fbpx

มองผ่านน้ำตาท่านผู้นำ: ปัญหาอัตราเกิดต่ำในเกาหลีเหนือและนโยบายเพิ่มประชากรประเทศคอมมิวนิสต์

เมื่อเดือนธันวาคม 2023 ‘คิม จอง อึน’ ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือตั้งโต๊ะแถลงการณ์ถึงประชาชนโสมแดง โดยกล่าวทั้งน้ำตาระหว่างงานที่จัดขึ้นเพื่อคุณแม่ว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศลดลง การเลี้ยงดูเด็กให้ดีนั้นเป็นหน้าที่ที่พวกเราทุกคนจะต้องทำงานร่วมกับเหล่าคุณแม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อนึกถึงแนวคิดการมีลูกในหลักการสังคมนิยมแล้ว ภาพสำคัญที่เกิดขึ้นคือการสร้างสวัสดิการรอบด้านที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงความคิดของผู้คนในรัฐต่อแนวคิดการมีลูกได้ เพราะนอกจากดัชนีชี้วัดอย่างวัฒนธรรม รายได้ หรืออายุแล้ว ดัชนีด้านความสุขก็ส่งผลต่อการเจริญพันธุ์และการมีลูกเช่นเดียวกัน[1]

เมื่อมองตัวอย่างในอดีตของประเทศยุโรปตะวันออก (Eastern Bloc) ในยุคที่เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ผู้คนต่างได้รับสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้จนทำให้ชีวิตไม่ถึงกับเคร่งเครียดหรือต้องแข่งขันกันทำมาหากินเท่ากับหลายประเทศในฝั่งทุนนิยม ในสภาพเช่นนี้น่าชวนคิดว่า การมีชีวิตอยู่ในประเทศสังคมนิยมที่ไม่ต้องเครียดกับการแข่งขัน รัฐพร้อมสนับสนุนสวัสดิการในการมีลูก และไม่ต้องกังวลถึงการหาทรัพยากรในการเลี้ยงคนหนึ่งคนให้เติบโต ทั้งหมดนี้น่าจะมีอิทธิพลต่อเรื่องชีวิตบนเตียงและการตัดสินใจมีลูกของผู้คนในโลกสังคมนิยม แต่เมื่อมองปัญหาเด็กเกิดน้อยของเกาหลีเหนือในปัจจุบันก็ชวนคิดว่าแท้จริงแล้วปัญหาเรื่องนี้คืออะไร?

สังคมคอมมิวนิสต์กับเซ็กส์ที่ดี

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบสิ้น ประเทศต่างๆ ในฝั่งตะวันออก (Eastern Bloc) ภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์ต่างพยายามผันตัวเองเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม จึงต้องการประชากรเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ได้พกพาเอาแนวคิด ‘ความเท่าเทียมกันทางเพศ’ เข้าไปยังแต่ละประเทศ จนมีงานวิจัยที่ชี้ว่าในยุคนั้นสตรีในประเทศคอมมิวนิสต์มีความสุขกับเรื่องทางเพศมากกว่าฝั่งทุนนิยม

นิวยอร์กไทมส์[2] เผยงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ชิ้นหนึ่งว่า หลังจากเยอรมนีรวมชาติในปี 1990 แล้ว สตรีในเยอรมนีตะวันออกที่แม้จะต้องทำงานทั้งนอกบ้านและในบ้าน กลับถึงจุดสุดยอดของความรู้สึกทางเพศมากกว่าสตรีในเยอรมนีตะวันตก เพราะแม้พวกเธอจะมีความสุขกับเงินเก็บ แถมยังไม่จำเป็นต้องทำงานนอกบ้าน แต่กลับมีเซ็กส์น้อยกว่า ความต้องการทางเพศต่ำ และขาดความสุขที่พึงได้รับจากเรื่องบนเตียง

สำหรับการเลี้ยงดูบุตร ในเยอรมนีตะวันออกมีทั้งโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็ก อีกทั้งยังให้สิทธิบรรดาคุณแม่ลาคลอดโดยที่ไม่ต้องลาออกจากงาน ต่างกับหลายประเทศทุนนิยมในช่วงปี 1960-1980 ที่ยังไม่คำนึงถึงการให้สิทธิลาคลอดเท่าทุกวันนี้

นอกจากเยอรมนีแล้ว สถานการณ์ในประเทศยุโรปอื่นๆ ก็ไม่ต่างกันนัก นิวยอร์กไทมส์เผยบทสัมภาษณ์จากสตรีสูงวัยชาวบัลแกเรียท่านหนึ่งว่า โลกทุนนิยมเสรีทำให้การสร้างบรรยากาศแห่งความรักมันอับเฉา ต่างกับช่วงเวลาในยุคคอมมิวนิสต์ที่มีความสุขกว่ามาก รวมถึงในเชโกสโลวาเกีย หากย้อนกลับไปก่อนปี 1989 รัฐบาลเคยให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ และความสุขของสตรีมากกว่าปัจจุบันเสียอีก[3]

สตรีในกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ยุโรปไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแต่งงานหรือหาลำไพ่พิเศษทางเพศเพื่อเงิน ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลประเทศสังคมนิยม ไม่ว่าจะในบัลแกเรีย โปแลนด์ ฮังการี เชโกสโลวาเกีย หรือแม้กระทั่งเยอรมนีตะวันอออก ต่างหยิบยื่นเงินช่วยเหลือพิเศษเพื่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ตลอดจนสตรีที่หย่าร้างหรือเป็นหม้าย

จะเห็นว่าในช่วงปี 1950-1980 ที่ความเท่าเทียมในสถานที่ทำงานของสตรีทั่วโลกยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากเช่นทุกวันนี้ แต่ประเทศกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์กลับเปิดโอกาสให้สตรีได้มีความเท่าเทียมทางเพศและอยู่ในสภาวะที่มีความเครียดน้อยกว่าโลกทุนนิยม อย่างไรก็ตาม ประเทศคอมมิวนิสต์ก็ยังประสบปัญหาการเกิดต่ำลงโดยเฉพาะในช่วงปี 1980

นโยบายเอื้ออัตราการเกิด (pronatalist policies) ของโรมาเนีย

ปัญหาเรื่องอัตราการเกิดต่ำไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในช่วงปี 1960 หนึ่งในประเทศคอมมิวนิสต์อย่างโรมาเนียเคยประสบปัญหาประชากรลดลง เช่นเดียวกับเชโกสโลวาเกียและฮังการี จนอาจจะกระทบถึงศักยภาพการเติบโตของประเทศในอนาคต จึงต้องออกนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนการผลิตประชากรให้ทันตามความต้องการ

ก่อนหน้านี้ โรมาเนียภายใต้แนวคิดสังคมนิยมนั้นเคยมีแนวคิดสวัสดิการก้าวหน้า อย่างเรื่องกฎหมายการทำแท้งที่มีจำนวนการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายสูงถึง 1,115,000 เคสในปี 1965[4] รวมไปถึงการนำเข้ายาคุมกำเนิด ซึ่งนโยบายเหล่านี้ทำให้อัตราการเกิดของโรมาเนียลดต่ำลงอย่างมาก

นิโคไล เชาเชสกู (Nicolae Ceausescu) ประธานาธิบดีโรมาเนียแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียในขณะนั้น ตกอยู่ในวิบากกรรมเดียวกันกับหลานชายของสหายคิม อิล ซุง ผู้นำตลอดกาลของเกาหลีเหนือ โดยเชาเชสกูตระหนักถึงอัตราการลดลงของประชากร อันเป็นผลมาจากแนวคิดสวัสดิการดังกล่าว จึงให้สภาคลอดกฎหมายเพื่อควบคุมการทำแท้ง ออกกฎเกณฑ์ให้ชาวโรมาเนียหย่าร้างได้ยากยิ่งขึ้น แถมยังขึ้นภาษีเงินได้ 30% สำหรับบุคคลที่อายุเกิน 25 ปีที่ยังไม่มีบุตร รวมไปถึงห้ามนำเข้ายาคุมกำเนิด[5]

เพื่อกระตุ้นให้สตรีชาวโรมาเนียมีบุตรมากขึ้น รัฐบาลคอมมิวนิสต์ยังออกประกาศเกียรติบัตร ‘คุณแม่ยอดฮีโร่’ ให้กับคุณแม่ที่ให้กำเนิดและเลี้ยงบุตรจำนวน 10 คนขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น เชาเชสกูยังออกคำสั่งให้สตรีชาวโรมาเนียเข้ารับการตรวจทางสูตินารีเป็นประจำ เพื่อหาทางลดอัตราเสี่ยงแท้งบุตร โดยนโยบายและกฎหมายเหล่านี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาด้านจำนวนประชากรเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นความต้องการของรัฐที่อยากโยกย้ายประชากรที่เดิมอยู่ในภาคการเกษตร ให้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นด้วย

นโยบายเอื้ออัตราการเกิดของโรมาเนียประสบผลสำเร็จ จากเดิมในปี 1965 จำนวนประชากรโรมาเนียอยู่ที่ 13.98 ล้านคน ได้กระโดดขึ้นมาที่ 20.55 ล้านคนในปี 1970 อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศเข้าสู่ทุนนิยม อัตราการเกิดค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจากที่มีประชากร 23.49 ล้านคนในปี 1990 กลับลดลงมาเหลือ 21.42 ล้านคนในปี 2005[6]

เซ็กส์ดี สวัสดิการพร้อม แต่ไม่ตอบโจทย์การเพิ่มประชากร

หากคำนึงถึงหลักการของสังคมนิยมที่รัฐจะต้องจัดหาสวัสดิการเพื่อรองรับประชากรในประเทศ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มประชากรที่โยงไปถึงการจัดการด้านการศึกษาให้กับบรรดาเด็กๆ หรือนักบุกเบิกรุ่นเยาว์ แต่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้านประชากรกลับไม่ได้เป็นไปตามที่อนุมานไว้ตามที่กล่าวในข้างต้น แม้ว่าชีวิตบนเตียงของประชากรในประเทศคอมมิวนิสต์จะดีกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบรรดาสหายคู่รักจะตั้งใจผลิตลูก

นับตั้งแต่ปี 1950 จำนวนประชากรเยอรมนีตะวันออกอยู่ที่ 18.388 ล้านคน ขณะที่เยอรมนีตะวันตกอยู่ที่ 50.958 ล้านคน แต่ในปี 1989 ก่อนที่สองเยอรมนีจะรวมกัน ประชากรเยอรมนีตะวันออกมีจำนวน 16.434 ล้านคน ส่วนเยอรมนีตะวันตกมีมากถึง 62.679 ล้านคน[7]

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการมีบุตรลดลงในกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์เริ่มปรากฏขึ้นในช่วงปี 1980[8] ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสวัสดิการที่เอื้อให้สตรีมีความสุขทางเพศได้โดยไม่ต้องมีบุตร ทั้งๆ ที่รัฐจัดหาสวัสดิการขั้นพื้นฐานทั้งหมดให้สามารถเลี้ยงดูลูกได้อย่างไม่ต้องปากกัดตีนถีบ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาตั้งแต่แรกคลอด ที่อยู่ การศึกษา หรือแม้แต่คูปองแลกอาหาร ที่แม้ว่าท้ายที่สุด สภาวะรัฐที่โอบอุ้มทุกคนจะต้องถึงจุดจบเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในเยอรมนี[9]

ม่านเหล็กสูญสลาย ภาวะมีบุตรซบเซา

หลังจากที่เหตุการณ์กำแพงเบอร์ลินนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ประเทศคอมมิวนิสต์เดิมก็สลายตัวเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตยและสมาทานทุนนิยม การเปลี่ยนแปลงระบอบนี้เองที่กระทบอย่างจังต่อแนวคิดการมีบุตรของคนในประเทศเหล่านั้น

ปัจจัยทางเศรษฐกิจและปัจจัยความไม่มั่นคงหลังการเปลี่ยนผ่านการปกครองส่งผลให้อัตราการเกิดลดลง[10] โดยมีสาเหตุหลักมาจากที่รัฐบาลละทิ้งแนวคิดสังคมนิยม ทำให้ทุกคนต้องหาเลี้ยงชีพ ปากกัดตีนถีบเพื่อเลี้ยงลูกและปากท้องของตนเอง

ระบอบที่เปลี่ยนแปลงไม่เพียงทำให้คนมีลูกน้อยลง แต่รวมไปถึงความสุขที่มากับเซ็กส์ก็ลดลงด้วย เนื่องจากความเหนื่อยล้าที่สั่งสมมาจากการทำงานจนไม่มีเวลา ‘ทำการบ้าน’ และแนวโน้มของลัทธิสังคมนิยมในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่อาจอ่อนลงในบางมิติ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น สาธารณรัฐสังคมนิยมฮังการีที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในยุคสังคมนิยม จากเดิมในปี 1950 ที่มีประชากรอยู่ที่ 9.3 ล้านคนมาเป็น 10.69 ล้านคนซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในปี 1980 หลังจากนั้นจำนวนประชากรก็เริ่มลดเรื่อยๆ อย่างในปี 1985 ประชากรฮังการีลดลงมาอยู่ที่ 10.54 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบ โดยมีประชากรราว 10.375 ล้านคนในปี 1990 และลดลงเหลือ 10.370 ล้านคนในปี 1992[11] ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจและปัจจัยทางการเมืองที่ไม่มั่นคง

เมื่อระบบเศรษฐกิจไม่สัมพันธ์ ความสุขก็เกิดลำบาก

แม้ข้อสังเกตข้างต้นจะทำให้เราอนุมานว่า ระบบทุนนิยมทำให้คนทำงานหนักเพื่อสร้างตัวจนมีความสุขในเรื่องรักๆ ใคร่ๆ น้อยลง ส่งผลให้ประชากรเกิดใหม่ลดน้อยลงไปด้วย แต่ก็ยังไม่สามารถใช้เป็นข้อสรุปสุดท้ายได้อยู่ดี เพราะเกาหลีเหนือกลับเผชิญกับวิกฤตที่พิสูจน์แล้วว่า สังคมนิยมที่รัฐจัดหาสวัสดิการให้ทุกคนนั้นอาจไม่ใช่คำตอบของการมีลูกเสมอไป การบีบน้ำตาของ คิม จอง อึน อาจจัดได้ว่าเป็นรัฐนาฏกรรมชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจของผู้นำในการชี้นำคนในประเทศให้มีลูกและช่วยเหลือคุณแม่ แต่การแสดงจากผู้นำโสมแดงครั้งนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ หากเศรษฐกิจยังไม่ทิ้งการต่อต้านทุนนิยม และพึ่งพิงตนเองตามแนวคิดแบบจูเช่ (Juche) ที่เน้นพึ่งพาการผลิตและการบริโภคในประเทศ

รัฐบาลโสมแดงเคยออกนโยบายกระตุ้นให้คนมีบุตรที่เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปี 1990 ทั้งประกาศห้ามทำแท้งและอุดหนุนเงินช่วยเหลือให้กับครอบครัวที่มีบุตรเกิน 3 คน แต่เมื่อรัฐบาลโซเวียตล่มสลาย โสมแดงจึงประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร และนโยบายอุดหนุนการมีบุตรที่เปลี่ยนแปลงทำให้ชาวเกาหลีเหนือต้องคิดให้ดีก่อนที่จะมีบุตร

ปัญหาการเกิดต่ำในเกาหลีเหนือมีผลมาจากทั้งความสำเร็จในการพัฒนาและล้มเหลวทางเศรษฐกิจในเวลาเดียวกัน เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและเอาตัวรอดโดยเอาหลังพิงพี่ใหญ่จีน ขณะเดียวกันก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าในการจัดหาสวัสดิการให้กับประชาชนที่ยังอยู่ภายใต้เส้นความยากจนเป็นจำนวนไม่น้อย

นอกจากนี้ ปัญหาการเกิดต่ำจากเกาหลีเหนือมีความเป็นไปได้สูงว่าได้รับผลกระทบจากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนอาหารอย่างหนักในช่วงทศวรรษ 1990 และสภาพอากาศที่โหดร้ายบริเวณคาบสมุทรเกาหลี ทั้งอากาศหนาวและน้ำท่วมไร่นา จนไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

อาจพูดได้ว่า แนวคิดแบบสังคมนิยมที่พุ่งเป้าสร้างสวรรค์บนดินให้กับมนุษย์ตั้งแต่ครรภ์มารดายันเชิงตะกอนได้หายสิ้นไปเสียแล้ว ยิ่งในกรณีเกาหลีเหนือ ดูเหมือนว่าการบีบน้ำตาของนายน้อย ‘คิม’ คงจะไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับการสร้างวาทะทางการเมือง หากรัฐบาลโสมแดงไม่สร้างความเป็นอยู่ให้สหายรากหญ้าได้อยู่ดีกินดีขึ้นจนสามารถมีความสุขได้จริงๆ และเร่งผลิตลูกให้ทันตามที่รัฐต้องการ

เกาหลีเหนือเกาะกระแสประชากรโลกลดลง

หากสำรวจข้อมูลประชากรจะพบว่า เกาหลีเหนือมีประชากรอยู่จำนวน 26.2 ล้านคน แต่อัตราการเติบโตไม่ได้อยู่ในเทรนด์ขาขึ้นเหมือนในช่วงทศวรรษ 1980 ที่มีค่าเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 1.49%[12] ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกาะกระแสโลกในช่วงเดียวกับที่ประชากรโลกขยายตัว แต่ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมานี้ จำนวนประชากรของเกาหลีเหนือเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยมาก โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.37% เท่านั้น

ข้อมูลจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund) คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2024 อัตราการเกิดเทียบต่อมารดาหนึ่งคนของเกาหลีเหนืออยู่ที่ 1.8 คน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำ ก็เท่ากับว่าเกาหลีเหนือกำลังเดินหน้าเข้าสู่วิกฤตประชากรลด ซึ่งเป็นปัญหาหนักหัวข้อเดียวกับที่ประเทศโลกที่หนึ่งเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ที่มีอัตราการเกิดต่อมารดาหนึ่งคนที่ 0.9 คน และญี่ปุ่น อยู่ที่ 1.3 คน

ที่น่าสนใจก็คือ ประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ อย่างเวียดนามก็มีตัวเลขที่ไม่หนีเกาหลีเหนือมากนัก โดยอยู่ที่ 1.9 คน สปป.ลาวอยู่ที่ 2.4 คน จีน 1.2 คน และคิวบาอยู่ที่ 1.2 คน

แม้จะเผชิญปัญหาเดียวกันอยู่ แต่เกาหลีเหนือยังมีความแตกต่างจากประเทศสังคมนิยมร่วมสมัยหลายประเทศในยุคนี้ กล่าวคือ ในขณะที่ประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ ทั้งลูกพี่ใหญ่อย่างจีน หรือสหายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง สปป.ลาว และเวียดนาม ต่างก็สมาทานตนเข้ากับโลกทุนนิยมอย่างกลมเกลียวและละทิ้งรัฐสวัสดิการสังคมนิยมแบบสมัยสงครามเย็นไปอย่างสิ้นเชิง

ขณะเดียวกันเกาหลีเหนือยังคงความเป็นสังคมนิยมพึ่งพาตนเองแบบจูเช่ แม้แนวคิดนี้จะตอบโจทย์การกินใช้ภายในประเทศ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตและความสุขของประชากรที่ยังแร้นแค้นอยู่ดี แตกต่างจากประเทศคอมมิวนิสต์อื่นอย่างจีน หรือเวียดนามที่ประชากรมีอันจะกินมากขึ้น อันเป็นผลมาจากความพยายามพัฒนาเศรษฐกิจให้เท่าทันเวทีโลก

ทั้งนี้อาจไม่มีใครการันตีได้ว่า รูปแบบการปกครองแบบใดจะช่วยเพิ่มความสุขจนประชาชนตัดสินใจปั๊มลูก คุณภาพชีวิตและสวัสดิการรัฐที่ดีจะเข้ามาโอบอุ้มเป็นตาข่ายทางสังคมรองรับต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสุขแก่ประชากรที่ไม่ต้องปากกัดตีนถีบมากเกินไป ดังนั้นหากรัฐต้องการสนับสนุนให้คนมีลูกเพื่อเพิ่มจำนวนประชากร การสร้างคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีให้แก่ประชาชนจึงเป็นเรื่องจำเป็น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save