fbpx

ชิลี: ผู้เฒ่าแห่งลาตินอเมริกา

สังคมสูงวัย (aged society) เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนเปรียบเสมือนสงครามใหม่ของสังคมลาตินอเมริกาซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนของอัตราการเกิดและจำนวนประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง โดยเฉพาะประเทศชิลีซึ่งได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ตั้งแต่ ค.ศ. 2005 เมื่อสัดส่วนประชากรวัย 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 10 และใน ค.ศ. 2021 ก็ได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (complete aged society) เมื่อสัดส่วนประชากรสูงวัยเกินร้อยละ 20 ก่อนที่ใน ค.ศ. 2036 คาดว่าชิลีจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society) เมื่อสัดส่วนประชากรสูงวัยเกินร้อยละ 28 และประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 ซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบโตเป็นสูงอันดับหนึ่งในลาตินอเมริกา อีกทั้งจำนวนผู้สูงอายุยังมีตัวเลขเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ

การเปลี่ยนแปลงของประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วในชิลีจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน ภาระเกื้อหนุนที่วัยแรงงานต้องแบกรับ การบริการสุขภาพ และบริการด้านสังคมอื่นๆ อายุของคนชิลีก็จะยืนยาวขึ้น โดยในปี 2025 อายุของคนชิลีโดยประมาณจะอยู่ที่ 85 ปี ยิ่งอายุยาวนานขึ้น ทำให้ยิ่งต้องเตรียมเงินเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปัญหาค่าครองชีพก็จะทำให้ของแพงขึ้นและทำให้ค่าเงินในอนาคตลดลงด้วย โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่จะแพงขึ้นปีละ 5-8%

นอกจากนี้โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้จำนวนประชากรวัยทำงานมีน้อยลง การพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจจึงจะเติบโตช้าลง ขณะเดียวกันเมื่อเงินเก็บหลังเกษียณไม่เพียงพอ การออมลดลง วัยทำงานก็ต้องรับภาระมากขึ้นและมีเงินลงทุนลดลง ส่วนภาครัฐบาลก็จำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการมากขึ้นเพื่อบริการสังคมทางด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปัญหาทางสุขภาพสำคัญที่อาจเผชิญกันมากขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองแตก และโรคสมองเสื่อม

ด้วยเหตุผลข้างต้น ชิลีได้มีการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ผู้สูงอายุเป็นหลักชัยของสังคม” ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ผู้สูงอายุต้องมีความมั่นคงในสังคม (security) มีสุขภาพที่ดี (healthy aging) มีส่วนร่วมในครอบครัว ชุมชน และสังคม (participation) รวมถึงการยังประโยชน์ต่อบุคคลอื่นในครอบครัว ชุมชนและสังคม

การรับมือกับสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบของชิลี (complete aged society) เป็นประเด็นหลักที่ทุกภาคส่วนของสังคมจะต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกันขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ รวมไปจนถึงการเตรียมความพร้อมในระดับบุคคล และการเตรียมความพร้อมเชิงระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย โดยรัฐบาลชิลีได้กำหนดให้สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ และได้สานต่อแผนผู้สูงอายุแห่งชาติอันเป็นการเตรียมพร้อมสังคมชิลีเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจากการประเมินผลแผนปฏิบัติการยังพบปัญหาการดำเนินงานบางด้านที่ต้องปรับปรุง เช่น การเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ การส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุ และการคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการดำเนินนโยบายและมาตรการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุหลายประการ เช่น มาตรการด้านหลักประกันรายได้ มาตรการด้านที่อยู่อาศัย มาตรการด้านสุขภาพ และมาตรการด้านการประกอบอาชีพ โดยหนึ่งในประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือการดำเนินการปรับโครงสร้างกำลังคนของประเทศ โดยในส่วนของผู้สูงอายุได้วางเป้าหมายที่จะสร้างความมั่นคงให้เป็น “สังคมผู้สูงอายุที่มีพลัง” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พฤฒิพลัง (active aging society) ใน 7 มิติ ประกอบด้วย (1) ความสุข เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสุขอย่างยั่งยืน (2) สุขภาพ เพื่อการแพทย์ปฐมภูมิเข้าถึงผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง (3) ที่อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้สูงอายุมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง (4) การออม เพื่อให้มีเงินออมไว้ใช้ในยามเกษียณที่เพียงพอ (5) นวัตกรรม เพื่อสร้างตลาดนวัตกรรมผู้สูงอายุ (6) สภาพแวดล้อมปลอดภัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความปลอดภัย (7) ความมั่นคง เพื่อให้มีระบบสวัสดิการเพื่อสังคมอย่างเป็นระบบ

จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่าประเด็น ‘สวัสดิการสังคม’ เป็นประเด็นสำคัญในการรองรับสังคมสูงวัย เนื่องจากสวัสดิการสังคมเป็นระบบการบริการทางสังคมเกี่ยวกับการป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนาและการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม และให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรม และบริการทางสังคมทั่วไป โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ

ปัจจุบัน ชิลีมีรูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ 4 รูปแบบ คือ (1) การประกันสังคม (2) การช่วยเหลือสาธารณะ (3) การบริการสังคม และ (4) การช่วยเหลือเกื้อกูลของภาคประชาชน

แต่แนวทางสวัสดิการสังคมของชิลียังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ เช่น (1) การขาดการบูรณาการและขาดความต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึง การดำเนินงานด้านสวัสดิการผู้สูงอายุแยกส่วนระหว่างงานด้านสุขภาพกับงานด้านสังคม กระจายความรับผิดชอบตามหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ (2) การขาดการนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง (3) ความไม่พร้อมของงบประมาณและการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านผู้สูงอายุโดยตรง และ (4) สวัสดิการสังคมที่รัฐจัดให้กับผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้สูงอายุ ไม่สามารถตอบสนองปัญหาได้อย่างแท้จริงและไม่ครอบคลุมผู้สูงอายุได้ทั้งหมด และประเด็นสำคัญคือบุตรหลานหรือคนในครอบครัวขาดความตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ (5) การศึกษาพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่รู้สิทธิตามกฎหมายที่พวกเขามี

นอกจากนี้ประชาชนยังมีความคาดหวังต่อการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ โดยหวังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอาใจใส่ดูแล บริการและแนะนำด้านต่างๆ ให้ดูแลทั่วถึงทุกชุมชน, ให้สมาชิกในชุมชนช่วยเหลือผู้อื่น ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีหรือเป็นตัวอย่างที่ดีของชุมชน, ให้ข่าวสารที่ถูกต้องและให้คำแนะนำ, ให้ครอบครัวรักและพอใจในความรักที่มีให้แก่กันและกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง มีความอบอุ่น ห่วงใยซึ่งกันและกัน, ให้ลูกหลานดูแลเอาใจใส่ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ และคาดหวังให้ตัวของผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรม เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี และเป็นที่เคารพของคนในชุมชน

การจัดสวัสดิการสังคมสำหรับสังคมสูงวัยนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องการบูรณาการจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทั้งยังต้องวางมาตรการพร้อมกันในทุกมิติทั้งระบบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการขับเคลื่อน เริ่มตั้งแต่การเตรียมความพร้อมให้ประชากรชิลีเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงอายุคงความเป็นพฤฒิพลังยาวนานที่สุด สามารถใช้ชีวิตยามสูงวัยอย่างมีคุณภาพในทุกมิติ ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

ภาคส่วนหนึ่งที่นับว่าต้องมีบทบาทสำคัญคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะตามแนวคิดการบริหารราชการแผ่นดินมุ่งเน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทหลักในการจัดสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ให้ประชาชนทุกคนในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เนื่องจากเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จึงย่อมรับรู้เข้าใจสภาพปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดียิ่ง และสามารถเข้าถึงประชากรสูงอายุในพื้นที่ได้ดีที่สุด เร็วที่สุด และทันต่อเหตุการณ์ได้ โดยมีราชการส่วนกลางเป็นผู้กำหนดมาตรฐานการส่งเสริมและสนับสนุน ตลอดจนการติดตามประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า ข้อกฎหมายยังเป็นอุปสรรคไม่เอื้อต่อการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินภารกิจดังกล่าวได้ จึงถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของชิลีทักท้วง จนทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้เพราะมิใช่เจ้าของภารกิจ จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินบทบาทภารกิจการดูแลและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในชุมชนและการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยภายใต้บริบทของชุมชนที่มีความแตกต่างกันไปในทุกมิติ

ปัญหาการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนับว่ามีมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การดำเนินงานผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากการสุ่มตรวจสอบ 20 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่ยังไม่มีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมการเตรียมความพร้อมของประชาชนเพื่อวัยสูงอายุตามมาตรการให้การศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 19 แห่ง หรือคิดเป็น 95% ของจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สุ่มตรวจสอบไม่จัดทำและพัฒนาระบบข้อมูลผู้สูงอายุตามยุทธศาสตร์การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่สามารถกำหนดนโยบายมาตรการหรือแผนงานในการจัดสวัสดิการและบริการด้านผู้สูงอายุได้ตรงตามปัญหาความต้องการ หรือให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง ส่งผลต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและประสิทธิภาพการจ่ายเงินงบประมาณ

ขณะที่กรณีปัญหาการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกการดำเนินงานคุ้มครองทางสังคมด้านรายได้สำหรับผู้สูงอายุนั้น จากการตรวจสอบองค์กร 20 แห่ง พบว่า มี 15 แห่ง หรือคิดเป็น 75% จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีการจ่ายให้กับผู้สูงอายุที่ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุที่สิ้นสุดสิทธิการรับเบี้ยยังชีพ ทำให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐไม่เกิดประโยชน์ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย และรัฐต้องจ่ายเงินซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ ข้อมูลผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน เสี่ยงต่อสิทธิของผู้สูงอายุที่จะไม่ได้รับเงินหรือได้รับล่าช้า รวมถึงอาจส่งผลต่อหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องใช้ข้อมูลระบบสารสนเทศเพื่อวางแผนขอตั้งงบประมาณและจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่ำกว่าความเป็นจริง และเป็นภาระต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมภายหลัง

ส่วนในประเด็นการจัดบริการของสถานสงเคราะห์คนชรานั้นก็พบว่าไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด เช่น สถานสงเคราะห์คนชราบางแห่งไม่รับผู้สูงอายุข้ามพื้นที่เขตการปกครอง มีผู้รับผิดชอบดูแลผู้สูงอายุไม่เป็นไปตามมาตรฐานการจัดบริการของสถานสงเคราะห์คนชรา สภาพแวดล้อมที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ส่งผลให้ผู้สูงอายุในภูมิลำเนาอื่นที่ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนเสียโอกาสในการได้รับการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งได้รับบริการที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยทางร่างกาย และสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ยังพบว่า การบูรณาการการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านผู้สูงวัยร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ ยังไม่เป็นระบบนัก ขึ้นกับภาวะผู้นําขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีบทบาทเพียงผู้ร่วมกิจกรรมและผู้รับบริการ นโยบายส่วนใหญ่สะท้อนแนวคิดการสงเคราะห์มากกว่าจะเป็นการเสริมพลังอำนาจ (empower) ของผู้สูงอายุ และกิจกรรมที่จัดส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมทั่วไปและขาดความหลากหลาย เช่น การออกกําลังกาย ศาสนา การศึกษาดูงาน การฟังบรรยาย การทำกิจกรรมตามนโยบายรัฐ แต่ขาดกิจกรรมในเชิงพัฒนาที่ช่วยเสริมสถานภาพของผู้สูงอายุในสังคม เช่น การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาสหรือมีภาวะพึ่งพิง และกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน/สังคม เป็นต้น

ปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งในการเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัยของชิลี คือปัญหาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีส่วนสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนชิลี และมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัย ดังนั้น ในสถานการณ์สังคมสูงวัยของชิลี จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนมาตรการรองรับสังคมสูงวัย ทำให้คนชิลีอายุยืนในทุกมิติทั้งมิติเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม แต่ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้กับการทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรเพื่อรองรับสังคมสูงวัยคนชิลีอายุยืน ยังมีปัญหาหลายประการ อาทิ

(1) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยของชิลียังไม่รองรับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายงบประมาณด้านดิจิทัลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้วยงบประมาณของตนเองได้ เพราะเป็นภารกิจที่ซ้ำซ้อนกับกับหน่วยงานภาครัฐอื่น

(2) ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี ประกอบกับความกังวลในเรื่องการขาดความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย ทำให้ผู้สูงอายุเข้าไม่ถึงและไม่ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ

(3) ปัญหาการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงจากสังคมบนโลกออนไลน์ และการได้รับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนไม่เป็นความจริง (fake news)

(4) นวัตกรรมที่ผลิตขึ้นไม่รองรับและสอดคล้องกับการเชื่อมต่อ/สัญญาณในชิลี รวมถึงการขอใบอนุญาตจากภาครัฐที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่เอื้อต่อการดำเนินงาน

(5) การทดลองนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศมีขั้นตอนและระยะเวลาในการทดลองใช้นวัตกรรม ประมาณ 6 เดือน และหากมีการนำเข้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมชิ้นใหม่ต้องใช้ระยะเวลาในขั้นตอนการขอใบอนุญาตนำเข้าแต่ละกรณี จึงทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นไปอย่างล่าช้าและขาดความต่อเนื่อง

(6) ต้นทุนการผลิตนวัตกรรมสูง ทำให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนไม่สามารถเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี

เมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่าหลายหน่วยงานมีแผนและโครงการในการส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุในลักษณะต่างคนต่างทำ รูปแบบการรวมตัวของผู้สูงอายุมีหลายรูปแบบ เช่น ชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ และการรวมกลุ่มตามกิจกรรมของคนต่างวัย แต่กลไกการรวมกลุ่มเหล่านี้ดำเนินการแยกส่วนและไม่มีความเชื่อมโยงกันของกลไก กลายเป็นปัญหาสำคัญต่อการดำเนินงานของรัฐบาลชิลีในปัจจุบัน

จากทั้งหมดที่ได้กล่าวมา เห็นได้ว่านวัตกรรมการจัดการสวัสดิการสังคมเพื่อผู้สูงวัยถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับชิลีในวันนี้ โดยสมควรต้องมีแนวทางการจัดการที่เหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่เพื่อรองรับสังคมสูงวัยของชิลี และทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดอายุขัยของเขา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save