fbpx

ประตูสามบานในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ

ในช่วงที่ผ่านมา บรรยากาศความเหน็บหนาวในความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายลง ภายหลังการเยือนประเทศจีนของแอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายนที่ผ่านมา ต่อเนื่องด้วยการเยือนประเทศจีนของเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 6-9 กรกฎาคม ซึ่งนับเป็นการเยือนประเทศจีนของผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ ครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19

ทว่าการเยือนจีนของสองคนนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เริ่มจากระยะเวลา โดย แอนโธนี บลิงเคน พักอยู่ที่จีนเพียง 1 คืนเท่านั้น ในขณะที่ เจเน็ต เยลเลน เยือนจีนนานถึง 4 วัน

ในช่วงที่บลิงเคนเยือนจีนนั้น เขาต้องผ่านทีละด่านจึงจะได้พบผู้นำของจีนในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากเข้าพบหารือกับ ฉิน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนก่อน จากนั้นเขาได้พบกับ หวาง อี้ ผู้เป็นเบอร์หนึ่งด้านการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จากนั้นถึงจะได้ไฟเขียวให้เข้าพบ สี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีน ซึ่งแต่เดิมไม่มีการยืนยันอย่างแน่ชัดว่าในการเยือนจีนในครั้งนี้ของบลิงเคนนั้น เขาจะได้เข้าพบ สี จิ้นผิง หรือไม่ สะท้อนว่าหากการพูดคุยกับกับผู้นำระดับล่างก่อนหน้าไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ก็อาจไปไม่ถึงการเข้าพบสีจิ้นผิง

ในขณะที่การเยือนจีนของเยลเลนนั้น เริ่มต้นตั้งแต่แรก เยลเลนก็ได้เข้าพบและพูดคุยกับ หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งเป็นผู้นำระดับสูงสุดในด้านการบริหารเศรษฐกิจ จากนั้นจึงค่อยพบหารือกับรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปจนถึงผู้ว่าธนาคารกลางของจีน โดยไม่ต้องค่อยๆ ผ่านทีละด่านเหมือนกำลังเล่นเกมแบบบลิงเคน เพราะมีประตูบานใหญ่เปิดกว้างต้อนรับทันทีที่เธอไปถึงจีน

ตัวเยลเลนเองยังได้พบกับมิตรสหายชาวจีนมากมายและหลากหลายกว่าบลิงเคน เพราะเธอเคยดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางของสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลโอบามา จึงทำให้เธอคุ้นเคยกับทีมเศรษฐกิจจีนในอดีต เมื่อมาเยือนจีนในครั้งนี้ เธอจึงได้พบกับ โจว เสี่ยวชวน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางชื่อดังของจีน และยังได้พบอดีตรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจของจีนที่เคยรับผิดชอบการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ในช่วงสงครามการค้าของทรัมป์อย่าง หลิว เฮ่อ รวมทั้งได้ร่วมทานอาหารกับกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์หญิงดาวรุ่งของจีนเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันอีกด้วย

แม้เยลเลนจะเป็นผู้ที่คัดค้านการทำสงครามการค้ากับจีนของทรัมป์มาโดยตลอด และเป็นผู้ที่มีความเห็นค่อนข้างเป็นมิตรกับจีน แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเธอเข้าร่วมในรัฐบาลไบเดน เสียงของเธอในประเด็นเรื่องจีนเริ่มแข็งกร้าวขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยเธอเริ่มแสดงความเห็นในเรื่องความมั่นคงว่า จีนกับสหรัฐฯ ไม่อาจลดราวาศอกกันได้ รวมถึงในเรื่องทั่วไปอื่นๆ เธอยังคงคัดค้านการแยกห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ซึ่งเธอเคยกล่าวว่า การแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน (decoupling) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีแต่จะนำไปสู่หายนะ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าในบรรดาผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ ในยุคปัจจุบัน เยลเลนมีท่าทีที่เป็นมิตรกับจีนมากที่สุดและมีสายสัมพันธ์กับชนชั้นนำของจีนดีที่สุด

ทั้งนี้ เราอาจแบ่งประตูความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ออกเป็นสามบาน ได้แก่ บานความสัมพันธ์ด้านการทหาร บานความสัมพันธ์ด้านการเมือง และบานความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

ประตูความสัมพันธ์บานแรกคือด้านการทหาร จนถึงบัดนี้ยังคงปิดตาย ไม่มีการติดต่อสื่อสารหรือพูดคุยกันระหว่างผู้นำระดับสูงของกองทัพทั้งสองฝ่าย อาจกล่าวได้ว่าจีนเป็นคนปิดประตูบานนี้ใส่หน้าสหรัฐฯ เพราะจีนมองว่าสหรัฐฯ ไม่จริงใจทั้งในเรื่องการขายอาวุธให้ไต้หวัน ข้อกล่าวหาต่อจีนเรื่องบอลลูนสอดแนม และการมองจีนเป็นภัยคุกคาม และสหรัฐฯ เองก็ได้คว่ำบาตรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบันของจีนตั้งแต่ก่อนที่เขาจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

เห็นได้ชัดในการประชุม Shangri-La Dialogue ซึ่งเป็นการประชุมเกี่ยวกับความมั่นคงในภูมิภาคที่สิงคโปร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีนกับสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมประชุมที่เดียวกัน ทว่าไม่มีการพบปะพูดคุยกัน แต่ละฝ่ายกลับแยกกันเข้าประชุมกับคนอื่นๆ พร้อมแข่งกันกล่าวโทษฝ่ายตรงข้ามให้ผู้เข้าร่วมคนอื่นฟัง

ในขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ต้องการแง้มประตูบานนี้ให้เปิด โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องต่อสายตรงถึงกันได้และต้องมีช่องทางการสื่อสารที่เปิดถึงกัน เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดหรืออุบัติเหตุใดๆ ที่อาจยกระดับจนเป็นสงครามอันรุนแรงได้ แต่ฝั่งจีนนั้นเห็นว่าหากคุยกันไม่รู้เรื่องก็อย่าคุยกันเลยเสียจะดีกว่า และยังคงต้องการใช้ประตูบานนี้เป็นเครื่องมือต่อรองกับสหรัฐฯ ในประเด็นอื่นๆ จึงทำให้ประตูบานนี้ยังคงปิดตายอยู่

ประตูบานที่สอง คือความสัมพันธ์ด้านการเมือง ภายหลังจากการเยือนจีนของแอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะเห็นว่าประตูบานนี้เปิดแล้วครึ่งหนึ่ง เพราะบลิงเคนสามารถพบกับคู่เจรจาตั้งแต่ ฉิน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้พบกับ หวาง อี้ เบอร์หนึ่งด้านการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไปจนถึงพบกับ สี จิ้นผิง แต่บรรยากาศการประชุมกลับยังคงไม่เป็นมิตร เนื่องจากต่างฝ่ายต่างเอาแต่พูดความไม่พอใจให้อีกฝ่ายฟัง แต่ก็ให้คำมั่นว่าจะพยายามช่วยกันประคับประคองความสัมพันธ์ไม่ให้ย่ำแย่ไปมากกว่านี้

เหตุผลที่ประตูบานนี้ยังเปิดได้ไม่ได้เต็มร้อย เพราะในด้านยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่แตกต่างกันตั้งแต่เรื่องไต้หวัน ยูเครน และการแผ่อิทธิพลของจีนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดังที่ไบเดนและบลิงเคนเคยกล่าวว่าจีนจะขึ้นมาเป็นคู่แข่งในทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในการแผ่อิทธิพลทางการทูต

ส่วนประตูบานสุดท้าย คือบานเศรษฐกิจ ประตูบานนี้ฝ่ายจีนค่อนข้างเปิดกว้าง เพราะจีนในตอนนี้มีแรงกดดันภายในสูงมากในปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้จีนตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐฯ และตะวันตก เพราะจีนเองก็ยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐฯ และตะวันตกสูงมากในเม็ดเงินด้านการลงทุนและการส่งออกสินค้า

ตั้งแต่รับตำแหน่งวาระที่สามเมื่อปลายปีที่แล้ว สี จิ้นผิง ส่งสารชัดเจนว่าเขาเปิดกว้างในเรื่องเศรษฐกิจ ดังที่เขาให้การต้อนรับ บิล เกตต์ ก่อนให้การต้อนรับผู้นำระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ เสียอีก ส่วน หลี่ เฉียง นายกฯ จีนคนใหม่ก็พบกับผู้นำทางธุรกิจของสหรัฐฯ มาแล้วหลายคนตั้งแต่รับตำแหน่ง

ล่าสุดคือการที่จีนให้การต้อนรับเจเน็ต เยลเลน อบอุ่นกว่าที่ต้อนรับบลิงเคน อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะพยายามเปิดกว้างประตูบานนี้ แต่ก็อาจเปิดได้เพียงสองในสามของช่องประตูเท่านั้น เพราะฝั่งสหรัฐฯ ยังคงไม่เปิดกว้างกับจีนในบางภาคเศรษฐกิจอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์อย่างเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor)

ดังนั้น แม้จีนจะพยายามเปิดประตูบานเศรษฐกิจนี้ แต่จะเห็นว่าสหรัฐฯ ยังคงยันไว้ไม่ให้แง้มกว้างเกินไป เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงออกจากจีนไปสู่ภูมิภาคอื่น และเพื่อทำให้สหรัฐฯ ไม่ต้องพึ่งพาจีนมากเกินไปในทางเศรษฐกิจการค้า ในขณะที่ประตูสองบานแรก คือบานการทหารและการเมือง เหมือนทั้งสองฝ่ายจะชอบปิดประตูใส่หน้ากันแรงๆ บ่อยๆ ให้ใจเต้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save