สงครามยูเครนบอกอะไรสีจิ้นผิงกับไบเดน

มีสัจธรรมสองข้อเกี่ยวกับสงครามครับ ข้อแรกคือ เมื่อรบกันแล้ว มีแต่หายนะกันหมด ส่วนข้อสองคือ เมื่อสงครามเกิดแล้ว ยากที่จะมีใครทำนายก้าวย่างของสงครามได้อย่างถูกต้อง

ดูอย่างสงครามยูเครนสิครับ หายนะกันถ้วนทั่ว รัสเซียเองก็อ่อนแอลง ส่วนยูเครนนั้นพังพินาศ

แรกสุด ทุกคนคาดหมายว่ารัสเซียจะสามารถพิชิตเมืองหลวงกรุงเคียฟของยูเครนได้อย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ก็ยังประเมินเช่นนั้น แต่ปรากฎจนบัดนี้ก็ยังไปไม่ถึงกรุงเคียฟ

ในปีแรกยูเครนซัดกลับหนัก จนบางทีเหมือนกับกองทัพรัสเซียก็ต้องถอยร่นอยู่เหมือนกัน บางช่วงบางจังหวะเป็นช่วงฮึกเหิมจนนักวิเคราะห์ฝั่งตะวันตกหลายคนมองว่า ยูเครนอาจคว้าชัยชนะล้มยักษ์สำเร็จก็ได้ ประวัติศาสตร์สงครามนั้นอ่อนชนะแข็งก็มีมาเยอะแล้ว

แต่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้ถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครได้ชัยชนะ ตัวรัสเซียเอง ซึ่งตอนนี้ยึดครองพื้นที่ภายในยูเครนได้ประมาณ 1 ใน 5 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ก็ไม่สามารถขยายขอบเขตการยึดครองไปมากกว่านี้ได้ ขณะเดียวกันยูเครนเองก็ไม่สามารถทวงพื้นที่คืนเพิ่มขึ้นได้อีก

ตอนนี้เหมือนคลังอาวุธของแต่ละฝ่ายก็เริ่มร่อยหรอ โดยเฉพาะยูเครน นิวยอร์กไทมส์รายงานว่ากองทัพยูเครนใช้กระสุนในการรบน้อยลงถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับช่วงซัมเมอร์ปีก่อน เสบียงอาวุธเริ่มร่อยหรอลงอย่างเห็นได้ชัด และท่ามกลางสงครามฮามาส-อิสราเอล สหรัฐฯ เองก็ต้องแบ่งการสนับสนุนและงบประมาณไปช่วยสงครามด้านนั้น 

มีรายงานว่าช่วงสองเดือนที่ผ่านมา รัสเซียเปลี่ยนมาเน้นปฏิบัติการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของยูเครน โดยไม่ได้เน้นการขยายพื้นที่ยึดครองอีกต่อไป ขณะที่ยูเครนเองก็เน้นตอบโต้พื้นที่รัสเซียเป็นจุดๆ และอ่อนพลังลงมากจากการกรำศึกสงครามที่ยาวนาน กลายเป็นภาพที่ทั้งสองฝ่ายต่างเอากันไม่ลง

เคยมีนักวิเคราะห์มองว่า สงครามยูเครนให้บทเรียนกับสีจิ้นผิงว่าอย่าประมาทสงคราม สงครามอาจไม่ง่ายไม่หมูอย่างที่คิดเและอาจยืดเยื้อลากยาวก็ได้ บางคนคิดว่าจีนมีพลังทหารเหนือกว่าไต้หวันหลายเท่าตัว หากจีนตัดสินใจใช้กำลังรวมชาติ น่าจะเผด็จศึกสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว แต่สงครามยูเครนเป็นตัวอย่างของจริงที่เตือนว่าการบุกยึดพื้นที่ทำได้ไม่ง่าย ไต้หวันเองยิ่งเป็นเกาะด้วย ซึ่งจะยากกว่าการรบทางบกหลายเท่าตัว

สงครามยืดเยื้ออาจไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับรัสเซีย เพราะรัสเซียเป็นประเทศแหล่งทรัพยากรและมีประชากรน้อย ปิดประเทศก็อยู่ได้ไม่อดตาย แต่จีนต้องเลี้ยงประชากร 1.4 พันล้านคน ถ้าสงครามยืดเยื้อและถูกปิดเส้นทางขนส่งพลังงานและทรัพยากร จีนอยู่ได้ยาก

มีคนพูดทีเล่นทีจริงว่า ก่อนสงครามยูเครนอาจมีกลุ่มฮาร์ดคอร์ในปักกิ่งที่เรียกร้องให้ใช้กำลังรวมชาติกับไต้หวัน แต่หลังจากสงครามยูเครนที่ดูผิดจากที่คาดคิดไปมาก และความกลัวที่จะต้องเผชิญการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากฝั่งตะวันตก ทำให้เสียงกลุ่มสนับสนุนสงครามในปักกิ่งเงียบลงทันที

ในมุมมองของตะวันตก เดิมพันของสงครามยูเครนจึงสูงมาก ถ้าสุดท้ายสหรัฐฯ และยุโรปหยุดส่งอาวุธสนับสนุนยูเครน และยูเครนถูกกดดันให้ต้องยอมรับพื้นที่ที่รัสเซียยึดไปได้ ก็อาจส่งสัญญาณว่า ขอเพียงผู้บุกรุกอดทนและยืดเวลาได้ยาวนานที่สุด สุดท้ายตะวันตกก็จะล้าและเลิกสนับสนุนไปเอง

การเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนจึงสำคัญมาก เพราะหากโดนัลด์ ทรัมป์ชนะ ก็อาจเลิกสนับสนุนยูเครน จนจะสร้างความแตกร้าวระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป หากฉากทัศน์นี้เกิดขึ้นจริง จะส่งสัญญาณอะไรให้กับสีจิ้นผิงในการคิดเกี่ยวกับการใช้กำลังกับไต้หวัน เมื่อพันธมิตรตะวันตกแตกคอกัน และสุดท้ายยูเครนแพ้

ขณะเดียวกัน ในจีนเองก็มีคนเกรงว่าสงครามยูเครนอาจสอนประธานาธิบดี โจ ไบเดน ว่าสหรัฐฯ สามารถทำสงครามตัวแทน โดยที่สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาร่วมมาเจ็บตัวด้วยมาก เพียงสนับสนุนเรื่องอาวุธก็พอ รัสเซียเองก็ไม่กล้าเปิดฉากรบกับสหรัฐฯ หรือถล่มสหรัฐฯ โดยตรง และไม่กล้ายกระดับเป็นสงครามนิวเคลียร์

ก่อนหน้านี้เคยมีคนคิดว่า ไม่มีใครกล้ารบกับรัสเซีย เพราะกลัวจะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ แต่ผลปรากฏว่าอาวุธนิวเคลียร์นั้นทรงพลังเกินกว่าที่จะเอามาใช้ สหรัฐฯ สามารถส่งอาวุธช่วยเหลือยูเครนในลักษณะสงครามตัวแทน โดยไม่เข้าไปเปิดหน้าฉากรบกับรัสเซียอย่างเต็มตัว

หลายคนสงสัยว่า นี่จะเป็นโมเดลที่สหรัฐฯ จะใช้ในการช่วยไต้หวันหากมีสงครามหรือไม่ และหากโอกาสเกิดสงครามนิวเคลียร์น้อย สหรัฐฯ สามารถบีบให้จีนเข้าสูสงครามธรรมดาได้ เท่ากับสามารถดูดพลังทำให้จีนอ่อนแอลง และทำให้จีนกลายเป็นผู้ร้ายของโลก การยั่วยุกันจนนำไปสู่สงครามก็อาจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าในอดีตที่สหรัฐฯ พยายามหลีกเลี่ยงประเด็นไต้หวันเพราะกลัวทำสงครามอวสานโลกกับจีน

สำหรับในไต้หวัน การเลือกตั้งผู้นำไต้หวันครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนอย่างชัดเจน ครั้งที่แล้ว การดุดันกับจีนช่วยให้ได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำ แต่ครั้งนี้แม้กระทั่งพรรค DPP ที่เป็นปฏิปักษ์กับจีน ก็ดูจะลดการดุดันกับจีนลงในการหาเสียง เพราะกระแสความหวาดกลัวหายนะจากสงคราม เมื่อภาพเต็มตาโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในยูเครนเริ่มฝังใจชาวไต้หวัน ส่วนพรรคคู่แข่งก็หาเสียงว่าถ้าเลือกพรรค DPP ระวังจะพาไต้หวันไปเป็นยูเครนสอง

สงครามยูเครนเป็นหายนะต่อทุกฝ่ายและเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่โดยตัวของมันเอง แต่หลายคนมองสงครามยูเครนเหมือนฉากซ้อมสงครามครั้งหน้าที่จะใหญ่กว่านั้นระหว่างจีน-ไต้หวัน-สหรัฐฯ ผลลัพธ์ต่อไปของสงครามยูเครนอาจส่งสัญญาณโดยตรงต่อการประเมินความคุ้มความไม่คุ้มของการจุดชนวนสงครามช่องแคบไต้หวันของทั้งสามฝ่าย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save