fbpx

“มาลี” : ปริศนาแห่งแมวส้ม “ยอดดาราแมวไทยในฮอลลีวูด” ?

เมื่อกล่าวถึง ฮอลลีวูด เราย่อมนึกถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นที่หมายปองของนักแสดงทั่วมุมโลก โดยเฉพาะสำหรับนักแสดงคนไทย ที่ได้ปรากฏว่ามีนักแสดงคนไทยหลายท่านเคยไปปรากฏตัวในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ซึ่งนิยมเรียกกันว่า ‘โกอินเตอร์’ ทั้งในฐานะนักแสดงหลัก นักแสดงรอง นักแสดงร่วม ไปจนถึงเป็นสตันต์แมน เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American (1963) ที่เคยแสดงประกบคู่กับนักแสดงระดับตำนานของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดอย่าง มาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando) หรือนักแสดงนางเอกสาวขวัญใจคนไทยอย่าง จินตหรา สุขพัฒน์ ก็เคยได้รับบทนำประกบกับดาราชื่อดัง โรบิน วิลเลียมส์ (Robin Williams) ในภาพยนตร์เรื่อง Good Morning, Vietnam (1987) เช่นเดียวกับ สินจัย เปล่งพานิช ก็เคยได้รับบทร่วมแสดงในฐานะภรรยาของพระเอก เมล กิบสัน (Mel Gibson) ในภาพยนตร์เรื่อง Air America (1990)

ขณะที่ยุคร่วมสมัยก็มี จา พนม ที่ไป ‘โกอินเตอร์’ ในภาพยนตร์ Fast & Furious 7 (2015), xXx: Return of Xander Cage (2017) และ Monster Hunter (2020) นักแสดงสาว รฐา โพธิ์งาม ก็ปรากฏตัวในภาพยนตร์ Only God Forgives (2013) ร่วมกับนักแสดงชายเจ้าบทบาทอย่าง วิทยา ปานศรีงาม ที่ยังได้อยู่ใน The Hangover Part II (2011), A Prayer Before Dawn (2017) และ The Meg (2018) รวมถึงนักแสดงสตันต์แมนชาวไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงในฮอลลีวูดหลายเรื่องและเป็นที่รู้จักกันดีของแฟนๆ ภาพยนตร์อย่าง ดอน ธีระธาดา และ สายเชีย วงศ์วิโรจน์

กระนั้น ที่กล่าวนำมาทั้งหมดก็เพื่อจะบอกว่า ไม่เพียงแต่นักแสดงชาวไทยเท่านั้นที่ไป ‘โกอินเตอร์’ เล่นภาพยนตร์ฮอลลีวูด แต่ทว่าในครั้งหนึ่ง ยังเคยปรากฏข่าวว่า มี ‘แมวไทย’ ไป ‘โกอินเตอร์’ เล่นภาพยนตร์ฮอลลีวูด แถมยังได้รับรางวัล ‘ยอดดาราแมว’ อีกด้วย

ข่าวแมวไทยในฐานะ ‘ยอดดาราแมว’ ของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด ปรากฏในหนังสือพิมพ์สยามนิกร ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2505 (ช่วงหน้าบันเทิง) โดยเป็นรูปภาพ แมวลายสลิดสีส้ม หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “แมวส้ม” กำลังนั่งอยู่แผ่นหลังของนักแสดงสาวชื่อดัง ออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เจ้าหญิงแห่งวงการฮอลลีวูดยุคทอง’ โดยปรากฏคำบรรยายใต้ภาพดังกล่าว ว่า

                     “แมวไทยชื่อ “มาลี” ตัวที่เห็นอยู่นี้ แสดงหนังร่วมกับ ออดรีย์ เฮปเปิร์น เป็นครั้งแรกใน “นงเยาว์นิวยอร์ค” ของพาราเม้าท์ จากการแสดงในเรื่องนี้เอง ทำให้มันได้ยกย่องว่า “ยอดดาราแมว” ในรอบปี”

ภาพข่าว มาลี แมวไทยในฐานะยอดดาราแมวของวงการภาพยนตร์ฮอลิวูด ปรากฏในหนังสือพิมพ์สยามนิกร ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2505

และเมื่อตามอ่านรายละเอียดข่าว มาลี แมวไทยในฐานะยอดดาราแมวตัวนี้ หนังสือพิมพ์สยามนิกร ก็ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย ว่า

“เนื่องในงานแจกรางวัล “ยอดดาราสัตว์” ประจำปี ครั้งที่ 12 ของสมาคมมนุษยธรรมแห่งอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นที่ฮอลลีวู้ดเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ปรากฏว่าสมาคมดังกล่าว ได้ยกย่องแมวคู่หนึ่งให้เป็นยอดดาราสัตว์ในรอบปี จากการแสดงบทบาทอันยอดเยี่ยมของมัน ในภาพยนตร์และโทรทัศน์

ดาราม้ายอดเยี่ยมในรอบปี ได้แก่ ‘มร.เอ็ด’ ซึ่งได้รับฉายาว่า “ม้าพูดได้” ในหนัง ที.วี.เรื่อง “มร.เอ็ด” ตามชื่อของมัน ส่วน “ยอดดาราแมว” ในรอบปีได้แก่แมวไทยชื่อ “มาลี” ซึ่งนำแสดงร่วมกับดาราตุ๊กตาทองร่างระหง ออดรีย์ เฮปเปิร์น ในเรื่อง “นงเยาว์นิวยอร์ค” ของพาราเม้าท์ นั่นเอง”[1]

การปรากฏข่าว มาลี แมวไทยในฐานะยอดดาราแมวของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด นับว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรดานักประวัติศาสต์ที่เป็นทาสแมว กระนั้น เมื่อผู้เขียนสำรวจและค้นหาข้อมูลของ มาลี แมวไทยในภาพยนตร์เรื่อง ‘นงเยาว์นิวยอร์ค’ หรือ Breakfast at Tiffany’s (1961) ก็มิพบข้อมูล และจาการตามอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์สยามนิกร ก็มิพบข้อมูลการกล่าวถึงมาลี ‘ยอดดาราแมว’ อีกเลยภายหลังจากข่าวฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2505

อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นหาข้อมูลแมวส้มในเรื่อง ‘นงเยาว์นิวยอร์ค’ ก็ทำให้ผู้เขียนพบประเด็นน่าสนใจอย่างน้อยสองประเด็น คือ

ประเด็นแรก ภาพยนตร์เรื่อง ‘นงเยาว์นิวยอร์ค’ เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของกระแสแฟชั่นตะวันตกและภาพลักษณ์ใหม่ของผู้หญิงในสังคมตะวันตก เป็นอีกหนึ่งผลงานที่สร้างชื่อให้แก่ดาราสาวออเดรย์ เฮปเบิร์น จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เจ้าหญิงแห่งวงการฮอลลีวูดยุคทอง’ และยังทำให้เฮปเบิร์นกลายเป็นไอคอน (Icon) แห่งวงการแฟชั่นตะวันตก จนถึงขนาดที่เพจ Mission To The Moon เขียนเล่าบรรยายว่า Breakfast at Tiffany’s ว่าเป็นอมตะภาพยนตร์ที่สร้างและเปลี่ยนโลกด้วยวัฒนธรรมกระแสหลัก (Pop Culture)

“เชื่อหรือไม่ว่า เพียงฉากเปิดเรื่องของภาพยนตร์แค่ 2 นาทีครึ่ง กลับสร้างตำนานไอคอนแห่งวงการแฟชั่น บทเพลงอมตะ และพาให้ Breakfast at Tiffany’s ภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายในชื่อเดียวกันของ Truman Capote กลายเป็นภาพยนตร์ที่สร้าง Pop Culture และเปลี่ยนโลกใบนี้ไปตลอดกาล

ต่อให้ไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ เชื่อได้ว่าหลายคนคงเคยเห็นภาพหญิงสาวสวยในชุดเดรสยาวและสวมถุงมือยาวสีดำ สร้อยไข่มุกพาดรอบคอ ปากเธอนั้นคาบไปป์กรองบุหรี่ยาว บนไหล่ขวามีแมวสีส้มเกาะอยู่ นี่แหละคือภาพที่เปลี่ยนวงการแฟชั่นไปตลอดกาล

ชุดเดรสดำนั้นไม่ใช่ของใหม่ แต่ในสมัยนั้นผู้คนไม่ได้นิยมใส่เดรสดำขนาดนั้น จนกระทั่งภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ด้วยภาพลักษณ์ที่งดงามและตราตรึงของ Audrey ส่งผลให้ชุดเดรสดำกลายเป็นไอเทมชิ้นสำคัญของผู้หญิงที่จะต้องมีติดตู้เสื้อผ้า วงการแฟชั่นหันกลับมาสนใจเดรสดำอย่างจริงจัง และยังคงความนิยมไม่เสื่อมคลายมากว่า 60 ปี

ไม่เพียงแค่นั้น บทเพลง Moon River ที่ประพันธ์โดย Henry Mancini และ Johnny Mercer ก็กลายเป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่ประทับใจผู้ฟัง ด้วยเนื้อหาที่เล่าถึงการออกตามหาความฝัน เข้ากับชีวิตของตัวละครหลัก Holly Golightly หญิงสาวผู้ใช้ชีวิตในมหานครนิวยอร์กเพื่อตามหา “ชีวิตที่เธอจะเป็นอิสระอย่างแท้จริง” และการใช้ชีวิตของ Holly ที่ดูจะสุดเหวี่ยงได้เปลี่ยนทัศนคติของผู้คนที่มีต่อผู้หญิงอีกด้วย

การใช้ชีวิตของ Holly นั้นถือเป็นเรื่องที่ “แปลก” สำหรับชาวอเมริกันในช่วงปี 1960 เพราะเธอนั้นไม่ได้เรียบร้อยหรืออ่อนหวาน มักโผล่ในงานปาร์ตี้บ่อยครั้ง เป็นคนหัวดื้อ ไม่ฟังคำสั่งของชายใด สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผู้คนเริ่มเปลี่ยนทัศนคติที่มองว่าเพศหญิง

อีกทั้งการเริ่มขึ้นของ “คลื่นลูกที่สองของกระแสสตรีนิยม (Second-Wave Feminism)” ที่ผู้หญิงได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนที่ควรได้รับ และเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ ‘ผู้หญิงต้องอ่อนแอ’ ออกไปจากสังคม ถือได้ว่านิยายและภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของผู้หญิงในสังคม”[2]

เช่นเดียวกับเพจ VOGUE THAILAND เพจนิตยสารแฟชั่นของไทย ก็กล่าวถึงความสำคัญของ ภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s และผลงานการแสดงของเฮปเบิร์นว่า

“ย้อนกลับไปในปี 1961 ภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s กลายเป็นสิ่งที่ถูกโจษขานกันอย่างหนาหูในแวดวงฮอลลีวูด ไม่เพียงแค่บทภาพยนตร์สุดประณีตที่ถูกดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อดังในชื่อเดียวกัน หากการปรากฏตัวของผู้หญิงที่ชื่อ Audrey Hepburn พร้อมกับรูปลักษณ์ความงามที่ทำให้หนุ่มอเมริกันหลายคนต่างตะลึงงัน ในบทบาทของตัวละคร Holly Golightly ก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนั้นทันที เพราะออเดรย์ในชุดกระโปรงยาวสีดำ ผลงานการออกแบบและตัดเย็บโดยห้องเสื้อ Givenchy พร้อมแว่นตาสุดเท่ และเครื่องประดับจิวเวลรีจัดเต็มในฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ไปเตะตาเหล่าสาวกสายแฟชั่นเข้าอย่างจัง ขนาดที่ว่าชุดกระโปรงสีดำทั้งสั้นยาวได้กลายเป็นเทรนด์แฟชั่นสุดไอคอนิกที่สุภาพสตรีทั่วโลกต้องมีเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้าของพวกเธอจนถึงทุกวันนี้ นั่นเองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้แวดวงแฟชั่นและสไตล์ตกหลุมรักผู้หญิงคนนี้แบบโงหัวไม่ขึ้น”[3]

ภาพแมวส้ม กำลังนั่งอยู่เคียงข้างเรือนร่างนักแสดงสาวชื่อดัง ออเดรย์ เฮปเบิร์น ในภาพยนตร์เรื่อง ‘นงเยาว์นิวยอร์ค’ (Breakfast at Tiffany’s)

ประเด็นที่สอง ไม่เพียงตัวภาพยนตร์และนักแสดงสาวเฮปเบิร์นเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องและกล่าวถึง ภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s ยังสร้างชื่อให้กับเจ้า ‘แมวส้ม’ ยอดดาราแมวของเรื่อง ซึ่งเป็นแมวที่ ฮอลลี โกไลต์ลี นางเอกของเรื่องเลี้ยงไว้ในห้องพักใจกลางมหานครนิวยอร์ค โดยเจ้าแมวส้ม ถือเป็นหนึ่งในดารานำของเรื่องที่นำเสนอภาพแทนอารมณ์ความรู้สึกในการรักอิสระและความเซ็กซี่เคียงข้างไปกับภาพลักษณ์ของนางเอก

นอกจากนี้ ‘แมวส้ม’ ในภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s ก็มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด เพราะจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ทำให้เจ้า ‘แมวส้ม’ ได้รับรางวัล PATSY Award (the animal kingdom’s equal of an Oscar) จาก American Humane Association และได้รับการยกย่องว่าเป็น ดาราแมวที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด[4]

‘แมวส้ม’ ในภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s จึงกลายเป็นปริศนาสำหรับผู้เขียน และคงจะเป็นปริศนาที่สนใจเป็นอย่างมากสำหรับนักประวัติศาสตร์ทาสแมวในเมืองไทย โดยเฉพาะการเคยปรากฏข่าวในเมืองไทยในยุคร่วมสมัยขณะนั้นว่า เจ้า ‘แมวส้ม’ ในภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s คือ แมวไทย ที่ชื่อ ‘มาลี’

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง จากการสืบค้นข้อมูลก็พบว่า มีปริศนาของเจ้า ‘แมวส้ม’ ที่น่าสนใจคือ ได้ปรากฏข้อมูลคำกล่าวเล่าอ้างว่า แมวส้มในภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s มีจำนวนถึงเก้าตัว[5] และจากการสืบค้นข้อมูลต่างประเทศ ก็กลับพบว่า เจ้าแมวส้มในภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s แท้จริงแล้ว คือยอดดาราแมวของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มีชื่อว่า ‘Orangey’ โดยเป็นแมวส้มสัญชาติอเมริกัน ซึ่งถูกฝึกฝนโดยครูฝึกที่ชื่อ แฟรงค์ อินน์ (Frank Inn) โดยเจ้าแมวส้ม ‘Orangey’ มีประวัติผลงานการแสดงภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Rhubarb (1951), The Diary of Anne Frank (1959) และ The Incredible Shrinking Man (1957) รวมทั้งยังปรากฏตัวในซีรีส์ออกฉายทางโทรทัศน์เรื่อง Batman (1967-1968) อีกด้วย[6]

จากข้อมูลและการสืบค้นที่กล่าวมา จึงน่าสนใจว่า แท้จริงแล้วเจ้าแมวส้มในภาพยนตร์ Breakfast at Tiffany’s คือ “มาลี ยอดดาราแมวไทยในฮอลลีวูด” หรือคือ เจ้า “Orangey” ยอดดาราแมวแห่งวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด กันแน่ ซึ่งคงเป็นภารกิจที่ผู้เขียนขออนุญาตฝากไว้ให้กับนักประวัติศาสตร์ทาสแมวในเมืองไทย ได้สืบค้นวิเคราะห์กันต่อไป

เมี๊ยวววว เมี๊ยวววววว


[1] สยามนิกร 19 เมษายน 2505

[2] Mission To The Moon, “Breakfast at Tiffany’s อมตะภาพยนตร์ที่สร้างและเปลี่ยนโลกด้วย Pop Culture”, เข้าถึงข้อมูลใน https://missiontothemoon.co/breakfast-at-tiffanys-

[3] Peeranat Chansakoolnee, “Audrey Hepburn ดวงดาวอันเฉิดฉายแห่งฮอลลีวู้ด และด้านอับแสงที่ถูกปกปิดเอาไว้ของเธอ”, VOGUE THAILAND, เข้าถึงข้อมูลใน https://www.vogue.co.th/lifestyle/entertainment/article/audrey-hepburn-story

[4] ดู THE GREATEST 5 CINEMATIC CATS OF ALL TIME, เข้าถึงข้อมูลใน https://www.pawsomecouture.com/blogs/cats/the-greatest-5-cinematic-cats-of-all-time

[5] ณ.คอน ลับแล, “Breakfast at Tiffany’s (1961)”, เข้าถึงข้อมูลใน https://raremeat.blog/breakfast-at-tiffanys-1961/

[6] Dan Sallitt, The Hardest Working Cat in Show Biz, Filmmaking, เข้าถึงข้อมูลใน https://filmmakermagazine.com/109592-the-hardest-working-cat-in-show-biz/

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save