fbpx
101 One-On-One Ep.188 : “ปฏิรูปรัฐ – ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด-19” กับ นิพนธ์ พัวพงศกร

“ปฏิรูปรัฐ – ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด-19” กับ นิพนธ์ พัวพงศกร

กองบรรณาธิการ เรื่อง

 

แม้ประเทศไทยจะยังไม่เจอการระบาดรอบที่สองของโควิด-19 แต่เศรษฐกิจไทยก็เสียหายอย่างหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ในรอบแรก ชนิดที่ไม่มีใครกล้าคิดถึงการระบาดและการล็อกดาวน์อีกครั้ง

ท่ามกลางความสาหัสของเศรษฐกิจ ภาครัฐและเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทกลายเป็นความหวังเดียวของสังคมที่จะประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อได้ แต่คำถามมีอยู่ว่า รัฐไทยมีศักยภาพเพียงพอในการรับบทบาทนี้หรือไม่ อย่างไร

101 สนทนากับ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รัฐไทยต้องถูกปฏิรูปอย่างไรเพื่อรับมือวิกฤต / โครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ควรเป็นแบบไหน / เงินกู้ 1 ล้านล้านต้องใช้อย่างไร / และรัฐควรทำอะไรอีกบ้างเพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤตได้ดีกว่านี้

 

YouTube video

 

:: เศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วง ::

 

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

 

แม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะดูเหมือนติดลบน้อยลง แต่เศรษฐกิจไทยกำลังน่าเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจของเราพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก เราเคยมีนักท่องเที่ยวประมาณ 40 ล้านคนต่อปี ถ้าการท่องเที่ยวไม่ฟื้น คนจำนวนมากจะเดือดร้อน ธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและกลางอาจต้องล้มละลาย

แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีแผนต่างๆ มาช่วย แต่เป็นเพียงการประคองไประยะหนึ่งเท่านั้น ถ้าธุรกิจเดินไม่ได้ การจ้างงานไม่มี ก็ต้องปลดคนงานออก คนงานที่เดือดร้อนและน่ากังวลคือคนที่การศึกษาน้อย โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษาระดับไม่เกินมัธยมปลาย คนกลุ่มนี้อยู่ในภาคบริการมาก หรือกระทั่งภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์บางส่วนก็พึ่งพาแรงงานกลุ่มนี้

โครงการแจกเงินของรัฐบาลนั้นเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนระยะสั้นเท่านั้น งบประมาณ 4 แสนล้านบาท แจกไปแล้วสำหรับคนทุกกลุ่มประมาณ 30 ล้านคน แต่มีข้อสังเกตว่าอาจยังมีคนจนที่เข้าไม่ถึงเงินส่วนนี้จริงๆ เพราะว่าต้องใช้สมาร์ตโฟนในการลงทะเบียน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ากว่า 60% เป็นคนที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนกลุ่มนี้ต้องปากกัดตีนถีบ เป็นคนเดือดร้อนมากที่สุด

มีตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด พวกเขากลับไปกู้เงิน ธกส. เพื่อลงทุนทำการเกษตรที่ต่างจังหวัด คนกลุ่มนี้มีอาชีพเดิมคือทำอาหารอยู่ในภาคการท่องเที่ยวประมาณ 8.5 แสนคน อีกกลุ่มเป็นหมอนวดประมาณ 1 แสนคน คนกลุ่มนี้เขาหนีความยากจนจากที่บ้านไปนานแล้ว เขาเข้ามาหางานในเมืองเพื่อต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เขาแทบไม่มีทักษะด้านการเกษตรอีกแล้ว และธุรกิจด้านการเกษตรสมัยนี้ไม่ง่ายอีกต่อไปแล้ว ถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้นคนกลุ่มนี้จะไปอยู่ที่ไหน

รายได้จากการท่องเที่ยวที่ผ่านมาของไทย 2 ใน 3 มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ทำไมเราถึงไม่กล้ารับนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีจำนวนมากเข้ามา เราต้องกล้ารับพวกเขาเข้ามาโดยไม่กักตัว แต่ต้องมีการทดสอบและมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มข้น ตรงนี้จะช่วยชีวิตคนจำนวนมากในประเทศไทย โดยเฉพาะคนที่ตกงานและกำลังจะตกงาน

วันนี้รัฐบาลมีนโยบายกู้เงินมาจ้างคนไทยเที่ยว แต่ถ้าเราเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา เราไม่ต้องจ้างและยังได้เงินด้วย

 

:: ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ::

 

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

 

ด่านแรกของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในเวลานี้คือการแก้ปัญหาคนว่างงานและแก้ปัญหาธุรกิจล้มละลาย ขณะเดียวกันก็ปรับทักษะของแรงงานไปด้วย การจะทำจุดนี้ต้องห้ามภาคราชการเข้ามาทำ เพราะภาคราชการทำไม่เป็น ต้องให้ภาคธุรกิจทำร่วมกับมหาวิทยาลัย จากนั้นมีการประเมินผล เมื่อคุณจบหลักสูตรแล้ว คุณมีความสามารถจริง มีสมรรถนะจริงหรือไม่ และหลังจากนั้นคุณได้งานภายในกี่เดือน ทั้งหมดนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าภายใน 6 เดือนหรือ 1 ปี

หลังการประคองเศรษฐกิจ เมื่อมีเงินเหลือเราก็เริ่มต้นการฟื้นฟู ประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก เราต้องมีเศรษฐกิจแบบเปิด เพราะถ้าเราอยากมีฐานะที่ดีขึ้น เราต้องค้าขายมากขึ้น พูดง่ายๆ ว่าต้องเปิดประตูค้าขายมากกว่าที่ผ่านมา

ปัญหาคือขณะนี้เศรษฐกิจไทยพึ่งพาบางสาขาหนักเกินไป โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว คิดเป็น 18% ของจีดีพี ซึ่งเป็นสาขาที่ไม่ค่อยปรับตัว ในขณะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง การเมืองเปลี่ยนแปลง นิสัยการบริโภคของคนเปลี่ยนแปลง ขณะที่บรรดาสมาคมการท่องเที่ยวก็รู้ถึงปัญหาแล้วว่าที่ผ่านมาเราเน้นการท่องเที่ยวเชิงปริมาณมากเกินไป ซึ่งจำเป็นต้องปรับให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น เช่นการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ แนวทางเช่นนี้ต้องปรับทักษะของคนจำนวนมาก

อีกภาคส่วนที่ไม่ค่อยปรับตัวก็คือภาคการเกษตร ที่ผ่านมารัฐบาลอุดหนุนจนเคยตัว แม้ว่าบางครั้งเมื่อราคาพืชผลดีขึ้นแล้วก็ตาม เกษตรกรก็ยังเรียกร้องให้รัฐบาลอุดหนุนอยู่ ถ้าเราไปดูสหภาพยุโรป เวลารัฐจะอุดหนุนภาคการเกษตร รัฐต้องประเมินและมีเงื่อนไขมาก รัฐจะไม่เป็นฝ่ายบอกว่าเกษตรกรต้องทำอะไร เพียงแต่ให้ข้อมูลเท่านั้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจและเรียนรู้ความผิดพลาดของตนเองได้เพื่อการปรับตัวอย่างแท้จริง แต่ของไทยที่ผ่านมา รัฐบาลมักไปชี้นิ้วบอกว่าเกษตรกรไทยต้องทำอะไร สิ่งที่รัฐบาลจะอุดหนุนได้นั้นควรมีแค่ข้อมูล เทคโนโลยีและสินเชื่อก็พอ

รัฐบาลและภาคราชการต้องทำงานหนักกว่านี้ เราต้องเดินสายชักชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามา การจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องแต่งตัวให้สวยเหมือนประกวดนางงาม เราต้องปรับโครงสร้างขนาดใหญ่ในบ้านเราให้เอื้อต่อการลงทุน โดยเฉพาะคุณภาพแรงงาน จะทำเช่นนั้นได้เราต้องยกระดับคุณภาพการศึกษา

 

:: ถือประโยชน์ส่วนรวม ::

 

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

 

หลังสถานการณ์โควิด อย่างน้อย 3 ถึง 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยคงไม่สามารถจะกลับไปมีนักท่องเที่ยวได้มากถึงปีละ 40 ล้านคน การปรับตัวเป็นเรื่องที่ยากลำบากแต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะเราไม่สามารถบอกได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

การตัดสินใจเรื่องการลงทุนที่ผ่านมาเป็นการตัดสินใจของเอกชน โดยเฉพาะถ้าเป็นภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ ไม่ใช่การตัดสินใจของไทย นักอุตสาหกรรมไทยมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างประเทศ หรือรัฐบาลต่างประเทศ เช่น รัฐบาลญี่ปุ่น เป็นต้น

ผมถึงได้บอกว่าเราต้องเริ่มกระบวนการเดินสายเจรจาติดต่อทางการค้า คุณไปพูดเฉยๆ ไม่ได้ คุณต้องทำภายในประเทศให้น่าดึงดูดมากพอ สมัยช่วงปี 1980 ยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พยายามแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนอย่างมาก ทำให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน

กระบวนการตัดสินใจต้องเอาประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ตัดสินใจบนประโยชน์ของสาขาใดสาขาหนึ่ง สาขาที่ได้ประโยชน์น้อยหรืออาจจะเสียประโยชน์รัฐบาลก็ต้องเยียวยา นี่เป็นทิศทางของการพัฒนา นักรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งบอกว่าการเมืองบ้านเราเป็นแบบวีโต้ ถ้ามีคนใดคนหนึ่งไม่เห็นด้วยก็ตัดสินใจไม่ทำ แบบนี้ไม่ได้ เราต้องปรับตัวไปสู่ระบบประชาธิปไตยที่ฟังเสียงส่วนรวม แล้วชั่งน้ำหนักเพื่อเอาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นตัวตั้ง ส่วนคนที่เสียผลประโยชน์ต้องได้รับการชดเชย

 

:: ปฏิรูปราชการ ::

 

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

 

ทุกวันนี้เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปราชการดังมาก ผมเป็นนักวิจัยที่เชื่อในข้อมูลและหลักฐาน ผมมีความเชื่อว่าถ้าข้าราชการมีข้อมูลที่เพียงพอ ข้าราชการจะเข้าใจปัญหา แต่ที่ผ่านมาตัวเลขจากการสำรวจต่างๆ ไม่สะท้อนปัญหาเท่าที่ควร แต่วันนี้ก็ทราบว่าสํานักงานสถิติแห่งชาติเริ่มกลับคำถามในการสำรวจปัญหาใหม่ๆ บ้างแล้ว

เป้าหมายที่สำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและราชการคือทำให้คนไทยมีความรู้ความสามารถมากขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ให้เอาคนเป็นตัวตั้ง อย่าเอาอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเป็นตัวตั้ง ถ้าเราเอาคนเป็นตัวตั้ง คนที่มีความสามารถและรอบรู้แล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะคนพวกนี้คิดเป็น

เมื่อถึงเวลาที่โลกเปลี่ยนแปลงและมีปัญหาเต็มไปหมด คนที่มีศักยภาพจะคิดออกว่าจะทำอะไร รัฐก็ทำหน้าที่แค่อำนวยให้พวกเขาได้ทำ รัฐต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อประชาชน นี่คือหลักของการปรับตัวที่แท้จริง แม้จะทำไม่สำเร็จภายในวันเดียวแต่ก็ต้องเริ่มทำจริงจัง

ตัวอย่างของการลงทุนมากแต่ได้ผลน้อยมีให้เห็นชัดในเรื่องการศึกษา เราใช้เงินลงทุนกับการศึกษาไปจำนวนมาก ในห้องเรียนมีชั่วโมงเรียนเยอะมาก แต่ผลการศึกษาออกมาแย่มาก เป็นต้น

 

:: กระจายอำนาจ ::

 

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

 

เราประสบความสำเร็จโดยเฉพาะด้านสาธารณสุขสูงมาก ต้องชื่นชมวงการสาธารณสุขไทย ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นฝีมือของวันนี้ แต่เป็นการลงทุนในระบบมาเป็นระยะเวลานานถึง 30 ปี

ในด้านเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราอยากจะประสบความสำเร็จ เราต้องลงทุนในระบบ ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เหมือนกรณีสาธารณสุข

สาธารณสุขไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของการกระจายอำนาจ เพราะวงการสาธารณสุขมีการให้อำนาจไปถึง อสม. ซึ่งมีแรงสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย เราเห็นการร่วมมือกันอย่างมโหฬาร นี่คือกระบวนการการมีส่วนร่วมที่กระจายไปถึงท้องถิ่น ทุกวันนี้เราให้หน้าที่กับท้องถิ่น แต่เรายังไม่ให้อำนาจทางการเงินที่สมน้ำสมเนื้อกัน

เวลานี้ภาษีที่ดินและภาษีสิ่งปลูกสร้างเราให้ท้องถิ่นเก็บเต็มที่ แต่ทำไมเราไม่ให้อำนาจในการใช้เงินกับเขา ต่อไปเรากล้าไหมที่จะให้ท้องถิ่นสามารถเก็บภาษีเงินได้ได้เอง ทุกวันนี้เราดึงเงินภาษีที่ท้องถิ่นเก็บให้มาเข้าส่วนกลางแล้วค่อยแบ่งกลับไปให้เขา ต่อไปต้องเปลี่ยน นี่คือการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจที่แท้จริง

ถ้าเราทำให้มีเงินสะพัดในท้องถิ่นได้ คนก็ไม่ต้องตกงานแล้วเข้ามาหางานในกรุงเทพฯ วันนี้ไม่ให้มีคนตายเพราะโควิดได้แล้ว แต่เราให้คนตายเพราะเศรษฐกิจไม่ได้อีกแล้ว

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save