มัจจุราชในพงหญ้า

ไม่ใช่ครั้งแรก

อีกครั้งหนึ่งที่หญิงวัยกลางคนลื่นออกมาจากเกาะกลางถนนในจังหวะที่รถผ่านมาพอดี เธอตาย

ปลายฝน เกาะกลางถนนบนซูเปอร์ไฮเวย์สายต่างๆ มักมีหญ้าขึ้นสูง ไม้ใบงอกงาม แม้แต่เฟื่องฟ้าก็ผลิใบหนาทึบ เราไม่เห็นรถที่สวนมา ที่อันตรายคือเราไม่เห็นอะไรในพงหญ้าเลย

บ่อยๆ ที่จะมีมอเตอร์ไซค์สักคันโผล่หน้าออกมาจากพงหญ้าบนเกาะกลาง บ้างก็ลักไก่ข้ามเนินดินมาจริง ก็ข้ามกันจนหญ้าเป็นรอยนั่นแหละ บ้างก็ข้ามตรงที่เขาปูแผ่นกระเบื้องให้ข้าม แต่จะแบบไหนรถที่ขับมาก็ไม่เห็นเพราะหญ้าบัง

รถที่มาก็จะเป็นเลนขวา เร็วมากทุกคัน

มีคำถามว่าใครมีหน้าที่ตัดหญ้า? พงหญ้านี้เป็นความรับผิดชอบของใคร?

คนถามนี่ไม่รู้จริงๆ อันที่จริงถนนก็ผ่านหน้าบ้านเรา เกาะกลางนี้ก็สร้างขึ้นหน้าบ้านเรา หญ้างอกงามไม้ผลิใบเขียวชอุ่มก็อยู่ตรงหน้าเรา ยาวเหยียดไปสุดลูกหูลูกตาหลายสิบกิโลเมตร มีถนนเส้นหนึ่งที่อำเภอหนึ่งยาวสี่สิบกิโลเมตรหญ้าทั้งนั้น แต่เราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าใครมีหน้าที่ตัดหญ้า

เป็นทางหลวง หรือเป็นท้องถิ่น พูดง่ายๆ ว่าก็อยากไปบอกให้ช่วยตัดได้แล้ว แต่ก็ไม่รู้จะเดินไปบอกที่ไหน ก็เพราะบ้านเรามิใช่ของเรา เป็นของใครก็ไม่รู้

ถนนบางเส้นยาวหลายสิบกิโลเมตร พงหญ้าสูงไปตลอดทาง นึกแล้วก็เหนื่อยใจแทนว่าใครจะตัด ใช้แรงงานกี่คน ต้องทำกี่วัน และควรทำบ่อยแค่ไหนเพื่อมิให้หญ้าขึ้นสูงเท่านี้อีก ตั้งใจจะไม่ทำตลอดฤดูฝนแล้วรอตัดครั้งเดียวตอนหมดฝนจริงๆ หรือ รู้ว่างานทั้งหมดนี้เป็นเงินเป็นทองทั้งนั้น ค่าแรงจ้างคน ค่าน้ำมันเครื่องตัดหญ้า ค่ารถโกยหญ้า ยังมีค่าใช้จ่ายสารพัด

ไม่รู้อีกเช่นกัน เงินใคร ใครจ่าย ใครตั้งงบประมาณ แล้วที่ไม่ทำเลยตลอดหน้าฝนเพราะไม่มีเงินหรือไม่มีแรงงาน สมมติมีการตั้งงบประมาณ แล้วเอาเงินไปใช้เรื่องอื่นที่รีบด่วนกว่า เรื่องที่ว่ารีบด่วนกว่าตัดหญ้าคือเรื่องอะไร มีเหตุผลที่ดีไหม อยากฟัง  จะได้เข้าใจ ประเด็นคือเราไม่รู้

หรือคิดว่า “ตัดไปเดี๋ยวก็ยาว รอหมดฝนค่อยตัดทีเดียวดีกว่า” คิดแบบนี้ได้ไหม ดีไหม ใครตัดสินใจให้ทำแบบนี้ ตัดสินใจคนเดียวหรือตัดสินใจในที่ประชุม ตัดสินใจกันที่ไหน ที่อำเภอ ที่จังหวัด หรือที่กระทรวงหนึ่งหรือกรมหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็ไม่แปลกใจว่าจะเป็นประการหลัง เพราะหลายๆ เรื่องรอบบ้านเราก็ตัดสินใจกันที่กรุงเทพฯ อยู่แล้ว  

ถ้ากรุงเทพฯ เป็นผู้รับผิดชอบการตัดหญ้าที่บ้านเราก็เชื่ออยู่

บ้างว่าคนข้ามถนนผิดเองที่ไม่ระวัง ที่จริงระวังแล้วแต่หญ้ามันลื่น ลื่นเอง ลื่นฝน ลื่นน้ำค้าง ลื่นหมอกเหมย บ้างก็ว่าคนข้ามถนนผิดเองที่ไม่ไปข้ามตรงสะพานลอย อันนี้ต้องให้บิดามารดาคนว่านี่ไปลองขึ้นสะพานลอยข้ามถนน 4-8 เลนต่างจังหวัดดูสักครั้ง

บ้างก็ว่าคนข้ามถนนไม่ควรใส่รองเท้าแตะข้ามถนน รองเท้าแตะมันลื่น บางทีหูคีบก็เปื่อย อันนี้หากสืบสวนก็จะพบว่าลูกสาวเขาจะเอาแกงฮังเลไปฝากแม่ที่ฝั่งโน้นของถนน คีบรองเท้าแตะออกบ้านอย่างไรก็ข้ามถนนอย่างนั้น ไม่นับว่าฐานะทางบ้านก็ได้รองเท้าประมาณนี้

บ้างก็ว่าทำไมต้องไปมาหาสู่กันนัก ก็เพราะเดิมที่นี่เป็นถนนเส้นเล็ก ญาติพี่น้องข้ามไปมาหากัน เอาของกินไปปันกัน ข้ามไปเยี่ยมอุ้ยเช้าครั้งเย็นครั้งไม่ได้ยากอะไร แล้ววันหนึ่งก็ตัดถนนผ่ากลางบ้านเขา อีกไม่นานก็ขยายถนน อีกไม่นานก็ขยายถนนเพิ่มอีก บางทีไม่ทำเกาะกลางแต่ทำกำแพงต่ำกั้น ตอนนี้อยากเอาแกงอ่อมไปฝากแม่ก็ต้องปีนกันเล็กน้อย

ก็สงสัยอีกใครสั่งตัดถนนผ่าบ้านพี่น้องเขาแบบนี้

จะดีกว่าไหมถ้าให้เราได้ร่วมตัดสินใจกับเรื่องทั้งหมดนี้ ตั้งแต่จะตัดถนนอย่างไร จะขยายเส้นไหน สร้างรถไฟดีกว่าไหม ใครจะตัดหญ้า จะเอาเงินค่าตัดหญ้ามาจากไหน จ้างแรงงานที่ไหนดี จ้างคนแถวนี้เสียเลยจะดีกว่าไหมเป็นการกระจายงานกระจายเงินให้คนท้องถิ่นด้วย ก็ไม่รู้อีกว่าจะดีกว่าไหม ตอนหาเสียงได้ยินแต่เรื่องยากๆ เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างว่าจะเชื่อมโยงกันอย่างไร สมมติเลือกตั้งผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ จะช่วยให้เธอไม่ลื่นเกาะกลางตกลงมาได้ไหม ก็ไม่รู้อยู่ดี

เลือกตั้งครั้งหน้าพูดให้รู้เรื่องมากขึ้นหน่อยจะดีไหมว่าส่วนท้องถิ่นควรได้อะไรบ้าง

ยังไม่จบ บ้างก็ว่าคนขับรถของเราไม่มีวินัยในการขับรถเอง อันนี้ก็ต้องว่าเราควรพัฒนาบ้านเมืองไปถึงระดับต่อให้ไม่มีวินัยก็แผลงฤทธิ์ให้คนอื่นตายมิได้ ด้วยระบบและโครงสร้างจะป้องกันคนขับรถไม่มีวินัยไม่ให้สตาร์ตรถได้ตั้งแต่แรก ก็จะเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่จะได้คุยกันอีกยาว

เท่านี้ก่อน ต้องแต่งตัวไปงานศพ ว่ากันว่าแม่อุ้ยจะทำแกงฮังเลให้ลูกสาวที่ตายไปแล้วกิน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save