fbpx
เหตุการณ์ที่ดุซงญอ เดือนเมษายน ปี 2491: กบฏดุซงญอ สงครามดุซงญอ หรือ ดุซงญอลุกขึ้นสู้?

เหตุการณ์ที่ดุซงญอ เดือนเมษายน ปี 2491: กบฏดุซงญอ สงครามดุซงญอ หรือ ดุซงญอลุกขึ้นสู้?

เดือนเมษายนสำหรับคนไทยทั่วๆ ไปอาจจะมีความสำคัญที่นอกจากจะเป็นเดือนที่ร้อนมาก ก็คงจะเป็นเดือนที่เป็นเดือนแห่งเทศกาลสงกรานต์ เดือนขึ้นปีใหม่ไทย เป็นเดือนที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาเพื่อเฉลิมฉลองวันครอบครัวที่ถูกสถาปนาขึ้นตั้งแต่ปี 2532 แต่สำหรับชาวมลายูปาตานีจำนวนหนึ่ง เดือนเมษายนเป็นเดือนแห่ง ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ เป็นเดือนที่มีความทรงจำอันเลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ดุซงญอปี 2491 หรือเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะปี 2547 บทความนี้จะกล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่ดุซงญอ ซึ่งครบรอบ 73 ปีในเดือนเมษายนนี้


เกิดอะไรขึ้นที่ดุซงญอเมื่อเดือนเมษายน 2491? และ เรื่องเล่าอันหลากห(ล)าย[1]


ดุซงญอ (Dusun Nyor)[2] เป็นชื่อหมู่บ้านหนึ่งในเขตตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 เกิดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านที่ดุซงญอ ทำให้ทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งจวบจนปัจจุบัน รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ดุซงญอยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดในหลายๆ ประการ ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

อิมรอน มะลูลีม นักวิชาการมุสลิมเห็นว่า เหตุการณ์ที่ดุซงญอเป็นการปะทะกันระหว่างตำรวจกับชาวบ้านมุสลิมที่มีความรุนแรงที่สุด[3]

วรมัย กบิลสิงห์ นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านบันทึกการเดินทางไปยังที่เกิดเหตุในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันหลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ข้อมูลจากวรมัยเป็นข้อมูลที่ถูกนำไปอ้างถึงอย่างแพร่หลายเมื่อพูดถึงเหตุการณ์ที่ดุซงญอ โดยวรมัยบันทึกดังนี้[4]

  • วันที่ 24 เมษายน 2491 นายอำเภอให้ปลัดมนูญไปหมู่บ้านดุซงญอเพื่อสืบสวนเรื่องหะยีสะแมอิงฟันนายเจ๊ะมะมี หรือนายบุนกี (จีนเข้ารับอิสลาม)
  • วันที่ 25 เมษายน 2491 ปลัดมนูญและตำรวจได้เข้าไปตรวจเหตุการณ์ดังกล่าวในหมู่บ้านดุซงญอ และได้พบกับชาวบ้านมลายูมุสลิมราว 30 คนถือดาบวิ่งไล่ฟัน
  • วันที่ 26 เมษายน 2491 เกิดการปะทะกันด้วยอาวุธอย่างรุนแรงระหว่างตำรวจกับชาวมลายูมุสลิม จำนวนประมาณ 300 คน มีตำรวจเสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บ 1 นาย ตอนค่ำมีกำลังตำรวจจากจังหวัดใกล้เคียงมาเสริมกำลัง การปะทะดำเนินไปจนถึงวันที่ 27 เมษายน เหตุการณ์สงบลงในวันที่ 30 เมษายน เมื่อเจ้าหน้าที่ยึดหมู่บ้านดุซงญอไว้ได้ สรุปตำรวจเสียชีวิตทั้งหมด 5 นาย บาดเจ็บ 1 นาย ชาวบ้านมลายูมุสลิมเสียชีวิตประมาณ 30 กว่าคน ไม่ทราบจำนวนผู้บาดเจ็บ

ข้อมูลส่วนมากที่วรมัยได้มาจากคำบอกเล่าของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรง[5]

เหตุการณ์ที่ดุซงญอถูกเรียกและถูกจดจำในหลายชื่อ ขึ้นอยู่กับมุมมองและตำแหน่งแห่งที่ของผู้มอง คำว่า ‘ปือแร ดุซงญอ’ มาจากคำว่า Perang Dusun Nyor ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า ‘สงครามดุซงญอ’ หรือที่ในหลายๆ ที่ใช้ว่า ‘ดุซงญอลุกขึ้นสู้’ ซึ่งที่จริงแล้วคำว่า ‘สงคราม’ กับ ‘ลุกขึ้นสู้’ (kebangkitan) มีความหมายต่างกันอยู่มากพอสมควร ในขณะที่มุมมองที่ตรงข้ามเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘กบฏดุซงญอ’

มุมมองของรัฐไทยที่มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการแข็งข้อ เป็นการก่อความวุ่นวาย เป็นการก่อกบฏโดยชาวบ้าน อธิบายว่าเหตุการณ์ที่ดุซงญอเกิดจากชาวบ้านมลายูมุสลิมก่อความรุนแรงขึ้น โดย ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ ได้เล่าในหนังสือเรื่อง ไทยมุสลิม ซึ่งเป็นงานเขียนที่มีมุมมองไปในทางเดียวกับมุมมองของทางการว่า

“นับแต่ได้มีการจับกุมนายหะยีสุหลงกับพรรคพวกเมื่อเดือนมกราคม 2490[6] ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะจับกลุ่มมั่วสุมกัน ส่อไปในทางก่อการร้ายขึ้น ทางการได้พยายามติดตามสอดส่องความเคลื่อนไหวตลอดมา บรรดาผู้ที่หวาดระแวงซึ่งเกรงว่าจะถูกจับก็หลบหนีออกนอกประเทศไป คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีก็ยุบเลิกไป ขณะเดียวกันพรรคการเมืองของมลายูบางพรรคตลอดจนหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ลงข่าวยุยงปลุกปั่นสนับสนุนเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลเพื่อที่จะแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปรวมกับมลายูให้ได้

ต่อมาในเดือนมกราคม 2491 สถานการณ์ทางจังหวัดชายแดนใต้ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ทางรัฐบาลจึงได้ส่งกำลังตำรวจไปรักษาความสงบเพิ่มเติมไว้ที่จังหวัดนราธิวาส ในปีเดียวกันนั้นเอง คือเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2491 ได้เกิดกบฏขึ้นที่หมู่บ้านดุซงญอ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายหะยี ติงงาแม หรือมะติงงา ตั้งตนเป็นหัวหน้านำสมัครพรรคพวกเข้าปะทะยิงต่อสู้กับฝ่ายตำรวจ การปะทะได้ดำเนินไปเป็นเวลานานถึง 36 ชั่วโมง เหตุการณ์จึงได้สงบลง หลังจากนั้นได้ทำการจับกุมนายขหะมะ กำนันตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ และนายมุสตาฟาในข้อหากบถ และถูกส่งไปคุมขังไว้ที่จังหวัดนราธิวาสได้ประมาณปีเศษ ก็หลบหนีจากที่คุมขังไปร่วมกับโจรจีนคอมมิวนิสต์จนถึงปัจจุบัน”[7]

ในทางกันตรงข้าม อิบรอฮิม ชุกรี นักวิชาการชาตินิยมลายูปาตานี ได้อธิบายถึงเหตุการณ์ที่ดุงซงญอจากมุมมองของชาวมลายูมุสลิมปาตานีว่า

“วันที่ 28 เมษายน 1948 (พ.ศ. 2491) ได้เกิดการต่อสู้ครั้งร้ายแรงระหว่างชาวมลายูซึ่งมีจำนวนราวๆ 1,000 คน กับกองกำลังตำรวจที่หมู่บ้านดุซงญอจังหวัดนราธิวาส การต่อสู้เกิดจากการริเริ่มของฝ่ายตำรวจสยามก่อนโดยที่พวกขาบุกโจมตีชาวมลายูที่ถูกทางการเชื่อว่ากำลังเตรียมการเพื่อทำการต่อต้านรัฐบาล การต่อสู้ในครั้งนี้ใช้เวลาปะมาณ 36 ชั่วโมงซึ่งในที่สุดชาวบ้านได้ยอมแพ้ แต่กองกำลังของชาวมลายูส่วนหนึ่งหนีเข้าไปในป่าเพื่อต่อต้านรัฐบาลในรูปแบบของกองโจรต่อไป ผลของการต่อสู้ทำให้ชาวบ้านชาวมลายูได้สังเวยชีวิตเกือบ 400 คน ซึ่งรวมคนชรา ผู้หญิงและเด็กๆ ส่วนฝ่ายตำรวจได้เสียชีวิตประมาณ 30 คน”[8]

และ

“รัฐบาลสยามพยายามปกปิดสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ในครั้งนี้และได้สร้างกระแสข่าวเท็จให้โลกรู้ว่าเป็นการต่อสู้ธรรมดาระหว่างโจรผู้ร้ายกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แต่อย่างไรก็ตามความจริงก็คือความจริงที่ไม่อาจปกปิดได้ การต่อสู้ในครั้งนี้เป็นสิ่งที่บ่งชี้อย่างชัดเจนที่สุดว่าชาวมลายูหมดความอดทนและไม่พอใจเป็นอย่างมากกับแนวนโยบายของรัฐบาล การเสียชีวิตของชาวบ้านในครั้งนี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของชาวมลายูในการเรียกร้องความยุติธรรมและความอิสระภาพ”[9]

Nik Anuar Nik Mahmud นักวิชาการชาวมาเลเซียเรียกเหตุการณ์ดุซงญอว่าเป็น ‘การลุกขึ้นสู้’ ที่ไม่ได้ตระเตรียมการไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด โดยเขาอธิบายว่า

“การจลาจลที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า แต่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นทันทีทันใดซึ่งเป็นผลจากการกระทำที่เหี้ยมโหดของเจ้าหน้าที่ตำรวจสยามต่อชาวบ้านหมู่บ้านดุซงญอ กล่าวกันว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงเข้าไปยังกลุ่มชาวบ้านที่กำลังจัดงานบุญเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1948 เจ้าหน้าที่ตำรวจสงสัยว่าชาวบ้านที่กำลังรวมตัวกันนั้นเพื่อต่อต้านรัฐ ชาวบ้านจึงได้ตอบโต้และกดดันให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจถอนกำลังออกไปยังตันหยงมัส ในข้อกล่าวหาของตำรวจที่ส่งไปยังสำนักงานกรมตำรวจระบุว่า มีกองโจรมลายูประมาณ 1,000 คนกำลังเตรียมการเพื่อก่อการกบฏ”[10]

ส่วนนักวิชาการชาวมาเลเซียอีกท่าน Mohd. Zamber A. Malek ได้อธิบายถึงเหตุการณ์ที่ดุซงญอโดยมีรายละเอียดต่างออกไป เขาได้ใช้รายงานของเติงกูมะห์มูด มะห์ยิดดิน ที่ระบุว่า เหตุการณ์เริ่มจากบ้านดุซงญอมารวมตัวกันประมาณ 60-80 คน และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าโจมตีกะทันหัน ไม่ทันได้ตั้งตัว ชาวบ้านแตกกระเจิงและหนีไปตั้งหลักที่ตันหยงมัส รวมกำลังกันได้ประมาณ 1,000 คน ก็ตัดสินใจประกาศทำ ‘จีฮาด’ ชาวบ้านอ้างว่าตำรวจยิงเข้ามาในกลุ่มชาวบ้านก่อน เพราะคิดว่าชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพื่อต่อต้านรัฐบาล เหตุการณ์เลวร้ายลงเมื่อชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเข้ามาสมทบด้วย เพราะโกรธแค้นที่ญาติพี่น้องของตนถูกทำร้าย ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กรุงเทพฯ ส่งกำลังสามร้อยกองลงมาในพื้นที่

การปะทะกันเกิดในวันที่ 26 เมษายน 2491 ระหว่างปะทะกันมีเครื่องบินของทหารอากาศไทย 3 ลำบินวนหาเป้าหมายชาวบ้าน มีรายงานด้วยว่ากองทัพเรือไทยนำเรือรบมาเทียบท่าที่อ่าวนราธิวาส และยังมีข่าวลือว่ากองกำลังไทยต้องการกวาดล้างชาวมลายู การปะทะกันนี้ทำให้ชาวมลายูเสียชีวิตประมาณ 400-600 คน แต่ทางการกล่าวว่ามีเพียง 30-100 คนเท่านั้นที่บาดเจ็บและเสียชีวิต ในขณะที่ฝ่ายตำรวจเสียชีวิต 30 คน เหตุการณ์นี้รู้จักกันในนาม ‘สงครามโต๊ะเปรัก ดุซงญอ’ (Perang Tok Perak Dusun Nyor) เพราะผู้นำคือ ตวนหะยีอับดุล เราะห์มาน เดิมเป็นชาวรัฐเปรักและชาวบ้านเรียกกันว่า โต๊ะเปรัก[11]

งานเขียนของ W.K. Che Man กล่าวถึงเหตุการณ์นี้และได้ระบุจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดุซงญอว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 30 คน ส่วนฝ่ายมลายูเสียชีวิต 400 คน[12] ขณะที่ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ชี้ว่า ในงานของ Syed Serajul Islam ได้อ้างงานเขียนของ W.K. Che Man และระบุว่าจำนวนผู้ที่เสียชีวิตที่เป็นชาวบ้านมีจำนวนประมาณ 1,100 คน ทั้งๆ ที่ในงานของ Che Man เองระบุเพียง 400 คน[13]

ขณะที่ในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ดุซงญอในรายละเอียด แต่จัดให้เหตุการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เฉกเช่น ขบวนการ BRN (Barisan Revolution National) และ PULO (Patani United Liberation Organization) โดยเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านดุซงญอเมื่อปี พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) ว่า ‘การจลาจลดูซงญอ’[14]

ข้อมูลที่แตกต่างกันในงานของนักวิชาการแต่ละท่านที่ยกมาคือเรื่องวันที่เกิดเหตุการณ์ดุซงญอว่าเป็นวันที่ 20, 25, 26 หรือ 28 เมษายนกันแน่ และจำนวนชาวบ้านที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดุซงญอที่ไม่เท่ากันในแต่ละแหล่งข้อมูล โดยรายงานหรือเอกสารของทางการระบุจำนวนอยู่ที่ 30 ถึง 100 คน ในขณะที่งานเขียนของฝ่ายมลายูมุสลิมจะอยู่ที่ 400 ถึง 600 คน

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีดุซงญอไว้สองประการ ประการแรก กรณีดุงซงญอถูกเรียกด้วยชื่อที่ต่างกัน ฝ่ายทางการเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็น ‘กบฏ’ หรือ ‘การจลาจล’ ขณะที่นักวิชาการมลายูเรียกเหตุการณ์นี้ด้วยคำว่า ‘การลุกขึ้นสู้’ (kebangkitan) และ ‘สงคราม’ (perang)

ประการที่สอง รายงานของทางราชการรายงานว่า เหตุการณ์ดุซงญอเป็นการเตรียมการวางแผนต่อต้านรัฐบาล ในขณะที่ฝ่ายมลายูมุสลิมเห็นว่า เหตุการณ์ดุซงญอเป็นเรื่องที่เกิดอย่างกะทันหัน ไม่ได้มีการเตรียมการไว้ก่อน ไม่ใช่การจัดองค์กรทางการเมือง[15]

หลังเกิดเหตุการณ์ดุซงญอ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง และสรุปว่า “การจลาจลเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิด เนื่องจากมีการประชุมของชาวมลายูมุสลิมเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับไสยศาสตร์ คือพิธีอาบน้ำมนต์ที่เชื่อว่าจะทำให้อยู่ยงคงกระพันฟันแทงไม่เข้า เหตุการณ์นี้เป็นที่ผิดสังเกตของตำรวจ จึงขอเข้าระงับ แต่ชาวบ้านไม่ยอม จึงเกิดปะทะกันลุกลามใหญ่โตขึ้น”[16] ซึ่ง พิเชฐ แสงทอง ให้ความเห็นว่า ที่ผลการสอบสวนเป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเพราะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการปกครองสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสมัยจอมพลป. ที่มีการประนีประนอมกับมลายูมุสลิมมากขึ้น[17]

หลังเหตุการณ์ดุซงญอ มีการสร้างอนุสาวรีย์เป็นรูปกระสุนปืน ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส แต่ไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนมากนัก ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด โดยเฉพาะในประเด็นการจัดการกับความจริงและความทรงจำของผู้คนที่มีต่อเหตุการณ์ที่ดุซงญอ[18]

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อภิปรายเรื่องเหตุการณ์ในปี 2491 ว่าไม่ใช่การก่อกบฏของคนมลายูมุสลิม และข้อเรียกร้อง 7 ประการของหะยีสุหลงก็ไม่ใช่สาเหตุแท้จริงที่นำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีกับหะยีสุหลงตามที่นักวิชาการและสาธารณชนเข้าใจกัน แต่ก็ได้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความไม่สงบ’ และ ‘การประท้วง’ โดยชาวมลายูมุสลิมเกิดขึ้นจริง และเกิดก่อนที่จะมีการจับกุมหะยีสุหลง แต่ทวีความรุนแรงขึ้นภายหลังจากที่เขาถูกจับกุมไปแล้ว เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านดุซงญอ ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นจากการที่หะยีสุหลงถูกจับกุม ในความเห็นของธเนศ เหตุการณ์ที่ดุซงญอถูกทำให้เลือนและอยู่ภายใต้โครงเรื่องของ ‘กบฏหะยีสุหลง’[19]

ธเนศมีข้อเสนอว่า การอธิบายเล่าเรื่องเหตุการณ์ดุซงญอตามมุมมองและทัศนะของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ สะท้อนความไม่ไว้วางใจต่อสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในภาคใต้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะที่จังหวัดปัตตานีเท่านั้น เนื่องจากมีการส่งกำลังตำรวจไปเพิ่มที่จังหวัดนราธิวาสตั้งแต่เดือนมกราคม 2491 ซึ่งเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการจับกุมหะยีสุหลง ดังนั้นแสดงว่า การเกิดเหตุการณ์ที่ดุงซงญอไม่ได้เป็นปฏิกิริยาต่อการจับกุมหะยีสุหลง หากเป็นการก่อกบฏโดยความตั้งใจมาก่อนแล้วของชาวมลายูมุสลิม ซึ่งจะทำให้การโยนความผิดหรือความรับผิดชอบของรัฐบาลในการจับกุมตัวหะยีสุหลงว่า นำไปสู่ความวุ่นวายและการตอบโต้ของชาวมลายูมุสลิม ถูกลดน้ำหนักและไม่เป็นจริงไป[20]

สาเหตุที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงแรงที่ดุซงญอเมื่อปี 2491 หากพิจารณาสาเหตุเฉพาะหน้าก็คือ ความระแวงไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านมลายูมุสลิม แต่หากจะสาวไปให้ไกลกว่านั้น จุดเริ่มต้นจริงๆ ของความรุนแรงเกิดจากการที่รัฐไทยไปรุกราน ยึดครอง ผนวกดินแดนบริเวณดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย และหลังจากนั้นนโยบายการบริหารปกครองของรัฐไทยก็ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ ขุ่นข้องหมองใจของประชาชนในพื้นที่ ทำให้ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เคยสงบอย่างแท้จริงจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ยังมีความไม่ลงรอยกัน การจำและการเล่าที่แตกต่างกันยังดำรงอยู่มากมายหลายเหตุการณ์ ในฐานะนักประวัติศาสตร์มีความเห็นว่า ในเบื้องต้นที่สุดคือ การไม่ปฏิเสธเรื่องเล่า ไม่ว่าจะจากฝ่ายใด แม้ว่าเราจะเห็นต่างจากเรื่องเล่านั้นๆ หากควรให้แต่ละเรื่องเล่ามีพื้นที่ แล้วปล่อยให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องเล่าที่อาจจะสอดคล้องกัน ไม่ลงรอยกัน หรือขัดแย้งกัน ได้ถูกนำไปพิจารณา วิเคราะห์ โดยผู้รับสาร ซึ่งการจะเลือกเชื่อเรื่องเล่าในเวอร์ชั่นไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวตน สถานะ ตำแหน่งแห่งที่ และจุดยืนทางการเมืองของผู้รับสารเฉกเช่นเดียวกับผู้เล่า

อนึ่ง คำอธิบายกิจกรรมของชาวบ้านดุซงญอว่าเป็น ‘การรวมตัวของชาวบ้านเพื่อประกอบพิธีกรรมไสยศาสตร์’[21] เชื่อมโยงกับอิสลามนิกายซูฟี (Sufi) ที่ไม่ได้ปรากฏตัวที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทยเพียงแห่งเดียว หากแต่แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป


[1] ข้อมูลส่วนใหญ่นำมาจากงานวิจัยของผู้เขียนเรื่อง “ทบทวนประวัติศาสตร์ปัต(ปา)ตานี: มุมมองที่แตกต่างหลากหลาย” ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ปี 2561

[2] dusun ในภาษามลายูกลางอ่านว่า ดู-ซุน แปลว่า หมู่บ้าน ดังนั้น Dusun Nyor ก็หมายความว่า หมู่บ้านญอ

[3] อิมรอน มะลูลีม, วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมในประเทศ: กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อิสลามิคอะเคเดมี, 2538), หน้า 157. อ้างใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ความรุนแรงในการจัดการ “ความจริง”: ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551, หน้า 112.

[4] วรมัย กบิลลิงห์, ดุซงญอ 2491 ถึงตากใบวิปโยค, กรุงเทพฯ: ร่วมด้วยช่วยกัน, 2548 , หน้า 111-117.

[5] พิเชฐ แสงทอง, “ดุซงญอ: การเมืองเรื่องความทรงจำ,” รูสมิแล, ปีที่ 30 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2552, หน้า 4.

[6] ที่จริงต้องเป็นปี พ.ศ. 2491

[7] ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, ไทยมุสลิม, กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2519, หน้า 262-264. อ้างใน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย, กรุงเทพฯ: โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), 2549. หน้า 46-47.

[8] อิบรอฮิม ชุกรี (นามแฝง), ประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี, หะสัน หมัดหมาน และมะหามะซากี เจ๊ะหะ (แปล), ดลมนรรจ์ บากา (เรียบเรียง), ปัตตานี: โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา, 2541, หน้า 53-54. เน้นโดยผู้วิจัย

[9] อิบรอฮิม ชุกรี (นามแฝง), ประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี, หน้า 54.

[10] Nik Anuar Nik Mahmud, Sejarah Perjuangan Melayu Patani 1785-1954, Bangi: Universiti Kebangsaan Malaysia, 2006, p. 87.

[11] Mohd. Zamberi A. Malek, Umat Islam Patani: Sejarah dan Politik, Shah Alam: Hizbi, 1993, pp. 210-211.

[12] W.K. Che Man, Muslim Separatism: The Moros of Southern Philippines and the Malays of Southern Thailand, Singapore: Oxford University Press, 1990, p. 67.

[13] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง”: ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ, หน้า 121.

[14] คณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา, “รายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล,” กรุงเทพฯ: กองกรรมาธิการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2542, บทที่ 2 หน้า 16. อ้างใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง”: ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ, หน้า 118.

[15] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ความรุนแรงในการจัดการ “ความจริง”: ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ, หน้า 121-122.

[16] วรมัย กบิลลิงห์, ดุซงญอ 2491 ถึงตากใบวิปโยค, หน้า 20.

[17] พิเชฐ แสงทอง, “ดุซงญอ: การเมืองเรื่องความทรงจำ,” หน้า 5-6.

[18] ดู ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ความรุนแรงในการจัดการ “ความจริง”: ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ, หน้า 125-137.

[19] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย, หน้า 41.

[20] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย, หน้า 48.

[21] “กรณี “ดุซงญอ” ความเข้าใจผิดสู่เหตุจลาจล,” ศิลปวัฒนธรรม, 26 เมษายน 2560 เข้าถึงได้ที่ https://www.silpa-mag.com/on-view/art-and-culture-club/article_9349

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save