fbpx

สหรัฐฯ ญาติดีกับศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC): แนวโน้มของสงครามรัสเซียต่อยูเครน

ข่าวเล็กๆ แต่มีนัยอันใหญ่หลวงที่ออกมาจากทำเนียบขาว สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นี้ คือการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนประกาศให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐบาลอเมริกันให้ความร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ในการดำเนินคดีข้อหาอาชญากรรมสงครามที่รัสเซียกระทำต่อยูเครนในปีที่ผ่านมาในหลายข้อหา เช่น การฆาตกรรมและประหารชีวิต การทิ้งระเบิดในเมืองและทำลายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของฝ่ายพลเรือน การบังคับให้ออกจากบ้านและเมือง การลักพาเด็ก การทรมาน การทำร้ายทางเพศและการกักขังอย่างผิดกฎหมาย

ในเดือนมีนาคม หลังจากศาลอาญาระหว่างประเทศรับดำเนินการสอบสวนการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนและทารุณกรรมต่อชาวยูเครน โดยเฉพาะต่อเด็กและสตรี ทำร้ายและทำลายผู้คนและบ้านเรือนในระหว่างสงคราม นั่นคือข้อหาอาชญากรรมสงคราม ศาลอาญาฯ ตัดสินใจแจ้งข้อกล่าวหาต่อประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินในข้อหาลักพาเด็กยูเครนเข้าไปในรัสเซียโดยผิดกฎหมายเป็นเรื่องแรก

การที่รัฐบาลอเมริกาประกาศร่วมมือกับศาลอาญาฯ ในการดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามต่อปูตินนั้น จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่มาก ดังที่รู้กันทั่วไปว่าสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นสมาชิกและสนับสนุนกิจการของศาลอาญาระหว่างประเทศแต่อย่างใด ด้วยเหตุผลหลักคือมันเท่ากับเปิดโอกาสและช่องทางให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาสอบสวนและดำเนินคดีอาชญากรรมสงครามกับทหารและหน่วยงานของอเมริกาที่ปฏิบัติการในเวทีสงครามต่างๆ ทั่วโลกได้ ข้อนี้เป็นปัญหาระหว่างประเทศอันมหึมาที่สหรัฐฯ เผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีจากฝ่ายค้านและฝ่ายตรงข้ามในการเข้าร่วมสงครามตั้งแต่สงครามเวียดนามเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ทั้งสงครามที่อเมริกาเริ่มเองหรือสานต่อก็ตามในแทบทุกทวีปในโลก

ก่อนการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้นมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติดำเนินการเรื่องอาชญากรรมระหว่างประเทศไม่ได้เพราะไม่มีองค์กรอย่างเป็นทางการ ได้แต่อาศัยการตั้งศาลเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาการใช้ความรุนแรงในประเทศต่างๆ เช่น ยูโกสลาเวียและรวันดา ต่อมาสมาชิกสหประชาชาติเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีองค์กรยุติธรรมสำหรับดำเนินการเรื่องความรุนแรงระหว่างประเทศได้แล้ว จึงก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศขึ้นตามสนธิสัญญาปี 1998 หรือกฎบัตรกรุงโรม โดยมีสำนักงานในกรุงเฮก

ต่อเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศนี้ อเมริการักษาจุดยืนเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดคือไม่ร่วมลงนามในการก่อตั้ง แต่สหราชอาณาจักรที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดนั้นร่วมลงนามด้วย ในปี 2000 ประธานาธิบดีบิล คลินตันลงนามในกฎบัตรกรุงโรม แต่อ้างว่ามันมีข้อบกพร่องจึงไม่ส่งเรื่องเข้าวุฒิสภาเพื่อให้สัตยาบัน และในปี 2002 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ถอนชื่อออกจากกฎบัตรนี้

ในปี 1999 และ 2002 รัฐสภาอเมริกันผ่านกฎหมายวางข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือแก่ศาลอาญาฯ นี้ ต่อมาสมัยประธานาธิบดีโอบามา ความสัมพันธ์เริ่มดีขึ้นเมื่อสหรัฐฯ ร่วมมือในการให้รางวัลนำจับเจ้าพ่อมาเฟียแอฟริกันที่ศาลอาญาระหว่างประเทศได้พิพากษาลงโทษแล้ว ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขาประกาศห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาทำการสอบสวนในอเมริกา หลังจากศาลฯ รับดำเนินคดีกับทหารอเมริกันที่ทำทารุณกรรมในอัฟกานิสถาน

กระทั่งถึงสมัยประธานาธิบดีไบเดนที่คองเกรสลดการจำกัดความร่วมมือกับศาลอาญาฯ คือไบเดนประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามและสั่งให้หน่วยงานรัฐบาลกลางให้ความร่วมมือช่วยทางศาลอาญาฯ เพื่อดำเนินคดีกับรัสเซียในที่สุด

การตัดสินใจให้ความร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศนับเป็นการพลิกโฉมหน้าอเมริกาในจุดยืนระหว่างประเทศครั้งสำคัญ แน่นอนว่าทางทำเนียบขาวคงไม่ดำเนินการไปฝ่ายเดียวในการตัดสินใจในประเด็นที่มีความขัดแย้งและความเห็นต่างมากมาย เพราะผลจากการเปลี่ยนท่าทีในนโยบายต่างประเทศย่อมมีผลกระเทือนไปทั่วทุกองคาพยพของการเมืองที่โยงใยถึงมวลประชาชนและสื่อมวลชน และอาจนำไปสู่การต่อต้านคัดค้านจากกลุ่มและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้ โดยจะสร้างภาระและความลำบากให้แก่รัฐบาลต่อไป

ในเรื่องนี้ประธานาธิบดีไบเดนรับลูกจากสภาคองเกรสอีกทีหนึ่ง หลังจากที่กรรมาธิการฝ่ายกฎหมาย ริชาร์ด เดอร์บิน (เดโมแครต) และลินด์ซีย์ เกรแฮม (รีพับลิกัน) แกนนำสำคัญของสองพรรคออกมาเรียกร้องให้หาทางปลดล็อกความร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศเสียที รวมทั้งโจมตีกระทรวงกลาโหมที่ปิดกั้นในเรื่องนี้มากเกินไป ฝ่ายประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาก็กระตุ้นให้รัฐบาลสร้างความร่วมมือกับศาลอาญาฯ เมื่อเรื่องการลักขโมยเด็กจากยูเครนไปยังรัสเซียเปิดเผยออกมา ทางกระทรวงยุติธรรมและต่างประเทศก็ประกาศยินดีให้ความร่วมมือในเรื่องนี้เต็มที่ ในขณะที่ฝ่ายกลาโหม (เพนตากอน) ก็ยืนยันเหมือนเดิมในจุดยืนคัดค้านเหมือนที่เคยทำมาในรัฐบาลก่อนๆ ประเด็นที่พวกนี้ตอกย้ำคือ ศาลอาญาระหว่างประเทศจะต้องไม่ใช้อำนาจทางศาลต่อพลเมืองของประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในสนธิสัญญานี้ ในทางรูปธรรม ได้แก่ สหรัฐฯ และรัสเซีย

ในที่สุด เมื่อเดือนธันวาคม สภาคองเกรสก็ผ่านกฎหมายที่เห็นชอบร่วมกันของสองพรรค (ซึ่งเป็นเรื่องหาได้ยากในขณะนี้) โดยบรรจุในกฎหมายการจ่ายเงิน คือทำเป็นคำขอเพิ่มเติมแนบท้ายในกฎหมายนั้น แทนที่จะออกเป็นกฎหมายใหม่ซึ่งอาจยุ่งยาก โดยให้ยกเว้นข้อห้ามในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านอื่นๆ ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ กฎหมายนั้นอนุญาตให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการ “สอบสวนและดำเนินคดีต่อบุคคลต่างชาติที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์ในยูเครน รวมถึงการช่วยเหลือต่อเหยื่อและพยานด้วย”

ไม่ต้องสัมภาษณ์ประธานาธิบดีโจ ไบเดนว่า ทำไมรัฐบาลสหรัฐฯ ถึงยอมเปลี่ยนจุดยืนในเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างไม่เกรงกลัวแรงสะท้อนกลับที่จะมีต่อฝ่ายกองทัพอเมริกันที่ไปรบในสมรภูมิต่างๆ หรือ เพราะคำตอบที่คงเดาไม่ผิดก็คือปัญหาสงครามยูเครนที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม แม้ประกาศว่าจะทำการรุกโจมตีกลับเพื่อยึดพื้นที่ที่รัสเซียยึดครองไปตอนเริ่มการรบเมื่อปีที่แล้ว แต่ในความเป็นจริงกองกำลังยูเครนก็มีความลำบากในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เพราะรัสเซียวางกำลังต้านไว้เหนียวแน่นมาก ในขณะที่เร่งการโจมตีทางอากาศต่อเมืองสำคัญในยูเครนมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้สังเกตการณ์เห็นตรงกันว่า เหตุที่ยูเครนยังสามารถรักษาประเทศไว้ได้และตอบโต้รัสเซียได้ระดับหนึ่ง เป็นเพราะได้รับการช่วยเหลือทางอาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญๆ จากตะวันตก คือ นาโตและสหรัฐอเมริกากับอังกฤษ หาไม่ก็คงม้วนเสื่อไปจากการถล่มอย่างหนักของรัสเซียที่มีความเหนือกว่าทั้งจำนวนประชากรทหาร อาวุธและเครื่องมือที่ผลิตได้เองและหามาจากนอกประเทศอย่างไม่ขาดสาย ฝ่ายที่หนุนช่วยยูเครนที่สำคัญที่สุดในการรบครั้งนี้คือสหรัฐฯ เพราะให้และหาทางช่วยด้านต่างๆ อย่างมากจนประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า สงครามนี้เป็นการรบระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ และนาโต

ทำไมสหรัฐและนาโตรวมอังกฤษ (ที่แยกออกจากอียูแล้ว) ถึงตัดสินใจเข้าร่วมในการรบทางอ้อมต่อรัสเซียอย่างเอาเป็นเอาตาย

ผมคิดว่าในระยะยาวและในขอบเขตของระบบโลกโดยเฉพาะจากมุมมองของประวัติศาสตร์ สงครามรัสเซียบุกยูเครนเป็นสงครามระหว่างสองโลกทัศน์ สองระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก และสองอารยธรรม ที่ต่อกรกันว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้ควบคุม กำกับและกำหนดระเบียบปฏิบัติของประเทศต่างๆ ในโลกต่อไป

ว่าไปก็คล้ายกับสงครามเย็นระหว่างโลกเสรีที่มีสหรัฐฯ และยุโรปฝ่ายหนึ่ง กับโลกคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นแกนนำอีกฝ่ายหนึ่ง ตอนนั้นทั้งสองฝ่ายเสนอจุดหมาย วิธีการ และอุดมการณ์ในการสร้างประเทศและความก้าวหน้าที่แตกต่างตรงข้ามกันอย่างขาวกับดำ โลกเสรีเสนอวิธีการประชาธิปไตยเสรีในระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี และอุดมการณ์เสรีนิยม (เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ) ส่วนฝ่ายคอมมิวนิสต์เสนอวิธีการประชาธิปไตยรวมศูนย์ เศรษฐกิจสังคมนิยม และอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่คนเท่าเทียมกันหมดในการใช้ชีวิต

การต่อสู้ระหว่างสองค่าย ซึ่งต่างฝ่ายก็มีจุดอ่อนและข้อบกพร่องในระบบของตนเอง บรรลุจุดจบท้ายสุดเมื่อสหภาพโซเวียตประกาศสลายตัวและเปิดทางให้แก่การนำเข้าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตลาดระดับต่างๆ เข้ามาแทนระบบสังคมนิยมที่ไม่มีประสิทธิภาพในการสนองตอบความต้องการของคนได้เพียงพอ ที่สำคัญคือระบบทุนนิยมโลกไม่เคยหยุดการขยายตัวและเติบใหญ่เลย จนครอบคลุมไปทั่วทุกประเทศในโลกยกเว้นประเทศสังคมนิยมเท่านั้น ความพ่ายแพ้ในสงครามเย็นจึงมาจากปัญหาหลักทางเศรษฐกิจและตามมาด้วยปัญหาการเมืองที่ผู้คนต้องการเสรีภาพและสิทธิตามธรรมชาติ

หลังจากเปิดประเทศและดัดแปลงระบบทุนนิยมให้เข้ากับสภาพในประเทศของตนเองได้แล้ว ทั้งรัสเซียและจีนต่างก็พัฒนาระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเป็นการใหญ่ แต่ก็ไม่ปล่อยให้ทุนและการเมืองเป็นเสรี ยังอยู่ภายใต้การครอบงำและยึดกุมของรัฐที่อยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์หรือพรรคอื่นที่ทำหน้าที่คล้ายกัน ตรงนี้คือความอัศจรรย์ของระบบทุนนิยม ที่สามารถเติบใหญ่ขยายตัวไปได้ไม่ว่าระบบรัฐจะเป็นอะไรก็ตาม

ข้อคิดในประวัติศาสตร์ระยะเปลี่ยนผ่านของรัสเซียและจีน ได้แก่ การที่ระบบทุนนิยมจะมีหน้าตาและเนื้อหาอย่างไรนั้น ในที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับว่าตอนที่เริ่มลงรากปักฐานนั้น ระบบและความเป็นมาของรัฐหรือประเทศนั้นเป็นอย่างไร ทั้งรัสเซียและจีนจากสมัยเป็นสังคมนิยม คือประเทศที่มีระบบการเมืองแบบรวมศูนย์ขั้นเผด็จการทางชนชั้น นั่นคือชนชั้นอื่นๆ ไม่มีพัฒนาการและพลังในตัวมันเอง โดยเฉพาะคนชั้นกลาง

รัสเซียมีกระบวนการแปลงกายเป็นทุนนิยมที่ต่างจากจีน ที่สำคัญคือการพังทลายของพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต ทำให้ระบบการนำ-การคัดเลือกแกนนำและผู้ปฏิบัติงานของพรรคฯ ก็ยุติลงไปด้วย ระบบที่เข้าแทนที่คือระบบเจ้าพ่อมาเฟียที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและนายทุนเอกชนใหญ่ จนมีคนถึงกับตราหน้าว่ารัสเซียปัจจุบันปกครองโดยระบบเจ้าพ่อมาเฟียมีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าใหญ่ มีคณะกลุ่มแก๊งต่างๆ ใต้ดินเป็นเครื่องมือนอกจากกลไกทางการของรัฐเอง ตัวอย่างล่าสุดคือการก่อการกำเริบของกลุ่มวากเนอร์ที่มีปริโกซินเป็นแกนนำ

ทั้งหมดนี้ทำให้นโยบายการยึดครองโลกของปูตินด้วยการใช้กำลังบุกหวังยึดครองยูเครนเป็นสัญญานอันตรายที่ยุโรปและนาโตและสหรัฐฯ ต้องรีบลงมือตัดไฟแต่ต้นลมลงให้ได้ ก่อนที่ไฟมหากาฬนี้จะไหม้ลุกลามไปทั่วยุโรปและทั่วโลก อันจะนำไปสู่การทำลายโลกเสรีที่มีตะวันตกเป็นผู้นำลงไป และแทนที่ด้วยแกนนำโลกใหม่ภายใต้รัสเซียและจีน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save