fbpx
ท่านอ้น

อ่านประวัติศาสตร์ ‘สาธิตจุฬาฯ’ เรื่องเล่าลบเลือนของศิษย์เก่าผู้เกือบจะได้เป็นเจ้าฟ้า (?)

โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2501 ด้วยจุดประสงค์สำหรับใช้เป็นโรงเรียนฝึกสอนของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการนำเอาวิธีการเรียนการสอนรูปแบบใหม่มาปรับใช้เพื่อขัดเกลาให้ผู้เรียนเป็น “เด็กไทยที่มีพื้นฐานแน่นในวัฒนธรรรมไทย แต่ก็อยู่อย่างสง่างามได้ในวัฒนธรรมโลก” [1]

จากนั้นเป็นต้นมาโรงเรียนนี้ก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นที่ไว้วางใจอย่างมากจากกลุ่มผู้ปกครองชนชั้นกลาง นอกจากจะดึงดูดบุตรหลานของบุคลากรภายในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองแล้ว นโยบายการเรียนการสอนของโรงเรียนก็ยังดึงดูดบุตรหลานของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ รวมถึงคหบดีที่ฐานะมั่งคั่งและมีหน้ามีตาในสังคม จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยที่สาธิตจุฬาฯ จะผลิตศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงออกมาจำนวนมาก

เมื่อไม่นานมานี้เราก็ได้เห็นชาวสาธิตจุฬาฯ จะออกมาแสดงความยินดีและภาคภูมิว่าโรงเรียนของพวกตนมีศิษย์เก่าเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนล่าสุดที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งอย่างชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งทั้งชัชชาติและพี่ชายฝาแฝด (รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ผู้เป็นบุตรชายของ พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ ได้เคยศึกษาที่สาธิตจุฬาฯ ด้วยกันทั้งคู่ อีกทั้งยังเป็นสถานศึกษาของอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (เรียนถึง ป.6) ลูกสาวฝาแฝดของประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงนักวิชาการและคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในคณะต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ุ เขียนในหนังสือฉลอง 30 ปีโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ [2]

นอกจากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จะดึงดูดกลุ่มผู้ปกครองชนชั้นกลางที่ค่อนไปทางชนชั้นบนแล้ว โรงเรียนยังได้รับความไว้วางใจจากพระบรมวงศานุวงศ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งส่งพระโอรสและพระธิดาเข้ามารับการศึกษาจากโรงเรียนสาธิตในรั้วจามจุรีแห่งนี้ เช่น หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล ซึ่งเป็นศิษย์เก่ารุ่น 31 และท่านหญิงภานุมา พิพิธโภคา (พระนามเดิม หม่อมเจ้าภานุมา ยุคล)  ซึ่งเป็นศิษย์เก่ารุ่น 34 ทั้งนี้อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของสาธิตจุฬาฯ คงจะเป็นการที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงเคยศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้ในระยะเวลาหนึ่ง กระนั้นก็ยังมีบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่มีข้อมูลน้อยมากหรือแทบจะถูกลืมไปแล้ว ทั้งที่ประวัติการเข้าศึกษาของท่านอาจจะเป็นเกียรติยศสูงสุดของทางโรงเรียนเลยก็ว่าได้ นั่นคือ หม่อมเจ้าวัชเรศร มหิดล (ปัจจุบันคือวัชเรศร วิวัชรวงศ์) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนแห่งนี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งด้วยเช่นกัน

เนื่องจากผู้เขียนสนใจค้นคว้าเรื่องจุฬาฯ รวมถึงโรงเรียนและชุมชนโดยรอบดังที่เคยมีโอกาสได้เขียนลงเว็บไซต์ The101.world ในหลายบทความแล้ว โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ผู้เขียนสนใจ เมื่อลองคุยกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันที่จบจากที่นี่ พวกเขาเล่าว่าเคยได้ยินว่ามีพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยศึกษาอยู่ที่นี่ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าข้อมูลถูกต้องหรือไม่

หลังจากพยายามหาข้อมูลทั้งจากอินเทอร์เน็ตและหนังสือรุ่นบางเล่มเท่าที่สามารถหาได้ ก็ยังไม่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันประเด็นนี้ได้โดยตรงอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เศษเสี้ยวของข้อมูลที่ค้นพบระหว่างการค้นคว้าก็พอสามารถนำมาปะติดปะต่อให้เป็นภาพใหญ่ที่มีประเด็นน่าสนใจ ในบทความนี้จึงจะเล่าถึงประวัติหม่อมเจ้าวัชเรศรโดยสังเขป บรรยายบรรยากาศภายในโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ในสมัยที่ทรงเรียนหนังสือที่นี่ รวมทั้งลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่อาจเผยให้เห็นนัยสำคัญอื่นๆ

ประวัติโดยสังเขป

หม่อมเจ้าวัชเรศร มหิดลประสูติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2524 เป็นพระโอรสพระองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่คุณสุจาริณี วิวัชรวงศ์ (เดิมคือ หม่อมสุจาริณี มหิดล ณ อยุธยา) มีพระเชษฐา พระอนุชา และพระขนิษฐา รวม 5 พระองค์ โดยมีพระขนิษฐาองค์เล็กสุดคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา (พระนามเดิม หม่อมเจ้าบุศย์น้ำเพชร มหิดล)

หากดูข้อมูลเบื้องต้นในวิกิพีเดีย[3] ระบุว่า หม่อมเจ้าวัชเรศรทรงศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลจุไรรัตน์ จากนั้นทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนจิตรลดา ไม่ได้มีการกล่าวถึงการศึกษาที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ อย่างที่ผู้เขียนได้ยินมา กระนั้นก็พบว่ามีเว็บบอร์ดหนึ่งมีผู้ให้ข้อมูลว่าทรงเรียนที่สาธิตจุฬาฯ ด้วย โดยไม่ระบุรุ่นปี และบอกว่าพระเชษฐา คือ หม่อมเจ้าจุฑาวัชร ก็ทรงศึกษาที่นี่ด้วยเช่นกัน โดยระบุรุ่น 34 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากปีที่หม่อมเจ้าจุฑาวัชรประสูติเมื่อปี 2522 การเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้นน่าจะอยู่ในช่วงพระชนมายุ 5-10 ชันษา (พ.ศ. 2527-2531) ซึ่งน่าจะอยู่ในรุ่น 32 ของนักเรียนสาธิตจุฬาฯ โดยผิดไปจากข้อมูลที่มีการพูดถึงในเว็บบอร์ดดังกล่าว ทั้งนี้ผู้เขียนพบข้อมูลจากนิตยสารนะคะฉบับที่ 33 ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2531 ซึ่งมีคอลัมน์เกี่ยวกับการผนวชเป็นสามเณรของหม่อมเจ้าจุฑาวัชรเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมายุครบ 5 รอบ โดยมีเนื้อหาระบุว่าขณะนั้นกำลังทรงศึกษาอยู่ในชั้น ป.3/2 โรงเรียนประถมสาธิตประสานมิตร เนื้อความนี้เป็นการยืนยันว่าหม่อมเจ้าจุฑาวัชรไม่ได้เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ อย่างที่มีการอ้างไว้ในเว็บบอร์ดดังกล่าว

เมื่อพิจารณาแล้วจึงมีเพียงหม่อมเจ้าวัชเรศรเท่านั้นที่น่าจะเป็นศิษย์เก่าของสาธิตจุฬาฯ เนื่องจากประสูติปี 2524 เมื่อสันนิษฐานจากปีเกิดแล้วน่าจะทรงเข้าศึกษาระดับประถมศึกษาตอนต้นปี 2529-2533 โดยอยู่ในรุ่นที่ 34-36 นอกจากนี้ ในหนังสือ 36 ปี แห่งการสถาปนาโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[4] ยังพบว่าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  (ขณะนั้นดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) เคยเสด็จฯ มาที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เพื่อทอดพระเนตรละครพ่อขุนผาเมืองที่แสดงโดยนักเรียนเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมายุครบ 5 รอบ ในปี 2530 จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นไปได้ที่เสด็จฯ มาทอดพระเนตรพระราชโอรสของพระองค์คือหม่อมเจ้าวัชเรศรซึ่งน่าจะเป็นพระราชโอรสเพียงองค์เดียวที่ทรงศึกษาที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งนี้

ภาพจากหนังสือ 36 ปี แห่งการสถาปนาโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บรรยากาศสาธิตจุฬาฯ ช่วงที่หม่อมเจ้าวัชเรศรทรงศึกษาอยู่[5]

ในช่วงปี 2529-2533 ซึ่งเป็นปีที่คาดว่าหม่อมเจ้าวัชเรศรทรงเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ โรงเรียนกำลังอยู่ในช่วงก้าวย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน จากการค้นคว้าจากหนังสือสาระสาธิตและหนังสือประสบการณ์และวิชาการในโรงเรียนสาธิต ทำให้ทราบว่าในสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา โรงเรียนได้มีการพัฒนามาแล้วหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการบริการ กิจกรรมทางวิชาการ ตลอดจนการให้การดูแลบุคลากรอย่างทั่วถึง สมคิด ไชยยันบูรณ์[6] ครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ได้กล่าวเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของโรงเรียนไว้ว่า พระนามจุฬาลงกรณ์ที่นำมาใช้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นภาพรวมที่มีส่วนในด้านความเชื่อถือของโรงเรียนที่ใครๆ ต่างพากันยกย่อง อีกทั้งคณาจารย์ของโรงเรียนก็ให้ความร่วมมือกันเพื่อจรรโลงความเป็นเลิศในทุกด้านในคงอยู่คู่สถาบัน

ส่วนศศิวิมล รอบคอบ[7] ได้กล่าวในหลังสือเล่มเดียวกันว่า ในช่วงเวลานี้เอง ทางโรงเรียนจัดการเรียนการสอนโดยเน้นการบูรณาการให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ครูมีบทบาทเป็นผู้ช่วยเหลือและส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ รวมถึงหาแนวทางไปสู่ความสำเร็จด้วยตัวเอง  ซึ่งนับได้ว่าเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ทันสมัยและแนวคิดของสังคมมากทีเดียว จึงไม่แปลกที่แต่ละปีจะมีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่ต้องการให้บุตรหลานเข้ามาอยู่ในรั้วโรงเรียนสาธิตอย่างภาคภูมิ จึงกล่าวได้ว่า โรงเรียนสาธิตมิใช่เป็นเพียงผลผลิตของการนำทฤษฎีทางจิตวิทยาการศึกษา และผลจากการทดลองในวิชาชีพชั้นสูงที่ได้มาจากนิสิตและคณาจารย์คณะครุศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นโรงละคร ที่ผู้กำกับและผู้ชมต่างมีส่วนร่วมในการผลักดันตัวเอกแต่ละคน ให้เฉิดฉายในเส้นทางอาชีพ (career path) ที่ตัวเอกเหล่านั้นเลือกเอง อันหมายถึงผลสำเร็จของศิษย์ ที่จะได้เติบโตเป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดและความสามารถที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีกว่าคนรุ่นปัจจุบัน

นอกจากการสืบค้นจากหนังสือแล้ว ศิษย์เก่าสาธิตจุฬาฯ รุ่น 33 ท่านหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียน โดยกล่าวเสริมว่าโรงเรียนนี้น่าจะเป็นที่แรกๆ ที่มีห้องปฏิบัติการภาษา (sound lab) ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่นักเรียนตอนนั้นตื่นเต้นกันมาก นอกจากนี้ก็ยังจัดการเรียนการสอนในลักษณะเดียวกับที่ได้สืบค้นในหนังสือ คือให้อิสรภาพนักเรียนเป็นตัวของตัวเองระดับหนึ่ง เช่น การไม่บังคับทรงผม และเน้นการแนะแนวตามความถนัด รวมไปถึงส่งเสริมกิจกรรมชมรมหลังเลิกเรียน เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนตามความถนัด

สำหรับเรื่องการเข้าศึกษาของหม่อมเจ้าวัชเรศรนั้น ศิษย์เก่าท่านนี้เล่าว่า เท่าที่พอจำได้คือพระองค์เข้าเรียนในรุ่นน้องของเธอและทรงเข้ามาเรียนที่นี่แค่ในช่วงสั้นๆ ช่วงหนึ่งเท่านั้น ก่อนย้ายไปเรียนต่อที่อื่น เรื่องที่ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ก็เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักเรียนสาธิตจุฬาฯ ที่ทันรุ่นนั้น เนื่องจากในช่วงเช้าของทุกวันจะมีเสียงหวอของรถเจ้าหน้าที่นำขบวนเสด็จฯ ซึ่งจะมาส่งท่านในช่วงหลังเวลากิจกรรมหน้าเสาธง คำบอกเล่านี้สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของผู้เขียนที่ว่าหม่อมเจ้าวัชเรศรทรงเคยเรียนอยู่ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ในรุ่น 34 อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ศิษย์เก่าสาธิตจุฬาฯ รุ่น 33 อีกท่านหนึ่ง แต่กลับให้ข้อมูลว่าคลับคล้ายคลับคลาว่ามีหม่อมเจ้าเรียนอยู่ แต่ไม่ได้เรียนอยู่ในรุ่นที่ใกล้รุ่น 33

ประวัติการศึกษาที่หายไป

เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าหม่อมเจ้าวัชเรศรทรงศึกษาที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ทำให้จำเป็นต้องตั้งสันนิษฐานขึ้นจากหลักฐานที่มีอยู่อย่างจำกัด กล่าวคือท่านประสูติเมื่อปี 2524 และตามเกณฑ์การศึกษาทั่วไปท่านน่าจะเข้าศึกษาโรงเรียนอนุบาลจุไรรัตน์ขณะมีพระชนมายุ 3-5 ชันษา (พ.ศ. 2527-2529) ผู้เขียนได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาจากทางจิตรลดาว่าทรงเข้าประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนจิตรลดาเป็นเวลา 1 ปี (น่าจะเป็นช่วง พ.ศ. 2533) จึงเป็นไปได้สูงที่ในช่วงที่ขาดหายไป คือช่วงระดับประถมศึกษาตอนต้นขณะมีพระชนมายุ 6-8 ชันษา (พ.ศ. 2530-2532) ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ

หลังจากทรงศึกษาที่จิตรลดาได้ 1 ปี ทรงศึกษาต่อจนจบระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนซันนิงเดล (Sunningdale School) ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาในประเทศอังกฤษ ขณะนั้นน่าจะมีพระชนมายุ 10-11 ชันษา (พ.ศ. 2534-2535)

สำหรับโรงเรียนซันนิงเดลนั้นมีความน่าสนใจตรงที่เป็นไปได้ว่าทรงเลือกให้พระราชโอรสเรียนโรงเรียนนี้เนื่องจากพระบรมราชวงศ์มีคฤหาสน์คิงส์บิเชส (King’s Beeches) ซึ่งประทับส่วนพระองค์ในเมืองซันนิงฮิลล์ (Sunninghill) มณฑลเบิร์กเชียร์ของอังกฤษ โดยใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์เพียง 3 นาที ในการเดินทางไปที่โรงเรียนซันนิงเดล หลังจากนั้นหม่อมเจ้าวัชเรศรเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนฮาร์โรว์ (Harrow School) ณ ประเทศอังกฤษจนถึง พ.ศ. 2540 ในช่วงพระชนมายุ 12-16 ชันษา (พ.ศ. 2536-2540) ซึ่งช่วงปี พ.ศ. 2539-2540 เป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งภายในครอบครัวระหว่างหม่อมสุจาริณีและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ดังที่ปรากฏหลักฐานในจดหมายลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2540 ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ส่งถึง Nicholas Bomford ครูใหญ่ของโรงเรียนฮาร์โรว์ เพื่อแจ้งเรื่องการยกเลิกสถานะราชวงศ์ของหม่อมเจ้าทั้งสี่พระองค์ และขอให้ Nicholas Bomford แจ้งต่อไปยังครูใหญ่ของวิทยาลัยแพงบอร์น (Pangbourne College) และโรงเรียนซันนิงเดลด้วย ซึ่งสันนิษฐานต่อได้ว่านอกจากหม่อมเจ้าจุฑาวัชรและหม่อมเจ้าวัชเรศรที่ขณะนั้นทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนฮาร์โรว์แล้ว ก็เป็นไปได้ที่ในช่วงปีนั้นเอง พระอนุชาอีกสองพระองค์ คือหม่อมเจ้าจักรีวัชรและหม่อมเจ้าวัชรวีร์ก็ยังทรงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยแพงบอร์นและโรงเรียนซันนิงเดล ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้ได้รับการยืนยันในจดหมายอีกฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ที่ทรงส่งให้ Nicholas Bomford อีกครั้ง เพื่อแจ้งข่าวเพิ่มเติมว่าหม่อมเจ้าจุฑาวัชรและหม่อมเจ้าวัชเรศรซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนฮาร์โรว์ในเวลานั้น จะอยู่ในความดูแลของมารดา คือ คุณสุจาริณี วิวัชรวงศ์ ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อไป จดหมายมีเนื้อหาทำนองเดียวกันนี้อีกสองฉบับลงวันที่เดียวกันถูกส่งไปถึง A.J.N. Dawson ครูใหญ่โรงเรียนซันนิงเดล ซึ่งเป็นโรงเรียนที่หม่อมเจ้าจักรีวัชรกำลังศึกษาอยู่ และส่งไปถึง Anthony Hudson ครูใหญ่วิทยาลัยแพงบอร์น ซึ่งเป็นโรงเรียนที่หม่อมเจ้าวัชรวีร์กำลังศึกษาอยู่

หลังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งภายในครอบครัวดังกล่าว คุณสุจาริณีและท่านชายทั้งสี่พระองค์ได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และหม่อมเจ้าวัชเรศรก็ได้ทรงย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาทรินิตี (Trinity Preparatory School) รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากความสนใจใคร่รู้ของผู้เขียนบนข้อมูลหลักฐานที่มีอย่างจำกัด ผู้เขียนจึงตัดสินใจสอบถามไปยังคุณวัชเรศรและได้รับคำยืนยันว่าท่านเคยศึกษาที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ในระดับชั้น ป.1-ป.3 จริง โดยเป็นพระโอรสเพียงพระองค์เดียวที่เคยศึกษาอยู่ที่นั่น ก่อนย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดาหนึ่งปี จากนั้นจึงไปศึกษาที่โรงเรียนซันนิงเดลและโรงเรียนฮาร์โรว์ตามที่ผู้เขียนได้สันนิษฐานไว้ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 35 ปี ท่านก็จำรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ไม่ค่อยได้แล้ว

ประวัติการศึกษาของหม่อมเจ้าวัชเรศรนอกจากจะทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวท่านกับสาธิตจุฬาฯ ซึ่งแม้แต่ศิษย์เก่าหลายคนก็ยังไม่เคยทราบมาก่อนแล้ว ยังช่วยฉายภาพให้เห็นเรื่องราวภายในครอบครัวของพระบรมราชวงศ์ในช่วงเวลานั้น ซึ่งจะเห็นภาพสมบูรณ์ชัดมากขึ้นหากนำมาเส้นเวลามาเทียบเคียงกับประวัติการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงหมั้นกับหม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2519 และมีพระราชพิธีอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2520 ต่อมาหม่อมหลวงโสมสวลีทรงพระครรภ์และมีพระประสูติกาลพระธิดา คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2521 ในปีถัดมาหม่อมสุจาริณี (ชื่อขณะนั้นคือ ยุวธิดา ผลประเสริฐ) ซึ่งเป็นนักแสดงดาวรุ่งอายุ 17 ปี ที่มีผลงานการแสดงภาพยนตร์และละครในช่วงปี 2520-2522 ได้ลาออกจากวงการบันเทิงในเดือนสิงหาคม 2522 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ได้ให้ประสูติหม่อมเจ้าจุฑาวัชรพระโอรสองค์โตเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2522 ข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์วิกิพีเดีย ระบุว่าหม่อมเจ้าสุจาริณีและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีความสัมพันธ์ต่อกันช่วงปี 2522-2530 ต่อมาในปี 2534 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงหย่ากับพระองค์เจ้าโสมสวลี และอภิเษกสมรสใหม่กับหม่อมสุจาริณีในเดือนกุมภาพันธ์ 2537 ในจุดเวลานี้จะเห็นได้ว่าเป็นปีเดียวกับที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาทรงย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนฮีธฟิลด์ ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 1 ปี โดยคำนวณจากพระชนมายุตามเกณฑ์การศึกษา พระองค์ประสูติในเดือนธันวาคม 2521 (ปลายปี) จึงน่าจะเข้าศึกษาระดับชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินีขณะมีพระชนมายุ 3-5 ชันษา (พ.ศ. 2525-2527) และได้ทรงศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น (พ.ศ. 2528-2530) ประถมศึกษาตอนปลาย (พ.ศ. 2531-2533) และมัธยมศึกษาตอนต้น (พ.ศ. 2524-2536) ที่โรงเรียนราชินีเช่นเดียวกัน ด้วยข้อสันนิษฐานนี้พระองค์น่าจะทรงไปศึกษาที่โรงเรียนฮีธฟิลด์ ประเทศอังกฤษในระดับชั้น ม.4 ในปี 2537 จากนั้นจึงกลับมาศึกษาต่อจนจบระดับมัธยมศึกษา (ม.5-ม.6) ที่โรงเรียนจิตรลดา ในปี 2538-2539 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเกิดความขัดแย้งระหว่างหม่อมสุจาริณีและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ อันนำไปสู่การถอดพระยศของหม่อมสุจาริณีและท่านชายทั้งสี่พระองค์ในช่วงต้นปี 2540 ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าการไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษของพระองค์นั้นมีสาเหตุมาจากการหลบเลี่ยงความวุ่นวายภายในครอบครัว

ข้อมูลหลายอย่างที่หายไป

ผู้เขียนพบว่าการค้นหาเรื่องประวัติการศึกษาของหม่อมเจ้าวัชเรศรทำให้เห็นข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจของความขัดแย้งต่างๆ เช่นเดียวกับครอบครัวทั่วไปที่พ่อแม่มีปัญหา ลูกๆ ย่อมได้รับผลกระทบและต้องมีการจัดการความขัดแย้ง ทั้งนี้ ข้อมูลหลายส่วนและหลักฐานเกี่ยวกับท่านชายทั้งสี่พระองค์ยังคงขาดหาย ในบทความนี้จึงอาจพบข้อบกพร่องและไม่เชื่อมต่อกันอยู่บ้าง ส่วนหนึ่งเพราะว่าอาจมีความพยายามลบเรื่องราวที่ผูกโยงกับท่านชายทั้งสี่พระองค์หรือทำให้การพูดถึงท่านชายทั้งสี่พระองค์กลายเป็นเรื่องน่าลำบากใจ

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือบรรดาโรงเรียนที่เคยถูกตั้งชื่อตามพระนามของท่านชายทั้งสี่ถูกเปลี่ยนชื่อหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

ในช่วง พ.ศ. 2532 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลคมนาคมไม่สะดวก และกระทรวงศึกษาธิการได้สนองพระราชประสงค์ด้วยการน้อมเกล้าฯ ถวายโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาจำนวน 6 โรงเรียนเป็นโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ จากนั้นทั้ง 6 โรงเรียนนี้ได้เปลี่ยนชื่อตามพระนามของพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง 6 พระองค์ ได้แก่ โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา โรงเรียนมัธยมจุฑาวัชร โรงเรียนมัธยมวัชเรศร โรงเรียนมัธยมจักรีวัชร โรงเรียนมัธยมวัชรวีร์ และโรงเรียนมัธยมบุษย์น้ำเพชร

หลังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งที่นำไปสู่การถอดยศในปี 2540 พบว่าในปีเดียวกันนี้เองมีการเปลี่ยนชื่อของทั้ง 6 โรงเรียน เป็นชื่อโรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภาและโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี โดยใส่ตัวเลขและจังหวัดที่ตั้งต่อท้ายเพื่อแยกความแตกต่าง ดังนี้

1. โรงเรียนหนองฮีวิทยาคม อ.ปลาปาก จ.นครพนม ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา’ ตามพระนามของเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ในวันที่ 18 เมษายน 2532  และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 นครพนม’ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2540

2. โรงเรียนประชาสุขสันต์พิทยา อ.ลานกระลือ จ.กำแพงเพชร ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนมัธยมจุฑาวัชร’ ตามพระนามของหม่อมเจ้าจุฑาวัชรในวันที่ 10 กรกฎาคม 2532  หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2 กำแพงเพชร’ เมื่อวันที่ 28  สิงหาคม 2540

3. โรงเรียนขุนทะเลบวรวิทย์ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนมัธยมวัชเรศร’ ตามพระนามของหม่อมเจ้าวัชเรศร เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2532 หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 สุราษฎร์ธานี’ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540

4. พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้าง ‘โรงเรียนมัธยมจักรีวัชร อ.รัตนภูมิ จ.สงขลา โดยพระราชทานนามโรงเรียนตามพระนามของหม่อมเจ้าจักรีวัชร เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2532 หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา’ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2540

5. โรงเรียนหนองคอกวิทยา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนมัธยมวัชรวีร์’ ตามพระนามของหม่อมเจ้าวัชรวีร์และเริ่มวางศิลาฤกษ์อาคารเรียน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2532 หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 3 ฉะเชิงเทรา’ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2540

6. พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้าง โรงเรียนมัธยมบุษย์น้ำเพชร อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยพระราชทานนามโรงเรียนตามพระนามของเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ซึ่งได้จัดการเรียนการสอนครั้งแรกที่เมื่อวันที่ 10  มีนาคม 2532 หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 1 อุดรธานี’ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540

ในเว็บไซต์ประวัติของทั้ง 6 โรงเรียนได้ระบุถึงสาเหตุในการเปลี่ยนชื่อที่ต่างกันไป เว็บไซต์ของบางโรงเรียนไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุ เว็บไซต์ของบางโรงเรียนระบุว่าเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม เว็บไซต์ของบางโรงเรียนระบุว่าเปลี่ยนตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ อย่างไรก็ดีแม้จะไม่สามารถทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงในการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนครั้งนี้ แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็แสดงให้เห็นถึงความกระอักกระอ่วนในสังคมไทยที่จะพูดถึงท่านชายทั้งสี่ กระทั่งในปัจจุบันการกล่าวถึงท่านชายทั้งสี่พระองค์ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก กระนั้นเราก็ยังคงควรที่จะพูดถึงเรื่องราวของพวกท่านอยู่

หากพิจารณาในโลกความเป็นไปได้ที่ไม่ได้เกิดจริง (counterfactual history) ถ้าไม่ทรงประสบอุบัติเหตุทางการเมือง จนถูกถอดออกจากพระบรมราชวงศ์แล้ว ก็เป็นไปได้สูงที่หม่อมเจ้าวัชเรศรจะได้รับพระยศเป็นเจ้าฟ้าไม่ต่างกับเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีผู้เป็นพระขนิษฐาของท่าน ซึ่งนั่นจะทำให้ท่านเป็นหนึ่งในพระบรมวงศานุวงศ์องค์สำคัญอีกพระองค์หนึ่งของประเทศไทย ผู้เขียนได้มีโอกาสถามคุณวัชเรศรด้วยว่า เป็นไปได้ไหมที่จะเข้าเรียนที่จุฬาฯ เหมือนเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีผู้เป็นพระขนิษฐาร่วมพระครรภ์ และได้คำตอบสั้นๆ ว่า “ถ้าหากอยู่ไทยก็จะเรียนที่จุฬาฯ” แม้เราไม่อาจรู้แน่ชัดว่าหากชะตากรรมไม่พลิกผันแล้วจะเป็นเช่นนี้จริงหรือไม่ แต่นั่นก็บ่งบอกได้ในระดับหนึ่งว่า ในโลกที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงชาวจุฬาฯ อาจได้ภูมิใจว่าเจ้าฟ้า (?) วัชเรศรเป็นศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเล่าเรื่องของพระองค์จากรุ่นสู่รุ่นด้วยความภาคภูมิใจ เช่นเดียวกับที่ชาวจุฬาฯ บางคนในปัจจุบันภูมิใจที่กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีเคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้

บทส่งท้ายจากผู้เขียน

ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วว่า บทความนี้เกิดขึ้นจากการค้นพบข้อมูลความเชื่อมโยงโดยบังเอิญระหว่างหม่อมเจ้าวัชเรศรและโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เนื่องจากผู้เขียนมีความสนใจในประวัติศาสตร์รวมถึงเรื่องราวของโรงเรียนและชุมชนบริเวณสามย่านอยู่แล้ว บทความจึงอาจเต็มไปด้วยจุดโหว่ของหลักฐานหรืออาจมีการเชื่อมโยงสันนิษฐานที่บกพร่องขัดใจนักประวัติศาสตร์มืออาชีพหลายท่านไปบ้าง

อย่างไรก็ตามผู้เขียนเชื่อว่าเป้าประสงค์หลักของบทความยังคงสมบูรณ์ดีอยู่ คือความต้องการเสนอว่า ‘ประวัติการศึกษา’ ของบุคคลสำคัญอาจมีนัยเผยให้เห็นเรื่องราวความเชื่อมโยงที่น่าสนใจ และความต้องการส่งเสริมให้สังคมไทยพูดคุยหรืออภิปรายถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้อย่างไม่ต้องกระอักกระอ่วน ท้ายที่สุดหากมีผู้รู้จริงท่านใดที่มีข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่ผู้เขียนไม่มี หรือมีข้อสันนิษฐานอื่นที่น่าสนใจก็สามารถอภิปรายโต้ตอบได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมควรทำตามขนบวิชาการ และจะสร้างคุณูปการให้กับการศึกษาในหัวข้อนี้ได้เป็นอย่างมาก


[1] สุมน อมรวิวัฒน์ , “โรงเรียนสาธิต ที่คิดว่าน่าจะเป็น” ใน ประสบการณ์และวิชาการในโรงเรียนสาธิต, ทิพพดี อ่องแสงคุณ. (โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539), หน้า 6

[2] หนังสือฉลอง 30 ปีโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ 18-20 มิถุนายน 2531 ณ โรงเรียนสาธิตจุฬา (ฝ่ายประถม๐มัธยม) กรุงเทพฯ, หน้า 6

[3]  (สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. พ.ศ. 2565 )

[4] หนังสือ 36 ปี แห่งการสถาปนาโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2501-2537

[5]  เพิ่มเติม : หนังสือสาระสาธิต (อัจฉรา ชีวพันธ์) , ประสบการณ์และวิชาการในโรงเรียนสาธิต (ทิพพดี อ่องแสงคุณ)

[6] สมคิด ไชยยันต์บูรณ์, “ภาพลักษณ์หนึ่งของโรงเรียนสาธิต” ใน ประสบการณ์และวิชาการในโรงเรียนสาธิต,  ทิพพดี อ่องแสงคุณ. (โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539), หน้า 17

[7] ศศิวิมล รอบคอบ, “การจัดกิจกรรมนำสู่การสอน” ใน ประสบการณ์และวิชาการในโรงเรียนสาธิต,  ทิพพดี อ่องแสงคุณ. (โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539), หน้า 36

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save