fbpx
‘แด่สันติสุขและความมั่นคง’ ชายแดนใต้กับการแก้ปัญหาที่ไม่พูดถึงสาเหตุ

‘แด่สันติสุขและความมั่นคง’ ชายแดนใต้กับการแก้ปัญหาที่ไม่พูดถึงสาเหตุ

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ภาพถ่าย

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

15 ปีของความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ แม้ว่าในปัจจุบันตัวเลขเหตุการณ์ความรุนแรงจะมีแนวโน้มลดลงแต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาได้รับการแก้ไข แต่ยังคงเป็นภาวการณ์เดิมที่ความรุนแรงสามารถหวนกลับมาตึงเครียดได้เสมอ เมื่อความขัดแย้งยังไม่ถูกไขปมที่ต้นตอ

เหตุการณ์ระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ทำให้ปัญหาชายแดนใต้ได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อมีการจับกุมผู้ต้องสงสัยที่มาจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

ในงานเสวนาเรื่อง ‘สันติภาพจชต.: โอกาสการขยายตัวของความรุนแรงและบทบาทคนนอก’ ที่ผ่านมา สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ระเบิดกรุงเทพฯ โดยมองจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่าการระเบิดหลายจุดเช่นนี้มักเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน โดยผู้กระทำไม่ประสงค์ถึงชีวิต แต่มุ่งหมายแสดงศักยภาพให้สังคมไทยและสังคมโลกรู้ว่ามีคนพร้อมสร้างความรุนแรง ซึ่งเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนนี้เป็นไปตามที่คาดหมายคือไม่มีความรุนแรงตามมาเพิ่ม

เหตุระเบิดครั้งนี้มีการเชื่อมโยงว่าน่าจะเป็นผลพวงจากปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้

“ชัดเจนว่าเรื่องนี้เป็นการสร้างสถานการณ์ ซึ่งจะได้ผลเมื่อได้รับการยอมรับ แต่หากไม่ได้รับการยอมรับเหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดผล หากมีการขานรับ เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นอีกเพื่อจุดประสงค์บางอย่างในอนาคต” สุรพงษ์กล่าว

สำหรับคนนอกพื้นที่สามจังหวัด ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นเรื่องชาชินและขาดความสนใจถึงต้นตอปัญหา เพราะเมื่อมองจากสายตา ‘คนนอก’ เรื่องเหล่านี้ถูกทำให้เป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่จริงแล้ว ‘คนใน’ พื้นที่สามจังหวัดก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่ต้องการชีวิตที่สงบสุข และหนึ่งในตัวละครสำคัญคือ ภาครัฐ ที่หากเปลี่ยนบทบาทจากการควบคุมปราบปรามสู่การเจรจารับฟังก็น่าจะเป็นหนทางที่ทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้

เวลาอันสมควรล่วงเลยมานานเกินพอแล้วที่คนทั้งสังคมไทยควรใส่ใจและแสดงออกถึงความต้องการให้การแก้ปัญหาชายแดนใต้คลี่คลายไปในแนวทางสันติภาพ

 

ลม้าย มานะการ, อัญชนา หีมมีนะห์, รอมฎอน ปันจอร์ และ พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท

 

‘ความขัดแย้ง’ ที่ถูกปิดบังและไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการปราบปราม

 

สิ่งที่รัฐบาลทำในหลายปีที่ผ่านมาคือความพยายามกลบเกลื่อนให้มองไม่เห็นความขัดแย้งในปัญหาชายแดนใต้ มีเพียงแต่เรื่องความรุนแรงซึ่งเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง กระทั่งการเลือกใช้คำต่างๆ ในการอธิบายสถานการณ์ รอมฎอน ปันจอร์ ภัณฑารักษ์แห่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ Deep South Watch ชี้ให้เห็นว่า ช่วงหนึ่งปีหลังการยึดอำนาจ 2557 คสช.พยายามใช้คำว่า harmony หรือ happiness/happiness talk มาแทนที่คำว่า ‘สันติสุข’ ในเอกสารราชการ ซึ่งเป็นคำที่คนทำงานด้านสันติภาพไม่ใช้กัน แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาใช้คำว่า peace

อีกคำหนึ่งที่จะไม่เห็นในเอกสารราชการคือคำว่า ‘ความขัดแย้ง’ แต่จะใช้คำว่า ‘ความรุนแรง’ แทน โดยกระทรวงการต่างประเทศหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า conflict แต่ใช้คำว่า situation หรือ violent situation แทน และนับจากปี 2552 เอกสารราชการเริ่มมีการเปลี่ยนคำสำคัญ เช่น ความไม่สงบ เปลี่ยนเป็น ความรุนแรง ผู้ก่อความไม่สงบ เปลี่ยนเป็น ผู้ก่อความรุนแรง

การสร้างความรับรู้ผ่านคำเหล่านี้จะทำให้มองเห็นแต่ความรุนแรง แต่ไม่เห็นความขัดแย้ง ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงจะลดลงแต่ความขัดแย้งยังไม่คลี่คลายและมีความเป็นไปได้ที่ความรุนแรงและความขัดแย้งในมิติอื่นจะขยายตัว แต่สิ่งที่รัฐบาลทำในหลายปีที่ผ่านมาคือการบังไม่ให้เห็นความขัดแย้ง กระทั่งในการใช้ถ้อยคำ ซึ่งมีผลกระทบต่อทัศนะทั้งของคนไทยและนานาชาติ

รอมฎอน อ้างอิงบทความ อัลกอริทึมของความแปรปรวนในความรุนแรง 15 ปี ชายแดนใต้/ปาตานี ของ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี พบว่าสัดส่วนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วง 15 ปีนี้ส่วนใหญ่คือพลเรือนหรือประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ถืออาวุธซึ่งรวมทั้งผู้หญิงและเด็ก และเมื่อย้อนดูสาเหตุของเหตุการณ์จากหน้าสื่อและข้อมูลของเจ้าหน้าที่พบว่าส่วนใหญ่มาจากเหตุแบ่งแยกดินแดน แต่ที่น่าสนใจคือมีเหตุการณ์ที่ไม่รู้สาเหตุชัดเจนเพิ่มมากขึ้น โดยแนวโน้มเหตุการณ์ความไม่สงบตลอด 15 ปีนั้นลดลง แต่ช่วง 2 ปีครึ่งล่าสุดนี้มีเหตุการณ์สูงขึ้น ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายได้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่าง

“สิ่งที่รัฐสนใจคือการลดลงของความรุนแรง โดยมีตัวชี้วัดว่าจำนวนเหตุการณ์ในปีนั้นๆ ต้องลดลงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง 30% รัฐบาลทำสำเร็จ แต่ความขัดแย้งยังไม่ได้รับการคลี่คลาย รัฐบาลไทยพยายามเลี่ยงไม่ให้เห็นนัยยะทางการเมืองของความขัดแย้งนั้น

“การขยายตัวของความรุนแรง 15 ปีนี้มีคนจากต่างพื้นที่ไปล้มตายในพื้นที่เยอะ สูญเสียงบประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยพุทธและมุสลิมในภูมิภาคอื่นๆ เริ่มมีความตึงเครียด แต่การจัดการความขัดแย้งยังไม่บรรลุผล พื้นที่ทางการเมืองของเสียงที่ต้องการเอกราชของปาตานียังไม่ได้ยินและมีความเสี่ยงสูงที่จะขยายตัว”

รอมฎอน มองว่า รัฐบาลประยุทธ์เปลี่ยนวิธีการรับมือปัญหาชายแดนใต้อย่างค่อยเป็นค่อยไปและเริ่มชัดเจนว่าหวนกลับมาสู่แนวทางป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบมากขึ้น เน้นไปที่การพัฒนา ลดความรุนแรง และทำลายโครงสร้างขององค์กรบีอาร์เอ็น สิ่งที่รัฐบาลกังวลในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาคือการทำลายสายพานการผลิตนักรบรุ่นใหม่หรือคนที่มีใจต่อขบวนการปฏิวัติ จึงมีการรุกหนักโรงเรียนสอนศาสนาที่ถูกตีตราว่าเป็นที่บ่มเพาะ และมีการพยายามสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศ ควบคู่กับความพยายามควบคุมพื้นที่การเคลื่อนตัวของภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศไม่ให้อยู่ในทิศทางที่เป็นอันตรายต่อหน่วยงานรัฐไทย

“บีอาร์เอ็นเป็นองค์กรที่แข็งแกร่งที่สุดและโด่งดังที่สุดในฐานะขั้วตรงข้ามที่รัฐบาลพยายามวางตัวจะพูดคุยด้วย ในเวลานี้บีอาร์เอ็นกำลังประเมินและปรับตัวบางอย่าง พวกเขามีขีดความสามารถในทางการเมืองที่จำกัดมาก ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งติดชะงักแบบที่เป็นอยู่ เพราะถ้าเขามีขีดความสามารถมากกว่านี้เราอาจได้ยินเสียงเขามากกว่าระเบิด ปฏิบัติการทางการทหาร และมีการขยายพื้นที่ปฏิบัติการมากกว่านี้

“เดิมพันของฝ่ายคสช.เริ่มสูงมากขึ้น หากการกุมอำนาจรัฐบาลไทยเข้าสู่ปีที่ 6 แล้วยังไม่สามารถแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้ เกียรติภูมิทหารไทยจะมีปัญหา ส่วนเดิมพันของฝ่ายบีอาร์เอ็นคือจะรักษาการต่อสู้และองค์กรตัวเองอย่างไร ผมเห็นด้วยว่ายิ่งมีการควบคุมยิ่งต้องเปิดพื้นที่เสรีภาพในการทำความเข้าใจความขัดแย้ง เรียนรู้ว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ในวิธีการอื่นโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ความกดดันของรัฐบาลและบีอาร์เอ็น” รอมฎอนกล่าว

อัญชนา หีมมีนะห์ นักสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มด้วยใจ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในพื้นที่โดยพบว่าในปี 2560 คนที่ถูกตรวจค้นจับกุม มีอายุเพียง 20-30 ปี เรียกว่า ‘คนหน้าขาว’ เพราะไม่มีประวัติมาก่อน น่าชวนคิดว่านับแต่ปี 2547 เยาวชนเหล่านี้เติบโตมาอย่างไรจึงทำให้เขายอมรับการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ได้

“พวกเขาโตมาโดยพ่อแม่พี่น้องถูกควบคุมตัว ถูกปิดล้อมตรวจค้น ถูกปืนจี้ต่อหน้าเด็ก มีการบอกเล่าเรื่องการซ้อมทรมาน waterboarding การถูกถอนฟันด้วยคีม เราจะทำอย่างไรกับครอบครัวกลุ่มเปราะบางที่ถูกกระทำซ้ำ มีครอบครัวที่ถูกจับซ้ำ 3-4 ครั้งจนต้องหนี สุดท้ายถูกวิสามัญฆาตกรรม มีครอบครัวที่พ่อถูกจับกุม ลุงถูกตรวจค้นทุกอาทิตย์หรือทุกเดือน ความรุนแรงที่มาถึงกรุงเทพฯ เกิดจากการขยายตัวของความรุนแรงในพื้นที่ซึ่งถูกปิดกั้นด้วยหมอกของมายาคติเรื่องการใช้ความรุนแรงโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงไม่ขอให้รัฐเป็นผู้สร้างสันติภาพฝ่ายเดียว ขอให้ทุกคนติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะเรื่องของอับดุลเลาะ อีซอมูซอที่ยังไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร การติดตามสอบถามปัญหาการละเมิดสิทธิของทุกคนจะทำให้มีการควบคุมการใช้อำนาจเกินขอบเขตได้”

อัญชนายืนยันหนักแน่นว่าต้องการเสียงสนับสนุนการเจรจาสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา

 

พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

 

กระบวนการสันติภาพ 15 ปี เริ่มนับหนึ่งยังไม่ถึงสอง

 

สิ่งที่หลายฝ่ายเรียกร้องตลอดมาว่าจะนำไปสู่ทางออกจากความขัดแย้งได้คือกระบวนการสันติภาพซึ่งเริ่มต้นจากการสร้างความไว้ใจและพูดคุยกัน ที่ผ่านมามีเพียงบางช่วงเวลาที่รัฐบาลแสดงให้เห็นว่ามีการนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติ แต่จนเวลาล่วงมา 15 ปี ทิศทางหลักที่ภาครัฐยึดถือก็คือการปราบปรามและพยายามไม่ให้ประเด็นความขัดแย้งปรากฏตัว

คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในการดำเนินกระบวนการสันติภาพ คือ องค์กรระหว่างประเทศในฐานะ ‘คนนอก’ ควรมีบทบาทแค่ไหนในการแก้ปัญหานี้ เมื่อรัฐบาลไทยพยายามแสดงออกเสมอมาว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาภายใน ไม่ต้องการให้เกิดการแทรกแซง แต่สังคมไทยที่ยังขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพไม่สำเร็จ ก็ไม่ควรมองข้ามการมีส่วนร่วมขององค์กรระหว่างประเทศ ทั้งในรูปแบบการให้คำแนะนำทางวิชาการ การจัดอบรม หรือการอำนวยความสะดวกอย่างไม่เป็นทางการให้มีการพูดคุยระหว่างผู้เห็นต่าง

พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำงานวิจัยในหัวข้อบทบาทนานาชาติกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้และบางมุมมองต่อภาพอนาคต เพื่อตอบคำถามดังกล่าว

15 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยใช้งบประมาณในการจัดการปัญหาชายแดนใต้ไป 302,926.9 ล้านบาท ในปี 2559 มีการเก็บรวบรวมข้อมูลว่ามีองค์กรที่เข้ามาทำงานเกี่ยวข้องกับพื้นที่ชายแดนใต้ถึง 44 องค์กร ทั้งในระดับนโยบาย ระดับภาคประชาสังคม และระดับภาคประชาชน ขณะที่องค์กรนานาชาติก็เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2547 ทั้งในรูปแบบการสังเกตการณ์ การประเมิน ให้งบประมาณสนับสนุนการทำงานบางอย่าง หรือกระทั่งเข้าไปทำงานเอง เช่น งานวิชาการ งานวิจัย เพื่อสร้างความรู้ในการแก้ปัญหา แต่ถึงปัจจุบันกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ทำมาหลายรัฐบาลก็ยังไม่ไปถึงไหน และช่วงหลังฝ่ายความมั่นคงมีความพยายามควบคุมภาคประชาสังคมและองค์กรนานาชาติ จนบางองค์กรลดบทบาทลงหรือถอนตัวไป

งานวิจัยของพัทธ์ธีราตั้งประเด็นว่าสังคมและรัฐไทยควรมองและสนใจท่าทีขององค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้อย่างไร เพื่อประโยชน์ในการช่วยขับเคลื่อนขบวนการสันติภาพ โดยเก็บข้อมูลจากการพูดคุยกับข้าราชการระดับสูง คนในกระบวนการพูดคุย ฝ่ายขบวนการ องค์กรนานาชาติ ภาคประชาสังคม และนักการเมือง

ข้อค้นพบเบื้องต้นคือฝ่ายรัฐมีมุมมองว่าองค์กรนานาชาติสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องได้ แต่ต้องเป็นการทำงานด้านการพัฒนาหรือการศึกษา

“ปัญหานี้เป็นปัญหาภายในของประเทศเรา เราจัดการเองได้ ไม่ต้องให้ต่างประเทศมายุ่ง” ภาครัฐ (สัมภาษณ์ ก.พ. 2562)

ส่วนฝ่ายขบวนการยืนยันว่าต้องการให้มีนานาชาติมาจับตากระบวนการพูดคุย เพราะรู้สึกว่าที่ผ่านมารัฐไทยไม่จริงใจที่จะพูดคุย พูดอย่างหนึ่งทำอีกอย่างหนึ่ง จึงต้องการคนมาเป็นพยาน ซึ่งตรงกับสิ่งที่บีอาร์เอ็นเคยออกแถลงการณ์ในปี 2560 ว่าต้องการให้ประชาคมนานาชาติมาเป็นผู้สังเกตการณ์และสักขีพยาน

“ไม่ต้องมาช่วยอะไรเรา แต่มาช่วยเป็นพยานว่ารัฐได้ทำตามที่ได้พูดคุยไว้หรือเปล่า กระบวนการเดินไปอย่างไร นี่คือที่เราต้องการ” ฝ่ายขบวนการ (สัมภาษณ์ 2562)

ด้านภาคประชาสังคมเห็นด้วยถ้านานาชาติที่มีประสบการณ์ดำเนินการพูดคุยสันติภาพในประเทศอื่นเข้ามาช่วยสร้างศักยภาพให้ประชาชนได้เรียนรู้กระบวนการ

ที่น่าสนใจคือพัทธ์ธีราพบว่าแม้เวลาจะผ่านมา 15 ปีแล้ว แต่เจ้าหน้าที่รัฐไทยซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงที่ทำงานในคณะพูดคุยสันติภาพเปิดเผยว่าคณะทำงานเองก็ไม่มีความรู้เรื่องกระบวนการพูดคุย

“การขาดแคลนความรู้ในเรื่องกระบวนการพูดคุยสันติภาพของฝ่ายไทยเอง ไม่มีใครรู้เรื่องกระบวนการพูดคุยสันติภาพมาก่อน หลักสูตรการศึกษาเองก็ไม่มี ตอนนี้ก็รู้บ้าง แต่ยังถือว่าน้อยอยู่ในส่วนของคณะทำงาน” ข้าราชการระดับสูง (สัมภาษณ์ มี.ค. 2562)

เช่นเดียวกับฝ่ายความมั่นคงที่บอกว่าในการเรียนการสอนของทหารได้เรียนรู้แต่เรื่องการรักษาสันติภาพแต่ไม่รู้ว่าการพูดคุยสันติภาพแก้ปัญหาความรุนแรงจะทำอย่างไร ด้านกระทรวงการต่างประเทศก็ยอมรับว่าไม่มีความรู้ด้านนี้และไม่รู้ว่าจะทำงานอย่างไร

ความรู้ของคนทำงานในคณะพูดคุยสันติภาพกลายเป็นข้อจำกัดในการทำงาน พัทธ์ธีราเผยว่าที่จริงมีผู้มีความรู้หลายท่านแต่มักจะถูกกันออกจากคณะทำงานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง การเมืองส่วนกลางกลายเป็นเงื่อนไขหลักที่มีผลกระทบต่อชายแดนใต้ จนมีความคลุมเครือว่ากำลังต่อสู้กับใคร หรือใครคือผู้นำที่แท้จริง ส่วนภาคประชาสังคมก็ถูกจำกัดควบคุมทำให้มีพื้นทำงานน้อยลง มีการแทรกแซงจากประชาสังคมที่กอ.รมน.จัดตั้ง ทำให้ความเป็นปึกแผ่นของภาคประชาสังคมแตกกระจาย

“โครงสร้างการเมืองการปกครองของประเทศเป็นอุปสรรคสำคัญของการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ หากจะให้มีการพูดคุยกันจริงประเทศไทยต้องเคลียร์ข้างบนก่อน มิเช่นนั้นก็ไปได้ยาก” นักเคลื่อนไหว (สัมภาษณ์ ส.ค. 2562)

 

โคทม อารียา

 

ระดมความร่วมมือ ถึงเวลาขยับการพูดคุยสันติภาพ

 

บทบาทสำคัญในกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่นานาชาติจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือได้คือการเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย และที่ผ่านมาหลายฝ่ายคาดหวังให้รัฐบาลมาเลเซียเข้ามารับหน้าที่นี้

จากการเก็บข้อมูล พัทธ์ธีราเปิดเผยว่า มีผู้เห็นว่ามาเลเซียควรเป็นผู้อำนาจความสะดวกในการพูดคุยเพราะมีมิติความเกี่ยวข้องเชิงศาสนาและชาติพันธุ์ แต่ก็มีมุมมองที่ว่ามาเลเซียจะไม่มาลงทุนลงแรงกับเรื่องนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องที่มาเลเซียจะมาสนใจ

“มาเลเซียมีความเหมาะสมที่สุด ถ้าเทียบกับประเทศอินโดนีเซียหรือสิงคโปร์ เพราะสองประเทศหลังมีความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับรัฐ แต่มาเลเซียยังมีลูกหลานชาวปาตานีในรัฐบาลและในโครงสร้างของมาเลเซีย และผู้ใหญ่เคยเล่าว่า มาเลเซียมีการสาบานในรัฐสภากันว่า ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเป็นสิ่งวาญิบ (จำเป็น) ที่มาเลเซียต้องช่วยพี่น้องในสามจังหวัด” ฝ่ายขบวนการ (สัมภาษณ์ ส.ค. 2562)

“ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่ priority ไม่ใช่วาระของมาเลเซีย สื่อมวลชนรายงานกรณีตากใบแล้วเงียบไป มาสนใจอีกทีตอนลูกสาวของอันวาร์ มาค้านการแต่งตั้ง ราฮิม นูร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก” สื่อในมาเลเซีย (สัมภาษณ์ มี.ค. 2562)

นักการทูตก็มองว่ามาเลเซียต้องมารับบทบาทนี้ เพราะมีความสัมพันธ์ตั้งแต่การแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์มาลายา

“สำหรับบทบาทของมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก การจะฝากความหวังไว้แก่เขามากไปก็ไม่ควร เราทราบอยู่แล้วว่าเขาอยากเร่งรัดให้กระบวนการพูดคุยบรรลุผล แต่ปัญหามีความซับซ้อน stakeholder ทุกฝ่ายต้องมาร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องระหว่างคณะพูดคุยกับผู้อำนวยความสะดวกเท่านั้น” นักการทูต (สัมภาษณ์ มี.ค. 2562)

รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในงานวิจัยของพัทธ์ธีราว่าจากการไปสัมภาษณ์ผู้คนจำนวนมากเรื่องบทบาทขององค์กรต่างประเทศ มีผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งบอกว่านโยบายการพูดคุยฝ่ายไทยแบ่งการพูดคุยเป็นสามระยะ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ต้องการความช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศนัก

1. สร้างความไว้วางใจ ปัจจุบันการพูดคุยสันติภาพยังคงติดอยู่ในกระบวนการนี้มาหลายปี ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศนัก นอกจากจะเข้ามาตรวจสอบว่าฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการได้ทำตามข้อตกลงหรือไม่

2. สืบหารากเหง้าความขัดแย้ง สมควรเป็นการพูดคุยกันเองเป็นหลัก

3. จัดทำโรดแมป ต้องการความช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศด้านวิชาการและประสบการณ์ แต่คนในประเทศจะคิดกันเองว่าต้องการอะไร

โคทม กล่าวถึงงานวิจัย สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง : การวิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่ โดย รศ.ดร.มารค ตามไท ที่ได้สอบถามคนปาตานีที่ต้องการเอกราชจำนวน 1,000 คน ถึงเหตุผลที่ต้องการเอกราช พบว่ามี 4 เหตุผลหลัก

1. ความเป็นเจ้าของดินแดน ต้องการเอกราชเพื่อทวงสิทธิในแผ่นดินตัวเอง 70.1%

2. เป็นวิธีที่จะได้อนาคตที่ปรารถนา การปกครองภายใต้รัฐไทยไม่ตอบโจทย์อัตลักษณ์คนในพื้นที่ ไม่เกิดประสิทธิภาพและสังคมประชาธิปไตย 24.1%

3. เป็นพันธะทางศาสนา ต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม 21.2%

4. เป็นวิธีจัดการความขัดแย้งกับรัฐไทยได้ดีที่สุด ไม่ต้องการถูกรุกรานจากเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องการความอยุติธรรมและการถูกกระทำจากอำนาจรัฐไทย แต่ยังเป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับไทยได้ 40.2%

งานวิจัยของมารคชี้ให้เห็นว่า เหตุผลในข้อ 1, 2, 3 เป็นเหตุผลที่วางอยู่บนฐานคุณค่าที่เรียกว่า ‘คุณค่าศักดิ์สิทธิ์’ (sacred values) ซึ่งเป็นคุณค่าที่แลกเปลี่ยนกับอย่างอื่นไม่ได้และจะเกิดปฏิกิริยาทางลบถ้าคนอื่นพยายามโน้มน้าวเสนอของตอบแทนเพื่อให้ละทิ้งเหตุผลนั้น ส่วนเหตุผลข้อ 4 วางอยู่บนคุณค่าที่จัดการได้ หากรัฐไทยเปลี่ยนวิธีปฏิบัติและนโยบายบางเรื่อง

“อ.มาร์คสรุปว่า รัฐไทยน่าจะเปลี่ยนนโยบายและอนุญาตคนคิดต่างต่อสู้ทางการเมืองได้โดยไม่ถูกตั้งข้อหาอั้งยี่ หรือเป็นขบถแบ่งแยกดินแดน คิดต่างได้แต่ต้องไม่ใช่ความรุนแรง เป็นวิธีที่สอดคล้องกับรัฐเนื่องจากจะเป็นการสลายกำลังของขบวนการในระยะยาว ซึ่งเป็นวิธีที่พูดกันมานานแล้วว่าต้องใช้สันติวิธีและวิธีทางการเมือง” โคทมกล่าว

15 ปีแห่งความสูญเสียของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้และสังคมไทยเป็นข้อพิสูจน์เกินพอแล้วว่าแนวทางการควบคุมปราบปรามที่รัฐเลือกใช้นั้นไม่ประสบความสำเร็จและไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงได้ แต่กลับขยายความขัดแย้งในใจคนในพื้นที่ โดยเฉพาะครอบครัวผู้ถูกบุกค้น จับกุม และวิสามัญภายใต้การใช้กฎหมายพิเศษ ทำให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานที่เติบโตในสถานการณ์เช่นนี้เลือกเดินเข้าสู่วงจรการแก้แค้นด้วยความรุนแรง เพราะไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรม

ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องใช้ความอดทนและความเชื่อมั่นระหว่างกันในการพูดคุยถึงความขัดแย้งอย่างตรงไปตรงมา โดยเคารพความแตกต่าง และไม่ผลักให้อีกฝ่ายกลายเป็นศัตรู

 


หมายเหตุ – เรียบเรียงจากบางส่วนของงานเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ ‘สันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.): โอกาสการขยายตัวของความรุนแรงและบทบาทคนนอก’ จัดโดย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล Deep South Watch และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save