fbpx

‘วิกฤตศรัทธาหนังไทย’ เราอยู่ตรงไหนกันแล้วในปี 2023

น่าจะเกือบแปดปีแล้วที่อุตสาหกรรมหนังบ้านเราอยู่คู่กับคำว่า ‘วิกฤตศรัทธาหนังไทย’ อันที่จริงก็ตอบได้ยากว่าวลีนี้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อไหร่ แต่ที่สัมผัสได้ว่าบรรยากาศในวงการซบเซา คนไม่ซื้อตั๋วเข้ามาดูหนังไทยในโรงภาพยนตร์จนมีคนวิเคราะห์สภาพการณ์และความน่าเป็นห่วงของอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ ก็น่าจะราวๆ ปี 2016 ที่หนังไทยทำเงินรวมกันทั้งปีได้เพียง 565 ล้านบาท และนับตั้งแต่นั้น ดูเหมือนว่าเราก็อยู่กับ ‘ป้าย’ วิกฤตศรัทธานี้มาโดยตลอด ในแง่ที่ว่า หนังไทยไม่อาจสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่คนดูอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม

วงการหนังไทยกระเสือกกระสนรับมือความเปลี่ยนแปลง (และไม่เปลี่ยนแปลง) เรื่อยมา พร้อมป้ายวิกฤตศรัทธาห้อยคอ ก็นับว่าอึดไม่เบา

แต่ปี 2023 นี้ ดูเหมือนจะเป็นปีแรกๆ ที่พูดได้ว่าวงการหนังไทยกลับมาแล้ว แม้อาจจะยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าเราไปพ้นจากวิกฤตดังกล่าว แต่การที่มีหนังไทยซึ่งเข้าฉายในปีนี้ทำเงินทะลุ 100 ล้านบาทเกินนับด้วยมือข้างเดียว ก็ถือเป็นหมุดหมายที่น่าจับตา โดยเฉพาะความสำเร็จของ ‘สัปเหร่อ’ (2023) ที่ทำรายได้ถล่มทลายกว่า 600 ล้านบาท อยู่ในระดับสร้างปรากฏการณ์เรียกคน -ที่เริ่มเคยชินกับการดูหนังผ่านระบบสตรีมมิ่งที่บ้าน- ให้กลับเข้าไปดูหนังในโรง

‘สัปเหร่อ’ (2023)

นอกเหนือจาก ‘สัปเหร่อ’ หนังไทยที่ทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทเป็นเรื่องแรกของปีคือ ‘ขุนพันธ์ 3’ (2023) หนังปิดท้ายไตรภาคซึ่งก็ผ่านการสู้รบปรบมือหารอบหาโรงฉายครั้งใหญ่, ‘บ้านเช่า บูชายัญ’ (2023) หนังเฮอร์เรอร์จาก GDH, ‘Long Live Love!’ (2023) ว่าด้วยผัวไม่เอาไหนที่กลับใจเพราะความจำเสื่อม ซึ่งว่าไปก็ดูจะเป็นหนังโรแมนติก-คอมิดี้เพียงเรื่องเดียวในลำดับนี้ ตามมาด้วย ‘ธี่หยด’ (2023) หนังไทยเรื่องแรกที่เข้าฉายโรง IMAX และ ‘4 Kings’ (2023) ที่ทำรายได้ทะลุ 200 ล้านบาทในสองสัปดาห์แรก

เรายังพินิจความคึกคักของวงการหนังไทยปีนี้ได้ในแง่การที่มันออกเดินทางได้ไปฉายในเทศกาลหนังที่ต่างๆ ทั้ง ‘RedLife’ (2023) ที่ได้ฉายรอบปฐมทัศน์และได้รับเลือกให้เข้าประกวดสาย Asian Future ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว, ‘ดอยบอย’ (2566) ได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน โดยที่ อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดงนำของเรื่องคว้ารางวัลนักแสดงดาวรุ่ง (Rising Star Award) จากงาน Marie Claire with BIFF Asia Star Awards 2023 และ Solids by the Seashore (2023) ที่ได้เข้าฉายในเทศกาลหนังเดียวกันคว้ารางวัล LG OLED New Currents Award และ NETPAC Award หรือหนังไทยที่เข้าฉายในแพล็ตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่าง Hunger (2023) ซึ่งกลายเป็นหนังที่ถูกสตรีมผ่านเน็ตฟลิกซ์มากเป็นอันดับ 1 ของโลกรวมทั้ง ‘มนต์รักนักพากย์’ (2023) และ The Murderer (2023)

ทั้งนี่ยังเป็นปีที่คนทำหนังรุ่น ‘รุ่งโรจน์’ ของหนังไทยทั้งสามคนอย่าง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, นนทรีย์ นิมิบุตร และ เป็นเอก รัตนเรือง กลับมาลงสนามทำหนัง-ซีรีส์พร้อมๆ กัน (และก็น่าสนใจว่าพวกเขาลงเล่นในสนามสตรีมมิ่งกันทั้งสิ้น) รวมทั้งแจ้งเกิดคนทำหนังหน้าใหม่ๆ เช่น เอกลักญ กรรณศรณ์, อัตตา เหมวดี หรือ ปฏิภาณ บุณฑริก

นับว่าตื่นตัว นับว่าคึกคัก แต่ถามว่าเราไปพ้นจากหล่ม ‘วิกฤตศรัทธา’ หรือยัง -นี่น่าจะตอบยาก

Solids by the Seashore (2023)

วิกฤตศรัทธาที่ว่าเป็นภาวะสั่งสมมานาน อาจจะจากวลีซ้ำเดิมที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินมาแล้วอย่าง หนังไทยมีแค่หนังผีกับหนังตลก, หนังไทยทำออกมาดูถูกคนดู, คุณภาพหนังไทยสู้หนังต่างประเทศไม่ได้ ฯลฯ จะถูกหรือผิดนั้นเถียงกันได้ แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งไม่ควรถูกละเลยอย่างยิ่งในบริบทนี้คือ ตลาดการทำหนัง-ฉายหนังในไทยนั้นอยู่ในภาพเล็กแคบมาหลายปี หนังอิสระหาพื้นที่จัดฉายยาก, หนังบางประเภท -ไม่ว่าจะหนังไทยหรือหนังต่างประเทศ- ไม่เคยถูกนำออกไปฉายที่ต่างจังหวัด หรือระบบการให้รอบฉายที่เอื้อให้เกิดการ ‘กินโรง’ อย่างที่ก็เห็นกันมาตลอดเมื่อมีหนังบล็อคบัสเตอร์จากต่างประเทศเข้าฉาย หรือแม้แต่การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้หนังไทยด้วยกันเองอย่าง ‘ทิดน้อย’ (2023) และ ‘ขุนพันธ์ 3’ ที่เรื่องแรกกินเวลาฉายอยู่เดือนกว่า ระดับที่หนังไทยเรื่องอื่นคงไม่กล้าคิดฝัน

ถึงที่สุดเราคงต้องสบตากับปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม ระบบนิเวศของวงการภาพยนตร์ไทยนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่เอื้อให้เกิดการเจริญเติบโตมาช้านาน ทั้งโรงภาพยนตร์ที่ผูกขาดรอบฉาย เอื้อพื้นที่ให้แก่หนังบางประเภทโดยแทบไม่เหลือให้หนังบางประเภท รวมทั้ง ‘สายหนัง’ ที่ทำหน้าที่คัดเลือกหนังที่จะได้ไปฉายต่างจังหวัด สิ่งเหล่านี้ยังผลให้ ‘ตัวเลือก’ ในการรับเสพหนังของคนดูน้อยลงตามไปด้วย และสร้างเป็นมวลของความเคยชิน หนังที่หน้าตาหรือรสชาติผิดไปจากที่่เคยดูก็มักถูกปัดตกว่าไม่มีคุณภาพเอาได้ง่ายๆ เหนือสิ่งอื่นใดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาช้านานและเห็นผลชัดที่สุดคือเรื่องราคาค่าตั๋วของโรงหนัง เราอาจพินิจได้ว่า การไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ก็ต้องใช้ ‘ต้นทุน’ อย่างหนึ่ง ทั้งต้นทุนด้านเวลาที่อย่างต่ำก็กินเวลาราวชั่วโมงครึ่ง และต้นทุนเป็นตัวเงินซึ่งหมายถึงราคาร่วมๆ 250 บาทกรณีที่เป็นหนังเข้าใหม่ ยังไม่ต้องพูดถึงค่าเดินทางหรือค่าอาหารเมื่อคุณตัดสินใจไปดูหนังหนึ่งเรื่องในโรง สิ่งเหล่านี้ทำให้หนังที่ให้รส ‘ผิดสีผิดกลิ่น’ จากที่เคยดูถูกพินิจว่าเป็นความหยาบหรือความไม่ได้เรื่อง ดูยาก ดูไม่รู้เรื่องและไม่สนุกเท่าหนังฟอร์มใหญ่ เพราะเมื่อคุณลงทุนค่าดูหนังไปเยอะ คุณย่อมคาดหวังสิ่งตอบแทนที่ ‘เต็มเม็ดเต็มหน่วย’ ในแง่ของความบันเทิงซึ่งก็เป็นหมวดหมู่ที่หลายคนจัดภาพยนตร์ไว้ในนี้

สิ่งที่น่าจับตาคือ ตลอดทั้งปี เราเห็นโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมราคาตั๋วตามช่วงเวลาต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ทั้งลดในราคาไม่ถึงหนึ่งร้อย ไปจนถึงราคาธนบัตรเขียวสองใบมีทอนก็เกิดขึ้นมาแล้ว และทุกครั้งที่ลดราคา ก็ปรากฏว่าคนต่อแถวกันซื้อตั๋วเข้าไปดูแน่นขนัด ภาพนี้คงพอตอบคำถามได้ว่าแท้จริงแล้วคนไทยอาจไม่ได้หมดศรัทธาต่อตัวหนังขนาดนั้น แต่ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะเงื่อนไขด้านค่าตั๋วเป็นสำคัญ -เทียบกันแล้ว ถ้าต้องดูหนังสักเรื่องในโรงด้วยราคาแบงค์แดงสามใบ การเลือกจ่ายให้หนังต่างประเทศที่การันตีด้านโปรดักชั่นและการผลิตต่างๆ ก็อาจถือว่า ‘คุ้ม’

Hunger (2023)

ความคุ้นเคยจากการผูกขาด ราคาตั๋วทำให้คนไม่กล้าเสี่ยงกระโจนไปดูหนังไทยใหม่ๆ ในโรง และนี่ก็นับเป็นหนึ่งในความพิกลพิการของระบบนิเวศของอุตสาหกรรมหนังไทยที่เห็นได้ชัดตลอดหลายปีที่ผ่านมา แผลที่ใหญ่กว่านั้นคือการที่เราแทบไม่มีแรงผลิตคนทำหนังหน้าใหม่ๆ ขึ้นมาได้เลยเพราะมีโอกาสที่ทุกคนจะบาดเจ็บตั้งแต่ลงเล่นนัดแรก เรามีสตูดิโอทำหนังไม่กี่แห่ง และไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือใหญ่ ทุกคนก็ดูต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการ ‘เจ็บตัว’ ไม่ต่างกันนัก (แต่จะเจ็บหนักแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับสายป่านอีกทีหนึ่ง -แต่แน่นอนว่าพวก ‘ตัวเล็ก’ มักเจ็บหนักและนาน) อาการหวาดหวั่นต่อการต้องเจ็บตัวนี้ทำให้หลายครั้ง สตูดิโอพากันผลิตหนังรูปแบบเดิมๆ ที่เชื่อว่าจะขายได้ในตลาดออกมา รู้ตัวอีกทีเราก็มีแต่หนังรัก, ตลกและผีแน่นขนัด ซึ่งแน่นอนว่าไม่ผิดอะไร เพียงแค่ว่าหนังฌ็องอื่นๆ รสชาติอื่นๆ แทบไม่มีโอกาสได้ถูกสร้างจากความหวาดหวั่นกลัวผิดกลิ่นตลาด นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่าถ้าคุณเป็นคนทำหนังหน้าใหม่ ระบบนิเวศที่อำมหิตเช่นนี้จะลงกิโยตินใส่คุณทันทีที่คุณทำหนังเรื่องแรกแล้วไม่ประสบความสำเร็จ

ในสภาพฝืดเคืองเช่นนี้ ภาวะตื่นตัว คึกคักที่เราเห็นในวงการหนังไทยปี 2023 จึงไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ หนังเรื่องหนึ่งจะทำเงินระดับปรากฏการณ์ได้โดยง่าย หากแต่มันเกิดจากการลงแรง แลกหมัดใส่ระบบที่แสนจะไม่เป็นมิตรของคนทำหนังทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ ทั้งที่ยังยืนระยะอยู่และทั้งที่ปล่อยมือจากวงการนี้ไปแล้ว มันเกิดขึ้นจากการค่อยๆ สั่งสม ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ สร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมที่แทบไม่เกิดการเปลี่ยนน้ำผลัดใบนี้

ยากจะทำนายว่าปี 2024 ที่จะถึงนี้ วงการหนังไทยจะเป็นอย่างไร หากแต่วัดจากความคึกคักของช่วงปลายปีนี้ และการโอบกอดคนทำหนังรุ่นใหญ่เท่ากับที่มีพื้นที่ให้คนทำหนังหน้าใหม่ๆ ได้วาดลวดลายบ้าง ตลอดจนมีหนัง ‘รสอื่นๆ’ ถูกพูดถึงอยู่เป็นระยะๆ ตลอดทั้งปี ก็นับว่าเป็นหมุดหมายที่น่าจับตา

เราอาจยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าอุตสาหกรรมหนังไทยไปพ้นจาก ‘วิกฤตศรัทธา’ แล้ว แต่หากบรรยากาศยังเป็นเช่นนี้ในความหมายว่าเรายังได้เห็นความหลากหลาย ความกล้าได้กล้าเสียของสตูดิโอเล็กใหญ่และคนทำหนังทั้งหน้าใหม่หน้าเก่าของปีนี้ ปีหน้าก็ดูมีความหวังและความน่าตื่นตาตื่นใจให้ตั้งตารอกันไม่น้อยทีเดียว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save