “ผมเองยังไม่รู้เลยว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร” ในรายการช่องไทยพีบีเอส เพราะหนังสัปเหร่อเองก็ถูกจัดให้อยู่ในซอฟต์พาวเวอร์ไทย ถึงขั้นนายกฯ และทีมเพื่อไทย ยกทีมใส่ชุดไทยไปดูในโรงกันเลยทีเดียว

หลายคนบอกว่าเห็นเจตนาดี แต่ไม่เข้าใจว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ แปลว่าอะไรกันแน่ จนคนต้องหยิบเอาตำราของ ‘โจเซฟ ไนย์’ เจ้าตำรับคำว่าซอฟต์พาวเวอร์มาปัดฝุ่น เพื่อเขียนถึง-พูดถึงกันทั่วบ้านทั่วเมือง

ยังไม่นับว่าพอมีหน้าตาของงบประมาณออกมา คนในหลายวงการถึงกับขมวดคิ้วว่าจัดสรรงบกันอย่างไร บางวงการได้เป็นพันล้าน บางวงการได้แค่หลักสิบล้าน แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ จะสร้างพาวเวอร์อย่างไรให้ประเทศไทย

ส่วนซอฟต์พาวเวอร์จะมีนิยามอย่างไรไม่สำคัญ หากเราเชื่อมั่นในพลังความรัก (ที่มีต่อพรรคเพื่อไทย)

11.คนที่คิดถึงแห่งปี: อานนท์ นำภา

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดี 112 ถูกสั่งจำคุก 4 ปี เข้าเรือนจำไปตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 จากคดีการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา

จากการแสดงออกทางการเมืองของอานนท์ ทำให้เขากลายเป็นไอคอนการต่อสู้ทางการเมืองและได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนของเกาหลีใต้เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาอานนท์ออกมาแสดงออกทางการเมืองเพื่อต่อต้านเผด็จการและเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง แต่การแสดงความกล้าหาญทั้งหมดนี้ถูกรัฐบาลเผด็จการมองว่าเป็นภัยความมั่นคงเรื่อยมา

แน่นอนว่าหลังจากที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งและได้นายกฯ ที่ไม่ใช่ทหาร ทำให้ผู้คนตั้งความหวังกันว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยควรจะกระเตื้องขึ้นสักเล็กน้อย แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ ปัจจุบันยังมีผู้ต้องขังคดีการเมืองอยู่อย่างน้อย 37 คน

อานนท์ นำภาและผู้ที่ยังอยู่ในเรือนจำด้วยคดีการเมืองจึงสมควรเป็นบุคคลที่สังคมไทยคิดถึงและคำนึงว่าสังคมไทยจะเดินหน้าต่อไม่ได้หากทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาและปฏิบัติคล้ายว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องธรรมดาที่คนไทยสมควรเผชิญอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

12.ความหวังแห่งปี: เลือกตั้งครั้งหน้า

นับตั้งแต่การเมืองไทยยุคใหม่หลังปี 2540 ประเทศไทยไม่เคยมีการเลือกตั้งสำเร็จติดกันถึงสามครั้งโดยไม่มีรัฐประหารคั่น ดังนั้นถ้ามีการเลือกตั้งสำเร็จเกิดขึ้นในปี 2570 จะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สามติดต่อกันนับจากรัฐประหาร 2557 และอาจเป็นความหวังว่าประเทศไทยจะเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบเสียที ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองและความคิดความอ่านของคนในสังคมที่หลายคนบอกว่า “ไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิม”

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save