fbpx

Alpha Male ของแทร่! เรามันเป็นผู้ล่า เรามันเป็นจ่าฝูง (โฮกปิ๊บ)

สักสัปดาห์ก่อน มีคลิปวิดีโอสั้นๆ ที่กลายเป็นไวรัลว่อนไปทั่วอินเทอร์เน็ต เมื่อมีกลุ่มเด็กผู้ชายไปขอถ่ายรูปกับ สนีโก หรือ นิโก เคนน์ เดอ บัลลิทธาซี คนดังทางอินเทอร์เน็ตผู้เป็นหนึ่งในคนที่เผยแพร่แนวคิดแบบ alpha male หรือคือความเป็นชายที่มาพร้อมอำนาจและความเป็นผู้นำอันเป็นลักษณะของจ่าฝูง -ที่แม้อ่านแวบแรกแล้วจะเข้าใจไปว่าเป็นกลุ่มคนบ๊องอยากเล่นบทบาทสมมติเป็นหมาป่าก็ตามที- เรื่องของเรื่องคือขณะที่สนีโกยินดีปรีดาที่มีแฟนคลับตัวจิ๋วมาทักทาย เขาก็พบว่าเด็กชายร้องตะโกนด้วยสีหน้าชื่นบานว่า “พวกผู้หญิงไปตายซะ!” (“F*ck the women!”) ฟากสนีกเกอร์ที่หน้าถอดสีตอบกลับไปว่า “เดี๋ยวก่อน! ไม่สิ ไม่ใช่แบบนั้นนะพวก ฟังก่อน เรารักผู้หญิงนะ เรารักพวกผู้หญิง”

และสถานการณ์ก็เลวร้ายลงต่อเนื่อง เมื่อกลุ่มเด็กชายที่ยังกระโดดโลดเต้นตะโกนกลับมาว่า “ก็ใช่ แต่เราไม่ชอบพวกคนข้ามเพศใช่มะ” ส่วนเด็กอีกคนพูดเสียงดังลั่นว่า “เออ ไปตายให้หมด!”

ในคลิปนั้น สนีโกหน้าตาเหรอหรา เขามองตรงมายังกล้องวิดีโอแล้วพูดแค่ว่า “กูทำอะไรลงไปเนี่ย!”

สนีโกอาจจะแค่ตะลึงงันและมองเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นแค่เรื่องขำขันรายวันของเขา แต่หลายคนไม่เห็นเช่นนั้น หลายคนเข้ามาคอมเมนต์แสดงความผิดหวังและเสียใจใต้คลิป เป็นต้นว่า “นี่มันน่ารังเกียจจริงๆ เขาไม่ควรยิ้มรับอะไรแบบนี้สิ และควรรู้ได้แล้วว่าสิ่งที่เขาพูดมันส่งผลต่อคนฟังยังไงบ้าง”, “ไม่อยากเชื่อเลยว่าเด็กๆ มองไอ้หมอนี่เป็นไอดอล”, “ไอ้หนูนั่นไล่ผู้หญิงไปตาย ทำยังกะว่าแม่มึงไม่ได้ขับรถมาแปดชั่วโมงเพื่อให้มึงมาเจอไอ้ขี้แพ้ที่มึงเห็นเป็นไอดอลนี่”

รวมทั้ง “ไงล่ะ นี่แหละยา ‘เม็ดแดง’ ของมึงไง สนีโก”

‘ยาสีแดง’ กลายเป็นสิ่งที่คอมเมนต์จากหลายๆ คนอ้างอิงอยู่ใต้คลิปของสนีโก และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด เพราะมันโยงไปยังต้นธารของแนวคิดที่ว่าด้วยความเป็น ‘ชายแทร่’ หรือคือแอลฟา เมล (alpha male) ที่ระเบิดความนิยมขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ตเมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้ (แม้จริงๆ แล้วนิยามลักษณะความเป็นชายแบบแอลฟาจะถือกำเนิดขึ้นมาก่อนนานมากแล้วก็ตามที) เคยมีคนตั้งกระทู้ถามในเว็บไซต์เรดดิต (Reddit -เว็บบอร์ดสัญชาติอเมริกัน) ถึงที่มาที่ไปของความนิยมประเด็นการเป็นจ่าฝูงของผู้ชาย เล่าอย่างคร่าวๆ คือความนิยมดังกล่าวเพิ่งจะโตขึ้นมาไม่นานนัก และถือกำเนิดขึ้นในเว็บบอร์ดอย่าง 4chan รวมทั้งเรดดิตเองด้วย โดยมีห้องกระทู้ที่ชื่อว่า TheRedPill หรือยาสีแดง เป็นคำที่กลุ่มผู้นิยมความเหนือกว่าของความเป็นชายหรือความเป็นชายสูงสุด (male supremacists) ใช้นิยามภาวะ ‘ตื่นรู้’ ว่าผู้ชายควรจะใช้อำนาจและความเหนือกว่าทางสังคมที่มีในมืออย่างเต็มที่ และนับเป็นการตื่นรู้ต่อความเป็นจริงของสังคม, สภาพเศรษฐกิจว่าผู้ชายคือเพศที่อยู่เหนือกว่าเพศอื่นใดทั้งปวง

สำหรับคำศัพท์ ‘ยาสีแดง’ นั้น หากใครที่ดูหนังบ่อยๆ น่าจะจับเค้าได้ว่ามาจากหนังเรื่อง The Matrix (1999) ของสองพี่น้องวาโชวสกี ว่าด้วยมนุษย์ที่ใช้ชีวิตในโลกจำลองซึ่งปัญญาประดิษฐ์สร้างขึ้น ตัวละครหลักซึ่งใช้ชีวิตเป็นพนักงานน่าเบื่อ ซังกะตายไปวันๆ ถูกคนแปลกหน้า ‘ปลุก’ ให้ตื่นด้วยการให้เขาเลือกยาสองเม็ด “นี่เป็นโอกาสสุดท้ายของนายแล้ว ไม่มีจุดให้หันหลังกลับ -ถ้านายเลือกยาสีน้ำเงิน เรื่องก็จบ นายจะตื่นขึ้นบนเตียงและเชื่อในสิ่งที่นายอยากเชื่อต่อไป แต่ถ้านายเลือกยาสีแดง นายจะได้อยู่ในโลกมหัศจรรย์ และฉันจะแสดงให้นายเห็นเองว่าโพรงกระต่ายนั้นมันลึกแค่ไหน” หรือกล่าวได้ว่า ยาสีน้ำเงินคือภาพแทนของความสงบยอม พ่ายแพ้และใช้ชีวิตต่อไปในโลกอันเซื่องซึมที่เราเคยชิน ยาสีแดงก็เป็นภาพแทนของความกล้าหาญในการตื่นขึ้นสู่ความจริงที่ส่งผลสะเทือนต่อชีวิตของตัวละคร มิหนำซ้ำยังเป็นต้นกำเนิดของการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ในเรื่องด้วย

(อย่างไรก็ดี ความน่าหดหู่ใจประการหนึ่งคือ ชาวกระทู้กลุ่ม TheRedPill ที่หมกมุ่นคลั่งไคล้ในการจะตื่นรู้ต่ออำนาจความเป็นชายสูงสุดของตัวเองและกดเพศอื่นๆ นั้น ไม่ได้รู้เล้ยว่าพี่น้องวาโชวสกี -ซึ่งกำกับหนังที่พวกเขาใช้เป็นแหล่งอ้างอิงและเรียกตัวเอง- เป็นคนข้ามเพศ)

The Matrix (1999)

และกระทู้เหล่านี้เองที่กลายเป็นที่รวมตัวกันของเหล่าอินเซล (incels -involuntary celibate หรือก็คือ กลุ่มคนที่โสดโดยไม่เต็มใจ) อันหมายถึงกลุ่มวัฒนธรรมในโลกอินเทอร์เน็ต มักว่าด้วยบทความหรือกระทู้ที่แสดงความคับข้องใจในการหาคู่รักไม่ได้ โดยมักกล่าวโทษว่าผู้หญิงเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชีวิตพวกเขาย่อยยับ ศูนย์กฎหมาย The Southern Poverty Law Center (SPLC) นิยามกลุ่มอินเซลว่า “เป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิดแบบนิยมความเป็นชายสูงสุด” โซเฟีย สมิธ เกเลอร์ ผู้สื่อข่าวและนักเขียนที่เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว BBC ว่า “คนกลุ่มนี้มองว่าผู้หญิงคือศูนย์กลางของปัญหาทั้งหมด แทนที่จะไปมองว่ารากของปัญหาจริงๆ นั้นมาจากโครงสร้างในสังคมและทัศนคติบางอย่างที่ทำร้ายคนทุกคน และจำนวนมากทีเดียวที่กระจายแนวคิดเกลียดชังต่อผู้หญิง (misogynist), ความรุนแรงและการทำร้ายตัวเอง ในฐานะที่มันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตพวกเขาได้”

อีกหลายปีต่อมา แนวคิดแบบผู้ชายแอลฟาก็แพร่กระจายไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต นิยามคำศัพท์นี้อ้างอิงมาจากการจัดลำดับความสำคัญในสังคมในกลุ่มสัตว์ฝูง โดยตัวที่เป็นผู้นำ -ที่ได้รับความยำเกรงทั้งในสัตว์เพศผู้และเพศเมียในฝูงตัวเอง- มักถูกเรียกว่าแอลฟา โดยการใช้ศัพท์แอลฟาเพื่อแทนภาพความเป็นจ่าฝูงนี้มีมาตั้งแต่ปี 1921 จากตำรานักมานุษยวิทยาที่ศึกษาระบบลำดับขั้นของไก่ โดยแทนไก่ที่เป็นหัวหน้าด้วยตัวอักษรตัวแรกของภาษากรีกคือตัวแอลฟ่า ส่วนตัวอื่นๆ ที่มีลำดับรองลงมาคือเบต้า (beta) ก่อนจะแตกย่อยออกมาอีกหลายประเภทให้จำแนกกันไม่ไหว รวมทั้งผู้ชายแบบซิกม่า (sigma) ซึ่งเป็นนิยามของชายที่มีลักษณะเป็นผู้นำไม่ต่างจากแอลฟ่า เพียงแต่มีนิยมปลีกตัวออกมาจากกลุ่มเพื่ออยู่อย่างสันโดษ มักให้ภาพความเท่อยู่เนืองๆ ว่าเป็น ‘หมาป่าเดียวดาย’ (lone wolf) นับเป็นผู้ชายอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกพิจารณาในหมู่ผู้ชายด้วยกันเองว่าหาได้ยาก (และแม้ว่าชาวชายแทร่หลายคนจะนิยมแสดงผังลำดับอำนาจในสังคมด้วยสัตว์แสนเท่อย่างหมาป่าหรือสิงโต แต่ก็อยากย้ำเตือนอยู่เนืองๆ ว่าเวลาเขาอธิบายประเด็นลำดับความสำคัญในสังคมของสัตว์ฝูง ลิงแมนดริลมักจะถูกยกมาเป็นตัวอย่างเพราะเห็นภาพของการมีจ่าฝูงชัดกว่าจ้า เนื่องจากฝูงมีขนาดใหญ่ และตัวผู้มีขนาดตัวใหญ่กว่าตัวเมีย จุดเด่นคือร่างกายมีสีสันสดใส ทั้งจมูก, แก้ม รวมทั้งก้น -ไงล่ะ เป็นแมนดริลเดียวดายมันไม่เท่อะดิพวก จะชิ่งไปใช้ไก่เดียวดายซึ่งเป็นต้นกำเนิดการใช้ตัวอักษรนี้อีกก็คงเขินไม่ต่าง)

คนที่เป็น ‘ภาพแทน’ ผู้ชายแบบแอลฟาคือ แอนดรูว เทต อดีตนักมวยคิกบ็อกซิง (kickboxing) ที่กลายมาเป็นคนดังในโลกอินเmอร์เน็ตด้วยการแนะแนวคิดค่านิยมของผู้ชายแอลฟา เช่น “วิธีคิดแบบความเป็นชายคือ คุณต้องเข้าใจว่าชีวิตคือสงคราม!” หรือ “ผู้ชายไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย พวกเราต้องมุ่งมั่นเข้าไว้ กำซาบความเจ็บปวดและร้าวราน เพื่อจะได้ครอบครองบางสิ่งในที่สุด” ซึ่งถูกมองว่าเป็นคำพูดที่ยิ่งกระจายแนวคิดแบบความเป็นชายที่เป็นพิษ กล่าวคือมันทำร้ายกลุ่มคนที่สมาทานแนวคิดนี้ด้วยการแนะให้พวกเขาตะบี้ตะบันทำตัวให้เจ็บปวด บีบให้พวกเขาต้องสำแดงความแข็งแกร่ง (นอกจากนี้ เทตยังมีคดีข่มขืนและค้ามนุษย์ยาวเป็นหางว่างอีกด้วย) หรือแม้แต่ตัวสนีโกเองที่มักจัดรายการทางอินเทอร์เน็ต ว่าด้วย ‘ความเป็นช๊าย-ความเป็นชาย’ อยู่บ่อยครั้ง ด้านหนึ่ง ภาพลักษณ์ความเป็นชายในลักษณะนี้จึงมีนัยของการแสวงหาการได้รับการยอมรับจากเพศชายด้วยกันด้วย

แม็กซ์ คัตตอน อดีตนักสู้ศิลปะการต่อสู้แบบผสม (MMA) ให้ความเห็นว่า “คนพวกนี้แหละคือพวกที่พวกผู้ชายธรรมดาๆ ใช้ชีวิตแบบธรรมดาๆ ฝันเห็น พร้อมกันนี้ พวกเขาก็มักจะคิดเอาว่า ‘เราก็เป็นอย่างคนดังพวกนี้ได้เหมือนกันแหละถ้าเรามีทัศนคติที่ถูกต้อง’ น่ะ” เขาบอก “แล้วยังรวมถึงประเด็นทัศนคติทางการเมืองด้วย เพราะไอดอลชาวแอลฟาพวกนี้มักเป็นพวกขวาจัด โฉ่งฉ่าง มีลักษณะ anti-woke ด้วย”

ผู้ชายแบบแอลฟาที่แนบมากับแนวคิดของเทตก็ดี สนีโกก็ดี หรือชาวชายแทร่ชื่อดังในอินเอทร์เน็ตคนอื่นๆ เองก็ดี ด้านหนึ่งล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบแบบที่เห็นได้ด้วยตาเนื้อ รวมทั้งกรณีที่กลุ่มเด็กชายไปมะรุมมะตุ้มสนีโกถ่ายรูปแล้วตะโกนคำพูดแสดงความเกลียดชังต่อเพศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน สำนักข่าว Telegraph รายงานเรื่องราวของคุณแม่กับลูกชายวัย 17 ปีที่ฝ่ายแรกพบว่าลูกชายผู้แสนอ่อนโยนของเธอนั้นเปลี่ยนไป เมื่อเขายืนกรานเรื่องที่ว่าผู้ชายต้องเป็นฝ่ายออกจากบ้านไปหาเงิน และผู้หญิงควรอยู่กับบ้าน โดยเขาจ่ายเงินตกเดือนละ 40 ปอนด์ (ราว 1,776 บาท) เพื่อรับคำสอนหรือแนวคิดจากเทตผ่านมหาวิทยาลัยฮัตส์ตเลอร์ส (Hustlers University) สถาบันที่เทตก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแนะแนวทางให้ผู้คนประสบความสำเร็จในชีวิต และหนึ่งในคำสอนอันหลากหลายของเขาคือการบอกให้ผู้หญิงอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนไป

หรือในอีกด้าน คนดังที่ชาวกระสันอยากจะเป็นแอลฟาจนตัวสั่นยกย่องนั้นก็ไม่ได้เผยแพร่แนวคิดเหยียดเพศอื่นๆ อย่างเทตหรือสนีโกไปเสียหมด หากแต่มักฉายให้เห็นภาพ ‘ความเป็นชาย’ ในอุดมคติ ปฏิเสธชีวิตในระบบและเรียกหาความแข็งแกร่ง ไบรอัน จอห์นสัน หรือที่เป็นที่รู้จักในนาม ราชาตับ (Liver King -ขออภัยที่แปลไทยแล้วเหมือนคนขาดธาตุเหล็ก) ที่มักโปรโมตการใช้ชีวิตแบบคนถ้ำ (ancestral lifestyle) อันหมายถึงการกินเนื้อและเครื่องในสดแบบไม่ปรุงแต่ง และเคยออกมากล่าวอยู่เนืองๆ ว่า “สิ่งที่ผมกังวลคือ ผู้ชายทุกวันนี้ดูอ่อนปวกเปียกมากกันเหลือเกิน”

อย่างไรก็ดี กลับมาที่ตัวสนีโก เขาตอบสนองต่อคลิปวิดีโอเจ้ากรรมนั้นผ่านทวิตเตอร์ว่า “พวกเขายังเด็กอยู่เลยน่าและเห็นชัดๆ ว่าพวกเขาแค่แหย่เล่น ตอนผมอายุ 12 ผมก็เป็นแบบนี้แหละ แต่ถ้าเรื่องนี้มันฟังดูร้ายแรงสำหรับคุณนัก ก็ไปโทษ (ลงรูปธงสีรุ้ง) ที่โรงเรียนพวกเขาสอนเถอะไป๊ ไปโทษสื่อที่ทำให้ผู้ชายดูน่าขายนี้หน้า และจะบอกให้ว่ามันเป็นความผิดคุณล้วนๆ ที่สร้างประเด็นพวกนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เด็กๆ เลย เพราะผู้ชายก็เป็นผู้ชายวันยังค่ำแหละน่า” ปิดท้ายด้วยการลงคลิปวิดีโอเขาซ้อมชกมวย กับข้อความ “อยากเห็นลูกตัวเองอยู่ในขบวน (ลงรูปธงสีรุ้ง) หรือในยิมล่ะ” เรื่องชวนหัวต่อมาคือ มีคนเข้าไปแสดงความเห็นใต้คลิปนี้ถล่มทลายว่า กูเป็นเกย์ค่ะและกูก็ไปทั้งขบวนสีรุ้งและในยิมนี่แหละ, เอ็งลองไปเดินในขบวนไพรด์ดูดิ เผื่อจะได้เห็นว่ากล้ามเนื้อเป็นมัดๆ มันหน้าตายังไง, เกย์กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่ฉันรู้จักก็หุ่นดีกว่าคุณทั้งนั้นอะ, ทรงเหมือนเพิ่งเคยเข้ายิมออกกำลังกายครั้งแรกก็ไม่น่ามาขิงใครนะเราน่ะ ฯลฯ

มีหลายคนที่ตั้งข้อสังเกตว่า ไอดอลแบบผู้ชายแอลฟาเหล่านี้ขายภาพลักษณ์ของความเป็นชายอันเปี่ยมเสน่ห์ให้แก่เหล่าคนหนุ่ม คนรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าพวกเขาถูกผลักให้ออกมาอยู่ตรงชายขอบของสังคมสมัยใหม่ ความรู้สึกแปลกแยกและเป็นอื่นนี้ (หรือสำหรับบางคน อาจใช้คำว่า ‘พ่ายแพ้’) บีบให้พวกเขาเฝ้ามองหาตัวตนและภาพฝันที่อยากเห็นตัวเองเป็นเพื่อกลับไปมีตำแหน่งเป็นจ่าฝูง มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กเคยทำสำรวจและพบว่า กลุ่มผู้ชายที่อายุน้อยกว่า 30 ปีมีแนวโน้มที่จะยอมรับสิทธิสตรีได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ชายที่อายุมากกว่า และมักพิจารณาว่าความสำเร็จของผู้หญิงนั้นเป็นอุปสรรคต่อพวกเขา รวมทั้งบทบาทเช่นนี้ยังเป็นเสมือนการกีดกันทางเพศอีกรูปแบบหนึ่งในสังคมสมัยใหม่

นอกจากนี้ สังคมที่บีบเค้นผู้คน -ทุกเพศ ทุกวัยและแทบทุกสถานะ- รุนแรงอย่างทุกวันนี้ยิ่งทำให้คนมองชีวิตในแง่ลบมากขึ้น กล่าวคือหากพิจารณาจากตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาในสังคมแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าพวกเขารู้สึกไม่มีตัวตน ไม่ประสบความสำเร็จใดๆ ความลักลั่นคือพวกเขาพร้อมจะกล่าวโทษคนอื่นมากกว่าสภาพสังคมที่บีบลูกกระเดือกพวกเขาอยู่ เพราะการโทษสังคมเป็นหนทางที่แสนจะไม่แอลฟา พวกเขามีแนวโน้มจะหมกมุ่นกับการพัฒนาตัวเองเพื่อไต่อันดับไปอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่ในสังคมที่บิดเบี้ยว เนื่องจากในสภาพสังคมอันเหลื่อมล้ำเช่นนี้ไม่เปิดโอกาสให้คนจำนวนมากได้ ‘เข้าถึง’ ทรัพยากรหรืออยู่ปลายยอดของห่วงโซ่นัก การกระเสือกกระสนขึ้นไปได้จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางพิสูจน์ความเป็นชายของพวกเขา และเหล่าคนดังขวัญใจชาวแอลฟาวัลลาบีก็ฉกฉวยเอาความรู้สึก ‘เปราะบาง’ ตรงนี้มาขายคอร์สหากิน

พูดอย่างหยาบที่สุด เราทุกคนล้วนเป็นเหยื่อของสภาพสังคมบิดเบี้ยวเช่นนี้ และแนวคิดบางประการก็มีแต่จะเค้นคอกลุ่มคนหนุ่มให้ใช้ชีวิตให้ลำบากเข้าไว้เพื่อพิสูจน์ความเป็นชายของตัวเอง ความเป็นชายซึ่งถูกทำให้เป็นสิ่งที่ได้มาอย่างยากลำบากและเมื่อได้มาแล้วต้องสำแดงให้โลกเห็น เป็นเสียงคำรามของความเป็นชายอันแสนเปราะบางว่า “โฮกปิ๊บ” (แง้)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save