fbpx

สี่ประธานาธิบดี: ไดแอนน์ ไฟน์สไตน์ วุฒิสมาชิกหญิงเลือกตั้ง ‘ผู้เริ่มแรก’ ในการเมืองอเมริกัน

วุฒิสมาชิกไดแอนน์ ไฟน์สไตน์ พรรคเดโมแครตจากแคลิฟอร์เนียถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมาในกรุงวอชิงตัน ดีซี รวมอายุ 90 ปี นับเป็นวุฒิสมาชิกสตรีที่มีอายุมากที่สุดในรัฐสภา (อายุโดยเฉลี่ยของวุฒิสภาคือ 65) เธอดำรงตำแหน่งนี้มา 30 ปี ดำรงตำแหน่งมีเกียรติจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทำงานร่วมกับรัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีชายรวมสี่คน (กับเริ่มทำงานกับประธานาธิบดีไบเดนซึ่งเป็นคนที่ 5)

ชื่อของวุฒิสมาชิกไดแอนน์ ไฟน์สไตน์คุ้นหูผมมาระยะหนึ่ง จากรายงานข่าวในบทบาทและความคิดเห็นแหลมคมของเธอต่อปัญหาใหญ่ทางการเมืองในประเทศ จากความมั่นคงของชาติมาถึงสภาพแวดล้อมและการปกป้องเสรีภาพประชาชน เธอเป็นวุฒิสมาชิกสตรีคนแรกที่ทำลายเพดานชายเป็นใหญ่ในพรรคเดโมแครตในการกุมการนำของคณะกรรมาธิการสำคัญ จนได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองคนแรกที่เป็นสตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งหวงห้ามของวุฒิสมาชิกชายเป็นใหญ่มาโดยตลอด

ส.ว. ไดแอนน์ ไฟน์สไตน์ได้รับสมญาว่า ‘นักบุกเบิก’ (trailblazer) ในพรรคเดโมแครตและในวุฒิสภา เป็นคนแรกในหลายเรื่อง เริ่มจากการเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของซานฟรานซิสโก เป็นวุฒิสมาชิกหญิงคนแรกของแคลิฟอร์เนียและเป็นกรรมาธิการข่าวกรองคนแรกที่เป็นสตรี เพื่อนร่วมงานและคนที่รู้จักเธอ พูดเป็นเสียงเดียวกันถึงจุดยืนทางจริยธรรมอันเข้มแข็งและการปกป้องผลประโยชน์ของชาติและคนส่วนใหญ่ จากการต่อต้านอย่างแข็งขันต่อการทรมานผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย 9/11 ในค่ายกักกันกวนตานาโมที่ดังไปทั่วโลก และการผ่านกฎหมายการใช้อาวุธปืนที่มีผลต่อการยุติความรุนแรงด้วยอาวุธปืนไปหนึ่งทศวรรษ

หากดูจากประวัติสาแหรกของครอบครัวและตระกูลของเธอ ไม่มีช่องทางและมือที่มองเห็นและไม่เห็นในการช่วยผลักดันให้ขึ้นมามีตำแหน่งอันทรงเกียรติและบารมีในสังคมอเมริกันได้ พ่อเธอเป็นลูกชายของหมอผ่าตัดชาวยิวผู้อพยพมาจากโปแลนด์ แม่เป็นพยาบาลและนางแบบชาวรัสเซียที่เป็นคริสเตียนออร์โธดอกซ์ ภายหลังแม่มีโรคประสาทถึงขั้นทำทารุณกับลูกสาวสามคน ไดแอนน์ โกลด์แมนเข้าศึกษาในโรงเรียนในย่านของคนมีฐานะดีในแคลิฟอร์เนีย เข้าโรงเรียนมัธยมคอนแวนต์คาทอลิก Secret Heart เฉพาะเด็กหญิงที่เป็นสุดยอดของชนชั้นนำ จนได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อจบปริญญาตรีทางประวัติศาสตร์ในปี 1955 ไดแอนน์ได้ทุนฝึกงานในสำนักงานอัยการแห่งหนึ่ง ต่อมาเธอแต่งงานกับอัยการในสำนักงาน ชีวิตครอบครัวออกจะโชคดีเพราะแต่งกับคนมีฐานะดีโดยตลอดอีกสองครั้ง

การเข้าสู่การเมืองด้วยการเลือกตั้งเริ่มเมื่อผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนียเชิญเธอให้มาเป็นที่ปรึกษางานด้านบริหารความยุติธรรมโดยเฉพาะในกรณีนักโทษหญิง เพราะเห็นเธอเขียนบทความด้านนี้ ต่อจากนั้นไดแอนน์จึงเข้าสมัครแข่งขันเป็นสมาชิกบอร์ดของผู้ควบคุมดูแลกิจการของเมือง (Board of Supervisors) ซานฟรานซิสโก อันเป็นองค์กรทางนิติบัญญัติของเมือง เนื่องจากได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุด ทำให้เธอได้ตำแหน่งประธานของบอร์ดหรือสภาผู้แทนของเมืองไป การทำงานในหน้าที่ของประธานสภาเล็กให้ประสบการณ์มีค่าแก่เธอ ทำให้เธอต้องปะทะและต่อสู้กับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จากนักก่อสร้าง นายทุน นักอุตสาหกรรม กลุ่มสตรีนิยม หัวหน้าสหภาพแรงงาน ไปถึงอุตสาหกรรมสื่อลามก

แม้จะมีผลงานและชื่อเสียงว่าทำจริงและไม่อ้อมค้อม แต่แค่นั้นไม่พอสำหรับการก้าวขึ้นเล่นการเมืองในระดับที่เหนือกว่าได้ แม้พยายามเข้าแข่งเลือกตั้งตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองซานฟรานซิสโกถึงสองครั้ง พ่ายแพ้ทั้งสองครั้ง จนในที่สุดเธอบอกว่าจะประกาศยุติชีวิตทางการเมืองเพียงเท่านี้ แต่ในอีกสองชั่วโมงต่อมา เสียงระเบิดของปืนดังกึกก้องไปทั้งศาลาว่าการเมือง เมื่อเธอไปถึงที่เกิดเหตุ พบว่านายกเทศมนตรีกับผู้ช่วยถูกฆาตกรรมโดยสมาชิกของบอร์ดอีกคนหนึ่ง ไดแอนน์เข้าไปช่วยห้ามเลือดจากศีรษะของนายกเทศมนตรีแต่ไม่อาจช่วยชีวิตเขาได้ ที่ประชุมของบอร์ดและสภานิติบัญญัติลงมติแต่งตั้งไดแอนน์ให้เป็นรักษาการนายกเทศมนตรีในวันนั้น ความรุนแรงทางการเมืองครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตทางการเมืองของไดแอนน์ ไฟน์สไตน์อย่างสิ้นเชิง จากนั้นมาเธอได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งตำแหน่งนายกเทศมนตรีอีกสองครั้งจนครบเทอม หนทางต่อไปคือการขึ้นไปแข่งขันในระดับผู้ว่าการมลรัฐ อันเป็นหนทางปกติที่ทำกันมาจนเป็นแบบแผนของการขึ้นมาเป็นนักการเมืองระดับชาติในอเมริกา

ในปี 1984 การรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังเริ่มขึ้น วอลเตอร์ มอนเดลรองประธานาธิบดีของจิมมี คาร์เตอร์ได้รับเลือกเป็นผู้สมัครของพรรคเดโมแครต เขาตั้งใจคัดเลือกคนที่จะมาเป็นรองประธานาธิบดีที่เป็นสตรีซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีนโยบายนี้ เขาสัมภาษณ์คนที่จะมาเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับเขา ไดแอนน์ ไฟน์สไตน์เป็นบุคคลหนึ่งที่มอนเดลสัมภาษณ์ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมลรัฐนิวยอร์กเจอรัลดีน เฟอร์ราโร (อิตาเลียนอเมริกัน) เป็นรองประธานาธิบดีของเขา

นั่นเป็นหินลองทองที่ทำให้ไดแอนน์ ไฟน์สไตน์เดินหน้าต่อในการแข่งขันเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เธอชนะไพรมารีของพรรคเดโมแครตแต่ไปแพ้คะแนนอย่างสูสีต่อ ส.ว. วิลสัน อีกสองปีต่อมาโชคชะตาพลิกผันตำแหน่งวุฒิสมาชิกแคลิฟอร์เนียว่างลงเนื่องจากการลาออกไปรับตำแหน่งแทนผู้ว่าการแคลิฟอร์เนีย ไฟน์สไตน์เข้าแข่งขันในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสมาชิกรอบพิเศษและคราวนี้ได้ชัยชนะสมความตั้งใจและความฝันนานนับทศวรรษ

ไฟน์สไตน์เข้ารับตำแหน่ง ส.ว. ในปี 1992 อันเป็นปีที่มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่เป็นสตรีเข้าไปในสภามากอย่างเป็นประวัติการณ์ และแคลิฟอร์เนียก็ได้ ส.ว. สตรีถึงสองคน สาเหตุหนึ่งมาจากที่กลุ่มการเมืองและประชาชนฝ่ายก้าวหน้า โดยเฉพาะผู้หญิง ไม่พอใจวุฒิสมาชิกในคณะกรรมาธิการฝ่ายยุติธรรมซึ่งมีนายโจ ไบเดนเป็นประธาน หลังอนุมัติรับรองคุณสมบัติของผู้พิพากษาศาลสูงสุดนายคลาเรนซ์ โทมัส ซึ่งประธานาธิบดีจอร์จ บุชผู้พ่อเป็นผู้เสนอ ปมเงื่อนที่เป็นปัญหาคือมีสตรีผิวดำที่เคยทำงานในสำนักกฎหมายเดียวกับนายโทมัสออกมาให้ปากคำว่า เขาเคยกระทำอนาจารต่อเธอทางวาจาและกิริยา แต่กรรมาธิการชายล้วนไม่เชื่อคำให้การของเธอ จึงตัดสินให้ตำแหน่งมีเกียรติสูงสุดนี้แก่นายโทมัสซึ่งก็เป็นคนผิวดำด้วยเหมือนกัน สตรีไม่น้อยต่างพากันแสดงความไม่เห็นด้วยและประณามการกระทำอันไร้ความเป็นธรรมและไร้ศักดิ์ศรีของวุฒิสภาคณะนี้กันอย่างถ้วนหน้า

ปีรุ่งขึ้น (1992) จึงเป็นปีที่มีผู้หญิงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเข้าสู่เวทีการเมืองในระดับต่างๆ มากมายเป็นประวัติการณ์ และจำนวนมากก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา รวมทั้งการได้เป็นวุฒิสมาชิกสตรีที่เพิ่มมากขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ผมจำและประทับใจในบทบาทของเธออย่างมากคือในปี 2018 ช่วงที่มีการประชุมของวุฒิสภาเพื่อลงมติรับรองการเสนอแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่คือ นายเบรตต์ คาวานอ ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นผู้คัดเลือกและส่งขึ้นแท่นโดยโฆษณาสรรพคุณของผู้พิพากษาศาลสูงคนนี้ว่า มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่เขาและฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการอย่างยิ่ง คือต่อต้านลัทธิเสรีนิยม ความเสมอภาคทางเพศ และไม่เห็นใจคนผิวสีและคนชายขอบ  

สมาชิกคณะกรรมาธิการฝ่ายยุติธรรมที่เป็นเดโมแครตแสดงจุดยืนแต่ต้นแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับคุณสมบัติและความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมของนายเบรตต์ คาวานอ ว่าไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาศาลสูงสุด ซึ่งต้องมีหน้าที่พิจารณาตัดสินข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐในปัญหาทางเชื้อชาติ สีผิวและเพศสภาพอย่างแน่นอน จึงไม่ควรเลือกคนที่มีทัศนคติเอนเอียงเช่นนี้เข้ามา แต่ด้วยเสียงข้างมากเป็นของพรรครีพับลิกัน ประธานคณะกรรมาธิการยุติธรรมจึงมาจากรีพับลิกันซึ่งมักมีอิทธิพลต่อการลงคะแนนเสียง จนกระทั่งมีคนส่งจดหมายปิดลับถึงวุฒิสมาชิกไดแอนน์ ไฟน์สไตน์เล่ารายละเอียดที่นายคาวานอพยายามจะข่มขืนเธอในอดีตกาลสมัยตอนเป็นนักศึกษา แต่เธอมีหลักฐานจากความทรงจำและสามารถเล่ารายละเอียดของเหตุการณ์ได้อย่างเหมือนเพิ่งเกิด

วุฒิสมาชิกไฟน์สไตน์อาศัยข้อมูลหลักฐานดังกล่าวในการซักฟอกนายเบรตต์ คาวานออย่างเข้มข้น ด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นเอาจริงเอาจังในท่วงทำนองของเธอทำให้คนแคลิฟอร์เนียประทับใจ แต่คราวนี้ ส.ว. ไฟน์สไตน์กลายเป็นสมาชิกอาวุโสจากพรรคเดโมแครตที่เป็นกรรมการในคณะกรรมาธิการนี้ด้วย มีฐานะและอิทธิพลสูงในพรรคและในคณะกรรมาธิการ เธอจึงเป็นหมากที่ฝ่ายก้าวหน้าฝากความหวังไว้ว่าเธอจะสามารถใช้พลังการเมืองนี้ในการสกัดกั้นไม่ให้เบรตต์ คาวานอได้รับการรับรอง แต่เมื่อการสอบปากคำและไต่สวนพยานหลักฐานดำเนินต่อไปจนถึงขั้นที่คณะกรรมาธิการยอมรับฟังด้วยหลักฐานและข้อกล่าวหาที่หนักแน่น จึงเลื่อนการลงมติออกไปอีกอาทิตย์หนึ่ง ระหว่างนี้ให้สำนักงานเอฟบีไอเข้ามาสอบสวนหาหลักฐานและพยานเพิ่มเติมเพื่อจะให้กรรมาธิการมีข้อมูลสุดท้ายในการลงมติ ผลออกมาเป็นไปตามโผของฝ่ายรีพับลิกัน ซึ่งขณะนั้นทรัมป์เป็นประธานาธิบดีและเปลี่ยนผู้อำนวยการเอฟบีไอมาเป็นคนที่ภักดีต่อทรัมป์มากกว่าต่อหลักการและกฎหมาย สรุปคือเอฟบีไอรายงานว่าไม่มีหลักฐานพยานอะไรมากกว่าที่ได้รับฟังในรัฐสภา การลงมติจึงซ้ำรอยประวัติศาสตร์การรับรองผู้พิพากษาศาลสูงสุดกับข้อกล่าวหาอนาจารสตรีว่าฟังไม่ขึ้น อนุมัติให้การรับรองโดยเสียงข้างมาก

ฝ่ายซ้ายและก้าวหน้าในเดโมแครตจึงวิพากษ์วิจารณ์ ส.ว. ไดแอนน์ ไฟน์สไตน์ว่ามีหลักฐานจดหมายจากเหยื่อผู้ถูกกระทำแต่ก็ไม่เอาออกมาเล่นงานเสียแต่เนิ่นๆ จนทำให้ฝ่ายรีพับลิกันตีตื้นขึ้นมาในที่สุดและกลับเป็นฝ่ายชนะไปอีก หลังจากนั้นมาผลงานในวุฒิสภาของไดแอนน์ ไฟน์สไตน์เริ่มลดระดับจากที่เคยเป็นหัวหอกมาเป็นกลางและบางครั้งหันไปหนุนความคิดอนุรักษนิยม ที่ทำให้คนผิดหวังมากคือในการประชุมรับรองการเสนอชื่อเอมี บาร์เรตต์เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดในปี 2020 ด้วยวัย 87 ปีและโรคประจำตัวทำให้ไดแอนน์ไม่สามารถทำหน้าที่แกนนำในการปฏิเสธการเสนอชื่อครั้งนี้ อย่างมากเธอได้แต่เสนอว่าให้การประชุมรับรองนี้เลื่อนไปหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งเดโมแครตเคยแพ้ประเด็นนี้มาก่อนแล้วเหมือนกันตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโอบามา แต่ที่ทำให้พลพรรคเดโมแครตเดือดแค้นมาก คือการที่ ส.ว. ไดแอนน์ ไฟน์สไตน์กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า ประธานคณะกรรมาธิการยุติธรรมนายลินด์ซีย์ แกรมห์ หัวโจกอนุรักษนิยมภาคใต้ทำหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง เหมือนเป็นการตบหน้าฝ่ายก้าวหน้าในพรรคเดโมแครต

ข้อคิดสุดท้ายจากการศึกษาประวัติความเป็นมาในชีวิตทางการเมืองของ ส.ว. ไดแอนน์ ไฟน์สไตน์ สะท้อนถึงลักษณะทางการเมืองอเมริกัน ตัวแบบของระบบการเมืองประชาธิปไตยเสรีที่ใหญ่สุดในโลกว่าแตกต่างหรือเหมือนกับของระบบการปกครองอื่นอย่างไรบ้าง เทียบกับของระบบการปกครองจีนและรัสเซียรวมทั้งไทยด้วย เห็นถึงการก่อรูปของชนชั้นปกครองที่มาจากผู้คนหลากหลายอาชีพ ฐานะ และทัศนคติทางการเมือง แล้วมาหลอมรวมกับผู้แทนราษฎรอื่นๆ ทั่วประเทศ ทั้งพรรคเดียวและต่างพรรค ที่นักการเมืองแต่ละคนจะใช้บุคลิกความสามารถเฉพาะตัวไปสร้างและผลักดันนโยบายการเมืองเศรษฐกิจสังคม ที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ และในหลายกรณีรวมคนในประเทศอื่นทั่วโลกด้วย

ที่ยากจะเห็นคือการมีผู้มีบารมีกำกับการทำงานและความคิดทัศนะการเมืองของบรรดานักการเมืองจากการเลือกตั้งของอเมริกาได้ เพราะถ้าสมาชิกรัฐสภาไม่มีเสรีภาพและอิสรภาพทางความคิดแล้ว การกำกับตรวจสอบและริเริ่มนโยบายที่เป็นประโยชน์ของประชาชนจะเกิดได้อย่างไร และนี่เองที่ในที่สุดระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจึงทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save