fbpx
ตกงานต้องไม่ตกอับ: ยกระดับ ‘เงินประกันการว่างงาน’ สร้างชีวิตมั่นคงในโลกผันผวน

ตกงานต้องไม่ตกอับ: ยกระดับ ‘เงินประกันการว่างงาน’ สร้างชีวิตมั่นคงในโลกผันผวน

เชื่อว่าหลายคนยังจำภาพของวิกฤตโควิด-19 ได้ดี และหนึ่งในภาพจำถึงโรคระบาดที่ไม่มีใครคาดครั้งนั้น คงหนีไม่พ้นภาพธุรกิจจำนวนมากต้องหยุดหรือเลิกกิจการ จนส่งผลให้คนทำงานมหาศาลต้อง ‘ว่างงาน’ ลงกะทันหัน

เราอยู่ในโลกซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของคนส่วนใหญ่ถูกผูกโยงกับรายได้จากการทำงานอย่างแยกไม่ออก แต่วิกฤตโควิดก็สะท้อนว่าความเสี่ยงว่างงานอาจย่ำกรายมาถึงตัวเราได้เสมอ เท่ากับว่า ‘สิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดในฐานะมนุษย์’ อย่างการกินอิ่ม นอนหลับ และใช้ชีวิตอย่างผาสุก อาจถูกพรากไปจากเราทุกเมื่อ

ในโลกเช่นนี้ ‘ระบบเงินประกันการว่างงาน’ ที่มุ่งเติมรายได้คุ้มครองมิให้คุณภาพชีวิตของคนทำงานและครอบครัวแย่ลงเกินไปในวันที่เขาว่างงาน จึงถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานอันสำคัญยิ่ง แทบจะเรียกว่าเป็น ‘แก่นหลัก’ ของรัฐสวัสดิการในหลายประเทศ

แต่น่าเศร้าที่ระบบประกันดังกล่าวของไทยในวันนี้ยังไม่สามารถทำหน้าที่รักษาความกินดีอยู่ดี-ศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์ของผู้ว่างงานได้อย่างเพียงพอเหมาะสม

ท่ามกลางบรรยากาศที่มีการพูดคุยเรื่องนโยบายอย่างคึกคักก่อนการเลือกตั้ง 101 PUB ชวนตรวจความเสี่ยงว่างงานที่กำลังเพิ่มขึ้นของคนไทย สำรวจแนวคิดและความสำคัญของ ‘เงินประกันการว่างงาน’ ในฐานะหลักประกันคุณภาพชีวิต – มิใช่เพียงสำหรับผู้ว่างงาน แต่รวมถึงครอบครัวของพวกเขา และเราทุกคนในระบบเศรษฐกิจเดียวกัน – ก่อนชวนวิเคราะห์ปัญหาของระบบประกันของไทย พร้อมเสนอแนวทางยกระดับหลักประกันนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตคนไทยในโลกเปราะบาง-ผันผวน

คนทำงานกำลังเสี่ยงว่างงานมากขึ้น

การว่างงานไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นความเสี่ยงที่คนทำงาน ‘ทุกคน’ ต้องเผชิญ งานศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าแรงงานในระบบประกันสังคม 62% ว่างงานอย่างน้อย 1 ครั้งในระยะ 8 ปี โดย 33% ว่างงาน 1-2 ครั้ง ครั้งละ 2-16 เดือน 14% ว่างงานตามฤดูกาลเป็นประจำแทบทุกปี ครั้งละ 2-8 เดือน และ 15% ว่างงานแล้วมิได้กลับเข้ามาทำงานในระบบอีกเลยตลอดช่วงเวลาดังกล่าว[1] สำหรับแรงงานนอกระบบ แม้จะไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่แรงงานกลุ่มนี้ถึง 23.7% ก็รายงานว่าการว่างงานเป็นปัญหาด้านการทำงานที่สำคัญที่สุด[2]

ความเสี่ยงนี้ยังอาจมาถึงตัวเราได้ ‘ทุกเมื่อ’ ย้อนกลับไป 3 ปีก่อน คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่รัฐบาลลุกขึ้นมาสั่งปิดสถานประกอบการ-ห้ามกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภท จนส่งผลให้คนทำงานจำนวนมหาศาลต้องหยุดงานหรือว่างงานลงกะทันหัน โดยจำนวนผู้ว่างงานพุ่งสูงสุดถึง 8.7 แสนคนในไตรมาส 3/2021 มากกว่าช่วงก่อนการระบาดในไตรมาส 4/2019 ราว 1.3 เท่าตัว[3]

หาดใหญ่แทบจะกลายเป็นเมืองร้างหลังวิกฤตโควิด-19 อุบัติขึ้น สภาพเช่นนี้ย่อมมีคนทำงานมหาศาลต้อง ‘ว่างงาน’ ลง (ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์ (2021))

จากนี้ คนทำงานมีแนวโน้มจะยิ่งเสี่ยงว่างงานมากขึ้น เพราะโลกอันแสนเปราะบางและผันผวนของเราจะเผชิญวิกฤตหลากหลายและรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติใหญ่ ภาวะโลกรวน ตลอดจนสงคราม-ความขัดแย้งทั้งภายในและระหว่างประเทศ จากผลสำรวจของ World Economic Forum ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก 69% มองว่าวิกฤตเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจ ‘อ่อนแอ’ ตลอด 2 ปีข้างหน้า และอีก 13% เห็นว่าจะก่อให้เกิด ‘หายนะ’ ต่อมนุษยชาติภายใน 2 ปีข้างหน้า[4]

ซ้ำร้าย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังอาจส่งผลให้งานในปัจจุบันกว่า 12.1 ล้านตำแหน่ง หรือประมาณ 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานทั้งหมดหายไปจากประเทศไทย กลุ่มที่เสี่ยงที่สุด ได้แก่ งานทักษะปานกลาง (เช่น เสมียน พนักงานบริการ และพนักงานขาย) กับงานทักษะต่ำ (เช่น กรรมกรเกษตรและประมง)[5] โดยงานสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนรวมกันมากถึง 85.9% ของตำแหน่งงานทั้งหมด[6]

ประกันการว่างงาน = ประกันคุณภาพชีวิต-เศรษฐกิจที่ดี

ทำไมต้องมีเงินประกันการว่างงาน?

อย่าลืมว่าความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ถูกผูกโยงกับรายได้จากการทำงาน ฉะนั้นความเสี่ยงว่างงานที่สูงขึ้นย่อมหมายถึงความเสี่ยงชีวิตตกอับที่มากขึ้นด้วย รัฐบาลจึงต้องดำเนินนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว โดยหนึ่งในวิธีการซึ่งควรเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐาน คือจัดสวัสดิการ ‘เงินประกันการว่างงาน’ เติมรายได้มิให้คุณภาพชีวิตของผู้ว่างงานและครอบครัวย่ำแย่ลงในระหว่างหางานใหม่ ให้พวกเขายังกินอิ่ม นอนหลับ และใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงระดับปกติตามสิทธิอันพึงมีและสมศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์

สวัสดิการเช่นนี้ไม่เพียงรักษาระดับความเป็นอยู่ระยะสั้นในช่วงหางานใหม่เท่านั้น แต่ป้องกันผลเสียจากการว่างงานต่อผู้ว่างงานและครอบครัวในระยะยาวด้วย ลองนึกตามว่าหากผู้ว่างงานได้รับเงินประกัน พวกเขาก็อาจไม่เครียดรุนแรงจากการขาดรายได้จนทำลายสุขภาพจิตไปอย่างถาวร[7] หรืออาจซื้ออาหาร ยา และอุปกรณ์ต่างๆ มาดูแลแม่ที่ตั้งท้อง-ลูกเล็กได้เพียงพอ ทำให้พัฒนาการตลอดชีวิตของเด็กไม่ถูกกระทบกระเทือน[8] – เรียกว่าป้องกันมิให้เกิด ‘แผลเป็น’ ที่อาจทิ้งร่องรอยไว้แม้หลังได้งานใหม่แล้ว

อีกตัวอย่างแผลเป็นจากการว่างงานคือ ทำให้หลายคนต้องสูญเสียบ้านและกลายเป็น ‘คนไร้บ้าน’ (ที่มาภาพ: สสส. (2015))

เงินประกันยังสามารถช่วยให้ผู้ว่างงานได้ ‘งานใหม่ที่ดี’ เนื่องจากพวกเขาจะไม่ถูกบีบคั้นให้ต้องจำใจรีบรับงานที่ไม่เหมาะสมเพื่อเร่งหารายได้ประทังชีวิต แต่มี ‘เวลาเลือก’ งานให้ตรงกับทักษะและความต้องการ รวมถึงมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างมากกว่า ในกรณีที่พวกเขาไม่กลับไปเป็นลูกจ้างแล้วหันมาประกอบธุรกิจหรืออาชีพอิสระ ก็จะมีเวลาเตรียมตัว-วางแผนอย่างรัดกุม ส่งผลให้ธุรกิจใหม่มีแนวโน้มอยู่รอดและสร้างกำไรสูงกว่า[9] นอกจากนี้ ผู้ว่างงานยังอาจใช้เงินประกันในการพัฒนาทักษะ เปิดโอกาสสู่การทำงานและธุรกิจที่ใช้ทักษะสูงขึ้น-รายได้เพิ่มขึ้น-มั่นคงยิ่งขึ้น[10]

พร้อมกันนั้น เงินประกันการว่างงานยังเป็นหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจ-ความกินดีอยู่ดีของเราทุกคน เพราะในยามเศรษฐกิจฝืดเคือง คนทำงานมักตกงานพร้อมกันเป็นจำนวนมหาศาล หากพวกเขายังพอมีรายได้จากเงินประกัน ก็จะไม่ลดการจับจ่ายใช้สอยลงมากนัก ช่วยป้องกันมิให้ธุรกิจล้ม-คนตกงานเพิ่มตามกันเป็นโดมิโน ลุกลามเป็นวิกฤตที่รุนแรง

การที่ผู้ว่างงานได้งานใหม่ดี-มีเงินฝึกทักษะก็ช่วยรักษาและพัฒนาขีดความสามารถของคนทำงานและธุรกิจของประเทศในภาพรวม ผลการศึกษาในบราซิลยังพบว่าเงินประกันทำให้แรงงานไปร่วมงานกับธุรกิจขนาดเล็ก ตั้งใหม่ หรือมีความเสี่ยงสูงอย่างสตาร์ตอัปมากขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจเหล่านั้น ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขัน การลงทุน และความมั่งคั่งของประเทศ[11]

หากจะเปรียบแล้ว ผู้ว่างงานหรือประเทศที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจก็เป็นดั่งคนที่ถูกผลักจากสุดขอบหน้าผา ตกลงสู่ใต้หุบเหวแห่งความยากจนแร้นแค้นอันมืดมิด แต่เงินประกันการว่างงานจะเป็นเหมือน ‘ตาข่าย’ ที่ไม่เพียง ‘รองรับ’ มิให้พวกเขาร่วงหล่นลงมาสูงจนเจ็บหนัก-ได้แผลเป็น แต่ยัง ‘เด้ง’ พวกเขากลับสู่ความสว่างสดใสเบื้องบน ณ จุดเดิม – หรืออาจสูงยิ่งกว่าเดิมด้วย

เงินประกันมั่นคงสำหรับคนทำงาน-ยืดหยุ่นต่อนายจ้างกว่า ‘ค่าชดเชย’

ประเทศไทยจัดสวัสดิการเงินประกันการว่างงาน หรือ ‘ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน’ มาตั้งแต่ปี 2004 เป็นส่วนหนึ่งของระบบประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนภาคบังคับ ม.33 (เช่น พนักงานบริษัท)[12] ซึ่งครอบคลุมกำลังแรงงานราว 1 ใน 4[13] เงินกองทุนประกันการว่างงานนี้มีที่มาจากเงินสมทบรายเดือนของลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาลในอัตรา 0.5% 0.5% และ 0.25% ของค่าจ้างตามลำดับ โดยคิดฐานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน และจ่ายให้แก่ผู้ว่างงานทุกเดือนจนกว่าจะได้งานใหม่

ในกรณีถูกเลิกจ้าง ผู้ว่างงานจะได้รับเงินประกัน 50% ของฐานค่าจ้างเดิม สูงสุดไม่เกิน 6 เดือนต่อปี ส่วนในกรณีสมัครใจลาออกหรือหมดสัญญาจ้าง จะได้รับเงิน 30% ของฐานค่าจ้างเดิม สูงสุดไม่เกิน 3 เดือนต่อปี โดยจะมีสิทธิรับก็ต่อเมื่อจ่ายสมทบมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน[14] ระหว่างปี 2020-2022 กองทุนจ่ายเงินให้แก่ผู้ว่างงานเฉลี่ยปีละกว่า 1.5 ล้านครั้ง[15]

เงินประกันมั่นคงสำหรับคนทำงาน-ยืดหยุ่นต่อนายจ้างกว่า ‘ค่าชดเชย’

นอกจากเงินประกันดังกล่าว กฎหมายยังจัดตั้งตาข่ายรองรับผู้ว่างงานอีกแบบซึ่งเป็นเหมือน ‘แฝดคนละฝา’ ไว้ คือให้นายจ้างต้องจ่าย ‘ค่าชดเชยการถูกเลิกจ้าง’ แก่ลูกจ้างที่ตนปลดออกโดยเจ้าตัวไม่สมัครใจและไม่มีความผิด โดยจ่ายเป็นเงินก้อนเดียวตามอัตราค่าจ้างและระยะเวลาที่ทำงานมา เช่น ทำงาน 120 วัน-1 ปี จ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างเดิม 1 เดือน ทำงาน 1-3 ปี จ่ายเท่ากับ 3 เดือน[16]

อย่างไรก็ดี หากนำแฝดคู่นี้มาเทียบกัน เงินประกันการว่างงานถือเป็นหลักประกันที่ ‘มั่นคง’ สำหรับคนทำงานกว่าค่าชดเชย ด้วยรูปแบบการจ่ายเป็นเงินเดือนตลอดช่วงว่างงาน หมายความว่าถ้าว่างงานนาน ต้องพึ่งพาการสนับสนุนมากขึ้น ก็จะได้รับเงินประกันเพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงเงินหมดตั้งแต่ช่วงแรกๆ ต่างจากค่าชดเชยที่ไม่ว่าจะว่างงานนานเพียงใด ก็ได้ก้อนเดียวเท่าเดิม หมดแล้วหมดเลย

เงินประกันยังจ่ายโดยกองทุนประกันสังคมที่มีรัฐบาลเป็นประกัน ซึ่งโอกาสล้มละลายต่ำและไม่มีเหตุผลที่จะไม่จ่ายเงินแก่ผู้มีสิทธิ ตรงกันข้าม นายจ้างอาจไม่อยากหรือไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยได้ เพราะนายจ้างที่ปลดลูกจ้างออกมักมีสาเหตุจากการประสบปัญหากิจการย่ำแย่ แม้ลูกจ้างอาจร้องเรียนหรือฟ้องร้องให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยดังที่ปรากฏในข่าวบ่อยๆ แต่กระบวนการก็ใช้เวลานาน ในกรณีนายจ้างล้มละลาย พวกเขายังอาจได้รับค่าชดเชยน้อยกว่าที่ควรหรือแทบไม่ได้เลย

พนักงานที่ถูกเลิกจ้างโดยบริษัทแห่งหนึ่งในสมุทรสาคร รวมตัวเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยที่ติดค้างมานาน (ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์ (2016))

ประเด็นหลังนี้สะท้อนด้วยว่าค่าชดเชยเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของนายจ้าง อย่าลืมว่าหลายครั้ง การเลิกจ้างพนักงานอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการรับมือกับวิกฤตหรือสถานการณ์ธุรกิจที่เปลี่ยนไป แต่ภาระค่าชดเชยก้อนใหญ่กลับสร้างต้นทุน-ตัดทางเลือกของนายจ้างในยามลำบาก หากสุดท้ายพวกเขาปรับตัวไม่ได้แล้วเลิกกิจการ ก็อาจส่งผลเสียต่อลูกจ้างเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น ในแง่นี้ เงินประกันซึ่งจ่ายสมทบทีละเล็กละน้อยในช่วงธุรกิจปกติ จึงเอื้อให้นายจ้างแก้ไขปัญหาได้อย่าง ‘ยืดหยุ่น’ มากกว่า

กล่าวโดยรวม ระบบเงินประกันการว่างงานก่อให้เกิด ‘การกระจายความเสี่ยงในสังคม’ ถ้าลูกจ้างหรือนายจ้างรายใดถูกผลักจากหน้าผาก็จะตกลงบนตาข่ายที่รัฐบาล ลูกจ้าง และนายจ้างทั้งประเทศร่วมกันถักทอและออกแรงขึงไว้ ขณะที่ในระบบค่าชดเชย จะตกลงบนตาข่ายของนายจ้างของตนเท่านั้น คำถามคือเราควรแขวนสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทำงานอย่างการมีความเป็นอยู่ที่ดีไว้กับนายจ้างแต่ละราย ซึ่งอาจร่วงหล่นจากหน้าผาเสียเองได้ทุกเมื่อหรือไม่?

ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ ระบบเงินประกันที่ดีจึงมีแนวโน้มเป็นหลักประกันสำหรับคนทำงานที่มีประสิทธิผล-ประสิทธิภาพมากกว่าค่าชดเชย รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ศึกษามาตรการทั้งสองใน 26 ประเทศทั่วโลก ก็พบว่าประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วทั้งหมดเลือกใช้ระบบเงินประกันเป็นหลัก โดยบางประเทศไม่มีระบบค่าชดเชยเลย (เช่น ญี่ปุ่น) บางประเทศจ่ายค่าชดเชยเฉพาะลูกจ้างที่ทำงานมานานมาก (เช่น เดนมาร์ก 12 ปีขึ้นไป) ส่วนประเทศที่เหลือก็จ่ายในอัตราที่ต่ำกว่าไทยมาก (เช่น เนเธอร์แลนด์ ทำงาน 2 ปี จ่ายเท่ากับค่าจ้างเดิม 2/3 เดือน) ในหมู่ประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาด้วยกัน ก็ไม่มีประเทศใดนำระบบค่าชดเชยมาใช้มากเท่าไทย[17]

ฉะนั้นเงินประกันการว่างงานจึงสมควรได้รับความสนใจยิ่งขึ้นในฐานะสวัสดิการคนทำงานที่สำคัญ รวมถึงได้รับการแก้ปัญหาและพัฒนาให้เสริมสร้าง ‘ชีวิตมั่นคงในโลกผันผวน’ ได้อย่างเต็มศักยภาพ 101 PUB เสนอว่ารัฐบาลควรยกระดับเงินประกันใน 4 ประเด็นใหญ่

ข้อเสนอ 1 – เพิ่มเงินประกันให้ ‘เพียงพอ’ ประกันคุณภาพชีวิตที่ดี

เงินประกันการว่างงานยังต่ำไป ไม่พอประกันคุณภาพชีวิตที่ดี

ปัญหาแรกของเงินประกันการว่างงานคือ ‘มูลค่าน้อยเกินไป’ จึงควรปรับอัตรา ฐานค่าจ้างสูงสุด และระยะเวลาการจ่ายสูงสุดให้สามารถเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของคนทำงานได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงยิ่งขึ้น

จากการคำนวณของ 101 PUB ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำสุดที่จะยังชีพในบ้านนี้เมืองนี้ได้อย่างเหมาะสมสำหรับคนทำงานซึ่งต้องเลี้ยงดูตนเอง ผู้ใหญ่หนึ่งคน (เช่น คู่ชีวิตและพ่อแม่) และเด็กอีกหนึ่งคน คือ 15,201 บาท/เดือน[18] หากเทียบกับข้อมูลค่าจ้างจะพบว่า คนทำงานเอกชนนอกภาคเกษตรราว 70% ได้ค่าจ้างน้อยกว่าระดับค่าใช้จ่ายข้างต้นอยู่แล้ว[19]

ดังนั้นอัตราเงินประกันกรณีถูกเลิกจ้างที่ 50% ของค่าจ้างเดิมจึงยิ่งกดเงินประกันให้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายยังชีพมากขึ้นไปอีก โดยกลุ่มคนทำงานที่ค่าจ้างต่ำสุด 10% แรก จะมีสิทธิได้รับเงินประกันเฉลี่ย 3,250 บาท/เดือนเท่านั้น น้อยกว่าระดับค่าใช้จ่ายยังชีพถึง 78.6% การกำหนดฐานค่าจ้างสูงสุดในการคำนวณเงินประกันไว้เพียง 15,000 บาท/เดือน ยังตอกย้ำว่าจะไม่มีผู้ว่างงานหน้าไหนได้รับเงินเพียงพออยู่รอด เพราะเพดานเงินประกันอยู่แค่ 7,500 บาท/เดือน ต่ำกว่าระดับค่าใช้จ่ายยังชีพ 50.7%[20]

ฐานค่าจ้างสูงสุดดังกล่าวยังส่งผลให้คนทำงานที่ค่าจ้างเกิน 15,000 บาท/เดือน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของคนทำงานเอกชนนอกภาคเกษตร มีสิทธิได้เงินประกันไม่ถึงครึ่งของค่าจ้างเดิม[21] จึงมีโอกาสต้องเผชิญความเป็นอยู่ที่แย่ลงจากระดับเดิมมากในช่วงหางานใหม่ ลองนึกตามว่าคนทำงานที่เคยรับเงินเดือน 25,000 บาท ก็อาจจ่ายค่าเช่าบ้านหรือค่าเทอมโรงเรียนเอกชนของลูกในระดับที่สอดคล้องกับรายได้ ถ้าตกงานแล้วได้เงินประกันแค่ 7,500 บาท (ต่ำกว่าค่าจ้างเดิม 70%) พวกเขาอาจต้องเสียบ้าน ให้ลูกหยุดเรียน จนชีวิตถูก ‘ดิสรัปต์’ อย่างรุนแรงได้เช่นกัน

แน่นอนว่าคนทำงานชนชั้นกลางเหล่านี้มักมีเงินเก็บหรือทรัพย์สินไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินมากกว่ากลุ่มค่าจ้างต่ำ แต่เงินประกันควรเป็นหลักประกันที่คุ้มครองคนวงกว้างที่สุดภายใต้สถานการณ์เลวร้ายที่สุด เมื่อถักทอด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกคน ตาข่ายผืนนี้ก็ไม่ควรเป็นชนิดที่ปล่อยให้คนเกือบหนึ่งในสามตกลงมาแล้วเจ็บหนัก เพราะนอกจากจะไม่เป็นธรรมแล้ว วันหนึ่งเขาเหล่านั้นอาจไม่อยากร่วมถักทอตาข่ายด้วยอีกต่อไป

ยกระดับเงินประกันการว่างงาน

101 PUB เสนอปรับเงินประกันการว่างงานให้ ‘พอยังชีพ-พอพยุงคุณภาพชีวิตเดิม’ สำหรับทุกคน โดยในกรณีถูกเลิกจ้าง ควรเพิ่มอัตราเงินประกันเป็น 90% ของฐานค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน ในช่วงว่างงาน 3 เดือนแรก ซึ่งเป็นระยะเวลาหางานใหม่เฉลี่ยของผู้เคยมีงานทำ[22] เพื่อให้คนทำงานที่ค่าจ้างต่ำกว่าค่าใช้จ่ายยังชีพได้รับเงินประกันอย่างเพียงพอที่สุด

ขณะเดียวกัน ก็ควรเพิ่มฐานค่าจ้างสูงสุดในการคำนวณเงินประกันเป็น 25,000 บาท/เดือน หรือครอบคลุมค่าจ้างของคนทำงาน 90% ของประเทศ เพื่อเสริมหลักประกันคุณภาพชีวิตแก่คนทำงานที่ค่าจ้างเกิน 15,000 บาท/เดือน พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการจ่ายเงินสูงสุดเป็น 12 เดือน เพื่อคุ้มครองความเป็นอยู่พื้นฐานสำหรับผู้ว่างงานระยะยาว

นอกจากนี้ 101 PUB เสนอเปิดช่องให้ผู้ที่จำเป็นต้องลาออกด้วย ‘เหตุสุดวิสัย’ เช่น พ่อแม่พิการกะทันหันแล้วต้องลาออกไปดูแล สามารถยื่นขอรับเงินประกันเทียบเท่ากรณีถูกเลิกจ้าง ทั้งในกรณีถูกเลิกจ้างและลาออกด้วยเหตุสุดวิสัย ผู้มีสิทธิยังต้องได้รับเงินประกันช่วงว่างงาน 3 เดือนแรก ไม่น้อยกว่าระดับเส้นความยากจนเสมอด้วย[23] ส่วนผู้ที่ลาออกโดยสมัครใจ ควรมีสิทธิรับเงินในอัตราและระยะเวลาเท่าปัจจุบัน แต่เพิ่มฐานค่าจ้างสูงสุดเป็น 25,000 บาท/เดือนเช่นกัน (โปรดดูรายละเอียดในอินโฟกราฟิกด้านบนและตารางเปรียบเทียบด้านล่าง)

เงินประกันกรณี 'ถูกเลิกจ้าง'
เงินประกันกรณี 'ลาออก'

ข้อเสนอ 2 – ปรับเงินประกันให้ส่งเสริมการได้ ‘งานใหม่’

ข้อเสนอ 2 – ปรับเงินประกันให้ส่งเสริมการได้งานใหม่

แม้เงินประกันการว่างงานจะเอื้อให้ผู้ว่างงานมีชีวิตที่ดี และสามารถเลือกงานใหม่ที่ตรงตามความต้องการได้มากขึ้น แต่ก็ย่อมหมายความว่าพวกเขาอาจว่างงานนานขึ้น เพราะถูกบีบคั้นให้ต้องรีบรับงานใหม่น้อยลง ฉะนั้นการเพิ่มเงินประกันจึงต้องดำเนินควบคู่ไปกับการปรับระบบให้ ‘ส่งเสริมการได้งานใหม่’ ซึ่งควรทำทั้งในระหว่างและก่อนการว่างงาน

‘การว่างงานนานเกินไป’ นับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้ว่างงานและเศรษฐกิจ เพราะเมื่อมิได้ทำงานนานขึ้น ผู้ว่างงานจะสูญเสียทักษะและความสามารถในการหารายได้ไปมากขึ้น คล้ายกับที่หลายคนอาจเคยเรียนภาษาต่างประเทศ แต่พอไม่ได้ใช้พักใหญ่ ก็จะลืมและฟื้นฟูกลับมาไม่ง่ายนัก ภาวะเช่นนี้บ่อนทำลายคุณภาพชีวิตของผู้ว่างงานและผลิตภาพของประเทศในระยะยาว หากผู้ว่างงานเหล่านี้ได้รับเงินประกันการว่างงาน ยังอาจทำให้กองทุนประกันต้องจ่ายเงินออกเกินความจำเป็น ถือเป็นอันตรายต่อความยั่งยืนของกองทุนและ – ถึงที่สุดแล้ว – ความมั่นคงในชีวิตคนทำงานทั้งหมด

เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวตามมา 101 PUB เสนอว่า หลังว่างงานและรับเงินประกันมาแล้ว 3 เดือน (ซึ่งนานกว่าระยะเวลาหางานเฉลี่ยของผู้เคยมีงานทำ) ผู้ว่างงานจะต้องแสดงหลักฐานว่ากำลังหางานและ/หรือฝึกทักษะอย่างกระตือรือร้น จึงจะสามารถขอรับเงินต่อไปได้ สร้างเงื่อนไขกระตุ้นให้พวกเขาได้งานใหม่โดยเร็ว

ระบบประกันในปัจจุบันกำหนดให้ผู้ว่างงานรายงานตัวทางอินเทอร์เน็ตทุกเดือน แต่ไม่ตรวจสอบสถานะ การหางาน และการฝึกทักษะอย่างจริงจัง (ที่มาภาพ: ไก่ย่างส้มตำ [Pantip User] (2017))

ในโลกผันผวนที่เราทุกคนเสี่ยงว่างงานมากขึ้นนี้ 101 PUB ยังเห็นว่ากองทุนประกันควรเติมทุนฝึกทักษะให้คนทำงานตั้งแต่ช่วงที่พวกเขายังมีงานทำอยู่ ถือเป็นการเตรียมพร้อมให้พวกเขาหางานใหม่ได้ง่ายเมื่อว่างงาน อีกทั้งป้องกันมิให้พวกเขาตกงานแต่แรกเพราะทักษะก้าวไม่ทัน โดยให้ลูกจ้างในระบบประกันที่จ่ายสมทบ ไม่เคยว่างงาน และไม่เคยขอรับเงินต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี มีสิทธิได้รับ ‘คูปอง’ ไปใช้ฝึกทักษะเป็นมูลค่า 1,000-4,500 บาท ตามจำนวนเงินที่ตนเคยจ่ายสมทบตลอดช่วงเวลาดังกล่าว[24] – เรียกว่าทำตาข่ายผืนนี้ให้ช่วย ‘เด้ง’ ผู้ว่างงานกลับสู่คุณภาพชีวิตที่ดีได้เร็วขึ้น-สูงขึ้น

ข้อเสนอ 3 – เพิ่มผู้มีสิทธิรับเงินประกันการว่างงาน

ข้อเสนอ 3 – เพิ่มผู้มีสิทธิรับเงินประกันการว่างงาน

ข้อเสนอถัดมาเป็นการขยาย ‘ความครอบคลุม’ ของระบบประกันการว่างงาน ไปสู่คนทำงานในวงกว้างยิ่งขึ้น

น่าตกใจว่าในปี 2022 คนทำงานเอกชนมากถึง 68% ยังอยู่นอกระบบประกันสังคม ม. 33 และประกันการว่างงาน[25] การนำพวกเขาเข้าสู่ระบบนับว่าสำคัญยิ่ง เพราะโดยทั่วไปแล้ว คนทำงานกลุ่มนี้มักเผชิญความเสี่ยงว่างงานและความไม่มั่นคงทางรายได้สูงเสียยิ่งกว่ากลุ่มในระบบ อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดใหญ่คือรัฐบาลขาดข้อมูลการทำงานและรายได้ที่ชัดเจนของพวกเขา การจัดสวัสดิการซึ่งมีเงื่อนไขผูกโยงกับสถานะการจ้างงานจึงทำได้ยากในทางปฏิบัติ

ในระยะสั้น 101 PUB เสนอให้รัฐบาลต้องทำงานเชิงรุก พยายามดึงเอาคนทำงานที่พอจะระบุตัวนายจ้าง สถานะ และรายได้เข้ามาในระบบประกันการว่างงานให้มากที่สุด บางกลุ่มอาจให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ม. 33 เดิม เช่น คนทำงานในบ้าน โดยขยายนิยามของนายจ้างให้กว้างและปรับปรุงกระบวนงานต่างๆ ให้ไม่เป็นอุปสรรค ขณะที่บางกลุ่มอาจจัดตั้งระบบประกันเฉพาะ เช่น คนทำงานแพลตฟอร์ม กรณีนี้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมีข้อมูลชัดเจนระดับหนึ่งอยู่แล้ว รัฐบาลจึงสามารถประสานหรือออกกฎหมายบังคับ ขอข้อมูลมาบริหารจัดการระบบประกันให้พวกเขาได้ไม่ยากนัก

ส่วนในระยะยาว รัฐบาลควรลงทุนพัฒนาระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำคนทำงานกลุ่มใหม่ๆ เข้าสู่ระบบประกันการว่างงานเพิ่มขึ้น ควบคู่กับพัฒนาหลักประกันรูปแบบอื่นรองรับคนทำงานที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ด้วยธรรมชาติของงาน เช่น ระบบประกันภัยพืชผลสำหรับเกษตรกร เป็นต้น[26]

ข้อเสนอ 4 – ยุบเลิกค่าชดเชยซ้ำซ้อน ให้นายจ้างปรับตัวง่ายในยามวิกฤต-ผู้ว่างงานได้เงินประกันเต็มที่

สุดท้าย หากสามารถยกระดับเงินประกันการว่างงานตามข้อเสนอสามข้อก่อนหน้าได้ รัฐบาลก็ควรยุบเลิก ‘แฝดคนละฝา’ อย่างระบบค่าชดเชยการถูกเลิกจ้าง ซึ่งจะจำเป็นต่อผู้ว่างงานน้อยลง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ค่าชดเชยถือเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของนายจ้างเพื่อรับมือกับวิกฤตหรือสถานการณ์ธุรกิจที่เปลี่ยนไป การยุบเลิกจึงย่อม ‘ลดโอกาสล้ม’ ของธุรกิจที่มีศักยภาพ รวมถึงลดโอกาสปลดลูกจ้างเป็นจำนวนมากกว่าที่ควรจากธุรกิจเหล่านั้น – เสริมสร้างความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจของนายจ้าง พร้อมกับความมั่นคงในชีวิตคนทำงานภาพรวม

การยุบเลิกยังจะเอื้อให้ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างได้รับเงินประกันเต็มที่ตามสิทธิยิ่งขึ้น เพราะทุกวันนี้นายจ้างจำนวนไม่น้อยเลือกบีบให้ลูกจ้างลาออกเองแทนการปลดออกอย่างตรงไปตรงมา เพื่อเลี่ยงภาระการจ่ายค่าชดเชย ผู้ถูกเลิกจ้างจึงจำต้องขอรับเงินประกันแบบ ‘ลาออกโดยสมัครใจ’ ซึ่งมีอัตราและระยะเวลาการจ่ายต่ำกว่าแบบ ‘ถูกเลิกจ้าง’ มาก[27] หากปราศจากค่าชดเชย นายจ้างจะมีแรงจูงใจให้ทำเช่นนั้นลดลง ระบบประกันก็จะสามารถสร้างหลักประกันคุ้มครองผู้ว่างงานได้เข้มแข็งขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อนายจ้างมิต้องจ่ายค่าชดเชยก้อนใหญ่ในยามวิกฤตแล้ว 101 PUB เสนอให้ปรับขึ้นอัตราเงินสมทบของนายจ้างเข้ากองทุนประกันการว่างงานที่จ่ายในยามธุรกิจปกติเป็นการแลกเปลี่ยน เช่น ปรับขึ้น 1% เป็น 1.5% ควบคู่กับเพิ่มอัตราสมทบของรัฐบาล 0.25% เป็น 0.5% และขยายฐานค่าจ้างสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบเป็น 25,000 บาท/เดือนให้สอดคล้องกับฐานที่ใช้จ่ายเงินประกันให้ผู้ว่างงาน

แนวทางเช่นนี้จะเพิ่มรายได้ให้กองทุนสามารถจ่ายเงินประกันและสิทธิประโยชน์อื่นที่สูงขึ้นตามข้อเสนอ โดยไม่ต้องเพิ่มอัตราเงินสมทบของลูกจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่มีค่าจ้างแทบไม่พอยังชีพอยู่แล้ว

ส่งท้าย

ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้ง ข้อเสนอนโยบายสวัสดิการหลากหลายได้ถูกเสนอต่อประชาชน แต่น่าเสียดายที่ระบบเงินประกันการว่างงานยังเป็นประเด็นที่อยู่ในเงามืด ไม่ถูกแสงสปอตไลต์สาดส่องลงมามากนัก

ในโลกที่ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ถูกผูกโยงกับรายได้จากการทำงาน แต่ก็เป็นโลกที่ความเสี่ยงว่างงานมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ระบบเงินประกันเช่นนี้นับว่าสำคัญยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของคนทำงานและครอบครัวทั้งในระยะว่างงานและระยะยาวแล้ว ยังเป็นหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจ – ความกินดีอยู่ดีของทุกคน

แม้ประเทศไทยจะจัดตั้งระบบเงินประกันมาเกือบสองทศวรรษ แต่ยังไม่สามารถทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของคนทำงานได้ดีเท่าที่ควร

101 PUB จึงเสนอเพิ่มอัตรา ฐานค่าจ้างสูงสุด และระยะเวลาจ่ายเงินประกัน ให้ผู้ว่างงานมีเงินพอยังชีพ-รักษาระดับความเป็นอยู่ในช่วงหางานใหม่ได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น พร้อมทั้งปรับระบบให้ส่งเสริมการได้งานใหม่ผ่านการเติมทุนฝึกทักษะ ขยายความครอบคลุมไปสู่แรงงานกลุ่มใหม่ ตลอดจนยกเลิกระบบค่าชดเชยที่ซ้ำซ้อนกันและขัดขวางการปรับตัวของนายจ้าง-สร้างความเสี่ยงว่างงานมากขึ้นโดยไม่จำเป็น

หวังว่าข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะสนใจ ขบคิด และเปลี่ยนแปลงเงินประกันการว่างงาน – หันสปอตไลต์ให้ฉายแสงมายังหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทำงานนี้กันมากขึ้น

References
1 นฎา วะสี, ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์, ชินวัฒน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, พรรคธาดา ตรีรัตนพิทักษ์, และ ชมนาถ นิตตะโย, “ความเหลื่อมล้ำในตลาดแรงงานไทย: ภาพจากข้อมูล Labor Force Survey และประกันสังคม,” สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์, 19 กุมภาพันธ์ 2020, https://www.pier.or.th/abridged/2020/03/ (เข้าถึงเมื่อ 7 มีนาคม 2023).
2 สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สรุปผลที่สำคัญ การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2564 (กรุงเทพฯ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2021), 12.
3 National Statistical Office, “Labour Force Survey (New Series ISIC Rev.4) 1,” Bank of Thailand, February 28, 2023, https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=638&language=eng (accessed March 7, 2023).
4 Sophie Heading and Saadia Zahidi, The Global Risks Report 2023: Insight Report (Geneva: World Economic Forum, 2023), 9-11.
5 Warn N. Lekfuangfu and Voraprapa Nakavachara, Reshaping Thailand’s Labor Market Structure: The Unified Forces of Technology and Trade [Discussion Paper No.123] (Puey Ungphakorn Institute for Economic Research, 2020), 11; David H. Autor, Lawrence F. Katz, and Melissa S. Kearney, “The Polarization of the U.S. Labor Market,” American Economic Review 96 (2), May 2002, 193; Saadia Zahidi, Vesselina Ratcheva, Guillaume Hingel, and Sophie Brown, The Future of Job Report 2020 (Geneva: World Economic Forum, 2020), 30.
6 101 PUB คำนวณจากผลสำรวจ​ภา​​วะการทำ​งานของประชากร ไตรมาส 4/2022 โดยแบ่งกลุ่มทักษะแรงงานตาม: Nada Wasi, Sasiwimon Warunsiri Paweenawat, Chinnawat Devahastin Na Ayudhya, Pucktada Treeratpituk, and Chommanart Nittayo, Labor Income Inequality in Thailand: the Roles of Education, Occupation and Employment History [Discussion Paper No.117] (Puey Ungphakorn Institute for Economic Research, 2019), 11.
7 พัตราพร ปัญญายงค์ และ ศิริลักษณ์ ศุภปีติพร, “ความเครียดและพฤติกรรมการจัดการความเครียดของผู้ประกันตนกรณีว่างงานของสำนักงานประกันสังคมในกรุงเทพมหานคร,” Chulalongkorn Medical Journal 60 (6), พฤศจิกายน 2016, 663-664.
8 Hamid Noghanibehambari and Mahmoud Salari, “The Effect of Unemployment Insurance on the Safety Net and Infant Health in the USA,” Economic Annals LXVII (234), July-September 2022, 9.
9 Wenjian Xu, “Social insurance and entrepreneurship: The effect of unemployment benefits on new-business formation,” Strategic Entrepreneurship Journal 16 (3), September 2022, 524.
10 ดูเพิ่มเติม: Joaquin Garcia-Cabo, Anna Lipinska, and Gaston Navarro, Sectoral Shocks, Reallocation, and Labor Market Policies [International Finance Discussion Papers No.1361] (Washington: Board of Governors of the Federal Reserve System, 2022).
11 Bernardus Van Doornik, Dimas Fazio, David Schoenherr, and Janis Skrastins, “Unemployment Insurance as a Subsidy to Risky Firms,” The Review of Financial Studies 35 (12), 2022, 5535-5536.
12 พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 [1990] และที่แก้ไขเพิ่มเติม, ม. 33.
13 101 PUB คำนวณจากสถิติกองทุนประกันสังคม (2022) และผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 4/2022
14 “หลักเกณฑ์และเงื่อนไข กรณีว่างงาน,” สำนักงานประกันสังคม, 11 กันยายน 2020, https://www.sso.go.th/wpr/main/service/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1_detail_detail_1_125_696/236_236 (เข้าถึงเมื่อ 7 เมษายน 2023).
15 ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม (2023) นับรวมการจ่ายเงินประกันในกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยช่วงวิกฤตโควิด-19
16 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 [1998] และที่แก้ไขเพิ่มเติม, ม. 118.
17 Antonia Asenjo and Clemente Pignatti, Unemployment insurance schemes around the world: Evidence and policy options (International Labour Office, 2019), 35-37.
18 กษิดิ์เดช คำพุช, “ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต,” The 101.World, 29 กันยายน 2022, https://www.the101.world/minimum-wage-to-living-wage/ (เข้าถึงเมื่อ 28 ธันวาคม 2022).
19 101 PUB คำนวณจากผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 4/2022
20 เพิ่งอ้าง
21 เพิ่งอ้าง
22 101 PUB คำนวณจากผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 1/2020 – ไตรมาส 4/2021 และข้อมูลสำนักงานประกันสังคม
23 ปัจจุบัน เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,803 บาท/เดือน หมายความว่าผู้ว่างงานที่ค่าจ้างเดิมน้อยกว่า 3,114 บาท/เดือน จะมีสิทธิได้รับเงินประกันเกิน 90% ของค่าจ้างเดิม
24 ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายฝึกทักษะ: ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์, “นโยบาย Upskill เติมทักษะใหม่ อุดหนุนแค่ค่าเรียนได้ผลหรือไม่,” The101.world, 12 มีนาคม 2023, https://www.the101.world/incomprehensive-upskill-policies/ (เข้าถึงเมื่อ 7 เมษายน 2023).
25 101 PUB คำนวณจากผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 4/2022
26 ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายเงินอุดหนุน ซึ่งเป็นสวัสดิการหลักที่รัฐบาลใช้เติมรายได้ให้เกษตรกรในปัจจุบัน: วรดร เลิศรัตน์, “หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย ‘เงินอุดหนุนเกษตรกร’ แบบเดิมๆ,” The101.world, 11 มกราคม 2023, https://www.the101.world/farmer-income-support-reform/ (เข้าถึงเมื่อ 7 เมษายน 2023).
27 ในปี 2020-2022 จำนวนการขอรับเงินประกันกรณีลาออกโดยสมัครใจมากกว่ากรณีถูกเลิกจ้าง 2.8 เท่าตัว (ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม (2023) )

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save