หมายเหตุวัฒนธรรมร่วมสมัย

ผมจบแพทย์ โดยไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับบ้านเมือง ไม่รู้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลางคืออะไร ส่วนภูมิภาคคืออะไร และส่วนท้องถิ่นคืออะไร ทั้งที่สอบวิชาหน้าที่พลเมืองได้คะแนนเต็มมาตลอด ก็ท่องไปเขียนนั่นแหละครับ มานึกย้อนหลังคุณครูที่สอนก็น่าจะไม่รู้พอกัน

จำได้ว่าเคยเข้าใจว่าราชการส่วนภูมิภาคก็คือการกระจายอำนาจ ที่ไหนได้กว่าจะรู้ว่าการปกครองส่วนภูมิภาคคือการรวบอำนาจและงบประมาณของจังหวัดต่างๆ สู่ส่วนกลางอย่างแนบเนียนก็เมื่อออกมาเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ต่างจังหวัด แต่ก็มิได้กระจ่างอะไรมากมายจนกระทั่งอ่านข้อเขียนอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่จริงแล้วงานของทุกกระทรวงตามจังหวัดต่างๆ สามารถถ่ายโอนให้ส่วนท้องถิ่นได้ทั้งหมด

ผมจำไม่ได้ว่าเริ่มอ่านงานของอาจารย์นิธิเมื่อไร แต่เชื่อว่าน่าจะจากหนังสือ ‘หมายเหตุวัฒนธรรมร่วมสมัย’ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2530 ต้นๆ คือปีที่ตนเองกลับจากการฝึกอบรมจิตเวชศาสตร์แล้ว เป็นครั้งแรกที่เพิ่งจะรู้ว่าวัฒนธรรมมิได้หมายความเพียงว่าแต่งชุดไทย ลอยกระทง สงกรานต์ กราบไหว้ ฯลฯ แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อม และคนกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ คิดดูแล้วก็แปลกใจเราถูกการศึกษาครอบงำความคิดมาได้นานเพียงนี้ กว่าจะมีใครสักคนมาชวนดูมุมมองใหม่

อาจารย์นิธิเป็นคนหนึ่งที่เคยพูดประมาณว่าคนแก่มีหน้าที่สร้างคนรุ่นใหม่ อีกคนหนึ่งคือพี่ชายของผมเอง คุณหมอประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ เป็นที่เชื่อได้ว่าข้อเขียนนับพันชิ้นของอาจารย์นิธิได้สร้างคนรุ่นใหม่จำนวนมหาศาล และยังจะสร้างต่อไปหลังการจากไปของท่าน อย่างไรก็ตามจำนวนก็ดูเหมือนจะยังไม่มากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองในปีนี้ เหตุเพราะ ‘ชนชั้นได้เปรียบจากการผูกขาด’ เป็นตายก็ไม่ยอมสูญเสียอำนาจเบ็ดเสร็จที่ถือครองอยู่แน่

ในหน้าคำนำของหนังสือเล่มนี้การซึ่งเป็นจัดพิมพ์โดยแพรวสำนักพิมพ์ ด้วยการรวมเล่มบทความจากเทรนดีแมน อาจารย์เขียนในหน้าคำนำว่า

“ท่านควรอ่าน อย่างที่จะทำให้ท่านคิดอะไรเป็นของท่านเอง มากกว่าอ่านเพื่อแสวงหาคำตอบอันแน่ชัดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เพียงแต่ท่านสำนึกว่าสิ่งที่ท่านประสบอยู่นั้นมีความซับซ้อนกว่าที่ท่านได้เคยเข้าใจ เพียงเท่านี้ผมก็รู้สึกได้ว่าทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีเลิศแล้ว”

ข้อเขียนนับพันของท่านนับจากปีนั้นมาอีกสามสิบกว่าปี ในปีนี้ย่อมเป็นประจักษ์พยานว่าท่านทำหน้าที่ได้มากกว่าดีเลิศเพียงใด

เป็นที่รู้กันว่าข้อเขียนของอาจารย์นิธิเขียนเป็นภาษาไทยทั้งหมดเสมอ น้อยครั้งมากที่ท่านจะวงเล็บหรืออ้างอิงภาษาอังกฤษสักคำ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้ภาษาไทยที่หาคนทัดเทียมได้ยาก ไม่นับว่ายังเขียนได้สละสลวยอ่านเข้าใจง่ายระดับคอลัมนิสต์ใดๆ ก็สู้ไม่ได้

ผมพบอาจารย์นิธิสามครั้งเท่านั้น ทำให้รู้สึกอิจฉามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอันมาก จะขอเลียนแบบข้อเขียนที่อาจารย์เล่าเรื่องพบอาจารย์ป๋วยสักเล็กน้อยว่าตนเองเห็นอะไรบ้าง จะว่าไปการจากไปของบุคคลสาธารณะที่สะเทือนใจตัวเองนอกจากคุณหมอสงวนแล้ว ก็อาจารย์นิธิในครั้งนี้นั่นเอง

ครั้งแรกเมื่อไปร่วมเสวนาเรื่อง ‘การศึกษาทางเลือก’ ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเวลานั้นจัดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2543 ท่านเป็นผู้อภิปรายนำ ท่านให้เวลาวิทยากรที่เชิญมาคนละ 15 นาที ท่านบอกว่าเท่านี้พอ เราเพียงให้ข้อมูลนำเข้าแก่ผู้เข้าร่วมประชุม ที่เหลือผู้เข้าร่วมประชุมจึงเป็นคนสำคัญ มิใช่วิทยากร สมัยนั้นยังไม่มีปุ่มกดไลก์ล้านครั้ง

ครั้งที่สองเมื่อครั้งตนเองเป็นผู้จัดการโครงการชีวจริยธรรมและวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ให้แก่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ น่าจะ พ.ศ. 2540 กว่าๆ ผมเองที่ตั้งใจจะเชิญอาจารย์นิธิมาที่ประชุมสหวิชาชีพชีวจริยธรรมให้จงได้ ท่ามกลางความเป็นงงของผู้ร่วมงานว่าเชิญมาทำไม ตอนนั้นสังคมมีประเด็นเรื่องการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนเพื่อเป็นอะไหล่สเต็มเซลล์ให้แก่ผู้ป่วยบางประเภท แม้ทุกวันนี้ก็ยังมีประเด็นธุรกิจตรวจพันธุกรรม จำได้ว่าอาจารย์สละเวลามา เห็นท่านตั้งแต่เดินต๊อกๆ มาจากหน้าปากซอยเลยทีเดียว ท่านออกตัวว่าที่มานี่เพราะอยากมาเรียนรู้เรื่องชีวจริยธรรมมากกว่าอย่างอื่น ก็เป็นไปอย่างที่ท่านเขียนเสมอตั้งแต่สามสิบปีก่อนว่าการศึกษาคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ท่านได้เติมเต็มที่ประชุมเรื่องประโยชน์เชิงพาณิชย์และท่าทีต่อชีวิตให้แก่ที่ประชุมด้วย คำถามที่ท่านเคยตั้งคือชาวประมงที่เป็นพุทธควรมีท่าทีต่อชีวิตอย่างไร

ครั้งที่สามเป็นประโยชน์ส่วนตนแท้ๆ โดยมิได้เจตนาเพื่อเพิ่มยอดขายหนังสือของตัวเองแต่อย่างใด แต่อยากได้ใคร่มีหนังสือที่อาจารย์นิธิเขียนคำนิยมให้สักเล่มหนึ่งในชีวิต แล้วก็ตั้งใจจะให้เขียนเรื่องยากๆ ด้วย นั่นคือเรื่องการ์ตูน เมื่อสำนักพิมพ์มติชนเห็นชอบด้วยจึงได้ส่งหนังสือส่วนตัวเรียนเชิญอาจารย์เขียนคำนิยมให้แก่หนังสือรวมบทวิจารณ์การ์ตูน ‘การ์ตูนแห่งชาติ ชนชั้น ชีวิต’ ท่านก็เมตตาเขียนให้จริงๆ เป็นอึ้งไปเลย และดั่งท่านล่วงรู้ความในใจจึงมีเขียนตอนหนึ่งว่าหนังสือรวมบทความการ์ตูนนี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งชื่อท่านเพื่อการตลาด ด้วยลำพังคุณหมอคนหนึ่งเขียนบทวิจารณ์การ์ตูนทุกสัปดาห์ได้เป็นสิบปีก็ไม่น่าต้องห่วง แต่ที่จริงผมก็ห่วงนายทุนสำนักพิมพ์อยู่นะครับ คำนิยมที่ท่านเขียนมีเนื้อหาน่าสนใจคือเรื่องวรรณกรรมการ์ตูนที่คนรุ่นก่อนเข้าถึงได้ไม่มากเท่าคนรุ่นใหม่เหตุเพราะเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ยังไม่คุ้มค่าการลงทุน กับเรื่องเทคโนโลยีก้าวหน้าใดๆ ที่เขียนไว้ในการ์ตูนหลายเรื่องนั้น แม้จะก้าวหน้าแต่ก็อยู่ในกรอบอ้างอิงที่ผู้อ่านปัจจุบันต้องเข้าใจได้ด้วย ผมตีความว่าไม่มากก็น้อยเรายังถูกครอบงำความคิดไว้ระดับหนึ่งเสมอ

การศึกษาไทยครอบงำเรามากและการครอบงำนั้นถึงระดับครอบงำตัวการศึกษาเองด้วย สองวันก่อนที่ท่านอาจารย์จะจากไป มีข่าวพ่อลูกผูกคอตายเพราะความยากจน ข่าวตีความว่าเพราะลำบากในการหาเงินส่งลูกไปโรงเรียนในแต่ละวัน ข่าวแบบนี้ชวนเราติดกับเรื่องความยากจนเป็นเรื่องส่วนตัว เวรกรรมเป็นเรื่องส่วนตัว แม้แต่โรคซึมเศร้าก็เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ถ้าใครอ่านงานของอาจารย์มาเรื่อยๆ จะเข้าใจได้ว่าข่าวนี้เป็นเรื่องเชิงระบบ เป็นเรื่องของโครงสร้างการปกครองที่ละเลยประชาชน และแก้ไขได้ด้วยการเมือง ลำพังกระทรวงใดๆ ก็ไม่มีปัญญาแก้ไขเรื่องนี้ได้แน่

ตราบใดที่เราเปลี่ยนการเมืองมิได้ เรารอข่าวการฆ่าตัวตายเพราะเวรกรรมแต่ปางก่อนรายต่อไปได้เลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save