fbpx
คนกับป่า : เมื่ออคติมาก่อนความจริงและความยุติธรรม

คนกับป่า : เมื่ออคติมาก่อนความจริงและความยุติธรรม

สนิทสุดา เอกชัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

ในการตัดสินคดีความ อะไรสำคัญกว่ากัน คำพิพากษา กฎหมาย หรือ การวินิจฉัยกฎหมายซึ่งมักขึ้นอยู่กับความเชื่อความคิดเห็นของผู้พิพากษาแต่ละคน

ถ้ากฎหมายไม่ได้ยุติธรรมอย่างที่เราถูกฝังหัวให้เชื่อ หรือถ้าการวินิจฉัยของศาลสะท้อนค่านิยมความเชื่อหรืออคติในสังคมซึ่งไม่ใช่ความเป็นจริง ความยุติธรรมจะเป็นได้อย่างไร

มาดูคำพิพากษาคดีเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ กับชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจานกัน มาดูว่าความจริงกับความเชื่ออะไรสำคัญกว่ากัน

เมื่อปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานในจังหวัดเพชรบุรี เข้าไปเผาบ้านชนพื้นเมืองชาติพันธุ์กะเหรี่ยงซึ่งอยู่ในป่าแก่งกระจานมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ในบริเวณป่าลึกที่เรียกว่าใจแผ่นดิน เพราะอยู่แสนไกล กะเหรี่ยงที่ใจแผ่นดินจึงยังใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมแทบไม่ต่างจากบรรพบุรุษ

หัวหน้าอุทยานตอนนั้นคือนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร สายบู๊ของกรมอุทยาน อ้างว่ากะเหรี่ยงกลุ่มนี้เป็นภัยความมั่นคงของชาติ ไม่ใช่คนไทย ตัดไม้ทำลายป่า ปลูกกัญชา ค้ายาเสพติด แถมเป็นพวกสนับสนุนกองทัพกะเหรี่ยงในพม่า เลยสนธิกำลังกับทหาร เอาเฮลิคอปเตอร์บินไปใจแผ่นดินเพื่อไล่รื้อเผาบ้านชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ คงจำโศกนาฎกรรม ฮ.ทหารตกในป่าแก่งกระจานกันได้ เป็นข่าวใหญ่เพราะตกติดๆ กันหลายลำ เหตุการณ์สูญเสียนี้เกิดขึ้นเพราะยุทธการไล่ชนพื้นเมืองของกรมอุทยานนั่นเอง

คำถามคือ กะเหรี่ยงแก่งกระจานเป็นอย่างที่หัวหน้าอุทยานกล่าวหาหรือ

ผู้นำทางจิตวิญญานของกะเหรี่ยงแก่งกระจานคือ ปู่คออี้ มิมี ซึ่งมีอายุกว่าร้อยปี และกลุ่มชาวบ้านที่โดนเผาบ้านเผายุ้งข้าว ตัดสินใจฟ้องศาลปกครองด้วยการช่วยเหลือจากสภาทนายความ เพื่อพิสูจน์ตนว่าเป็นชนพื้นเมืองที่อยู่มายาวนานก่อนการตั้งอุทยาน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ชุมชนดั้งเดิมมีสิทธิอยู่กินในพื้นที่เดิมของตน

คำฟ้องยืนยันว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ขัดกฎหมายและกฎระเบียบของกรมอุทยานเอง เพราะไม่มีการเตือนตามขั้นตอน ไปถึงก็เผาเลย จึงต้องได้รับการชดใช้ โดยทางการต้องยอมให้ผู้ฟ้องและกะเหรี่ยงที่ถูกไล่ให้ไปตกระกำลำบากในหมู่บ้านรองรับที่อยู่ใต้ลงมา ให้กลับไปอยู่ดินแดนบรรพบุรุษของตนที่เรียกว่าใจแผ่นดินเช่นเดิม

ต้องเข้าใจว่าชาวป่าชาวดอยนั้น ไม่มีใครหรอกที่อยากมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เมื่อโดนย่ำยีจนไม่มีอะไรจะเสีย ก็ต้องทำทุกอย่างทั้งๆ ที่กลัวอำนาจมืดในป่า เพื่อสิ่งเดียวที่ต้องการ คือการได้กลับไปบ้านเกิด กลับไปมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม

คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นตัดสินว่าอย่างไร

เรื่องไทยหรือไม่ไทย ศาลตัดสินว่าเป็นคนไทย ไม่ใช่คนต่างด้าวอย่างที่อุทยานยืนยัน ส่วนข้อกล่าวหาร้ายแรงต่างๆ ก็ไม่มีการพูดถึงในคำพิพากษา แสดงว่าไม่มีมูล

เรื่องการใช้ความรุนแรง ตัดสินว่าเจ้าหน้าที่อุทยานมีสิทธิเผาทำลายได้ เพราะมีหน้าที่รักษาป่าตามกฎหมาย คำพิพากษานี้ทำเอาคนที่อาศัยอยู่ในเขตป่ากว่า 10 ล้านคนชวัญผวา ไม่รู้ว่าบ้านเรือนตัวเองจะโดนเผาวันไหน

ส่วนเรื่องสิทธิที่ทำกิน ตัดสินว่าบริเวณใจแผ่นดินเป็นป่าดิบสมบูรณ์ แต่มีร่องรอยตัดไม้ทำการเกษตรอยู่เป็นหย่อมๆ ถือว่าผิดกฎหมายเพราะเป็นการรุกป่า และเมื่อทางการมีโครงการย้ายลงมาอยู่ข้างล่างแล้ว ก็ต้องทำตามนั้น

ทั้งชาวบ้านและกรมอุทยานตัดสินใจอุทธรณ์ทั้งสองฝ่าย เหตุผลของชาวบ้านชัดเจน ต้องการยืนยันความเป็นชุมชนดั้งเดิมและสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วนอุทยานไม่พอใจที่ศาลตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหายที่ไปเผาเสื้อผ้าสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ฟ้องด้วย เป็นเงิน 10,000 บาทต่อคน

วิถีชีวิตดั้งเดิมที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ความรู้การทำไร่หมุนเวียนที่ยังคงป่าไว้ได้สมบูรณ์ ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานและชาติพันธุ์ ความผูกพันกับมาตุภูมิ บ้านเรือน ยุ้งฉาง ทั้งหมดถูกทำลายยับย่อยอย่างไม่ปรานี

ตีค่าเป็นจำนวนเงินได้ 10,000 บาท

แต่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด พลิกคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่ากะเหรี่ยงใจแผ่นดิน เป็นชุมชนดั้งเดิมชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จึงเป็นคนไทย ไม่ใช่คนต่างด้าวอย่างที่อุทยานกล่าวหา และไม่ได้กล่าวว่าผู้ฟ้องเป็นผู้บุกรุกป่าเช่นในคำพิพากษาอันเแรก  

ประเด็นที่เจ้าหน้าที่อุทยานไปไล่รื้อเผาบ้านประชาชน พิพากษาว่าเป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็น ไม่สมควรแก่เหตุ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้สำหรับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟู วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายคนละประมาณ 50,000 บาท

แต่ในส่วนข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุด คือขอกลับไปใจแผ่นดิน ผลการตัดสินทั้งสองศาลเหมือนกันคือ ไม่สามารถกลับได้ ศาลปกครองชั้นต้นให้เหตุผลว่า ทางการมีที่รองรับให้แล้วที่บ้านบางกลอยล่าง กลับไปก็จะไปรุกป่าอีก ส่วนศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า แม้จะอยู่มาแต่ดั้งเดิม แต่ไม่มีเอกสารจากราชการอนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตป่าอุทยาน จีงไม่มีสิทธิ์

คดีเดียวกัน กฎหมายที่อ้างถึงก็อันเดียวกัน คำพิพากษาต่างกันบ้างเหมือนกันบ้าง ก็เพราะการวินิจฉัยหลักฐานอยู่บนรากฐานความคิดความเชื่อของแต่ละบุคคล

คำพิพากษาทั้งสองอันนี้ สะท้อนความเชื่อที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

คำพิพากษาอันแรกให้กะเหรี่ยงใจแผ่นดินเป็นผู้บุกรุกป่า เพราะเห็นป่าสมบูรณ์มีรอยโหว่กระจายเป็นจุดๆ ซึ่งสะท้อนความไม่เข้าใจว่าการทำไร่หมุนเวียนคืออะไร ช่วยให้ป่ายังคงความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างไร

การทำไร่หมุนเวียนนั้น ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจะทำไร่ข้าวในพื้นที่ขนาดเล็กแค่พอกิน วนกันไปในแต่ละปี แต่ละที่อยู่ห่างๆ กัน ทำปีนี้ก็ย้ายไปอีกที่ รอบหนึ่งอาจจะห่างกันกันถึง 7 หรือ 10 ปี กว่าจะกลับมาที่เดิมก็กลายเป็นป่าแล้ว เพราะชาวบ้านแค่ถางที่ ทำให้ป่าฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว การใช้การเผาช่วยก็มีองค์ความรู้ป้องกันไฟไม่ให้ลุกลาม ป่าใจแผ่นดินจึงยังคงสมบูรณ์จนทุกวันนี้ สมบูรณ์จนรัฐต้องการเสนอให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

พอชาวบ้านกลับมาถางพื้นที่ข้าวไร่ที่เก่าของตน คนภายนอกก็หาว่าตัดไม้ทำลายป่า ผิดกฎหมายตัองจับสถานเดียว เพราะกฎหมายอุทยานไม่อนุญาตให้มีคนอยู่อาศัย

ขณะที่สหประชาชาติรับรองสิทธิต่างๆ ของชนพื้นเมือง และมีงานวิจัยมากมายรับรองว่าวิถีวนเกษตรของชนพื้นเมืองช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นความรู้ที่ต้องรักษาไว้เพราะสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร และมีหลักฐานจากการวิจัยจากหลายประเทศว่าชุมชนพื้นเมืองเป็นผู้อนุรักษ์ป่าที่ดีที่สุด จึงมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อลดผลกระทบของโลกร้อน จำเป็นต้องรองรับสิทธิของชนพื้นเมืองเพื่อที่จะได้ดำรงวิถีชีวิตที่รักษาป่าต่อไปได้

แต่บ้านเรายังดูถูกชนพื้นเมือง ไม่ยอมรับสิทธิต่างๆ เพราะมองว่าไม่ใช่คนไทย ร้ายกว่านั้นคือเห็นว่าเป็นภัยความมั่นคงของชาติ ต้องกำจัดออกไปให้ได้

ความเชื่อเช่นนี้ทำให้กฎหมายป่าไม้และอุทยานไม่ยอมรับชุมชนที่อยู่ในป่า สังคมส่วนใหญ่ก็เห็นไปในทางเดียวกัน เพราะถูกสอนให้เชื่อว่าชาวเขาไม่ใช่ชาวเรา เป็นตัวการตัดไม้ทำลายป่า

ในแต่ละปีจึงมีชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าถูกจับ ถูกส่งเข้าคุกเป็นจำนวนมาก

ต้องถามว่ายุติธรรมไหม

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ตัดสินให้กะเหรี่ยงใจแผ่นดินเป็นชุมชนดั้งเดิม มีความสำคัญมาก เพราะถ้าตีความรัฐธรรมนูญ​ ชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงจะมีสิทธิ์ที่จะอยู่อาศัยในที่ดั้งเดิมของตน การตัดสินว่าเจ้าหน้าที่อุทยานผิดที่ไม่ทำตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 มีความหมายยิ่ง เพราะมตินี้มีคำสั่งชัดเจน ห้ามจับกุมผู้อยู่ในเขตพิพาทในป่าจนกว่าการพิสูจน์สิทธิ์จะเสร็จสิ้น

ในแง่นี้ คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดถือว่าก้าวหน้ามาก แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่ยอมให้กะเหรี่ยงใจแผ่นดินกลับบ้าน ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิ์ของชุมชนดั้งเดิม คำพิพากษาสะท้อนให้เห็นความเชื่อในอำนาจรัฐและระบบราชการ ประชาชนต้องทำตามที่ทางการสั่ง เจ้าหน้าที่อาจทำผิดพลาด แต่กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับความเป็นจริงในพื้นที่ ความจริงก็คือชาวบ้านใจแผ่นดินอยู่ในที่ห่างไกล แทบจะไม่ได้ติดต่อกับรัฐ จะมีเอกสารสิทธิ์ได้อย่างไร แต่เมื่อกฎหมายบอกต้องมี เมื่อไม่มีก็ไร้สิทธิ์  

ส่วนกฎหมายที่กรมป่าไม้เขียนขึ้นมาเอง ให้เป็นเจ้าของและมีอำนาจเหนือป่าทั้งหมด ทำให้คนที่อยู่มาก่อนกลายเป็นผู้บุกรุก ต้องโดนจับ โดนจองจำ กฎหมายนี้ยุติธรรมหรือเปล่าไม่ใช่ประเด็นในขบวนการยุติธรรมเช่นกัน

ที่สะท้อนชัดอีกอย่างหนึ่งคือความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ออกกฎหมายลูกเพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิต่างๆ ของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ​ แต่หน่วยราชการต่างๆ ก็ไม่ยอมทำ และก็ไม่มีความผิดอะไร ไม่ต้องถูกลงโทษ ส่วนขบวนการยุติธรรมก็ยังคงยึดกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญเป็นหลัก กะเหรี่ยงใจแผ่นดินจึงโดนกระทำ เป็นเหยื่อความรุนแรงจากรัฐทั้งๆ ที่เป็นชนพื้นเมืองอยู่ในป่าก่อนมาเนิ่นนาน

จะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้เกิดความยุติธรรมได้อย่างไร

เมื่ออคติต่อชนพื้นเมืองเป็นปัญหา ก็ต้องแก้ที่อคติ ไม่ใช่แค่ในขบวนการยุติธรรม แต่ต้องคลี่คลายอคติของสังคมให้ได้

เมื่อเจ้าหน้าที่ทำผิดก็ต้องลงโทษ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหัวหน้าอุทยานที่โดนพิพากษาว่าผิดจนรัฐต้องเสียค่าชดใช้ ซึ่งเป็นเงินภาษีของเราๆ ท่านๆ กลับได้เลื่อนขั้นให้จัดการ ‘คนบุกรุกป่า’ ทั่วประเทศ

เมื่อกฎหมายเป็นปัญหา ก็ต้องแก้กฎหมายให้รองรับสิทธิของคนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าของรัฐ เครือข่ายประชาชนก็ได้ร่างข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายหลายครั้ง แต่รัฐก็ไม่รับฟัง คงยืนยันอำนาจของรัฐรวมศูนย์ที่จะทำอะไรก็ได้กับประชาชนและทรัพยากรของชาติ  

เมื่อรัฐรวมศูนย์เป็นปัญหา ก็ต้องกระจายอำนาจให้ชุมชนและประชาชนเข็มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเมืองไทยยังอยู่ใต้ท็อปบูท

ข่าวร้ายล่าสุดคือกรมอุทยานได้ร่างพระราชบัญญัติอุทยานฉบับใหม่ เพิ่มอำนาจตนเองและแข็งกร้าวกับประชาชนมากกว่าเดิม ไม่มีการพูดถึงชุมชนดั้งเดิม และยิ่งเพิ่มโทษคนอยู่ในป่าให้ติดคุกติดตะรางนานเพิ่มกว่าเดิมหลายปี ชุมชนไหนจะอยู่ได้หรือไม่ขึ้นอยู่ว่าอุทยานอนุญาตหรือไม่ ซึ่งการอนุญาตแต่ละครั้งให้อยู่ได้ไม่เกิน 20 ปี

ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีทางที่กฎหมายแบบนี้จะผ่านออกไปได้ ซึ่งก็เป็นเหตุผลให้กรมอุทยานต้องเร่งออกกฎหมายในยุครัฐบาลทหารนี้ก่อนการเลือกตั้ง ก่อนที่ประชาชนจะมีสิทธิ์มีเสียงต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

มองไปข้างหน้าจึงเห็นแต่ความรุนแรงและความเดือดร้อนของคนอยู่ในป่าทุกหย่อมหญ้า

และอย่านึกว่าจะไม่มีผลกระทบกับคนในเมือง อำนาจรัฐได้พิสูจน์ตนเองตลอดมาว่ารับใช้ระบบทุนซึ่งทำลายป่า ทำลายทรัพยากร ทำลายชุมชน ป่าที่เหลืออยู่น้อยยิ่งจะน้อยลง อากาศก็ยิ่งจะแปรปรวน เมื่อเราต้องผจญกับภัยแล้ง พายุ น้ำท่วม หรือสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ขอให้รู้เถิดว่าเป็นเพราะคนเล็กคนน้อยในบ้านเรายังไม่ได้รับความยุติธรรม และเพราะเรายังยอมรับระบบที่ไม่อยากเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศไทย

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save