fbpx

ไม่ให้ประกัน คือโทษทัณฑ์ต่อผู้บริสุทธิ์

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในหมู่นักเรียนกฎหมายว่า โทษตามกฎหมายอาญาของไทยมีอยู่ด้วยกัน 5 ประเภท คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน ในทางทฤษฎี โทษแต่ละประเภทจะขึ้นอยู่กับว่าการกระทำที่ถูกกำหนดให้เป็นความผิดนั้นถือว่ามีความรุนแรงเพียงใด ในกรณีที่รุนแรงมากบทลงโทษก็จะมีลักษณะที่ไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม บุคคลจะถูกลงโทษก็ต่อเมื่อผ่านการพิจารณาจากศาลกระทั่งมีข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดจริง

แต่นั่นเป็นเพียงกฎหมายที่เป็นเพียงบทบัญญัติ (law in book) ขณะที่ในโลกแห่งความเป็นจริงในสังคมไทยแล้ว การไม่ให้ประกันตัว (หรือการไม่ยอมปล่อยชั่วคราว) ก็อาจมีลักษณะที่ใกล้เคียงซึ่งพอจะนับได้ว่าเป็นโทษทัณฑ์อีกประการหนึ่งได้หรือไม่

ในท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ได้มีการตั้งคำถามและปฏิบัติการของผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อชนชั้นนำไทย เช่น การทำโพลแสดงความเห็นต่อการเดินทางของชนชั้นสูง การใส่เสื้อดำเข้าไปในบริเวณที่มีพิธีกรรม เป็นต้น แต่ทั้งหมดก็ยังเป็นถ้อยคำหรือการกระทำที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย

การริเริ่มดำเนินคดีต่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์เหล่านี้ ในเบื้องต้นก็แสดงให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการตั้งข้อหากับการกระทำที่ห่างไกลจากบทบัญญัติทางกฎหมาย ซึ่งลำพังการตั้งข้อหาแบบเลื่อนลอยและครอบจักรวาลกับผู้คนโดยหน่วยงานรัฐก็ไม่อาจยุติคลื่นของปฏิบัติการที่ต้องการตั้งคำถามต่อชนชั้นสูง เมื่อบุคคลเหล่านี้ได้รับการประกันตัวก็จะยังคงสามารถกลับมามีชีวิตทางการเมืองได้ตามปกติ

หนทางเดียวที่จะยุติการแสดงความเห็นของบุคคลเหล่านี้ก็คือ การไม่ให้ประกันตัว แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเผชิญกับข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงความชอบด้วยกฎหมายและความชอบธรรมก็ตาม ดังจะพบได้ว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา องค์กรศาลคือหน่วยงานสำคัญที่ต้องถูกตั้งคำถามอย่างรุนแรง

แม้ว่าความรู้พื้นฐานที่พร่ำสอนกันในสถาบันการศึกษาทางกฎหมายจะยืนยันว่า เมื่อบุคคลกระทำความผิด การประกันตัวจะถือเป็นสิทธิที่ต้องได้รับอย่างเสมอภาค การควบคุมตัวไว้ระหว่างการดำเนินคดีเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากต้องยึดถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน ดังจะเห็นได้ว่าแม้กรณีที่นักการเมืองถูกกล่าวหาว่าข่มขืนและล่วงละเมิดหญิงสาวนับสิบคนหรือการปิดล้อมเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. ก็ล้วนแต่สามารถประกันตัวออกไปสู้คดีได้อย่างเต็มที่

แต่เมื่อกลับกลายเป็นคดีบางประเภทที่ถูกอธิบายว่ากระทบกระเทือนต่อเบื้องสูง หลักกฎหมายที่ถ่ายทอดกันมาก็ถูกโยนทิ้งไปอย่างไม่ไยดี การกล่าวอ้างเหตุผลเพื่อยืนยันถึงการไม่ให้ประกันตัวผู้ถูกกล่าวหาแทบทั้งหมดอยู่นอกตำราทางกฎหมาย หรือกล่าวให้ชัดเจนก็คือ เป้าหมายสำคัญของการดำเนินคดีในลักษณะนี้ก็เพื่อควบคุมตัวบุคคลเอาไว้ในเรือนจำ

การไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวและต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำโดยที่ยังมีสถานะเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาที่ยังไม่มีการตัดสินเกิดขึ้น ในด้านหนึ่งก็เท่ากับเป็นการตัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้บริสุทธิ์ไปทันที เสรีภาพในการที่จะมีชีวิตอยู่ตามปกติกับครอบครัว บุคคลอันเป็นที่รัก การทำงาน การเลือกอาหารการกิน การดูหนังฟังเพลง อ่านหนังสือ ใช้ชีวิตตามที่ตนเองปรารถนา เสรีภาพในการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ การศึกษา การเข้าถึงการรักษาพยาบาล ฯลฯ

ทั้งหมดล้วนต้องอันตรธานไปทันทีเมื่อย่างเท้าก้าวเข้าไปในเรือนจำ ไม่ต้องนึกถึงความยากลำบากของการใช้ชีวิตที่อยู่ข้างใน อันที่เป็นที่รับรู้กันว่ามาตรฐานของสวัสดิภาพและสวัสดิการอันจำเป็นต่อชีวิตขั้นพื้นฐานในคุกของไทยนั้นย่ำแย่มากเพียงใด ยิ่งในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดแพร่กระจาย การเข้าไปอยู่ในเรือนจำก็เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังปรากฏว่าหลายคนก็ต้องติดโรคระบาดในระหว่างการถูกควบคุมตัว

ดังนั้น การไม่ให้ประกันตัวจึงไม่ใช่เพียงการควบคุมตัวบุคคลผู้ถูกกล่าวหาไว้เพื่อความมุ่งหมายในการดำเนินคดีเท่านั้น แต่หากยังเป็นโทษทัณฑ์พร้อมกันไปในตัวมันเองด้วย ชีวิตของหลายคนต้องพังทลายจากการไม่ได้ประกันตัว ถูกให้ออกจากงาน ไม่มีเงินเลี้ยงดูคนรอบตัว ครอบครัวต้องปี้ป่นลง

สำหรับผู้คนโดยทั่วไปแล้ว จะเรียกการทำลายชีวิตที่กล่าวมาเป็นอื่นใดไปไม่ได้ มันคือการลงโทษประเภทหนึ่ง

อาจารย์ที่เคารพนับถือท่านหนึ่งเคยมีความเห็นว่า การไม่ให้ประกันตัวก็คือการบังคับให้สารภาพ (forced confession) แบบหนึ่ง ผู้คนที่ต้องเข้าไปเผชิญกับความยากลำบากในคุกจำนวนไม่น้อยระหว่างถูกดำเนินคดี ก็อาจตัดสินใจให้การรับสารภาพเพื่อแลกกับการได้รับโทษที่น้อยลงหรือเพื่อให้ได้รับคำตัดสินว่ารอลงอาญา เพราะได้รับสารภาพอันแสดงถึงการ ‘สำนึก’ ในการกระทำอันเป็นความผิดแล้ว แต่ความหมายสำคัญที่สุดก็คือการไปให้พ้นจากเรือนจำ

ผมมีความเห็นพ้องกับแนวความคิดนี้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงห้วงเวลาปัจจุบัน ผมมีความเห็นเพิ่มเติมไปว่าการไม่ให้ประกันตัวไม่ใช่เพียงการบังคับให้สารภาพเท่านั้น แต่มันยังกลายเป็นโทษทัณฑ์อีกแบบหนึ่ง เพราะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องเผชิญกับกับวิบากกรรมในชีวิตของตนอย่างรุนแรง ยิ่งคดีที่มีระยะเวลาในการพิจารณาที่ยาวนานก็ยิ่งส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้น

คำอธิบายนี้ครอบคลุมไปถึงการให้ประกันตัวที่เกิดขึ้นภายหลังการเรียกร้องให้ศาลทำตามกฎหมายในหลายกรณี และอาจนำมาสู่การปล่อยตัวในแบบที่มีเงื่อนไขครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำนวนมากได้รับการประกันตัวภายใต้เงื่อนไขที่ทำให้เปลี่ยนสภาพจากการติดคุกในเรือนจำมาสู่การติดคุกในบ้าน พร้อมด้วยข้อกำหนดที่มีคำถามว่าจะเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ เช่น ข้อกำหนดว่าต้องไม่กระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์ต่อชนชั้นสูง ทั้งที่การกระทำที่กล่าวมาก็ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่าเป็นความผิด

ในระบบกฎหมายของไทย โทษต่อผู้กระทำความผิดจึงไม่ได้มีอยู่เพียงเท่าที่กฎหมายอาญากำหนดไว้ การไม่ให้ประกันตัวสามารถนับได้ว่าเป็นการลงโทษชนิดหนึ่ง และที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ มันเป็นการลงโทษต่อผู้บริสุทธิ์ก่อนที่จะมีการตัดสินโดยกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้น โทษชนิดนี้นับเป็นความอยุติธรรมอย่างยิ่งต่อผู้บริสุทธิ์

คำถามก็คือ อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น กระบวนการยุติธรรมของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายตุลาการซึ่งได้รับการยกย่องเชิดหน้าชูตามาอย่างยาวนานว่าเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระ เป็นกลาง เต็มไปด้วยผู้มีวิชาความรู้ในทางกฎหมายอันเป็นเอกอุ แต่เพราะเหตุใดจึงกลับตาลปัตรไปได้มากถึงเพียงนั้น

หรือว่าเอาเข้าจริงแล้ว ความเข้าใจที่มีต่ออำนาจตุลาการล้วนเป็นเพียงความสำเร็จจากการประกอบสร้างความหมายและความทรงจำให้กับสาธารณชน สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบันต่างหากที่เป็นเนื้อแท้และจิตวิญญาณขององค์กรเหล่านี้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save