fbpx
ไวรัส COVID-19 กับระเบียบโลกใหม่?

ไวรัส COVID-19 กับระเบียบโลกใหม่?

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในปี 1348 กาฬโรค (Black Death) เข้าสู่อังกฤษผ่านเมืองท่าชายทะเลอย่าง Weymouth และได้คร่าชีวิตคนอังกฤษกว่าร้อยละ 30-50 บางคนเชื่อว่า กาฬโรคมีแหล่งที่มาจากจีนผ่านกองทัพของพวกมองโกล บ้างก็ว่ามีแหล่งที่มาจากเมือง Caffe บนแหลมไครเมีย ซึ่งพ่อค้าที่เดินทางระยะไกลติดกาฬโรคและนำเชื้อเข้าไปในอิตาลี ต่อมาก็แพร่กระจายไปทั้งฝรั่งเศส สเปนและอังกฤษ ภายในระยะเวลากว่า 6 ปี กาฬโรคได้ลุกลามไปทั่วทั้งยุโรปและทำลายระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมยุโรปอย่างรุนแรง ในเวลาต่อมา นักเดินทางชาวยุโรปยังได้เอาเชื้อโรคไปแพร่กระจายในดินแดนอันไกลโพ้น เช่น อเมริกา อีกด้วย

การระบาดใหญ่ของเชื้อโรคไม่ใช่สิ่งใหม่ในประวัติศาสตร์โลก ทั้งการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรค กาฬโรค โรคฝีดาษ และไข้หวัดใหญ่ในยุโรป ล้วนคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลในระยะเวลาอันรวดเร็ว และเปลี่ยนโฉมพัฒนาการของมนุษยชาติ กระนั้นก็ดี โรคระบาดได้ทำหน้าที่ของมันอย่างน้อย 2 ประการสำคัญ โดย ประการแรก โรคระบาดเหมือนเป็น ‘ระฆังสัญญาณ’ หรือ ‘wake-up call’ กระตุ้นเตือนสติมนุษย์ถึงสัจธรรมแห่งความตายและการมีขีดจำกัด (finitude) ของชีวิต กล่าวคือ โรคระบาดสั่นคลอนวิถีคิดดั้งเดิมของผู้คนให้พร้อมรับกับการเผชิญความตาย หรือที่เราอาจจะเรียกว่าเป็น ‘จตุรอาชาแห่งวันสิ้นโลก’ (Four Horsemen of Apocalypse) ตามพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพระวิวรณ์

นอกจากนี้ Slavoj Žižek นักปรัชญาสายวิพากษ์ชาวสโลวีเนียยังเคยเสนอว่า โลกกำลังเผชิญกับจตุรอาชาแห่งวันสิ้นโลกใหม่ 4 ประการด้วยกันคือ (1) วิกฤตการณ์ทางนิเวศวิทยา (2) วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินของโลก (3) ชีววิทยาและการปฏิวัติด้านชีวพันธุศาสตร์ และ (4) การแตกแยกทางสังคม ซึ่งนำไปสู่ความตึงเครียดและการปะทุของการประท้วงและการปฏิวัติระดับโลก ซึ่งถึงรายละเอียดปลีกย่อยของคำอธิบายทั้งสองแบบจะมีความแตกต่างกันบ้าง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ‘เชื้อโรค’ เป็นแหล่งที่มาของมรณกรรมของมนุษย์

ประการต่อมา แม้ว่าโรคระบาดจะได้รับการมองจากแง่มุมต่างๆ เช่น ศาสนา (ในฐานะบาปมหันต์ของมวลมนุษย์หรือวันสิ้นโลก) ความเชื่อโชคลาง (เช่น กาลกิณีของผู้ปกครอง, ผู้นำไม่มีบุญหรือไม่ปรีชาสามารถ) การติดเชื้อมาจากสัตว์ (เช่น ค้างคาว หรือนก) และต่อมาคือคำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งเมื่อบางครั้งมนุษย์หาคำอธิบายไม่ได้ ก็จะมีความเชื่อแบบทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานาตามมา กระนั้น ในประวัติศาสตร์ช่วงยาว โรคระบาดใหญ่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทางสังคมการเมือง รวมทั้งดุลแห่งอำนาจและ/หรือระเบียบโลกชุดใหม่อย่างไม่ได้ตั้งใจ เช่น การตกต่ำของจักรวรรดิ การสร้างระบบระเบียบใหม่ในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรม เทคโนโลยี เป็นต้น

บทความนี้ชวนคิดว่า ไวรัสโคโรนาหรือ COVID-19 ในฐานะโรคระบาดร้ายแรงที่แพร่กระจายไปทั่วโลกตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ในปัจจุบัน มีนัยสำคัญและส่งผลกระทบต่อการเมืองโลกอย่างไร โดยบทความนี้จะเสนอว่า ไวรัส COVID-19 ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อการเมืองโลก แต่เป็นปัจจัยช่วยเร่งผลักดันกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจโลกอย่างมีนัยสำคัญ

 

สงครามเชื้อโรค หรือมิติใหม่ของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์?

 

ข้อเสนอประการแรกของบทความนี้คือ ไวรัส COVID-19 จะส่งผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์และการจัดระเบียบโลกใหม่ โดยเฉพาะการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยเชื้อไวรัสจะเป็นตัวเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านของระเบียบโลกให้เป็นไปในทิศทางของ ‘ระบบสองขั้วอำนาจ’ (bipolar world) อย่างสมบูรณ์มากขึ้นในทศวรรษข้างหน้า

Kurt Campbell และ Rush Doshi เปรียบเปรยว่า เชื้อไวรัส COVID-19 เป็นเหมือนหมุดหมายของช่วงเวลาแบบวิกฤตการณ์สุเอซ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1956 และยุติบทบาทของสหราชอาณาจักรในฐานะมหาอำนาจโลก กล่าวคือหากในปัจจุบัน สหรัฐฯ ยังคงไม่เล่นบทบาทนำในการบริหารจัดการโรคระบาดร้ายแรงนี้ร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ สหรัฐฯ ก็จะเผชิญหน้ากับช่วงเวลาแบบสุเอซ คือสูญเสียสถานะความเป็นมหาอำนาจนำของโลก จึงอาจกล่าวได้ว่า เชื้อโรคกำลังจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญมากที่อาจจะเข้ามาแทนที่สงครามในการเปลี่ยนผ่านอำนาจโลก จากมหาอำนาจหนึ่งไปสู่อีกมหาอำนาจหนึ่ง หรือช่วงเวลาแบบ ‘กับดักธูสิดีดิส’ (Thucydides’s Trap) นั่นเอง

ในด้านหนึ่ง เราเห็นวิกฤตการณ์ความชอบธรรมและความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในเวทีโลก เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ รับมือกับไวรัส COVID-19 ล่าช้ามาก ทั้งยังล้มเหลวในการสื่อสารสร้างความมั่นใจให้ประชาชนชาวอเมริกัน เช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทรัมป์ยังบอกว่า “สหรัฐฯ ยังสามารถจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศได้เป็นอย่างดี” ต่อมา จำนวนผู้ติดเชื้อได้พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ทรัมป์พยายามติดต่อซื้อลิขสิทธิ์วัคซีนป้องกันโรคจากบริษัทสัญชาติเยอรมันอย่าง CureVac เพื่อให้เป็นสิทธิ์ขาดของสหรัฐฯ แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ประเด็นดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดย Karl Lauterbach นักการเมืองชาวเยอรมัน กล่าวว่า “การขายสิทธิ์ขาดของวัคซีนให้แก่สหรัฐฯ จะต้องถูกยับยั้งทุกวิถีทาง ระบบทุนนิยมมีข้อจำกัด”

ในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นชัดเจนว่ารัฐบาลภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ เผชิญกับวิกฤตอย่างน้อย 3 ด้านด้วยกัน คือ ระบบการจัดการปกครองภายในประเทศ บทบาทการเป็นผู้จัดสรรทรัพยากรสาธารณะระหว่างประเทศ และเจตจำนง/ความสามารถในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ซึ่งรัฐบาลทรัมป์สอบ ‘ตก’ ทั้งสามด้านนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อสถานะผู้นำโลกของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อขยับมาดูฝั่งประเทศจีน จะเห็นว่า แม้จีนจะดำเนินมาตรการผิดพลาดในช่วงแรก ทั้งในแง่การปกปิดความรุนแรงและการแพร่กระจายของไวรัส รวมทั้งการข่มขู่ไม่ให้นายแพทย์ Li Wenliang นำเสนอข่าวเรื่องเชื้อไวรัส COVID-19 ต่อสาธารณชน จนบางคนเรียกว่า นี่เป็น ‘Chernobyl ของจีน’ ซึ่งจะท้าทายและลดทอนอำนาจนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา จีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ก็ปรับตัวกับวิกฤตการณ์เชื้อไวรัส COVID-19 ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยมาตรการป้องกันของจีน เช่น การกักตัวเองของผู้ติดเชื้อและคนที่เสี่ยงติดเชื้อ การยุติการเดินทาง หรือการปิดเมือง ได้รับการยกย่องให้เป็นตัวแบบของการจัดการการระบาดของไวรัส รวมทั้งการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่น (Wuhan) ด้วยตัวเองในวันที่ 10 มีนาคม 2020 ก็สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนชาวจีน รวมทั้งเสริมสร้างความชอบธรรมและความเป็นผู้นำของรัฐบาลจีนอย่างมาก

นอกจากนี้ จีนยังแสดงบทบาทนำในการช่วยเหลือประเทศต่างๆ ทั่วโลกในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกหน้ากากอนามัย หน้ากากการแพทย์ หน้ากากกันฝุ่นและยาเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งการส่งทีมแพทย์พยาบาลผู้เชี่ยวชาญ (ไม่ใช่ ‘นักรบเสื้อกาวน์’ หรือ ‘นักรบชุดขาว’) ไปช่วยเหลือประเทศต่างๆ ดังที่ หวัง อี้ (Wang Yi) รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กล่าวว่า “จีนไม่เพียงแต่กำลังปกป้องประชาชนของตนเอง แต่ยังปกป้องคนอื่นๆ ทั่วโลกด้วย” ซึ่งตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในเรื่องนี้ เช่น การที่จีนให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่อิตาลี ซึ่งร้องขอเครื่องมือทางการแพทย์และหน้ากากอนามัย แต่ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จากประเทศยุโรปด้วยกันเอง หรือแก่เซอร์เบีย ซึ่งประธานาธิบดีของเซอร์เบียได้ออกมาวิพากษ์การบูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกันของสหภาพยุโรปว่าเป็นเพียง ‘เทพนิยาย’ (fairy tale) โดยกล่าวว่า “จีนเป็นเพียงประเทศเดียวที่สามารถช่วยเราได้ในขณะนี้”

กล่าวอีกนัยหนึ่ง จีนกำลังพลิก ‘วิกฤต’ ให้เป็น ‘โอกาส’ ในการนำการปฏิรูประเบียบโลกใหม่ หรืออย่างน้อยที่สุด จีนก็กำลังจัดสรรสินค้าและบริการสาธารณะระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นมหาอำนาจนำ (hegemony) ของโลก ดังที่ Zhao Lijian โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า จีนได้สร้าง “มาตรฐานใหม่ของโลกในการรับมือกับโรคระบาด”

อาจกล่าวได้ว่า แม้ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์จะไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนในสถานการณ์ ‘ความเป็นความตาย’ ของผู้คนทั่วโลกขณะนี้ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เชื้อไวรัส COVID-19 กลับส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ ดังที่บทความนี้เสนอว่า ระเบียบโลกกำลังจะมุ่งไปสู่ระบบสองขั้วอำนาจที่สหรัฐฯ ไม่สามารถครองอำนาจนำแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป หากแต่มีจีนก้าวขึ้นมาเป็นอีกมหาอำนาจนำของโลกในอนาคตอันใกล้นี้ การระบาดครั้งนี้จะช่วยลดช่วงเวลาและระยะห่างระหว่างสองมหาอำนาจทั้งในเชิงขีดความสามารถ ทรัพยากร และที่สำคัญคือ ความชอบธรรมและการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ ไม่มากก็น้อย

 

เชื้อไวรัส COVID-19: ตัวเร่งปฏิกิริยาพลิกโฉมการเมืองโลก

 

ข้อเสนอประการที่สองของบทความนี้คือ เชื้อไวรัส COVID-19 ไม่ได้เป็นปัจจัยที่สร้างการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก แต่จะเป็นตัวเร่งให้ระเบียบโลกที่อยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านแล้วทวีความรุนแรงและรวดเร็วมากขึ้นในหลายประการด้วยกัน ดังนี้

ประการแรก เชื้อไวรัส COVID-19 จะยิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกดำเนินไปในทิศทางแบบลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ (economic nationalism) หรือลัทธิปกป้องการค้า (protectionism) มากขึ้น ซึ่งกระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจเริ่มก่อตัวขึ้นระยะหนึ่งแล้วในระบบเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน โดยมีหมุดหมายสำคัญคือ ทรัมป์ สงครามการค้า และประชานิยมทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 นอกจากจะกระทบต่อการค้า การเงิน การลงทุนระหว่างประเทศ หรือการท่องเที่ยวระหว่างประเทศอย่างรุนแรงแล้ว ยังจะทำให้กระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจเข้มข้นมากขึ้นในทศวรรษข้างหน้า

กล่าวคือ เชื้อไวรัส COVID-19 จะให้ความชอบธรรมแก่พวกต่อต้านโลกาภิวัตน์ทั้งหลาย โดยการชี้ให้เห็นถึงอันตรายและผลกระทบที่รัฐพึ่งพิงระบบการผลิตระหว่างประเทศมากเกินไป ซึ่งการพึ่งพิงเหล่านี้ยิ่งถูกทำให้ชะงักงันด้วยการระบาดของเชื้อโรคและการปิดประเทศ/ปิดเมือง ทำให้ในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะเห็นผู้ต่อต้านโลกาภิวัตน์ประณามทั้งการค้าเสรีและเชื้อไวรัส COVID-19 ว่าทำให้คนภายในประเทศตกงาน ขณะที่ลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจและการปกป้องการค้าน่าจะกลายเป็น ‘เทรนด์’ ของโลกในอนาคต

ประการที่สอง เชื้อไวรัส COVID-19 จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจภายใต้ระบบทุนนิยมโลกรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำระหว่างรัฐทางเหนือกับรัฐทางใต้ เช่น หนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้นของรัฐทางใต้ยังคงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเรื้อรังมาจากกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ และหลายประเทศ เช่น อิตาลี ซึ่งเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะ ยิ่งเมื่อถูกกระหน่ำด้วยเชื้อไวรัส COVID-19 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หนี้สาธารณะของอิตาลีก็พุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 135 ของ GDP และมีแนวโน้มต้องขอเงินกู้ (bailout) จากสหภาพยุโรป หรือแม้กระทั่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในอนาคตอันใกล้นี้

อีกภาคส่วนหนึ่งที่กำลังเผชิญวิกฤตสภาพคล่องคือ สายการบินทั้งระบบ ซึ่งบางสายการบินหยุดบินและเริ่มล้มละลายไปแล้ว มีการคาดการณ์ว่า สายการบินแทบทั้งหมดน่าจะเข้าขั้นวิกฤตในปลายเดือนพฤษภาคม เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสและการปิดประเทศ ซึ่งคงนำไปสู่การขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในประเทศตน ดังเช่นในสหรัฐฯ ที่สายการบินได้ขอให้รัฐบาลเข้าไปอุ้มธุรกิจการบินเป็นเงินกว่า 50 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่รัฐจำนวนมากจะเข้าไปอุ้มทุนสายการบินเอาไว้

แต่ในทางกลับกัน เชื้อไวรัส COVID-19 ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโลกได้อย่างดี เพราะในเชิงเปรียบเทียบ แนวโน้มที่รัฐในระบบทุนนิยมจะเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาหรืออุ้มผู้คนตัวเล็กตัวน้อยมีน้อยมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก คนทำงานแบบอิสระ หรือฟรีแลนซ์ ซึ่งในแง่หนึ่ง คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่หนักหน่วงโดยตรงจากการปิดตัว (ชั่วคราว) ของภาคธุรกิจและการทำงานจากบ้าน (Work From Home) แต่ในอีกแง่หนึ่ง คนกลุ่มนี้คือผลผลิตโดยตรงของกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ที่ต้องการแรงงานแบบเสรีและยืดหยุ่น (flexible labors) ซึ่งไม่มีเงินเดือนและสวัสดิการทางสังคมใดๆ รวมทั้งสวัสดิการการรักษาพยาบาลรองรับ

โดยรวมแล้ว สภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (recession) กำลังถาโถมใส่เศรษฐกิจโลก และเมื่อเผชิญกับการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสตัวนี้ ระบบทุนนิยมก็กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตระดับข้ามชาติ

ประการที่สาม เชื้อไวรัส COVID-19 ยิ่งทำให้การเมืองอัตลักษณ์ของการแบ่งขั้วระหว่างความเป็น ‘เรา’ กับ ‘ความเป็นอื่น’ ทวีความรุนแรงมากขึ้น กระแสการเหยียดเชื้อชาติ (racism) ขยายไปทั่วโลก ทั้งที่ในความเป็นจริง การระบาดของเชื้อโรคเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติหรือเพศสภาพใดก็ตาม เช่น ในสหราชอาณาจักร เราเห็นการข่มเหงรังแก (bullying) คนไทย และคนเอเชียตะวันออกอีกหลายเชื้อชาติ หรือในเกาหลีใต้ กระแสการต่อต้านชาวจีนก็เพิ่มสูงขึ้น ทั้งต่อการระบาดที่ก่อตัวขึ้นมาจากจีน หรือต่อการที่ประธานาธิบดีมุน แจอิน (Moon Jae-in) ลังเลไม่แบนนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นการเมืองอัตลักษณ์จะยิ่งร้อนระอุเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องผู้อพยพลี้ภัย กล่าวคือ ผู้อพยพลี้ภัยจากพื้นที่เสี่ยงภัยสงครามมีแนวโน้มจะเผชิญหน้ากับการเหยียดเชื้อชาติและการข่มเหงรังแกเพิ่มมากขึ้นจากรัฐและผู้คนระหว่างประเทศ วันนี้ ประเทศในสหภาพยุโรปหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศสและออสเตรีย ดำเนินมาตรการควบคุมการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งในแง่นี้ เชื้อไวรัส COVID-19 จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเดิมที่กำลังท้าทายระบอบเชงเก้น (Schengen) ของการเดินทางเสรีภายใต้สหภาพยุโรป

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ยุโรปจะมุ่งไปสู่การเป็น ‘Fortress Europe’ (ยุโรปที่เป็นป้อมปราการ) มากกว่าจะเป็น ‘Cosmopolitan Europe’ (ยุโรปที่มีความเป็นสังคมพลเมืองโลกนิยม)

ในขณะเดียวกัน ตุรกีก็ได้ประกาศว่า จะไม่ควบคุมการไหลเวียนของผู้อพยพที่ลี้ภัยเข้าไปในยุโรปอีกต่อไป กล่าวคือ ตุรกีซึ่งแต่เดิมรับผู้อพยพจากตะวันออกลางไว้ กำลังเริ่มผลักภาระและส่งออกคนเหล่านี้ไปยังที่อื่นเช่นยุโรปแล้ว นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องผู้อพยพลี้ภัยยังถูกทำให้กลายเป็นประเด็นทางการแพทย์ (medicalization) โดยมองผู้อพยพในฐานะ ‘ผู้ที่มีความเสี่ยงติดโรค’ ประเด็นพรมแดนจึงกลายเป็นประเด็นที่ Nick Vaughan-Williams นักวิชาการด้านความมั่นคงศึกษาแนววิพากษ์ เรียกว่า ‘พรมแดนทางการป้องกันเชื้อโรค’ (immunitary borders) นั่นเอง

ประการที่สี่ หากย้อนไปก่อนหน้านี้ ผู้คนมีความเป็นปัจเจกที่แยกขาดและแปลกแยกจากโลกทางสังคม และเข้าสู่โลกเสมือนจริงมากขึ้น ผ่านทางกระบวนการทำให้เป็นดิจิทัล (digitalization) ต่อมา เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ก็เกิดการรณรงค์ให้ ‘เว้นระยะห่างทางสังคม’ (social distancing) ซึ่งจริงอยู่ที่ว่า การเว้นระยะดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อจะป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค แต่การเว้นระยะห่างนี้จะยิ่งทำให้กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น จนส่งผลกระทบทางอ้อมโดยไม่ได้ตั้งใจ คือทำให้การเชื่อมโยงระหว่างผู้คนในชุมชนทางการเมืองแตกสลายลงและแปลกแยกมากขึ้น นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวยังมีแนวโน้มจะทำให้คนเกิดภาวะซึมเศร้าเพิ่มสูงขึ้นด้วย

อนึ่ง การเว้นระยะห่างทางสังคมนั้นหมายถึงการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing) แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันทางสังคมหรือร่วมกัน (social/collective solidarity) ผ่านการมีความรับผิดชอบต่อสังคมและเพื่อนร่วมโลก ซึ่งดูเหมือนว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) จะตระหนักเรื่องการใช้คำมากกว่ารัฐหรือองค์กรอื่น เพราะในวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา WHO ได้แนะนำให้ใช้คำว่า ‘physical distancing’ แทนคำว่า ‘social distancing’ เพราะมีความหมายตรงตัวมากกว่า และสะท้อนให้เห็นถึงการธำรงรักษาความเป็นชุมชนหรือสังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง

 

COVID-19: หนึ่งใน ‘จตุรอาชาแห่งวันสิ้นโลก’?

 

พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพระวิวรณ์ บท 6 ได้ทิ้งคำทำนายไว้เป็นปริศนาธรรม ดังนี้

 

“1 เมื่อพระเมษโปดกทรงแกะตราดวงหนึ่งนั้นออกแล้ว ข้าพเจ้าก็แลเห็น และได้ยินสิ่งที่มีชีวิตอยู่ตัวหนึ่งในสิ่งที่มีชีวิตอยู่สี่ตัวนั้นร้องดุจเสียงฟ้าร้องว่า “มาดูเถิด”

2 ข้าพเจ้าก็แลเห็น และดูเถิด มีม้าขาวตัวหนึ่ง และผู้ที่ขี่ม้านั้นถือธนู และได้รับมงกุฎ และผู้นั้นก็ออกไปอย่างมีชัย และเพื่อได้ชัยชนะ

3 เมื่อพระองค์ทรงแกะตราดวงที่สองนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ยินสิ่งที่มีชีวิตอยู่ตัวที่สองร้องว่า “มาดูเถิด”

4 และมีม้าอีกตัวหนึ่งออกไปเป็นม้าสีแดงสด ผู้ที่ขี่ม้าตัวนี้ได้รับอนุญาตให้นำสันติสุขไปจากแผ่นดินโลก เพื่อให้คนทั้งปวงรบราฆ่าฟันกัน และผู้นี้ได้รับดาบใหญ่เล่มหนึ่ง

5 เมื่อพระองค์ทรงแกะตราดวงที่สามนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ยินสิ่งที่มีชีวิตอยู่ตัวที่สามร้องว่า “มาดูเถิด” แล้วข้าพเจ้าก็แลเห็น และดูเถิด มีม้าดำตัวหนึ่ง และผู้ที่ขี่ม้านั้นถือตราชู

6 แล้วข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงออกมาจากท่ามกลางสิ่งที่มีชีวิตอยู่ทั้งสี่นั้นว่า “ข้าวสาลีราคาทะนานละหนึ่งเดนาริอัน ข้าวบารลีสามทะนานต่อหนึ่งเดนาริอัน และเจ้าอย่าทำอันตรายแก่น้ำมันและน้ำองุ่น”

7 เมื่อพระองค์ทรงแกะตราดวงที่สี่นั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงสิ่งที่มีชีวิตอยู่ตัวที่สี่ร้องว่า “มาดูเถิด”

8 แล้วข้าพเจ้าก็แลเห็น และดูเถิด มีม้าสีกะเลียวตัวหนึ่ง ผู้ที่นั่งบนหลังม้านั้นมีชื่อว่าความตาย และนรกก็ติดตามเขามาด้วย และได้ให้ทั้งสองนี้มีอำนาจล้างผลาญแผ่นดินโลกได้หนึ่งในสี่ส่วน ด้วยดาบ ด้วยความอดอยาก ด้วยความตาย และด้วยสัตว์ร้ายแห่งแผ่นดิน

 

หากมองตามคำพยากรณ์เชิงเปรียบเปรยของพระวิวรณ์แล้ว เชื้อไวรัส COVID-19 อาจจะเป็น ‘ม้าตัวที่สี่’ ได้แก่ ม้าสีกะเลียวหรือเขียวอมดำ กล่าวคือ เป็นม้าแห่งความตายจากเชื้อโรคระบาด ที่มี “อำนาจล้างผลาญแผ่นดินโลกได้หนึ่งในสี่ส่วน”

การระบาดของโรคร้ายย่อมมีอานุภาพในการทำลายล้างชีวิตผู้คนอันเป็นที่รักของเรา และกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพวกเรา ในขณะเดียวกัน ก็กระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในแง่ของการจัดระเบียบโลกใหม่ การปรับดุลแห่งการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนใหม่ และการเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจโลกใหม่ไปในทิศทางของลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ การถ่างช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจการเมืองให้กว้างขึ้น การเมืองอัตลักษณ์ที่แบ่งแยกความเป็นเรากับคนอื่นอย่างแข็งกระด้าง และความแปลกแยกทางสังคมในระบบทุนนิยม

วันนี้ เชื้อไวรัส COVID-19 กำลังตั้งคำถามกับมายาคติที่ว่า เศรษฐกิจหรือทุนนิยมต้องมาก่อน หรือคำกล่าวที่ว่า “It’s economy, stupid.” เอาเข้าจริงแล้ว ชีวิตที่ดี (good life) อาจจะเป็นเพียงชีวิตที่มีสุขภาพดี ปลอดจากเชื้อโรค ในชุมชนทางการเมืองที่วางอยู่บนความเท่าเทียมกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และมีความรับผิดชอบทางสังคมซึ่งกันและกันเท่านั้นเอง ดังที่คุณหมอ Li Wenliang ซึ่งเป็นคนเปิดเผยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในเมืองอู่ฮั่น (Wuhan) และต่อมาเสียชีวิตลงอย่างน่าเศร้า ได้กล่าวไว้อย่างชวนคิดว่า “I think a healthy society should not only have one kind of voice.”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save