fbpx

Life After Life พินิจคิดเรื่องตาย

1

“ความตายอาจไม่น่ารื่นรมย์เท่าไหร่ แต่ความตายนั้นไม่ได้น่ากลัวเลย”

ดอริส ผู้เคยผ่านประสบการณ์เฉียดตายขณะคลอดลูกเมื่อเธออายุ 27 ปี เล่าผ่านงานวิจัยของจิตแพทย์บรูซ เกรย์สัน (Bruce Greyson) ในหนังสือ After (แปลโดย พชร สูงเด่น ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โซเฟีย) หนังสือที่ผมได้อ่านในช่วงเวลาไม่นานนัก หลังจากที่ได้ดูสารคดีทางเน็ตฟลิกซ์ Survivng Death เรื่องราวจากหนังสือและสารคดีได้เปิดมุมมองเรื่องความตายของผมอีกครั้ง

ทั้งหนังสือ After และสารคดี Surviving Death มีเนื้อหาคล้ายๆ กัน (คุณหมอบรูซไปปรากฎในสารคดีด้วย) คือ เน้นการค้นหารูปแบบบางอย่างของประสบการณ์เฉียดตาย เพื่อหาคำตอบว่าชีวิตหลังความตายจะเป็นอย่างไร ผ่านประสบการณ์ของคนที่ตายแล้วในทางการแพทย์ แต่กลับฟื้นขึ้นมามีชีวิตใหม่

“โลกหลังความตายเป็นอย่างไร เราจะยังเป็นเราอยู่ไหม” เป็นคำถามที่ผมถามตัวเองบ่อยที่สุด ถามตั้งแต่ตัวเองยังเด็กกระทั่งตอนนี้ก็ยังเป็นคำถามที่เฝ้าถามเนืองๆ ความตายเป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมสนใจ และความอยากรู้เสมอ

อย่าเข้าใจผิดว่าผมอยากตายนะครับ เปล่าเลย ผมก็เหมือนทุกคนที่อยากมีชีวิตที่สงบสุขและตายในเวลาอันสมควร แต่ความอยากรู้เรื่องความตายผลักดันผมให้ทำอะไรหลายต่อหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือโครงการ Design Impacy เมื่อปี 2017 กับ TCDC ตอนนั้นผมเสนอวิธีการการเก็บเอกสารดิจิทัลที่สามารถช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้นหลังจากที่เราเสียชีวิต ไอเดียของผมผ่านการคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 ที่ได้จัดแสดงและได้เงินทุนสนับสนุนสำหรับการพัฒนาเป็นธุรกิจ แต่ก็อย่างที่รู้กันว่าการเป็นสตาร์ตอัปในประเทศนี้นั้นไม่ง่าย

สิ่งที่ผมต้องการจะบอกคือ ความตายเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีเสมอในการสร้างสิ่งใหม่ ฟังดูย้อนแย่ง แต่ก็เป็นเรื่องจริง เพราะเมื่อเทียบความกลัวที่เราเผชิญหน้าในช่วงชีวิตของคนเรา ความตายเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากลัวที่สุด ผมคิดว่าที่โลกก้าวหน้ามาได้ขนาดนี้ เป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เรามีชีวิตหนุ่มสาวที่ยาวนาน อายุที่ยืนยาวขึ้น ไม่ก็อยากให้ตัวเราเป็นอมตะถือว่าเป็นสุดยอดของความปรารถนาของใครหลายคน 

2

เรื่องจริงแท้ของความตายก็คือโลกเรามีคนตายประมาณ 1.92 คนต่อ 1 วินาที วันๆ หนึ่งมีคนตายราว 166,279 คน มีคนต้องร้องไห้เสียน้ำตาเพราะสูญเสียคนรักนับแสนๆ คนต่อวัน แต่ความตายไม่ได้สวยงามนัก คนไม่อยากนึกถึงเท่ากับเรื่องอื่น แต่หากคุณมีชีวิตยืนยาวเลยมาถึงครึ่งทางของการมีชีวิต คุณจะสังเกตได้ว่าความตายอยู่ใกล้ตัวเรามาก

ก่อนอายุขึ้นเลขสี่ งานพิธีกรต่างๆ ที่เราไปร่วมในช่วงครึ่งแรกของชีวิต ส่วนใหญ่เป็นงานรื่นเริง งานที่เต็มไปด้วยความหวังของชีวิต เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานจบการศึกษา แต่พออายุสัก 45 ปี รูปแบบของงานที่คุณจะเจอเพื่อนๆ อาจเริ่มเปลี่ยนจากที่เจอกันในงานแต่งงาน ก็เปลี่ยนเป็นไปงานศพ จากโรงแรมก็เปลี่ยนเป็นโรงพยาบาล วาระของชีวิตพวกนี้หลายครั้งชวนอึดอัด แต่ก็เหมือนเป็นสิ่งที่ สอนเราให้เตรียมตัวรับความจริง เมื่อถึงเวลาเราจะได้พอเตรียมเนื้อเตรียมตัวได้บ้าง เพราะหากใครเคยเข้าใกล้ประสบการณ์เฉียดตายหรือได้มีโอกาสได้เห็นคนใกล้ชิดตายไปต่อหน้าต่อตา คุณจะเข้าใจเลยว่ามันเป็นช่วงเวลาที่สับสนในความคิดไม่น้อย 

ในชีวิตผมมีโอกาสได้เห็นคนค่อยๆ หมดลมหายใจอยู่สองครั้ง มันเป็นความรู้สึกที่กระอักกระอ่วน ช่วงเวลาของการรอดูวาระสุดท้ายของชีวิตของคนๆ หนึ่ง มันช่างยาวนานเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ได้เห็นปฏิกิริยาของคนรอบข้างที่กำลังเสียใจ รู้สึกถึงความเศร้าโศกที่เกาะกุมไปทั่วห้อง แม้ไฟจะปิดสว่างทุกดวง แต่ก็ดูมืดมิดไม่เห็นแสงสว่าง

ทว่าเมื่อความตายมาถึง มันกลับเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เหมือนเวลาที่มันเดินผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เมื่อความตายมาถึงแล้ว มันเปลี่ยนบรรยากาศของห้องไปเลย มันเหมือนตอนจบของหนัง ทุกคนรู้แล้วว่าจบแบบไหน จากนี้ไปหากยังนึกถึงหนังเรื่องนี้อยู่ มันก็จะอยู่ในความทรงจำของเรา ชีวิตของคนดูก็ต้องดำเนินต่อ ส่วนคนที่จากไปแล้ว แม้เราจะอยากรู้มากแค่ไหนแต่หนังเรื่องนี้ไม่มีภาคต่อ

ในมุมทางการแพทย์ ความตายวัดได้จากการหยุดการทำงานของสมองและหัวใจ แต่ในระยะ 30 ปีมานี้มีการศึกษาเรื่องประสบการณ์เฉียดตายหรือ Near-Dead Experience (NDE) กันมากขึ้นในโลกตะวันตก มีการอธิบายและศึกษาเรื่องประสบการณ์ NDE มากขึ้นและสรุปสั้นๆ ได้ว่า มันเป็นประสบกาณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ภาวะร่างกายตกอยู่ในสภาพโคม่า ไม่รู้สึกตัว เช่น หัวใจหยุดเต้น สมองหยุดการทำงาน หรือมีภาวะเหมือนตายแล้วในทางการแพทย์ แต่สามารถกลับฟื้นขึ้นมาใหม่และมีความทรงจำในช่วงเวลาที่ร่างกายหยุดการทำงาน

คำว่า Near-Dead Experience ถูกใช้ครั้งแรกในหนังสือขายดีของจิตแพทย์เรย์มอนด์ มูดี (Raymond Moody) จิตแพทย์ชาวอเมริกัน ชื่อว่า Life After Life (1975) ซึ่งเก็บข้อมูลศึกษาผู้ที่มีประสบการณ์เฉียดตายจำนวน 150 คน และพบว่าในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของความเป็นความตายจิตของเราทำงานอย่างน่าสนใจ หลายคนสามารถเห็นตัวเองลอยออกมาจากร่าง หลายคนสามารถกลับมาบรรยายถึงเหตุการณ์ระหว่างที่ตัวเองอยู่ใสภาวะไม่รับรู้  หนังสือเล่มนั้นจุดประกายให้เกิดการศึกษาเรื่องประสบการณ์ใกล้ตายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น นำมาสู่การเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ จนปัจจุบันเราเริ่มมีคำถามว่า จริงๆ แล้วที่เราเข้าใจว่าสมองเป็นผู้กำหนดจิตใจ แต่ตอนนี้อาจไม่ใช่อย่างนั้น สมองและจิตอาจมีกลไกในการทำงานที่แยกเป็นอิสระต่อกัน แต่ถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีใครรู้ได้ว่ามันทำงานอย่างไร เพราะหลายกรณีที่พบในการศึกษาของมูดดี เขาเองก็บอกว่ายังไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมเมื่อสมองหยุดทำงานแล้ว เรายังสามารถรับรู้หรือจำเรื่องราวต่างๆ ได้ระหว่างที่อยู่ในภาวะเฉียดตายได้

ในหนังสือของ ดร.บรูซ เกรย์สัน ก็เช่นกัน หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นการรวบรวมหลักฐานงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์เฉียดตายที่มากที่สุดและทันสมัยที่สุดในเวลานี้ ดร.บรูซ เกรย์สันเป็นจิตแพทย์ที่ศึกษาเรื่อง NDE มากว่า 45 ปี เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากที่สุด หนังสือบอกเล่าแง่มุม ประสบการณ์ต่าง ของการศึกษาและนำกรณีศึกษาที่ดร.เกรย์สันได้พบเจอตลอดระยะเวลาการทำงานมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งพบว่าประสบการณ์ NDE ส่วนใหญ่มีรูปแบบคล้ายกัน เป็นความรู้สึกทางบวก เป็นโลกที่หลุดพ้นข้อจำกัด สวยงาม ได้พบเจอกับคนใกล้ชิดที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อาจสัมพันธ์กับความเชื่อส่วนบุคคล และเกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนร้ายประสบการณ์ NDE ดูจะเป็นไปในทางบวกมากกว่าทางลบ (คือเหมือนขึ้นสวรรค์มากกว่าตกนรก) ซึ่งดูแตกต่างต่างจากจักรวาลวิทยาเกี่ยวกับความดีความชั่วอย่างที่เราเข้าใจ

หนังสือไม่ได้แตะประเด็นเรื่องความเชื่อทางศาสนามากนัก ผมคิดว่าผู้เขียนเองไม่ต้องการลดทอนความโดดเด่นของงานเก็บข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ และไม่ต้องการให้รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มีอคติทางความเชื่อแฝงอยู่ แต่กระนั้นก็มีการถามถึงผู้ที่มีประสบการณ์ NDE เกี่ยวกับการพบเจอสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เหมือนกัน 

3

ทุกวันนี้เราพยายามเอาชนะความตายด้วยการทำอย่างไรก็ได้ให้ชีวิตเป็นอมตะ แม้ว่าอาจไม่เอิกเริก แต่เราก็รู้ว่าความพยายามอยู่

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นตัวแปรหลักในการขับเคลื่อนหนทางสู่การเก็บรักษาความทรงจำหรือตัวตนของเราไว้ให้เป็นอมตะ เพื่อรอร่างใหม่มาใส่แทนร่างเก่าที่เสื่อมไป บรรยากาศแบบนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังอย่าง The Metrix หรือซีรีส์ วิทยาศาสตร์อย่าง Alter Carbon ยิ่งนัก มีการพูดถึงความเป็นไปได้ในการอัพโหลดจิตใจเก็บไว้ในรูปแบบของข้อมูลดิจิตัล (Whole Brain Emulation หรือาจเรียกง่ายๆ ว่า Mind Uploading) และรอเวลาถ่ายโอนไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ๆ ในอนาคต

ในสหรัฐอเมริกาศึกษากันอย่างจริงจังมาก โดยรวมเอาความรู้ด้านประสาทวิทยาผนวกเข้ากับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ที่ตอนนี้ดูจะสามารถข้ามข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่มีในอดีตไปได้ ทั้งฮาร์ดดิสก์ที่มีขนาดความจุมากขึ้น แต่ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บเล็กลง ชิปคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงแต่กินพลังงานน้อยลง ประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ของการกักเก็บความทรงจำและตัวตจนของเรา มีการคาดการณ์กันว่าความทรงจำของมนุษย์ 1 คนใช้พื้นที่จัดเก็บที่ราว 20,000 เทราไบต์ ความท้าทายก็คือเมื่อเก็บได้แล้ว จะเชื่อมโยงข้อมูลมหาศาลกับความรู้สึกนึกคิดและการสร้างโลกเสมือนให้กับชีวิตใหม่ที่เป็นอมตะอย่างไร หน้าตาและระบบจะเป็นแบบไหนกัน

แนวความคิดนี้ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ ตอนนี้เริ่มมีธุรกิจอัพโหลดความทรงจำของมนุษย์ให้บริการแล้วอย่าง OpenWorm หรือบริษัทของอีลอน มัสก์ Neuralink นั่นก็มีเป้าหมายให้ไปถึงการมีชีวิตที่อมตะเช่นกัน คาดการณ์กันว่าเราอาจได้เห็นมันเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นไม่เกินปี 2045 โดยธุรกิจแรกที่จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนสำคัญของการนำเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ก็คือ การเดินทางในอวกาศที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการเดินทางนาน การอัพโหลดความทรงจำของมนุษย์ไปเก็บไว้และรอเวลาสำหรับการหาร่างหรือแพลตฟอร์มใหม่สำหรับการใช้ชีวิต โลกเมตาเวิร์สของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็วางแผนรองรับเรื่องนี้ไว้เช่นกัน ในโลกตะวันตกก็มีเสียงที่แตกกันเป็นสองฝั่ง ฝั่งที่มองว่ามันมีความเป็นไปได้และฝั่งที่มองว่าการอัพโหลดความทรงจำของมนุษย์เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกวันนี้เราเข้าใจการทำงานของสมองน้อยมาก และเสียเวลาเปล่า

ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ความคิดนี้ท้าทายสมมติฐานเรื่องการมีอยู่ของจิตใจที่แยกออกจากสมอง คำถามก็คือหากเรามีความทรงจำที่ปราศจากจิตใจเราจะเข้าใจหรือมีความรู้สึกเหมือนกับตอนที่เรามนุษย์จริงๆ ได้ไหม ข้อมูลที่ไร้จิตใจจะทำงานอย่างไร

นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากรอดูไม่แพ้การมาถึงของมนุษย์ต่างดาว   

สำหรับคนที่ได้อ่านหนังสือ After และดู Surviving Death เรียบร้อย น่าจะมีคำถามมากมาย เป็นต้นว่า ความสามารถในการระลึกชาติ ความสามารถในการหยั่งรู้บางเรื่อง การเห็นอนาคตของตัวเอง ฯลฯ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้ขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนาอยู่ไม่น้อย ทั้งประเด็นเรื่องการกลับชาติมาเกิด การมีพระเจ้าหลายองค์ ผมอดคิดไม่ได้ว่าหากดร.บรูซ เกรย์สัน นับถือศาสนาพุทธเป็นผู้เจริญศีลสักนิดหนึ่ง มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะหลายอย่างดูสอดคล้องกับความจริงแท้พุทธศาสนา และยิ่งหากคุณเป็นคนที่นั่งสมาธิเป็นประจำจะพบว่าการทำสมาธิสำหรับใครหลายๆ อาจเป็นการจำลองประสบการณ์ NDE ที่เต็มไปแด้วยความสุข สงบและหลุดพ้นได้เลย

สำหรับความตายไม่ควรรีบร้อน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรยืดเยื้อครับ เราแค่ต้องเตรียมตัวให้ดีเหมือนเรื่องอื่นๆ ในชีวิตของเรา  

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save