มีคำกล่าวว่า “สังคมไทยยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากแล้ว” อันเนื่องมาจากคนไทยจำนวนมากเริ่มปรับมุมมองว่า ‘ความหลากหลายทางเพศ’ เป็นเรื่องปกติ และสามารถเปิดเผยได้มากขึ้นกว่าในอดีต อีกทั้งยังมีความพยายามในการผลักดันร่างกฎหมายอย่างสมรสเท่าเทียม การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ รวมไปถึงการรณรงค์ทางสิทธิที่กว้างขวาง และการให้ความรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่าง และหากย้อนไปในเดือนมิถุนายน หรือ Pride Month ที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นการจัดขบวนพาเหรดเพื่อเฉลิมฉลองและเรียกร้องสิทธิในความหลากหลายทางเพศอย่างยิ่งใหญ่
ถึงกระนั้น กลับมีพื้นที่หนึ่งที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศยังไม่สามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ นั่นคือระบบราชการ ที่ยังมีกรอบของกฎระเบียบและวินัยอันเต็มไปด้วยการกีดกันและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยหนึ่งในกฎที่เป็นที่ถกเถียงอย่างมากคือการบังคับแต่งเครื่องแบบตามเพศกำเนิด แม้ว่าข้าราชการผู้สวมเครื่องแบบนั้นอาจมีอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดก็ตาม
ในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย การที่ราชการยังคงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้จึงไม่ตอบโจทย์ และอาจเรียกได้ว่าเป็นการขัดขวางสิทธิมนุษยชนที่คนคนหนึ่งพึงมี TIJ Common Ground ภายใต้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ หัวข้อ ‘การแสดงออกตามเพศวิถีในบริบทของการรับราชการ’ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์การแสดงออกตามเพศวิถีในสังคมปัจจุบัน และหาทางออกเพื่อเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ข้าราชการผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ทำความเข้าใจความหลากหลายของ ‘อัตลักษณ์’ ทางเพศ
นันท์ชัตสัณฑ์ สกุลพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวกและสุขภาพจิตในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้อธิบายถึงมิติทางเพศเพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่มเติม ดังนี้
- เพศกำเนิด (sex assigned at birth) หมายถึง เพศที่ได้รับตั้งแต่กำเนิดโดยดูจากอวัยวะเพศ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 เพศ คือ ชาย หญิง และ intersex โดยกลุ่มหลังสุดหมายถึงคนที่มีอวัยวะเพศกำกวม ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นชายหรือหญิง
- รสนิยมทางเพศ (sexual orientation) หมายถึง ความรู้สึกรักใคร่ชอบพอในเพศตรงข้าม เพศเดียวกัน รักได้สองเพศ รักได้ทุกเพศ หรืออื่นๆ
- อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) หมายถึง เพศที่เรารับรู้และนิยามตนเอง โดยอาจมีได้ทั้งชาย หญิง นอนไบนารี (ไม่ใช่ทั้งชายและหญิง) หรืออื่นๆ
นันท์ชัตสัณฑ์ชี้ว่า เพศกำเนิด รสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกัน เช่น ผู้ที่เป็นหญิงข้ามเพศ (transwoman) ถือว่ามีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นหญิง แม้มีเพศกำเนิดเป็นชาย แต่ก็สามารถมีรสนิยมทางเพศในการรักใคร่ชอบพอกับเพศเดียวกันหรือกับผู้หญิงได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่อาจไม่ตรงกับค่านิยมของสังคม อันนำมาสู่ความเกลียดชัง และเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศดังที่เกิดขึ้นในระบบราชการ ซึ่งมีกฎระเบียบที่ยังไม่เปิดกว้างและโอบรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎระเบียบเรื่องการแต่งกาย ที่มักระบุให้แต่งกายตามเพศกำเนิด แม้จะมีเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดเลยก็ตาม
กฎหมายและระบบราชการ ที่ยังเลือกปฏิบัติทางเพศ
นาดา ไชยจิตต์ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน และที่ปรึกษากรรมการบริหารอาวุโสด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ยกตัวอย่างมาตรา 27 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ระบุถึงความเสมอภาคกันของบุคคล และต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งได้มีการเพิ่มข้อความจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าว่า “บุคคลผู้เป็นทหาร ตํารวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กร ของรัฐย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จํากัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่ เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม”
นาดาชี้ว่าข้อความนี่สะท้อนถึงการจำกัดสิทธิบางประการที่ข้าราชการพึงมี โดยหากข้าราชการมีความ ‘กระด้างกระเดื่อง’ ไม่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา รวมถึงการแต่งกายตามเพศสภาพ จะเท่ากับการขาดวินัยและมีผลต่อการเลื่อนขั้นและขึ้นเงินเดือน อย่างไรก็ดี ยังมีกฎหมายอีกฉบับที่อาจช่วยผลักดันสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ คือ พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เช่น การแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่นาดามองว่าสิ่งนี้คือความ ‘ลักลั่น’ ของระบบราชการไทย เพราะในทางปฏิบัตินั้น พระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ถูกบังคับใช้เป็นการทั่วไป และต้องให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนแสดงเจตนารมณ์ หรือมีการทำ MOU เพื่อนำพระราชบัญญัตินี้ไปบังคับใช้ ส่งผลให้ในปัจจุบันยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่ในองค์กรทางราชการที่อาจไม่ได้ยอมรับและนำพระราชบัญญัติดังกล่าวไปปรับใช้
นาดายกตัวอย่างกรณี ‘ครูกอล์ฟ’ ครูหญิงข้ามเพศ ที่เผชิญปัญหาเมื่อบัตรข้าราชการหมดอายุ แต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่สังกัดอยู่กลับไม่ดำเนินการต่ออายุให้ ด้วยเหตุผลว่าครูกอล์ฟไม่แต่งกายตามเพศกำเนิด ครูกอล์ฟจึงยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ คุรุสภา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักนายกรัฐมนตรี ในสามสถาบันแรก ครูกอล์ฟชนะตามคำวินิจฉัย และได้รับคำรับรองจากคุรุสภา แต่สำนักนายกรัฐมนตรีกลับฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนคำร้อง ด้วยไม่ต้องการให้มีการแก้ไขกฎระเบียบให้สามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ โดยในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปและต้องจับตามองต่อไป
“เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า การที่คนคนหนึ่งจะต้องการแสดงออกให้ตรงตามเพศวิถีและความรู้สึกของตัวเอง ทำไมถึงจะต้องมาเจอเรื่องราวมากมายขนาดนี้” นาดากล่าว
การถูกเลือกปฏิบัติเช่นนี้ได้นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสุขภาพจิต โดยนันท์ชัตสัณฑ์ยกตัวอย่างงานวิจัยที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ ซึ่งมีการสำรวจวัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศจาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวนกว่า 5,000 คน พบว่า วัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนกว่า 50-60% จากทั้งหมดที่เผชิญปัญหาโรคซึมเศร้า โดยส่วนหนึ่งมีความพยายามฆ่าตัวตายอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
ในงานวิจัยยังมีการพูดคุยกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีความสุขในการทำงาน โดยพบว่าความสุขนั้นมีเหตุสำคัญจากนโยบายที่เปิดรับ และเอื้อให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ในบรรยากาศที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ
สร้างสถานที่ทำงานอย่างไรให้มีความเป็นธรรมทางเพศ
นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า “กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเรา ขอประกาศตนว่าเป็น LGBTQ+-Friendly Organization”
นรีลักษณ์แบ่งปันถึงตัวอย่างการสร้างบรรยากาศที่ทำงาน ‘กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ’ ให้เป็นมิตรต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งการให้บุคลากรแต่งกายและแสดงออกตามเพศสภาพได้อย่างเต็มที่ทั้งชุดข้าราชการและชุดในวันทำงานทั่วไป มีการขับเคลื่อนเชิงกฎหมายเป็นแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยบรรจุให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครอง รวมถึงการใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยผลักดันให้ภาคธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชน แรงงานผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมตั้งแต่การจ้างงานจนถึงเลิกจ้าง
ขณะที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศโดยมุ่งเน้นใน 6 ประเด็น คือ
1. สามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้
2. เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ
3. ใช้คำพูด หรือข้อความในเอกสารให้เหมาะสม ไม่ให้มีการเหยียดหยามเรื่องเพศ
4. จ้างงานอย่างเป็นธรรม
5. ขจัดความรุนแรงในที่ทำงาน
6. เลื่อนตำแหน่งอย่างเป็นธรรม
นโยบายดังกล่าว ได้ถูกส่งต่อให้กับทุกองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และอื่นๆ เพื่อขอความร่วมมือในการประกาศใช้และปฏิบัติตาม
นรีลักษณ์ระบุเพิ่มเติมว่า กฎหมายที่เป็นที่จับตามองอย่าง ‘สมรสเท่าเทียม’ ในปัจจุบันนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของกรมคุ้มครองสิทธิฯ เช่นกัน โดยหลังตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยจะเร่งผลักดันให้เสนอกฎหมายดังกล่าวต่อไป รวมถึง ‘พระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติ’ ที่จะมีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน นอกจากนั้นยังมี ‘ร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ’ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ครอบคลุมถึงสิทธิที่ตกหล่นไปในปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ตรงกับเพศสภาพ
นอกเหนือจากนโยบายต่างๆ ยังมีรายละเอียดเล็กๆ อีกมากมายที่นรีลักษณ์กล่าวว่ามีการนำมาใช้ในกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องเพศหลากหลาย การเรียก ‘คุณ’ แทนการระบุว่าเป็นนายหรือนางสาว หรือการเปลี่ยนห้องน้ำให้เป็นห้องน้ำสำหรับทุกเพศ (all-gender restroom) โดยเจ้าหน้าที่จะต้องคำนึงถึงการโอบรับความแตกต่างทางเพศสภาพขณะปฏิบัติงานเสมอ ทั้งต่อบุคลากรด้วยกันและต่อประชาชนที่มาเข้ารับบริการ
“ปัจจุบัน มีเรื่องที่น่าดีใจของวงการราชการ อย่างในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ากรมของเราก็มีการตระหนักรู้ในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น อย่างในเดือนไพรด์ที่ผ่านมาก็ได้มีการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ” นรีลักษณ์กล่าว โดยตนมีความคาดหวังว่าจะยิ่งมีความตระหนักรู้ และการจัดทำโครงการที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศได้มากขึ้นอีกในโอกาสต่อๆ ไป
สุภาณี พงษ์เรืองพันธุ์ ผู้จัดการโครงการด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศและการมีส่วนร่วมทางสังคม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย เสริมถึงสิ่งที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติพยายามผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศเช่นกัน โดยมีลักษณะนโยบายที่คล้ายคลึงกันกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ดังที่นรีลักษณ์ได้กล่าวไป
สุภาณีเล่าถึงโครงการที่น่าสนใจที่จัดร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) อย่างการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรื่องการดูแลผู้ต้องขังข้ามเพศ ตั้งแต่การให้ผู้ต้องขังระบุตนเอง (self-identify) ว่าเป็นคนข้ามเพศหรือไม่ และจัดสรรห้องขังตามเพศสภาพ เพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ต้องขังข้ามเพศที่อาจมีกิจวัตรต่างจากคนอื่นๆ รวมถึงการออกนโยบายว่าผู้ต้องขังข้ามเพศจะต้องสามารถใช้ยาฮอร์โมนต่อไปได้
“เขามองว่าการเข้าถึงฮอร์โมนเป็นเรื่องของความสวยงาม แต่จริงๆ แล้วฮอร์โมนคือเรื่องของสุขภาพ และนอกจากนั้นยังมีนโยบายยังครอบคลุมถึงการฝึกอาชีพที่จะลดการทำตามภาพจำทางเพศ ว่าเพศชายต้องทำงานช่าง หรือเพศหญิงต้องทำงานฝีมือ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้เลือกฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง” สุภาณีกล่าว
“ทนรับ แต่ไม่ได้ยอมรับ” ทัศนคติต่อเพศหลากหลายที่ขัดขวางสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ดี จากรายงานของ UNDP เรื่อง ‘Tolerance but not inclusion’ ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,210 คน ทั้งผู้ที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ และบุคคลทั่วไป พบว่า 88% ของผู้ตอบแบบสำรวจยอมรับได้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่ใช่คนในครอบครัว แต่ตัวเลขกลับลดลงเหลือเพียง 75% เท่านั้นที่จะยอมรับได้หากผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นสมาชิกในครอบครัว สุภาณีจึงสรุปนิยามว่าคนไทยเพียง ‘ทนรับ’ ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ แต่ไม่ได้ ‘ยอมรับ’ ในอัตลักษณ์ของพวกเขาอย่างแท้จริง
นันท์ชัตสัณฑ์กล่าวว่า “คนทั่วไปมักจะชอบใช้คำเรียกว่าชายจริงหญิงแท้ แต่เราไม่ชอบคำนี้ เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่ถูกสร้างจากสังคมว่าชายต้องมีลักษณะอย่างไร หญิงต้องมีพฤติกรรมอย่างไร”
นันท์ชัตสัณฑ์ย้ำว่านี่ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างภาพจำและอคติ จึงควรใช้คำว่า Cisgender ซึ่งหมายถึงคนที่มีการแสดงออก หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศ โดยอาจมีรสนิยมทางเพศที่ไม่ตรงกับค่านิยมของสังคม เช่น เพศกำเนิดเป็นชาย และนิยามตนเองเป็นเพศชายตรงตามเพศกำเนิด แต่ชอบเพศเดียวกัน ก็ยังสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้แทบจะปกติ เนื่องจากยังมีพฤติกรรมต่างๆ ที่ตรงกับสิ่งที่สังคมยอมรับได้ อย่างกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการแต่งกายซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก
ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ไม่ใช่ Cisgender ถือเป็นกลุ่มที่เป็นชายขอบมากที่สุด ซึ่งเรียกว่ากลุ่ม TGNC หรือ Transgender และ Gender Noncomforming โดยคนกลุ่มนี้อาจมีการแสดงออกที่ไม่ตรงกับค่านิยมสังคม อย่างการมีเพศกำเนิดเป็นหญิงแต่แต่งตัวเป็นชาย คนในสังคมอาจไม่เข้าใจและยอมรับได้ยากกว่า จนนำมาสู่การเลือกปฏิบัติ หรืออย่างร้ายคือการมองข้ามปัญหาที่กลุ่ม TGNC ต้องเผชิญไปเลย เพราะไม่เข้าใจว่าพวกเขาต้องพบปัญหาอะไรบ้าง
ต่อจากนี้จึงต้องจับตาต่อไปว่าสิทธิทางเพศในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายขององค์กรต่างๆ จะปรับปรุงเพื่อรองรับผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างไร โดยนาดาฝากว่า “หากหัวไม่แก้ หางก็ไม่กระดิก” ซึ่งหมายถึงองค์กรที่มีอำนาจต้องยอมรับและแก้ไขก่อน เพื่อให้ภาคส่วนที่เล็กกว่าได้แก้ไขนโยบายตามเพื่อตอบโจทย์ความเท่าเทียมทางเพศต่อไป
ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world