fbpx

2 ปีรัฐประหารพม่ากับความสิ้นหวังของเด็กผู้ลี้ภัยในไทย

สงคราม การเมือง ความขัดแย้ง และการประหัตประหาร ส่งผลให้ประชาชนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต้องหลบหนีจากบ้านเกิดของตนเองไปเป็นผู้ลี้ภัยในต่างแดน แต่ชะตากรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เพียงเท่านั้น เมื่อปลายปี 2564 องค์การสหประชาชาติด้านผู้ลี้ภัย ประมาณการณ์ว่าปัจจุบันมีผู้ถูกบังคับให้ต้องพลัดถิ่นฐานทั่วโลกราว 103 ล้านคน โดยร้อยละ 41 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

ขณะเดียวกันประเทศไทยเองก็เป็นที่พำนักของผู้ลี้ภัยราว 100,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า และยังมีผู้ลี้ภัยที่อาศัยในเขตเมืองอีกราว 5,000 คน เกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มคนเหล่านี้เป็นเด็ก ซึ่งมีความเปราะบางทั้งทางร่างกายและจิตใจ การคุ้มครองดูแลเด็กผู้ลี้ภัยจึงต้องอาศัยความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทว่าทางการไทยกลับผลักให้ชีวิตของเด็กผู้ลี้ภัยและอนาคตของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

นับแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลทหารพม่าปราบปรามประชาชนที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารอย่างรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนและครอบครัวชาวพม่าต้องแสวงหาที่หลบภัยบริเวณพรมแดนไทย-พม่า รวมทั้งในพื้นที่ที่อยู่ใต้การควบคุมของกลุ่มชาติพันธุ์และกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่ของรัฐ เมื่อกองทัพพม่าเร่งโจมตีพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ ส่งผลให้พลเรือนผู้พลัดถิ่นหลายหมื่นคนต้องหลบหนีเพื่อแสวงหาความปลอดภัย โดยข้ามพรมแดนมายังฝั่งไทย

แต่เมื่อเข้ามาในประเทศไทย พวกเขาอาจไม่ได้รับความปลอดภัยอย่างที่คาดหวังไว้

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้ไปเยือนหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า และได้พูดคุยกับคุณครูชาวกะเหรี่ยงที่หลบหนีความรุนแรงมาจากพม่า ทุกวันนี้เธอดูแลเด็กๆ ผู้ลี้ภัยประมาณ 100 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 3 ขวบไปจนถึง 17 ปี คุณครูท่านนี้เล่าให้ฟังว่า นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ทางการไทยผลักดันพวกตนและเด็กนักเรียนกลับไปพม่าหลายครั้ง ในบางครั้งมีการสนธิกำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนติดอาวุธสวมเครื่องแบบบุกเข้ามาบริเวณที่พักในช่วงกลางดึก และสั่งให้คุณครูและเด็กๆ เก็บข้าวของแล้วเดินทางข้ามพรมแดนกลับไปยังพม่า ครูยังบอกด้วยว่าเด็กๆ หวาดกลัวมาก ร้องไห้กันระงม บางคนตัวสั่นตกใจจนปัสสาวะรดกางเกง

การผลักดันผู้ลี้ภัยรวมทั้งเด็กให้กลับไปยังพื้นที่ที่มีการสู้รบในพม่าอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงทำให้ชีวิตของพวกเขาเสี่ยงภัยมากขึ้น หากยังสร้างบาดแผลทางใจ ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เด็กๆ หลายคนต้องเดินทางโยกย้ายไปมาเมื่อการต่อสู้ปะทุขึ้น บางครั้งพวกเขาก็ต้องพักอาศัยอยู่ในโบสถ์บ้าง วัดบ้าง ไม่ก็มาอยู่ในสถานที่สร้างขึ้นเพื่อพักพิงชั่วคราวกลางทุ่งข้าวโพดในฝั่งชายแดนประเทศไทย คุณครูยังบอกด้วยว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ที่ผันผวนอย่างมาก ทำให้พวกเขาไม่สามารถสอนหนังสือให้เด็กได้อย่างเต็มที่ นี่เป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบต่อเด็กๆ ผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นผลจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ

โชคร้ายที่การผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศที่คุณครูพูดถึงนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากแต่เป็นแนวทางที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานภายใต้นโยบายของรัฐบาลไทย เนื่องจากไทยไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ผู้ลี้ภัยที่ไม่มีเอกสารการเดินทางอย่างถูกต้อง จึงเสี่ยงต่อการจับกุมและควบคุมตัวภายใต้กฎหมายการเข้าเมือง

แม้ว่ารัฐบาลไทยได้ลงนามในข้อตกลงที่จะยุติการกักตัวเด็กผู้เข้าเมืองเมื่อปี 2562 แต่ยังคงมีการจับกุมและควบคุมตัวบรรดาพ่อแม่ของเด็กในข้อหาเกี่ยวกับการเข้าเมืองอยู่ ส่งผลให้ลูกๆ ของผู้ลี้ภัยที่ถูกควบคุมตัวอาจต้องไปอยู่กับพ่อแม่ในสถานกักตัวคนต่างชาติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (Immigration Detention Center – IDC) หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องหาทางเอาตัวรอดในประเทศด้วยตนเอง

ในขณะที่รัฐบาลไทยประกาศว่าเด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายและอุปสรรคนานัปการ เช่น การไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ไม่ว่าจะทางด้านข้อกฎหมาย หรือกลไกให้ความช่วยเหลืออื่น ตลอดจนการโดนเลือกปฏิบัติทางสังคม ส่งผลให้เด็กผู้ลี้ภัยไม่กล้าเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนและมีปัญหาในการปรับตัวกับที่โรงเรียน เด็กๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่จึงต้องใช้ชีวิตอยู่ในห้องที่ปิดทึบในชุมชนผู้ลี้ภัยขนาดเล็ก ไม่ออกมายุ่งเกี่ยวกับสังคมภายนอก

ในฐานะประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รัฐบาลไทยมีพันธกรณีต้องคุ้มครองสิทธิของเด็กทุกคนในประเทศไทย ทว่าในตอนที่ไทยลงนามในสนธิสัญญาฯ ฉบับนี้  รัฐบาลไทยกลับทำเรื่องน่าผิดหวังอย่างการประกาศ ‘ข้อสงวน’ งดเว้นการปฏิบัติตามข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ อันเป็นมาตราเพื่อให้การคุ้มครองเป็นการเฉพาะต่อสิทธิของเด็กผู้ลี้ภัย ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องดำเนินงานกับองค์การสหประชาชาติเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กผู้ลี้ภัย

ไทยเป็นประเทศเดียวจาก 193 ประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ยังคงประกาศข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ

แม้ว่าคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) เคยมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทยถอนข้อสงวนดังกล่าว และ “ใช้มาตรการทั้งปวงที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กที่แสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศ” แต่จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลไทยยังคงไม่ถอนการประกาศข้อสงวนนี้ ไม่มีเหตุผลด้านข้อเท็จจริง ศีลธรรม หรือการเมืองใดๆ ที่รัฐบาลไทยจะคงไว้ซึ่งการประกาศข้อสงวนต่อข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ดังกล่าว จุดยืนเช่นนี้เป็นผลมาจากแนวคิดสุดโต่งเรื่อง ‘ความมั่นคงของรัฐ’ และความเข้าใจผิดที่ว่าการแสดงจุดยืนที่ก้าวหน้าต่อสิทธิของผู้ลี้ภัย อาจกลายเป็น ‘ปัจจัยดึงดูด’ ทำให้ผู้ลี้ภัยหลบหนีเข้ามาในประเทศมากขึ้น 

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในพม่าที่ยังคงคุกรุ่น การประหัตประหารประชาชนของรัฐบาลทหารจะยังส่งผลให้มีเด็กผู้ลี้ภัยอีกจำนวนมากที่อพยพเข้ามาหาที่พักพิงในประเทศไทย รัฐบาลไทยควรแสดงพันธกิจอย่างจริงจังและจริงใจ เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเด็ก ซึ่งรวมถึงเด็กผู้ลี้ภัย และควรถอนการประกาศข้อสงวนต่อข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยทันที นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐไทยควรคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยทุกคน และมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารภายในประเทศพม่า ซึ่งเป็น ‘ปัจจัยผลัก’ หรือต้นเหตุที่นำไปสู่สถานการณ์ด้านผู้ลี้ภัย ตลอดจนวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ยังคงดำเนินอยู่ และยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงได้เมื่อไร

หมายเหตุ – บทความฉบับภาษาอังกฤษเผยแพร่ทางเว็บไซต์ The Diplomat

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save