fbpx

เมื่อสหายหิว: ความล้มเหลวทางอาหารในเยอรมนีตะวันออกก่อนรวมชาติ

หลังจากที่เยอรมนีถูกแบ่งแยกเป็นสองประเทศเป็นเวลาเกือบห้าทศวรรษนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสองประเทศก็กลับมารวมชาติกันอีกครั้งในปี 1990 และถือเอาวันที่ 3 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันรำลึกถึงการรวมชาติ ตุลาคมจึงเป็นเดือนสำคัญของประเทศเยอรมนี

ในเชิงความรับรู้ ผู้คนจำนวนมากมักเห็นการเผยแพร่วัฒนธรรมหรือการโฆษณาจากเยอรมนีตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ปัจจุบันการถ่ายทอดประวัติศาสตร์เยอรมนีตะวันออกและวัฒนธรรมในสมัยสังคมนิยมมักปรากฏผ่านภาพยนตร์บางเรื่อง พิพิธภัณฑ์ และหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือผู้คนที่อยู่ในโลกทุนนิยมตะวันตกมักจะไม่ค่อยเห็นภาพความพยายามของรัฐคอมมิวนิสต์ในการสร้างความกินดีอยู่ดี รวมไปถึงความมั่นคงในชีวิตตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

ความพยายามของรัฐเยอรมนีตะวันออกที่พยายามสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนบางส่วนได้กลายเป็นกระแสการรำลึกความหลัง ความเป็นเยอรมันตะวันออกถูกก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาอีกครั้งผ่านสินค้าที่เคยผลิตขึ้นในช่วงปีทศวรรษที่ 1940 ถึง 1980 จนมีการเล่นคำที่เรียกว่า โอสตาลกี หรือ Ostalgie ที่เป็นการประกอบคำระหว่างคำว่า ost หรือ โอสต์ ที่แปลว่าตะวันออกในภาษาเยอรมัน และคำว่า nostalgie ที่หมายถึงการรำลึกความหลัง ซึ่งมีความหมายถึงการรำลึกความเป็นเยอรมันตะวันออกนั่นเอง

ในมุมมองของประชาชนภาพจำหนึ่งที่ชัดเจนของ ‘ความเป็นเยอรมันตะวันออก’ คืออาหารสิ่งของเครื่องใช้ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน อันสัมพันธ์กับนโยบายการจัดการอาหารของรัฐ โดยที่ในขณะนั้นต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการกำจัดความหิวโหย แต่ด้วยหลักจัดการเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ที่รัฐมีหน้าที่จัดหาสินค้าอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชนในราคาที่เข้าถึงได้แบบเท่าเทียม ก็นำไปสู่สภาวะการขาดแคลน ซึ่งรวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือยด้วย

การต่อสู้กับสภาวะหิวโหย

เรื่องราวที่สะท้อนความเป็นเยอรมนีตะวันออกได้ดีที่สุดอย่างหนึ่งก็คือวัฒนธรรมการบริโภคที่สะท้อนผ่านนโยบายจัดหาอาหารโดยรัฐ ซึ่งเยอรมนีตะวันออกจะมีร้านสะดวกซื้อของรัฐหรือร้านค้าสหกรณ์ที่มีชื่อว่า คอนซุม (Konsum) และฮาโอ (HO-Handelsorganisation) ซึ่งต่อมาสินค้าในร้านเหล่านี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเยอรมันตะวันออก 

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1940s สภาพของเยอรมนีทั้งตะวันออกและตะวันตกต่างอยู่ในสภาวะฟื้นฟูบ้านเมืองและพยายามหลีกหนีจากสภาวะที่เรียกว่า ‘ปีแห่งความหิวโหย’ จนรัฐบาลสังคมนิยมออกแสตมป์แลกอาหารให้กับประชาชนเพื่อให้ชาวเยอรมันตะวันออกได้อิ่มท้องตามนโยบายของรัฐ 

นอกจากนี้รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกยังวางเป้าหมายสนับสนุนการผลิตอาหารสำเร็จรูปในประเทศและแลกเปลี่ยนอาหารระหว่างประเทศคอมมิวนิสต์ด้วยกันเอง โดยมีการแนะนำให้ทำอาหารนานาชาติโดยใช้วัตถุดิบจากประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น ซุป Solyanka ซึ่งเป็นอาหารโซเวียต Lecho อาหารฮังการี และอาหารโรมาเนีย รวมไปถึงการนำเข้าวัตถุดิบจำพวกน้ำตาลจากคิวบา รวมไปถึงอาหารบางชนิดจากคองโกและประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ

รัฐบาลสังคมนิยมเอาอาหารเหล่านั้นไปวางขายในร้านค้าสหกรณ์ของรัฐเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกหนีจากสภาวะหิวโหยหลังสงคราม และต้องการเอาชนะเยอรมนีตะวันตกในเรื่องของความเป็นอยู่

ถึงแม้ว่าเยอรมนีตะวันออกจะสามารถแก้ไขปัญหาความหิวโหยได้ช่วงหนึ่งโดยอาหารส่วนใหญ่มักจะประกอบไปด้วยเนื้อ เนย และไขมัน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่พ้นสภาวะขาดแคลนอาหารจำพวกดังกล่าว จนวาลเตอร์ อูลบริคต์ (Walter Ulbricht) อดีตผู้นำเยอรมนีตะวันออกคนแรก (ดำรงตำแหน่งช่วงปี 1950-1971) ถึงกับออกแคมเปญให้สหายในชาติบริโภคผักบ้าง 

แต่นโยบายของอูลบริคต์ก็ยังไม่ทำให้เยอรมนีตะวันออกหลีกหนีปัญหาการขาดแคลนอาหารได้ ในช่วงประมาณปี 1958 ร้านค้าสหกรณ์ของเยอรมนีตะวันออกเริ่มเข้าสู่สภาวะขาดแคลนอาหารจำพวกผัก ผลไม้ มันฝรั่ง เนื้อ นม อีกทั้งยังมีปัญหาในการนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศเขตเมืองร้อน ไม่ว่าจะเป็นส้ม กล้วย ช็อกโกแลต และกาแฟ 

หากลองจิตนาการในช่วงทศวรรษที่ 1950 ซึ่งหลายประเทศอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านระบอบ โดยฉพาะประเทศคอมมิวนิสต์หลายประเทศก็อยู่ในสภาพเพิ่งก่อตั้ง ดังนั้นปัจจัยการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจึงไม่อยู่ในระดับที่สามารถส่งออกในปริมาณมากได้ มากไปกว่านั้นคือการทำตามหลักการทางด้านเศรษฐกิจการผลิตแบบคอมมิวนิสต์ที่มักจะพุ่งเป้าไปในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหนักมากกว่าสินค้าเกษตร 

ดังนั้นในมุมมองเปรียบเทียบระหว่างประเทศทุนนิยมและคอมมิวนิสต์ กลุ่มประเทศทุนนิยมคงความได้เปรียบในเรื่องการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ในเรื่องอุตสาหกรรมหนักต้องยกให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่มีวิทยาการก้าวหน้ากว่าโดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น อย่างการส่งมนุษย์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศและเทคโนโลยีอวกาศ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม เยอรมนีตะวันออกไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร แต่ยังรวมไปถึงบรรดาประเทศคอมมิวนิสต์อีกหลายแห่งในยุโรปตะวันออกที่มักจะเห็นภาพผู้คนต่อแถวรอซื้อขนมปังในหน้าหนังสือประวัติศาสตร์ 

แต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลเยอรมนีตะวันออกจะนิ่งเฉยต่อการขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังกังวลต่อความไม่พอใจของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านอันเนื่องมาจากสภาวะขาดแคลนอาหาร โดยในช่วงทศวรรษที่ 1960 อุตสาหกรรมการเกษตรเริ่มกลับเข้าร่องเข้ารอย จนกระทั่งมีการออกแคมเปญบอกประชาชนว่า “ช่วยกันกินไข่อีกสักใบ (Iss Noch ein Ei)” เนื่องจากอาหารชนิดอื่นไม่เพียงพอต่อตลาด รัฐจึงตั้งใจให้ประชาชนหันมาบริโภคไข่ราคาถูกที่รัฐจัดหามาให้

นอกจากนี้รัฐบาลยังหาวิธีการนำสินค้าชนิดอื่นเข้ามาทดแทนเนื้อที่ขาดแคลน อย่างเช่นเมนูปลาทอดรอตชต็อก (Rostocker Fischstaebchen) มากกว่านั้นรัฐบาลยังผ่อนคลายและเปิดช่องให้ผู้คนที่มีกำลังซื้อ (ซึ่งก็หมายถึงคนที่มีกำลังทรัพย์มากพอในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ) สามารถเข้าถึงสินค้าพิเศษจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากเยอรมนีตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกาแฟ

ขาดแคลนสินค้าฟุ่มเฟือย

ในสังคมเยอรมนีตะวันออก สินค้าที่มักจะติดยอดขายดีเป็นอันดับต้นๆ คือ กาแฟ เบียร์ และบุหรี่ โดยในเยอรมนีตะวันออกมีแนวคิดใหม่เพื่อสร้างความเหนียวแน่นระหว่างคนในสังคมว่า ชาวสังคมนิยมใหม่จักต้องดื่มให้หนักทั้งที่บ้าน กิจกรรมสาธารณะ และในที่ทำงาน 

ค่านิยมดังกล่าวเกิดขึ้นในสังคมเยอรมนีตะวันออกขณะนั้น แม้รัฐบาลจะพยายามให้ประชาชนลดพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ แต่อุตสาหกรรมน้ำเมาก็ถือว่าเป็นรายได้หลักของรัฐบาล โดยไม่จำกัดแค่การผลิตเบียร์ แต่ยังรวมไปถึงเหล้าผลไม้ บรั่นดี และอื่นๆ 

ขณะเดียวกันกาแฟซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยม ในช่วงแรกๆ เยอรมนีตะวันออกนำเข้ากาแฟจากโซเวียต จนกระทั่งปี 1954 เยอรมนีตะวันออกหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นแทน แต่กระนั้นก็ในปี 1977 ประเทศบราซิลประสบปัญหาการเก็บเกี่ยวผลผลิตเมล็ดกาแฟ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์กาแฟในเยอรมนีตะวันออกและกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งองคาพยพของทั้งประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจสังคมนิยมที่รัฐจัดหาสินค้าให้ประชาชนในราคาถูก ขณะที่ชาวเยอรมันตะวันออกมีความต้องการหรือดีมานด์สูงในการซื้อกาแฟ แต่ซัพพลายกลับมีสัดส่วนน้อยลง

นักเศรษฐศาสตร์ชาวฮังกาเรียน János Kornai อธิบายว่าวิกฤตกาแฟที่เกิดขึ้นในเยอรมนีตะวันออกคล้ายกับหลายประเทศคอมมิวนิสต์ที่รัฐบาลเข้าไปควบคุมเศรษฐกิจจนทำให้เกิดสินค้าขาดแคลน 

สภาพเหตุการณ์ในเยอรมนีตะวันออกคือกาแฟราคาถูกที่ผลิตโดยรัฐภายใต้ Kosta ต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราว แต่กาแฟราคาแพงจากต่างประเทศยังคงมีวางจำหน่าย ปัญหาก็คือประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ รัฐบาลในขณะนั้นจึงมีนโยบายเร่งด่วนในการแลกอาวุธกับเมล็ดกาแฟกับประเทศโมซัมบิกและเอธิโอเปีย ตลอดจนเปิดการค้าเพื่อซื้อเมล็ดกาแฟกับประเทศเวียดนาม

ขณะเดียวกันการลักลอบนำเข้ากาแฟจากเยอรมนีตะวันตกที่มักจะส่งมาในรูปแบบของพัสดุไปรษณีย์ก็มีจำนวนสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็รู้เท่าทัน แต่ก็ยากที่จะปราบปรามเพราะพัสดุส่วนใหญ่ส่งมาในรูปแบบของขวัญจากญาติที่อยู่ฝั่งตะวันตก ส่วนญาติที่อยู่ฝั่งตะวันออกมักจะส่งเค้กเฉพาะถิ่นจากเมืองเดรสเดนกลับไป ซึ่งการส่งเค้กกลับไปก็สะเทือนเศรษฐกิจเยอรมนีตะวันออกเช่นกัน เนื่องจากเค้กเดรสเดนต้องใช้ส่วนประกอบอย่าง ลูกเกด อัลมอนด์ และส่วนประกอบจำพวกผลไม้อบแห้ง ที่เยอรมนีตะวันออกต้องนำเข้า

ไม่เพียงแค่กาแฟเท่านั้น บุหรี่ก็เป็นหนึ่งสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีการลักลอบนำเข้าเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าเยอรมนีตะวันออกจะมีโรงงานผลิตที่เพียงพอโดยมีการนำเข้าวัตถุดิบจากบัลแกเรียและคิวบา ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเป็นปัญหาน่าปวดหัวสำหรับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ แต่เนื่องจากบุหรี่ในเยอรมนีตะวันออกส่วนใหญ่จะแรงกว่าบุหรี่ที่มาจากฝั่งตะวันตก ชาวเยอรมันตะวันออกจึงยังลักลอบเอาบุหรี่จากโลกตะวันตกเข้ามาซื้อขายกันในตลาดมืด 

ความผิดพลาดของรัฐคอมมิวนิสต์

การทำความเข้าใจสภาพสังคมของประเทศเยอรมนีตะวันออกจะต้องเข้าใจลักษณะของรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายแบบสังคมนิยม ซึ่งตามหลักการแล้วรัฐมีหน้าที่ในการจัดหาทุกสิ่งทุกอย่างให้ประชาชนได้เข้าถึงอย่างถ้วนหน้า 

ในระยะแรกหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งเยอรมนีตะวันออกและตะวันตกต่างมุ่งหน้าสู่การฟื้นฟูบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้ประชากรอิ่มท้อง 

แต่สิ่งที่เกิดในประเทศแห่งนี้กลับบ่งชี้ว่า รัฐยังขาดประสิทธิภาพในการจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับประชากรในรัฐได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะวิกฤตกาแฟและวิกฤตการขาดแคลนอาหารในบางช่วงเวลา 

ทั้งนี้แนวคิดที่บ่งชี้ถึงการขาดแคลนอาหารย่อมเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยการผลิตและการบริการที่ผิดพลาด ประกอบกับสภาพของประเทศคอมมิวนิสต์ที่เน้นการผลิตที่แตกต่างไปจากประเทศทุนนิยมอื่นๆ ตามที่กล่าวในข้างต้น รัฐคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกพยายามจัดสรรสินค้าและทรัพยากรหลายชนิดให้ทุกคนมีกินมีใช้อย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้ามิใช่การบริโภคมากเกินไป (overconsumption) แบบสังคมทุนนิยมตะวันตก ซึ่งการบริโภคมากเกินความจำเป็นทำให้คนอื่นในสังคมไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมได้ 

แม้ว่าแนวคิดการจัดการเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ที่สัมพันธ์กับผู้คนในรัฐในรูปแบบที่ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมจะดูดี แต่ก็มีข้อเสียที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐยื่นมือเข้ามาจัดการเศรษฐกิจมากเกินไปทำให้ตลาดไม่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการ (demand) และการผลิต (supply) ที่ไม่สอดคล้องกันอันนำไปสู่การขาดแคลนสินค้าหลายชนิด 


อ้างอิง

Jampol, Justinian (2014). Beyond the Wall. Art and Artifacts from the GDR. Cologne:Taschen

Kornai, János (1992). Socialist economy. New Jersey:Princeton University Press

Sigmund, Monika (2003). Kaffee in beiden deutschen Nachkriegsstaaten: Konsum, Diskurs, Deutung und Beziehungen. 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save