fbpx
หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย 'เงินอุดหนุนเกษตรกร' แบบเดิมๆ

หยุดขุดหลุมฝังประเทศด้วย ‘เงินอุดหนุนเกษตรกร’ แบบเดิมๆ

ในประเทศที่ใครหลายคนเรียกว่า ‘ประเทศเกษตรกรรม’ และยกย่องเกษตรกรว่าเป็น ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ เกษตรกรจำนวนมากกลับมีรายได้ที่ไม่เพียงพอเลี้ยงปากท้องตนเองและครอบครัว ไม่สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสมตามสิทธิขั้นพื้นฐานและสมศักดิ์ศรีในฐานะ ‘มนุษย์’ ถือเป็นกลุ่มประชากรตามอาชีพที่ยากจนที่สุด แม้จะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ

จริงอยู่ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลจัดสวัสดิการเติมรายได้ให้เกษตรกรผ่านนโยบาย ‘เงินอุดหนุน’ เช่น โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ประกันรายได้เกษตรกร และเงินช่วยต้นทุนชาวนา อย่างไรก็ตาม ปัญหาความยากจนของเกษตรกรที่เรื้อรังสะท้อนว่า เงินอุดหนุนยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดีเท่าที่ควร ซ้ำร้าย แท้จริงแล้วเงินอุดหนุนกลับยิ่ง ‘ขุดหลุมฝังเกษตรกร’ ลงไปในวงจรความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ทั้งยังฝังเราคนไทยทุกคน – ไม่ว่าจะมีอาชีพเกษตรกรหรือไม่ – ลงในวังวนหนี้ที่รัฐบาลกู้มาอุดหนุนไปพร้อมกันด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประจวบกับบรรยากาศที่การเลือกตั้งระดับชาติกำลังจะมาถึง จึงถึงเวลาที่เราต้องมาตั้งคำถามกันว่า “เงินอุดหนุนเกษตรกรควรไปต่อหรือพอแค่นี้?” และ “รัฐบาลควรเปลี่ยนวิธีเติมรายได้อย่างไรให้สามารถยกระดับฐานะและความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน?”

101 PUB ชวนสำรวจสถานการณ์ความยากจนของเกษตรกรไทย เข้าใจช่องโหว่ของนโยบายเงินอุดหนุนในปัจจุบันที่ยิ่งทำก็เหมือนยิ่ง ‘ขุดหลุมฝังประเทศ’ ลงสู่วงจรแห่งความยากจนและความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งเสนอแนวทางเปลี่ยนวิธีเติมรายได้เกษตรกรใหม่ผ่าน ‘สวัสดิการพลเมือง’ และ ‘เงินพลิกชีวิตเกษตรกร’ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีและยั่งยืนมากขึ้น

เกษตรกรรายได้ต่ำ ยิ่งทำยิ่งจน

เกษตรกรรายได้ต่ำ ยิ่งทำยิ่งจน

ไทยมีเกษตรกรจดทะเบียน ณ เดือนสิงหาคม 2022 ราว 9.2 ล้านคน คิดเป็น 13.9% ของจำนวนประชากร และมีครัวเรือนเกษตรกรทั้งสิ้น 8.0 ล้านครัวเรือน หรือ 29.0% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด[1] ภาคเกษตรยังมีการจ้างงานเป็นสัดส่วนสูงถึง 31% ของการจ้างงานในประเทศ[2] แม้สัดส่วนเหล่านี้จะลดลงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพเกษตรกรยังคงเป็นแหล่งรายได้เลี้ยงชีพ-จุนเจือครอบครัวของคนจำนวนมหาศาล

บทบาทข้างต้นยิ่งทวีความสำคัญในพื้นที่ชนบท จากข้อมูลในปี 2019 ครัวเรือนชนบทถึง 47% เป็นครัวเรือนเกษตรกร โดย 35% เป็นครัวเรือนที่สมาชิกทุกคนทำเกษตร ไม่มีใครประกอบอาชีพอื่นเป็นอาชีพหลักเลย[3]

อย่างไรก็ดี เกษตรกรกลับเป็นกลุ่มอาชีพที่ยากจนที่สุด หากใช้เส้นความยากจนเป็นเกณฑ์[4] เกษตรกรราว 11.4% มีฐานะยากจน[5] สูงกว่าสัดส่วนเฉลี่ยของประเทศที่ 6.3% เกือบเท่าตัว และแรงงานยากจนเกือบสองในสามหรือ 65.8% ก็ทำงานอยู่ในภาคเกษตร[6] งานศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังพบว่า ครัวเรือนเกษตรกร 27% มีรายได้ไม่พอรายจ่ายที่จำเป็น และอีก 42% มีรายได้หลังหักรายจ่ายที่จำเป็นไม่พอชำระหนี้และลงทุนทำเกษตรรอบถัดไป นอกจากนี้ 34% ยังมีหนี้สินคงค้างมากกว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครอง ซึ่งเท่ากับเสมือนล้มละลายไปแล้วด้วย[7]

ปัญหาความยากจนดังกล่าวมีสาเหตุเพราะการทำเกษตรมีรายได้ต่ำมาก ในปี 2017-2021 ครัวเรือนเกษตรกรมีกำไรจากการเกษตรเฉลี่ยเพียง 73,974 บาท/ปี หรือ 202.7 บาท/วัน[8] น้อยยิ่งกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ 328-354 บาท/วัน/คน ซึ่งหมายความว่า ถ้าคำนวณค่าแรงเกษตรกรในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นต้นทุนด้วย พวกเขาก็จะขาดทุน ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกที่ธนาคารโลกจะรายงานว่าในปี 2017-2019 การทำเกษตรเป็นปัจจัยเร่งให้สัดส่วนคนจนในชนบทไทยเพิ่มขึ้น 0.3%[9]

ระดับรายได้เช่นนี้มิได้เกิดจากความขี้เกียจ โง่เขลา หรือไร้สมรรถนะของเกษตรกรรายคน แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากธรรมชาติของการเกษตร โครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง และนโยบายรัฐบาล ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่พวกเขาควบคุมไม่ได้มากนัก ตัวอย่างปัจจัยสำคัญคือผลผลิตทางการเกษตรเน่าเสียได้ง่าย และเกษตรกรมีทรัพยากร-อำนาจต่อรองน้อยกว่าพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรจึงมักถูกบีบให้ขายผลผลิตในราคาต่ำ ยิ่งไปกว่านั้น ราคาผลผลิตยังผันผวนรุนแรง ทำให้พวกเขาแทบไม่รู้ราคาที่จะขายได้ ณ เวลาที่ตัดสินใจผลิต ขณะเดียวกัน การผลิตก็มีต้นทุนและความเสี่ยงสูงมาก เช่น ความเสี่ยงจากสภาพอากาศ และการระบาดของโรค-ศัตรูพืช

ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ รัฐบาลจึงควรดำเนินนโยบายเพิ่มรายได้เกษตรกร เพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ตลอดจนลดความเสียเปรียบจากปัจจัยนอกการควบคุม การเพิ่มรายได้นี้มีวิธีหลากหลาย แต่หนึ่งในวิธีสร้างหลักประกันขั้นพื้นฐานคือรัฐจัดสวัสดิการ ‘เติมรายได้’ ให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายโดยตรง

รัฐเติมรายได้เกษตรกรผ่าน ‘เงินอุดหนุน’ เฉลี่ย 1.5 แสนล้านบาทต่อปี

รัฐเติมรายได้เกษตรกรผ่าน 'เงินอุดหนุน'

ที่ผ่านมา รัฐบาลเติมรายได้ให้เกษตรกรผ่านนโยบายเงินอุดหนุน 2 ประเภทหลัก คือ ‘เงินอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร’ (price support) และ ‘เงินอุดหนุนรายได้ตามขนาดที่ดิน’ (farm size-based income support)

เงินอุดหนุนประเภทแรกจ่ายเพื่อให้เกษตรกร ‘มีรายได้จากผลผลิตถึงระดับราคาเป้าหมาย’ ที่รัฐบาลตั้งไว้ ซึ่งมักสูงกว่าราคาที่เกษตรกรจะขายได้เองในตลาด ตัวอย่างได้แก่นโยบายที่เราคุ้นชื่อกันดีอย่าง ‘โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร’ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งจ่ายเงินซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ราคาเป้าหมายโดยตรง และ ‘โครงการประกันรายได้เกษตรกร’ ของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาเป้าหมายให้เกษตรกร ตามปริมาณผลผลิตที่คาดว่าพวกเขาผลิตได้

ส่วนเงินอุดหนุนประเภทหลังเป็นเงินที่จ่ายให้เกษตรกรตามขนาดที่ดินที่ใช้ทำเกษตร ไม่เกี่ยวข้องกับราคาและปริมาณผลผลิต เช่น ‘โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว’ (เงินช่วยต้นทุนชาวนา) ของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งจ่ายเงินให้ครัวเรือนชาวนาในอัตราไร่ละ 1,000 บาท โดยไม่สนใจว่าราคาข้าวในตลาดจะสูงต่ำหรือครัวเรือนจะผลิตข้าวได้มากน้อยเพียงใด

เงินประกันรายได้ชาวนาเป็นข้อเสนอประชาธิปัตย์ เงินช่วยต้นทุนชาวนาเป็นข้อเสนอพลังประชารัฐ เมื่อทั้งสองพรรคยืนยันจะใช้นโยบายที่ตนหาเสียง รัฐบาลจึงจ่ายเงินอุดหนุนทั้งสองประเภทให้ชาวนาซ้ำซ้อนกัน (ที่มาภาพ: พรรคประชาธิปัตย์ (2021); อุตตม สาวนายน (2019))

ในช่วง 3 ปีการผลิตล่าสุด (2019/2020-2021/2022) รัฐบาลปัจจุบันจ่ายเงินอุดหนุนทั้งสองประเภทให้เฉพาะเกษตรกรผู้ปลูก ‘พืชเศรษฐกิจหลัก’ ซึ่งมีจำนวนรวมประมาณ 7.9 ล้านครัวเรือน[10] โดยอุดหนุนราคาสินค้า 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด และอุดหนุนตามขนาดที่ดินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและลำไย[11] เกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่นไม่มีสิทธิรับเงินอุดหนุนภายใต้นโยบายนี้

ตลอดระยะเวลาดังกล่าว รัฐบาลใช้งบประมาณอุดหนุนรวมทั้งสิ้น 4.6 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ย 1.5 แสนล้านบาท/ปี แบ่งเป็นงบอุดหนุนราคาเฉลี่ย 9.6 หมื่นล้านบาท/ปี (62.8%) และงบอุดหนุนตามขนาดที่ดิน 5.7 หมื่นล้านบาท/ปี (37.2%) หากแยกตามชนิดสินค้าที่อุดหนุน จะพบว่ารัฐบาลทุ่มงบเกือบสามในสี่หรือราว 1.1 แสนล้านบาท/ปี (71.8%) ไปอุดหนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว[12]

งบเงินอุดหนุนรายชนิดสินค้า (ปี 2019/2020-2021/2022)
รัฐบาลมิได้จ่ายเงินอุดหนุนให้ชาวสวนลำไยเป็นประจำเหมือนผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักอื่น ถือเป็นมาตรการพิเศษในปี 2020/2021 ซึ่งราคาลำไยตกต่ำหนัก

แน่นอนว่าเงินอุดหนุนมีส่วนช่วยเติมรายได้ ‘เฉพาะหน้า’ ให้เกษตรกรผู้มีสิทธิรับเงิน หากปราศจากเงินก้อนนี้ หลายคนคงจะมีคุณภาพชีวิตย่ำแย่กว่าปัจจุบันนัก อย่างไรก็ดี การที่เกษตรกรจำนวนมากยังคงยากจนเรื้อรัง สะท้อนว่านโยบายนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดีเท่าที่ควร โดย 101 PUB พบว่าเงินอุดหนุนมีปัญหาใหญ่ในฐานะสวัสดิการเติมรายได้ 4 ข้อ ซึ่งส่งผลเสียต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรและประเทศ – ‘ขุดหลุมฝัง’ เราทุกคนมิให้ก้าวพ้นจากปัญหาได้

ปัญหา 1 – เงินอุดหนุนหมุนวงจรปัญหา: ฉุดรั้งเกษตรกรให้ผลิต-ยากจนแบบเดิม

เงินอุดหนุนหมุนวงจรปัญหา: ฉุดรั้งเกษตรกรให้ผลิต-ยากจนแบบเดิม

ปัญหาแรกและพื้นฐานที่สุดคือ เงินอุดหนุนฝังเกษตรกรให้ติดอยู่ใน ‘วงจรความยากจน’ ระยะยาว วงจรนี้ตั้งต้นจาก (1) เกษตรกรผลิตสินค้าไม่เหมาะสมหรือมีประสิทธิภาพต่ำ ส่งผลให้ (2) ขาดทุน ยากจน และไม่มีทุนปรับตัว ฉะนั้น (3) พวกเขาจึงจำเป็นต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงชีพและปรับตัว (4) แต่ ‘เงินอุดหนุนแบบปัจจุบัน’ กลับสร้างเงื่อนไขและจูงใจให้พวกเขาต้องผลิตสินค้าที่ไม่เหมาะสมหรือไร้ประสิทธิภาพ ‘แบบเดิม’ หมุนกลับไปสู่บ่อเกิดแห่งปัญหา (1) วนเวียนเรื่อยไปไร้ที่สิ้นสุด ทั้งยังทวีความรุนแรงขึ้นในทุกวงรอบ[13]

คำว่า “เกษตรกรผลิตสินค้าไม่เหมาะสม” นี้หมายถึงเลือกชนิด คุณภาพ และปริมาณสินค้าที่ผลิตไม่ตรงความต้องการของตลาด หรือไม่เอื้อต่อการทำกำไรภายใต้เงื่อนไขทรัพยากรและความเสี่ยงที่มีอยู่ เช่น ปลูกข้าวทั้งที่กำไรน้อยกว่าพืชชนิดอื่น ปลูกพืชชนิดเดียวทั้งที่เสี่ยงมากกว่าพืชหลายชนิด ปลูกพืชคุณภาพต่ำทั้งที่กำไรน้อยกว่าคุณภาพสูง หรือแม้กระทั่งทำอาชีพเกษตรกรทั้งที่รายได้ต่ำกว่าอาชีพอื่น

นอกจากไม่เหมาะสมแล้ว การผลิตยังมีประสิทธิภาพต่ำ คือลงทุนลงแรงมากแต่ได้ผลน้อย โดยในปี 2021 เกษตรกรหนึ่งคนใช้เวลาหนึ่งวันผลิตสินค้าได้มูลค่าเพียง 111 บาท น้อยกว่าแรงงานนอกภาคเกษตร (774 บาท) ถึง 85.7%[14] หากเทียบกับต่างประเทศด้วยข้อมูลองค์การแรงงานระหว่างประเทศปี 2019 เกษตรกรไทยผลิตได้ 8.8 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค (13.8 ดอลลาร์/วัน) ราว 36.2% และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (16.6 ดอลลาร์/วัน) 47.0%[15]

ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานภาคเกษตร (รายวัน)
20 ปีที่ผ่านมา ประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรไทยโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านและประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงมาก จากที่เคยอยู่ระดับเดียวกัน วันนี้จึงกลับทิ้งห่างอย่างไม่เห็นฝุ่น

ควรย้ำว่าปัญหาการผลิตดังกล่าวมิใช่ความผิดของเกษตรกรรายคน และมิใช่สิ่งที่พวกเขาตั้งใจเลือกเอง แต่หลายครั้งถูกบังคับให้ต้องทำด้วยเงื่อนไขที่บ้านนี้เมืองนี้ตีกรอบไว้ ถึงอย่างนั้น การผลิตแบบนี้ก็ผลักให้พวกเขาต้องแบกรับภาระขาดทุน ยากจน และไม่มีทุนปรับตัว จะกู้เงินมาเป็นทุนก็ยากนัก เพราะเกษตรกรยากจนมักเคยขาดทุนต่อเนื่องจนมีหนี้สินท่วมหัวอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรยากจนจึงจำต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐบาล โดยนโยบายเงินอุดหนุนที่ดีควรเป็นหลักประกันและจูงใจให้พวกเขาปรับปรุงการผลิตหรือเปลี่ยนไปทำอาชีพใหม่ จนมีรายได้เพียงพอไม่ต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนอีกต่อไป หรืออย่างน้อยที่สุด นโยบายก็ไม่ควรขัดขวางการปรับตัวในลักษณะข้างต้น

อย่างไรก็ตาม เงินอุดหนุนแบบปัจจุบันกลับส่งผลตรงข้าม เนื่องจากกำหนดเงื่อนไขการรับเงินยึดโยงกับการผลิตรูปแบบเดิม จึงจูงใจเกษตรกรให้ผลิตแบบเดิมไปโดยปริยาย

เงื่อนไขสำคัญแรกคือรัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้เฉพาะผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก 7 ชนิด เกษตรกรจึงย่อมอยากปลูกพืชกลุ่มนี้ต่อไปหรือกระทั่งเพิ่มปริมาณการปลูกมากกว่าเดิม แม้จะขายในตลาดแล้วขาดทุน เพราะมีหลักประกันไม่ให้ต้องรับภาระขาดทุนนั้นตามจริงและมีรายได้แน่นอนคาดหมายได้ ขณะที่ถ้าเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหรือทำอาชีพอื่นจะหมดสิทธิได้เงินอุดหนุนทันที ทั้งยังต้องลงทุนและรับความเสี่ยงใหม่เอง

อีกเงื่อนไขหนึ่งคือรัฐบาลอุดหนุนโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพผลผลิตและประสิทธิภาพการผลิต ลองจินตนาการว่าถ้ารัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนผลผลิตคุณภาพต่ำที่เคยปลูกมาแต่เดิม ไม่ต่างกับผลผลิตคุณภาพสูงที่ต้องอาศัยเงินลงทุน ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ “จะมีเกษตรกรสักกี่คนอยากเสี่ยงลงทุนพัฒนา?” ผลการศึกษาพฤติกรรมชาวนาในอุบลราชธานีและสุพรรณบุรีก็ยืนยันว่า เงินอุดหนุนทำให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีใหม่[16] เท่ากับขุดหลุมฝังพวกเขาให้จมปลักกับการผลิตแบบเดิม – ฝังพวกเขาลึกลงไปใน ‘วงจรความยากจน’ ยิ่งขึ้น

ปัญหา 2 – เงินอุดหนุนช่วยไม่ตรงจุด: เข้ากระเป๋าเกษตรกรรายใหญ่ > รายย่อย

ในฐานะ ‘สวัสดิการ’ เงินอุดหนุนควรมุ่งเติมรายได้ให้เกษตรกรที่ยากจนและจำเป็นต้องพึ่งพาเงินนี้มากที่สุด แต่เงินอุดหนุนแบบปัจจุบันกลับเติมรายได้ไม่ตรงจุด เกษตรกรรายใหญ่ได้เงินเยอะกว่ารายย่อย ทั้งที่พวกเขาน่าจะทำกำไรและช่วยเหลือตนเองได้ดีกว่า ปัญหานี้เกิดจากรัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนตาม ‘ปริมาณผลผลิต’ และ ‘ขนาดที่ดินเกษตร’ ซึ่งแน่นอนว่าเกษตรกรรายใหญ่ก็มักได้ผลผลิต ถือครองที่ดิน ตลอดจนมีประสิทธิภาพการผลิตมากกว่ารายย่อยอยู่แล้ว

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น 101 PUB ได้ใช้ข้อมูลสำมะโนการเกษตรครั้งล่าสุดเมื่อปี 2013 มาสร้างแบบจำลองเพื่อคำนวณว่าเงินอุดหนุนราคาข้าวนาปีและนาปรังถูกกระจายไปยังชาวนารายใหญ่-รายย่อยในสัดส่วนอย่างไร ภายใต้โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และโครงการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลปัจจุบัน[17]

ผลปรากฏว่าในโครงการรับจำนำ กลุ่มครัวเรือนชาวนาที่ได้ผลผลิตมากหรือเป็นเกษตรกรรายใหญ่ที่สุด 20% แรก (กลุ่ม 5) ได้รับเงินอุดหนุนเป็นสัดส่วนสูงถึง 68.7% ส่วนกลุ่มที่ได้ผลผลิตน้อยหรือเป็นรายย่อยที่สุด 20% (กลุ่ม 1) กลับได้รับเงินเพียง 1.8% เท่านั้น ขณะที่ในโครงการประกันรายได้ กลุ่ม 5 และกลุ่ม 1 ได้รับเงิน 57.4% และ 2.5% ตามลำดับ

นอกจากรัฐบาลจะทุ่มงบอุดหนุนกว่าครึ่งใส่พานถวายเกษตรกรรายใหญ่ และเจียดเศษงบ 2-3% ให้รายย่อยแล้ว รัฐบาลยังตัดสิทธิเกษตรกรที่มิได้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก 7 ชนิดในการรับเงินอุดหนุนอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าพวกเขาจะยากจนเพียงใด นโยบายเงินอุดหนุนแบบปัจจุบันจึงถือว่าผิดเป้าหมาย ไม่เป็นธรรม และไร้ประสิทธิภาพ ขุดหลุมฝังเกษตรกรลึกลงไปใน ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ระหว่างเกษตรกรรายใหญ่-รายย่อย/รวย-จนยิ่งขึ้น

รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับจำนำข้าวโดยไม่กำหนดปริมาณการอุดหนุนสูงสุด ปลูกได้แค่ไหนก็มีสิทธินำไปรับเงินอุดหนุนราคา ‘ทุกเมล็ด’ เงินจึงยิ่งเข้ากระเป๋าเกษตรกรรายใหญ่มาก (ที่มาภาพ: MGR Online (2013))

ปัญหา 3 – เงินอุดหนุนไม่ยั่งยืน: ช่วยเกษตรกรได้น้อยลง แต่ใช้งบเพิ่มขึ้น

เงินอุดหนุนไม่ยั่งยืน: ช่วยเกษตรกรได้น้อยลง แต่ใช้งบเพิ่มขึ้น

ปัญหาถัดมาเป็นเรื่องประสิทธิผลและประสิทธิภาพของนโยบายที่มีแนวโน้มลดลงยิ่งกว่าเดิม คือเงินอุดหนุนจะช่วยเติม ‘รายได้จริง’ และยกระดับความเป็นอยู่-คุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้น้อยลง แม้ใช้งบประมาณมากขึ้น

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2012-2021) ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงสวนทางกับต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพ โดยราคาที่เกษตรกรไทยขายผลผลิตได้ปรับตัวลดลงราว 4.7%[18] สอดคล้องกับราคาอาหารในตลาดโลกที่ดิ่งลง 20.1% ระหว่างปี 2012-2020[19] แม้ในปี 2021 ราคาอาหารโลกจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่าเป็นการเพิ่มขึ้นชั่วคราวในระยะสั้นเท่านั้น[20] ในทางตรงข้าม ค่าครองชีพในประเทศกลับสูงขึ้นถึง 6.4%[21] หมายความว่าเกษตรกรกำลังเผชิญปัญหา ‘รายได้หาย-รายจ่ายเพิ่ม’

ปัญหาดังกล่าวรุนแรงเป็นพิเศษในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักและมีสิทธิรับเงินอุดหนุน เพราะราคาผลผลิตเหล่านั้นหลายชนิดลดลงเร็วกว่าค่าเฉลี่ยมาก โดยยางพาราลดลง 41.5% ข้าวเปลือก 24.9% ลำไย 11.5% และข้าวโพด 9.3% ขณะที่ราคาอ้อยก็ลดลง 3.6% และมันสำปะหลังขยับขึ้นเล็กน้อยราว 2.6% ซึ่งไม่ทันการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพอยู่ดี มีเพียงปาล์มน้ำมันเท่านั้นที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 40.8% เร็วกว่าค่าครองชีพ[22]

ในสถานการณ์นี้ ถ้ารัฐบาลอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรที่ราคาเป้าหมายเดิม เกษตรกรจะยากจนและมีความเป็นอยู่แย่ลง เพราะมีรายได้เท่าเดิม แต่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายอื่นในชีวิตสูงขึ้น ทั้งที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมากขึ้น เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาตลาดถ่างกว้างขึ้น ถ้ารัฐบาลเพิ่มราคาเป้าหมาย อาจช่วยประกันฐานะและความเป็นอยู่ของเกษตรกรในระดับเดียวหรือดีกว่าปัจจุบันได้ แต่ก็จะยิ่งต้องใช้งบประมาณมากขึ้น อีกทั้งยังตอกย้ำ ‘วงจรความยากจน’ ให้รุนแรงขึ้นด้วย กล่าวได้ว่า เงินอุดหนุนเป็นวิธีเติมรายได้ที่ ‘ไม่ยั่งยืน’ สำหรับทั้งเกษตรกรและประเทศ

ปัญหา 4 – เงินอุดหนุนก่อหนี้แบบ ‘ดินพอกหางหมู’

เงินอุดหนุนก่อหนี้แบบ 'ดินพอกหางหมู'

สุดท้าย เงินอุดหนุนที่ขุดหลุมฝังเกษตรกรในความยากจน-เหลื่อมล้ำนี้ ยังค่อยๆ ฝังเราทุกคนลงในวังวนแห่งหนี้ที่ลักลอบเพิ่มพูนเป็น ‘ดินพอกหางหมู’ ก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่เห็นแววจะใช้คืนได้หมด

ทราบหรือไม่ว่ารัฐบาลมิได้จ่ายเงินอุดหนุนจากเงินภาษีที่เก็บได้ปีต่อปี แต่จ่ายจาก ‘เงินกู้นอกงบประมาณ’ หมายความว่ากู้เงินมาจ่ายโดยไม่ผ่านกระบวนการพิจารณา-อนุมัติงบประมาณของรัฐสภา หลังจาก ‘ลอบ’ สร้างหนี้แล้ว ก็ค่อยมาบังคับสภาให้ต้องเห็นชอบเอาเงินภาษีไปใช้คืนตามหลังโดยไม่มีทางเลือก ถือเป็นวิธีดำเนินนโยบายและใช้เงินภาษีที่ไม่ชอบธรรม ขัดหลักประชาธิปไตยที่ว่า เมื่อประชาชนจ่ายภาษี สภาซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนก็ควรมีอำนาจตัดสินใจสูงสุดว่าจะใช้เงินภาษีนั้นอย่างไร

ที่ผ่านมา รัฐบาลยังกู้เงินมาอุดหนุนในแต่ละปีมากกว่าใช้คืนหนี้ที่ก่อไว้ เฉพาะ 3 ปีล่าสุด (2019/2020-2021/2022) กู้เงินเฉลี่ยปีละ 1.5 แสนล้านบาท แต่จ่ายคืนหนี้แค่ปีละ 7.1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มีหนี้เพิ่มขึ้นปีละ 8.1 หมื่นล้านบาท หรือรวมกว่า 2.4 แสนล้านบาทตลอดช่วงเวลาดังกล่าว[23] ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าหนี้สะสมย้อนหลังทั้งหมดมีมูลค่าเท่าใด แต่จากงบการเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ณ เดือนมีนาคม 2022 คาดว่ามี ‘อย่างน้อยที่สุด’ 6.5 แสนล้านบาท[24] และรัฐบาลยังจ่ายหนี้เงินอุดหนุนตั้งแต่ปี 2009 ไม่หมด[25] – เรายังถูกฝังในหนี้ที่ก่อขึ้นเมื่อ 14 ปีที่แล้วอยู่

การก่อหนี้เป็นดินพอกหางหมูเช่นนี้นับว่าไม่ยั่งยืน เพราะทำให้รัฐบาลกู้เงินมาใช้ในยามจำเป็นหรือลงทุนกับประเทศในทางที่ถูกที่ควรจริงๆ ได้ยากขึ้น งบประมาณแต่ละปีก็ต้องหมดไปกับการจ่ายคืนหนี้และดอกเบี้ยมากขึ้น เบียดบังการใช้จ่ายเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในมิติอื่น

เลิกเงินอุดหนุนแบบเดิม เปลี่ยนวิธีเติมรายได้เกษตรกร

เลิกเงินอุดหนุนแบบเดิม เปลี่ยนวิธีเติมรายได้เกษตรกร

เงินอุดหนุนเป็นวิธีเติมรายได้เกษตรกรที่ฉุดรั้งให้พวกเขาผลิตแบบเดิมและยากจนต่อไปในระยะยาว ทุ่มเงินให้เกษตรกรรายใหญ่อย่างผิดเป้าหมายและไม่เป็นธรรม มีแนวโน้มช่วยเกษตรกรได้น้อยลง อีกทั้งยังก่อหนี้ที่ไม่ชอบธรรมและยั่งยืน – ถือเป็นนโยบายที่ยิ่งทำก็เหมือนยิ่งขุดหลุมฝังเกษตรกรและประชาชนทั้งประเทศ

ฉะนั้น คำถามสำคัญที่น่าถกเถียงกันในวันนี้อาจมิใช่ “รัฐบาลควรจ่ายเงินอุดหนุนเกษตรกรอย่างไร… จำนำหรือประกัน?” ซึ่งเปรียบไปก็เหมือนถามว่า “ขุดหลุมฝังตัวเองแล้ว อยากเขียนป้ายสุสานแบบไหน?” แต่เป็นคำถามว่า “รัฐบาลควรยกเลิกเงินอุดหนุนหรือไม่ แล้วจะจัดสวัสดิการเติมรายได้อย่างไรมาทดแทน?”

101 PUB เสนอให้ ‘ยกเลิก’ นโยบายเงินอุดหนุนทั้งสองประเภท แล้วเปลี่ยนมาเติมรายได้เกษตรกรผ่าน ‘สวัสดิการพลเมือง’ ตามความจำเป็น ไม่ใช่ตามอาชีพ คือคนจนทุกคน – ทั้งที่เป็นและไม่เป็นเกษตรกร – จะได้รับการสนับสนุนให้มีความเป็นอยู่-คุณภาพชีวิตเหมาะสมตามสิทธิที่พวกเขาพึงมีเสมอภาคกัน

แนวทางเช่นนี้จะแยกหลักประกันความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรให้ไม่ถูกผูกติดกับความไม่แน่นอนของการทำเกษตร รวมถึงไม่สร้างเงื่อนไขและจูงใจให้พวกเขาต้องผลิตแบบใดแบบหนึ่ง เปิดกว้างให้สามารถปรับตัวก้าวพ้นจากวงจรความยากจนได้อย่างอิสระ อีกทั้งยังจะตัดปัญหาการทุ่มเงินให้เกษตรกรรายใหญ่และเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนในสังคมยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี สวัสดิการเติมรายได้พลเมืองในปัจจุบันยังไม่เพียงพอจะเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนยากจน ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องขยาย ‘เงินสวัสดิการพื้นฐาน’ อย่างเงินอุดหนุนเด็กเล็กและเงินบำนาญ ให้สนับสนุนประชาชนทุกคนได้มากขึ้นและถ้วนหน้า ขณะเดียวกัน ก็ต้องปฏิรูประบบ ‘เงินช่วยเหลือคนจน’ (social assistance) ให้เติมรายได้-ลดรายจ่ายของคนยากจนได้เพียงพอและทั่วถึง

นอกจากนี้ 101 PUB ยังเสนอให้จัดตั้ง ‘เงินพลิกชีวิตเกษตรกร’ เพื่อเติมทุนและจูงใจให้เกษตรกรปรับตัวจากสภาพการผลิตที่ไม่เหมาะสมและประสิทธิภาพต่ำในปัจจุบัน ‘กอดคอพยุง’ พวกเขาให้ก้าวออกจากหลุมแห่งวงจรความยากจน โดยให้เกษตรกรมีสิทธิรับเงินเดือนละ 1,000 บาท ภายใต้ ‘เงื่อนไข’ ว่าพวกเขาจะต้องเข้าร่วมโครงการ 1 รูปแบบซึ่งรัฐบาลจัดขึ้นและสนับสนุนค่าใช้จ่าย ระหว่าง:

  1. ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
  2. ฝึกทักษะใหม่ เปลี่ยนอาชีพ และปลดหนี้การเกษตร
  3. เกษียณอายุและปลดหนี้การเกษตร (เกษตรกรครัวเรือน 46% เป็นคนสูงวัย[26] ซึ่งปรับตัวได้ยาก และอาจเหมาะจะเกษียณไปเลยมากกว่า)
สัดส่วนการจ้างงานในภาคเกษตร
ไม่ต้องกลัวมีเกษตรกรไม่พอ… ไทยยังมีเกษตรกรเป็นสัดส่วนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านและประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงมาก ที่จริง การย้ายคนออกจากภาคเกษตรเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการยกระดับรายได้ของประชาชนด้วย[27]

แน่นอนว่าลำพังแค่สวัสดิการเติมรายได้พลเมือง เงินพลิกชีวิตเกษตรกร และการเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน รัฐบาลยังจำเป็นต้องดำเนินนโยบายมิติอื่น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่ดิน ชลประทาน โครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและเทคโนโลยี แรงงานและการฝึกอบรม อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการประกันภัย เพื่อ ‘ปลดล็อก’ เงื่อนไขที่ตีกรอบให้พวกเขาต้องผลิตและขายสินค้าเกษตรในแบบที่ทำอยู่ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ปรับตัว-เติบโต ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตนและครอบครัวได้อย่างเต็มที่

ส่งท้าย

ด้วยเกษตรกรเป็นกลุ่มประชากรและฐานเสียงการเมืองขนาดใหญ่ การเติมรายได้-แก้ปัญหาเกษตรกรยากจนจึงเป็นประเด็นนโยบายซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียง หาทางคิดใหม่-ทำใหม่ และมีอิทธิพลสูงยิ่งในการเลือกตั้งระดับชาติทุกครั้ง

การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้จึงเป็น ‘ทางแพร่ง’ สำคัญที่เราทุกคนจะต้องขบคิดและเลือกร่วมกันว่าจะ ‘ไปต่อ’ กับเงินอุดหนุนแบบปัจจุบัน ซึ่งกำลังขุดหลุมฝังเกษตรกรและประเทศ หรือ ‘พอแค่นี้’ แล้วเปลี่ยนวิธีเติมรายได้ใหม่ผ่านสวัสดิการพลเมืองและเงินพลิกชีวิตเกษตรกร พร้อมประสานกับนโยบายมิติอื่นอย่างเป็นระบบ ให้สามารถยกระดับความเป็นอยู่-คุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้มีประสิทธิผล ทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

References
1 ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2022)
2 ข้อมูลจาก International Labour Organization (2021)
3 World Bank Group, Thailand Rural Income Diagnostic: Challenges and Opportunities for Rural Farmers (Bangkok: World Bank, 2022), 19-20.
4 หมายความว่า มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่า 2,803 บาท/คน/เดือน
5 ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2022)
6 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2564 [2021] (กรุงเทพฯ: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2022), 1 และ 15.
7 โสมรัศมิ์ จันทรัตน์, ลัทธพร รัตนวรารักษ์, และ ชญานี ชวะโนทย์, “กับดักหนี้ กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก,” สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 20 ตุลาคม 2022, https://www.pier.or.th/abridged/2022/15/#top (เข้าถึงเมื่อ 28 ธันวาคม 2022).
8 101 PUB คำนวณจาก: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, ตัวชี้วัดเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทยปี 2564 [2021] (กรุงเทพฯ: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2022), 50.
9 World Bank Group, Thailand Rural Income Diagnostic, 13.
10 101 PUB ประมาณการจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2019-2021)
11 101 PUB รวบรวมจากมติคณะรัฐมนตรี
12 101 PUB รวบรวมและคำนวณจากมติคณะรัฐมนตรี
13 ดัดแปลงจาก: จิรัฐ เจนพึ่งพร และ ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล, “เปลี่ยนวงจรชีวิตเกษตรกรจาก ‘วงจรถดถอย’ สู่ ‘วงจรโอกาส’: ตอนที่ 1,” ธนาคารแห่งประเทศไทย, 27 กันยายน 2022, https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_27Sep2022.aspx (เข้าถึงเมื่อ 28 ธันวาคม 2022).
14 กษิดิ์เดช คำพุช, “ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต,” The 101.World, 29 กันยายน 2022, https://www.the101.world/minimum-wage-to-living-wage/ (เข้าถึงเมื่อ 28 ธันวาคม 2022)
15 ข้อมูลจาก International Labour Organization (2019)
16 “10 ปี‘จำนำ-ประกันรายได้’รัฐเท 1.2 ล้านล. อุดหนุนประชานิยม‘ข้าว’-TDRIจี้เลิกชดเชยซ้ำซ้อน,” สำนักข่าวอิศรา, 17 ธันวาคม 2022, https://isranews.org/article/isranews-scoop/114513-Thai-Rice-populism-policy-10-year-report.html (เข้าถึงเมื่อ 28 ธันวาคม 2022).
17 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2013) คำนวณตามเนื้อที่เพาะปลูกและปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเจ้าของเกษตรกรแต่ละราย แต่ไม่อาจจำแนกเงินอุดหนุนตามพันธุ์ข้าวได้เนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูล อย่างไรก็ตาม การประกันราคาในปัจจุบันมีการอุดหนุนราคาข้าวแต่ละพันธุ์ใกล้เคียงกัน
18 101 PUB คำนวณจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (2022)
19 “FAO Food Price Index,” Food and Agriculture Organization of the United Nations, December 2, 2022, https://www.fao.org/worldfoodsituation/foodpricesindex/en/ (accessed December 28, 2022).
20 Rob Vos, Joseph Glauber, Manuel Hernández, and David Laborde, “COVID-19 and rising global food prices: What’s really happening?,” International Food Policy Research Institute, February 11, 2022, https://www.ifpri.org/blog/covid-19-and-rising-global-food-prices-whats-really-happening (accessed December 28, 2022).
21 ข้อมูลจาก International Monetary Fund (2021)
22 101 PUB คำนวณจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2022)
23 101 PUB รวบรวมและคำนวณจากมติคณะรัฐมนตรีและ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ (2020; 2021; 2022)
24 ข้อมูลจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (2022)
25 ข้อมูลจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ (2023)
26 โสมรัศมิ์ จันทรัตน์, บุญธิดา เสงี่ยมเนตร, วิษณุ อรรถวานิช, จิรัฐ เจนพึ่งพร, “สถานการณ์สูงวัยกับผลิตภาพและการทำเกษตรของครัวเรือนเกษตรไทย,” สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 12 มิถุนายน 2019, https://www.pier.or.th/abridged/2019/13/ (เข้าถึงเมื่อ 28 ธันวาคม 2022).
27 วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา, “กะเทาะปัญหา-มองหาทางออก ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย กับ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร,” The101.World, 15 กันยายน 2022, https://www.the101.world/veerayooth-economic-transformation/ (เข้าถึงเมื่อ 28 ธันวาคม 2022).

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save