fbpx

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา: ชีวิตและผลงาน (3)

หนังสือ 60 ปี ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: ภาพประกอบ

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย

“…งานวิจัยประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชิ้นแรกที่ผมทำคือ ความคิดทางเศรษฐกิจของพระยาสุริยานุวัตร และต่อมาได้ทำวิจัยเรื่อง The Political Economy of Siam 1855-1932 ร่วมกับ รศ.ดร.สุธี ประศาสน์เศรษฐ และ รศ.ดร.มนตรี เจนวิทย์การ…”[1]

อาจารย์ฉัตรทิพย์ยังอธิบายเพิ่มถึงการก้าวเข้าสู่การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจว่า มีที่มาจากการศึกษาเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่เรียนปริญญาเอก ซึ่งอาจารย์ได้สอนและเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวิชาการพัฒนาเศรษฐกิจถือเป็นวิชาที่ต้องให้ความสนใจทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยสัมพันธ์กับการเมือง สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งมีมิติเวลาและการเปลี่ยนแปลงเข้ามาเกี่ยวข้อง[2]

ช่วงนั้น อาจารย์ฉัตรทิพย์ และ รศ.ดร.สุธี อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขณะนั้น ได้ค้นคว้าเอกสารจดหมายเหตุต่างๆ ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้พบทั้งลูกศิษย์ ผู้ที่เขียนวิทยานิพนธ์และเพื่อนๆ ของพวกเขาไปนั่งค้นคว้าอ่านเอกสารพร้อมกันกับอาจารย์ทั้งสองประมาณ 20 คน โดยใช้เวลาแทบทุกวัน และยังใช้เวลาพักในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูล ตลอดเวลา 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2517-2518 อาจารย์ฉัตรทิพย์และอาจารย์สุธีร์อ่านเอกสารของสำนักราชเลขาธิการ ซึ่งคือเอกสารที่เข้าสู่พระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 และยังอ่านเอกสารที่มาจากกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงนครบาล รวมทั้งกระทรวงโยธาธิการ อาจารย์ฉัตรทิพย์ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า อาจารย์ได้อ่าน British Consular Report ซึ่งอาจารย์สุธีร์ได้สำเนามาจากประเทศออสเตรเลีย และยังได้ใช้สมุดสถิติรายปีของไทย ซึ่งตีพิมพ์เล่มแรกเมื่อ พ.ศ. 2459

ผลงานสำคัญในช่วงนั้นของอาจารย์ฉัตรทิพย์ อาจารย์สุธี และอาจารย์มนตรี[3] มีอยู่ 2 เล่ม คือ The Political Economy of Siam 1855-1910 และ The Political Economy of Siam 1910-1932 ซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2523 นับเป็นผลงานชิ้นบุกเบิกสำคัญด้านเศรษฐกิจการเมืองของพวกเขา โดยอาจารย์ฉัตรทิพย์เล่าให้ฟังว่า

“…ส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ผมได้ข้อคิดมาจากการอ่าน Capital ของ Karl Mark โดยเฉพาะ Vol.3 นั้นเป็นพลวัตของระบบทุนนิยมในประวัติศาสตร์ Karl Mark เสนอสาระสำคัญเรื่อง Primitive Accumulation (การสะสมทุนขั้นต้น-ขยายความโดยผู้เขียน) ทำให้อาจารย์ฉัตรทิพย์คิดว่าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งก็ใช้ระบบนี้คือ เก็บภาษีสุรา การพนัน บ่อนเบี้ย ระบบเหมาเมืองทางภาคใต้…”[4]

อาจารย์ฉัตรทิพย์เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า “…ผมนึกถึงอาจารย์ ผาสุก (พงษ์ไพจิตร[5]) ศึกษาร่วมกับอาจารย์สังศิต (พิริยะรังสรรค์[6]) เรื่องเศรษฐกิจนอกกฎหมายก็สืบๆ มาจาก Primitive Accumulation คือ Mark ก็ได้พูดไว้เรื่องการปล้มสดมภ์แร่เงิน ทอง จากลาตินอเมริกา แล้วเอา Surplus (ส่วนเกิน) นั้นมาระดมทุน ไม่ใช่การสะสมทุนจาก productivities แต่กลับเอามาจาก ‘นอก’ ระบบการผลิต…”[7]

ต่อมาอาจารย์ฉัตรทิพย์ได้เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ แล้วมีการรวมผลงานรวมประมาณ 15 เล่ม หลายเล่มถูกย่อเป็นบทความและรวบรวมตีพิมพ์อยู่ในหนังสือชื่อ ‘ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย’ ใน พ.ศ. 2484 ซึ่งบรรณาธิการโดยอาจารย์ฉัตรทิพย์ และ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์

ช่วงที่อาจารย์ฉัตรทิพย์เริ่มค้นคว้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจคือ ช่วงปี 2510 ผ่านงานน่าสนใจหลายชิ้น อาจารย์ฉัตรทิพย์ได้ยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น Economic Change in Thailand 1850-1970 โดย James C. Ingram และ Chinese Society in Thailand : An Analytical History โดย William Skinners รวมทั้งวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอีกจำนวนหนึ่ง เช่นงานของ เสนาะ อูนากูล, วิชิตวงค์ ณ ป้อมเพชร, สุธีร์ ประศาสน์เศรษฐ, D.B. Johnson และ Ian Brown เป็นต้น 

อาจารย์ฉัตรทิพย์เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า “…ขณะเดียวกันผมก็ศึกษาทฤษฎีและแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ไปด้วยกัน คือนึกหารูปแบบ (pattern) ของข้อมูลของไทย โดยมีมิติทฤษฎีและแนวคิดสากลอยู่ข้างหลัง ขณะเดียวกันก็นึกปรับทฤษฎีให้อธิบายกรณีของไทยไปพร้อมกัน มิติทางทฤษฎีทำให้ผมสนใจศึกษาค้นหาชนชั้นกระฎุมพีอิสระ ซึ่งเป็นชนชั้นสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นทุนนิยมอุตสาหกรรมในตะวันตก แต่องค์ความรู้ที่ผมค้นพบจากการอ่านเอกสารคือสังคมไทยขาดชนชั้นนี้ ต้องแบ่งส่วนเกิน (surplus) กับข้าราชการ ไม่มีอำนาจทางการเมืองและไม่มีผู้นำทางวัฒนธรรม การขาดพัฒนาการของชนชั้นนี้ทำให้ประเทศไทยในอดีตไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและระบบการเมืองไปเป็นประชาธิปไตย กรณีประวัติศาสตร์ของไทยทำให้ผมต้องปรับแนวคิด และต่อมาเมื่อได้ศึกษาชาวบ้านและท้องถิ่น และพัฒนาการจากท้องถิ่น ผมคิดได้ว่า ควรพิจารณาชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่น และพัฒนาจากท้องถิ่น เป็นพลังร่วมของหลายชนชั้น มากกว่าจะให้เป็นบทบาทของชนชั้นนายทุนเท่านั้น…”

สู่ชุมชนหมู่บ้านไทย

…มีคนเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ช่วงแรกที่อาจารย์ฉัตรทิพย์ออกไปหมู่บ้านในชนบท เขาเคยขึ้นไปบ้านชาวบ้านเพื่อพูดคุยด้วย พอขึ้นไปแล้วด้วยบ้านไม้เก่าๆ ซอมซ่อหลังนั้นเกิดโยกขึ้นมาระหว่างที่เขาเดินบนบ้านก่อนที่เขาจะนั่งลง อาจารย์ฉัตรทิพย์ถามผู้เฒ่าท่านนั้นว่า บ้านไม้เก่าๆ อย่างนี้ อยู่กันได้หรือครับ ไม่กลัวพังลงมาหรือ…[8]

งานศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชนหมู่บ้านไทยของอาจารย์ฉัตรทิพย์มีสองช่วง คือ พ.ศ. 2521-2527 และอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2543-2547

การวิจัยช่วง พ.ศ. 2521-2527 เป็นงานวิจัยที่อาจารย์ฉัตรทิพย์ทำด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนช่วง พ.ศ. 2543-2547 อาจารย์ฉัตรทิพย์เป็นผู้ประสานงาน อาจารย์ฉัตรทิพย์ถือว่างานวิจัยของเขาช่วง พ.ศ. 2521-2527 ว่าด้วยประวัติศาสตร์หมู่บ้านในประเทศไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเป็นงานวิจัยครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของอาจารย์ เหตุผลและความเป็นมาของงานวิจัยครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของอาจารย์ฉัตรทิพย์มีความน่าสนใจ โดยอาจารย์ฉัตรทิพย์อธิบายว่า

“ข้าพเจ้าเข้ามาสู่การค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์หมู่บ้านด้วยสาเหตุ 2 ประการ

สาเหตุที่ 1 คือความสนใจ อยากรู้และทำความเข้าใจชีวิตของชาวบ้าน ชาวบ้านผู้มีตัวตนและเลือดเนื้อมีจำนวนมาก อยู่รอบตัวข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้ารู้จักและเข้าใจเขาน้อยเหลือเกิน

สาเหตุที่ 2 คือความฉงนทางทฤษฎี ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งของทฤษฎีมาร์กซิสคือ ชนชั้นชาวนามีบทบาทอย่างไรในกระบวนการเปลี่ยนแปลงระบบสังคม-เศรษฐกิจจากระบบก่อนทุนนิยม (pre capitalism) หรือสังคมนิยม? ในระหว่าง พ.ศ. 2521-2527 เป็นเวลา 6 ปี ข้าพเจ้าและนิสิตปริญญาโท 3 คนคือคุณสุวิทย์ ไพทยวัฒน์, คุณชูสิทธิ์ ชูชาติ และคุณประนุช ทรัพย์สาร ได้เดินทางไปถึงกว่า 200 หมู่บ้านทั่วประเทศ สัมภาษณ์ชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ ช่วยกันเสนอภาพประวัติศาสตร์หมู่บ้านไทย ภาพที่ได้คือ หมู่บ้านเป็นเศรษฐกิจชุมชนที่พึ่งตัวเองได้ ผลิตทั้งอาหารและเครื่องนุ่งห่ม และหาอาหารได้จากธรรมชาติด้วยดิน ป่า และลำน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ที่ดินมีมากเมื่อเทียบกับประชากร เป็นเศรษฐกิจที่ฝังตัวด้วยอยู่ในวัฒนธรรมชุมชนที่เข้มแข็ง คือความมีน้ำใจ ครอบครัวทั้งหลายในชุมชนหมู่บ้านมักเป็นญาติกัน มีบรรพบุรุษร่วมกัน ช่วยเหลือกันด้วยความเต็มใจเต็มที่ในการผลิต และการแบ่งปันผลผลิต รวมทั้งช่วยเหลือกันในช่วงเวลาสำคัญอื่นๆ เช่น สร้างบ้าน ทำพิธีกรรม มีงานรื่นเริง ช่วยเหลือกันเวลาทุกข์ร้อน ร่วมกันป้องกันภัยอันตราย ลักษณะความเป็นชุมชนของหมู่บ้านไทยคงอยู่เป็นเวลาช้านาน และแม้ในปัจจุบันลักษณะความเป็นชุมชนก็ยังมีอยู่สูง การบุกทะลวงเข้าไปของระบบทุนนิยมค่อนข้างเป็นไปในอัตราที่ช้ากว่าประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม การผลิตแบบไร่ขนาดใหญ่มีจำกัด[9]

อาจารย์ฉัตรทิพย์อธิบายการค้นคว้าวิจัยประวัติศาสตร์หมู่บ้านครั้งนั้นได้อย่างจับใจมาก อาจารย์ฉัตรทิพย์อธิบายว่า[10]

“การค้นคว้าวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์หมู่บ้านครั้งนั้นเป็นการวิจัยสนามอย่างแท้จริง ติดต่อกันนานครั้งเดียวในชีวิตของผม มีผลต่อผมทั้งทางด้านอารมณ์ความรู้สึกและด้านแนวคิดทฤษฎี เป็นการวิจัยที่เปลี่ยนแปลงตัวผม จากจุดนั้นมา ผมหมกหมุ่นสนใจอยู่เฉพาะกับเรื่องชุมชนหมู่บ้าน ชาวบ้านพึ่งตัวเองได้ด้วยการใช้แรงงาน พวกเขาไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีศักดิ์ศรี มีถิ่นฐาน มีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรม มีความหวังและความไฝ่ฝัน ชาวบ้านคือแกนของสังคมและวัฒนธรรมไทย เป็นแกนที่มีศักยภาพ หากจะเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมไทยจะต้องเข้าใจชาวบ้าน และหากจะพัฒนาสังคมไทยแท้จริงและพัฒนาอย่างชอบธรรม ต้องเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง”

วิวาทะทางทฤษฎี

งานวิจัยประวัติศาสตร์หมู่บ้านครั้งนั้นของอาจารย์ฉัตรทิพย์และคณะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงระเบียบวิธีวิจัยจากการวิจัยเอกสารชั้นต้น (primary source) เช่น มีการใช้จดหมายเหตุทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นับว่าเป็นงานที่บุกเบิกและแตกต่างจากของงานของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ไม่สนใจการวิจัยเอกสารมากนักและไม่ค่อยใช้จดหมายเหตุ แต่ไปมุ่งเน้นตัวเลข สถิติ และภายหลังก็มักมุ่งเน้นไปที่การสร้างโมเดล ทดสอบโมเดล ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่า แล้วอ้างกันว่ามีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าวิธีวิจัยทางเอกสารหรือจดหมายเหตุ อาจารย์ฉัตรทิพย์และคณะได้ก้าวพ้นข้อจำกัดทางวิธีวิทยา (methodology) เหล่านี้ โดยใช้วิธีวิทยาใหม่ ลงภาคสนาม สัมภาษณ์ ใช้ประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งบุกเบิกมากสำหรับงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในไทยและต่างประเทศในยุคนั้น

ไม่เพียงเท่านั้น อาจารย์ฉัตรทิพย์ยังให้ความสำคัญกับ ‘ทฤษฎี’ เพื่อใช้อธิบายข้อมูล เอกสาร ข้อมูลภาคสนาม และเรื่องเล่า อาจารย์ฉัตรทิพย์เข้าใจลึกซึ้งในทฤษฏีทางสังคมศาสตร์ด้วยเหตุว่า เขาศึกษาค้นคว้าลัทธิเศรษฐกิจการเมืองของเจ้าสำนักหลายสำนัก เช่น จอห์น ลอค, อดัม สมิท, โรเบิร์ต มัลทัส, เดวิด ริคาร์โด, แซง-ซีมอง, โรเบิร์ต โอเวน, ชาร์ล ฟูริเอ, หลุยส์ บลังค์, เจเรมี เบนแทม, จอห์น สจ๊วต มิลล์, มาร์กซิสม์-เลนินนิสม์, เลนิน, เมา, เดอเบรย์ ดังปรากฏเป็นตำรา ‘ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง’[11] ที่พิมพ์มาต่อเนื่อง อาจารย์ฉัตรทิพย์ภูมิใจในตำราลัทธิเศรษฐกิจการเมืองที่รับการตีพิมพ์ถึง 11 ครั้ง และพิมพ์ติดต่อกันมาถึง 48 ปีแล้ว[12] โดยความภูมิใจนั้นไม่ใช่ในเรื่องรายได้ หากเป็นพลังและอิทธิพลด้านงานศึกษาในบรรณพิภพไทย 

อาจารย์ฉัตรทิพย์อธิบายว่า “ผมเริ่มได้ความคิดว่า การศึกษาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ไทยจะต้องศึกษาสถาบันชุมชนหมู่บ้าน ‘หมู่บ้าน’ หรือที่ภาษาไทเรียกว่า ‘บ้าน’ นั้นคือมโนภาพและความเป็นจริงที่เป็นฐานเพื่อทำความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมไทย เป็นมโนภาพหลักที่จะนำเอามโนภาพอื่นเข้ามาเสริม ความจริงข้อนี้ทำให้ต้องคิดปรับทฤษฎีเรื่อง ‘ชนชั้น’ ในสังคมและวัฒนธรรมไทย แทนที่จะถามคำถามว่า ชนชั้นชาวนามีฐานะและบทบาทอย่างไรในประวัติศาสตร์การเข้ามาหรือการเกิดระบบทุนนิยม จะต้องเปลี่ยนเป็นถามว่า การเข้ามาของระบบทุนนิยมกระทบชุมชนหมู่บ้านของไทยอย่างไร? ชุมชนหมู่บ้านจะมีบทบาทอย่างไรในระบบทุนนิยม?”

คำถามเดิมมองชาวนาเป็นชนชั้น เพราะเป็นผลจากอิทธิพลของทฤษฎีมาร์กซิสว่าด้วยชนบทแบบฉบับและแบบเลนิน โดยเจ้าของที่ดินและปัจจัยการผลิตอื่นอีกส่วนหนึ่งจะสูญเสียที่ดิน กลายเป็นกรรมาชีพในชนบท ชนบทจะเปลี่ยนเป็นระบบทุน แบ่งแยกชนชั้นและความขัดแย้งทางชนชั้นในระหว่างชาวนาด้วยกันเองจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ระบบทุนนิยมจะทำลายโครงสร้างภายในของสังคมชาวนา คือทำลายชนชั้นชาวนา ต่อคำถามว่าชนชั้นชาวนาจะกลายเป็นระบบทุนสมบูรณ์เช่นเดียวกับในเมืองหรือไม่ เศรษฐกิจของประเทศจะเปลี่ยนเป็นระบบทุนทุกส่วน[13]

แต่การค้นพบว่า ชนบทไทยมีหมู่บ้านหรือบ้าน ซึ่งประกอบด้วยชาวนารายย่อยผู้ผลิตรายเล็กอิสระ และบ้านก็เป็นสถาบันเก่าแก่ที่เข้มแข็งมากทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ทำให้ต้องปรับทฤษฎี โดยชนชั้นชาวนาจะไม่หมดไป เศรษฐกิจสังคมชนบทจะยังคงเป็นเศรษฐกิจครอบครัวและชุมชน สมาชิกหมู่บ้านโดยหัวใจคือชาวนารายย่อย ยึดถือการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นพื้นฐานของชีวิต ไม่ใช่ขัดแย้งเอารัดเอาเปรียบกัน ความเป็นชุมชนมีสูงมากตลอดมาในสถาบันหมู่บ้านของไทย ชุมชนหรือบ้านปกป้องไม่ให้เกิดการแตกขั้วของชาวนา นัยก็คือในสังคมที่ชุมชนของผู้ผลิตรายย่อยอิสระมีความเข้มแข็ง การประดิษฐานระบบทุนอาจทำสำเร็จได้ไม่ง่ายนัก สังคมอาจอาจมีทางเลือกอื่น

มาร์กซ์เองก็เขียนถึงกรณีของสังคมแบบนี้ ซึ่งแตกต่างจากยุโรปตะวันตก โดยเรียกว่า ‘ทฤษฎีวิถีการผลิตแบบเอเชีย’ (Asia Mode of Production) แต่มาร์กซ์เองมองวิถีการผลิตแบบเอเชียค่อนข้างในแง่ลบ คือเห็นว่าเศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอาจขัดขวางการเปลี่ยนวิถีการผลิตทุนนิยม ซึ่งมากเห็นว่าเป็นวิถีการผลิตที่ก้าวหน้ากว่า[14]

วิวาทะแห่งวิวาทะ

หลายคนคิดว่าความคิดและผลงานของอาจารย์ฉัตรทิพย์ออกมาง่ายนิดเดียว ด้วยผลงานออกมามากมาย สม่ำเสมอ ต่อเนื่องมิได้ขาด แต่ความจริงไม่ง่ายเช่นนั้น

หนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของฉัตรทิพย์ถือเป็นการแหวกม่านประเพณีการศึกษาเศรษฐศาสตร์ โดยใช้ประวัติศาสตร์อธิบายเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่เห็นด้วย วิจารณ์ว่าใช้ตัวเลขน้อย อาจารย์ต้องอ่านเอกสารชั้นต้นที่นักสังคมศาสตร์แทบไม่ได้ใช้เลยนาน 2 ปี ประวัติศาสตร์แนวเก่าก็วิจารณ์ว่าอาจารย์ไม่ได้เรียนจบประวัติศาสตร์ แถมยังทำงานทวนกระแส ประวัติศาสตร์แนวกรมดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์แนวคลั่งฮีโรที่มีฐานมั่นคงในมหาวิทยาลัยมายาวนาน

ก่อนจะอ่านและทำความเข้าใจถึงสังคมไทยแนวมาร์กซิสต์ วิถีการผลิตเอเชีย และ The Political Economy of Siam ต้องอ่านและทำความเข้าใจทฤษฎีมาร์กซิสต์ เช่นผ่านหนังสือ Capital ทั้งสามเล่ม ซึ่งถือว่าอ่านยาก เพราะเป็นงานศึกษาเชิงปรัชญาและแปลมาจากภาษาเยอรมันแบบเก่า โดยอาจารย์ฉัตรทิพย์ได้ให้ลูกศิษย์ที่ทำวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอ่านหนังสือ Capital นี้ด้วย โดยสิริลักษณ์ ศักดิ์เกรียงไกร ลูกศิษย์ของอาจารย์ฉัตรทิพย์เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “…อาจารย์สั่งให้อ่าน Capital ยากมาก พี่อ่านไป ร้องไห้ไป…”

อีกผลงานเด่นของอาจารย์ฉัตรทิพย์คือ ‘เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต’ ซึ่งใช้เวลาทำวิจัยภาคสนามต่อเนื่องนาน 6 ปี โดยเดินทางร่วมกับลูกศิษย์ปริญญาโทหลายคนและเพื่อนชาวต่างชาติ ไปยังหมู่บ้านกว่า 200 หมู่บ้าน ได้คุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ ชาวบ้านทั่วไทย อาจารย์ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ลูกศิษย์ที่ช่วยอาจารย์ฉัตรทิพย์เก็บข้อมูล ค้นคว้าหนังสือเก่าในช่วงนั้นและยังช่วยผลักดัน ทำละครเวทีเรื่อง ‘จำกัด พลางกูล : เพื่อชาติ เพื่อ Humanity’ ละครเวทีเรื่องแรกที่อาจารย์ฉัตรทิพย์เป็นทั้ง โปรดิวเซอร์และนักแสดง[15] เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “…เวลาเขียนหนังสือเล่มนี้ อาจารย์เครียด เขียนและเรียบเรียงยากมาก เนื่องจากข้อมูลถอดเทปสัมภาษณ์มีมาก แล้วยังต้องเขียนวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีที่ยาก ต้องใช้ภาษาง่ายๆ สั้น กระชับ…”

ไม่เพียงใช้เวลานานในการเขียนเท่านั้น กว่าจะเป็นหนังสือเล่มนี้ อาจารย์ยังฝังตัวอ่านเอกสารเก่าในห้องสมุด หอจดหมายเหตุ เดินทางทั่วไทยและไปคุยกับปัญญาชนชั้นแนวหน้าหลายคนในหลายประเทศ ด้วยความอุตสาหะทุ่มเท และที่สำคัญอาจเรียกได้ว่าเป็นการต่อสู้ทางความคิด ทำสงครามทางอุดมการณ์ต่อทฤษฎีสังคมศาสตร์ที่ยังคงเป็นที่ถกเถียง และมี ค่ายความคิด มีแก็งผูกขาดอุดมการณ์ทั้งในมหาวิทยาลัยและบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งต่างยังแข่งขันและต่อต้านซึ่งกันและกันเข้มข้น จากการศึกษาของลูกศิษย์คนสำคัญอย่าง พรพิไล เลิศวิชา เธอวิเคราะห์ว่า อาจารย์ฉัตรทิพย์อ่านงานของพระยาอนุมานราชธน หรือเสฐียรโกเศศ และศรัทธาในวิธีการศึกษาที่ไม่ยึดติดอยู่กับแบบแผนการศึกษาใด นอกจากนี้อาจารย์ยังศึกษาไปทุกปริมณฑลแห่งขุมความรู้โดยเฉพาะในโลกตะวันตก และอาจารย์ก็ยังรู้จักงานของหลวงวิจิตรวาทการก่อนที่จะอ่านงานของพระยาอนุมานราชธนโดยละเอียดเสียอีก[16]

อาจารย์ฉัตรทิพย์เล่าว่า “…อ่านงานของหลวงวิจิตรวาทการละเอียดตั้งแต่ช่วงมัธยมศึกษา ส่วนงานพระยาอนุมานราชธนอ่านตอนอายุ 30 กว่า…”

ครั้นผลิตงานด้วยกรอบทฤษฎีมาร์กซิสต์ แต่วิพากษ์ชนชั้นกระฎุพี ในบริบทสังคมไทยหลังสยามลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ. 2398 ที่ทำให้ไทยต้องเปิดประเทศและตกอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมโลกแล้ว อาจารย์ฉัตรทิพย์และลูกศิษย์จำนวนหนึ่งได้เสนอว่า สังคมไทยขาดกระฎุมพีอิสระแบบสังคมอุตสาหกรรมตะวันตกที่เป็นพลังหลักเปลี่ยนสังคมเป็นทุนนิยมเสรี กระฎุมพีสยามคือนายทุน นายหน้า (comprador) ไม่สามารถประดิษฐานทุนนิยมเสรีในสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามได้ แต่กลับสวามิภักดิ์ต่อระบบศักดินาสยาม

ต่อมาอาจารย์ฉัตรทิพย์และลูกศิษย์ยังศึกษาแล้วสรุปว่า หมู่บ้านช่วงนั้นไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกับทฤษฏีกึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา (Semi-Colonialism Semi Feudalism) ของจิตร ภูมิศักดิ์ ในงาน ‘โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน’ [17] และอรัญญ์ พรหมชมพู ในงาน ‘ไทยกึ่งเมืองขึ้น’[18] ซึ่งเป็นงานที่วิพากษ์ระบบศักดินาไทยและจักรวรรดินิยม และเป็นผลงานอันทรงพลังช่วงทศวรรษ 2500 ที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2616

ก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 ดร.แพทริก โจรี (Patrick Jory) นักวิชาการประวัติศาสตร์และไทยศึกษาชาวออสเตรเลีย ยกย่องผลงานของอาจารย์ฉัตรทิพย์และคณะต่อประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย สำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่อาจารย์ฉัตรทิพย์ร่วมกับเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์จัดตั้งขึ้น ซึ่งช่วยสร้างที่มั่นประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์ในมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งแม้ว่าจะไม่อาจแทนที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์รอยัลลิสต์ ซึ่งตั้งมั่นเป็นกระแสหลักของประวัติศาสตร์ไทยได้ แต่ก็สามารถสร้างแรงท้าทายได้ไม่น้อย [19]

เมื่องานเศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีตได้รับการตีพิมพ์ พ.ศ. 2527 อาจารย์ฉัตรทิพย์เสนอเรื่องการพึ่งตัวเองของหมู่บ้าน ในเศรษฐกิจหมู่บ้านไทย ซึ่งทำให้หมู่บ้านสามารถรอดพ้นจากการคุกคามของทุนนิยมและอิทธิพลตะวันตก รวมทั้งการปล้นสดมภ์ของรัฐศักดินา จนเกิดแรงปะทะทางทฤษฎีวิเคราะห์สังคมไทยมากทั้งจากนักวิชาการในมหาวิทยาลัยและจากฝ่ายยุทธศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กลายเป็นช่วงระยะเวลาที่ข้อถกเถียงสำคัญในหมู่นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้น อย่างเรื่องที่ว่าสังคมไทยเป็นทุนนิยมหรือเป็นสังคมกึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา กันแน่ ข้อถกเถียงนี้เป็นวิวาทะยาวนานมากกว่า 30 ปี เพราะฝ่ายชี้นำการเคลื่อนไหวของปวงชนต่อการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าของสังคมไทย ต้นปี 2525 มีบทความสำคัญของผู้ใช้นามว่า กลุ่มวิจัยสังคม 25 เสนอความเห็นว่า สังคมไทยยังเป็นกึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา

วิวาทะที่เกิดขึ้นนับว่าใหญ่มาก โดยฝ่ายซ้ายไทยหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2520 หรือที่ถูกขนามนามว่า ‘ป่าแตก’ วิจารณ์ว่า ทัศนะของอาจารย์ฉัตรทิพย์และคณะกลายเป็นพันธมิตรกับอดีตศัตรูคือกลุ่มรอยัลลิสต์ไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม วิวาทะแห่งวิวาทะยังไม่สิ้นสุด แต่ทอดยาวอย่างดุดัน และอีกด้านก็สะท้อนพลังความคิดของสำนักคิดที่อาจารย์ฉัตรทิพย์มีส่วนประกอบสร้างขึ้นมาด้วย


อ่านตอนแรกได้ที่ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา: ชีวิตและผลงาน

อ่านตอนที่สองได้ที่ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา: ชีวิตและผลงาน (2)


[1] อาจารย์ฉัตรทิพย์ เล่าว่า ศ.ดร.ลิขิต ธีระเวคิน ซึ่งเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และร่วมงานในสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยสมัยนั้น ได้มาสอบถามว่า เนื่องจาก The Ford Foundation ประจำประเทศไทยมีทุนวิจัยให้ทำเรื่องประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย อาจารย์สนใจไหม อาจารย์ฉัตรทิพย์ตอบว่าสนใจครับ แล้วอาจารย์ ฉัตรทิพย์ก็ได้รับทุนนี้มาทำวิจัย ในที่สุดออกมาเป็นหนังสือ The Political Economy of Siam สองเล่ม

[2] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์การทำวิจัยด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในประเทศไทย, ประชาคมวิจัย 21 ปีที่ ฉบับที่ 122 กรกฎาคม-สิงหาคม 2558 : 41-42.

[3] รศ.ดร.มนตรี เจนวิทย์การ ขณะนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์มนตรีเป็นเพื่อนสนิทของอาจารย์ฉัตรทิพย์ที่ผูกพันกันมานาน อาจารย์ฉัตรทิพย์มักเรียกชื่ออาจารย์มนตรีว่า ‘ตรี’ อย่างสนิทสนม อาจารย์มนตรีเป็นนักรัฐศาสตร์สนใจด้านทฤษฎีทางสังคม เรียนจบจาก University of Chicago สหรัฐอเมริกา เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงและสอบเข้ายากและเรียนจบยาก ปริญญาตรีก็ใช้เวลาเรียนถึง 6 ปี ต่างจากมหาวิทยาลัยอเมริกันทั่วไป แม้แต่คนอเมริกันก็ยังสอบเข้าไปเรียนยาก คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ได้แก่นักปรัชญาที่ได้รับรางวัลโนเบลคือ Bertrand Russell นักปรัชญาและทฤษฎีการเมือง Hannah Adrendt นักปรัชญาและทฤษฎีการเมืองที่โด่ดดัง และ Leo Strauss เป็นต้น

[4] พรพิไล เลิศวิชา, ฉัตรทิพย์ นาถสุภา 60 ปีแห่งความคิดและที่มา, การสัมมนาของศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่อง “สืบสานความคิด 60 ปี ฉัตรทิพย์-ปรีชา” วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2544 เวลา 9.00-17.00 น ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : 12.

[5] ศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[6] ดร.สังศิต อดีตอาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นวุฒิสมาชิก

[7] พรพิไล เลิศวิชา, ฉัตรทิพย์ นาถสุภา 60 ปีแห่งความคิดและที่มา, การสัมมนาของศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่อง ‘สืบสานความคิด 60 ปี ฉัตรทิพย์-ปรีชา’ วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2544 เวลา 9.00-17.00 น ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : 12-13.

[8] ผู้เขียนได้ฟังจากอาจารย์ที่ร่วมเดินทางไปภาคสนามในจังหวัดภาคอีสาน สมัยผู้เขียนยังเป็นนิสิตปริญญาโท ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพ.ศ. 2526

[9] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์การทำวิจัย ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในประเทศไทย, ประชาคมวิจัย ปีที่ 21 ฉบับที่ 122 กรกฏาคม-สิงหาคม :2558  45.

[10] เพิ่งอ้าง

[11] พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2518 จำนวน 3,000 เล่ม

[12] จดหมายอาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ถึงอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ 7 มิถุนายน 2566

[13] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์การทำงานวิจัย ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในประเทศไทย, ประชาคมวิจัย ปีที่ 21 ฉบับที่ 21 กรกฎาคม-สิงหาคม 2558 : 45.

[14] เพิ่งอ้าง.,

[15] “…ผมเขียนเรื่องจำกัด พลางกูรเสร็จตั้งแต่ปี 2549 เคยเสนอให้ทำละครโทรทัศน์ แต่ยังไม่สำเร็จ จนถึงปี 2556 จึงได้คุยกับลูกศิษย์ว่าจะทำเป็นละครเวที และมาจนถึงปีนี้ก็จะมีคนทำ แต่ผมไม่ได้ช่วยและเพราะไม่ไหว เพียงให้บทไปแล้วสนับสนุน…” สัมภาษณ์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ ‘จำกัด พลางกูร’ บุคคลหลังม่านขบวนการเสรีไทย ThaiPublica 11 ตุลาคม 2014

[16] พรพิไล เลิศวิชา, ฉัตรทิพย์ นาถสุภา 60 ปีแห่งความคิดและที่มา, การสัมมนาของศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่อง ‘สืบสานความคิด 60 ปี ฉัตรทิพย์-ปรีชา’ วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2544 เวลา 9.00-17.00 น ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : 13.

[17] พิมพ์ครั้งแรกเป็นบทความชื่อ ‘โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน’ ในหนังสือ ‘นิติศาสตร์รับศตวรรษใหม่’ ของนักศึกษาธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2500 จิตร ภูมิศักดิ์ใช้นามปากกาว่า สมสมัย ศรีศูทรพรรณ

[18] อรัญญ์ พรหมชมภูเป็นนามแฝงของ อุดม ศรีสุวรรณ ซึ่งเขียนงานให้แก่หนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2493

[19] แพทริก โจรี (เขียน) จิรวัฒน์ แสงทอง (แปล), สงครามประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย การต่อสู้ของสถาบันกษัตริย์ในประวัติศาสตร์ใหม่, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม-กันยายน 2553 : 101.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save