fbpx
พชร คำชำนาญ : เอ็นจีโอพันธุ์ใหม่ และบทเรียนจากการ “ดูกับตา ย่ำกับตีน”

พชร คำชำนาญ : เอ็นจีโอพันธุ์ใหม่ และบทเรียนจากการ “ดูกับตา ย่ำกับตีน”

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

ย้อนไปช่วงต้นเดือนสิงหาคม ขณะลงพื้นที่ชุมชนบ้านแม่หมี จังหวัดลำปาง เพื่อศึกษาวิถีการอยู่ร่วมกับป่าของชาวปกาเกอะญอ พร้อมรับฟังปมปัญหาและข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มารวมตัวกันในงานสถาปนาพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553

นอกจากผู้นำชุมชนและนักวิชาการหลายชีวิตที่เป็นตัวละครหลักในงานนี้ ยังมีอีกตัวละครหนึ่งซึ่งรับหน้าที่เป็นมดงานทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้า ไล่ตั้งแต่การประสานและให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ลงพื้นที่คลุกคลีกับชาวบ้าน ไปจนถึงการเป็นพิธีกรนำเสวนา นามว่า ‘กอล์ฟ’ พชร คำชำนาญ

ในแวบแรกที่เจอกัน ภาพลักษณ์ของกอล์ฟดูเหมือนวัยรุ่นทั่วไป มีความสดใส แอคทีฟ และดูเป็น ‘คนเมือง’ อย่างชัดเจน

ทว่าเมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่บ้านแม่หมี อันเป็นที่นัดหมายของชาวปกาเกอะญอร่วมร้อยชีวิต คนกรุงแท้ๆ อย่างผม เช่นเดียวกับเพื่อนสื่อมวลชนบางราย ออกอาการประหม่าไม่น้อย คล้ายกับหลุดเข้าไปอยู่ในอีกโลกซึ่งไม่เคยคุ้น

ต่างจากกอล์ฟ ที่แม้จะมาเยือนหมู่บ้านนี้เป็นครั้งแรกเหมือนกัน แต่กลับกลมกลืนเข้ากับผู้คนและสถานที่อย่างรวดเร็ว และยิ่งเด่นชัดขึ้นตลอดระยะเวลาสองวันเต็มที่ใช้ชีวิตอยู่บนนั้น

ระหว่างการทำงาน เราได้สนทนากันพอหอมปากหอมคอ ได้ความว่ากอล์ฟเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เคยฝึกงานที่สำนักข่าวประชาไท ก่อนจะเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) และทำงานสื่อสารองค์กรให้กับ ‘มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ’ มาจนถึงปัจจุบัน คลุกคลีอยู่กับประเด็นสิทธิชุมชนเป็นหลัก โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนปกาเกอะญอ

ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังครบรอบวันเกิดปีที่ 24 ของกอล์ฟไม่กี่วัน ผมนัดสัมภาษณ์เขาอีกครั้งแบบยาวๆ ด้วยเห็นว่าตัวตนที่เขาเป็น และงาน ‘เอ็นจีโอ’ ที่เขาทำ ค่อนข้างฉีกไปจากพิมพ์นิยมของคนรุ่นใหม่

อะไรที่ทำให้เขาเลือกเดินเส้นทางนี้ เขามีความฝันอย่างอื่นหรือไม่ ประเด็นที่เขาทำมีความท้าทายอย่างไร และตัวตนความคิดของเขาเปลี่ยนไปอย่างไร หลังจากตัดสินใจทิ้งชีวิตเมืองกรุง มุ่งสู่ดอย

ต่อไปนี้คือปากคำที่บอกเล่าตัวตนความคิด และจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขา ตั้งแต่อยู่ในรั้วมหา’ลัยเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

พชร คำชำนาญ

ก่อนนกน้อยจะออกจากรัง

ตอนเข้าไปเรียนนิเทศฯ ปีแรก เวลามีคนถามว่าอยากเรียนภาคอะไร ผมยังตอบว่าฟิล์มอยู่เลยครับ เพราะรู้จักแค่นั้น เวลาพูดถึงคณะนิเทศฯ เราก็นึกถึงภาพยนตร์ นึกถึงการถ่ายรูป แต่พอเรียนไปสักพัก ก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทางอีก เพราะเราไม่ถนัด ผมทำหนังไม่ได้ ถ่ายคลิปตัดต่อไม่เก่ง ช่วงสองปีแรกที่เรียนพื้นฐานของแต่ละภาควิชา ก็เลยเคว้งพอสมควร มีความคิดจะซิ่วด้วยซ้ำ

จนไปเจอวิชาเขียนข่าวเบื้องต้น เป็นวิชาพื้นฐานของเอกวารสารสารสนเทศ ผมได้เรียนกับอาจารย์พรรษาสิริ กุหลาบ ซึ่งต่อมาก็เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของผมจนเรียนจบเลย ประกอบกับตอนนั้น ได้ดูซีรีส์เกาหลี เรื่อง ‘Pinocchio’ เป็นชื่อของโรคประหลาด เวลาโกหกแล้วจะสะอึก ซึ่งเขาเอาไปเชื่อมกับการเป็นนักข่าว เรื่องจรรยาบรรณสื่อมวลชน ตอนนั้นดูแล้วอินมาก ทำให้รู้สึกว่าอยากเรียนสาขานี้ และมีความคิดว่าอยากเป็นนักข่าว

ผมเป็นคนที่ไม่ชอบความอยุติธรรมทั้งปวง เวลาเห็นเรื่องอะไรทำนองนี้ จะ emotional มาก แล้วเรารู้สึกว่า ถ้าเราเรียนสาขาวารสารสารสนเทศ เราน่าจะออกไปช่วยคนได้ พอเลือกเข้าสาขานี้ปุ๊บ จากที่ไม่สนใจการเมือง ก็เริ่มสนใจการเมือง สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน แล้วต่อมาก็เลือกไปฝึกงานที่สำนักข่าวประชาไท

คนที่มีอิทธิพลมากกับผม คืออาจารย์พรรษาสิริ วิชาหนึ่งที่แกสอนคือวิชา conflict journalism การรายงานข่าวในสถานการณ์ที่มี conflict จะหยิบเคสการเมืองภาคประชาชนจากหลายๆ ประเทศมาสอน อีกวิชาที่ทำให้อินมากคือ community journalism วิชาสื่อชุมชน นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ได้ยินคำว่า ‘สิทธิชุมชน’ จากแต่เดิมที่เรามองเรื่องสิทธิเป็นเรื่องของ individual

หลังจากนั้นพวกผมก็ต้องทำวารสาร ‘นิสิตนักศึกษา’ ออกมาสามเล่ม ตอนทำเล่มแรกอาจารย์ก็บอกให้เลือกเรื่องเบาๆ ที่เป็นประเด็นในกรุงเทพฯ ก่อน ถือว่าซ้อมมือก่อน

เราก็เลือกทำเรื่องตลาดนางเลิ้ง ปรากฏว่ามันไม่เบาอย่างที่คิด ไปเจอตอใหญ่มากคือสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เวลาเราเข้าไปในตลาด ไม่ว่าคุยกับใคร ทุกคนจะพูดถึงสำนักทรัพย์สินฯ เราเลยรู้สึกว่าเรื่องนี้ต้องเล่น ต้องทำ

จากตอนแรกที่จะทำเรื่องอาหาร ความเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งวัฒนธรรม อาจวิจารณ์นิดหน่อยเรื่องที่จอดรถไม่มี เดินทางลำบาก กลายเป็นว่า main course ของเล่มนั้นคือเรื่อง ‘ทั้งชีวิต ให้ทรัพย์สินฯ ดูแล’

เราเริ่มจากการไปคุยกับชาวบ้านก่อน เพื่อรวบรวมปมปัญหา ลิสต์คำถามที่เขาอยากถามมา แล้วเอาไปถามกับสำนักทรัพย์สินฯ เช่น การต่อสัญญาเช่าทีละสามปี ชาวบ้านถามว่ามันสั้นไปไหม เขาอยู่มาเป็นร้อยปี เมื่อก่อนเคยเช่าได้นานกว่านี้ ตอนนี้เหลือสามปี มันหมายความว่ายังไง ส่วนค่าเช่าก็ยิ่งเพิ่ม ค่าเช่าแผงก็เพิ่ม หลักๆ คือชาวบ้านกลัวโดนไล่ที่ เหมือนต้องอยู่กับความกังวลตลอดเวลา กินไม่ได้นอนไม่หลับ

พอส่งคำถามไป เขาก็ปฏิเสธ ไม่รับสักคำถามเลย แล้วก็ขู่เราด้วยมาตรา 112 บอกประมาณว่ามีเรื่องดีๆ อีกตั้งเยอะแยะให้เขียน จะเขียนเรื่องนี้จริงเหรอ คุณเป็นแค่นักศึกษา ยังเรียนไม่จบเลยนะ ระวังตัวไว้บ้างก็ดี

ส่วนเล่มที่อินที่สุดคือเล่มที่สอง ชื่อฉบับ ‘เทพาบ้านเรา’ ทำเรื่องชุมชนเทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตอนนั้นเราเริ่มจากลงไปคุยกับกลุ่มม็อบที่หน้า UN ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีงาน ‘อุ่นไอรัก’ อยู่ใกล้ๆ กัน พอเราเข้าไปถามชาวบ้าน เขาบอกว่าอยู่มาหลายวันแล้ว ไม่มีรถห้องน้ำ ลำบากมาก พอไปถามสน.นางเลิ้ง ได้เหตุผลว่ารถห้องน้ำไปอยู่ที่งานอุ่นไอรักหมดแล้ว

เราก็ประชุมกับเพื่อนว่าจะทำยังไงกันดี เพราะตอนนั้นแทบยังไม่มีสื่อไหนลงไปดูเลย ผมกับเพื่อนๆ ก็ช่วยกันปล่อยฟีดในทวิตเตอร์ของตัวเอง ให้มันค่อยๆ แพร่ออกไป อย่างผมเองก็แท็กไปหาคุณกิตติ สิงหาปัต เลย (หัวเราะ) ปรากฏว่าแกตอบ ว่าเดี๋ยวจะส่งทีมลงไป แล้ววันถัดมาคุณฐปณีย์ (เอียดศรีไชย) ก็ลงพื้นที่เลย ตามมาด้วยอีกหลายๆ สื่อ

ถ้าจำกันได้ หลายคนน่าจะเคยเห็นรูปที่มีคนแชร์กันเยอะมากช่วงนั้น จำไม่ได้ว่าจากสื่อไหน เป็นรูปด้านหน้า UN ที่มีคนใส่ชุดไทยจากงานอุ่นไอรักกำลังเดินผ่าน ขณะที่ชาวบ้านจากเทพากำลังนั่งอดอาหารอยู่ตรงนั้น เป็นภาพที่อิมแพคมาก

หลังจากนั้นพวกผมก็คุยกันว่า ทำเรื่องนี้ดีกว่า ไปลงพื้นที่เทพาเลย ยกทีมกันไป 4-5 คน ไปอยู่กับเขา ทำกิจกรรมร่วมกับเขา ช่วยเขาดู EHIA ว่าถูกต้องไหม มีข้อมูลไหนคลาดเคลื่อนรึเปล่า ผมเอามานั่งไล่อ่านทั้งเล่ม หนามาก ข้อมูลเยอะมาก แล้วมีแต่ศัพท์ยากๆ มีตัวย่อภาษาอังกฤษเต็มไปหมด สิ่งที่ถอดออกมาได้อย่างหนึ่งคือ มันมีข้อมูลผิดอยู่ ในส่วนที่ระบุว่าเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ชาวบ้านก็พาเราไปดูของจริงเลย ที่คลองตุหลง พาเราดำลงไปงมหอย หว่านแหให้ดูว่ามันอุดมสมบูรณ์แค่ไหน

อีกมุมหนึ่ง เราก็ไปสัมภาษณ์ กฟผ. ด้วย คราวนี้ได้สัมภาษณ์ แต่พอสัมภาษณ์เสร็จ เขาบอกว่าขอคุยด้วยนิดนึง แล้วก็พูดกับเราว่า เราควรรายงานข่าวบนข้อเท็จจริง บนวิทยาศาสตร์ บนพื้นฐานของงานวิจัย ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ ไม่งั้นเราจะเป็นนักข่าวที่มีจรรยาบรรณไม่ได้

เราก็หน้าชาเลย แต่ก็เข้าใจได้ เพราะก่อนหน้านั้นเราทยอยปล่อยเนื้อหาออกมา ซึ่งคนแชร์ไปเยอะมาก ยอดเข้าถึงเป็นแสน คนรีทวีตเป็นพัน เป็นอัลบั้มชื่อว่า ’10 เหตุผล ทำไมต้องหยุดโรงไฟฟ้าเทพา’ สิ่งที่พวกเราสังเกตตอนนั้นคือ ไม่ว่าเราปล่อยเนื้อหาอะไรออกมา จะมีคนเข้ามาด่าตลอด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเฟซบุ๊กอวตาร เหมือนเพิ่งสมัครใหม่ เข้ามาด่ากันเยอะมาก ที่เจอบ่อยคือด่าประมาณว่า “เป็นแค่นิสิตนักศึกษา แต่รับเงินเอ็นจีโอแล้วเหรอ”

นั่นคือตอนแรกที่ได้รู้จักกับคำว่าเอ็นจีโอ จากก่อนหน้านั้นที่เคยได้ยิน แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร พอโดนด่าแบบนั้น เราก็งง เพราะเราไม่ได้รับเงินใครสักบาท

หลังจากนั้นผมมีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์เอ็นจีโอตัวจริง คือพี่หนู สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) คำถามหนึ่งที่เราถามพี่หนูคือ ทำไมประเทศนี้ต้องมีเอ็นจีโอ แกก็บอกว่าไม่มีใครในประเทศนี้อยากเป็นเอ็นจีโอหรอก มันเหนื่อยจะตาย เงินก็น้อย แถมยังโดนด่าอีก แต่ถ้าไม่มีเอ็นจีโอ ชาวบ้านก็แย่ เพราะเขาไม่มีคนที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมไปถึงรัฐ แล้วแกก็บอกว่า ถ้าประเทศนี้มันดี มันเท่าเทียม ไม่มีใครโดนกดขี่ ก็ไม่จำเป็นต้องมีเอ็นจีโออีกต่อไป

พอถึงช่วงที่ต้องฝึกงาน ผมไม่ชอบข่าวทีวี ชอบเขียนมากกว่า อาจารย์แนะนำมาว่าประชาไทน่าสนใจดี ซึ่งผมตามอ่านอยู่แล้ว ก็เลยสมัครไปที่ประชาไท งานชิ้นแรกที่เขียนก็เป็นงานที่มีดีเบตเลย เพราะเราเลือกเขียนบทความเป็นงานชิ้นแรก เกี่ยวกับเพศวิถีศึกษาในระบบการศึกษาไทย ชื่อบทความว่า เพศวิถีศึกษา : ‘ปีศาจ’ ของ ‘วัฒนธรรมไทย’ ตลอดกาล เขียนถึงชมรมเพศวิถีของโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ ไปสัมภาษณ์เด็กที่อยู่ในชมรม เอามาประกอบกับเนื้อหาที่ได้ไปร่วมประชุมเรื่องเพศวิถีศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการ แล้วเขียนเชื่อมโยงกับเรื่องปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์

ระหว่างที่ฝึกงานก็คิดอยู่ว่า พอเรียนจบแล้วจะกลับไปทำที่ประชาไท อยากเป็นนักข่าว แต่อาจารย์ก็แนะว่า เดี๋ยวมันจะลงล็อกเกินไป ให้ลองไปอยู่ที่อื่นก่อน ถ้ายังอยากกลับไป ค่อยกลับ แล้วก็มีอาจารย์อีกคนคืออาจารย์พรรณพิมล นาคนาวา ส่งโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มาให้ เป็นโครงการหนึ่งปี ไปทำงานเป็นอาสาสมัครกับกลุ่มเอ็นจีโอต่างๆ ทาง มอส. จะเปิดให้องค์กรที่เป็นเอ็นจีโอส่งเรื่องขออาสาสมัครมา แล้วจับคู่ให้อาสาสมัคร ดูจากความสนใจ จากการสัมภาษณ์ สุดท้ายผมได้ไปอยู่ที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ประจำอยู่ที่เชียงใหม่ หลักๆ คือทำเรื่องที่ดิน เรื่องสิทธิชุมชน

ตอนแรกก็ยังลังเลอยู่ว่า จะไปดีมั้ย เพราะยังอยากเป็นนักข่าวอยู่ แต่อาจารย์บอกว่าให้ลองไปทำดูก่อน คิดซะว่าไปเก็บประเด็น แล้วออกมาเป็น expert ในด้านนั้น ถ้ายังอยากเป็นนักข่าว ก็เป็นนักข่าวที่ expert ในด้านนั้น อย่าเป็นนักข่าวทั่วไป ส่วนที่ผมเข้าไปทำคือด้านสื่อสารองค์กร ตอนนี้ทำมาจนเข้าปีที่สองแล้วครับ

พชร คำชำนาญ

จากชาวเมือง สู่ชาวดอย

งานแรกที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ผมถูกส่งไปชุมชนกะเหรี่ยงที่จังหวัดตาก เป็นประสบการณ์ที่ยังจำได้ถึงทุกวันนี้

ผมนั่งรถตู้ไปคนเดียว ไปถึงช่วงดึกแล้ว ฝนก็ตก หนาวมาก หิวข้าวมาก เราก็บอกชาวบ้านว่าขอแค่มาม่าก็ได้นะครับ ปรากฏว่าเขาก็น่ารักมาก บอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวหุงข้าวให้ ทำกับข้าวให้ ปรากฏว่าข้าวมื้อนั้นผมกินแทบไม่ได้เลย น้ำพริกของเขาเผ็ดมาก มีแค่ไข่เจียวที่พอกินได้ แล้วก็มีเพกา เป็นผักพื้นบ้าน ขมมากครับ กินแล้วเราจะร้องไห้

คืนนั้นคิดกับตัวเองเลยว่า ทำไมกูต้องมาอยู่ตรงนี้ เพราะมันลำบากมาก อย่างห้องน้ำในชุมชน ก็ไม่คิดว่ามันจะขนาดนั้น ไม่มีประตูปิดด้วยซ้ำ มีแค่ผ้าใบปิดไว้โดยที่ไม่รู้ว่ามีคนอยู่ข้างในหรือเปล่า แล้วก็อีกหลายสิ่งหลายอย่างมากที่เราไม่ชิน

วันต่อมา ได้ไปพื้นที่ไร่หมุนเวียน ก็เริ่มรู้สึกดีขึ้น เพราะมันสวยงามไปหมด ตื่นตาตื่นใจ ก่อนหน้านั้นเราอ่านงานวิจัยไปก่อน พยายามทำการบ้านไว้ล่วงหน้า แล้วก็มีโอกาสได้สัมภาษณ์ชาวบ้านที่ต้องลงไปเป็นควาญช้างในตัวเมืองเชียงใหม่ เขาก็เล่าชีวิตเขาให้ฟัง พูดถึงความยากลำบากในการต้องลงมาในเมือง แต่มันต้องลง สุดท้ายก็อยากกลับมาอยู่บ้านบนดอย แล้วผมก็ทำเป็นคลิปออกมา หัดถ่ายทำ หัดตัดต่อเป็นครั้งแรก พอปล่อยคลิปไปคนก็ดูเยอะเหมือนกัน

ปัญหาตอนไปอยู่ช่วงแรกๆ คือผมไม่ค่อยมีสังคม ถ้าไม่ได้ไปลงพื้นที่ก็จะเคว้งมาก เวลาอยู่สำนักงาน มันเหมือนกลับไปใช้ชีวิตแบบออฟฟิศ เริ่มรู้สึกไม่สนุก เหงา ไม่มีอะไรทำ พอกลับบ้านห้าหกโมงเย็น ก็กินข้าวเล่นเน็ต ดูซีรีส์ แล้วช่วงกลางคืนจะเริ่มดาวน์ ดึกๆ ทุกคืนจะเริ่มคิดถึงเพื่อน เหมือนเห็นเพื่อนที่นิเทศฯ ที่มีงานทำกัน แต่งตัวสวยๆ ยังใช้แบรนด์เนมอยู่ ไปกินเหล้าร้านที่เราเคยไปกินด้วยกัน แต่วันนี้ไม่มีเรา เพื่อนๆ ก็โทรมาคุยด้วยบ้าง ถามว่างานเป็นยังไง เราก็ได้แต่ตอบว่า เออ ก็สนุกดี แต่ก็ยังอยากกลับกรุงเทพฯ ยังคิดถึงเพื่อน วางสายเสร็จร้องไห้เลย มันคิดถึงเพื่อน มันเหงา

เราเป็นคนไม่เข้าหาคนในตอนแรก ซึ่งมันเป็นอุปสรรคมากในการทำงานชุมชน ในช่วงแรกชาวบ้านก็ไม่กล้าคุยกับเรา เพราะเห็นเราแต่งตัวแบบนี้ลงชุมชน บางคนพยายามคุยกับเรา แต่เขาพูดไทยไม่ได้ พูดกับเราเป็นภาษากะเหรี่ยง ฟังไม่รู้เรื่อง ช่วงแรกๆ มันทรมานมากเลยครับ เวลาลงชุมชนก็ไม่รู้จะเข้ากับชุมชนยังไง เวลาอยู่สำนักงานก็เหงา

จนกระทั่งมันมีช่วงที่ฮึดขึ้นมา หลังจากทำไปประมาณ 4 เดือน กลุ่มอาสาสมัครเขาจะนัดมาเจอกัน ถอดบทเรียนกัน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน 5-6 วันบนดอย ทีนี้พอแต่ละคนเล่าเรื่องตัวเองให้ฟัง ปรากฏว่าไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่กำลังต่อสู้ กลายเป็นว่าทุกคนต่อสู้และมีปัญหากันทั้งนั้น ไม่มีใครที่มาแบบว่า กูแฮปปี้กับองค์กร แฮปปี้กับงานที่กูทำ ไม่ต้องปรับตัวอะไร แต่ทุกคนมาระบายกันจริงจังมาก เบอร์ใหญ่มาก คืนนั้นเรานั่งล้อมรอบกองไฟ เพื่อนคนแรกที่ต้องระบายก่อนก็ร้องไห้แล้ว แล้วก็ร้องไห้เป็นทอดๆ

จากตอนแรกที่เราเตรียมอะไรไปคุยเยอะมาก อยากคุยให้เพื่อนฟัง อยากระบาย อยากร้องไห้ กลายเป็นว่าผมร้องไห้ไม่ออกเลย เพราะเรื่องของทุกคนมันเหี้ยจริง หนักจริง จนเรางง ของบางคนนี่หนักกว่าเรามาก จนไม่รู้ว่าจะมีอะไรที่มันหนักกว่านี้ได้ไหม

พอกลับมาจากวงนั้น มันเหมือนได้เติมไฟให้กัน แล้วมันทำให้เห็นว่ามีคนรุ่นเราที่อยากทำงานแบบนี้อยู่เยอะ ไม่ใช่ไม่มีเลย แค่เขาไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหน ถ้าไม่มีโครงการนี้ของมอส. ผมก็ไม่รู้เลยว่าจะไปอยู่เอ็นจีโอที่ไหน จะเข้าถึงเขายังไง เอ็นจีโอนี้โอเคหรือไม่โอเค แต่พอเป็น มอส. มันได้รับการสกรีนมาระดับหนึ่งแล้ว ที่สำคัญคือเวลาที่เราผิดหวังกับอะไรสักอย่าง มันมีพื้นที่ให้เราได้กลับมาเจอกัน แล้วก็มาช่วยกันเติมไฟ

จากคนนอก สู่คนใน

หลังจากนั้นผมสลัดตัวตนบางอย่างออกไปเลย จากที่ไม่มีสังคม ไม่รู้จะเข้ากับคนอื่นยังไง ผมเริ่มเปลี่ยนเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น เริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์กับคนในสำนักงาน ในตึกที่ผมทำงานด้วยมันมีหลายองค์กร สุดท้ายเราเข้าได้กับทุกคนเลย นั่งกินข้าวกินเหล้ากับเขาได้ ทำอาหารด้วยกัน เริ่มจากตรงนั้น

แล้วเวลาลงชุมชน เรารู้ว่าชาวบ้านเขาเอ็นดูเด็ก เราก็กลายเป็นเด็กคนหนึ่งที่ไปใช้ชีวิตกับเขา ทิ้งความเป็นเอ็นจีโอ ทิ้งความเป็นคนเมือง สลัดออกไปหมด เขากินอะไรเราก็ต้องกิน ชวนเขาคุยโน่นคุยนี่ ให้เขาพาไปดูโน่นดูนี่ ให้เขาพาไปลงชุมชน ซึ่งเขาจะเต็มใจมาก ถ้าเห็นว่าเราอยากดู อยากเรียนรู้กับเขาจริงๆ เพราะเขาเองก็อยากนำเสนอเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว

จากเดิมที่มือไม้แข็ง ก็กลายเป็นมือไม้อ่อน แล้วเวลาไปลงชุมชนกะเหรี่ยง ถ้าเราขึ้นบ้านไหนแล้วเขาเรียกกินข้าว เราต้องกิน อย่างน้อยก็ต้องกินคำสองคำ แม้ว่าเราจะกินมาจนอิ่มแค่ไหน นี่คือสิ่งที่ค่อยๆ ได้เรียนรู้ แล้วช่วงที่ความสัมพันธ์มันจะดีที่สุดคือในวงเหล้านี่แหละครับ แต่เราไม่ได้ใช้มันในการปาร์ตี้สังสรรค์ ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงคนหนึ่งบอกเราว่า เวลามานั่งในวงเหล้า จะได้ฟังแต่เรื่องปัญหานะ โอเคไหม แกถามเราตั้งแต่ครั้งแรก เราก็โอเค แกก็สอนว่าชาวบ้านจะพูดมากที่สุดตอนนั้น แล้วเขาจะรู้สึกดีถ้าเราฟังเขา ขณะเดียวกันเขาก็จะชอบให้เราเล่าเรื่องตัวเองด้วย

แง่หนึ่งคือเราทิ้งตัวเองคนเก่าไป แต่อีกแง่ก็ยังเป็นตัวของตัวเองอยู่ ยังคงแต่งตัวแบบนี้เหมือนเดิมเวลาลงพื้น​ที่​ แต่ไม่มีปัญหาเวลาไปคุยกับชาวบ้านแล้ว เขารู้ว่าเราเข้าไปช่วย มันอยู่ที่ว่าวางมาดแบบไหนเท่านั้นเอง ที่สำคัญคือเราไม่เคยเข้าไปสั่งสอน ไม่เคยเข้าไปสั่งการ ไม่เคยเข้าไปแล้วบอกเขาว่าอยากกินหมู ฆ่าหมูหน่อยได้ไหม ถ้าอยากกินหมูเราจะซื้อหมูเข้าไปจากข้างนอก ให้เขาทำให้กิน แล้วก็กินด้วยกัน

มีตัวชี้วัดหนึ่งที่รู้สึกว่าทำสำเร็จคือ ทุกวันนี้จะมีชาวบ้านโทรมาหาเกือบทุกวัน โดยที่บอกว่าไม่มีอะไร แค่คิดถึง ชวนคุยเรื่องโน่นเรื่องนี่เป็นชั่วโมง วันนี้ฝนตก ปีนี้น้ำแล้ง ปีนี้ข้าวไม่ดี ปีนี้ไม่มีแตงกิน ไว้ขึ้นมาหาบ้างนะ พ่อๆ แม่ๆ บางคนโทรมา เล่าให้ฟังว่าทะเลาะกับลูก โทรมาร้องไห้ให้เราฟังยังมีเลยครับ อันนี้เราว่าเป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่าเราทำงานชุมชนสำเร็จ หมายถึงไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่เขามองเราเป็นลูกเป็นหลานไปแล้ว

สิ่งสำคัญคือเราต้องจริงใจกับเขา เวลาผมเข้าไปคุยกับชาวบ้าน ถ้าเป็นครั้งแรกที่คุยเราก็จะบอกเลยว่าเราเป็นใคร บอกว่าผมเป็นคนอ่างทองนะครับ แต่ตอนนี้มาอยู่เชียงใหม่ เคยไปลงชุมชนคนเดียวบ่อยๆ อะไรก็ว่าไป พยายามคุยเรื่องตัวเองก่อน อย่างน้อยก็คือให้รู้ว่าเราเปิดกับเขา เราไม่ได้เข้าไปหาผลประโยชน์ แล้วเขาจะเปิดใจคุยเรื่องของเขาให้เราฟัง

บางทีคนชอบพูดว่า เอ็นจีโอเข้าไปสูบเลือดสูบเนื้อชาวบ้าน ก็มีนะครับ ไม่ปฏิเสธ บางพื้นที่ก็เป็นแบบนั้นจริง แต่กับกลุ่มของเรา เราชัดเจนว่าจะไม่เอาอะไรออกมาจากชุมชนเลย นอกจากบางทีที่พี่น้องให้ผักให้อะไรออกมากิน

พชร คำชำนาญ

เอ็นจีโอพันธุ์ใหม่

เรื่องคนรุ่นใหม่กับการทำงานเอ็นจีโอ ผมคิดว่าสำคัญมาก เพราะทุกวันนี้ส่วนใหญ่ยังมีแต่คนเก่าๆ คนที่อายุมากแล้ว ซึ่งวิธีการทำงานก็ยังเหมือนเดิม ไม่ค่อยเปลี่ยนเท่าไหร่

ก่อนหน้านี้ผมได้คุยกับพะตีจอนิ โอโดเชา แกบอกเราว่ามันต้องมีคนรุ่นใหม่เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ในวงการเอ็นจีโอ แม้กระทั่งชาวบ้านที่ออกมาต่อสู้ ก็ต้องมีรุ่นใหม่ๆ ที่ผลัดใบขึ้นมา เพราะการสู้เรื่องประชาธิปไตย หรือความไม่เป็นธรรม แกบอกผมเลยว่ามันจะไม่จบแค่รุ่นเรา ฉะนั้นคนที่จะขึ้นมาใหม่ ก็อยากให้คิดอะไรใหม่ๆ อย่าหมดกำลังใจ อย่าเสียใจเวลาทำอะไรแล้วมันยังไม่สำเร็จ เพราะมันต้องใช้เวลาอีกนาน

โดยส่วนตัวผมเอง ผมจะให้ความสำคัญกับการสื่อสาร เพราะเราทำงานสื่อ เราจะมองถึงรูปแบบการรณรงค์ที่ไม่ใช่แค่การชุมนุม แต่ควรจะเป็นการสื่อสารหรือดึงแนวร่วมจากคนในสังคมให้มากขึ้นได้ด้วย

อย่างตอนที่เรารณรงค์เรื่องบิลลี่ มันขึ้นมาเป็นกระแสได้เพราะโซเชียลมีเดีย เห็นว่าคนรุ่นผมเขาเซนซิทีฟกับเรื่องพวกนี้อยู่นะครับ จากเดิมที่เคยสู้เรื่องกะเหรี่ยงกันมาแทบตาย พยายามพูดเรื่องสิทธิชุมชน เรื่องคนอยู่กับป่า แต่กระแสมันไม่ขึ้น พอเกิดเรื่องบิลลี่ กลายเป็นว่ากระแสมันขึ้นในโลกทวิตเตอร์เพราะว่าเขาโดนฆ่า แต่ในเงื่อนงำที่เขาโดนฆ่า กลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่ๆ เขาไปขุดต่อ ไปหาข้อมูลที่มันน่าสงสัย ไม่ได้แค่ไปฟังจากพวกเราที่เป็นเอ็นจีโอ มีคนที่ไปหาข้อมูลมาแล้วมาพูดว่าไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย มีคำพูดว่ากะเหรี่ยงไม่ได้ทำลายป่า ซึ่งเขาไปหามาเอง

นี่คือตัวอย่างว่ามันวิธีการที่ต่างออกไปได้ จะสู้บนโลกโซเชียลหรือสู้บนถนน จะการสู้ด้วยงานที่ค่อนข้างเป็นวิชาการ หรือสู้ด้วยงานที่เป็นเชิง feature หน่อยๆ แน่นอนว่าแต่ละวิธีก็ดึงแนวร่วมได้ต่างกัน สำหรับเรามันคือการสร้างพื้นที่สาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ในโลกโซเชียล เอ็นจีโอควรสร้างพื้นที่ในโลกโซเชียลเพื่อดึงแนวร่วมและสร้างความเข้าใจกับสังคมให้มากกว่านี้

หนึ่งคือความเข้าใจที่ยังผิดอยู่ หรือคนที่ยังไม่เข้าใจ ไม่เคยได้รับข่าวสารข้อมูล เราต้องสร้างความเข้าใจกับเขาว่ามันมีเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นในประเทศนี้ อยู่ในโลกนี้

สอง คือโจทย์ที่ว่า จะนำไปสู่การที่เขาออกมา action กับเราได้ยังไง action ในที่นี้คือไม่ต้องมาเดินขบวนกับเรา เป้าเราไม่ได้สูงขนาดนั้น อย่างน้อยเวลาที่กูออกมาชุมนุม อย่ามาด่ากูก็พอ แค่นี้ก็เป็นการ action อย่างหนึ่งแล้ว ถ้าไม่ออกมาช่วย ก็อย่ามาลดทอนความชอบธรรมของเรา

ไม่ว่าจะยังไง เราเกิดมาเป็นคน เป็นมนุษย์ ทุกคนย่อมมีความยุติธรรมอยู่ในใจไม่มากก็น้อย อยู่ที่ว่ามันไปคลิกตรงจุดไหน คดีบิลลี่นี่ชัดเจนว่ามันคลิก คนรุ่นเราที่ไม่เคยสนใจเรื่องชาติพันธุ์ ก็ยังหันมาสนใจ เขาอาจตะขิดตะขวงใจบ้างว่าอยู่ในป่าแบบผิดกฎหมายรึเปล่า แต่ไม่ว่าจะยังไง คุณไม่มีสิทธิอะไรไปฆ่าเขาอย่างโหดร้ายขนาดนั้น

สุดท้ายพอทำงานมาสักพัก ผมมองประเด็นทุกอย่างด้วยกรอบของ Human Rights หมดเลย เวลาเราพูดถึงเรื่องสิทธิ มันคือเรื่องอำนาจด้วย เช่น เราพูดเรื่องสิทธิชุมชน มันหมายถึงว่าชุมชนมีอำนาจ โดยอำนาจนั้นต้องบวกกับความชอบธรรมด้วย ถึงจะเป็นสิทธิที่แท้จริง ไม่ใช่อำนาจทหาร ไม่ใช่อำนาจ คสช.

การมีสิทธิชุมชนแปลว่าชุมชนมีอำนาจในการจัดการตัวเอง ถ้าเขาต้องไปขออนุญาต ก็หมายความว่าเขาไม่มีอำนาจแล้ว

ดูกับตา ย่ำกับตีน

เวลารับสื่อเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ อย่าเพิ่ง judge ทันที โดยเฉพาะถ้ามันเกี่ยวกับกลุ่มคนชายขอบ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าคนพวกนี้ยังมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ

การเป็นชายขอบทำให้เขาไม่มีปากเสียงอยู่แล้ว ตรงกันข้ามกับการที่รัฐบาลจะพูดยังไง กระทรวงทรัพย์ฯ จะพูดยังไง นายทุนจะพูดยังไง ทำได้ง่ายมาก แล้วคนในเมืองก็จะเชื่อง่ายมากทั้งที่คุณไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าเขาใช้ชีวิตกันยังไง คุณอาจเป็นชายขอบเองหรือเปล่า ชายขอบของข้อมูลที่คุณเข้าไม่ถึง

ในขณะที่คุณมาชี้หน้าด่าว่าชาวบ้านเผาป่า เก็บเห็ด ทำให้โลกร้อน ทำให้เกิดฝุ่นควัน คุณกำลังขับรถอยู่กี่คัน คุณกำลังเปิดแอร์สบายอยู่ในห้อง แล้วคุณก็เขียนกฎหมายจากในห้องแอร์ ขณะที่คนในชุมชนดูแลรักษาป่ากันตามวิถีของเขา ชุมชนหนึ่งกินพื้นที่หมื่นสองหมื่นไร่ เขาดูแลกันมาได้ ในขณะที่คนเมือง บางคนต้นไม้สักต้นยังไม่เคยปลูกด้วยซ้ำ กระทั่งตัวผมเองด้วย ฉะนั้นอย่าเพิ่ง judge อะไรง่ายๆ อย่างน้อยก็ลองหาข้อมูลหลายๆ ด้านก่อน

ผมโชคดีตรงที่ได้ลงไปเห็น ไปสัมผัสจริง แล้วก็แวดล้อมไปด้วยข้อมูล จากปราชญ์ชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน จากนักวิชาการที่เราทำงานด้วย ช่วงแรกๆ ก็มีคำถามเยอะ เช่น ทำไมเวลาทำไร่หมุนเวียนถึงต้องเผา พอลงไปศึกษาจริงๆ ถึงรู้ว่ามันต้องเผา ถ้าไม่เผาจะไม่มีปุ๋ย ปุ๋ยมันถูกเก็บอยู่ในต้นไม้ พอเผาเสร็จ คาร์บอนจากการเผาก็โดนดูดซับอยู่ในพื้นที่ไร่เหล่า (ไร่หมุนเวียนที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้ฟื้นตัว) ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ และเป็นวิธีที่ทำกันมานานแล้ว ในขณะที่เราขับรถอยู่ในพื้นที่โล่ง เราปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์วันละเท่าไร แล้วมีวิธีจัดการแค่ไหนยังไง

หรือเรื่องการเผาป่า คนในเมืองจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเผา กระทั่งนโยบายเรื่องการจัดการไฟป่า ที่บอกว่าห้ามเผาทั้งปี ซึ่งสะท้อน mindset ที่ว่าป่าต้องไม่มีไฟ คำถามคือตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่เรามองว่าไฟไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิต พอเราไปอยู่กับชาวกะเหรี่ยง จะเห็นเรื่องนี้ชัด เข้าใจว่าไฟมันเป็นเรื่องปกติของป่า ยกตัวอย่างป่าเต็งรัง ลองไปเดินดูสภาพมัน ใบสักแห้งๆ หล่นเกลื่อน ถ้าเราไม่ค่อยๆ ชิงเผา สุดท้ายมันจะไหม้แบบที่เกิดขึ้นที่เชียงดาวเมื่อไม่นานนี้ มันเป็นองค์ความรู้ที่ชาวกะเหรี่ยงพูดมานานแล้ว ชุมชนพูดมานานแล้ว จะเผาไร่หมุนเวียนทุกครั้งต้องทำแนวกันไฟ บางชุมชนทำแนวกันไฟติดกันทั้งลุ่มน้ำสามร้อยกว่ากิโล ร่วมมือร่วมใจกันทำขนาดนั้น แต่นโยบายรัฐคือห้ามเผาเลยทั้งปี วิธีมองแบบนั้นคือการมองแบบคนบนพื้นราบ

พชร คำชำนาญ

คำถามอีกประเภทที่เจอบ่อยคือ กะเหรี่ยงพอเพียงจริงเหรอ ถ้าพอเพียงจริงทำไมต้องเลี้ยงควาย เพราะถ้าเลี้ยงควายมันต้องใช้พื้นที่ป่าเยอะ ทำแบบนี้ถือว่าไม่พอเพียงตามศาสตร์พระราชา อุทยานชอบใช้มุกทำนองนี้ เพื่อที่จะได้เอาป่าคืน

สำหรับผม บางชุมชนเขาปลูกไร่หมุนเวียนกินปีต่อปีจริงๆ ในครัวเรือน ไม่มีพืชเศรษฐกิจ ไม่ขาย ไม่มีรายได้ ไม่มีอะไรเลย อาจมีนิดหน่อยจากการขายน้ำผึ้งป่าพอเลี้ยงชีวิต พอให้สามารถซื้อเครื่องปรุงเติมน้ำมันรถได้ คำถามคือแล้วทำไมต้องยังเลี้ยงควาย ก็เพราะคนมันต้องใช้เงิน ถ้าเกิดเจ็บป่วย เป็นอะไรขึ้นมา มันต้องเข้าโรงพยาบาล ควายก็คือธนาคาร ถ้าคนอย่างเราๆ มีธนาคารเป็นสมุดบัญชี คนกะเหรี่ยงก็มีธนาคารเป็นควายที่ขายได้ตัวละสามหมื่น ซึ่งเขาไม่ได้ขายพร่ำเพรื่อ ต้องมีเหตุให้ใช้จริงๆ เช่น รถพัง ต้องใช้รถ ต้องขายควายซื้อรถ หรือเวลาเจ็บป่วย ต้องใช้เงิน ก็เอาควายไปขาย

ถ้ามีโอกาสหรือเวลา อยากให้ลองหาข้อมูลจากอีกฝั่งดูนะครับ หรือถ้ามีเวลามากกว่านั้น ก็ลองมาดูกับตา มาสัมผัสด้วยตัวเอง

ชาวปกาเกอะญอจะมีคำพูดว่า “ดูกับตา ย่ำกับตีน” คนในเมืองต้องมาดูกับตา ย่ำกับตีน มาเหยียบผืนดินด้วยตัวเอง มึงมาเกี่ยวข้าวเลย มาเข้าป่ากับกู แล้วลองตั้งคำถามจากอีกมุมดูบ้าง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save