fbpx

“ยิ่งจริง ยิ่งไม่หมิ่นประมาท”: ความผิดฐานหมิ่นประมาทกฎหมายเยอรมัน

ภาษิตกฎหมายนั้น เป็นประโยค หรือวลีสวยๆ คูลๆ ที่แสดงถึงปรัชญา เจตนารมณ์ หรือหลักการของกฎหมายและความยุติธรรม ที่นักกฎหมาย นักศึกษากฎหมาย หรือบุคคลในแวดวงอื่นๆ ที่สนใจในกฎหมายนั้นอาจเคยได้เห็นผ่านตามาบ้าง เช่น ‘ที่ใดมีสังคมที่นั่นมีกฎหมาย’ ‘ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม’ ‘กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา’ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะแปลมาจากภาษาละตินที่กล่าวโดยนักนิติศาสตร์โรมันในสมัยโบราณ

อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายไทยเราไม่ต้องน้อยใจไปว่าเราไม่มีภาษิตกฎหมายเป็นของตนเอง เพราะอันที่จริงแล้วเราก็มีภาษิตกฎหมายไทยแท้ แบบ Made in Thailand อยู่เหมือนกันในตอนที่เรียนกฎหมายอาญา ซึ่งพวกเราอาจจะเคยได้ยินผ่านหูมาเกี่ยวกับหลักการของความผิดฐานหมิ่นประมาท นั่นก็คือภาษิตที่ว่า ‘ยิ่งจริง ยิ่งหมิ่นประมาท‘ หรือ ‘ยิ่งจริง ยิ่งผิด’ ที่หมายถึงว่า ยิ่งเรื่องที่กล่าวพาดพิงผู้อื่นเป็นความจริงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อผู้ถูกพาดพิงอย่างแน่นอนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งฟังดูเผินๆ ก็พอเข้าใจได้ว่าเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่น่าจะต้องการปกป้องสิทธิในเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคล

แต่ทั้งนี้ หากเราลองคิดดูอีกครั้งนึง ภาษิตกฎหมายไทยนี้ดูเหมือนจะมีความอันตรายไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะเป็นการสะท้อนถึงแนวคิดของรัฐว่า โดยหลักแล้วกฎหมายไทยให้ความสำคัญกับชื่อเสียงและเกียรติยศของบุคคลคนหนึ่งมากเสียกว่าการรับรู้ถึงความจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมแย่ๆ ของบุคคลคนนั้น เว้นแต่จะเข้าเหตุที่รัฐอยากจะรับรู้

อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานอาญาหมิ่นประมาทนั้นไม่ได้มีลักษณะที่เหมือนกันหมดทุกประเทศ ผู้เขียนพบว่ากฎหมายอาญาของประเทศเยอรมนีนั้นมีการกำหนดรูปแบบความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับกฎหมายอาญาไทยอย่างสิ้นเชิง ซึ่งแม้จะไม่พบว่ามีนักนิติศาสตร์เยอรมันท่านใดได้ให้ภาษิตเกี่ยวกับหลักการของความผิดฐานหมิ่นประมาทเอาไว้ แต่ก็อาจกล่าวเป็นภาษิตใหม่ (โดยคนบ้ากฎหมายอาญาคนหนึ่งที่สอนหนังสืออยู่ธรรมศาสตร์) ได้ว่า เป็นหลัก ‘ยิ่งจริง ยิ่งไม่หมิ่นประมาท’ นั่นเอง ซึ่งผู้เขียนจะได้นำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง ณ ที่นี้ โดยจะเริ่มอธิบายและชี้ให้เห็นถึงปัญหาของความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายไทยเสียก่อนโดยสังเขป จากนั้นก็จะได้นำเสนอถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายเยอรมันเพื่อเป็นตัวอย่างแนวทางหนึ่งในการปรับปรุงกฎหมายไทยต่อไป

ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายไทย

ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายไทยนั้นได้ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ทั้งนี้ อธิบายแบบภาษาที่เข้าใจง่ายๆ นั้น ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นก็คือ ‘ความผิดฐานนินทาผู้อื่น’ นั่นเอง โดยการนินทานั้นอาจกระทำต่อหน้า-ลับหลังต่อผู้ที่ถูกนินทา เป็นวงแคบโดยการกล่าวกับบุคคลคนเดียว กลุ่มเล็กๆ หรือเป็นวงกว้างโดยการกล่าวในพื้นที่สาธารณะก็ได้ (แต่กรณีวงกว้างนี้ ผู้นินทาจะรับโทษหนักขึ้นกว่ากรณีปกติ) อย่างไรก็ตาม การนินทานั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทในทุกกรณี แต่มีเงื่อนไขว่า เนื้อหาของการนินทานั้นจะต้องมี “ความเป็นไปได้ที่จะทำให้ผู้ที่ถูกนินทาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง” เท่านั้น

เพื่อให้ผู้อ่านในแวดวงอื่นที่ไม่ได้ศึกษากฎหมายเห็นภาพชัดขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างดังนี้

ตัวอย่างที่ 1 นาย A เล่าเรื่องของนาย C ให้นาย B ฟัง หรือโพสต์ลงโซเชียลมีเดียของตัวเองว่า “นาย C ตดเหม็น” จะเห็นได้ว่ากรณีนี้นาย A นินทานาย C เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนาย C ว่านาย C ตดเหม็น แต่อย่างไรก็ตามการนินทานี้ไม่มีความเป็นไปได้ที่นาย C จะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เพราะคงไม่มีใครในโลกนี้ตดหอมเป็นกลิ่นดอกมะลิ เพราะฉะนั้นการนินทาของนาย A นี้จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ตัวอย่างที่ 2 ถ้านาย A เล่าเรื่องของนาย C ให้นาย B ฟัง หรือโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียของตัวเองว่า “นาย C ลักทรัพย์ผม” กรณีนี้นาย A ก็นินทานาย C เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนาย C เช่นกัน แต่ผลทางกฎหมายจะแตกต่างกันออกไปจากตัวอย่างแรก เพราะว่าการนินทานี้มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้นาย C เสียชื่อเสียงว่าเป็นมิจฉาชีพ ถูกดูหมิ่นว่าเป็นคนไม่มีศีลธรรม หรือถูกเกลียดชังจากคนในสังคม เพราะฉะนั้นการนินทาของนาย A นี้จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

อย่างก็ตาม ในกรณีของตัวอย่างที่ 2 นั้น ความผิดฐานหมิ่นประมาทที่นาย A ได้กระทำลงไปนั้น อาจจะได้รับการยกเว้นให้ไม่เป็นความผิดและทำให้นาย A เป็นผู้บริสุทธิ์ในตอนสุดท้ายได้ หากเข้าเหตุใดเหตุหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 เช่น นาย B ผู้รับฟังข้อความจากนาย A เป็นตำรวจผู้รับแจ้งความ หรือโพสต์ของนาย A บนโซเชียลมีเดียนั้นทำไปเพื่อให้ชาวเน็ตช่วยกันตามจับกุมนาย C ในกรณีนี้แม้การกระทำของนาย A จะเข้าเงื่อนไขของความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ทุกประการแล้วก็ตาม แต่มาตรา 329(1) นั้นก็จะมาช่วยยกเว้นความผิดให้แก่นาย A ซึ่งส่งผลทางกฎหมายในตอนสุดท้ายให้นาย A ไม่มีความผิดใดๆ เลยสำหรับการนินทาครั้งนี้ เป็นผู้บริสุทธิ์แบบ 100 %

ทั้งนี้มาตรา 329 บัญญัติว่า

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

นอกจากเหตุยกเว้นความผิดสำหรับบุคคลทั่วไปตาม มาตรา 329 ข้างต้นแล้ว ก็ยังมีการยกเว้นความผิดในกรณีพิเศษของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงในที่ประชุมของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 124 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในกรณีตัวอย่างที่ 2 นั้น หากการนินทาของนาย A นี้ไม่เข้าเหตุใดเหตุหนึ่งเลยตามมาตรา 329 กรณีนี้นาย A จะยังคงมีสถานะเป็นผู้กระทำความผิด ไม่เป็นผู้บริสุทธิ์อีกต่อไป แต่ทั้งนี้ยังมีช่องทางทางกฎหมายที่ยังอาจะพอช่วยนาย A ได้อยู่บ้างเพื่อไม่ให้นาย A ต้องรับโทษจากการพิสูจน์ความจริงที่ได้กล่าวอ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

จากบทบัญญัติมาตรา 330 นี้ ถ้านาย A พิสูจน์ในศาลได้ว่า สิ่งที่ตนนินทานาย C นั้นเป็นเรื่องจริง นาย A ก็จะ ‘ไม่ต้องรับโทษ’ ซึ่งผลทางกฎหมายของการไม่ต้องรับโทษนั้นแตกต่างจากการไม่มีความผิด เพราะกรณีนี้นาย A จะไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ 100% อีกต่อไป ซึ่งแม้นาย A จะไม่ต้องรับโทษติดคุก หรือจ่ายค่าปรับ แต่สิทธิของนาย A บางประการยังคงต้องได้รับผลกระทบอยู่จากมาตรการอื่นๆ ของกฎหมายอาญา เช่น การบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย หรือเรื่องของทะเบียนประวัติอาชญากรรม เป็นต้น

ปัญหาของ ‘ยิ่งจริง ยิ่งหมิ่นประมาท’ ในกฎหมายอาญาไทย

1. เอาผิดกับทั้งกรณีการกล่าวอ้างความจริงและความเท็จ

จากบทบัญญัติฐานความผิดหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จะเห็นได้ว่า กฎหมายเขียนไว้แค่เพียง “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม” ซึ่งถ้อยบัญญัติในส่วนนี้ไม่ได้เขียนว่า “ผู้ใดใส่ความอันเป็นเท็จต่อบุคคลที่สาม” แต่อย่างใด นั่นหมายความว่า กฎหมายหมิ่นประมาทไทยไม่ได้มีการจำกัดรูปแบบการใส่ความ (การนินทา) ที่จะเป็นความผิดไว้เฉพาะกับการกล่าวอ้างความเท็จเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงการกล่าวอ้างความจริงอีกด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวอ้างความจริงหรือความเท็จ การกล่าวอ้างก็ยังคงอยู่ในความหมายของถ้อยบัญญัติ ‘ใส่ความ’ ตามมาตรา 326 ทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้จึงมีการเกิดขึ้นของภาษิตกฎหมายไทย ‘ยิ่งจริง ยิ่งหมิ่นประมาท’ เพื่อย้ำเตือนหลักการของหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญาไทยว่า เมื่อมีการกล่าวอ้างพาดพิงผู้อื่นในลักษณะสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ที่ถูกพาดพิงเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังแล้ว แม้เรื่องที่กล่าวอ้างจะเป็นความจริงแน่ยิ่งกว่าแช่แป้งก็ตาม ก็ไม่อาจเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิดจากความผิดฐานหมิ่นประมาทไปได้

เมื่อกฎหมายไทยเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็จะเห็นพฤติกรรมของคนในสังคมไทยที่เมื่อใดจะต้องกล่าวอ้าง หรือนำเสนอหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ต้องพาดพิงเพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง ก็จะละเว้นการเอ่ยชื่อของบุคคลที่ต้องการจะพาดพิงไว้เมื่อนั้น แล้วปล่อยให้ผู้รับสาร ผู้อ่าน ผู้ฟังนั้นไปคิดดูเอาเองว่าใครเป็นผู้ถูกพาดพิง เพราะต้องการที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้การกล่าวอ้างของตนเองไปเข้าความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 นี้เอง

ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายไทยที่มาพร้อมกับภาษิตกฎหมายแบบไทยๆ ‘ยิ่งจริง ยิ่งหมิ่นประมาท’ นี้จึงเป็นไปในลักษณะที่ทำให้ประชาชนคนไทยเกิดความกลัวที่จะต้องพูดความจริงเกี่ยวกับบุคคลใดในการเปิดโปงสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ เพราะเกรงว่าตนอาจจะถูกดำเนินคดีอาญาความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ ซึ่งแม้ว่าจะมีเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรา 329 อยู่ก็ตาม แต่นั่นหมายความว่าตนก็จะต้องมีภาระหน้าที่ต้องไปศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองในศาลภายหลังจากที่ตนได้ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทไปแล้ว ซึ่งต้องใช้กำลังทรัพย์ กายและใจเพื่อต่อสู้คดีให้หลุดพ้นจากข้อหาหมิ่นประมาท

เมื่อผู้เปิดเผยความจริงต้องแบกรับความเครียดจากการที่ตนตกเป็นผู้ต้องหา เสียเงินเสียทอง เวลา สุขภาพจิตไปกับการถูกดำเนินคดีแล้ว ด้วยเหตุนี้ คนในสังคมจึงมีแนวโน้มของพฤติกรรมไปในทางที่จะละเว้นไม่พูดความจริงที่เป็นประโยชน์แก่สังคม เพราะจะทำให้ตนต้องเดือดร้อน กฎหมายหมิ่นประมาทไทยจึงมีลักษณะที่บีบบังคับให้คนในสังคมไทยเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสีย และให้ความสำคัญกับการปกป้องชื่อเสียงของบุคคลมากกว่ารับรู้ความจริง

และทั้งนี้ แม้จะมีเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรา 329 หรือเหตุยกเว้นโทษตามมาตรา 330 สำหรับการหมิ่นประมาทก็ตาม แต่เหตุยกเว้นความผิดและโทษตามกฎหมายนี้ก็ยังคงมีปัญหาในตัวเอง ดังจะได้กล่าวต่อไป


2. เหตุยกเว้นความผิดตามมาตรา 329 ผูกติดอยู่กับดุลพินิจของรัฐมากเกินไป

แม้มาตรา 329 โดยเฉพาะใน (1) และ (3) นั้นจะสามารถถูกนำมาใช้ในการยกเว้นความผิดได้ แต่ว่าอะไรคือการกล่าว “เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม” หรือ “ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ” นั้น ศาลผู้พิจารณาคดีจะเป็นผู้วินิจฉัยเอง นั่นหมายความว่า แม้ว่าพฤติกรรมชั่วร้ายของบุคคลคนที่ถูกกล่าวพาดพิงจะเป็นความจริงตามที่กล่าวอ้างก็ตาม แต่ถ้าศาลไม่เห็นว่าการกล่าวความจริงนั้นเป็นการป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งประชาชนย่อมกระทำแล้ว ผู้ที่ออกมาเปิดเผยความจริงอันดำมืดเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกพาดพิงนั้นก็จะต้องถูกลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งหมายความว่าโดยหลักแล้ว การกล่าวความจริงนั้นไม่ได้ทำให้ผู้กล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์ เว้นแต่รัฐจะเห็นว่าเข้าเหตุตามกฎหมายที่ยกเว้นความผิดให้นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ เหตุยกเว้นความผิดนี้จึงไม่ได้มีลักษณะที่ผูกติดอยู่กับ ‘ข้อเท็จจริง (fact)’ แต่เพียงอย่างเดียว แต่ผูกติดอยู่กับ ‘ข้อคิดเห็น (opinion)’ ของผู้วินิจฉัยคดีรวมอยู่ด้วย ด้วยเหตุนี้การนำมาตรา 329 มาปรับใช้เพื่อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นหมันและไม่ถูกหยิบยกนำมาใช้ หากบุคคลที่ถูกกล่าวพาดพิงเป็นบุคคลที่รัฐหรือสถาบันตุลาการให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะไม่ว่าสิ่งที่ถูกกล่าวอ้างจะเป็นความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสักเท่าใด แต่ถ้ารัฐประสงค์จะคุ้มครองเกียรติและชื่อเสียงของบุคคลผู้นี้ รัฐก็จะตีความไปว่าการกล่าวอ้างนี้ไม่ใช่การติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งประชาชนย่อมกระทำทุกครั้งไป และทำให้มาตรา 329 นี้ไม่ถูกหยิบยกมาใช้ในการยกเว้นความผิดให้แก่ประชาชนผู้พูดความจริง


3. การพิสูจน์ความจริงตามมาตรา 330 ไม่ได้ทำให้พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด

แม้การพิสูจน์ความจริงของสิ่งที่กล่าวอ้างพาดพิงบุคคลอื่นนั้นจะเป็นข้อต่อสู้ในทางกฎหมายตามมาตรา 330 ที่สามารถช่วยให้การหมิ่นประมาทได้รับการยกเว้นโทษก็ตาม แต่การยกเว้นโทษนั้น ต่างจากการยกเว้นความผิดดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นตามกรณีตัวอย่าง ซึ่งผู้กล่าวอ้างความจริงยังคงต้องถือว่าเป็นอาชญากรผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท และยังคงถูกบังคับด้วยมาตรการทางกฎหมายอาญาอื่นๆ ได้ เช่นวิธีการเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้เขาก็จะต้องถูกบันทึกความผิดนี้ลงในทะเบียนประวัติอาชญากรรมอีกด้วย ซึ่งแม้จะไม่ส่งผลต่ออิสรภาพให้ต้องรับโทษจำคุก หรือเสียเงินจากการจ่ายค่าปรับ แต่ก็อาจส่งผลต่อหน้าที่การงาน และการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ และสถานะทางสังคมของผู้ที่กล่าวอ้างความจริง

ยิ่งไปกว่านั้นการพิสูจน์ความจริงนี้ก็ยังคงมีเงื่อนไขผูกติดอยู่กับข้อคิดเห็นของรัฐหรือดุลพินิจของผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีอีกเช่นกันว่า การพิสูจน์ความจริงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ ซึ่งถ้าหากศาลเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์แล้ว ก็จะต้องห้ามไม่ให้พิสูจน์ความจริง

‘ยิ่งจริง ยิ่งไม่หมิ่นประมาท’ ในกฎหมายอาญาเยอรมัน

ประเทศเยอรมันนั้นได้มีการกำหนดให้การกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่พาดพิงผู้อื่นเป็นความผิดอาญาไว้ 2 ลักษณะในประมวลกฎหมายอาญา (Strafgesetzbuch: StGB) ตาม § 186 ความผิดฐานนินทาว่าร้าย (üble Nachrede/malicious gossip) และ § 187 ความผิดฐานหมิ่นประมาท (Verleumdung/defamation) โดยบัญญัติไว้ดังนี้

§ 186 บัญญัติว่า “ผู้ใดกล่าวอ้างหรือเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับบุคคลอื่นซึ่งน่าจะทำให้บุคคลนั้นถูกดูหมิ่น หรือเสื่อมเสียในความคิดเห็นสาธารณชน ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และ/หรือปรับ หากข้อเท็จจริงนั้นไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง และถ้าหากการกระทำเช่นว่านี้กระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณะในกลุ่มการชุมนุม หรือโดยการโฆษณาจะต้องถูกจำคุกไม่เกิน 2 ปี และ/หรือปรับ”[1]

§ 187 บัญญัติว่า “ผู้ใดที่กล่าวอ้างหรือเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่อันเป็นเท็จเกี่ยวกับบุคคลอื่นซึ่งน่าจะทำให้บุคคลนั้นถูกดูหมิ่น หรือเสื่อมเสียในความคิดเห็นสาธารณชน หรือสูญเสียความน่าเชื่อถือ ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและ/หรือปรับ และถ้าหากการกระทำเช่นว่านี้กระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณะในกลุ่มการชุมนุม หรือโดยการโฆษณาจะต้องถูกจำคุกไม่เกิน 5 ปี และ/หรือปรับ”[2]

ทั้งนี้ แม้กฎหมายอาญาเยอรมันไม่ได้มีเหตุยกเว้นความผิดหรือโทษสำหรับการหมิ่นประมาทแยกออกมาดังเช่นประมวลกฎหมายอาญาไทย มาตรา 329 และ 330 แต่อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทตามกฎหมายเยอรมันทั้ง 2 ลักษณะนี้มีจุดร่วมกัน คือการกำหนดให้ ‘ความเท็จ’ เป็นองค์ประกอบของความผิด เพราะฉะนั้น การกล่าวอ้างพาดพิงผู้อื่นจะเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายเยอรมันตาม § 186 หรือ § 187 ก็ต่อเมื่อเนื้อหาที่กล่าวอ้างนั้นเป็นความเท็จเท่านั้น หากได้ปรากฏตั้งแต่แรกในการดำเนินคดีแล้วว่าสิ่งที่กล่าวอ้างนั้นเป็นความจริง ผู้กล่าวอ้างก็ย่อมไม่มีความผิดมาตั้งแต่แรก[3] ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นหลัก ‘ยิ่งจริง ยิ่งไม่หมิ่นประมาท’ ซึ่งตรงกันข้ามกับภาษิตตามกฎหมายไทยคนละขั้วเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม สำหรับความผิดฐานนินทาว่าร้ายตาม § 186 นั้น กฎหมายได้กำหนดภาระหน้าที่การพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับการกล่าวอ้างไว้กับผู้ต้องหา กล่าวคือ ถ้าหากผู้ต้องหาพิสูจน์ไม่ได้ว่าสิ่งที่ตนกล่าวอ้างพาดพิงบุคคลอื่นเป็นความจริงแล้ว ก็จะต้องถือว่า ‘ข้อเท็จจริงนั้นไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง‘ และทำให้ผู้ต้องหามีความผิดตาม § 186 นั่นเอง[4] อันเป็นการยกเว้นหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์รูปแบบหนึ่ง[5] ซึ่งองค์ประกอบความผิดของ § 186 ในส่วนนี้ที่จะถูกพิจารณาว่าเป็น ‘ข้อเท็จจริงที่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง’ ได้หรือไม่นั้น ต้องดูจากสิ่งที่ปรากฏอยู่ตามความเป็นจริง ซึ่งมีความเป็นอิสระและไม่ขึ้นอยู่กับข้อคิดเห็นของทั้งปวงของบุคคลไม่ว่าจะเป็นตัวผู้กระทำเองหรือศาล ซึ่งในภาษากฎหมายเราเรียกว่าเป็น ‘เงื่อนไขการลงโทษทางภาวะวิสัย (objective Bedingung der Strafbarkeit)'[6]

จากบทบัญญัติฐานความผิด § 186 ข้างต้นนี้ เราจะเห็นได้ว่ากฎหมายอาญาเยอรมันนั้นการสะท้อนถึงแนวคิดที่ยังคงให้ความสำคัญในการความคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ตราบใดที่การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นนั้นเป็นความจริง การแสดงความเห็นนั้นก็ย่อมไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย แม้จะเป็นความจริงที่กระทบต่อเกียรติและชื่อเสียงของบุคคลใดก็ตาม การกำหนดกฎหมายลักษณะนี้ย่อมทำให้ประชาชนมีความกล้าที่จะช่วยกันตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในประเทศ กล้าที่จะแสดงออก วิพากษ์ วิจารณ์ ตามความเป็นจริง โดยไม่ต้องพะวงว่าตนจะต้องถูกดำเนินคดีอาญา ตราบใดที่ตนได้กล่าวทุกอย่างที่สามารถที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องจริง

ส่วนความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม § 187 นั้น เรียกง่ายๆ ได้ว่าเป็นการนินทาว่าร้ายแบบระดับอัปเกรดจากกรณีตาม § 186 หรือในภาษากฎหมายที่เรียกว่าเป็น ‘เหตุฉกรรจ์’ ของความผิดฐานนินทาว่าร้ายนั่นเอง[7] แต่ทั้งนี้ฐานความผิดตาม § 187 มีจุดตัดที่เป็นความแตกต่างจาก § 186 ตรงที่ว่า § 187 นั้นผู้กระทำนั้นต้องรู้อยู่ตั้งแต่แรกแล้วว่า ข้อเท็จจริงที่ตนกล่าวอ้างนั้นเป็นความเท็จ ส่วนกรณีตาม § 186 นั้นผู้กระทำอาจไม่รู้มาก่อนเลยก็ได้ว่าเรื่องที่ตนกล่าวอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่[8]

นอกจากนี้ภาระในการพิสูจน์ว่าตัวผู้กระทำนั้นรู้ถึงความเป็นเท็จอยู่ก่อนแล้วหรือไม่นั้น จะเป็นภาระหน้าที่ของฝ่ายรัฐเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ หรือศาลในการนำสืบพิสูจน์ว่าเขารู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่กล่าวอ้างนั้นไม่เป็นความจริง นั่นคือ ผู้ถูกกล่าวหา (ผู้ที่ไปกล่าวอ้างพาดพิงผู้อื่น) จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ และไม่มีภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนในข้อหาตาม § 187 แต่อย่างใด[9]

บทส่งท้าย

ประเด็นปัญหาเรื่องความผิดฐานหมิ่นประมาทของประเทศไทยนั้น แม้อาจจะไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาที่มีความสดใหม่มากเท่าใดนัก แต่ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยอย่างกว้างขวางมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เองเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุง หรือแม้กระทั่งยกเลิก ซึ่งแต่ละฝ่ายที่มีการเสนอก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลที่น่ารับฟังทั้งสิ้น

ทั้งนี้ แม้กรณีตัวอย่างจากกฎหมายเยอรมันนี้อาจจะยังไม่สามารถทำการด่วนสรุปได้ทันทีว่าควรนำมาใช้เป็นต้นแบบในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไทย แต่ผู้เขียนนั้นส่วนตัวก็เห็นว่าน่าจะสามารถถูกนำมาใช้เป็นตัวเลือกในการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายหมิ่นประมาทต่างประเทศอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบกฎหมายหมิ่นประมาทรูปแบบใหม่ของประเทศไทยที่ดีกว่าเดิมได้ กล่าวคือ ความผิดฐานหมิ่นประมาทรูปแบบที่สามารถห้ามปรามไม่ให้คนใส่ร้ายกัน พร้อมกับการที่ประชาชนคนไทยจะยังคงกล้าพูดความจริงเพื่อไม่ให้ความชั่วร้ายต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมนั้นหลบซ่อนอยู่ภายใต้เงาของกฎหมายอาญา และเปลี่ยนชุดความคิดเดิมที่ว่า ‘ยิ่งจริง ยิ่งหมิ่นประมาท’ เป็นชุดความคิดใหม่ที่ว่า ‘ยิ่งจริง (ต้อง) ยิ่งไม่หมิ่นประมาท’

References
1 § 186 StGB Üble Nachrede – Wer in Beziehung auf einen anderen eine Tatsache behauptet oder verbreitet, welche denselben verächtlich zu machen oder in der öffentlichen Meinung herabzuwürdigen geeignet ist, wird, wenn nicht diese Tatsache erweislich wahr ist, mit Freiheitsstrafe bis zu einem Jahr oder mit Geldstrafe und, wenn die Tat öffentlich, in einer Versammlung oder durch Verbreiten eines Inhalts (§ 11 Absatz 3) begangen ist, mit Freiheitsstrafe bis zu zwei Jahren oder mit Geldstrafe bestraft.
2 § 187 StGB  Verleumdung – Wer wider besseres Wissen in Beziehung auf einen anderen eine unwahre Tatsache behauptet oder verbreitet, welche denselben verächtlich zu machen oder in der öffentlichen Meinung herabzuwürdigen oder dessen Kredit zu gefährden geeignet ist, wird mit Freiheitsstrafe bis zu zwei Jahren oder mit Geldstrafe und, wenn die Tat öffentlich, in einer Versammlung oder durch Verbreiten eines Inhalts (§ 11 Absatz 3) begangen ist, mit Freiheitsstrafe bis zu fünf Jahren oder mit Geldstrafe bestraft.
3 Günther Arzt, Ulrich Weber, Bernd Heinrich, Eric Hiligendorf, Strafrecht Besonderer Teil, 3. Auflage, 2015, § 7, Rn. 20.
4 Ruldolf Rengier, Strafrecht Besonderer Teil II, 23. Auflage, 2022, § 29, Rn. 24.
5 Urs Kindhäuser, Strafrecht Besonderer Teil I, 8. Auflage, 2017, § 23, Rn. 18.
6 Ruldolf Rengier (เชิงอรรถที่ 4) § 29, Rn. 12.
7 Jörg Eisele, Strafrecht Besonderer Teil I, 6. Auflage, 2021, Rn. 623; Urs Kindhäuser (เชิงอรรถที่ 5) § 24, Rn. 6.
8 Dennis Bock, Strafrecht Besonderer Teil 1, 2018, P. 267.
9 Urs Kindhäuser (เชิงอรรถที่ 5) § 24, Rn. 2.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save