fbpx

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา: ชีวิตและผลงาน

หนังสือ 60 ปี ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: ภาพประกอบ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งหนังสือเล่มใหม่ของท่านเรื่อง การศึกษาชนชาติไทกับความเข้าใจสังคมไทย[1] มาให้ผมอ่านเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ท่านทำเช่นนี้กับผมและกับลูกศิษย์ของท่านตลอดมา เมื่อผมอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวทำให้ผมนึกย้อนกลับไปอ่านหนังสือที่อาจารย์ฉัตรทิพย์เป็นทั้งบรรณาธิการและเป็นผู้นำการเสวนาเรื่อง อุดมการกับสังคมไทย[2] เมื่อพฤศจิกายน 2514[3] สมัยผมยังเป็นนิสิตเมื่อปี 2519 หรือเมื่อ 46 ปีที่แล้ว

ผมได้อ่านหนังสือ อุดมการกับสังคมไทย ที่ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัยนั้น ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Social Innovation Hub ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว เรียนตามตรง ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่หลายครั้งมาก เนื่องจากยังเด็กจึงอ่านไม่เข้าใจ เหมือนกับที่ผมอ่านหนังสือชุด วรรณไวทยากร ที่รวบรวมข้อเขียนของนักคิดและปราชญ์อีกหลายท่านไม่รู้เรื่อง แต่กลับสะดุดใจกับเนื้อหาบางตอนของอาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภาในหนังสือ อุดมการกับสังคมไทย ที่ว่า

“…ข้อสรุปของการสัมมนาคือ อุดมการสำหรับสังคมไทยอนาคตควรเป็นอุดมการซึ่งอำนวยให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกันขจัดการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมพร้อมทั้งรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพส่วนบุคคล ผู้เข้าร่วมสัมนาหลายท่านเสนออุดมการที่มีส่วนผสมของทั้งเสรีนิยมและสังคมนิยม และที่ประชุมได้สรุปเสนอให้พิจารณาอุดมการที่เป็นสายกลางและสังคมนิยมเสรี พร้อมกันนั้นที่ประชุมได้ปฏิเสธอุดมการศักดินาและอำนาจนิยม…

ข้อสรุปอีกประการหนึ่งคือ การยอมรับว่าอุดมการที่จะมีพลังต้องเป็นอุดมการที่เผยแพร่ไปสู่มวลชนและมวลชนยอมรับ ผู้ร่วมสัมมนาได้ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในอดีตของอุดมการเสรีนิยมหรือสังคมนิยมในสังคมไทยว่าเป็นเพราะผู้เลื่อมใสมีจำกัด คือเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำไม่กี่คน ที่ประชุมเสนอว่าในอนาคตจะต้องมีวิธีการทำให้อุดมการที่คิดขึ้นได้รับการยอมรับเป็นอุดมการของมวลชน…”

นอกจากนั้น อาจารย์ฉัตรทิพย์ยังสรุปประเด็นน่าสนใจเอาไว้ว่า

“…การสัมมนาและข้อสรุปจากการสัมมนาครั้งนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นความพยายามของนักคิดผู้นิยมลัทธิเศรษฐกิจการเมืองสายกลางที่จะรวมกลุ่มแสดงความคิดของตนออกมาเป็นระบบ ตลอดมาในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทย ความคิดและอุดมการสายกลางนี้มีอิทธิพลน้อยทั้งในระบบความคิดและการจัดองค์กรทางการเมืองของไทย แนวคิดประชาธิปไตยหรือเสรีนิยมหรือสังคมนิยมยังคงเป็นของใหม่ในสังคมไทย เกิดขึ้นมาชั่วครู่แล้วก็ถูกทำลาย ระบบความคิดและระบบเศรษฐกิจการเมืองของเรา จึงยังคงสับสนล้าหลังและคงส่วนของศักดินาไว้เป็นอันมาก นักคิดกลุ่มนี้ปฏิเสธทั้งลัทธิศักดินาและลัทธินายทุนด้านหนึ่ง และลัทธิคอมมิวนิสต์อีกด้านหนึ่ง พวกเขาทั้งหลายปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยวิวัฒนาการเป็นสังคมอิสระซึ่งสมาชิกมีเสรีภาพและโอกาสทัดเทียมกันและมีความเจริญ จะเรียกลัทธิอุดมการของพวกเขาว่าสังคมนิยมเสรี สังคมเสรี หรือสังคมเสรีประชาธิปไตยก็ได้ทั้งนั้น ความพยายามของพวกเขาครั้งนี้คือการเสนอพื้นฐานทางปรัชญาการเมืองและอุดมการเพื่อเป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยโดยสันติวิธีและด้วยความเป็นธรรม…”[4]

ผู้อ่านอาจสงสัย (เหมือนที่ผมเคยสงสัย) ว่า เหตุใดอาจารย์ภาควิชาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ซึ่งเคยเรียนจบปริญญาโท แผนกวิชาการต่างประเทศและการทูต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แล้วสอบชิงทุน Purifoy ไปเรียนปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ที่ Tufts University มหาวิทยาลัยชั้นนำประเทศสหรัฐอเมริกา เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง  Foreign Trade, Foreign Finance and the Economic Development of Thailand, 1959-1965[5] จึงสนใจและร่วมกับปัญญาชนสมัยนั้นถกเถียงและผลักดันการศึกษาและเคลื่อนไหว อุดมการณ์ อุดมการณ์สายกลาง อุดมการณ์ประชาธิปไตยเสรี ในช่วงทศวรรษ 2510 (คริสต์ทศวรรษ 1970)

มองย้อนกลับไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะช่วงเวลานั้นไทยตกอยู่ในปกครองของระบอบเผด็จการต่อเนื่อง มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางความคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในขณะที่ปัญญาชนจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันและผลักดันอุดมการณ์ทางการเมือง เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวทางความคิดเช่น สมาคมสังคมศาสตร์แหงประเทศไทย ที่ผลิตวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ กลุ่มนักคิดนักเขียนอิสระทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย แล้วอาจารย์ฉัตรทิพย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเคลื่อนไหวทางความคิดทางการเมืองต่อต้านศักดินานิยมและทุนนิยมเต็มรูป ตั้งแต่นั้นมา อาจารย์ฉัตรทิพย์ร่วมกับมิตรสหายปัญญาชนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นเลิศของโลก แต่ท้าทายทุนนิยมเต็มรูปและศักดินานิยม ร่วมกันก่อหน่ออ่อนพลังประชาธิปไตยและสังคมนิยมในไทยให้เติบโตขึ้น อาจกล่าวได้ว่า ความคิดทางการเมืองของอาจารย์ฉัตรทิพย์และเหล่ามิตรมีแนวทางสังคมนิยมเสรี ล้ำยุคล้ำสมัย เกิดก่อนกาลในสังคมไทยสังคมเผด็จการสมัยนั้น

อย่างไรก็ตาม เส้นทางความคิดทางการเมืองของอาจารย์ฉัตรทิพย์แตกต่างจากมิตรสหายแม้แต่ที่รับราชการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสมัยนั้น ตรงที่อาจารย์ฉัตรทิพย์ยังคงอุดมการณ์ต้านทานศักดินานิยมและทุนนิยมเต็มรูปสืบเนื่อง ด้วยการศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่อุดมการณ์ในระดับต่างๆด้วยความรู้ การศึกษา ค้นคว้า วิจัยทั้งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่นจดหมายเหตุ เอกสารชั้นต้น ซึ่งก็ถือว่าล้ำหน้า ด้วยยังไม่เป็นที่นิยมค้นคว้ามากนักในยุคนั้น ที่โดดเด่นมากคือการวิพากษ์ระบบการศึกษาแบบแยกสาขาวิชา อาจารย์ฉัตรทิพย์เสนอการศึกษาเศรษฐศาสตร์อันแยกออกไม่ได้จากสาขาวิชาอื่นๆ เช่น ประวัติศาสตร์ การเมือง สำหรับผม ข้อเสนอนี้ท้าทายมาก และยิ่งมองว่าอาจารย์เสนอและผลักดันก่อนใครๆ ไม่ต้องพูดถึงว่า อาจารย์ฉัตรทิพย์ยังบุกเบิกวิธีวิทยา ประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral History) ในวงการศึกษาในไทยเป็นคนแรกๆ ด้วย

อาจารย์ฉัตรทิพย์เคยบอกกับผมว่า เราควรศึกษาเชิงเปรียบเทียบอีกด้วย ด้วยการศึกษาสังคมอื่นๆ ที่ต่างวัฒนธรรมและอยู่ต่างประเทศ แล้วอาจารย์ฉัตรทิพย์ก็ดั้นด้นเดินทางไปหลายแห่งในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ไปสิบสองปันนา และมณฑลกว่างสี หลายครั้งหลายหน ทั้งยังไปรัฐอัสสัม ในประเทศอินเดีย ไปญี่ปุ่น ข้ามไปประเทศเปรู ในทวีปอเมริกาใต้เพื่อไปทำความเข้าใจระบบอาณานิคม (colonialism) ดั้นด้นไปฮังการี ประเทศเล็กๆ ในยุโรปตะวันออก แต่กลับได้ไปพูดคุยและเรียนรู้ Asia Mode of Production กับศาสตราจารย์ชาวฮังกาเรียน Ferenc Tokei ผู้ให้ข้อสังเกตว่า ยุโรปตะวันออกมีความคล้ายกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ล้อมไปด้วยรัฐเล็กๆ[6] นอกจากนี้อาจารย์ยังเดินทางไปอีกหลายประเทศ ไปสัมภาษณ์ พูดคุย ถ่ายภาพ เยี่ยมเยือนทั้งนักวิชาการ ชาวบ้านและชุมชน หลายต่อหลายครั้ง ทั้งๆ ที่สุขภาพไม่ดีนัก แล้วบางครั้งต้องหยุดพัก ผมถือว่านี่เป็นการบุกเบิกและเปิดโลกทางวิชาการ

อีกหนึ่งสปิริตที่น่ายกย่องคือ แทนที่จะค้นคว้าเพียงลำพัง อาจารย์ฉัตรทิพย์ทำงานค้นคว้าร่วมกับเพื่อนนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทำงานร่วมกับลูกศิษย์ และผลักดันเป็นวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์ เป็นบทความและหนังสือของอาจารย์เองอีกมากมาย คงไม่เกินจริงถ้าจะกล่าวว่า อาจารย์ฉัตรทิพย์ได้ศึกษาและค้นคว้าเรื่องอุดมการณ์กับสังคมไทยอย่างลุ่มลึก และเป็นต้นธารให้มิตรทางวิชาการและลูกศิษย์ทำงานความรู้ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในสังคมไทยเป็นจำนวนมาก

ย้อนกลับมาที่หนังสือ ชนชาติไทกับสังคมไทย ซึ่งเป็นงานวิชาการที่มีความลึกซึ้งในการทำเข้าใจอนาคตของสังคมไทยและภูมิภาค ในฐานะ ‘นักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ’ อาจารย์ฉัตรทิพย์เห็นความสำคัญของการศึกษา ชนชาติไทนอกประเทศไทย โดยกล่าวไว้ว่า[7]

“…สนใจค้นคว้าเรื่อง ชนชาติไทนอกประเทศ เพื่อมาช่วยให้เพิ่มความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมไทย ผมเริ่มสนใจค้นคว้าเรื่องชนชาติไทนอกประเทศไทยครั้งแรก จากการได้รับรู้เรื่องไทอาหมจากการสนทนากับนักประวัติศาสตร์ชาวไทอาหม ศาสตราจารย์ ดร. Jogendra  Nath Phukan ในปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) ต่อมาผมได้อ่านหนังสือ กาเลหม่านไต (พ.ศ. 2504) เป็นภาษาไทดำ ที่แปลว่า ไปเที่ยวบ้านไท ท่านอาจารย์ บรรจบเขียนว่า ด้วยคนไทในมลรัฐอัสสัมที่ท่านไปศึกษาใน พ.ศ. 2498 ผมได้รับแรงบันดาลใจเรื่อง วิธีการศึกษาและประทับใจกับความมุ่งมั่นของท่านอาจารย์ บรรจบ…”

การศึกษาชนชาติไทนอกประเทศไทย หาใช่เป็นงานค้นคว้าเล่นๆ อาจารย์ฉัตรทิพย์เริ่มศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. 2524 พบปะพูดคุยกับผู้คนมากมาย ลงภาคสนามไปรัฐอัสสัม อินเดียอีกหลายครั้ง อันช่วยให้เข้าใจสังคมไทยที่ท่านเองเห็นว่า[8]

“…ชาวไทมีความเป็นชุมชนในโครงสร้างสังคมและมีน้ำใจในตัวบุคคล เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่โบราณ…สังคมชนชาติไททุกที่รักษาลักษณะบุพกาลนี้ไว้ได้อย่างเข้มข้นในเวลายาวนาน อย่างน้อย ณ ระดับชุมชนหมู่บ้าน แม้ว่าจะมีรัฐอยู่ข้างบน ซึ่งอาจมีระดับการพัฒนาต่างกันไป…”

สำหรับผม ‘ฉัตรทิพย์ นาถสุภา’ นับเป็นนักวิชาการที่เกิดก่อนกาล ลุ่มลึกด้วยทฤษฎีและระเบียบวิธีวิจัย ทำงานเชิงอุดมการณ์ อย่างไม่จักเหน็ดเหนื่อย งานและความคิดอันหลากหลายทั้งทางทฤษฎี ข้อมูลทั้งเอกสาร และการสัมภาษณ์ คลิปความรู้ และงานด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างละครเวที ที่ช่วยผลักดันอุดมการณ์และแสวงหาทางออกให้กับสังคมเสมอมา นับเป็นคุณลักษณะหลักของอาจารย์ที่น่ายกย่อง

และเป็น ‘ฉัตรทิพย์ นาถสุภา’ คนเดียวกันนี้ที่เป็นปัญญาชนชั้นแนวหน้าวิพากษ์วิจารณ์การปกครองระบอบเผด็จการในไทยช่วงปี 2510 อันเป็นช่วงเวลาเรืองอำนาจของรัฐบาลทหาร แล้วยังวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิการเมืองสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ร่วมกับปัญญาชนหัวก้าวหน้าสมัยนั้น โดยไม่หวั่นเกรงอำนาจรัฐ

          อาจารย์หนุ่ม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บ่ายวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ผมไปคุยกับอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภาที่บ้านของอาจารย์ บนถนนเศรษฐสิริ 2 ริมคลองประปา สามเสน ระหว่างที่สนทนาย้อนความหลัง ความตอนหนึ่งอาจารย์ฉัตรทิพย์พูดเล่าว่า

“…ภาษาอังกฤษผมไม่ดี คุณพ่อผมท่านไปเรียนที่อังกฤษช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านเรียนแพทย์ที่นั่น 3 ปีแล้วท่านเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษมาก จริงๆแล้วพ่ออยากให้เรียนหลายๆ ภาษา ตอนผมเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล พ่อยังให้ไปเรียนภาษาเยอรมันด้วย แต่ผมคิดว่า ทักษะทางภาษาผมไม่ค่อยดีนัก เรียนภาษาเยอรมันได้พักหนึ่ง ผมบอกพ่อว่า เรียนไม่ไหวพ่อ พ่อก็ไม่ว่าอะไร…”

พออาจารย์ฉัตรทิพย์เข้าเรียนเตรียมปี 1 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เรียนภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมันด้วย ตอนเข้าเรียนสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยนั้นต้องรู้สองภาษา อาจารย์ฉัตรทิพย์บอกว่า[9]

“…ผมได้เปรียบ ผมจึงแจ้งไปว่าผมใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนอีกภาษาหนึ่ง ผมเรียนภาษาฝรั่งเศส ผมใช้ภาษาฝรั่งเศสได้ในระดับแปลได้  แต่เป็นแปลภาษาฝรั่งเศสที่เป็นงานวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ…”

อาจารย์ฉัตรทิพย์เป็นคนเรียนเก่ง จบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 แล้วสอบเข้าบรรจุเป็นอาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์เล่าว่าได้รับเงินเดือน 1,500 บาท สอนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพื้นฐานให้กับนิสิตรัฐศาสตร์ปี 1 สอนได้ระยะหนึ่งอาจารย์จึงสอบชิงทุน Purifoy[10] ไปเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ Tuft University, Fletcher Scholl of Law ด้วยทุนนี้ มหาวิทยาลัยยกเว้นค่าเล่าเรียนให้ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจารย์สอบได้หลายทุน เพราะทุน Purifoy ให้แบบจำกัดและให้เพียงหนึ่งปี อาจารย์เล่าว่าตอนนั้นได้ ทุน Fulbright ให้ค่าเดินทาง เมื่อทุน Purifoy หมดจึงสอบได้ทุน UNESCO ให้ค่าเล่าเรียนพิเศษและ Rockefeller ให้ทุนเรียนต่ออีก 2 ปี

Fletcher School of Law เรียนแบบสหสาขาวิชา (interdisciplinary) แต่อาจารย์ฉัตรทิพย์อยากรู้เศรษฐศาสตร์เป็นพิเศษ จึงไปเรียนเพิ่มตอนกลางคืน เท่ากับอาจารย์ฉัตรทิพย์เรียน 2 module คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทาง UNESCO ให้ทุนเรียนที่ North Eastern University ที่เมือง Boston ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมาก อาจารย์ฉัตรทิพย์เล่าว่า นี่อาจเป็น ‘จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต’ เพราะอาจารย์ได้เรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเปรียบเทียบ ทำให้ได้อ่านตำราเศรษฐศาสตร์พัฒนา (Economic Development) มาก ดังนั้นอาจารย์ฉัตรทิพย์จึงได้ปริญญา MA. Econ และ MA. Law ได้ปริญญาเอก International Affairs เป็น International Development ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก การค้าและการพัฒนาของไทย Foreign Finance and the Economic Development of Thailand 1956-1965

รากฐานจากการเรียนที่สหรัฐอเมริกานาน 4 ปี นับเป็นรากฐานสำคัญด้านเศรษฐศาสตร์แทนที่จะเป็นแค่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กลับมาจากต่างประเทศแล้วการสอน การทำงานเป็นอาจารย์และความเปลี่ยนแปลงภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังเป็นสะพานทอดสู่การศึกษา การทำงานทางความคิดและการเคลื่อนไหวทางสังคมของอาจารย์ฉัตรทิพย์ ก้าวสู่เศรษฐศาสตร์อย่างลุ่มลึก แตกต่าง ท้าทาย และมีพลัง


[1]  ปาฐกถา บรรจบ พันธุเมธา ครั้งที่ 11 มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม วันที่ 9 กันยายน 2565

[2] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา รวบรวม อุดมการกับสังคมไทย (กรุงเทพ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2515) : 2-3.

[3] ผู้เข้าร่วมสัมนาและเสนอบทความ ได้แก่ กระมล ทองธรรมชาติ รองศาสตราจารย์ แผนกการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ / กมล สมวิเชียร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แผนกการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ / กอปร กฤตยากีรณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แผนกวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ / เขียน ธีระวิทย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แผนกวิชาการต่างประเทศและการทูต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ / ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ / ชัยอนันต์ สมุทวณิช อาจารย์ประจำ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ / ไพจิตร หัพนายนท์ อาจารย์ประจำแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ / ลิขิต ธีรเวคิน นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกา / พงศ์เพ็ญ ศกุลตาภัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แผนกวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ / สุจิต บุญบงการ อาจารย์ประจำ แผนกวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ / สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ / สุรพงษ์ ชัยนาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายหนังสือพิมพ์ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / เสริมศักดิ์ เทพาคำ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสงขลา / อากร ฮุนตระกูล เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ธนาคารเชสแมนฮัตตัน / และอนุช อาภาภิรม บรรณาธิการนิตยสารชัยพฤกษ์

[4] เพิ่งอ้าง : 3.

[5] เขียนวิทยานิพนธ์เสร็จปี คศ. 1968

[6] คุยกับอาจารย์ ฉัตรทิพย์ที่บ้านริมคลองประปาสามเสน 24 กุมภาพันธ์ 2566

[7] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา การศึกษาชนชาติไทกับความเข้าใจสังคมไทย จากปาฐกถา บรรจบ พันธุเมธา ครั้งที่ 11 วันที่ 9 กันยายน 2565 : 7-8.

[8] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เพิ่งอ้าง ปกหลัง

[9] สัมภาษณ์อาจารย์ ฉัตรทิพย์ ที่บ้านถนนเศรษฐสิริ 2 ริมคลองประปา สานเสน 24 กุมภาพันธ์ 2566

[10] ทูตสหรัฐประจำไทย Purifoy รถยนต์ประสบอุบัติเหตุที่หัวหิน แล้วเสียชีวิต รัฐบาลสหรัฐฯ และไทยจึงก่อตั้งทุนเล่าเรียนนี้ในชื่อของเขา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save