fbpx

“สูงแค่ไหน ก็ไปไม่ถึง” ความฝันติดดอยและการรอคอยโอกาสของเยาวชนแม่ฮ่องสอน

‘บ้านจ่าโบ่ 1,864 โค้ง’ คือป้ายบอกจุดหมายปลายทางที่ตั้งตระหง่านต้อนรับผู้มาเยือน ‘บ้านจ่าโบ่’ หมู่บ้านเล็กๆ บนดอยสูง ในเขตอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เมื่อทอดสายตาออกไปนอกชานบ้านซึ่งเป็นที่พักแรมของเรา เห็นแสงสีแดงวูบไหวอยู่ท่ามกลางทิวเขาครึ้มเขียว พร้อมฝุ่นควันจากการเผาไหม้ลอยอ้อยอิ่ง แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดในประเทศไทย น่าเสียดายที่หมอกควันจากไฟป่าในฤดูร้อนทำให้ ‘วิวหลักล้าน’ ที่ปรากฏแก่สายตาเลือนรางกว่าที่เป็น

เป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมงจากสนามบินเชียงใหม่ที่รถยนต์พาเราเคลื่อนผ่านเส้นทางอันคดเคี้ยวของถนนสาย 1095 หนองโค้ง-แม่ฮ่องสอน ทิวทัศน์สองข้างทางเต็มไปด้วยทิวเขาสีเขียวสลับซับซ้อน บางช่วงมีป้ายบอกทางแยกเข้าสู่ชุมชน ว่ากันว่าการตัดถนนเป็นอีกหนึ่งหนทางขจัดความยากจน แต่ความยากจนก็ดูจะยังปกคลุมพื้นที่แห่งนี้อยู่ไม่น้อย

บ้านไม้ยกพื้นสูงปลูกติดริมถนนกระจายไปตามไหล่เขาหินปูน บ่งบอกอาณาบริเวณการอยู่รวมกันในฐานะชุมชน บ้านจ่าโบ่เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ที่ตั้งรกรากบนบริเวณนี้ได้ราว 52 ปีแล้ว การทำเกษตรบนที่สูงและเลี้ยงสัตว์คืออาชีพหลักของคนในชุมชน ชาวบ้านที่นี่ปลูกข้าวไร่ไว้กินเองบ้าง ขายบ้าง ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย คือแหล่งรายได้หลักของชาวบ้านที่นี่และของหลายครัวเรือนบนดอยสูงในภาคเหนือ

อาชีพเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทยมาช้านาน และเป็นภาคส่วนที่มีการจ้างแรงงานถึง 29.31% ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ ขณะที่ GDP จากภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 8.81 ของ GDP รวมของประเทศ (ข้อมูลปี 2565) หากขยายข้อมูลทางสถิติเจาะลงไปที่ภาคเกษตร จะพบว่าต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาวะหนี้สินขยายตัว แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปคือเกษตรกรไทยยังอยู่ในความยากจนเช่นเดิม

เกษตรกรรมนำมาซึ่งอาหาร ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ อาหารคือรากฐานของชีวิต แต่เกษตรกรซึ่งเป็นต้นน้ำการผลิตกลับมีคุณภาพชีวิตที่ห่างไกลกับคำว่าสุขสบายดี ไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่าเกษตรกรทำให้คนอิ่มท้อง แต่ท้องตัวเองอาจไม่ได้อิ่ม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่คนรุ่นใหม่จะหันเหออกจากภาคเกษตร สะท้อนได้จากสถานการณ์ปัจจุบันของเกษตรกรไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีอายุเฉลี่ยที่ 58.46 ปี 

แต่บนดอยสูงแห่งนี้ การทำเกษตรกรรมยังคงส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นแทบไม่ขาดสาย ขุนเขาสูงไม่เคยปิดกั้นการรับรู้ถึงความเป็นไปบนโลกกว้าง ถนนใหญ่ตัดผ่านหมู่บ้าน สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจัดว่าดีใช้ได้ แต่ความยากไร้ทางโอกาสและอุปสรรคอีกมากมายอาจกักขังความฝันของเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติไว้บนเขาสูงแห่งนี้ บนพื้นที่แห่งเกษตรกรรม

1

บ้านจ่าโบ่ตั้งอยู่ที่ความสูงราว 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ยามสายในวันที่พยากรณ์อากาศบอกว่าแม่ฮ่องสอนเป็นหนึ่งในจังหวัดที่จะมีอุณหภูมิสูงที่สุดในประเทศ เราเดินทางขึ้นสูงไปอีก บนดอยที่เกือบจะเป็นภูเขาหัวโล้น อีกด้านของภูเขาที่มองเห็นเป็นป่าสีเขียวจากฝั่งหมู่บ้าน จักรยานยนต์พาเราไต่ความสูงขึ้นเรื่อยๆ บนเส้นทางอันลาดชัน ขรุขระ ดินร่วนซุยจนต้องบิดคันเร่งสุดแรง ไต่ไปตามเส้นทางที่สองเท้าและรอยล้อรถมอเตอร์ไซค์ของชาวบ้านซึ่งขึ้นลงเขาเพื่อทำการเกษตรเป็นกิจวัตรช่วยทำให้ถนนธรรมชาตินี้เกิดขึ้น

สองข้างทางคือพื้นที่ปลูกข้าวโพดแผ่ปริมณฑลกว้างสุดลูกหูลูกตา แต่ตอนนี้ไร่ข้าวโพดที่เคยชูต้นสูงเหลือเพียงลำต้นสีน้ำตาลแห้งแกร็นล้มเรียงราย หลังผ่านฤดูกาลเก็บเกี่ยวมาได้เดือนกว่าๆ สีเขียวจากไม้ยืนต้นน้อยใหญ่ช่วยแต่งแต้มสีสันไม่ให้ภูเขาแห่งนี้ดูแห้งแล้งจนเกินไป 

“ผมขับขึ้นเขาแบบนี้มาตั้งแต่อายุ 12 แล้ว” จ่าแป – รัชชานนท์ เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ผู้นำทางเรามาที่นี่กล่าว

หลังจบ ป.6 จากโรงเรียนบ้านจ่าโบ่เมื่อตอนอายุได้ 15 ปี จ่าแปไม่ได้เรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษา เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำไร่ช่วยครอบครัว ครัวเรือนของเขาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไว้สำหรับขาย และปลูกข้าวไร่ไว้สำหรับบริโภคภายในบ้าน นอกจากนี้เขายังเลี้ยงไก่ไว้ใต้ถุนบ้าน และเลี้ยงหมูไว้ในคอกบนดอย

‘จ่า’ ในชื่อของเขาเป็นคำขึ้นต้นชื่อของชายชาวลาหู่ ไม่ได้หมายถึงยศจ่าสิบตำรวจ แต่จ่าแปเมื่อครั้งเป็นเด็กชายก็เคยฝันอยากเป็นตำรวจ พอร่ำเรียนไปเขากลับพบว่าการศึกษาในระบบและเนื้อหาวิชาการไม่ตอบโจทย์กับความถนัดของเขา เมื่อถามว่าตอนเรียนชอบวิชาอะไรมากที่สุด “ไม่ชอบอะไรเลย” คือคำตอบของจ่าแปที่มาพร้อมเสียงหัวเราะ

แต่ไหนแต่ไร จ่าแปตั้งใจไว้ว่าเมื่อจบ ป.6 จะไม่เรียนต่อ เขาชอบทำไร่ ชอบเลี้ยงไก่ พ่อแม่ของเขาไม่ได้ขัดอะไร และการไม่เรียนต่อก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนักของเด็กที่นี่ จ่าแปเล่าว่าเพื่อนที่เรียนชั้นประถมฯ มารุ่นเดียวกันกับเขามีทั้งหมด 13 คน ในจำนวนนั้นมี 3 คนที่ไม่เรียนต่อระดับชั้นมัธยม และออกมาทำไร่ทำสวนช่วยครอบครัวเหมือนกัน

แม้จะหันหน้าออกจากการศึกษาในระบบ แต่เขาก็ไม่ได้หันหลังให้การศึกษา ปัจจุบันจ่าแปกำลังเรียน กศน. อยู่ที่ศูนย์ กศน. บ้านแม่ละนา ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านจ่าโบ่ราว 3 กิโลเมตร จ่าแปไปเรียนสัปดาห์ละครั้ง

จ่าแป – รัชชานนท์

บนดอยสูงซึ่งเป็นที่ทำกินของชาวบ้านมาหลายสิบปีแห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่จ่าแปใช้เวลาส่วนใหญ่ของแต่ละปีไปกับการขุดพลิกดินเตรียมเพาะปลูก ถอนหญ้า และเก็บเกี่ยวผลผลิต สำหรับการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะเตรียมแปลงปลูกตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน เริ่มหยอดเมล็ดพันธุ์ลงดินในเดือนพฤษภาคม เพื่อรอน้ำในฤดูฝนช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ในดินซึ่งเป็นสภาพที่เอื้อให้ต้นข้าวโพดเจริญเติบโต ถึงแม้ว่าข้าวโพดจะสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ข้าวโพดที่ปลูกในช่วงต้นฤดูฝน จะให้ผลผลิตที่ดีที่สุด

ระหว่างนั้น จ่าแปต้องคอยขึ้นดอยมากำจัดวัชพืช รอฤดูเก็บฝักข้าวโพดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันนั้น การเพาะปลูกข้าวไร่จะเริ่มราวเดือนมิถุนายน และเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน ไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่าจ่าแปใช้เวลาเกือบทั้งปีไปกับการทำเกษตร

 “ข้าวโพดปลูกขายต้องใส่ปุ๋ยกับพ่นยาฆ่าแมลงถึงจะได้ฝักใหญ่ น้ำหนักดี พ่อเป็นคนพ่นเอง แต่บางปีเงินน้อยก็ไม่ได้ซื้อยามาพ่น” จ่าแปเล่าอย่างฉะฉานถึงกรรมวิธีให้ได้มาซึ่งข้าวโพดที่ตลาดต้องการ เท่าที่จำความได้ เขาก็หัดจับจอบ จับเสียมช่วยพ่อแม่ทำไร่ข้าวโพดตั้งแต่ตอนอายุ 10 ขวบแล้ว หากโตขึ้นอีกหน่อยเขาก็คงต้องรับหน้าที่ฉีดพ่นยาแทนพ่อ บนดอยสูงเดินทางลำบากเช่นนี้ การทำเกษตรต้องใช้แรงคนเท่านั้น เครื่องจักรทุ่นแรงใดๆ ก็ไม่สามารถเอาขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับการวางระบบชลประทานสำหรับทำการเกษตร พืชทั้งเขาลูกนี้รอคอยน้ำฝนจากธรรมชาติเท่านั้น

ก่อนขึ้นมาสัมผัสพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดบนดอยสูง นะกอ เจ้าของโฮมสเตย์ที่เราพักเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ชาวบ้านใช้เพาะปลูกเป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่ขยายพันธุ์สืบต่อกันมา แม้ไม่ให้ฝักใหญ่ตามความต้องการของตลาด แต่ก็เติบโตได้โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยหรือพ่นยาฆ่าแมลง แต่ 3- 4 ปีมานี้ บริษัทผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่เข้ามาส่งเสริมการปลูกข้าวโพดสำหรับอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ สร้างเงื่อนไขให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทและขายผลผลิตให้กับบริษัท

ในแต่ละปี ชาวบ้านต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกฤดูเพาะปลูก เนื่องจากไม่สามารถเก็บเมล็ดไว้ปลูกต่อได้ พันธุ์ต้นข้าวโพดของบริษัททุนยักษ์ใหญ่พันธุ์ยังเรียกร้องปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโตและสารเคมีต่างๆ เพื่อให้ทนทานต่อโรคระบาดและศัตรูพืช

สารเคมีเคลื่อนไหลสู่ระบบนิเวศธรรมชาติ เกษตรกรหลายคนตกอยู่ในภาวะหนี้สินจากการกู้ยืมเงินมาลงทุนในการปลูกข้าวโพดแบบเกษตรพันธสัญญา

“คนที่นี่กู้ ธ.ก.ส. มาลงทุนปลูกข้าวโพดทุกหลังคาเรือน เงินที่ได้จากการขายข้าวโพดก็ไม่มากพอจะใช้หนี้ได้ ทำได้แค่จ่ายดอกเบี้ยปีต่อปี” เธอเล่า

การมาถึงของทุนใหญ่ยังทำให้วิถีการเกษตรบนดอยสูงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยปลูกเพื่อลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน หลายคนหันไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อให้มีผลผลิตมากขึ้นสำหรับขาย พันธุ์พืชท้องถิ่นค่อยๆ ลดน้อยลง

การขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดมาพร้อมกับการเผาเปลือกและซังข้าวโพดในอาณาบริเวณที่กว้างขึ้น การฝังกลบทำได้ไม่ง่ายบนพื้นที่สูงเช่นนี้ เพราะรถไถไม่สามารถขึ้นมาได้ จ่าแปชี้ขึ้นไปบนเขาสูงว่าถ้าไม่เผาไร่เอง หลายครั้งก็รอให้ไฟป่าพัดมาถึงพื้นที่ไร่ ให้ไฟช่วยเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งจากฤดูเพาะปลูกที่แล้ว เพื่อเตรียมเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ เขาไม่เคยเผา แต่เป็นคนช่วยดับและคอยดูไม่ให้ไฟลาม

รถมอเตอร์ไซค์ขับขึ้นลงไปตามแนวเขา หมอกควันจากไฟป่ายังคงบดบังทัศนียภาพทิวเขาที่ลดหลั่นชั้น ยิ่งขึ้นไปสูงเท่าไหร่ จุดเดิมที่เราจากมาก็ค่อยๆ เลือนหายไปในฝุ่นสีจาง เราขับผ่านจุดที่ไฟป่ากำลังลุกไหม้อย่างอ่อนแรง ดูเหมือนจะไหม้มาหลายวันจนใกล้มอดแล้ว ความร้อนจากไฟที่อยู่ห่างออกไปไม่กี่ช่วงแขนวิ่งปะทะผิว กลิ่นไหม้ยังคงชัดเจน ฝุ่นละอองจากควันไฟป่าที่ขนาดเล็กกว่า 10 ไมโครเมตรคงกำลังเคลื่อนที่ผ่านจมูก หลอดลม ไปยังปอด นี่เป็นสภาวะที่ชาวบ้านต้องเจอเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี ที่ค่าฝุ่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจัดว่าอยู่ในขั้นวิกฤต แต่ก็หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าไม่ได้ เพราะป่าและขุนเขาคือพื้นที่ทำมาหากิน

13 มีนาคม 2567 หนึ่งสัปดาห์ก่อนเราไปเยือนบ้านจ่าโบ่ ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่วนหน้า (ภาคเหนือ) รายงานข้อมูลจากดาวเทียมว่าพบจุดความร้อนจำนวน 529 จุด ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นการตรวจพบจุดไฟป่ามากที่สุดของภาคเหนือ ส่งผลให้ค่าหมอกควันพิษสูงถึง 424 ไมโครกรัมลูกบาศก์เมตร และยังสูงอยู่แบบนั้นไปอีกหลายสัปดาห์

อันที่จริง ไม่ต้องดูตัวเลขจากไหนก็พอจะรับรู้ได้ทันทีที่เรามาถึง อาการคัดจมูกและลมหายใจที่ดูเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมกำลังเคลื่อนเข้าไปไม่หยุดหย่อน ส่งสัญญาณว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองน่าจะอยู่ในระดับเกินมาตรฐาน

เรามุ่งหน้าไปยังคอกหมูของหมู่บ้านซึ่งอยู่ลึกเข้าไปกลางดอย แม้จะเลี้ยงหมูแบบเปิด แต่คอกหมูมีรั้วไม้ไผ่ล้อมรอบไม่ให้หมูหลุดออกไปเดินทัวร์ดอย และแบ่งย่อยเป็นคอกใครคอกมัน ที่นี่ชาวบ้านเลี้ยงหมูรวมกัน “คนจำหมูตัวเองได้ หมูก็จำเจ้าของมันได้” จ่าแปบอก คนชาติพันธุ์ลาหู่ผูกพันกับหมูตั้งแต่เกิดจนตาย หมูถูกใช้ในทุกพิธีกรรม ตั้งแต่งานแห่งความสุขจนถึงงานแห่งความเศร้า มีชาวบ้านบอกเราว่าบางครั้งหมูก็ทำหน้าที่เป็นทรัพย์สินที่สามารถขายเพื่อเอาเงินมาใช้แก้ขัดได้

จ่าแปหยิบฝักข้าวโพดออกจากกระเป๋าผ้าสะพายข้างใบเล็ก เขาน่าจะหยิบติดกระเป๋ามาจากกระสอบใต้ถุนบ้าน เขาแกะเมล็ดข้าวโพดจากฝักและโยนให้หมูกินด้วยท่าทีผ่อนคลาย โลกอีกใบของจ่าแปวางอยู่ข้างหน้านี้

สำหรับจ่าแปเอง เขาไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตที่เป็นอยู่นั้นขัดสนอะไร ถ้าอยากซื้อขนมจากร้านชำในหมู่บ้านก็ขอตังค์จากแม่ ครอบครัวเขาปลูกผักสวนครัวไว้กินตลอดปี เขากินอิ่ม นอนหลับดี จ่าแปไม่ได้มีรายจ่ายอะไรมากนักนอกจากการเติมเงินโทรศัพท์เพื่อสมัครแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต จ่าแปไม่มีรายการทีวีที่ชอบดู เพราะบ้านของเขาไม่มีโทรทัศน์ ตั้งแต่มีโทรศัพท์มือถือ เขาก็ใช้มันเล่นเฟซบุ๊ก ฟังเพลง และดูคลิปในยูทูบ นักร้องคนโปรดของจ่าแปคือมนต์แคน แก่นคูณ จ่าแปยื่นโทรศัพท์ให้ดูคลิปเฉินหลงกำลังวาดลวดลายโชว์การต่อสู้ แม้ไม่รู้ว่าหนังเรื่องเต็มดำเนินไปอย่างไร เพราะเป็นวิดีโอที่ถูกตัดมา แต่นี่เป็นคลิปโปรดที่เขาชอบดูในยูทูบ

พ้นไปจากฤดูเพาะปลูก บางครั้งจ่าแปจะขับมอเตอร์ไซค์เข้าไปในตัวอำเภอปางมะผ้าเพื่อรับจ้างล้างรถ จ่าแปทำงาน 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น ได้ค่าจ้าง 240 บาท แต่ถ้าให้เลือก เขาชอบรับจ้างทำไร่มากกว่า เพราะมันเป็นงานที่เขาถนัด จ่าแปคิดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าเขาก็คงทำไร่ช่วยครอบครัวเหมือนเดิมอยู่เหมือนเดิม เขาไม่ได้มีความสนใจที่จะออกไปใช้ชีวิตนอกชุมชนมากนัก การออกนอกหมู่บ้านไปไกลที่สุดเท่าที่เขาจำได้คือไปร่วมงานปีใหม่ชาติพันธุ์ลาหู่ ที่ดอยมูเซอ จังหวัดตาก เขายังมีความฝันว่าอยากไปเที่ยวพม่า เพราะเห็นมาจากเฟซบุ๊กว่าที่นั่นก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่เหมือนกัน

“ต่อให้จบ กศน. ได้วุฒิ ม.3 ก็จะยังทำเกษตรเหมือนเดิม”

“หาแฟนซักคนแล้วแต่งงานด้วยสิ” เสียงเพื่อนบ้านของจ่าแปแว่วเข้ามา

ตอนนี้ความฝันเดียวที่จ่าแปมีคือการสร้างบ้านปูนสวยๆ และคงทนแข็งแรงให้ครอบครัวอยู่ด้วยกัน

2

รถมอเตอร์ไซค์แล่นฉิวจากถนนลาดยางที่แบ่งครึ่งสองฝั่งของหมู่บ้านจ่าโบ่เข้าไปจอดใต้ถุนบ้านไม้ยกสูงหลังหนึ่ง เด็กชายในชุดนักเรียนเดินขึ้นบ้านไปเปลี่ยนเป็นชุดลำลอง ข้อมือซ้ายของเขาใส่ริสต์แบนด์สีขาว-แดง พิมพ์ตัวอักษร ‘Liverpool’

“ผมเคยอยากเป็นนักฟุตบอล”

ดอม-วรดร เด็กชายวัย 15 ปีที่กำลังจะเรียนจบชั้น ม.3 ในอีกไม่กี่วันตอบ เมื่อถูกถามถึงความฝัน แม้จะไม่ได้อยู่ในทีมฟุตบอลของโรงเรียน แต่ดอมก็เล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเป็นประจำ วิชาโปรดของเขาคือพละศึกษา แม้จะเป็นอาชีพในฝัน แต่ฝันก็คงเป็นแค่ฝัน ดอมไม่คิดว่าตัวเองจะเอาจริงเอาจังกับการเล่นฟุตบอลจนยึดเป็นอาชีพได้

หลังจบ ป.6 ที่โรงเรียนบ้านจ่าโบ่ ดอมเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมที่โรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ โรงเรียนประจำอำเภอซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 13 กิโลเมตร ทุกเช้าดอมจะขับมอเตอร์ไซค์ไปเรียนด้วยตัวเอง และเจียดเงินค่าขนมไว้สำหรับเติมน้ำมัน ไม่ต่างจากจ่าแปและเด็กคนอื่นๆ ที่เติบโตบนดอยสูง มีถนนสูงชันคดเคี้ยวอยู่ทุกหนแห่ง เด็กๆ จำเป็นต้องหัดขับจักรยานยนต์ตั้งแต่ยังเล็กเพื่อเข้าถึงหลายโอกาสในชีวิต อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเข้าถึงการศึกษา ดอมบอกกับเราว่าเขาขับมอเตอร์ไซค์เป็นตั้งแต่อายุ 10 ขวบ

ดอม – วรดร

จากคำบอกเล่าของ ครูนุ-วิทวัส พงศาผดุง ครูประจำโรงเรียนบ้านจ่าโบ่ เด็กในหมู่บ้านจ่าโบ่ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาอย่างถ้วนหน้า 100% โรงเรียนประจำหมู่บ้านแห่งนี้เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึง ป.6 โดยรับเด็กจากหมู่บ้านจ่าโบ่และหมู่บ้านบ่อไคร้ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 6 กิโลฯ การมีโรงเรียนตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านทำให้ครูสามารถติดตามเด็กที่เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบให้กลับเข้าสู่โรงเรียนและเรียนจนจบได้ แต่ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น เด็กจำเป็นต้องเดินทางนับ 10 กิโลฯ เพื่อไปเรียนหนังสือในโรงเรียนที่เปิดสอนชั้นมัธยม ในพื้นที่ที่ไม่มีรถขนส่งสาธารณะวิ่งผ่าน การศึกษาเรียกร้องให้เด็กๆ ต้องมียานพาหนะส่วนตัว ไม่มากก็น้อย ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจในการศึกษาต่อ

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่า ค่าใช้จ่ายประเภท ‘ค่าเดินทาง’ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึง 38% ของค่าใช้จ่ายในการเรียนทั้งหมด เนื่องจากครอบครัวของเด็กนักเรียนที่ยากจนมักอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

คล้ายกันกับจ่าแป เพื่อนๆ ที่เรียนชั้นประถมมาพร้อมกันกับดอม จำนวนหนึ่งเลือกที่จะไม่เรียนต่อชั้นมัธยมและเลือกที่จะทำไร่ทำสวนช่วยครอบครัว ครูนุประมาณการว่ามีเด็กบ้านจ่าโบ่เกือบ 100% ที่เลือกเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมต้น แต่จะลดลงเหลือ 50% ที่เลือกเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมปลาย สำหรับดอมเอง เขายังเลือกไปต่อกับการศึกษาในระบบ โดยหมายมั่นว่าจะเรียนให้จบมัธยมปลาย “จบ ม.6 ก็พอ” เขาบอก

ครูนุ-วิทวัส พงศาผดุง

เมื่อเว้นว่างจากการไปเรียนหนังสือ ดอมใช้เวลาในวันหยุดติดตามพ่อแม่ขึ้นดอยไปช่วยงานในไร่ ครอบครัวของเขาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลัก มือที่ใช้จับปากกาตลอดวันจันทร์ถึงศุกร์ ถูกใช้จับเสียม ถอนหญ้า และหว่านปุ๋ยในวันเสาร์-อาทิตย์ แม้ไม่ต้องไปทำไร่ทุกสัปดาห์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำเกษตรคือวิถีชีวิตที่เยาวชนบนดอยสูงแห่งนี้ต้องซึมซับมาตั้งแต่เด็ก และอาจจะกลายเป็นอนาคตของพวกเขาไปทั้งชีวิต

“อีก 10 ปีข้างหน้า ผมก็น่าจะทำไร่อยู่ที่นี่แหละ” ดอมบอก

“นอกจากทำไร่แล้ว เราจินตนาการถึงอาชีพอื่นบ้างไหม?”

“พนักงานเซเว่นมั้งพี่ ได้ทำงานในห้องแอร์ น่าจะสบายดี”

อนาคตที่ดอมวาดไว้นั้นเรียบง่าย เดินตามวิถีชีวิตที่รุ่นพ่อแม่ของเขาสืบต่อมา

แม่ของดอมที่เพิ่งเสร็จสิ้นจากการปักผ้าชุดชาติพันธุ์ลาหู่เพื่อส่งขายตามออเดอร์นั่งลงร่วมสนทนา “ถ้าเป็นไปได้ แม่ก็อยากให้เขาเรียนจนจบปริญญา” ผู้เป็นแม่บอกถึงความหวังที่มีต่อลูกชาย

เช่นเดียวกับครูนุที่ก็หวังให้ลูกศิษย์ได้เรียนสูงๆ คุณครูหวังว่าเด็กชาติพันธุ์ที่ตั้งใจเรียนจนจบปริญญาและประกอบอาชีพที่มั่นคง ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เดินรอยตาม แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กในครอบครัวผู้มีรายได้ต่ำ ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในภาคเกษตร ข้อมูลทางสถิติจากหน่วยงานด้านการศึกษาบอกเราว่า สัดส่วนนักเรียนในแม่ฮ่องสอนที่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เทียบกับสัดส่วนนักเรียนจากทั่วประเทศ ในปีการศึกษา 2565 คิดเป็น 0.10%

แม้ดอมจะบอกว่าเขาไม่ได้รู้สึกขาดหรือต้องการอะไรมากไปกว่านี้ แต่ผู้เป็นแม่ยังยืนยันว่าการทำไร่ข้าวโพด แหล่งรายได้หลักของครอบครัวในปัจจุบันนี้ให้ผลตอบแทนที่ไม่เพียงพอ มิหนำซ้ำการเพาะปลูกข้าวโพดให้ได้ผลผลิตตามเกรดตลาดยังใช้ต้นทุนสูง นอกจากกู้เงิน ธ.ก.ส. แล้ว ครอบครัวของเธอต้องหยิบยืมเงินจากญาติในหมู่บ้านบางครั้ง ในยามหมุนเงินไม่ทัน

เด็กชายเข้าไปเปลี่ยนชุดอีกครั้งเพื่อเตรียมออกไปเล่นตะกร้อกับเพื่อนที่สนามตระกร้อในโรงเรียนบ้านจ่าโบ่ ครั้งนี้ดอมอยู่ในเสื้อกีฬา กางเกงขาสั้นปักตราสัญลักษณ์ทีมฟุตบอล ‘เชลซี’ เวลาเย็นยามเลิกเรียนแบบนี้ ถ้าไม่นั่งเล่นเกม Free Fire ในโทรศัพท์มือถืออยู่ที่บ้าน ดอมก็ออกไปเล่นกีฬากับเพื่อนในหมู่บ้าน

ลูกตระกร้อลอยข้ามตาข่าย อาศัยแรงปฏิกิริยาจากเท้าของดอมและเพื่อนๆ เด็กชายเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว ฉายแววนักกีฬา หากสภาพแวดล้อมในการเติบโตเปิดพื้นที่ให้พวกเขาเป็นอะไรก็ได้ที่อยาก เราอาจได้เห็นนักฟุตบอลชาวลาหู่ในทีมชาติไทยก็เป็นได้

3

เสียมถูกปักเป็นแนวเฉียงลงผืนดินตามไหล่เขา เปิดหน้าดินให้มีความลึกเหมาะสมกับการปลูกข้าวโพด อาชีพตำรวจของจ่าแป นักฟุตบอลของดอม ความฝันในวัยเยาว์กำลังถูกหย่อนลงหลุมแล้วฝังกลบ ความสุขตามประสา วิถีแบบเกษตรที่ไหลเวียนอยู่บนขุนเขาสูงแห่งนี้ คือปัจจุบัน และดูเหมือนจะเป็นอนาคตของพวกเขา หลายคำบอกเล่า หลากเรื่องราวที่เราได้สัมผัส ตอกย้ำว่าปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางโอกาสยังขวางกั้นความเป็นไปได้อื่นๆ ในชีวิตของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้อยู่

นับตั้งแต่ปี 2545 แม่ฮ่องสอน อยู่ใน 5 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดต่อเนื่องกันมาโดยตลอด อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขณะเดียวกัน แม่ฮ่องสอนก็ครองหัวตาราง เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุดในประเทศ โดยมีสัดส่วนมากถึง 59.47% (ข้อมูลในปีการศึกษา 2565)

บนฐานคิดที่ว่าการศึกษาเป็นบันไดสำคัญในการก้าวข้ามความยากจน ที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น รัฐไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามผลักดันให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างถ้วนหน้า ธนาคารโลกเคยกล่าวชื่นชมความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านการศึกษาของไทย ที่เด็กในพื้นที่ห่างไกลที่สุดก็ยังสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับประถมในท้องถิ่นได้ [1]

ตามที่ครูนุได้ฉายภาพสถานการณ์การศึกษาในหมู่บ้านจ่าโบ่และหมู่บ้านข้างเคียง การเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนดูจะไม่ใช่เรื่องยากนัก พื้นที่บนดอยยังมีโรงเรียนหลากหลายรูปแบบเกิดขึ้นเพื่ออุดช่องว่างทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ตชด. หรือโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงเรียนพักนอน ก่อนหน้านี้เด็กจากบ้านลุกข้าวหลาม ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านจ่าโบ่ไป 10 กิโลฯ ก็เคยต้องเดินทางมาเรียนที่โรงเรียนบ้านจ่าโบ่ แต่หลังจากมีโรงเรียน ตชด. บ้านลุกข้าวหลาม เด็กๆ จากบ้านลุกข้าวหลามก็สามารถเรียนใกล้บ้านได้

อย่างไรก็ตาม การดึงเด็กเข้าสู่สถาบันการศึกษาในระบบ อาจไม่ได้เป็นสิ่งการันตีว่าเด็กจะไม่ร่วงหล่นจากการศึกษา หากขยายภาพเข้าไปดูสถานการณ์การเรียนรู้ในพื้นที่ห่างไกล จะเห็นว่ามีหลากหลายปัญหาที่ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง และสะท้อนว่าการจัดการศึกษาโดยยึดหลักสูตรแกนกลางอาจไม่ได้เหมาะสมกับเด็กทุกพื้นที่

ตลอด 6 ปีที่ครูนุย้ายมาสอนที่โรงเรียนบ้านจ่าโบ่ เขาเจอเคสเด็กออกจากโรงเรียนกลางคันประมาณ 2 ครั้ง เป็นตัวเลขอาจฟังดูไม่มาก แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นแม้แต่คนเดียว ครูนุเล่าต่อว่ามีเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง หายไปหลายเดือน กลับเข้าโรงเรียนอีกครั้ง และออกจากโรงเรียนอีกหน เมื่อติดตามดูจึงพบว่าเด็กออกไปอยู่บ้านเฉยๆ ในทำนองที่ว่า “ไม่รู้จะเรียนไปทำไม” เหตุผลนี้ชวนให้เราคิดต่อว่าการขาดแรงจูงใจย่อมส่งผลกับการอยู่ในระบบการศึกษาของเด็ก เมื่อหวนนึกถึงบทสนทนาของเรากับจ่าแปและดอมก็ไม่ประหลาดใจนักที่เด็กจะรู้สึกเช่นนี้ เพราะดูเหมือนว่าจะเรียนถึงชั้นไหนก็พาชีวิตไปลงเอยที่ไร่ข้าวโพดบนดอยอยู่ดี

ครูนุยังเล่าว่าโรงเรียนบนดอยอื่นๆ ในอำเภอปางมะผ้ามีหลายเคสที่เด็กออกจากโรงเรียนไปหลายเดือนในฤดูเก็บเกี่ยวลำไย เพราะต้องติดตามพ่อแม่ที่ไปรับจ้างเก็บลำไยในต่างพื้นที่ เรื่องราวนี้สะท้อนว่าหากท้องยังไม่อิ่ม การศึกษาก็คงเป็นความจำเป็นลำดับรองลงไป

หากเป็นไปได้ ครูนุก็อยากให้มีการจัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย ตอบโจทย์บริบทเฉพาะในแต่ละพื้นที่ และมอบทักษะที่เด็กสามารถเอาไปต่อยอดในชีวิตประจำวันได้จริง

“เด็กบางคน เรื่องทักษะชีวิตนี่เขาเก่งมาก ผมสังเกตดูแล้ว พอคุยเรื่องเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เด็กจะกระตือรือร้นมาก มีเด็ก ป.5 อยู่ 2-3 คนที่ชอบเลี้ยงไก่มากๆ เขาเล่าได้เป็นฉากๆ เลย รู้เรื่องอาหารไก่ รู้ว่าถ้าป่วยต้องให้ยาอะไร เขารู้เยอะกว่าเราด้วยซ้ำ แต่พอคุยเรื่องที่เขาไม่สนใจก็จะตอบแค่ ‘ครับๆ’ ผมว่าเราควรจะส่งเสริมทักษะอื่นนอกเหนือจากเรื่องวิชาการในหลักสูตรให้มากกว่านี้”

ข้าวไร่และข้าวโพดพันธุ์ดั้งเดิมที่ชาวดอยปลูกกันมาหลายสิบปี ไม่เคยต้องใส่ปุ๋ยเพื่อเร่งโต รอคอยเพียงน้ำฝนมาชโลมดินให้ชุ่มฉ่ำ ให้ลำต้นได้งอกเงย ไม่ต่างอะไรกับเยาวชนบนดอยสูงผู้เป็นลูกหลาน พวกเขาไม่เคยถูกใส่ปุ๋ยเร่งโตทางวิชาการอย่างการเรียนพิเศษ แต่พวกเขาเติบโตบนผืนดิน ผืนเขา ซึมซับวิถีเกษตรกรรมจากการปฏิบัติจริง แน่นอนว่าทักษะการเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ หรือปลูกข้าวโพดคงหาไม่ได้จากตำราเรียนในห้องเรียน แต่พื้นฐานการอ่านเขียนให้รู้หนังสือยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องได้รับการสอน

หากกสิกรรมบนดอยคืออนาคตของเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้จริงๆ การยึดวิถีเกษตรแบบเดิมอาจไม่ช่วยการันตีความอยู่รอดของพวกเขาได้ การผลิตในภาคเกษตรปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในระยะยาว ต่อให้ภูเขาจะสูงเพียงใดก็ไม่อาจต้านทานคลื่นลมแห่งความท้าทายเหล่านี้ เกษตรกรจำเป็นต้องเข้าถึงองค์ความรู้ในการรับมือกับแรงเสียดทานทางธรรมชาติเหล่านี้

นอกจากนี้ การคืบคลานของกลุ่มทุนในนามเกษตรพันธสัญญายังดึงคนในภาคเกษตรเข้าสู่วงจรหนี้สิน การอ่านออก เขียนได้ จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะติดอาวุธเกษตรกรให้รู้เท่าทันและเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงได้

แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ประชากรมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง โดยมีมากถึง 13 กลุ่ม เด็กจำนวนมากมีภาษาแม่เป็นภาษาชาติพันธุ์และเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยที่ยังพูดภาษาไทยไม่ได้ มีเด็กอายุ 3-4 ปีในแม่ฮ่องสอนเพียงร้อยละ 45.1 ที่มีพัฒนาการด้านการอ่านออกและรู้จักตัวเลขตามวัย ขณะที่เด็กในกรุงเทพฯ มีพัฒนาการด้านการอ่านออกและรู้จักตัวเลขถึงร้อยละ 83.9 คะแนน O-NET ของนักเรียนชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ [2] ตัวเลขเหล่านี้ย่อมสะท้อนถึงช่องว่างทางการเรียนรู้ที่มีภาษาเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ

ครูนุชี้ว่าเด็กจำนวนหนึ่งที่จบชั้น ป.6 จากโรงเรียนในหมู่บ้าน แล้วไปเรียนต่อชั้นมัธยมฯ ในโรงเรียนประจำอำเภอมักจะประสบปัญหาเรียนไม่ทันเพื่อน โดยมีอุปสรรคสำคัญมาจากเรื่องภาษา ซึ่งนั่นทำให้เด็กหลายคนไม่สามารถเรียนได้ต่อเนื่องตลอดวงจรการศึกษา ที่โรงเรียนประถมฯ แห่งนี้ คุณครูเล่าว่าเด็กๆ จะพูดกับครูเป็นภาษาไทย แต่พูดกับเพื่อนและครอบครัวเป็นภาษาถิ่น เมื่อเด็กเติบโตไปเจอสังคมที่ใหญ่ขึ้น ผู้คนหลากหลายขึ้น เด็กจึงเริ่มตระหนักว่าการไม่รู้ภาษาไทยนั้นเป็นปัญหา

การจัดวางสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ภาษาถิ่นและการส่งเสริมให้เด็กรู้ภาษาไทยเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่โรงเรียนบ้านจ่าโบ่ ครูจะมีแบบฝึกหัดภาษาไทยให้นักเรียนที่ยังอ่อน และไม่ว่าจะสอนวิชาอะไรก็ตาม ครูต้องสอดแทรกการสอนคำศัพท์และประโยคในภาษาไทยลงไปด้วย และภาษาอังกฤษยังเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญและอาจจะกล่าวได้ว่าจำเป็นสำหรับเด็กในชุมชนท่องเที่ยวแบบบ้านจ่าโบ่ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแวะเวียนมาไม่ขาดสาย

“โรงเรียนเราเพิ่งมีครูภาษาอังกฤษมาสอนได้ 1 เทอม” ครูนุกล่าว

การจัดสรรงบประมาณ ทรัพยากร และบุคลากรยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ที่โรงเรียนบ้านจ่าโบ่ มีนักเรียนทั้งหมด 72 คน มีครูทั้งหมด 5 คน ทำให้ครู 1 คนต้องดูแลมากกว่า 1 ห้องเรียน สอนควบชั้นและควบวิชา ครูนุเองจบเอกวิทยาศาสตร์ แต่ก็ต้องสอนทุกวิชา ด้านการบริหารจัดการก็ต้องหาแหล่งทุนสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น งบประมาณในการจ้างแม่ครัวในการทำอาหารกลางวัน โรงเรียนอีกหลายแห่งในพื้นที่ห่างไกลล้วนต้องการการสนับสนุนจากรัฐมากกว่าที่เป็นอยู่เช่นเดียวกัน

4

ตะวันโผล่พ้นขอบฟ้า แสงสีส้มตัดกับฝุ่นควันสีขาวจางๆ ขานรับรุ่งอรุณวันใหม่ วันนี้เป็นวันพุธที่ดอมต้องเข้าร่วมพิธีปัจฉิมนิเทศ เขาขับจักรยานยนต์คู่ใจไปบนถนนเส้นหลักที่ผ่ากลางหมู่บ้านตั้งแต่เช้าตรู่ มุ่งหน้าสู่ตัวอำเภอซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียน บนถนนเส้นเดียวกัน ในช่วงเวลาที่ต่างกัน จ่าแปขับมอเตอร์ไซค์ขึ้นไร่และคอกหมูบนดอยอย่างที่เขาทำเป็นประจำเกือบทุกวัน

ถนนเส้นหลัก กับวัยรุ่นชายสองคนที่ขับแยกไปคนละทาง ถ้าอนาคตเป็นไปตามที่พวกเขาคิดไว้ ว่าอีก 10 ปีจะทำอะไร อยู่ที่ไหน ถนนแห่งชีวิตของพวกเขาก็คงไปบรรจบกันตรงนั้น ที่ไร่ข้าวโพดบนดอยสูง

รัฐไทยดูจะมีความสามารถในการตัดถนนขึ้นภูเขาอยู่ไม่น้อย เราถึงได้เดินทางผ่านถนนคดเคี้ยวที่มีถึง 1,864 โค้งมาจนถึงบ้านจ่าโบ่ได้ ประเทศไทยมีถนนในทางกายภาพมากพอสมควรแล้ว แต่ถนนแห่งโอกาสยังต้องลงทุนสร้างอีกหลายสาย


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

References
1 World Bank. 2020. “Thailand Country Overview.”. http://www.worldbank.org/en/country/thailand/overview
2 องค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทย. 2564. “ขจัดช่องว่างการเรียนรู้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน: กรณีศึกษาการจัดการเรียนรู้โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน”. https://www.unicef.org/thailand/th/documents/%E0%B8%82%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AE%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save