fbpx

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา: ผลงานและความคิด (4)

การศึกษาชนชาติไท

…ผมเริ่มสนใจค้นคว้าเรื่องชนชาติไทนอกประเทศไทยครั้งแรกจากการได้รับรู้เรื่อง ไทอาหม จากการสนทนากับนักประวัติศาสตร์ชาวไทอาหม ศาสตราจารย์ ดร. Jogendra Nath Phukan ในปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) ต่อมาผมได้อ่านหนังสือ กาเลหม่านไต เป็นภาษาไท คำที่แปลว่าไปเที่ยวบ้านไท ของท่านอาจารย์บรรจบ (พันธุเมธา ขยายความโดยผู้เขียน) อาจารย์บรรจบเขียนว่าด้วยคนไทในรัฐอัสสัมที่ท่านไปศึกษาใน พ.ศ. 2498 ผมได้แรงบันดาลใจเรื่องวิธีการศึกษาและประทับใจกับความมุ่งมั่นของท่านอาจารย์บรรจบ…”[1]

นี่เป็นคำกล่าวโดยสรุปของฉัตรทิพย์ นาถสุภา เมื่อ พ.ศ. 2542 ถึงงานของบรรจบ พันธุเมธาที่ทำการศึกษาคนไทในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดียเมื่อ 68 ปีก่อน ซึ่งต่อมาฉัตรทิพย์ได้ต่อยอดศึกษาคนชนชาติไทที่กระจายตัวอยู่ในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ในมลรัฐอัสสัมของอินเดีย เมียนมา ไทย จีนตอนใต้ สปป.ลาว และเวียดนาม อย่างน่าสนใจ

การศึกษาของฉัตรทิพย์พบว่า ชนชาติไทใช้ภาษาตระกูลไท ตระกูลภาษาเดียวกันมีจำนวนรวมกันประมาณมากกว่า 100 ล้านคน ประกอบด้วย ชาวไทตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 85 ล้านคน ชาวไทดำ ไทขาว และไทอื่นๆ ในสิบสองจุไท 67 ล้านคน เวียดนาม 5 ล้านคน ชาวลาวใน สปป.ลาว 5 ล้านคน ชาวไทลื้อในสิบสองพันนา 1 ล้านคน ชาวฉานหรือไทใหญ่ในเมียนมาและจีน 5 ล้านคน ชาวไทอาหม-ใช้ภาษาไทเฉพาะในพิธีกรรม-และไทอื่นในรัฐอัสสัม 3 ล้านคน และยังมีชาวไทอื่นในประเทศจีนตอนใต้อีกกว่า 20 ล้านคน คือไทจ้วงในมณฑลกวางสี 17 ล้านคน ต้งในมณฑลกุ้ยโจว 3 ล้านคน ปู้ยี ก่ำ สุย เก้อหล่า และหลี่ ในมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว และไหหลำ รวมหลายล้านคน[2]

ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบของชนชาติไทย: วิธีวิทยาของฉัตรทิพย์

ฉัตรทิพย์ใช้วิธีการศึกษาชนชาติไทแบบประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ ไทเป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่มาก อย่างน้อยประมาณ 3,000 ปี โดยภาษาตระกูลไทน่าจะเป็นภาษาของชาวรัฐเยว่ตอนใต้ของจีนยุคชุนชิว ต่อมาชนชาติและวัฒนธรรมนี้แพร่ขยายไปในเขตจีนตอนใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบน ปรากฏเป็นสังคม การเมือง และรัฐต่างๆ เข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมอันมีที่ตั้งและชนชาติข้างเคียงที่ต่างกัน ชนชาติไทแต่ละกลุ่มที่เดินทางมาตั้งถิ่นฐานนี้มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและสังคมที่ต่างกัน การศึกษาประวัติศาสตร์เปรียบเทียบระหว่างชนชาติไทกลุ่มต่างๆ ที่มีประวัติเริ่มต้นเดียวกัน แต่ต่อมาพัฒนาแยกกลุ่มกัน จึงเหมาะสำหรับชนชาติที่มีความเป็นมามีลักษณะพิเศษอย่างนี้ อีกทั้งการศึกษาด้วยวิธีวิทยาเฉพาะของวิชาประวัติศาสตร์ สามารถทำได้เพราะชนชาติไทแทบทุกกลุ่มล้วนมีบันทึกเอกสารตัวเขียนภาษาไท กลุ่มไทจ้วงบันทึกเอกสารด้วยอักษร ‘สืบดิบ’ เก่าแก่ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7

ชนชาติไท: ความหมายและความสำคัญ

พรพิไล เลิศวิชา ลูกศิษย์คนสำคัญของฉัตรทิพย์ ถือว่างานวิจัยชุดชนชาติไท เป็นงานวิจัยที่ฉัตรทิพย์และคณะทำการค้นคว้าประวัติศาสตร์ของชนชาติไทในระดับรากฐาน โดยย้อนกลับไปปลายสุดของอดีตของชาติไทยเอง[3]

คณะวิจัยของฉัตรทิพย์ในการศึกษาชนชาติไทยประกอบด้วยนักวิชาการและนักศึกษาชาวไทยและชาวต่างประเทศ 15 คน เดินทางไปยังตอนใต้ของจีน เพื่อวิจัย ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมของชนชาติไท โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ใช้เวลา 3 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2538-2541 จากโครงการนี้มีการผลิตหนังสือเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของชนชาติไทในที่ต่างๆ 14 เล่ม อาทิ สิบสองจุไท (ภัททิยา ยิมเรวัต) สิบสองพันนา (ยรรยง จิระนคร และ รัตนาพร เศรษฐกุล) หลักช้าง (ยศ สันตสมบัติ) ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมไทยใหญ่ (สมพงษ์ วิทยศักดิ์พันธ์) คนยองย้ายแผ่นดิน (แสวง มาละแซม) และ ฟ้า-ขวัญ-เมือง (รณี เลิศเลื่อมใส) เป็นต้น

การย้อนกลับไปศึกษาเรื่องชนชาติไทของฉัตรทิพย์ จริงๆ แล้วอธิบายด้วยโลกทัศน์การแสวงหาความรู้ของอาจารย์เอง ที่ไม่ว่าศึกษาเรื่องใดก็มักมองข้ามไปจนสุดทางข้างหน้า และย้อนไปจนสุดทางข้างหลังของสิ่งนั้น ดังที่ฉัตรทิพย์เคยอธิบายว่า[4]

“…ถ้าเราอยากจะรู้จักอะไร เราควรรู้จักจากที่ลึกที่สุด เราจะเข้าใจสิ่งนั้นได้ดีที่สุด เราศึกษาประวัติของคน เราศึกษาย้อนประวัติของพ่อแม่ ปู่ ย่า ตายาย ได้มากเท่าไรยิ่งดี การศึกษารากและจุดก่อเกิด หรือผมขอเรียกว่า formation กระบวนการกำเนิด กระบวนการก่อรูป เป็นสิ่งสำคัญ มันไม่ใช่เป็นแบบสำเร็จ ที่เห็นอยู่นี้ ไม่ใช่มาได้เอง ทุกอย่างมีการก่อรูป มีประวัติศาสตร์ มีราก มีบางคนกล่าวว่า ผมต้องการศึกษา Prototype อันนั้นผมก็ศึกษาด้วย แต่มาพูดถึงกระบวนการการถึงจะดีกว่า คือเป็นกระบวนการพัฒนาการเป็น process of formation เรามีรากหลายอย่างร่วมกันกับคนไทลื้อในสิบสองพันนา แต่คนไทลื้อเมื่อมาถึงจุดหนึ่งเขาก็มีของเขาเมื่อมาเจอกับจีน เราอยู่ในเขตแดนตอนใน เมื่อเปรียบเทียบกับเราซึ่งอยู่ใกล้ทะเลออกมา เราเปิดต่อต่างประเทศมาก นี่เป็นการศึกษากระบวนการก่อรูป เปรียบเทียบเฉพาะในชนชาติเดียวกันแต่ต่างที่ ต่างประสบการณ์ ถ้าเราตัดแค่อยุธยาเราเข้าใจได้ไม่พอ เราตอบไม่ได้ ลักษณะชุมชนต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่เมื่อไร อย่างไร ลึกซึ้งแค่ไหน แม้จะย้อนไปถึงสุโขทัยก็ไม่พอต้องย้อนไปให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะวัฒนธรรมของเรามีมายาวนาน เอกสารจีนเขียนไว้ เป็นคำภาษาไทแต่จดเป็นภาษาจีนตั้ง 2,000 ปีมานี้ ในเมื่อเราสอบค้นไปได้เราก็น่าจะต้องศึกษา ไม่เห็นว่าจะมีทางเลือกอื่น…”

ความคิดชาตินิยมแบบใหม่

ผลพวงของงานศึกษาของชาติมหาอำนาจตะวันตก ผสมผสานการค้นคว้า การเดินทางสำรวจของหมอสอนศาสนาที่เดินทางไปเผยแพร่ศาสนาตามรอยต่อบริเวณตั้งแต่ตอนใต้ของจีน ตอนเหนือของเวียดนาม สปป.ลาว ไทย เมียนมา อัสสัมในอินเดียในยุคล่าอาณานิคม[5] มีผลต่อการเขียนประวัติศาสตร์ของปราชญ์ไทยที่เน้นการรุกรานจากจีน จนถอยร่นลงมาอยู่บริเวณดินแดนสุวรรณภูมิปัจจุบัน เพื่อใช้ประวัติศาสตร์เพื่อประโยชน์ทางการเมือง[6] ในยุคสร้างชาติ ยุคลัทธิชาตินิยมเฟื่องฟู แนวคิดการถูกจีนรุกรานจนถอยไม่ได้อีกแล้วนี้ถูกนำมาใช้อีกครั้งในยุคเผด็จการทหาร ใช้อ้างปราบปรามขบวนการฝ่ายซ้าย และสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามคอมมิวนิสต์[7]

ในความเห็นของฉัตรทิพย์ ไทยศึกษาที่มองจากชาวบ้าน ชุมชน และท้องถิ่น เน้นความสัมพันธ์แบบเอื้ออารีมีน้ำใจ สนใจบทบาทของชาวบ้านและท้องถิ่น ศึกษาวรรณกรรมบอกเล่าของท้องถิ่น มองเห็นความงามในสายตาของชาวบ้าน และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมชุมชนและชนชาติ ไทยศึกษาแบบนี้หวนกลับมาหาความเป็นไทย (และไท) และวิพากษ์ไทยศึกษาแบบรัฐ หากเป็นการวิพากษ์จากจุดยืนภายในประเทศเอง ซึ่งมีลักษณะเป็นท้องถิ่นและชาตินิยม ทำให้ง่ายอาจจะปิดแคบจนบางครั้งอาจโน้มเอียง ไม่เคารพความหลากหลาย[8] นอกจากนี้ แนวทางการศึกษาสังคมไทยหรือไทยศึกษาในระยะแรกเป็นแบบฝรั่งศึกษาไทย[9] แต่การศึกษาชนชาติไทของฉัตรทิพย์ไปไกลกว่านั้นมาก

ในความเห็นของ กัญญา ลีลาสัย[10] ฉัตรทิพย์ศึกษาวัฒนธรรมไทโบราณ คล้ายๆ กับเป็นเรื่องการหารากของสังคมและวัฒนธรรมไท ที่เป็นงานสืบเนื่องทั้งทางประวัติศาสตร์และทางวัฒนธรรมชุมชน แต่น่าจะมีอะไรที่มากกว่านี้ เพราะเพื่อที่จะเสนอความคิดชาตินิยมแบบใหม่ที่มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมชุมชน ก็ต้องแสวงหาความร่วมมือจากชนชั้นกลางและชนชั้นอื่นๆ แต่เมื่อปฏิเสธรัฐแล้วจะหาอะไรที่สามารถสะท้อนจิตสำนึกร่วมของความเป็นชาติได้ คิดว่าน่าจะเป็น วัฒนธรรมไทโบราณ เพราะนอกจากสามารถเพิ่มเติมให้แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนมีความชัดเจนมากขึ้น น่าจะดึงดูดใจให้ความในส่วนต่างๆ ของสังคมไทยสนใจสืบสาวหาอดีตร่วมกันของตนเอง

อดีตของคนเรานั้นยิ่งสาวไปไกลเท่าไรก็จะยิ่งพบญาติพี่น้องมากเท่านั้น การสาวอดีตไปไกลๆ จึงน่าผูกพันผู้คนที่มีความแปลกแยกแตกต่างกันได้ เมื่อพบว่าชนชาติไทนอกประเทศยังรักษาวัฒนธรรมไทโบราณไว้มาก ยิ่งพบว่าเอกลักษณ์ร่วมของชนชาติไทคือความมีน้ำใจ ซึ่งฉัตรทิพย์มักเน้นเสมอว่าชนชาติไทมีน้ำใจอยู่มากจนเป็นลักษณะพิเศษ ด้วยเหตุนี้ ฉัตรทิพย์จึงไม่ลังเลไปทุ่มค้นหาอดีต เพราะเห็นว่ามีความหมายต่อการดำรงอยู่ การฟื้นฟูและการพัฒนาวัฒนธรรมไทยในวันข้างหน้า นอกจากนั้นยังเป็นการขยายความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายชุมชนในประเทศไทยให้ขยายไปยังกลุ่มชนเผ่าไทนอกประเทศด้วย[11]

มีการวิจารณ์ว่า งานศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชนชาติไทสะท้อนความคิด ‘คลั่งชาติ’ และเป็นการคิดขยายรัฐและขยายอิทธิพลของชาติ บ้างก็ว่าเป็นชาตินิยมคับแคบปิดตัวเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอก แต่กัญญา ลีลาลัยกลับเห็นต่างว่าไม่น่าจะมีกำแพงอะไรมาขวางกั้นการศึกษาการเรียนรู้ตัวเราเอง จากตัวตน ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงชาติพันธุ์ มวลมนุษย์ และสรรพชีวิต แล้วเธอยังเห็นด้วยว่า ความทรงจำจากยุครัฐนิยมอาจทำให้คนวิตกกังวลว่าจะเกิด Pan-Thai[12] ในขณะที่ฉัตรทิพย์เองอธิบายว่า แนวการศึกษาของของเขาไม่ใช่และไม่เหมือนแนวของหลวงวิจิตรวาทการ แต่พื้นฐานหลักคือศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชุมชนไท เพื่อให้เข้าใจสังคมไทยลึกขึ้น ว่าชนชาติไทมีญาติพี่น้องกระจายทั่วภูมิภาค มีความรักต่อกัน[13] ต่างจากการศึกษาแบบชาตินิยมคับแคบ

เอาเข้าจริงๆ มีนักวิชาการและปัญญาชนหลายคนเห็นว่า ความคิดของอาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภาเป็นอนาธิปไตย[14] มากกว่าชาตินิยม ซึ่งดูได้จากงานในช่วงทศวรรษ 2510-2520 ที่ผลิตงานเรื่องประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย เป็นสังคมนิยม เป็นมาร์กซิส ที่วิจารณ์ความอ่อนด้อยในวิถีการผลิต[15] วิจารณ์ว่ามีวิถีการผลิตแบบเอเชีย (Asiatic Mode of Production) แบบที่คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) วิเคราะห์ โดยมีการผลิตซ้ำอุดมการณ์ทุนนิยม อันเป็นทุนนิยมใต้ระบบศักดินาของทุนนิยมไทยหลังจากที่ระบบทุนนิยมโลกแทรกซึมในสังคมไทยจากการเปิดประเทศด้วยสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) พ.ศ. 2398

การศึกษาชนชาติไทในจีน

ฉัตรทิพย์ทำการศึกษาเศรษฐกิจและสังคมเปรียบเทียบมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การศึกษาเศรษฐกิจและสังคมเปรียบเทียบยุโรป ลาตินอเมริกา สำหรับสังคมไทย ฉัตรทิพย์ศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมช่วงหลัง พ.ศ. 2398 ควบคู่ไปกับการศึกษาการเปลี่ยนผ่าน (transition period) สังคมศักดินาสู่ทุนนิยมเปรียบเทียบ นอกจากนี้ ฉัตรทิพย์ยังศึกษาการเป็นสมัยใหม่ (modernity) ในสังคมต่างๆ ได้แก่ รัสเซีย เยอรมนี ลาตินอเมริกา อินเดีย และจีน โดยศึกษารากเหง้าทั้งแนวคิดชุมชน ปรับใช้กับแนวคิดของนักคิดสังคมสมัยใหม่คนสำคัญระดับโลกเช่น คาร์ล มาร์ก, มัคส์ เวเบอร์ (Max Weber) และฟรีดริช นีทเชอ (Friderich Nietzsche) แล้วนำมาศึกษาการเป็นสมัยใหม่ของไทยและแนวคิดชุมชน ซึ่งปรากฏในหนังสือสำคัญเรื่อง การเป็นสมัยใหม่กับแนวคิดชุมชน[16]

ในแง่นี้กล่าวได้ว่า ผลงานและความคิดทางวิชาการของฉัตรทิพย์มีแบบแผนและเป็นระบบ กล่าวคือมีการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ทั้งกระแสหลักและทวนกระแส ใช้ข้อมูลชั้นต้นที่เป็นเอกสารทางการ จดหมายเหตุ งานวิจัยภาคสนาม ใช้ประวัติศาสตร์บอกเล่า ในขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยข้อมูลพื้นฐานสถิติ วิพากษ์และวิเคราะห์ข้อมูล โดยอาศัยทฤษฎีสังคมศาสตร์สำคัญของนักคิดคนสำคัญของโลก พร้อมกับทำวิจัยเปรียบเทียบในต่างประเทศและต่างสังคม ข้อเด่นอีกประการคือฉัตรทิพย์พยายามลดข้อจำกัดด้านภาษา เช่น การศึกษาสังคมและเศรษฐกิจจีนด้วยการอาศัยงานแปลเอกสารจากผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน โดยเฉพาะเรื่องชนชาติไท ในอัสสัม อินเดีย ไทลื้อในสิบสองพันนา ไทใหญ่ ไทคง ในยูนนาน-จีน ไทฉานในเมียนมา ไทดำไทขาวในสิบสองจุไท-เวียดนาม ผู้แปลภาษาและล่ามท้องถิ่นจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ผลงานและความคิดของฉัตรทิพย์สมบูรณ์

ผู้เขียนขอขยายความเรื่องงานศึกษาชนชาติไทในจีน[17] อีกสักนิด สำหรับฉัตรทิพย์ความสำคัญและความยากในการศึกษาชนชาติไทในจีนคือ เศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2553 และมีประชากรกว่า 1,425 ล้านคน เมื่อเปิดประเทศในช่วงปลายทศวรรษ 2520 จีนก็ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วแทบทุกด้าน แล้วยังมีพรมแดนห่างไทยเพียง 200 กิโลเมตร ในขณะเดียวกัน คนพูดภาษาตระกูลไทและวัฒนธรรมที่คล้ายไทยก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากทางตอนใต้ของประเทศจีน[18] พลวัตเช่นนี้ทำให้การศึกษาชนชาติไทในจีนตลอดช่วง 30 ปีมาแล้วมีความซับซ้อนและจำเป็นต้องทำต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า ชนชาติไทเป็นงานวิจัยที่ฉัตรทิพย์มีความดื่มด่ำมุ่งมั่น (passion) เป็นพรมแดนความรู้ใหม่ ( frontier of knowledge) ไม่ใช่แค่ทำวิจัยเพียงเพราะอยากได้รับค่าจ้างค่าตอบแทน[19]

จากการทำงานวิจัยชุดนี้ ฉัตรทิพย์และคณะสรุปว่า พวกเขามีความรู้เรื่องชนชาติไทในจีนสองกลุ่มเพิ่มขึ้นมาก คือไทลื้อในสิบสองพันนา และไทใหญ่ในเขตไต้คง ทั้งสองกลุ่มคนไทนี้อยู่ในมณฑลยูนนาน ขณะเดียวกัน งานค้นคว้าว่าด้วยกลุ่มคนไทอื่นในเขตประเทศอื่นในโครงการก็มีส่วนช่วยให้ภาพสังคมและวัฒนธรรมชนชาติไทโบราณ โดยเฉพาะในส่วนของระบบชุมชนหมู่บ้านชัดเจนขึ้น

งานของฉัตรทิพย์และคณะ ยืนยันลักษณะความเป็นชุมชนเข้มข้นของสังคมและวัฒนธรรมชาวบ้านไทในทางเศรษฐกิจ ชาวไทใช้ระบบที่โยงยึดการครอบครองและใช้ประโยชน์จากที่ดินกับการเป็นสมาชิกของครอบครัวและหมู่บ้าน มีการแบ่งการครอบครองที่ดินใหม่เป็นระยะๆ ตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว (land repartition) ระบบนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาทั้งในเขตสิบสองพันนาและเขตสหพันธรัฐฉานใต้คง จนกระทั่งจีนเปลี่ยนระบอบเป็นสังคมนิยม

ชนชาติไทมีการทำมาหากิน ปลูกข้าวนาดำ เจริญมากกว่าชาวเขาเผ่าอื่นในจีนตอนใต้และเอเชียอาคเนย์ตอนบน สามารถจัดบริการสาธารณะ โดยเฉพาะขุดคลองชลประทานเพื่อการปลูกข้าว ประกอบเป็นสังคมขนาดใหญ่ เกิดเมือง ประกอบเป็นรัฐขึ้นมาได้ และเมืองอาจรวมกันเป็นเครือข่ายแบบสมาพันธรัฐ (confederation) ที่โครงการวิจัยได้ศึกษาคือสมาพันธ์รัฐไทลื้อสิบสองพันนา สมาพันธ์รัฐฉานดอกไม้ขาวในอาณาเขตมณฑลยูนนานในจีนปัจจุบัน และสมาพันธ์รัฐไทดำสิบสองจุไทอาณาเขตเวียดนามปัจจุบัน ซึ่งมีระบบสังคมและการปกครองแบบสหพันธรัฐ [เรียกเป็นสหพันธรัฐ (federation) แต่ตามความเป็นจริงเป็นแบบสมาพันธรัฐ (confederation) ที่แต่ละนครรัฐ (city state) มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์หรือเกือบสมบูรณ์[20]]

ในแง่ของวัฒนธรรมและภาษา ฉัตรทิพย์พบว่า วัฒนธรรมและภาษาไทมีอาณาเขตกว้างขวาง ครอบคลุมหลายพื้นที่ ตั้งหลักแหล่งในที่ราบลุ่ม ชนชาติอื่นที่อาศัยอยู่บนภูเขา เมื่อลงมายังที่ราบเพื่อค้าขายใช้ภาษาไทเป็นภาษากลาง ผู้คนในเขตจีนตอนใต้และเอเชียอาคเนย์ตอนบนหลายอาณาเขตเป็นสังคมที่มีภาษาและวัฒนธรรมไทเป็นสำคัญ

ระหว่างการทำวิจัยชนชาติไท ฉัตรทิพย์นำข้อค้นพบบางประการที่ได้มาใช้สอนในมหาวิทยาลัยด้วย โดยเปิดสอนวิชา ประวัติศาสตร์จีน ค.ศ. 1900-1949 ในหลักสูตรปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในหลักสูตรฉัตรทิพย์ได้คิดวิเคราะห์ถึง อัตลักษณ์ (identity) ของภาคใต้ของจีน ได้แก่ ความเข้มข้นของแนวคิดธรรมชาตินิยม ปรัชญาแบบเต๋า ลัทธิอนาธิปัตย์นิยม (anarchism หรือ libertarian socialism) ขบวนการและการต่อสู้ของชาวนาต่างไปจากแนวคิดขงจื๊อแบบราชสำนัก หรือแนวคิดสำนักนิติธรรมแบบหานเฟยจื่อ (Han Feizi ประมาณ 280-233 ก่อน ค.ศ.) ทั้งนี้เชื่อกันว่า แนวคิดที่มีผลต่อวัฒธรรมชุมชนไทคือลัทธิเต๋า ซึ่งมีนักคิดคนสำคัญคือเหลาจื่อ (ประมาณ 571-484 ก่อน ค.ศ.) แก่นของแนวคิดนี้คือการเสนอให้รัฐมีอำนาจให้น้อยที่สุด สังคมอุดมคติเป็นสังคมแบบชุมชนขนาดเล็กของชาวบ้านสามัญ สงบ สันติ ไม่มีการแข่งขัน สมาชิกมีแต่ความเมตตาและความกรุณาต่อกัน และพอเพียงในตัวชุมชนเอง

การตีความของฉัตรทิพย์สอดคล้องกับ Oliver Raendchen บรรณาธิการวารสาร Tai Culture มีความเห็นที่สำคัญมากว่า ความคิดของเหล่าจื่อในคัมภีร์เต้าเต๋อจิงไม่ใช่คำสอนศาสนาและไม่ใช่ของชาวจีนฮั่น แต่คือวัตรปฏิบัติที่เป็นจริงของชาวไทและวิธีการมองโลกธรรมชาติและสังคมของชาวไท เป็นระบบคุณค่าทั้งหมดที่ค้ำจุนระบบสังคมของชาวไท เป็นบันทึกวัฒนธรรมของชาวไทบุพกาล ผู้อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของดินแดนประเทศจีน[21] ความคิดนี้มีนักวิชาการคนสำคัญระดับนานาชาติ ศาสตราจารย์ James C. Scott ศึกษาสังคมขอบเขตภูเขาตอนใต้ของจีนและทางเหนือของเอเชียอาคเนย์ เรียกว่าเขต Zomia (คำว่า Zomia เป็นภาษาท้องถิ่นเบงกอล-พม่า ใช้เรียกคนบนที่สูง)[22] ระบุว่าองค์กรของผู้คนในเขตนี้เป็นแบบอนาธิปัตย์ ผู้รักความเป็นอิสระ กลุ่มชนที่อิสระ อำนาจรัฐในเขตนี้อ่อนแอ ณ เขตนี้ การจัดระเบียบสังคมมีแค่ระดับครอบครัว[23] แม้ว่าศาสตราจารย์ Scott จะเน้นสังคมชนเผ่าชาวเขาเป็นหลัก แต่ดินแดนภูมิภาค Zomia นี้คือดินแดนที่ชนชาติไทเป็นชนชาติสำคัญที่อาศัยอยู่[24]

บทส่งท้าย

การศึกษาชนชาติไทของฉัตรทิพย์เป็นงานวิจัยใหญ่ย้อนกลับไปหาราก กระบวนการก่อตัว พัฒนาการ นัยสำคัญทางสังคมและเศรษฐกิจของชนชาติไท ในความเห็นของผู้เขียน งานชุดนี้หาใช่งานวิจัยแนวชาตินิยมที่คับแคบ ที่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองในยุคอำนาจนิยมในไทยอันคล้ายกับยุคอำนาจนิยมของหลายชาติในอดีต ตรงกันข้าม งานวิจัยนี้ยิ่งใหญ่กว่าอคติทางเชื้อชาติใดๆ เปิดรับองค์ความรู้ใหม่ของชนชาติกลุ่มภาษาไทที่กว้างขวางในภูมิภาคเอเชีย แสดงให้เห็นว่าเรามีรากเหง้า มีญาติ มีมิตรที่ใช้ตระกูลภาษาไทเดียวกัน มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน

ที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่งคือ งานวิจัยใหญ่ชุดนี้เป็นความร่วมมือของปราชญ์และนักวิชาการหลายชาติหลายภาษาทั้งไทย จีน เมียนมา เวียดนาม อังกฤษ อเมริกัน ร่วมเดินทางเยือนถิ่นที่ต่างๆ นานหลายปี โดยเป็นทั้งการร่วมเดินทางเชิงกายภาพ และการร่วมเดินทางทางความคิดเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย คุณูปการของงานศึกษาชิ้นนี้สมควรยิ่งต่อเกียรติยศและสรรเสริญทางวิชาการ เหนืออื่นใด ข้อค้นพบของงานที่ยิ่งใหญ่นี้ควรนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการทูตเชิงวัฒนธรรมอันก่อประโยชน์ของความเข้าใจร่วมกันและความรักต่อกัน

โดยส่วนตัวของผู้เขียน ความคิดและผลงานวิชาการชุดชนชาติไทของอาจารย์ฉัตรทิพย์ สะท้อนให้เห็นความพยายามในการประกอบสร้างความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งอาจารย์ทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยังเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งตกผลึกถ่องแท้ในการทำความเข้าใจอนาคตของสังคมระหว่างประเทศที่มีพลวัตสูง ได้อย่างน่าประทับใจ


[1] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, การศึกษาชนชาติไทกับความเข้าใจสังคมไทย ปาฐกถาบรรจบ พันธุเมธา ครั้งที่ 11 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2565 : 7.

[2] เพิ่งอ้าง : 8

[3] พรพิไล เลิศวิชา, ฉัตรทิพย์ นาถสุภา 60 ปีแห่งความคิดและที่มา, สัมมนาของศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่อง “สืบสานความคิด 60 ปี ฉัตรทิพย์-ปรีชา” วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2544 เวลา 9.00-17.00 น. ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : 26

[4] เพิ่งอ้าง., : 27.

[5][5] ดู William Clifton Dodd, The Tai Race-The Elder Brother of the Chinese. หลวงนิเพทย์นิติสรรค์ เรียบเรียงเป็นภาษาไทย ชื่อ ชนชาติไทย

[6] ดู หลางวิจิตรวาทการ, งานค้นคว้าเกี่ยวกับชนชาติไทย กรุงเทพ 2513 เป็นต้น

[7] สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์, “สามทศวรรษไทศึกษาและไทยศึกษา : การศึกษาเปรียบเทียบสังคมและวัฒนธรรม” ฉัตรทิพย์ นาถสุภาและคณะ สถานภาพไทยศึกษา การสำรวจเชิงวิพากษ์, ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หจก. สำนักพิมพ์ตรัสวิน (ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์) 2543 : 49.

[8] คณะบรรณาธิการ, “บทนำ” ฉัตรทิพย์ นาถสุภาและคณะ, สถานภาพไทยศึกษา : การสำรวจเชิงวิพากษ์ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  หจก. สำนักพิมพ์ตรัสวิน (ซิลค์เวอร์มบุ๊คส) 2534

[9] ที่เริ่มต้นจากชาวตะวันตกที่เข้ามาใช้ชีวิตในสยาม ที่ในขณะนั้นยังเป็นประเทศเล็กๆ ที่ล้าหลังทั้งทางเทคโนโลยีและแสนยานุภาพด้านการทหาร ทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาอันยุ่งยากจากการคุกคามของลัทธิอาณานิคม อันบีบให้ราชสำนักต้องปรับตัว สร้างความเป็นเอกภาพในราชอาณาจักร และเพื่อการนี้ นักปราชญ์ในราชสำนักจึงรับเอาวิธีการจัดระเบียบความรู้ในการศึกษาสังคมไทย ในทัศนะของราชสำนักขนาดนั้น เรื่องของสังคมไทยเป็นเรื่องราวของราชวงศ์ พุทธศาสนาและวัฒนธรรม ที่อธิบายจากมุมมองของราชสำนัก

[10] กัญญา ลีลาลัย เป็นผู้นำนักศึกษา นักคิด-นักเขียน ดู หยดหนึ่งในกระแสธาร (2539) อ้างจาก จดหมายอาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ถึงอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ วันที่ 24 สิงหาคม 2566

[11] บทนำเสนอของกัญญา ลีลาลัย, ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมชุมชนและชนชาติไทย (สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2540) : 7-8.

[12] เพิ่งอ้าง : 9.

[13] บทสนทนาระหว่างผู้เขียนกับอาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา พ.ศ. 2560 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[14] อนาธิปไตย (Anarchism) เป็นปรัชญา ขบวนการทางการเมืองที่ตั้งข้อกังขาต่อการให้ความชอบธรรมกับอำนาจ สถาบันใดก็ตามที่มองว่าใช้การบีบบังคับ การจัดลำดับชั้นโดยไม่จำเป็น โดยไม่จำกัดเฉพาะรัฐบาล รัฐชาติ และทุนนิยม

[15] Chatthip Nartasupha, Suthi Prasartset and Montri Chenvitkarn, The Political Economy of Siam 1855-1932 (Thailand Social Science Association, 1978)

[16] บริษัทสำนักพิมพ์ สร้างสรรค์ จำกัด พ.ศ. 2553

[17] ฉัตรทิพย์ นาถสุภาและอุษา โลหะจรูญ (บรรณาธิการ), ชนชาติไทในจีน, บริษัทสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด พ.ศ. 2560

[18] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์การศึกษาชนชาติไทในประเทศจีน, ปาฐกถาพิเศษ การประชุมประจำปีของศูนย์จีนศึกษาและศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมรากุมารี สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2566

[19] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, อ้างแล้ว., : 11.

[20] เพิ่งอ้าง : 13-14.

[21] อาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภาชื่นชอบงานและความคิดของ Oliver Raendchen และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกันหลายครั้ง

[22]  ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อ้างแล้ว., :15.

[23] The Art of NOT Being Governed : An Anarchist History of Upland Southeast Asia, 2009. Scott เป็นคนอเมริกัน เป็นนักมานุษยวิทยาที่มีชื่อเสียงมากในการวิจัยแนว ชาติพันธุ์พรรณาภาคสนาม (ethnographical fieldwork) งานที่มีผลงานเลื่องชื่อคือ The Moral Economy of Peasant : Rebellion and Subsistence in Southeast Asia (Yale University Press,1976) ข้อค้นพบสำคัญคือ หนทางต่างๆที่ชาวนาต่อต้านอำนาจรัฐ ชาวนาชื่นชอบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ใน moral economy ที่ชาวนาร่ำรวยปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า Scott ยังโต้แย้งกลุ่มความคิดกรัมซี่ (Gramscian) เรื่อง อำนาจนำ (hegemony) โดยเขาเห็นว่า การต่อต้านทุกๆวันของผู้อ่อนด้อยแสดงว่าพวกเขาไม่ได้ยินยอม ‘อำนาจนำ’ จากรัฐและกลุ่มทุน ในผลงานชื่อ  Weapons of the Weak : Everyday Forms of Peasant Resistance (Yale University Press 1985) งานนี้เขาทำวิจัย ชาติพันธุ์พรรณาภาคสนามในหมู่บ้านหนึ่งที่เมือง Kedah มาเลเซียนาน 14 เดือนระหว่างปี 1978-1980.

[24] Oiliver Raendchen, “ Tai Ancient Philosophy : tua ta etching or lao-tse (The Right Path)” Tai Culture Vol. 20 2008 และ ชลธิรา สัตยาวัฒนา, ชายชื่น ดำแดงยอดไตย มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง ต้นฉบับ 2022 กำลังพิมพ์เป็นเล่มที่ 3 เล่มชุด อ้างจาก ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อ้างแล้ว., : 16.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save