fbpx

3 ปีบางกลอย ทำไมยังไม่ได้กลับบ้าน

บางกลอย

ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ย่ำแย่อย่างไรก็ตาม ‘บ้าน’ ยังคงเป็นเหมือนพื้นที่พักพิงของใครหลายคน แต่อาจไม่ใช่กับ ‘ชาวบ้านบางกลอย’ เมื่อบ้านของพวกเขากลับกลายเป็นพื้นที่ที่รัฐไม่อนุญาตให้อยู่

นับตั้งแต่วันนั้นพวกเขาก็กลายเป็น ‘ผู้บุกรุก’ พื้นที่ ‘บ้าน’ ของพวกเขาเอง

ไล่รื้อจับกุม เผาบ้าน เผายุ้งข้าว ตั้งข้อหาบุกรุกป่า อุ้มหาย’ ทั้งหมดนี้คือเครื่องมือที่รัฐไทยใช้ต่อชาวบ้านบางกลอย เพื่อบังคับให้พวกเขาออกไปจากบ้านเกิดและอพยพมายัง ‘บางกลอยล่าง’ ในนามของการพิทักษ์ป่า ราวกับเชื่อว่า ‘ป่าจะอยู่ได้ต้องไม่มีคน’ แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือภาพถ่ายต่างๆ ล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าชาวบางกลอยคือผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ดั้งเดิมอย่าง ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’

เมื่อชาวกะเหรี่ยงจาก ‘บ้านบางกลอย’ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานส่วนหนึ่งทยอยกลับขึ้นไปทำมาหากินยังถิ่นฐานเดิมราวต้นปี 2564 จึงเกิดเป็นข่าวดัง และแฮชแท็ก #saveบางกลอย ชวนให้สังคมหันมาสนใจเรื่องราวของพวกเขาในระยะเวลาหนึ่ง

แต่ถึงตอนนี้ ‘ความยุติธรรม’ ยังเป็นสิ่งที่ชาวบางกลอยไม่เคยได้รับ

เป็นเวลา 3 ปีแล้วตั้งแต่พวกเขาตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านมุ่งหน้าเข้ากรุงฯ เพื่อเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาสมควรจะได้ นั่นคือความยุติธรรมและการกลับไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม 

ผ่านมากว่า 3 ปี จวบจนปัจจุบัน พวกเขายังคงไม่ได้กลับไปยังพื้นที่ที่เรียกว่า ‘บ้าน’


หมายเหตุ เรียบเรียงเนื้อหาจากงานเสวนา ‘3 ปี บางกลอยคืนถิ่น ถึงไหน ทำไมยังไม่ได้กลับบ้าน’ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

“ชาวชาติพันธุ์ถ้าไม่เจ็บมากพอ เขาไม่พูดหรอก” 
เสียงสะท้อนจากใจอันเจ็บปวดของชาวบ้านบางกลอย

“ความพยายามของพวกเราสำหรับการกลับไปอาศัยในพื้นที่หมู่บ้านใจแผ่นดิน ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ต่อสู้เพื่อกลับบ้านของพวกเรามาตลอด 27 ปี จนกระทั่งปี 2554 ที่ทหารและเจ้าหน้าที่เข้ามาเผาบ้าน เผายุ้งข้าวของพวกเรา ทำให้เรารู้ว่าเสียงของพวกเรานั้นยังดังไม่พอ”

นี่เป็นเสียงจาก พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านใจแผ่นดิน สะท้อนถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ พงษ์ศักดิ์เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตในพื้นที่บางกลอยบน ปัจจุบัน เขาและชาวบ้านในหมู่บ้านใจแผ่นดินตัดสินใจออกมาเรียกร้องในนามกลุ่ม ‘บางกลอยคืนถิ่น’ เพื่อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี รวมถึงอนุญาตให้ชาวบ้านกลับขึ้นไปใช้ชีวิตในพื้นที่ ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ร่วมกับกลุ่มภาคี save บางกลอย ได้ร่วมชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างเช่นการชุมนุม ‘พีมูฟทวงสิทธิ’ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านบางกลอย หลังจากชาวบ้านส่วนหนึ่งตัดสินใจทิ้งพื้นที่ ‘บางกลอยล่าง’ ที่รัฐจัดสรรไว้ให้ กลับไปอาศัยอยู่ที่ ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’ ซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิม

“ชาวชาติพันธุ์ถ้าไม่เจ็บมากพอ เขาไม่พูดหรอก” พงษ์ศักดิ์กล่าว

การตัดสินใจกลับพื้นที่บางกลอยบนของชาวบ้าน เป็นผลมาจากสภาพพื้นที่และทรัพยากรในพื้นที่บางกลอยล่างที่แตกต่างจากบางกลอยบน กล่าวคือบางส่วนในพื้นที่บางกลอยล่างเป็นลานหินซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ด้านการเพาะปลูก อีกทั้งพื้นที่บางกลอยล่างนั้นมีชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ทำให้พื้นที่มีจำกัดอย่างยิ่ง พงษ์ศักดิ์เล่าว่า การที่ต้องมาอยู่ในพื้นที่บางกลอยล่างทำให้พวกเขาเหมือนมาอาศัยในพื้นที่ของคนอื่น ไม่ใช่บ้านที่แท้จริง

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการพิทักษ์พื้นที่ป่าหรือวิถีอนุรักษ์ป่าในสายตาของรัฐไทยอาจดูสวยหรู แต่ความเป็นจริงกลับกระทบต่อชาวบ้านบางกลอยอย่างมาก พงษ์ศักดิ์มองว่า แนวทางดังกล่าวสะท้อนถึงอคติที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ว่าจะน้ำแล้งหรือฝนแล้ง ภาครัฐก็มักจะกล่าวหาว่าเป็นเพราะชาวบ้านบางกลอยอาศัยอยู่ในบริเวณต้นน้ำและตัดไม้ทำลายป่า

“คุณเคยบอกพวกเราว่า ให้พวกเราลองลงมาอยู่ในพื้นที่บางกลอยล่างดูก่อน หากอยู่ไม่ได้จริงๆ ก็จะให้เรากลับขึ้นไปได้ วันนี้พวกเราก็ยึดหลักการเดิมที่พวกเขาบอกกับเรา เราจำได้จนถึงทุกวันนี้” พงษ์ศักดิ์กล่าว

การต่อสู้เพื่อชาวบ้านบางกลอย เป็นการต่อสู้เพื่อชาวชาติพันธุ์ทั้งปวง

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ชื่อของ พชร คำชำนาญ มักปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ เนื่องจากเขาเป็นหนึ่งในผู้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อชาวบ้านชาวบางกลอยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในนามของ ‘ภาคีSaveบางกลอย’

พชร คำชำนาญ เป็นนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนเพื่อชนพื้นเมือง ก่อนหน้านี้เขาเคยให้สัมภาษณ์ทาง 101 ถึงการต่อสู้ของเขาว่า การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยหรือความไม่เป็นธรรม มันจะไม่จบที่รุ่นเรา ฉะนั้นคนที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวใหม่ๆ ถ้าการเรียกร้องไม่ประสบความสำเร็จ อย่าหมดกำลังใจเพราะมันต้องใช้เวลาอีกนาน

การต่อสู้ของเขาเพื่อชาวบางกลอยนั้น คงเป็นเครื่องยืนยันคำพูดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

“3 ปีที่แล้วเราต้องมาพูดเรื่องการต่อสู้เรื่องการกลับบ้านของชาวบางกลอย และในวันนี้เราก็ต้องกลับมาพูดในเรื่องเดิมๆ” พชรเอ่ยขึ้นเมื่อนึกย้อนกลับไปถึงการต่อสู้เคียงข้างชาวบ้านในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เขายอมรับว่าแม้ประเด็นเรื่องของชาวบ้านบางกลอยดูราวกับไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ระหว่างทางการต่อสู้ สังคมไทยก็ก้าวหน้าขึ้น กล่าวคือประชาชนรับรู้และตระหนักถึงประเด็นชาติพันธุ์ การจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงหยิบยกคำถามที่เคยถูกถามในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมากลับมาถกถามกันอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคำถามถึงการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนว่าเป็นการทำลายป่าหรือไม่ หรือคนจะอยู่ร่วมกันกับป่าได้อย่างไร

กระนั้น ต่อให้วันนี้สังคมจะก้าวหน้ามากขึ้นเพียงใด พชรมองว่าแนวคิดของรัฐไทยในการจัดการด้านทรัพยากรและทัศนคติของภาครัฐต่อกลุ่มชาติพันธุ์กลับดูเหมือนจะไม่ก้าวหน้าตามสังคมเลย มิหนำซ้ำกลับถดถอยเสียด้วยซ้ำ ซึ่งส่งผลให้เส้นทางการกลับบ้านของชาวบางกลอยนั้นยังอีกยาวไกล

“การกลับบ้าน เหมือนเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่น่ายากอะไร แต่ทำไมประเทศไทยถึงทำให้การกลับบ้านเป็นเรื่องที่ยากจนเราต้องมาคุยในวาระ 3 ปีบางกลอย”

พชรมองว่าเส้นทางการกลับบ้านของชาวบ้านบางกลอยนั้นสะท้อนถึงโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมในสังคมไทยและอคติที่รัฐมีต่อชนเผ่าพื้นเมือง

“เหตุผลที่เราต้องเดินหน้าต่อไป เพราะผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพูดว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง เห็นได้ว่าประเด็นการกลับบ้านของชาวบางกลอยมันไม่ใช่เป็นเรื่องของหมู่บ้านเดียว แต่กลายเป็นปัญหาในระดับโครงสร้างที่กระทบต่อชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ พวกเราจึงมั่นใจว่าหากวันนี้พี่น้องชาวบางกลอยสามารถกลับบ้านได้ มันก็จะคืนสิทธิ์ คืนศักดิ์ศรีให้แก่พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ”

หากพิจารณาถึงโครงสร้างและบทบาทของภาคีSaveบางกลอย จะเห็นได้ว่าเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่เดิมเคลื่อนไหวต่างประเด็นกัน เพื่อร่วมกันเรียกร้องความเป็นธรรมต่อชาวบ้านบางกลอย เพราะประเด็นบางกลอยเป็นประเด็นของคนทุกคน และชาวบ้านไม่ควรต่อสู้เพียงลำพัง

“หลังจากนี้ภาคีSaveบางกลอย คงไม่ได้เริ่มทำงานตั้งแต่ 0 แต่พวกเรายังต้องเคลื่อนไหวต่อในรัฐบาลใหม่เพื่อให้ข้อเสนอการกลับบ้านของชาวบ้านนั้นเดินหน้าต่อไปได้ เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมาพวกเรามีข้อค้นพบ ข้อเสนอมากมาย หากวันนี้ข้อเสนอการกลับบ้านไม่สามารถสำเร็จได้ ผมคิดว่าจำเป็นต้องยกระดับการเคลื่อนไหวหรือยกระดับเกี่ยวกับประเด็นข้อเรียกร้องที่มากกว่าการกลับบ้าน” พชรกล่าว

การสงวนและอนุรักษ์ป่าไม้ของภาครัฐ เพื่อชนชั้นนำ นายทุน และผู้มีอำนาจ

ก่อนหน้านี้ภาคประชาชนได้เสนอร่าง ‘พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง’ สู่สภาผู้แทนราษฎร โดยเชื่อว่าหากผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจนสำเร็จจะนำไปสู่การลดอคติ เสริมศักยภาพชาวบ้านตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสร้างความยั่งยืนเพื่อความมั่นคงทางอาหารในชุมชน

ร่าง ‘พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง’ ได้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับเดิมหลายประการ อาทิ การขยายคำนิยามของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้ครอบคลุมกับชาวชาติพันธุ์ทุกกลุ่มมากขึ้น อีกทั้งยังคุ้มครองการแสดงออกซึ่งภูมิปัญญา ความหลากหลายทาง วัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต และความเชื่อตามจารีตประเพณี

นอกจากภาคประชาชนที่เสนอกฎหมายดังกล่าวแล้ว เมื่อวัน 9 สิงหาคม 2566 พรรคก้าวไกลยังเสนอร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาฯ โดยมองว่าจะสร้างโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้อย่างเสมอภาค และเท่าเทียมมากขึ้น

เห็นได้ชัดว่าทั้งภาคประชาชนและภาคการเมืองต่างมองว่าปัญหากลุ่มชาวชาติพันธุ์เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข แต่ที่ผ่านมารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับปิดประตูตาย ไม่แก้ไขปัญหาดังกล่าว ตัวอย่างเช่นคำพูดของวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ณ ขณะนั้นที่กล่าวว่าปมพิพาทระหว่างชาวบางกลอยและเจ้าหน้าที่รัฐจบแล้ว

ในฐานะที่เป็นนักสิทธิชาติพันธุ์ม้ง ผู้เคลื่อนไหวเพื่อชาวชาติพันธุ์ เลาฟั้ง บัณฑิตเทิดสกุล ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้มาร่วมสะท้อนถึงปัญหาของการผลักดันประเด็นชาติพันธุ์ และการผลักดันกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมว่า

“หลังปี 2557 รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เพื่อทวงคืนผืนป่าของประเทศไทย และเป็นเครื่องมือในการจัดการกับชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ป่า แม้ปัจจุบันคำสั่งดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่วิธีคิดในการใช้เครื่องมืออย่างกฎหมาย หรือคำสั่งก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมีความชอบธรรมในการเข้ามาจัดการได้”

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีนโยบายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่า และรณรงค์การปลูกป่า แต่เลาฟั้งชี้ว่าตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา พื้นที่ป่าของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในปี 2557 ที่มีนโยบายการทวงคืนผืนป่า กลับไม่สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้เลย มิหนำซ้ำพื้นที่ป่ายังลดลงเช่นกัน 

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่ป่าและชาวชาติพันธุ์ที่ออกมาอ จะพบว่า จำนวนฉบับของกฎหมายจำกัดสิทธิของประชาชนมากกว่ากฎหมายที่ให้สิทธิแก่ประชาชน นั่นสะท้อนถึงมุมมองการออกแบบนโยบายเพื่อจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่าในสายตาของผู้กำหนดนโยบาย

“การสงวนและอนุรักษ์ป่าไม้ของภาครัฐนั้น ตั้งอยู่บนวัตถุประสงค์เพื่อการสัมปทานเพื่อจัดสรรผลประโยชน์ในทรัพยากรระหว่างชนชั้นนำ นายทุน และผู้มีอำนาจในสังคมซึ่งอยู่เบื้องหลังการออกกฎหมายและนโยบายในการควบคุม จัดการทรัพยากรในพื้นที่ป่า ทำให้กฎหมายและนโยบายที่ออกมาจึงไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าได้จริง”

ป่าต้องไม่มีคน หรือคนเป็นส่วนหนึ่งของป่า(?)

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย โดยมีอำนาจในการศึกษา รวบรวมปัญหา และตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อีกทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคดีปกครอง คดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องด้วย

อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกระเหรี่ยงบางกลอย เล่าถึงการทำงานของคณะกรรมการอิสระ ว่าก่อนหน้านี้คณะกรรมการอิสระได้เสนอรายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกระเหรี่ยงบางกลอยไปยังนายกรัฐมนตรี ก่อนที่นายกรัฐมนตรีลงนามเห็นชอบรายงานฉบับดังกล่าว

“การลงนามเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นเพียงการรับข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระ เพื่อดำเนินการ 2 ประการ ประกอบด้วย หนึ่ง หากชาวบ้านต้องการอาศัยอยู่ที่ปัจจุบันอย่างบางกลอยล่าง ภาครัฐต้องเข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านซึ่งต้องมีกระบวนการส่วนร่วมของประชาชน

“สอง หากชาวบ้านต้องการกลับไปยังบ้านเกิดของพวกเขา (บางกลอยบน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องดำเนินการตั้งคณะกรรมการโดยมีตัวแทนชาวบ้าน กรรมการอิสระ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเป็นคณะทำงานร่วมกัน เพื่อศึกษาโดยให้ชาวบ้านทดลองกลับไปอาศัยก่อน หากพวกเขาสามารถอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติได้ก็ต้องให้สิทธิอาศัยแก่พวกเขา”

ทั้งนี้ อภินันท์มองว่าข้อเรียกร้องการกลับบ้านของชาวบ้านนั้นยังคงไกลจากความเป็นจริง เพราะกลไกการทำงานของคณะกรรมการอิสระนี้เป็นเพียงการให้ความเห็นต่อภาครัฐเพียงเท่านั้น แต่ในระดับผู้ปฏิบัติงานก็ยังไม่ได้นำข้อเสนอดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติจริง

“ปัญหาที่ชาวบ้านบางกลอยพบเจอ เป็นความขัดแย้งทางความคิดระหว่างกลุ่มที่เชื่อว่าป่าต้องไม่มีคนและกลุ่มที่เชื่อว่าคนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม

“ป่านั้นอยู่อย่างลำพังไม่ได้ มันมีความรู้บางอย่างจัดการธรรมชาติอยู่ นั่นคือความรู้ของชาวบ้าน แต่วิธีการอนุรักษ์แบบกระแสนิยมได้ปฏิเสธความรู้ดังกล่าว เช่น หากวันนี้ต้นไม้ในป่าเยอะเกินไป การถางป่าเพื่อให้ต้นไม้ต้นอื่นๆ โตขึ้นได้ ก็ทำให้ป่าสมบูรณ์มากขึ้น”

อภินันท์เสนอว่าตัวแปรสำคัญในการแก้ปัญหาบางกลอยนั้น ต้องเป็นการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานที่ต้องเข้ามาพูดคุยและหาทางออก ฝ่ายนโยบายจากภาครัฐต้องออกแบบนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้จริง และชาวบ้านบางกลอยต้องเข้มแข็งในการต่อสู้และยืนหยัดในข้อเรียกร้องของตน

“ข้อเท็จจริงอันปฏิเสธไม่ได้ คือ ชาวบ้านบางกลอยเป็นคนดั้งเดิมในพื้นที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี กรรมการอิสระผู้ทำงานในประเด็นบางกลอยต่างยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่ข้อจำกัดที่ผ่านมาคือ ภาครัฐมักจะอ้างกฎหมาย ผมขอเสนอว่าภาครัฐต้องถอดความเป็นเจ้าของพื้นที่ก่อน และออกมาร่วมพูดคุย แก้ไขปัญหากัน โดยให้เป็นพื้นที่นี้เป็นเหมือน ‘บางกลอยโมเดล’ ถ้าที่นี่แก้ไขได้ ที่อื่นๆ ก็สามารถจัดการได้เช่นกัน – ผมเชื่อว่าไม่มีชาวบ้านคนไหนอยากทำลายบ้านตัวเองหรอก” อภินันท์กล่าว

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save