fbpx
จับชีพจรภูมิรัฐศาสตร์โลกหลัง COVID-19 กับ จิตติภัทร พูนขำ

จับชีพจรภูมิรัฐศาสตร์โลกหลัง COVID-19 กับ จิตติภัทร พูนขำ

[et_pb_section fb_built=”1″ admin_label=”section” _builder_version=”3.22″][et_pb_row admin_label=”row” _builder_version=”3.25″ background_size=”initial” background_position=”top_left” background_repeat=”repeat”][et_pb_column type=”4_4″ _builder_version=”3.25″ custom_padding=”|||” custom_padding__hover=”|||”][et_pb_text admin_label=”Text” _builder_version=”3.27.4″ background_size=”initial” background_position=”top_left” background_repeat=”repeat”]

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรียบเรียง

 

 

เมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โลกก็ดูจะไม่มีวันเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

คำถามสำคัญคือ แล้วโลกหลังจากนี้จะมีหน้าตาเป็นแบบไหน ภูมิรัฐศาสตร์และขั้วอำนาจในระดับโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ใน 101 One-On-One Ep.108 ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world ชวน ผศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามเช็คสุขภาพระเบียบการเมืองโลก ตลอดจนตัวละครสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ ตั้งแต่สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร

ภูมิรัฐศาสตร์โลกหลัง COVID-19 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หาคำตอบได้ด้านล่างนี้

 

ไวรัส COVID-19 ในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

ในสถานการณ์ความเป็นความตายเช่นนี้ จิตติภัทรมองว่า แม้ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ไม่ใช่ปัจจัยจำเป็นเร่งด่วน แต่วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อระเบียบโลก และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างมาก

“หลายคนมองว่า ไวรัส COVID-19 เป็นเหมือนผู้พลิกโฉมเกมการเมืองโลก (game changer) แต่ผมมองว่า ไวรัสเป็นทั้ง game changer และเป็นผู้เร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลกที่ดำเนินมาในระยะก่อนหน้านี้แล้ว”

“ไวรัส COVID-19 ส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์และการจัดระเบียบโลกใหม่ โดยเฉพาะการแข่งขันของสหรัฐฯ กับจีนในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ไวรัสจะเป็นตัวเร่งให้โลกเปลี่ยนไปสู่สองขั้วอำนาจ (Bipolar world) ได้เร็วขึ้นในอนาคตข้างหน้า”

จิตติภัทรอธิบายว่า ในทางวิชาการ นักทฤษฎีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะมองว่า โลกในปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นเป็นสองขั้วอำนาจเสียทีเดียว แต่เป็นระบบขั้วอำนาจเดียว คือมีสหรัฐฯ อยู่ด้านบนสุดของโลก โดยเฉพาะในมิติการทหาร ส่วนในมิติเศรษฐกิจ มีความเป็นโลกหลายขั้วอำนาจ โดยประเทศต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมอยู่แล้ว

ประเด็นต่อมา จิตติภัทรมองว่า จีนจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติเพิ่มขึ้น ทั้งจากการที่จีนให้เงินสนับสนุน หรือส่งทีมแพทย์เข้าไปให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ซึ่งถ้าเรายึดถือว่า หมุดหมายหนึ่งของการเป็นมหาอำนาจคือ การเป็นคนจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะระหว่างประเทศ (international public goods) จีนก็กำลังเริ่มขึ้นมามีบทบาทตรงนี้

 

“จีน” กับเส้นทางการเป็นมหาอำนาจใหม่

 

ในช่วงหลายปีหลังมานี้ จีนเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกจับตามองว่า อาจจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ แต่ขณะเดียวกัน จีนก็เจอกับความท้าทายหลายเรื่อง ทั้งกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมากกว่าเดิม หรือล่าสุดคือการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่จีนโดนตั้งคำถามหลายเรื่อง โดยเฉพาะการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงและการแพร่ระบาดของไวรัส จนหลายคนเรียกว่า เหตุการณ์นี้อาจจะกลายเป็น ‘Chernobyl’ ของจีน ซึ่งทั้งท้าทายและลดทอนอำนาจนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

“ผมเห็นด้วยว่า จีนถูกตั้งคำถามหลายเรื่องมาก โดยเฉพาะเรื่องการครองอำนาจของสีจิ้นผิง เรื่องกระบวนการประชาธิปไตย และการจัดการกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศ หรือตอนแรกที่ไวรัสเกิดขึ้น ผมประเมินว่าจีนสอบตก”

“แต่ถ้าในช่วงสองสามเดือนต่อมา จีนค่อนข้างปรับตัวให้เข้ากับวิกฤตได้เร็วและทันท่วงที ทั้งการกักตัว ยุติการเดินทาง หรือปิดเมือง ตัวสีจิ้นผิงก็บริหารจัดการไวรัสที่อู่ฮั่นได้ดี ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอยู่เหมือนกัน อีกด้านหนึ่งที่บอกไปคือ การแสดงบทบาทนำในการช่วยเหลือประเทศต่างๆ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดี” จิตติภัทรกล่าว พร้อมสรุปว่า สำหรับเขา จีนพลิกวิกฤตตรงนี้ให้เป็นโอกาส

“หลังจากที่วิกฤตไวรัสดีขึ้น ผมคิดว่าจีนน่าจะฟื้นตัวได้เร็วและมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในแง่ของการมีทรัพยากรและขีดความสามารถ”

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่ประเทศใดจะเป็นมหาอำนาจนำของโลกได้ ประเทศนั้นจะต้องได้รับการยอมรับระหว่างประเทศ (international recognition) ซึ่งนักทฤษฎีมักกล่าวกันว่า สงครามเป็นตัวเปลี่ยนสถานการณ์ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองโลกที่ผ่านมา แต่ตอนนี้สงครามเกิดขึ้นน้อยมาก จิตติภัทรจึงเสนอว่า ‘เชื้อโรค’ จะกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจโลกขึ้น

“ตอนนี้คนตั้งคำถามกับสหรัฐฯ เยอะมาก จีนจึงจะได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นในฐานะคนจัดระเบียบโลก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นนะครับ ไม่ได้หมายความว่าจีนจะขึ้นมาแทนที่สหรัฐฯ ได้ทั้งหมด”

 

“สหรัฐอเมริกา” กับวิกฤตความชอบธรรมในการเป็นผู้นำ

 

เมื่อถามถึงสถานะของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการจัดการกับวิกฤตครั้งนี้ จิตติภัทรอธิบายว่า สหรัฐฯ พยายามจะดำเนินนโยบาย 2 แบบไปพร้อมๆ กัน ซึ่งสำหรับเขาแล้ว การทำแบบนี้ไม่ค่อยได้ผลดีสักเท่าไหร่

นโยบายแบบแรกคือ การพยายามธำรงรักษาความเป็นมหาอำนาจ ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนไปจากยุคก่อนหน้านี้สักเท่าไหร่ โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามจะกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติให้ชัดเจนขึ้น โดยตั้งคำถามกับภัยคุกคามอย่างจีน หรือเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรต้องจ่ายเงินงบประมาณกลาโหมเพิ่มขึ้น แม้ความพยายามเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาก่อนหน้าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อยู่แล้ว แต่ก็ทำให้เกิดวิกฤตความชอบธรรมในการเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในเวทีโลก

อีกประการหนึ่งคือ สหรัฐฯ เริ่มถอนตัวออกจากกรอบความร่วมมือพหุภาคี เช่น การถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส และเมื่อมาเจอวิกฤตไวรัส COVID-19 สหรัฐฯ ก็รับมือล่าช้าและล้มเหลวในการสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจให้พลเมืองอเมริกัน

“ทรัมป์เคยพูดด้วยซ้ำว่า ไวรัสนี้เป็นเรื่องลวงโลก หรือบอกว่าเป็นไวรัสของจีน ซึ่งตรงนี้ไม่ช่วยอะไรมากนัก เราเห็นแล้วว่า ตอนนี้สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในโลกแล้ว”

จิตติภัทรสรุปว่า ตอนนี้ทรัมป์ต้องเจอกับวิกฤตอย่างน้อย 3 ข้อหลักๆ คือ การเมืองภายในประเทศ บทบาทความเป็นผู้นำในมิติการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะระหว่างประเทศ และเจตจำนงและความสามารถในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเขาประเมินว่าทรัมป์ ‘สอบตก’ ทั้งหมด

แม้เราจะเห็นว่า ทรัมป์รับมือกับวิกฤตได้ค่อนข้างแย่ และนั่นทำให้หลายคนอาจตั้งคำถามต่อว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ ทรัมป์จะยังมีโอกาสเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองหรือไม่ เรื่องนี้จิตติภัทรมองว่า สถานการณ์หลายๆ อย่างยังเอื้ออำนวยให้ทรัมป์สามารถเป็นผู้นำสมัยที่สองได้ ทั้งด้วยพรรคเดโมแครตที่มีปัญหาภายในพรรค และไม่ได้มีตัวเลือกใดที่โดดเด่น ส่วนฝั่งพรรครีพับลิกันก็ไม่มีตัวเลือกที่ดีที่จะมาแทนทรัมป์ได้

ทั้งนี้ จิตติภัทรทิ้งท้ายไว้ว่า แต่ถ้าไวรัส COVID-19 ยังแพร่ระบาดอยู่แบบนี้ อาจจะมีข้อเสนอให้เลื่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งผ่านทางระบบออนไลน์แทน ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นที่น่าจับตามองต่อไป

 

ก้าวต่อไปของโลกแบบสองขั้วอำนาจ

 

ถ้าย้อนกลับไปในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้านี้ สมรภูมิการเมืองระหว่างประเทศร้อนระอุจากการปะทะกันระหว่างสหรัฐฯ และจีนมาตลอด ทั้งทางการเมือง หรือการทำสงครามการค้า ซึ่งพอเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ขึ้น จิตติภัทรมองว่า ไวรัสไม่ได้ทำให้ประเด็นเหล่านี้เบาบางลง แต่ทำให้เลวร้ายขึ้นด้วยซ้ำ เนื่องจากไวรัสทำให้ประเด็นความขัดแย้งเริ่มลึกลงไปในระดับบุคคลมากขึ้น อีกทั้งยังมีการตอบโต้กันไปมาระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งนำมาสู่ข้อสรุปของจิตติภัทรว่า “ทิศทางแนวโน้มความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างสองประเทศน่าจะแย่ลง”

อีกมิติหนึ่งที่จิตติภัทรเสนอว่าจะต้องพิจารณาให้มากขึ้นคือ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่สหรัฐฯ เริ่มพูดถึงตั้งแต่ในช่วงปี 2017 เป็นต้นมา ยุทธศาสตร์นี้เป็นความพยายามของสหรัฐฯ ที่มุ่งสร้างระบบพันธมิตรที่เป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาค รวมถึงระบบพันธมิตรกับรัฐขนาดกลางเพื่อคานดุลอำนาจกับจีน ซึ่งจิตติภัทรมองว่า ถ้าสหรัฐฯ จริงจังกับยุทธศาสตร์นี้ก็อาจจะเปลี่ยนเกมรุกใหม่ได้ แต่ด้วยความที่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกอิงกับการทหารเป็นหลัก การใช้กองทัพหรือการทหารนิยมจะยิ่งชักนำระบบโลกสองขั้วอำนาจใหม่ให้ไปสู่การเผชิญหน้ากันมากกว่าความร่วมมือ และทำให้ความหวาดระแวงซึ่งกันและกันรุนแรงมากขึ้น

“มีข้อถกเถียงกันเยอะก่อนจะเกิดไวรัส COVID-19 ว่า โลกอยู่ในขั้วอำนาจแบบไหนกันแน่ ซึ่งนักวิชาการแต่ละคนก็มองต่างกันออกไป ส่วนตัวผมค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า โลกยังเป็นแบบสองขั้วอำนาจ ซึ่งไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันกันด้านอุดมการณ์ทางการเมืองอีกต่อไป แต่เป็นด้านการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์แทน”

“ไวรัส COVID-19 อาจลดช่องว่างระหว่างสหรัฐฯ กับจีนให้แคบลง แต่ก่อน จีนอาจใช้เวลา 10-20 ปี เพื่อพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะด้านกลาโหมหรือการทหารที่จีนยังห่างชั้นจากสหรัฐฯ อยู่มาก แต่การเกิดขึ้นของไวรัสอาจทำให้จีนมีเวลาสั่งสมกำลังอาวุธ และการฟื้นตัวที่เร็วกว่าคนอื่นจะทำให้จีนกลับมาเป็นโรงงานโลก และมีเวลาพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมได้เร็วกว่าคนอื่น นอกจากเศรษฐกิจที่จะโตแล้ว จีนยังอาจจะกลายเป็นตัวแบบการพัฒนาตนเอง และเป็นแหล่งกู้เงินให้โลกได้ด้วย”

 

ความล้มเหลวของสหภาพยุโรป

 

ในช่วงทศวรรษก่อนหน้านี้ การรวมตัวกันเป็นองค์การเหนือชาติ (supranational) แบบสหภาพยุโรป ถือเป็นการรวมตัวกันสูงสุดของรัฐชาติ และกลายเป็น EU Model ที่หลายคนใฝ่ฝันจะไปให้ถึง หากแต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การบูรณาการยุโรปและสหภาพยุโรปกลับถูกตั้งคำถามอย่างหนัก ถึงกับมีคนเรียกว่า สหภาพยุโรปเป็นเพียง ‘เทพนิยาย’ เท่านั้น

ความล้มเหลวของการบูรณาการยุโรปดูจะถูกขยายให้ชัดขึ้นจากวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ เมื่อเราเห็นภาพของแต่ละประเทศต่างเอาตัวรอด ไม่ได้มีความร่วมมือหรือความพยายามในการจัดการกับปัญหาร่วมกันแต่อย่างใด

“จริงๆ สหภาพยุโรปต้องเจอกับวิกฤตหลายอย่างมาสักพักแล้ว ทั้งเรื่องการทำประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) วิกฤตหนี้สาธารณะ ปัญหาผู้ลี้ภัย รวมถึงกระแสคลั่งชาติ และต่อต้านชาวมุสลิม การเกิดไวรัส COVID-19 จะยิ่งทำให้เรื่องเหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น”

จิตติภัทรอธิบายว่า โครงสร้างพื้นฐานและจิตวิญญาณอย่างหนึ่งของความเป็นสหภาพยุโรปคือ การเปิดให้คนสามารถเดินทางได้อย่างเสรีผ่านระบบวีซ่าเชงเก้น (Schengen) แต่ตอนนี้ แทบทุกประเทศในยุโรปปิดพรมแดนของตนเอง การควบคุมด้านพรมแดนกลายเป็นปทัสถานแบบใหม่ ทำให้ยุโรปดูจะมุ่งไปสู่ความเป็น ‘Less Europe’ และมีความเป็นป้อมปราการ (fortress) มากขึ้น ส่งผลให้การส่งเสริมเรื่องการเป็นพลเมืองโลก และการเปิดเสรีพรมแดนให้ผู้คนที่หลากหลายลดลงไปด้วย

อีกประเด็นสำคัญในเรื่องผู้อพยพคือ ตุรกี ซึ่งแต่เดิมมีข้อตกลงกับสหภาพยุโรปว่า ตุรกีจะเป็นด่านหน้ากันหรือคัดกรองผู้อพยพที่จะเข้ามายังยุโรป แต่ปัจจุบัน ตุรกีเปลี่ยนนโยบายของตน คือไม่ควบคุมการไหลเวียนของผู้อพยพลี้ภัยในยุโรปอีกแล้ว จิตติภัทรชี้ว่า นี่คือการที่ทุกประเทศต่างผลักภาระ และส่งออกปัญหาเรื่องผู้อพยพไปให้คนอื่น

“ผมมองว่า ประเด็นที่จะเกิดขึ้นอย่างเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันคือ การเกิดขึ้นของพรมแดนใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการควบคุมพรมแดน แต่มีประเด็นความมั่นคงด้านเชื้อโรคเข้ามาด้วย คนในแต่ละที่ โดยเฉพาะยุโรป จะไม่ได้แค่เหยียดเชื้อชาติ แต่จะมองคนอื่นในฐานะเชื้อโรคที่ต้องกันออกห่างจากพรมแดนของตนเอง แม้จะต้องใช้ความรุนแรงก็ตาม ประเด็นทางพรมแดนจะกลายเป็นประเด็นทางการแพทย์มากขึ้น แบบที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า พรมแดนทางการป้องกันเชื้อโรค”

ปัญหาอีกประการหนึ่งของสหภาพยุโรปคือ ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มรัฐทางใต้ เช่น อิตาลี สเปน หรือโปรตุเกส ที่มีปัญหาจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบทุนนิยมเสรีนิยม ซึ่งต้องเปิดเสรีด้านการค้าการเงินอย่างรวดเร็ว หลายประเทศที่ยังไม่ฟื้นจากวิกฤตสาธารณะและต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็มีแนวโน้มจะขอกู้ยืมเงินมากขึ้น

“ตอนนี้ สหภาพยุโรปต้องเจอกับความท้าทายจากการบูรณาการทางเศรษฐกิจของตัวเอง ต้องยกเลิกมาตรการที่ตนเองเคยวางกรอบไว้ ด้วยเงื่อนไขของไวรัส COVID-19 ตอนนี้ภาครัฐเริ่มใช้จ่ายเกินเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรปได้แล้ว และภาครัฐก็เริ่มเข้าไปอุ้มภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะภาคธนาคารกับภาคการบิน”

“อีกคำหนึ่งที่เราได้ยินคนพูดกันเยอะคือ Corona Bond คือการที่รัฐสมาชิกยูโรโซน (ประเทศที่ใช้ค่าเงินยูโร) สามารถขายหนี้สาธารณะของตนเป็นพันธบัตรให้รัฐสมาชิกด้วยกันเองได้”

จิตติภัทรสรุปว่า ตอนนี้เศรษฐกิจของยุโรปน่าจะย่ำแย่จนถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ซึ่งสอดคล้องกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่งออกมาประกาศว่า โลกกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

“สหราชอาณาจักร” กับวิกฤต COVID-19

 

ในกรณีของสหราชอาณาจักร จิตติภัทรชี้ว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 กระทบโครงสร้างส่วนบนที่มีหน้าที่บริหารประเทศอย่างมาก ดังจะเห็นว่า นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) ติดเชื้อ และทีมผู้บริหารต้องกักกันตัวเอง อีกประเด็นที่เขามองว่าน่าสนใจคือ ข้อเสนอเรื่อง Herd Immunity (ภูมิคุ้มกันหมู่) คือการปล่อยให้คนติดเชื้อให้มากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ซึ่งแม้รัฐบาลจอห์นสันจะออกมาปฏิเสธในเวลาต่อมา แต่นี่นับว่าเป็นประเด็นของสหราชอาณาจักรที่แตกต่างไปจากประเทศอื่น

นอกจากผลกระทบเรื่องสาธารณสุขทั่วไปแล้ว จิตติภัทรมองว่า ไวรัส COVID-19 ยังตั้งคำถามกับระบบการเมืองของสหราชอาณาจักรด้วย ประการแรกคือ ผลกระทบกับความเป็นศูนย์กลางด้านการเงินโลก ประการที่สองคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบประกันสุขภาพ (National Health Service – NHS) และประการสุดท้าย คือ การสั่นคลอนความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหรัฐฯ เพราะต่างคนต่างปิดประเทศ อัตลักษณ์แบบ Anglo-American World ที่เคยกำกับและนำโลกจึงจะถูกท้าทายรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

 

ไวรัส COVID-19 เสรีนิยม และ (จุดจบของ) โลกาภิวัตน์

 

มีนักวิชาการหลายคน เช่น ศาสตราจารย์ Stephen M. Walt จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่มองว่า โลกาภิวัตน์ล่มสลายลงอย่างแน่นอน แต่จิตติภัทรเห็นว่า เราจะต้องตั้งคำถามก่อนว่า โลกาภิวัตน์แบบไหนที่กำลังล่มสลายกันแน่

“ถ้าเป็นเรื่องการเปิดกว้างทางการเมือง การเคลื่อนย้ายคน สินค้า บริการ อย่างเสรี ผมว่ามันล่มมานานแล้วล่ะ COVID-19 แค่ผลักให้มันเร็วและแรงขึ้น แต่ถ้าเป็นโลกาภิวัตน์ของตัวเสรีนิยมใหม่ ผมคิดว่ามันจะไม่ล่มสลายง่ายๆ เพราะองค์การระหว่างประเทศด้านการเงิน เช่น IMF หรือธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ก็ยังดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ที่เข้มข้นและเข้มแข็ง”

อีกประเด็นที่จิตติภัทรชี้ให้เห็นคือ การโอนภาระความรับผิดชอบให้ปัจเจกชนมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจไปจนถึงเรื่องจิตสำนึก กล่าวคือ ทุกคนจะโทษคนก่อนที่จะโทษระบบโครงสร้างของโลกที่เป็นอยู่

แม้จิตติภัทรจะมองว่า นี่จะยังไม่ใช่การสิ้นสุดของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ แต่เขาก็ได้คาดการณ์เส้นทาง 3 สายที่น่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไว้ โดยเส้นทางแรก คือเส้นทางที่เขาเรียกว่า เสรีนิยมใหม่-ประชานิยม (neoliberal populism) คือมีทั้งความเป็นประชานิยมที่ต่อต้านผู้อพยพและเป็นชาตินิยม แต่ก็มีนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคเป็นแบบเสรีนิยมใหม่ เช่นที่เกิดขึ้นในฮังการี ซึ่งจิตติภัทรมองว่า มีโอกาสเกิดขึ้นสูงมาก

เส้นทางที่สองคือ รัฐที่มีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น จากการที่รัฐใช้มาตรการฉุกเฉินในการรับมือกับไวรัส และจะไม่ยอมคืนอำนาจเหล่านี้กลับไป ซึ่งอาจจะนำไปสู่รัฐหลายแบบ ทั้งแบบทหารนิยม แบบเทคโนแครต หรือรัฐราชการแบบใหม่

เส้นทางที่สามคือ การปฏิรูปโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจโลกใหม่ หรือที่อาจจะเรียกว่า The New Deal เหมือนสมัยวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (The Great Depression) ในช่วงทศวรรษ 1930s ซึ่งมีการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเคนส์ (Keynesianism) เป็นเสรีนิยมแบบที่ต้องปฏิรูปตัวเอง

“สืบเนื่องจากเส้นทางที่สาม มีนักวิชาการมองว่า ไวรัสน่าจะทำหน้าที่เป็น wake-up call ของเสรีนิยมประชาธิปไตย ว่าควรจะปฏิรูปให้เป็นสากลมากขึ้น ซึ่งผมเสนอว่า พลังประชาธิปไตยต้องเสนออะไรใหม่ๆ ที่เป็นรูปธรรมและเป็นผลดีต่อผู้คนบนโลกมากขึ้น เช่น การปฏิรูประบบสวัสดิการที่เป็นสากล หรือการรักษาสุขภาพรูปแบบใหม่”

“วันนี้เราต้องคุยกันว่า จะมี The New Deal ไหม จะทำยังไงให้มาตรการฉุกเฉินที่รัฐใช้กันอยู่ไม่ใช่เรื่องถาวร และจะออกระบบการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างไร ให้เคารพความแตกต่างหลากหลาย เคารพเสียงคนตัวเล็กตัวน้อย มีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการเมือง และยังธำรงรักษาประชาธิปไตยไว้ได้”

 

ถอดบทเรียนการจัดการไวรัส COVID-19

 

สำหรับจิตติภัทร เขามองว่า การจัดการไวรัส COVID-19 ของรัฐแบบอำนาจนิยม ที่มีการปิดกั้นเสรีภาพ ปกปิดข้อมูล และคุกคามผู้เห็นต่าง ไม่ค่อยได้ผลนัก แต่ระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยทำให้คนรับรู้ถึงประเด็นปัญหาการแพร่กระจายของโรคได้ดีกว่า

“ถามว่าการใช้มาตรการฉุกเฉินเป็นเรื่องจำเป็นไหม ก็จำเป็นนะครับ แต่ยังไงก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจดังกล่าวไม่ให้มากเกินไป ซึ่งระบบประชาธิปไตยจะเปิดโอกาสให้คนตั้งคำถามกับรัฐมากขึ้น และยังเปิดพื้นที่ให้คนพูดคุยกันได้ด้วย”

“เรามีระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing) แต่เราไม่ได้ละทิ้งหรือทำลายความเป็นชุมชนทางสังคมลงไปด้วย ผมมองว่า การธำรงรักษาพื้นที่สาธารณะให้โลกดิจิทัล ทำให้คนเป็นหนึ่งเดียวกันทางสังคม เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการที่เราผลักภาระไปให้ใครคนใดคนหนึ่ง โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่า รัฐมีหน้าที่จัดหาความรับผิดชอบต่างๆ ให้กับชุมชนทางการเมืองเหมือนกัน”

จิตติภัทรทิ้งท้ายว่า แม้การลิดรอนสิทธิบางอย่างเป็นเรื่อง ‘ต้องแลก’ (trade-off) ที่จำเป็นในสถานการณ์เช่นนี้ อย่างไรก็ดี ระบบการเมืองแบบเปิดหรือแบบประชาธิปไตยยังทำให้เรามีสิทธิมีเสียงในการถ่วงดุลอำนาจ สามารถตรวจสอบและตั้งคำถามได้ ซึ่งต้องไปพร้อมกับการรับมือโรค ไม่ทำให้รัฐกลายเป็นรัฐอำนาจอธิปไตยที่แข็งกระด้างหรือเป็นอำนาจนิยมในท้ายที่สุด

 

มองโอกาสในวิกฤต

 

ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ วิกฤตในครั้งนี้ก็เช่นกัน สำหรับจิตติภัทรแล้ว เขามองว่า ไวรัส COVID-19 ทำให้เราต้องหวนกลับมาคิดถึงโจทย์คลาสสิกหลายอย่าง ทั้งเรื่องระเบียบโลก หรือคิดเรื่องประวัติศาสตร์ของเชื้อโรคที่เคยกระทบการเมืองโลก รวมถึงเห็นบทเรียนจากรัฐอื่นๆ และสามารถเรียนรู้ได้

ถ้ามองให้ไกลไปถึงมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จิตติภัทรมองว่า เราเห็นชัดเจนขึ้นว่า เทรนด์ของโลกจะไปทางไหน สุดท้ายโลกาภิวัตน์จะสิ้นสุดหรือไม่ การถกเถียงประเด็นเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือเกิดข้อเสนอในการออกแบบสถาบันการเมืองระหว่างประเทศ ที่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างใหญ่ต่อไป

“ประเด็นสุดท้าย เราเห็นการมองคนอื่น และคิดถึงคนอื่นในฐานะเพื่อนร่วมโลก แนวความคิดแบบนี้ทำให้เรายังมีความหวังว่า กระแส cosmopolitanism หรือประชาธิปไตย จะยังเป็นตัวหล่อเลี้ยงให้คนมีความรู้สึกในการอยู่ในชุมชนทางการเมืองร่วมกันได้” จิตติภัทรทิ้งท้าย[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save