fbpx

เมื่อ AI ทำได้ทุกอย่าง มนุษย์ควรวางจริยศาสตร์ให้ AI ไหม?

ปีสองปีนี้ มี Generative AI (Artificial Intelligence) หลายรูปแบบทยอยปรากฏโฉมออกมาอย่างต่อเนื่อง จนร่ำๆ จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า เรากำลังอยู่ในช่วง AI Big Bang ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบมหาศาลต่อชีวิตในหลายแง่มุมในอนาคตอันใกล้ เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ และระบบยุติธรรม ฯลฯ

คำว่า Generative AI ใช้เรียก AI จำพวกหนึ่งที่มีความสามารถในการสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่เดิมขึ้น โดยอาศัยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) พวกมันเรียนรู้และเชื่อมโยงความหมายของเนื้อหาหรือข้อความเข้าด้วยกัน และเข้ากับภาพ เช่น AI อาจเปลี่ยนภาพขาวดำให้เป็นภาพสีได้ หรืออาจเติมลายพรางลงบนตัวม้าให้ดูคล้ายกับม้าลายได้ ตลอดจนสร้างภาพใหม่ขึ้นทั้งจากคำสั่งแบบข้อความ และตอบคำถามแปลกๆ ที่ไม่เคยมีใครถามมาก่อนได้ ดังที่ Midjourney และ ChatGPT ทำให้คนฮือฮากันอยู่ตอนนี้

แต่คงต้องกล่าวไว้ตรงนี้ว่า AI ตระกูลนี้มีมากมาย ไม่ได้มีแค่ 2 ชนิดนี้เท่านั้น ตัวอย่าง AI อื่นๆ เช่น DALL-E 2, Stable Diffusion และ Imagen (อันสุดท้ายนี่ของ Google)

ภาพที่ Midjourney สร้างไว้ถึงกับสร้าง ‘ปรากฏการณ์’ ได้เลยทีเดียว เพราะไปชนะเลิศการประกวด Colorado State Fair Fine Art 2022 ด้วยภาพชื่อ Théâtre D’opéra Spatial หลังจากผู้ชนะการประกวดคือ เจสัน อัลเลน (Jason Allen) นักออกแบบวิดีโอเกม โพสต์เล่าว่าภาพดังกล่าวได้มาจากการใช้เวลาราว 80 ชั่วโมงดัดแปลงรหัสหรือคำสั่ง หรือที่เรียกกันว่า พร็อมต์ (prompt) ให้ Midjourney สร้างภาพที่สวยและมีรายละเอียดน่าทึ่งดังกล่าว (ลองค้นดูได้ครับ สวยมากๆ) กลับทำให้เกิดคำวิจารณ์ด้านลบมากมาย เช่น บ้างก็ว่านี่อาจจะเป็น ‘ความตายของงานศิลปะ’ เลยทีเดียว

อะไรในตัวงานที่ทำให้ผลงานศิลปะที่มนุษย์ทำต่างกับงานที่มนุษย์ใช้ AI ทำหรือช่วยทำกันแน่?

งานระดับ ‘มาสเตอร์พีซ’ ที่ศิลปินสร้างขึ้น มีพลังบางอย่างที่หากนำงานนั้นไป ‘ทำซ้ำ’ เช่น เอาไปถ่ายภาพหรือสแกนแล้วผลิตงานนั้นออกมาอีกที มูลค่าผลงานอาจจะแตกต่างกันได้เป็นร้อยหรือล้านเท่า มุมมองหนึ่งที่อาจเป็นได้คือ ความเป็นต้นฉบับและความเป็นหนึ่งเดียว กรณีหลังแม้ตัวศิลปินจะทำงานแบบเดียวกันอีกครั้งก็ทำได้ไม่เหมือนเดิม 100%

แต่ที่ว่ามานี้ก็ไม่น่าจะชี้ให้เห็นถึงความด้อยกว่าของ AI หากเทียบกับมนุษย์ คำตอบจึงอาจจะเป็นแค่ว่า เพราะไม่ใช่ผลงานที่มนุษย์ ‘ลงมือทำเอง’ แต่เป็นการทำผ่าน AI (เขียนคำสั่งให้ AI ทำให้อีกที) ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นการเอาเปรียบศิลปินท่านอื่น ก็อาจจะพอได้เหมือนกัน

ประเด็นนี้ในอนาคตอาจจะซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก Midjourney เพิ่งออกฟีเจอร์ใหม่คือ คำสั่ง describe ออกมา ผู้ใช้งานสามารถอัปโหลดรูปแล้วให้ AI สร้าง prompt จากรูปนั้นให้ได้ แต่หากเรานำ prompt หรือคำสั่งดังกล่าว ใส่กลับเข้าไปให้ AI มันจะสร้างภาพที่ไม่ได้เหมือนภาพต้นฉบับ 100% จึงน่าสนใจว่าเจ้าของ ‘ภาพเดิม’ ที่นำมาใช้ จะมี ‘สิทธิ’ อะไรบางอย่างในภาพใหม่ที่ AI สร้างขึ้นหรือไม่

ผมพยายามนึกกรณีเทียบเคียงกันได้ อย่างกรณีของภาพกะลาสีเรืออเมริกันจูบสาว ในวันที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะเคยผ่านตาอยู่บ้าง สิทธิทั้งหมดก็อยู่ที่ตากล้องผู้ถ่ายภาพ ไม่ได้ขึ้นกับกะลาสีคนนั้นหรือสาวคนนั้นเลย (ซึ่งทั้งคู่ต่างเป็นคนแปลกหน้ากัน!) เพราะให้น้ำหนักกับการสร้างสรรค์งานของช่างภาพมากกว่า

อีกกรณีที่ซับซ้อนมากขึ้นอีกนิดหนึ่งคือ มีสาวผิวดำชื่อ เฮนเรียนต้า แบล็ก (Henrietta Black) ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกในปี 1951 แพทย์ผู้ดูแลเธอที่โรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ (The Johns Hopkins Hospital) ได้เก็บเอาเซลล์มะเร็งของเธอไว้และนำมาใช้ในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่อ โดยไม่ได้ทำเรื่องขออนุญาตเธอไว้ก่อน เพราะในสมัยนั้นระบบมาตรฐานทางจริยธรรมที่ระบุว่า ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยยังไม่เกิดขึ้น

ปรากฏว่าเซลล์มะเร็งของเฮนเรียตตา แบล็ก ที่เรียกกันสั้นๆ ต่อมาว่า เซลล์ฮีล่า (HeLa cell) กลายมาเป็นเซลล์ในห้องทดลองชนิดแรกที่เลี้ยงต่อเนื่องได้อย่างไม่สิ้นสุด แตกต่างจากเซลล์ร่างกายปกติของมนุษย์ทั่วไปที่เลี้ยงไปได้สักระยะหนึ่ง มันก็จะตายลง ไม่สามารถเลี้ยงต่อได้อีก ความพิเศษนี้ทำให้เซลล์ฮีล่ากลายเป็นเซลล์ทดลองสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน ทางโรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ไม่เคยมีรายได้ใดๆ จากเซลล์ดังกล่าว แต่ก็มีบางบริษัทที่ขายเซลล์ดังกล่าวหรือเซลล์ที่ดัดแปลงจากเซลล์ดังกล่าวให้กับนักวิจัย ลูกหลานของเธอจึงทำเรื่องฟ้องบริษัทเหล่านั้นว่าเข้าข่าย ‘การขโมย’ ส่วนหนึ่งของร่างกายบรรพบุรุษของตนไปใช้ประโยชน์ สร้างรายได้กับบริษัทโดยที่ลูกหลานไม่ได้ประโยชน์โพดผลใดๆ เลยแม้แต่น้อย

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้กับผลงานของ AI แต่ที่เกิดขึ้นแล้วตอนนี้คือมีคอร์สสอนการเขียน prompt เกิดขึ้นมากมายบนโซเชียลมีเดีย และไม่แน่ว่า prompt ที่สร้างรูปภาพได้โดดเด่นอย่างน่าอัศจรรย์ ก็อาจขายได้ราคาแพงๆ คล้ายกับกรณีของโทเคน NFT ที่เคยฮือฮากันก่อนหน้านี้

อีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างไวมากคือ เมืองไทยเริ่มมีจัดการประกวด Miss AI of 2023 กันแล้ว

สิ่งที่ผมคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นก็คือ ผลงานศิลปะหรือความสามารถอื่นๆ ของ AI น่าจะได้รับการยอมรับมากขึ้นในฐานะ ‘เครื่องมือใหม่’ และน่าจะมี AI ที่ ‘เก่งเฉพาะทาง’ มากขึ้น เช่น สร้างรูปเหมือนคนได้ดีเป็นพิเศษ สร้างภาพสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หรือบรรยายอากาศแวดล้อมได้ดีเป็นพิเศษ ฯลฯ

คราวนี้ หันมาดู ChatGPT กันบ้าง

ฟีเจอร์สำคัญของ AI นี้ที่ทุกคนรู้คือ มันช่วยตอบคำถามต่างๆ ได้ค่อนข้างดี อันที่จริงดีถึงขนาดทำข้อสอบขอใบอนุญาตทางการแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ดีกว่าหมอจำนวนหนึ่งด้วยซ้ำไป

มีจุดเด่นสำคัญเรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทันนึกถึงคือ เราพูดคุยกับมันได้อย่าง ‘เป็นธรรมชาติ’ มาก ต่างกับกรณี AI ของ Google ที่เราใช้ค้นหาสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หากใช้ ‘คำค้น’ อย่างเหมาะสม ไม่ใช่ ‘ประโยค’ แบบพูดคุยกับคน จึงเป็นหน้าที่ของคนที่ต้องไปเรียนรู้หลักการ SEO (Search Engine Optimization) เพื่อเข้าใจการทำงานของ AI ของ Google เรื่องนี้น่าจะทำให้คนรู้สึกว่าใช้งาน ChatGPT ง่ายกว่า และอยากใช้งานมากกว่า

ปัจจัยสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ต้องตระหนักไว้เสมอคือ AI พวกนี้ต้องใช้ข้อมูลในภาษานั้นๆ ในการค้นเป็นหลัก นั่นหมายความว่าความแม่นยำจากการถามด้วยภาษาอังกฤษจะเหนือกว่าการถามด้วยภาษาไทยเป็นอย่างมาก เพราะมีฐานข้อมูลที่ใหญ่กว่ามาก และน่าจะเป็นอย่างนี้ไปอีกยาวนาน เรื่องนี้คล้ายคลึงกับกรณีการค้นข้อมูลจากวิกิพีเดียภาษาไทยและภาษาอังกฤษนั่นเอง

เรื่องที่แน่ใจได้ว่าจะเกิดขึ้นก็คือ นักเรียนและนักศึกษาจะใช้ ChatGPT ช่วยทำการบ้านมากขึ้น จึงไม่ใช่คำถามว่าจะห้ามเรื่องนี้ได้อย่างไร แต่ตรงกันข้ามเลยคือ ครูอาจารย์ของเราจะเรียนรู้เรื่องการใช้งาน ChatGPT และผนวกเข้าไปกับ ‘การศึกษาในระบบ’ ให้ได้ดีและอย่างรวดเร็วได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นครูอาจารย์ก็จะกลายเป็นฟันเฟืองในระบบการศึกษาที่หมุนช้ากว่าที่ควรจะเป็น และถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในที่สุด

เรื่องที่พอจะคาดหมายได้อีกเรื่องหนึ่งก็คือ น่าจะมีคนคิดสร้าง Generative AI จำพวกที่ ‘ดักจับ’ รูปแบบผลงานของ AI ด้วยกันออกมาในไม่ช้า ซึ่งน่าจะทำยากและประสบความสำเร็จน้อยกว่า AI จำพวกที่ทำหน้าที่จับผิดและหา copycat ในเปเปอร์ที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่ใช้กันอยู่ตอนนี้ตามสถาบันต่างๆ  

แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงและมาไวมากคือ ประเด็นด้านจริยธรรม มีกรณีที่ภรรยาชาวเบลเยียมตั้งข้อสังเกตว่า สามีตัวเองที่กังวลใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนมาก อาจจะเสียชีวิตหลังจากพูดคุยกับ Chatbot เจ้าหนึ่งนาน 6 สัปดาห์ ซึ่งก็คงต้องสืบสวนกันต่อไปว่ามีความเกี่ยวข้องมากเพียงใด

แต่ต่อให้เรื่องนี้เป็นข้อสังเกตที่ไม่จริง เราก็อาจต้องรีบตั้งหลักและเตรียมตัวกันแต่เนิ่นๆ เนื่องจากที่ผ่านมา AI อื่นๆ เช่น Siri ของ iPhone, Alexa ของ Amazon และ Google Assistant ที่ตอนเปิดตัวได้แสดงทักษะการโทรศัพท์ไปจองคิวร้านตัดผม โดยคนรับสายไม่รู้ว่ากำลังคุยกับ AI อยู่ หากเด็กๆ ลูกหลานของเราคุยกับ ChatGPT หรือ AI เกี่ยวกับหัวเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดี เช่น คุยเรื่องเกี่ยวกับเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การทำผิดกฎหมาย หรือเรื่องใต้สะดือทั้งหลาย ฯลฯ

เราควรจะทำอย่างไรดี?

ไม่น่าแปลกใจแม้แต่น้อยที่นักคิด อินฟลูเอนเซอร์ และคนในแวดวง IT ที่โด่งดังจำนวนนับร้อยร่วมลงชื่อว่า เราควรจะถอยมาตั้งหลักคุยกันว่า จะจัดการกับ Generative AI พวกนี้ให้มีกรอบการทำงานและขอบเขตการใช้งานกว้างไกลได้เพียงใด โดยที่ยังเกิดประโยชน์มากกว่าโทษมากๆ ขณะที่เขียนบทความนี้ มีคนร่วมลงชื่อแล้วเกือบ 19,000 คน (เข้าไปร่วมลงชื่อกันได้นะครับ)

เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับวงการเทคโนโลยีชีวภาพในช่วงทศวรรษ 1970 มาก่อน เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นพบเอนไซม์ที่ตัดต่อ DNA ได้อย่าง ‘จำเพาะ’ ทำให้เราสามารถตัดต่อ DNA จากสิ่งมีชีวิตชนิดใดเข้าด้วยกันก็ได้ทั้งนั้น เพราะ DNA เป็น ‘ภาษาพันธุกรรมสากล’ ที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใช้ร่วมกันหมด

นักอณูชีววิทยา (molecular biologist) ที่มาประชุมกันใน Asilomar Conference เมื่อปี 1975 ได้ข้อสรุปสำคัญร่วมกันคือ ห้ามไม่ให้มีการนำ DNA จากสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงกับมนุษย์ข้ามไปมา จนเกิดสิ่งมีชีวิตใหม่ที่อาจอันตรายกว่าเดิม เรื่องนี้ได้กลายมาเป็นกรอบการทำงานจนถึงปัจจุบัน

ไม่แน่ว่าเรื่องลักษณะนี้ก็อาจจำเป็นกับ AI เช่นกัน

ขอปิดท้ายด้วยเกร็ดที่น่าสนใจว่า มังงะเรื่องแรกของญี่ปุ่น (และน่าจะของโลกด้วย) ที่ใช้ AI วาดภาพทั้งหมดกว่า 100 หน้าเกิดขึ้นแล้วในชื่อ Cyberpunk: Peach John ขณะที่เมืองไทยก็มี ‘ขายหัวเราะ’ ฉบับ AI แล้วเช่นกัน

ไม่แต่เพียงภาพ เรื่องหรือเนื้อหาจาก AI ก็ไปไกลมากเช่นกัน เรื่อง The Day A Computer Writes A Novel ที่ AI เขียน ได้เข้ารอบสุดท้ายการประกวดระดับประเทศคือ Hoshi Shinichi Literary Award ของญี่ปุ่น ที่มีเรื่องส่งเข้ารวมทั้งหมด 1,450 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีอยู่ 11 เรื่องที่ใช้ AI ร่วมเขียนด้วยบางส่วน

ดูเหมือนอนาคตจะมาถึงเร็วกว่าที่คิดกันเสมอ  

เรื่องไม่น่าเชื่อก็คือ มีสำนักพิมพ์ของไทยคือ สำนักพิมพ์พะโล้ที่ออกหนังสือในชื่อที่คล้ายกันมากออกมาก่อนหน้านี้เช่นกันคือ หนังสือ ‘วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ?’  

ไม่แน่ว่าอีกหน่อยน่าจะยอมรับกันได้ว่า งานวรรณกรรมในยุคหน้าอาจจะมีส่วนหนึ่งที่เป็นผลงานจาก AI ล้วนๆ!        

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save