fbpx

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา: ชีวิตและผลงาน (2)

หนังสือ 60 ปี ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: ภาพประกอบ

ผู้เกิดก่อนกาล

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนสอบเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสมัยนั้นยังรวมแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ ก่อนที่แผนกวิชาดังกล่าวจะแยกตัวเป็นคณะเศรษฐศาสตร์ เท่าที่สอบถามหลายฝ่าย ฉัตรทิพย์เรียนหนังสือเก่ง ภาษาอังกฤษดี ทั้งในด้านการอ่าน พูด และเขียน ความจริง เขาเกิดในครอบครัวผู้มีฐานะ โดยมีคุณพ่อเป็นหมอนายทหารอากาศ[1] นามว่าพลอากาศตรีนายแพทย์ ทิพย์ นาถสุภา โดยจบแพทยศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนไปเรียนต่อด้านแพทยศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ และในภายหลังท่านก็เป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และเป็นรองเจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ[2]

แทนที่ฉัตรทิพย์จะอยู่อย่างสุขสบายเหมือนครอบครัวผู้มีอันจะกินในสังคมไทย แต่กลับเลือกทำงานท้าทายมากกว่านักวิชาการในมหาวิทยาลัย เขาไม่ได้ทำหน้าที่แค่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ทำงานความคิดและผลักดันอุดมการณ์เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้พัฒนาและเท่าเทียม อาจยังไม่ต้องสรุปว่าอุดมการณ์การเมืองของฉัตรทิพย์เป็นอย่างไรแน่ แต่ผลงานของเขามีความรู้ทางทฤษฎีและลัทธิการเมือง ทั้งสอนและเขียนตำราที่ใช้เรียนในหลายมหาวิทยาลัย ในเวลาเดียวกันยังศึกษาทฤษฎีและลัทธิการเมืองใหม่ๆ เสมอมา ทั้งจากการพูดคุยกับเหล่าเพื่อนนักเรียนนอก เช่น วรพุทธิ์ ชัยนาม[3] ซึ่งแนะนำหนังสือทฤษฎีการเมืองตะวันตกให้เขาอ่านและศึกษา และยังมีนักเรียนนอกที่เป็นทั้งคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยและนักหนังสือพิมพ์ที่แวะเวียนพูดคุยกับเขาที่บ้านริมคลองประปาสามเสนอยู่เสมอ เช่น พันศักดิ์ วิญญรัตน์ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์จัตุรัส ในสมัยนั้น

            สังคมไทยในทัศนะ ‘ฉัตรทิพย์สคูล’ (Chattip School)

ฉัตรทิพย์ไม่ได้สนใจเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศมากนัก แต่สนใจประวัติศาสตร์ เขาสนใจทุกอย่างที่เป็น ‘ประวัติศาสตร์’ ดังนั้น ฉัตรทิพย์จึงเลือกสอน ‘ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ’ ทั้งที่คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังสอนวิชาเดียวกันนี้ในอีกหลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฎ (สมัยนั้นเป็นวิทยาลัยครู) หลายแห่ง แต่ประวัติศาสตร์ที่เขาสอนเป็นประวัติศาสตร์แนวใหม่ ที่กระตุ้นให้ผมซึ่งเป็นนิสิตปริญญาโท ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เริ่มไม่สนใจสาขาวิชาของตน มาเลือกลงเรียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเป็นวิชาโทในปี 2522

ผมยังจำวันนั้นได้แม่นยำ อาจารย์ฉัตรทิพย์เอาเทปคาสเซ็ทเพลงคณะราษฎร สมัยปี 2475 มาเปิดด้วยวิทยุเครื่องเล็กที่หิ้วมาสอนในห้องที่ผมเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผมเองสนใจเนื้อเพลงนี้มากๆ เมื่อเข้าไปคุยด้วย อาจารย์ฉัตรทิพย์ก็จดชื่อและความสนใจของผมลงในสมุดเล่มใหญ่ที่พกมาด้วย แล้วแนะนำให้อ่านบทความหลายชิ้นที่เขาเขียน เช่น ‘เศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ไทย’[4] และ ‘เอกสารคำบรรยาย[5] แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์แนวเศรษฐศาสตร์การเมือง’ ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะเป็นบทความที่ท้าทายการศึกษาประวัติศาตร์แนวดั้งเดิมที่สนใจวัน เดือน ปีและเชื่อในทฤษฎีมหาบุรุษ แต่อาจารย์ฉัตรทิพย์สมัยนั้น เขียนเรื่อง ‘ขบถผู้มีบุญอีสาน’[6] และ ‘วิธีการทางประวัติศาสตร์สำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง’ เป็นต้น

เมื่ออาจารย์ฉัตรทิพย์แนะนำให้ผมอ่านงานประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย หนึ่งในงานผลงานของอาจารย์ที่อาจารย์แนะนำคืองานเรื่อง ‘พระยาสุริยานุวัติ’ ผู้เสนอให้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยนั้น แต่บรรดาเจ้านายและข้าราชการระดับสูงสมัยนั้นห้ามเรียน ห้ามอ่าน เป็นหนังสือต้องห้าม[7] ซึ่งผมและเพื่อนๆ ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน นอกจากนั้นอาจารย์ฉัตรทิพย์และคณะยังชักชวนลูกศิษย์ไปเยี่ยมชมสถานที่ประวัติศาสตร์ ได้แก่ บ้านของพระยาสุริยานุวัติ ซึ่งก็คือสำนักงานคณะกรรมการสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแห่งแรกนั้นเอง[8] รวมไปถึงการเยี่ยมชม ‘หมุดคณะราษฎร’ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ไปเยี่ยมและพูดคุยกับ ‘สุภา ศิริมานนท์’ นักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าที่บ้านของท่านที่ฝั่งธนบุรี ไปบ้าน ‘กุหลาบ สายประดิษฐ์’ และไปพบปะพูดคุยกับพี่สาวของ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ที่บ้านพัก

กล่าวได้ว่า ผมและเพื่อนๆ อีกหลายคนตื่นเต้นกับวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจช่วงนั้น ที่มีการจัดสัมมนาว่าด้วยประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหลายครั้งและหลายแห่ง นิสิตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างผมได้เพลิดเพลินกับกระแสความสนใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของอาจารย์ฉัตรทิพย์และคนอื่นๆ อีกหลายท่าน

หากถามว่า ทำไมงาน ‘ประวัติศาสตร์ของฉัตรทิพย์’ จึงน่าสนใจและท้าทาย ผมเห็นว่า เพราะงานของเขาได้ศึกษาหลักฐานประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะจดหมายเหตุ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ที่เขาและบรรดาลูกศิษย์ปริญญาโทประวัติศาสตร์ร่วมกันศึกษาค้นคว้า ซึ่งในขณะนั้นเป็นวิธีการศึกษาแนวใหม่ทั้งในแง่ของวิธีวิทยาและการสร้างคำอธิบาย

อย่างไรก็ตาม ควรบันทึกด้วยว่า จุดเปลี่ยนสำคัญทางความคิดสู่การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยของฉัตรทิพย์น่าสนใจยิ่ง ด้วยว่าวันหนึ่งที่ฉัตรทิพย์กำลังหาซื้อหนังสือเก่าบริเวณร้านหนังสือเก่า บริเวณศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม ติดกับศาลที่สนามหลวงสมัยนั้น ก็มีเสียงดังๆว่า “…พี่จุ๊ก …คุณจะเขียนเรื่องคำกราบบังคมทูล เอาข้อมูลมาจากไหน ขึ้นรถ เดี๋ยวผมพาไป…”

‘พี่จุ๊ก’ คือชื่อของอาจารย์ฉัตรทิพย์ และเสียงเรียกนั้นคือเสียงของ ‘ปิ๊ง’ หรือ ศ.ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่ขับรถเก๋งสปอร์ตคันงามสีเหลือง โดยมี ศ.ดร. จิระ หงลส์ดารมภ์ มาด้วย ทั้งสองคนขับรถพาฉัตรทิพย์ไปที่ห้องสมุด หอวชิรญาณ วัดมหาธาตุ สนามหลวง ห้องสมุดนี้เก็บจดหมายเหตุมากมาย ที่ห้องแคบๆ นั้น มีอาจารย์ฝรั่งเช่น David Wyatt นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันนั่งอ่านจดหมายเหตุ …วันนั้น อาจารย์ฉัตรทิพย์ค้นเจอแฟ้มเอกสารเรื่อง ‘พระยาสุริยานุวัตร…’ นี่เป็นจุดกระตุ้นความสนใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยของอาจารย์ฉัตรทิพย์

ในเวลาต่อมา ฉัตรทิพย์ได้นำเสนองานเรื่อง ‘กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา’ (Semi-Colonialism Semi-Feudalism) โดยใช้แนวความคิดทางทฤษฎี เกี่ยวกับวิถีการผลิต (mode of production) ของยุโรปและเอเชียแตกต่างกัน มีการอ้างงานของ Karl Wittfogel เรื่อง Oriental Despotism หรือเผด็จการตะวันออกในเอเชีย ที่เสนอว่า การด้อยพัฒนาของเมือง ทุน และเทคโนโลยี เป็นอุปสรรคสำคัญของระบบทุนนิยมด้อยพัฒนาในเอเชีย รวมทั้งไทยด้วย บนฐานทฤษฎีนี้ ฉัตรทิพย์อธิบายสังคมไทยว่า การเกาะตัวแน่นหนาของชนบทและอุดมการณ์ศักดินาลดทอนการพังทลายของระบบศักดินาไทยจากระบบทุนนิยมโลกที่เข้ามาทะลุทะลวงเศรษฐกิจสยาม โดยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) พ.ศ. 2398

แนวความคิดนี้ไม่ใช่อาจารย์ฉัตรทิพย์ที่ทำการวิเคราะห์เพียงลำพัง แต่ยังมีลูกศิษย์อีกหลายท่านที่เขียนวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เช่น สิริลักษณ์ ศักดิ์เกรียงไกร ที่ทำผลงานเรื่อง ‘ต้นกำเนิดของชนชั้นนายทุนในประเทศไทย’ พ.ศ. 2398-2453[9] สังศิต พิริยะรังสรรค์ ซึ่งทำเรื่อง ‘ทุนนิยมขุนนาง’ (Thailand Bureaucratic Capitalism 1932-1960)[10] และชูสิทธิ์ ชูชาติที่ทำเรื่อง ‘วิวัฒนาการเศรษฐกิจหมู่บ้านในภาคเหนือของประเทศไทย’ ในวิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร พ”ศ. 2523 เป็นต้น

          ระบบทุนนิยมไทย

ทฤษฎีของสำนักมาร์กซิสต์ (Marxism) อธิบายคำว่านายทุน (capitalist) โดยอิงถึงชนชั้นกระฎุมพี (bourgeoisie) ซึ่งมีบทบาทในการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเป็นชนชั้นที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่นในฝรั่งเศส และเยอรมนี

แต่ในความคิดของฉัตรทิพย์ ชนชั้นกระฎุมพีในระบบทุนนิยมไทยมีลักษณะเป็นเพียง ‘นายทุนนายหน้า’ (comprador) ที่ทำหน้าที่ติดต่อทำการค้าเป็นส่วนใหญ่กับพ่อค้าชาวต่างประเทศทั้งจีน แขก และฝรั่ง มาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา[11] ชนชั้นกระฎุมพีไทยใช้ภาษาต่างประเทศได้บ้าง ด้วยว่าพวกเขาไม่สามารถรับราชการได้ แต่มีความรู้ทางการค้า มีความรู้บัญชี มีโกดังที่เก็บสินค้า และที่สำคัญคืแมีกำลังแรงงานเพื่อขนถ่ายสินค้าและส่งสินค้าได้ เช่น เรือขนาดต่างๆ  การมีแรงงานเป็นลักษณะพิเศษเพราะสังคมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัชกาลที่ 4 ไม่อนุญาตให้คนทั่วไปมีแรงงานหรือมีไพร่ในสังกัดจำนวนมาก อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากคือชนชั้นกระฎุมพีไทยทำการค้า ให้บริการ และใกล้ชิดกับขุนนางและเจ้านายในราชสำนัก บางรายภักดีต่อขุนนางและเจ้านาย ทั้งยังได้รับอุปถัมภ์โดยได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนาง มีราชทินนาม ด้วยเหตุนี้ กระฎุมพีในสังคมไทยจึงเป็นเพียงนายทุนนายหน้าที่มีการสะสมทุนน้อย ไม่เปลี่ยนแปลงสังคม จนถึงขั้นเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบชนชั้นเดียวกันในประวัติศาสตร์ยุโรป[12]

รูปธรรมของชนชั้นกระฎุมพีในระบบทุนนิยมไทยเกือบทั้งหมดคือ ‘คนจีนโพ้นทะเล’ การศึกษาค้นพบว่า ในระบบทุนนิยมไทย ชนชั้นกระฎุมพีไม่มีความเป็นอิสระและไร้ความสามารถนำสังคมไปสู่ทุนนิยม แม้หลังสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ. 2398 ที่เศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนสู่การผลิตเพื่อการค้าแล้วก็ตาม

ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวจีนอพยพเข้ามาสู่สยามหลายครั้ง โดยตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวจีนอพยพมาทำงานเป็นแรงงานในเมือง ไร่อ้อย และเหมืองแร่ในภาคใต้ เป็นต้น ชุมชนชาวจีนมีขนาดใหญ่และประกอบการค้าเป็นส่วนใหญ่ ทำหน้าที่ค้าขายหรือเก็บภาษีในกิจการพิเศษให้เจ้าขุนมูลนาย คือค้าสำเภา ต้มเหล้า และเปิดบ่อนพนัน อีกทั้งคนจีนยังได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าภาษีนายอากร

การศึกษาของฉัตรทิพย์[13]เสนอว่า คนจีนเหล่านี้กำเนิดเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มากกว่าพัฒนามาจากหมู่บ้าน หลังจากสยามในรัชกาลที่ 4 ได้ทำสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษและกับอีก 14 ประเทศ ชนชั้นกระฎุมพี เจ้าภาษีนายอากรก็เริ่มสะสมส่วนเกินได้มากขึ้น นอกจากค้าขายในกิจการฝิ่น ต้มเหล้า เปิดบ่อนเบี้ย เจ้ามือหวยและเหมาเมืองในรัฐสยามแล้ว ยังทำการค้าข้าว ไม้ และดีบุกอีกด้วย

สนธิสัญญาเบาว์ริงมีผลในทางปฏิบัติทำให้สยามเข้าร่วมในระเบียบระหว่างประเทศ หลังจากเซ็นสัญญาใน พ.ศ. 2398  เศรษฐกิจสยามเชื่อมโยงกับโลกมากขึ้นและก่อให้เกิดการค้าและการพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของทุนนิยมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็เป็นไปอย่างจำกัด มีการใช้เครื่องจักรไอน้ำในการสีข้าวครั้งแรกใน พ.ศ. 2401 โดยชาวอเมริกันเท่านั้น ในขณะที่กิจการโรงเลื่อยขนาดใหญ่ เหมืองแร่ ก็เป็นนายเหมืองชาวออสเตรเลียที่นำวิธีขุดแร่ดีบุกแบบใหม่ โดยใช้เรือขุดเข้ามาครั้งแรกใน พ.ศ. 2450 ความล้มเหลวในการเปลี่ยนเป็นกระฎุมพีของเจ้าภาษีอากรคนจีน มีส่วนสำคัญมาจากการที่คนกลุ่มนี้ไม่สามารถต่อสู้กับนายทุนตะวันตกในกิจการสินค้าสำเร็จรูปและกิจการค้าส่งออก ไม่ต้องพูดถึงว่า การที่มหาอำนาจตะวันตกบังคับให้สยามตั้งภาษีศุลกากรเข้าออกไม่เกินร้อยละ 3 ทำให้โรงงานน้ำตาลของชาวจีนต้องปิดตัวลงมาก

กล่าวโดยสรุป กระฎุมพีในสยามที่อ่อนแอเป็นการวิเคราะห์ของทฤษฎีวิถีการผลิตแบบเอเชีย (Asiatic mode of production) สังคมเอเชียต่างจากสังคมยุโรป ในเอเชีย ระบบชุมชนบุพกาล (primitive) ดำรงต่อเนื่องเพียงแต่เกิดมีรัฐขึ้นครอบบนชุมชนบุพกาล เมื่อระบบทุนนิยมจากยุโรปเข้ามาสัมผัสกับสังคมเอเชียซึ่งไม่มีกระฎุมพีของตัวเอง เกิดเป็นระบบทุนนิยมที่ประดิษฐานจากภายนอก ส่วนใหญ่ประดิษฐานพร้อมด้วยการบังคับเพราะถูกล่าเมืองขึ้น

อาจกล่าวได้ว่าช่วงต้นทศวรรษ 2520 ฉัตรทิพย์ผลักดันแนวคิดทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ด้วยการทำงานทางความคิดและการค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกสารชั้นต้น เช่น จดหมายเหตุ งานเขียนของปัญญาชนสยาม ทั้งยังทำการสอนและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนิสิตนักศึกษาประวัติศาสตร์หลายมหาวิทยาลัย มีการสัมมนา พูดคุยกับลูกศิษย์และอาจารย์ทั้งไทย[14] และเทศที่มีความสนใจในไทยศึกษา (Thai Studies) เช่น Prof. Dr. Craig Reynold นักประวัติศาสตร์ความคิดชาวอเมริกันที่ศึกษาและค้นคว้างานและความคิดของจิตร ภูมิศักดิ์ และ Prof. Dr. Shigeharu Tanabe[15] อาจารย์ชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาสังคมเกษตรกรรมในประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้ฉัตรทิพย์ยังสนิทสนมกับ Prof.Eiji Murashima แห่ง Waseda University ประเทศญี่ปุ่น ที่ศึกษาเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง[16] ชุมชนวิชาการที่ฉัตรทิพย์เข้าไปมีส่วนร่วมเกิดขึ้นทั้งที่บ้านพักของฉัตรทิพย์เอง และห้องสัมมนาในมหาวิทยาลัย วิทยาลัยครูในต่างจังหวัด

ในช่วงเวลาเดียวกัน ฉัตรทิพย์ยังทำวิจัยภาคสนามเรื่องเศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต ด้วยการลงภาคสนามสัมภาษณ์ชาวบ้านทุกภาคทั่วไทย จนเป็นงานวิจัยเรื่อง ‘เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต’ ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2527 และพิมพ์งานที่พัฒนาเพิ่มอีกจนได้รับประกาศเกียรติคุณนักประวัติศาสตร์ดีเด่น พ.ศ. 2563 จากสมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา บรมราชกุมารี

เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต
           
“…ในบรรดางานศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทยนั้น
         
แนวการวิเคราะห์เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีตของศาสตราจารย์กิตติคุณ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2527 เป็นงานค้นคว้าวิจัยสำคัญซึ่งเปิดโลกประวัติศาสตร์ให้เห็นระบบเศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีตที่ ‘ชาวบ้าน’ เป็นตัวเอกในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจที่เริ่มเข้าสู่ระบบการค้า อันนำไปสู่พลวัตทางสังคมและวัฒนธรรมไทย งานวิจัยนี้ใช้ทั้งข้อมูลลายลักษณ์ เอกสารจดหมายเหตุ รายงานการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ และการสัมภาษณ์ชาวบ้านและปัญญาท้องถิ่น 182 คน ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย จนสามารถจำลองภาพเศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีตได้อย่างน่าเชื่อถือ…”

บางส่วนจากคำนำผู้จัดพิมพ์[17]

ประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral History)

‘ประวัติศาสตร์หมู่บ้านไทยในอดีต’ ของฉัตรทิพย์ นาถสุภาซึ่งใช้เวลาวิจัยยาวนานถึง 6 ปี ด้วยความร่วมมือและสนับสนุนจากผู้บริหารและอาจารย์วิทยาลัยครู เช่น วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช หมู่บ้านจอมบึง เทพสตรี อุบลราชธานี สกลนคร พระนครศรีอยุธยา เชียงราย นครราชสีมา อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ เลย พิจิตร พร้อมด้วยลูกศิษย์ 4 คนที่ร่วมวิจัย ร่วมเสี่ยงภัยเข้าไปยังเขตทุรกันดารและอันตรายด้วยกัน คือ อาจารย์ ประนุช ทรัพย์สาร วิทยาลัยครูมหาสารคาม, อาจารย์ ชูสิทธิ์ ชูชาติ วิทยาลัยครูเชียงใหม่, อาจารย์ สุวิทย์ ไพทยวัฒน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, คุณสิริลักษณ์ ศักดิ์เกรียงไกร ธนาคารแห่งประเทศไทย และอาจารย์ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งผู้ช่วยค้นหารูปภาพ เอกสารและหนังสือให้

    งานวิจัยนี้ อาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภาใช้ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุ 3 แห่ง คือหอวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุวิทยาลัยพายัพ เขาเดินทางไปค้นคว้าหนังสือและบทความเรื่องนี้ที่ The Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University ประเทศญี่ปุ่น และที่ Institute of Social Studies, The Hague ประเทศเนเธอแลนด์


อ่านตอนแรกได้ที่ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา: ชีวิตและผลงาน


[1] ฉัตรทิพย์ นาถสุภาเล่าว่า คุณพ่อท่านวางแผนสร้างบ้านที่อยู่ริมคลองประปาสามเสน เพราะหวังว่าจะนั่งรถไฟที่สถานีรถไฟสามเสนซึ่งอยู่หลังบ้านไปทำงานที่กองทัพอากาศ ดอนเมือง

[2] ท่านยังเป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาจิตวิทยา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ้างจาก พรพิไล เลิศวิชา ฉัตรทิพย์ นาถสุภา 60 ปีแห่งความคิดและที่มา สัมมนาศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่อง สืบสานความคิด ปี 60 ฉัตรทิพย์-ปรีชา ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 18 สิงหาคม 2544 : 3-4

[3] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา “พื้นฐานร่วมของสังคมนิยมเสรีและเสรีนิยม” ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อุดมการกับสังคมไทย (กรุงเทพ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย 2515) : 200-210.

[4] เดิมเป็นเอกสารคำบรรยาย ต่อมาพิมพ์เป็นหนังสือโดยสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ 2524

[5] ผมยังจำได้ว่า ผมและเพื่อนหาซื้อเอกสารคำบรรยาย เศรษฐศาสตร์การเมือง ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ทุกเอกสาร บางครั้งไปรอเจ้าหน้าที่โรเนียวเอกสาร ยังไปช่วยเขาเย็บเล่ม

[6] ฉัตรทิพย์ นาถสุภาและประนุช ทรัพยสาร “อุดมการขบถผู้มีบุญอีสาน” บทความเสนอต่อที่ประชุมอภิปรายเรื่อง History and Peasant Consciousness in Southeast Asia นครโอซาก้า และริมทะเลสาปบิวา ประเทศญี่ปุ่น 20-27 กันยายน ค.ศ. 1982

[7] พระยาสุริยานุวัติ, ทรัพยศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพ : พิฆเนศ 2518)

[8] บ้านและอาคารก่อตั้งใหม่อยู่ตรงถนนหลานหลวงเยื้องๆ กับวัง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[9] วิทยานิพนธ์ ปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2522

[10] วิทยานิพนธ์ปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2526

[11] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย, กรุงเทพ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543 : 54-55.

[12] ฉัตรทิพย์ นาถสุภาและคณะ, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคม, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด 2626 บทที่ 10

[13] เพิ่งอ้าง, : 337-343.

[14] เช่น ศาสตราจารย์ ดร. อานันท์ กาญจนพันธ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Professor Shigeharu Tanabe แห่ง Osaka University ผู้สนใจ อุดมการณ์ชาวนาในไทยภาคเหนือ ที่ท่านเรียกว่า Guardian Spirit Cults ภายหลังสนใจ ชนไทยลื้อในมณฑลยูนนาน จีนตอนใต้

[15] วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง Peasant Framing Systems in Thailand : A Comparative Study of Rice Cultivation and Agricultural Technology in Chiang Mai and Ayutthaya, Ph.D. dissertation, School of Oriental and African Studies, University of London, 1981.

[16] ศาตราจารย์ Murashima ค้นคว้าเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยาวนานมาก มีผลงานที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ท่านยังศึกษาบทบาททางการเมืองของนักการเมืองเขมรแดง (Khmer Rough) กัมพูชา ตีพิมพ์ใน Modern Asian Studies Journal

[17] ประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นักประวัติศาสตร์อาวุโสดีเด่น สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พุทธศักราช 2563

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save