fbpx

มอดไหม้ในสแกนดิเนเวีย 

ในตำนานของอเล็กซานเดอร์ กษัตริย์เปอร์เซียนาม อาร์ทาเซอร์เซส (Artaxerxes) เตรียมยุทธนาวีบุกดินแดนอียิปต์ของฟาโรห์เนคทาเนบอส (Nectanebos) และเข้าโจมตีหวังเอาดินแดน เมื่อกองเรือของเปอร์เซียเข้าสู่น่านน้ำของอียิปต์ เนคทาเนบอสออกคำสั่งให้มีการสร้างหุ่นขี้ผึ้งขนาดจำลองสองตัว ทรงนำหุ่นทั้งสองวางไว้ในอ่างและเริ่มบริกรรมคาถา จากนั้นไม่นาน ก็เกิดอาเพศ​ อากาศวิปริต คลื่นลมพายุโหมกระหน่ำทำลายกองเรือและทหารฝ่ายเปอร์เซียเสียสิ้น

ใน Gesta Romanorum (ว่าด้วยนิทาน ตำนานและเรื่องเล่าปรัมปรา ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14) มีเรื่องราวของอัศวินผู้หนึ่ง กำลังจาริกแสวงบุญไปยังกรุงโรม แต่ขณะเดียวกัน ภรรยาของเขาที่บ้านก็กำลังคบชู้กับนักบวชคนหนึ่ง ชู้จึงวางแผนร้าย จะฆ่าอัศวินเสียด้วยการปั้นหุ่นขี้ผึ้งขึ้นมาเป็นรูปจำลอง และยิงธนูปักอกหุ่นขี้ผึ้งตัวนี้เพื่อทำให้อัศวินตายเสีย แต่ด้วยเหตุใดก็ตาม อัศวินคนนี้เกิดมีนิมิต เห็นผู้มาเตือนว่ามีคนปองร้าย เขาเห็นสะท้อนในกระจกว่าชายชู้ยิงลูกศรมาที่เขาเพื่อหวังสังหาร จึงหลบได้ทัน แม้ชายชู้จะพยายามอีกครั้งหนึ่งก็ยังพลาด สุดท้ายในการพยายามครั้งที่สาม ลูกธนูเลี้ยวกลับในอากาศและพุ่งมาปักชายชู้ตายในที่สุด 


ตำนานว่าด้วยเรื่องการสร้างหุ่นขึ้นมาแทนคนและสาปไปที่หุ่น หรือการกระทำสาปแช่งให้มีอันเป็นไปต่างๆ นาๆ นี้ เป็นพิธีที่กระทำกันทั่วไปในโลกโบราณ 

แต่เมื่อล่วงเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 16 เราเริ่มเห็นศาสนจักรขยับเข้าปราบปราม ตั้งคณะไต่สวน ประหัตประหารผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีการกระทำอันเข้าข่ายการบ่อนทำลาย (maleficium) 

ตลอดช่วงศตวรรษที่ 16-17 มีการสังหารผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นแม่มดทั่วยุโรป จำนวนผู้ที่ถูกฆ่าทั้งหมดนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันเรื่อยมา แต่หากจะกล่าวว่ามีคนถูกสังหารไปหลายหมื่นคนคงไม่เป็นตัวเลขที่เกินเลยไปนัก และนี่เราว่ากันเฉพาะยุโรปเหนือเท่านั้น 

วันนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องการล่าแม่มดในสแกนดิเนเวีย 

การล่าแม่มดในยุโรป (ที่มาภาพ)

ปราบผีในช่วงเปลี่ยนแปลง


การเคลื่อนไหวปฏิรูปศาสนา (Reformation) ในศตวรรษที่ 16 นั้น แก่นหลักคือความพยายามของคริสต์ศาสนาในการกำจัดคน หรือกิจกรรมนอกศาสนา (pagan) หรือความเชื่อและพิธีกรรมเหนือธรรมชาติต่างๆ 

สแกนดิเนเวียและยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ว่านี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโครงสร้างการปกครอง กล่าวคือ กษัตริย์เริ่มเข้าครองอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจเหนือองค์กรคริสต์ศาสนา กองทัพ การเก็บภาษี รวมถึงการปกครองระดับท้องถิ่น ซึ่งเราจะเห็นได้ผ่านรัชสมัยของเฮนรีที่แปด (Henry VIII, 1491-1547) ในอังกฤษ ฟรานซิสที่หนึ่ง (Francis I, 1515-1547) ในฝรั่งเศส หรือกุสตาฟ วาซา (Gustav Vasa, 1496-1560) ในสวีเดน เป็นต้น ที่มีการเรียกว่าสถาบันกษัตริย์ใหม่ (new monarchies) ในประวัติศาสตร์ยุคสมัยใหม่ตอนต้นของยุโรป 

ในขณะเดียวกัน มีการเปลี่ยนแปลงในระบบตุลาการ โดยศาลเคลื่อนเข้าอยู่ภายใต้ระบบราชการ ซึ่งประกอบไปด้วยนักกฎหมายอาชีพและผู้พิพากษาผู้รู้หนังสือ ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมจึงค่อยๆ เคลื่อนจากการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในระดับชุมชน มาสู่กระบวนการไต่สวนหาความผิด 

อย่างไรก็ดี การไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในระดับชุมชนไม่ได้หมายความว่าเต็มไปด้วยความสมานฉันท์ ยุติธรรมมากกว่า หรือไม่มีความรุนแรงแต่อย่างใด ประเด็นคือ ระบบตุลาการมีความเป็นทางการและมีความเป็นราชการมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 16 

นอกจากนี้ เราจะเห็นว่าช่วงเวลาแห่งการล่าแม่มดทั่วทั้งโลกเก่าและโลกใหม่นี้ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวยากหมากแพง และโครงสร้างอำนาจที่ควบคุมโดยเพศชายถูกท้าทาย เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เกิดกบฏชาวนาถี่ยิบทั่วยุโรป ทั้งหมดนี้ถูกนำเสนอในงานชิ้นเอกอย่าง Caliban and the Witch (2004) โดย ซิลเวีย เฟเดอริชี (Silvia Federici) แล้ว 

ส่วนกรณีของการล่าแม่มดในสแกนดิเนเวียเป็นอย่างไรบ้าง ผมขอนำมาไล่เรียงเล่าให้ฟังนะครับ 

แม่มด จากมุมมองเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 (ที่มาภาพ)

เดนมาร์ก


การล่าแม่มดเข้มข้นช่วงศตวรรษที่ 16 กรณีที่เป็นที่รู้จักกันมากนั้นจะอยู่ในกลุ่มเจ้านายและชนชั้นสูง ในช่วงปี 1543-1544 มีการตั้งศาลไต่สวนกรณีแม่มดในทั้งสองฝั่งของช่องแคบเออระซุนด์ (Öresund) โดยมีการกล่าวหาผู้หญิงคนหนึ่งที่ปั้นหุ่นขี้ผึ้งของกษัตริย์เดนมาร์กว่าเป็นแม่มด แต่สุดท้ายแล้วนางปั้นหุ่นขี้ผึ้งของกษัตริย์เพื่อนำไปเป็นแบบของอนุสาวรีย์ที่จะตั้งในเมืองมัลเม่อ (Malmö) นี่แสดงให้เห็นถึงความหละหลวมและการเหมารวมของคดีความว่าด้วยการกล่าวหาผู้ต้องสงสัยที่จะกระทำการอันเข้าข่ายบ่อนทำลาย 

แต่ยังมีกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกเผาสังหารอีกมาก กรณีที่โด่งดังที่สุดคดีหนึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายว่าด้วยการกล่าวหาแม่มดเลยทีเดียว กล่าวคือ ในช่วงทศวรรษที่ 1580 มีสตรีชั้นสูงนางหนึ่งนามว่า คริสเตนซ์ ครุกโคว (Christence Kruckow, 1558-1621) เธอพร้อมทั้งน้องสาวและคนใช้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากในการไต่สวนหาความผิดของกฎหมายก่อนหน้านี้ มีกระบวนการการทรมานผู้ต้องสงสัย ทำให้สาวใช้ของนางถูกทรมานและบังคับให้สารภาพไปว่านางเป็นแม่มด อย่างไรก็ดี นางครุกโควหนีรอดไปได้หลายครั้ง จนในที่สุดนางก็ถูกนำตัวมาขึ้นศาลสภาสูงในโคเปนเฮเกน ซึ่งนับว่าเป็นการไต่สวนคดีแม่มดที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในเดนมาร์ก สุดท้ายนางถูกตัดสินประหารและยึดทรัพย์ไปเก็บไว้ที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน 

กรณีของนางครุกโควก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในสาธารณะของเดนมาร์ก นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้มีการกำหนดโทษและกำหนดความผิดของการกระทำที่เข้าข่ายแม่มดให้ละเอียดยิ่งขึ้น ไม่หว่านแหอย่างที่เป็นมาก่อน  


นอร์เวย์ 


ในนอร์เวย์มีความคล้ายคลึงกับเดนมาร์กอยู่บ้าง จากหลักฐานแล้วมีการตั้งศาลไต่สวนกรณีแม่มดประมาณ 1,000 กรณี และมีผู้ถูกตัดสินประหารอยู่ประมาณ 280 คน กฎหมายของนอร์เวย์เองก็ได้รับอิทธิพลจากเดนมาร์ก จึงมีการใช้กฎหมายในลักษณะเดียวกัน

ประเด็นที่สำคัญคือ ในกระบวนการไต่สวนเอาผิดคนเป็นแม่มดจะอนุญาตให้ทรมานผู้ต้องสงสัยได้ โดยกระทำกันมาอย่างยาวนานตลอดศตวรรษที่ 16 นั่นหมายความว่า ผู้ที่ต้องสงสัยถูกทรมานจนกระทั่งให้พูดชื่อใครก็ตามที่ดูจะเข้าข่ายการกระทำการแม่มด ซึ่งมีการศึกษาในเรื่องนี้แล้วพบว่า มีผู้ต้องสงสัยถูกประหารไป 353 คน เพียงเพราะถูกซัดทอด ปราศจากหลักฐานและการไต่สวน 

และเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง 

ภาพวาดแม่มดโดยฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) ศิลปินชาวสเปน (ที่มาภาพ)

สวีเดน


ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 เกิดปรากฏการณ์กลัวแม่มดอย่างกว้างขวาง มีการตั้งศาลไต่สวนและประหารแม่มดอย่างน้อย 100 คน ที่น่าสนใจคือ มีการใช้เด็กเป็นพยานในการกล่าวหาคนว่าเป็นแม่มด เช่น ในเดือนธันวาคม ปี 1664 มีการติดสินบนเด็กผู้ชายวัย 5 ขวบ โดยการให้อาหารเป็นการตอบแทน เพื่อให้เด็กให้การว่า สมาชิกครอบครัวตัวเองเป็นแม่มด ไม่ว่าจะเป็นแม่ ยาย หรือพ่อของเขา

นอกจากนี้ ปี 1668 มีคนจำนวนมากถูกจับเนื่องจากมีการใช้เด็กเป็นพยานกล่าวหาว่า พวกเขาพาเด็กไปแหล่งซ่องสุมของแม่มด จนสุดท้ายมีผู้หญิง 18 คน และเด็กสาว 4 คน ถูกตัดสินประหาร โดยที่ก่อนประหารพวกเขาถูกทรมาน

หรือในเดือนสิงหาคม ปี 1669 มีผู้ต้องสงสัยราว 60 คน และเด็กหลายร้อยคนต้องถูกไต่สวนว่ามีพฤติการเข้าข่ายการเป็นแม่มด ท้ายที่สุดมี 23 คนถูกตัดสินประหาร

แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 

กรณีการล่าแม่มดในสวีเดนในปี 1670 (ที่มาภาพ)

มอดไหม้


นานมาแล้ว ในดินแดนอันเหน็บหนาว มีการแพร่กระจายของความกลัวต่อภัยที่พวกเขาจับต้องไม่ได้ พวกเขาจึงตื่นตระหนก ควานหาผู้ที่จะมารับผิดชอบต่อความกลัว และนำคนเหล่านั้นขึ้นแท่นและจุดไฟเผา เพื่อหวังว่าจะทำให้ความกลัวของพวกเขาบรรเทาลง 

ทว่า ความกลัวที่ว่านี้ อาจจะยังไม่ได้ปลาสนาการไปไหน และการควานหาหนทางในการกำจัดความกลัว ก็อาจจะเกิดขึ้นไม่นานมานี้ พร้อมกับการมอดไหม้ของอีกหลายผู้ต้องสงสัยว่ามีการกระทำอันบ่อนทำลาย


อ้างอิง


Bengt Ankarloo “Witch Trials in Northern Europe 1450-1700” in Witchcraft and Magic in Europe: The Period of Witch Trials (2002)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save