fbpx

คืนอำนาจตุลาการแก่ปวงชนชาวไทย

‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’ คือประเด็นสำคัญแห่งยุคสมัย นับตั้งแต่ความพยายามเดินไปสู่ระบอบอำนาจนิยมในคราวรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549 และอีกครั้งใน พ.ศ. 2557 กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาลได้ถูกมองว่าไม่อาจปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการคุกคามของอำนาจรัฐได้อย่างมีความหมาย การวิพากษ์วิจารณ์และปฏิบัติการจำนวนมากพุ่งเข้าไปสู่ศาล กระทั่งกลายเป็นข้อสรุปว่าจำเป็นต้องมี ‘การปฏิรูป’ เกิดขึ้น

แต่จะปรับเปลี่ยนอย่างไร ในประเด็นใดบ้าง เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องมีการขบคิดและถกเถียงไม่ใช่น้อย ในมุมมองของผู้เขียนมีประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องใส่ใจและไม่อาจมองข้ามไปได้ หากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ที่ไม่ใช่เพียงแค่การแต่งหน้าทาแป้งในระดับพื้นผิวเท่านั้น

ประเด็นสำคัญต่อการปฏิรูปศาลที่ผู้เขียนอยากลองเสนอมีดังต่อไปนี้

หนึ่ง อำนาจตุลาการต้องสัมพันธ์กับประชาชน

อำนาจตุลาการในสังคมไทยหลุดลอยจากประชาชนอย่างสิ้นเชิง ปรากฏการณ์ที่สะท้อนความจริงข้อนี้ก็คือ การดำรงตำแหน่งของประธานศาลฎีกาไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสถาบันที่เป็นตัวแทนของประชาชน

องค์กรที่มีหน้าที่ชี้ขาดว่าบุคคลใดจะขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของศาลยุติธรรมคือ คณะกรรมการตุลาการ (กต.) องค์ประกอบของ กต. ก็จะประกอบไปด้วยตัวแทนจากผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา จำนวน 12 คน ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 2 คน รวมกับประธานศาลฎีกาที่เป็นประธานโดยตำแหน่ง แม้จะมีผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าบทบาทหลักจะขึ้นอยู่กับเหล่าผู้พิพากษาเป็นสำคัญ ในการแต่งตั้งบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาก็เพียงได้รับความเห็นชอบจากองค์กรนี้เท่านั้น บุคคลดังกล่าวก็จะสามารถกลายเป็นประมุขของฝ่ายตุลาการได้

แม้จะได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทยมาอย่างต่อเนื่องว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย แต่เมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงก็ประจักษ์ชัดว่าอำนาจตุลาการที่เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยกลับไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจเลย

เพราะเป็นอำนาจที่หลุดลอยไปจากประชาชน จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจแต่อย่างใดว่าแม้มีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ การตั้งคำถาม หรือปฏิบัติการเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในสังคมไทย แต่กลับไม่มีการตอบสนองที่แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกหรือความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ที่กำลังถาโถมเข้าใส่อยู่ในขณะนี้

เงื่อนไขพื้นฐานสำคัญต่อการปฏิรูปอำนาจตุลาการก็คือ ต้องทำให้อำนาจนี้ไม่ลอยออกไปจากสังคม แต่เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยซึ่งประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิอย่างเต็มเปี่ยม จะทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกับประชาชน ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือผ่านสถาบันการเมืองที่มาจากการคัดเลือกของประชาชนก็สามารถเป็นไปได้ทั้งสองทาง

สอง อำนาจตุลาการต้องสามารถถูกตรวจสอบและมีความรับผิด

คาถาในการปกป้องอาณาเขตของฝ่ายตุลาการอันหนึ่งก็คือ การอ้างอิงถึง ‘หลักความเป็นอิสระ’ หลักการข้อนี้มีความหมายอย่างไม่อาจจะปฏิเสธ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาย่อมมีผลโดยตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่จะไม่ต้องหวั่นเกรงต่อการถูกกลั่นแกล้งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจ

อย่างไรก็ตาม หลักความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการในสังคมไทยกลับมีความหมายแคบๆ เพียงว่าอำนาจจากฝ่ายการเมืองต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา รวมไปถึงปล่อยให้การทำหน้าที่ตัดสินคดีเป็นไปโดยไม่ถูกตรวจสอบจากสาธารณะ การทำหน้าที่ไม่ว่าจะในระหว่างการพิจารณา การตัดสินชี้ขาด หรือการวางตนของผู้พิพากษากลับกลายเป็นสิ่งที่ปราศจากกลไกในการตรวจสอบอย่างเป็นขั้นตอนหรือเป็นระบบ ซึ่งจะแสดงให้เห็นเมื่อประชาชนเกิดความคับข้องใจแล้วจะมีกระบวนการมารองรับและตอบคำถามต่อข้อสงสัยที่เกิดขึ้นอย่างไร

กรณีผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ที่จบชีวิตลงพร้อมกับการเปิดโปงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้มีการศึกษาและชี้แจงต่อสาธารณะอย่างชัดเจน คำถามที่อยู่ในจดหมายของผู้พิพากษาดังกล่าวก็ยังคงดำรงอยู่ต่อมา

เมื่อปราศจากการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพก็ย่อมทำให้ความรับผิดเป็นสิ่งที่ยากจะคาดหมายได้เช่นกัน ข้อโต้แย้งที่มีต่อการให้ประกันตัวกับบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาทางความคิด ซึ่งแตกต่างไปจากการประกันตัวในคดีประเภทอื่นที่สามารถเข้าถึงสิทธิการประกันตัวได้ไม่ยากลำบาก แต่ผู้ต้องหาทางความคิดกลับเผชิญความยุ่งยากอย่างมาก หลายคนต้องอยู่ในเรือนจำอย่างยาวนานแม้ว่าจะมีสถานะเป็นเพียง ‘ผู้ถูกกล่าวหา’ เท่านั้น

เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งในด้านของการคุ้มครองหรือในด้านของการบั่นทอน การตรวจสอบและความรับผิดจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำรงอยู่ควบคู่กันไป การกำหนดความผิดฐาน ‘บิดเบือนกฎหมาย’ ก็อาจเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่จำเป็นต้องมีการขบคิดและผลักดันต่อไป โดยไม่ปล่อยให้อำนาจตุลาการลอยอยู่เหนือประชาชน และหลุดพ้นจากความรับผิดใดๆ

สาม เสรีภาพในการวิจารณ์ฝ่ายตุลาการ

อำนาจในการตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่การใช้อำนาจดังกล่าวก็เกิดขึ้นโดยมนุษย์ปุถุชนธรรมดาๆ ที่ต่างมีจุดยืน ความเชื่อ ความเข้าใจ หรือมุมมองที่สามารถแตกต่างออกไปได้ ผู้พิพากษามิใช่เทวดาที่ลอยอยู่เหนือพ้นจากอคติต่างๆ และในการตัดสินใจก็อาจนำเอาความเชื่อส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้องได้ในหลากหลายแง่มุม

ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงประเด็นข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ผู้ที่สนใจในคดีข้อพิพาทด้านแรงงานจะพบว่าโอกาสที่นายจ้างจะต้องโทษจำคุกในคดีละเมิดต่อกฎหมายแรงงานนั้นมีไม่มากนัก ปรากฏการณ์นี้เข้าใจได้ไม่ยากนักถ้านายจ้างหรือผู้จัดการบริษัทธุรกิจเอกชนต้องติดคุก คงส่งผลกระเทือนไม่น้อยต่อท่าทีของบรรดานักลงทุนอย่างแน่นอน

สิ่งหนึ่งที่อาจช่วยกำกับการทำหน้าที่ของบรรดาผู้ใช้อำนาจตุลาการได้ก็คือ เสียงจากประชาชนภายในสังคมนั้นๆ การแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อฝ่ายตุลาการจะเป็นภาพสะท้อนและการควบคุมมิให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และเป็นหน้าที่ของตุลาการที่ต้องมีคำตอบซึ่งวางอยู่บนหลักการหรือบทบัญญัติทางกฎหมาย

ทำไมผู้ถูกกล่าวหาจึงต้องเผชิญกับความยากลำบากในการขอประกันตัว ขณะที่ผู้ที่ถูกกล่าวในข้อหาอื่นๆ ที่มีความรุนแรงอย่างประจักษ์ชัด ไม่ว่าจะการฆ่าคนตาย การข่มขืนต่อเนื่อง การบุกยึดทำเนียบรัฐบาล การยึดสนามบินที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล การทุจริตคอร์รัปชัน ฯลฯ ก็สามารถเข้าถึงสิทธิการประกันตัวได้

ทั้งหมดนี้ต้องการคำตอบที่แสดงให้เห็นถึงบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ชัดเจน มากกว่าเพียงการตอบว่า “ไม่มีเหตุผลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง”

แม้รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่ในสังคมไทยก็มีกฎหมายที่ว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาล (contempt of court) ซึ่งได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญของการจำกัดเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อฝ่ายตุลาการ

อันที่จริง ในหลายประเทศก็มีกฎหมายว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลอยู่ แต่ว่ากฎหมายเหล่านี้จะมุ่งไปที่การกระทำอันเป็นการขัดขวางต่อกระบวนวิธีพิจารณาความ อันหมายถึงการกระทำใดๆ ก็ตามที่ทำให้การดำเนินคดีในชั้นศาลไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมหรือมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับสังคมไทย การละเมิดอำนาจศาลถูกตีความให้มีความหมายขยายครอบคลุมออกมากว้างขวาง แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีเลยก็ตาม เช่น การร้องเรียนผู้พิพากษาว่าวางตัวไม่เป็นกลาง, การรับสินบนในพื้นที่ศาล (แม้อยู่นอกห้องพิจารณา), การโปรยกระดาษแสดงความเห็น เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือ ความผิดในฐานละเมิดอำนาจศาลนี้เป็นสิ่งที่ศาลสามารถตัดสินลงโทษได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมีการฟ้องร้องกล่าวหา รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถมีทนายมาต่อสู้ข้อกล่าวหาดังกล่าวได้แต่อย่างใด จึงจำเป็นต้องมีการยกเลิกความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในส่วนที่มิได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาโดยตรง เพื่อไม่ให้มีการใช้ความผิดฐานดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการปิดปากของประชาชน

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาลไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นองค์กรที่อยู่ไกลจากมือของประชาชนมายาวนาน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจึงไม่ควรทำ ฝ่ายตุลาการที่ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระ ตรวจสอบได้และมีความรับผิดเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้ระบอบอำนาจนิยมไม่ถูกย่ำยีไปตามอำเภอใจของผู้ปกครอง

เมื่อได้มีการจุดประกายแห่งการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้นแล้ว แรงและพลังจากสังคมจะเป็นส่วนสำคัญต่อการผลักดันให้กระบวนการนี้สามารถเดินต่อไป ต้องทำให้อำนาจตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของที่แท้จริง

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save