fbpx

วิถีเจ้าพ่อแห่งซาราวัก

ภาพประกอบ: Universiti Malaysia Sarawak (UNIMAS) / Flickr

อับดุล ไทบ์ มาห์หมูด (Abdul Taib Mahmud) ผู้ยิ่งใหญ่แห่งรัฐซาราวัก (Sarawak) ในวัย 87 ปี หายใจเฮือกสุดท้ายเมื่อเช้ามืดวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทิ้งทรัพย์สมบัติและอิทธิพลล้นเหลือไว้เบื้องหลัง แม้จะเปี่ยมด้วยอำนาจวาสนา แต่วาระสุดท้ายของเขากลับขลุกขลักอย่างแปลกๆ

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนเขาเสียชีวิต นายแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในซาราวักรุดเข้าแจ้งตำรวจว่า ไทบ์ มาห์หมูด ถูกสมาชิกในครอบครัวผู้หนึ่งลักพาตัวอย่างอุกอาจด้วยการบุกเข้าห้องไอซียู ปลดเครื่องมือแพทย์ออกจากตัว และพาเขานั่งรถเข็นออกจากโรงพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรากฏภายหลังว่าบุคคลผู้นั้นคือภรรยาสาวคราวลูกชาวซีเรียของเขาเองผู้ออกแถลงการณ์ภายหลังว่าตนเพียงต้องการให้สามีพักผ่อนอย่างสบายที่บ้านมากกว่า แต่ด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ท้ายที่สุดไทบ์ผู้ปวกเปียกเต็มทีถูกส่งไปกัวลาลัมเปอร์และเสียชีวิตที่นั่น ภาพหลุดของเขาขณะนอนแบบอยู่บนเตียงมีหน้ากากออกซิเจนครอบบนใบหน้าเป็นภาพอันน่าเวทนา ไร้ราศีเจ้าพ่ออย่างสิ้นเชิง    

ชาวซาราวักรู้ดีว่าเรื่องวุ่นๆ ครั้งนี้เป็นแค่เศษเสี้ยวของศึกสายเลือดในครอบครัวของไทบ์ ซึ่งถ้าพิจารณาระดับความมั่งคั่งของเขาแล้วน่าจะดุเด็ดเผ็ดมันยิ่งนัก 

ใน พ.ศ. 2555 องค์กร Bruno Manser Fund (BMF) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนในสวิตเซอร์แลนด์ โดยตั้งชื่อตามนาย บรูโน มานเซอร์ (Bruno Manser) นักสิ่งแวดล้อมและนักสิทธิมนุษยชนชาวสวิสที่หายตัวไปในซาราวักเมื่อ พ.ศ. 2543 ประเมินทรัพย์สินของไทบ์และครอบครัวอันประกอบด้วยพี่น้องและบุตรธิดาจากภรรยาเก่าสี่คนอยู่ที่ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 747,390 ล้านบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) แต่ความรวยของไทบ์เป็นความรวยแบบไม่เป็นทางการ ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ชื่อของเขาหลุดรอดการสำรวจของนิตยสาร Forbes ไปอย่างน่าแปลกใจ ทั้งๆ ที่ตัวเลขความมั่งคั่งของเขามีมากกว่าราชาน้ำตาล โรเบิร์ต ก๊วก (Rebert Kuok) ผู้ซึ่ง Forbes จัดให้เป็นบุคคลที่มั่งคั่งที่สุดของมาเลเซียด้วยทรัพย์สินมูลค่า 12,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (441,316 ล้านบาท) ในปีเดียวกัน

รัฐซาราวักเป็นพื้นที่ป่าฝนอุดมสมบูรณ์บนชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นเกาะทางตะวันออกของมาเลเซีย เป็นรัฐที่มีขาดใหญ่ที่สุดของประเทศโดยมีพื้นที่ใหญ่เกือบเท่าแผ่นดินใหญ่หรือคาบสมุทรมลายูอันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงและรัฐอื่นๆ อีกหลายรัฐ ซาราวักหรือ ‘ดินแดนแห่งราชาผิวขาว’ (Land of the White Rajahs) มีประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนใคร เพราะโชคชะตานำพาให้เจมส์ บรูก (Sir James Brooke) นักผจญภัยชาวอังกฤษ ช่วยสุลต่านบรูไนเจ้าของดินแดนในขณะนั้น ได้รับรางวัลเป็นพื้นที่ที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากร และตั้งตนเป็นราชาสืบทอดทายาทนั่งบัลลังก์ปกครองคนท้องถิ่นระหว่าง ค.ศ. 1841–1946 ทรัพย์ในดินสินในน้ำของซาราวักอันประกอบไปด้วยป่าไม้สร้างความร่ำรวยให้ราชวงศ์บรูกในเวลานั้น เช่นเดียวกับป่า แหล่งน้ำมัน และปาล์มน้ำมัน เป็นที่มาของความร่ำรวยของผู้มีอำนาจซาราวักยุคปัจจุบันเช่นไทบ์

ไทบ์ก้าวสู่การเมืองซาราวักครั้งแรกหลังจบการศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียเมื่อ พ.ศ. 2506 ตามคำชักชวนของ อับดุล ราห์มาน ยาคูบ (Abdul Rahman Ya’kub) ผู้เป็นลุงซึ่งเป็นนักการเมืองใหญ่ของรัฐ ไทบ์เข้าเป็นสมาชิกพรรค Barisan Ra’ayat Jati Sarawak (Berjasa) เขาได้รับเลือกเป็น สส. ของสภาฯ แห่งรัฐ แล้วได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารและแรงงาน (Communication and Works) อย่างรวดเร็วทันใจในปีเดียวกัน และย้ายไปนั่งเก้าอี้กระทรวงสำคัญในการหาทุนทรัพย์ในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาและป่าไม้ (Development and Forestry) ในอีกสองปีต่อมา

ไทบ์เป็นหนึ่งในดาวรุ่งพุ่งแรงในเวทีการเมืองทั้งในระดับรัฐและระดับชาติ เขาชนะเลือกตั้งเป็น สส.ของรัฐบาลกลางระดับประเทศในปี 2543 ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการและช่วยว่าการระดับชาติหลายกระทรวง เขาให้เวลา 10 ปีในการเมืองระดับชาติ แต่ถึงจะได้รับตำแหน่งแห่งหนในรัฐบาลกลางเพียงใด เขาคงบรรลุสัจธรรมว่า “เป็นหัวสุนัขดีกว่าเป็นหางราชสีห์” ไม่มีวันที่เขาจะก้าวขึ้นเป็นนักการเมืองระดับยักษ์ของประเทศได้ในเมื่อพรรคของเขาเป็นเพียงพรรคท้องถิ่นจากภาคตะวันออก ในขณะที่ราชสีห์เช่นคนอย่างมหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) และอื่นๆ ล้วนเป็นแม่ทัพของพรรคระดับชาติที่พร้อมเสมอสำหรับศึกใหญ่ ไทบ์จึงอำลากัวลาลัมเปอร์กลับซาราวัก ลงสมัครเลือกตั้งซ่อมในเก้าอี้ สส.ระดับรัฐได้ชัยชนะอย่างไร้คู่แข่ง ประกาศศักดาการมาถึงของเจ้าพ่อคนใหม่

หลังการเลือกตั้ง ไทบ์เข้ารับตำแหน่งมุขมนตรี (Chief Minister) หรือผู้นำรัฐบาลของรัฐที่เปรียบได้กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลกลาง โดยราห์มานผู้เป็นลุงโยกตำแหน่งตนเองไปเป็นผู้ว่าการรัฐ (Governor หรือ Yang Dipertua Negeri) หรือประมุขของรัฐที่ไม่มีอำนาจบริหาร ไทบ์อยู่ในตำแหน่งมุขมนตรีสิริรวมทั้งหมด 33 ปี ทำลายสถิติของมหาเธร์ผู้อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกัน 22 ปี 

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก พ.ศ. 2557 กลายเป็นปีของความเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิตเขา สมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งจัดการให้ไทบ์แต่งงานกับสาวงามอดีตแอร์โฮสเตสชาวซีเรียหลังภรรยาคนแรกเสียชีวิตหนึ่งปีก่อนหน้า เขาสละตำแหน่งมุขมนตรี และเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแทนราห์มานผู้เป็นลุง

ชีวิตการเมืองของไทบ์ไม่ได้ราบเรียบไร้อุปสรรค แต่ดูเหมือนว่าเขามีฝีมือในการกำจัดขวากหนามได้อย่างเหี้ยนเตียนเด็ดขาด หนึ่งในปัญหาคือลุงผู้มีพระคุณของเขาเองที่ถูกกดดันให้สละเก้าอี้ผู้ว่าการรัฐให้เขา แต่นักการเมืองใหญ่อย่างราห์มานก็ไม่ได้ยอมง่ายๆ ศึกสายเลือดจึงเกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนที่ไทบ์จะสละตำแหน่งมุขมนตรี โดยนักการเมืองผู้ภักดีของคุณลุงชุมนุมกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งในซาราวักเพื่อเตรียมแผนอภิปรายไม่ไว้วางใจเขา ไทบ์แก้ลำด้วยการประกาศยุบสภาฯ กะทันหัน ประกาศเลือกตั้งใหม่ และชนะเลือกตั้งขาดลอย 

หลังจากนั้น ผู้สนับสนุนคนสำคัญๆ ของราห์มานบางรายถูกจับกุมภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายใน (Internal Security Act) ในขณะนั้น ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับกุมและคุมขังผู้ต้องหาได้ครั้งละสองปีโดยไม่ต้องขึ้นศาล ผู้สนับสนุนบางรายหนีออกนอกประเทศ สิ้นสุดอำนาจของราห์มาน ‘The Man Who Would Be King’ ตามคำเรียกขานของสื่อมวลชนบางราย แต่เวลาผ่านไปลุงและหลานก็พร้อมใจกันลืมความหลัง ราห์มานให้สัมภาษณ์ในวันเกิดครบรอบ 80 ปีของตนว่า “มันไม่ใช่เรื่องใหญ่” 

ซาราวักในยุคที่ไทบ์เป็นมุขมนตรีเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วตามกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เขาได้รับฉายา ‘Timber King’ แห่งซาราวัก ผู้มีอิทธิพลต่อการให้สัมปทานอุตสาหกรรมไม้และปาล์มน้ำมัน มีงานศึกษามากมายในต่างประเทศเกี่ยวกับโครงสร้างและผลกระทบของอุตสาหกรรมป่าไม้และสวนปาล์มน้ำมันในซาราวัก หนึ่งในนั้นคือรายงานของ Global Witness ในปี 2556 ชี้ว่าป่าฝนในซาราสักเหลือเพียงร้อยละ 5 ของพื้นที่หลังจากที่ไทบ์ มาห์หมูด นั่งในตำแหน่งมุขมนตรีได้ 30 ปี โดยบริษัทไม้หลายบริษัทอยู่ในความครอบครองของตระกูลเขา

รัฐบาลรัฐซาราวักในยุคของไทบ์ลงทุนในเมกะโปรเจกต์หลายโครงการเช่น Sarawak Corridor of Renewable Energy (SCORE) ที่เป็นโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ 10 แห่ง รวมทั้งเขื่อน ‘บาคุน’ (Bakun Dam) อันอื้อฉาวในฐานะโครงการที่ทำลายป่าและวิถีชีวิตคนพื้นเมืองอย่างรุนแรง การสร้างเขื่อนทำให้ต้องอพยพชนพื้นเมืองกว่า 10,000 คนออกจากพื้นที่ งานวิชาการบางชิ้นชี้ว่ามีทำลายพื้นที่ป่าอย่างไม่อาจฟื้นฟูได้ราว 69,640 เฮกตาร์ (กว่า 696 ตารางกิโลเมตร) ทั้งหมดนี้เพื่อนำกระแสไฟฟ้าไปป้อนอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ ของรัฐบาลซาราวักที่ต้องการกระแสไฟฟ้าในปริมาณมหาศาล  นอกจากนี้ นโยบายปลูกปาล์มน้ำมันก็เป็นอีกตัวการใหญ่ที่ทำลายป่าฝนและอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ ทั้งหมดนี้สร้างความขัดแย้งกับชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่มที่ต้องใช้พื้นที่ในการยังชีพ นำไปสู่คดีฟ้องร้องหลายคดี และแม้ว่าไทบ์จะลาโลกไปแล้ว แต่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลซาราวักกับชนพื้นเมืองก็ยังมีอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากไทบ์จะถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำลายทรัพยากรของซาราวักแล้ว ยังมีข้อกล่าวหาเรื่องพฤติกรรมทุจริตและใช้ตำแหน่งมุขมนตรีเอื้อประโยชน์ให้สมาชิกในครอบครัว ซึ่งเขายืนยันปฏิเสธและรอดตัวมาตลอดชีวิต 

สมาชิกในครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของบริษัทใหญ่ในซาราวักหลายบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจน้ำมัน ไม้ เหล็ก และอสังหาริมทรัพย์ ใน พ.ศ. 2557 BMF รายงานว่าเขาและครอบครัวเป็นเจ้าของบริษัทในมาเลเซียรวมกันราว 333 บริษัท และในต่างประเทศอีกราว 418 บริษัท ขณะที่สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 14 บริษัทของมาเลเซียเพียงอย่างเดียวนั้นมีมูลค่าประมาณ 3,950 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ราว 29,783 ล้านบาท) แต่ทั้งหมดนี้เพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งทั้งหมด

อันที่จริงเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและผลประโยชน์ของครอบครัวไทบ์เป็นเรื่องเดียวกัน แม้ว่าไม่มีใครสามารถขุดคุ้ยกรณีต่างๆ ออกมาตีแผ่ได้สำเร็จ แต่มีตัวอย่างใน พ.ศ. 2560 จากการสืบสวนขององค์กร BMF ที่พบความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Sakto Group ของ ซามิลลาห์ ไทบ์  (Jamilah Taib) บุตรสาวของเขาและสามี กับการทุจริตในอุตสาหกรรมตัดไม้ในซาราวัก เป็นเหตุให้เธอยื่นฟ้องหมิ่นประมาทต่อ BMF ที่ศาลประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และยังเป็นคดีที่ต่อเนื่องอยู่ในปัจจุบัน 

การขัดผลประโยชน์บริษัททำไม้ที่มีเส้นมีสายในซาราวักอาจเป็นความเสี่ยงถึงชีวิต นอกจากกรณีนาย บรูโน มานเซอร์ ชาวสวิสที่หายตัวไปในซาราวักใน พ.ศ. 2543 และคาดว่าเสียชีวิตแล้ว ในวันที่ 21 มิถุนายน 2559 บิล กายอง (Bill Kayong) นักสิ่งแวดล้อมชาวมาเลเซียก็ถูกยิงเสียชีวิตขณะที่รถปิ๊กอัปที่เขาขับติดไฟแดงอยู่กลางสี่แยกของเมืองมีรี (Miri) ในซาราวัก ก่อนที่ใน พ.ศ. 2565 ศาลแห่งสหพันธรัฐ (Federal Court) ตัดสินประหารชีวิตนาย โมฮัมหมัด ฟรีตรี เฟาซี (Mohamad Fitri Pauzi) แต่ผู้ถูกกล่าวหาจ้างวานฆ่าซึ่งเป็นเจ้าของและทายาทของบริษัทไม้ในมีรีอีกสามรายกลับพ้นโทษไปก่อนคดีถึงศาลสูงสุด 

ปัญหาทำลายป่าฝนและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซาราวักเป็นเรื่องที่นักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกรับรู้ เมื่อปี 2559 มหาวิทยาลัย Adelaide แห่งออสเตรเลียซึ่งไทบ์เข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ ตัดสินใจปลดป้ายชื่อของเขาที่ติดไว้เหนือห้องประชุมแห่งหนึ่งของคณะออก ป้ายนี้จัดทำเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาในฐานะผู้บริจาคเงินคนสำคัญจำนวน 400,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือ 1.2 ล้านริงกิตมาเลเซียในเวลานั้นให้แก่มหาวิทยาลัย BMF กับองค์กรสิ่งแวดล้อม Bob Brown Foundation ในออสเตรเลีย โดยการกดดันให้ปลดป้ายเชิดชูเกียรติเขานี้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสองปี เรื่องนี้ยังทำให้ ส.ส. พรรคกรีน (Green Party) คนหนึ่งหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นอภิปรายในรัฐสภาออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน ชนพื้นเมืองเผ่า Penan ในซาราวักยังยื่นจดหมายถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัย เรียกร้องให้คืนเงินบริจาคจำนวนดังกล่าวให้ซาราวัก เนื่องจากมีความต้องการเงินนี้เร่งด่วนเพื่อการพัฒนาชนบทและผืนป่าของซาราวัก อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่มีคำตอบจากมหาวิทยาลัย Adelaide

ในมาเลเซียเอง แม้ไทบ์จะเผชิญข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตหลายครั้ง แต่ทุกครั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตมาเลเซีย (Malaysian Anti-Corruption Commission: MACC) ไม่สามารถหาหลักฐานมัดตัวเขาได้ ใน พ.ศ. 2561 หลิว วุ่ย เกียง (Liew Vui Keong) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงในสภาฯ ว่า ที่ผ่านมา MACC ดำเนินการสอบสวนกรณีทุจริตของไทบ์มาแล้ว 15 ครั้ง รวมทั้งใน พ.ศ. 2556 ที่เปิดแฟ้มสอบสวนจากข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตและใช้อำนาจในทางที่ผิดที่ปรากฏในสื่อต่างประเทศและการร้องเรียนขององค์กรพัฒนาเอกชนในซาราวัก อย่างไรก็ตาม ไม่มีครั้งใดที่สำนักงานอัยการสูงสุดพบว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะส่งฟ้องเขาได้ 

ฐานะของไทบ์สะท้อนภาพระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ (Federation) ของมาเลเซีย ที่ทำให้เขามีอำนาจในการจัดการกิจการของรัฐมุขมนตรีของรัฐอื่นๆ แม้มาเลเซียทั้งประเทศจะอยู่ในระบบสหพันธรัฐที่แต่ละรัฐมีการเลือกตั้งรัฐบาลระดับรัฐของตน แต่รัฐซาบาห์ (Sabah) และซาราวัก (Sarawak) ได้รับระดับของสิทธิการปกครองตนเอง (Autonomy) ที่มากกว่ารัฐอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการควบคุมพรมแดน รายได้ของรัฐ และอำนาจทางกฎหมายเหนือการจัดสรรทรัพยากร ในขณะที่มุขมนตรีของรัฐอื่นๆ เป็นสมาชิกพรรคการเมืองระดับชาติ และต้องเดินตามแนวนโยบายของพรรคที่ตั้งอยู่ส่วนกลาง ไทบ์และมุขมนตรีคนอื่นๆ ของซาราวักมาจากพรรคการเมืองในซาราวักที่พวกเขาเป็นผู้นำพรรคเอง

ซาบาห์และซาราวักไม่ได้มีส่วนร่วมทางประวัติศาสตร์กับอดีตรัฐอาณานิคมอังกฤษในคาบสมุทรมลายาก่อนรวมตัวเป็นประเทศมาเลเซีย ทางเดินของซาราวักมาบรรจบกับมลายาใน พ.ศ. 2489 เมื่อชาร์ลส บรูก (Charles Brooke) ทายาทตระกูลบรูกยินยอมต่อแรงกดดัน ขายซาราวักให้อาณานิคมอังกฤษโดยแลกกับค่าตอบแทน ทำให้ดินแดนตรงนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างชาติมาเลเซียที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษสนับสนุนก่อนถอนตัวจากมลายา ก่อนที่เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2506 รัฐต่างๆ ได้รวมตัวก่อตั้งสหพันธ์แห่งมาเลเซีย (Federation of Malaysia) ที่ต่อมาคือประเทศเกิดใหม่นามว่ามาเลเซีย

การเจรจาให้ซาราวักเข้าร่วมกับสหพันธ์ฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย กลุ่มผู้นำจากซาราวักหยิบประเด็นขึ้นต่อรองหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็น  การปกป้องวิถีชีวิตและขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของคนท้องถิ่น ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจกับมลายา และอำนาจตัดสินใจด้านทรัพยากร ในที่สุดผู้นำซาราวักจึงยินยอมเซ็นข้อตกลง ‘Malaysia Agreement’ และเข้าร่วมกับสหพันธ์เต็มตัวนับแต่ พ.ศ. 2508

เวลาผ่านมาร่วม 60 ปี ซาราวักยังคงแปลกแยกจากมาเลเซีย และรู้สึกอิหลักอิเหลื่อในการยอมรับว่าเป็นรัฐหนึ่งของมาเลเซียเต็มตัว นักการเมืองและนักกิจกรรมชาวซาราวักบางกลุ่มมักสะท้อนความรู้สึกของตนเป็นครั้งคราวว่ามาเลเซียไม่ได้รักษาสัญญาที่ให้ไว้เมื่อปี 2506 อย่างจริงจัง สิทธิและศักดิ์ศรีของชาวซาราวักไม่ได้รับการดูแลตามสัญญาที่เซ็นกันเอาไว้  ตัวอย่างเช่น แม้ว่าแหล่งน้ำมันและก๊าซในซาราวักจะนับได้ถึงหนึ่งในสี่ของน้ำมันและก๊าซสำรองของประเทศ แต่ส่วนแบ่งของการขุดเจาะน้ำมันที่ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2517 โดยบริษัทเปโตรนาสระหว่างซาราวักกับรัฐบาลกลางเป็นสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรม ชาวซาราวักยังมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคนในส่วนอื่นๆ ของประเทศ ในขณะที่ชาวซาราวักบางกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลกลางแก้ไขถ้อยคำในรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงให้ฐานะของซาราวักเท่าเทียมกับคาบสมุทร และในประเด็นอื่นๆ บางกลุ่มก็เรียกร้องให้ซาราวักแยกตัวออกเป็นประเทศอิสระ 

ในทางการเมืองระดับประเทศ ซาบาห์และซาราวักมีความสำคัญอย่างสูงต่อการก่อตั้งและความอยู่รอดของรัฐบาลมาเลเซีย  ไม่ว่าจะมาจากขั้วการเมืองไหนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ไม่มีแนวร่วมพรรคการเมืองใดที่มีเสียงส่วนมากในสภาฯ เช่นการก่อตั้งรัฐบาลครั้งล่าสุด ในห้วงของความไม่แน่นอนว่าขั้วการเมืองใดจะสามารถรวบรวมเสียงข้างมากจากที่นั่งทั้งหมด 222 ที่นั่งในสภาฯ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดใน พ.ศ. 2565 แนวร่วมพรรคการเมือง Gabungan Parti Sarawak (GPS) จากซาราวักซึ่งมีพรรคของไทบ์ มาห์หมูดเป็นหัวเรือใหญ่ นำ สส. ทั้งหมด 23 ร่วมรัฐบาล เป็น King Maker ให้แนวร่วมปากาดัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan) จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ส่งให้ อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากการรอคอยมานับสิบปี

แต่ซาราวักยังคงเป็นซาราวักที่ถือไพ่ของตนไว้แนบอก รอจังหวะเหมาะเพื่อต่อรองอย่างที่เคยทำมาในประวัติศาสตร์ ในงานฉลองวัน Malaysia Day เมื่อวันที่ 16 กันยายนปีที่แล้วที่เมืองกุชิง (Kuching) เมืองหลวงของซาราวัก อาบัง โจฮารี (Agang Johari) ประธานแนวร่วม GPS ประกาศว่าแนวร่วมของเขาจะสนับสนุนนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ไปจน ‘ถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป’ และหยอดประเด็นการเรียกร้องของซาบาห์และซาราวักว่า แม้ซาบาห์และซาราวักยังมีหลายประเด็นที่ยังติดค้าง (อยู่กับรัฐบาลกลาง) โดยเฉพาะเรื่องข้อตกลง Malaysia Agreement ค.ศ. 1963 แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐทั้งสองจะทำงานร่วมกับรัฐบนคาบสมุทรมลายาเพื่อประโยชน์ของประเทศไม่ได้

ซาราวักสำคัญต่อรัฐบาลอันวาร์เพียงใด เห็นได้จากจำนวนรัฐมนตรีบวกกับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรีชุดแรกหลังการเลือกตั้ง โดยแนวร่วม GPS มี สส. ทั้งหมด 7 ราย ที่ได้รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น 9 ตำแหน่ง จากคนในคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 43 คน

ทันที่ที่ข่าวการเสียชีวิตของไทบ์แพร่ออกไป องค์กร BMF ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียระงับการทำธุรกรรมในทรัพย์สินของไทบ์และเปิดแฟ้มสืบสวนกรณีความร่ำรวยผิดปกติของเขาและครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง

แต่ความหวังของ BMF ยังไม่น่ามาถึงเมื่อพิจารณาจากแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ในนามของรัฐบาลแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของไทบ์ มาห์หมูด และชาวซาราวักทั้งปวง 

“พวกเรา (ประชาชน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวซาราวัก ได้สูญเสียรัฐบุรุษผู้เป็นที่เคารพยิ่ง การรับใช้และอุทิศตนเพื่อประเทศชาติและเพื่อรัฐซาราวักของผู้ที่จากไปจะได้รับการจดจำตลอดไป” นายกฯ อันวาร์กล่าวในแถลงการณ์

ดูเหมือนว่าทั้งประเทศมาเลเซียจะมีแค่คนเดียวที่พอจะล้างแค้นให้ผู้เสียหายจากการกระทำของไทบ์ได้บ้างแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยไร้สาระ คนผู้นั้นคือ ราการ์ด เคอร์ดี ไทบ์ (Ragad Kurdi Taib) ภรรยาต่างชาติสาวสวยผู้ลักพาตัวสามีเป็นตัวประกัน สร้างความขบขันให้ใครต่อใครหลายคนในวาระสุดท้ายของเจ้าพ่อ


เอกสารประกอบ

https://www.malaysiakini.com/news/696915

https://www.malaysiakini.com/news/695353

https://www.aljazeera.com/news/2019/10/10/real-tensions-malaysias-oil-rich-borneo-states-flex-muscles

https://constitutionnet.org/news/restoring-constitutional-equality-sabah-and-sarawak-do-proposed-amendments-malaysian-federal

https://www.malaysianow.com/news/2023/09/17/gps-to-support-govt-until-next-general-election

https://www.nst.com.my/news/nation/2024/02/1015844/sarawak-has-lost-respected-statesman-says-anwar-taibs-passing

https://www.theguardian.com/environment/2017/mar/24/in-malaysia-how-protecting-native-forests-cost-an-activist-his-life

https://www.globalwitness.org/en/campaigns/forests/inside-malaysias-shadow-state/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save