fbpx

มีเรื่องอยู่มากมายในนวนิยาย “กัลป์วิบัติ”

เวลาเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือไม่ เราจะสัมผัสมันได้อย่างไร ในความหมายนี้คือ เวลาโดยตัวมันเองแล้วมีใครได้เห็นบ้าง เวลามีรูปร่างที่ชัดเจนหรือไม่ และมีใครสักคนบนโลกนี้เคยยื่นมือไปสัมผัสกับมันหรือเปล่า นี่อาจเป็นคำถามคลิเช่พอกับคำถามที่ผู้มีหัวคิดก้าวหน้ามากๆ ชอบโยนใส่กันไปมาว่า “ชาติมีจริงหรือไม่” หรือ “ถ้าชาติมีอยู่จริง หน้าตามันเป็นอย่างไร” คำถามเหล่านี้มักเป็นเรื่องที่คนถกเถียงกันหน้าดำหน้าแดงในชั้นเรียนบ้าง ในรายการโทรทัศน์บ้าง ในงานเสวนาของปัญญาชนบ้าง และคำถามเหล่านี้ชวนให้เราคิดไปว่าไม่มีอะไรในโลกนี้จริงแท้หรอก ไม่มีอะไรดำรงอยู่สักนิด โลกนี้มีแต่ความว่างเปล่า และก็เป็นมนุษย์นี่แหละที่เสกสร้างสรรค์สรรพสิ่งต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาจากความว่างเปล่า แท้จริงแล้วมันเต็มไปด้วยความว่างเปล่าทั้งสิ้น

(คำว่า “เต็มไปด้วยความว่างเปล่าทั้งสิ้น” นี้ อันที่จริงแล้วมันก็ดูเท่ไม่หยอก ว่างเปล่าเต็มไปหมดเลย)

ไม่ว่าอะไรจะมีอยู่จริงหรือไม่และ/หรืออย่างไรก็ตามที ประเด็นที่น่าสนใจคือ สิ่งต่างๆ ที่เราตั้งคำถามเหล่านี้คือสิ่งที่มีอำนาจต่อเราๆ ท่านๆ ตลอดเวลา นั่นคือ ไม่ว่าเวลาจะมีอยู่จริง หรือมีรูปร่างเป็นนามธรรมหรือไม่ก็ตาม มันก็มีอำนาจในการบังคับให้เราต้องทำสิ่งต่างๆ ในแต่ละวัน และยังเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์ในศตวรรษนี้ ไม่ว่าชาติจะมีอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เรียกว่าชาติก็มีอำนาจกดขี่ขูดรีดเราทั้งที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรม โดยที่ชาตินั้นชอบทำโดยไม่ได้สนใจนักหนาว่าเราจะชอบทำหรือไม่ก็ตาม ก็เราล้วนอยู่ในรัฐประชาชาติทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่างในนามของชาติ และเวลา ย่อมเป็นเรื่องที่แล่เนื้อเถือหนังของเราอยู่ตลอด… ไม่ว่ามันจะมีจริงหรือไม่ก็ตาม…

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผมคือ สิ่งต่างๆ นั้นทำงานอย่างไร สิ่งที่เป็นนามธรรมมากๆ นั้นปรากฏตัวสู่สาธารณะผ่านกระบวนการอะไรและอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการที่เรารับรู้และเข้าใจนั้นมีระเบียบอย่างไร เราเข้าใจกระบวนการที่ทำให้สรรพสิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างไร ดังนั้นเมื่อกลับไปที่คำถามแรกว่า เวลาเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือไม่ อาจไม่ใช่คำถามที่น่าตอบเท่าไรนัก แต่คำถามที่น่าสนใจกว่านั้น (ขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่ง) ก็คือ เราเข้าใจว่าเวลามีระเบียบอย่างไร ถ้าจะอธิบายเรื่องการทำงานของเวลา กรอบแบบไหนที่จะช่วยให้เราเข้าใจได้มากที่สุด วิทยาศาสตร์ หรือ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์

คำถามที่น่าสนใจคือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ถูกจัดวางอย่างไร เป็นเส้นตรงหรือไม่ ปัจจุบันเป็นผลมาจากอดีต และจะส่งผลไปยังอนาคตหรือไม่ ถ้าไม่ เป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราสามารถไป ‘ตื่น’ ในอดีตเพื่อแก้ไขเหตุการณ์บางอย่างที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือไป ‘ตื่น’ ในอนาคตที่ผลของอดีตและปัจจุบันทั้งหมดดำเนินมาอย่างต่อเนื่องได้เกิดขึ้นแล้ว และเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะ ‘หลับ’ ไปในช่วงหนึ่งของอนาคตเพื่อหวังว่าจะไป ‘ตื่น’ ใน ‘อดีต’ เพื่อเตือนคนในอดีตว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งหมดนี้ก็คือ ถ้าเวลามันไม่ได้มีระเบียบเป็นเส้นตรงแล้ว เราจะเดินทางข้ามเวลาได้หรือไม่ และเราจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือ

ย่อหน้าด้านบนนั้นมีแต่คำถามที่ไม่รู้จะถามไปทำไม เป็นคำถามประเภทที่หลักพุทธศาสนาอธิบายว่าเป็น ‘อจินไตย’ หมายถึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรคิด คิดไปแล้วไม่ได้ประโยชน์ อาจทำให้เสียสติได้ เช่น วิสัยแห่งความมหัศจรรย์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีจริงหรือไม่ อิทธิฤทธิ์ของผู้มีฌานมีจริงหรือไม่ เวรกรรมมีจริงหรือไม่ และโลก สวรรค์ นรก สังสารวัฏมีจริงหรือไม่ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ไม่เป็นประโยชน์ ปุถุชนไม่อาจวินิจฉัยให้ถูกต้องอย่างถ่องแท้ได้ แต่คำถามเหล่านี้กลับเป็นเครื่องมือสำคัญในการเล่าเรื่องนวนิยาย ‘กัลป์วิบัติ’ ของ อนิธรา นักเขียนที่เพิ่งมีผลงานนวนิยายเล่มแรก นอกจากคำถามอันเป็น ‘อจินไตย’ แล้ว ดูเหมือนว่านวนิยายเล่มนี้พยายามจะนำเสนอ ‘ประเด็นปัญหาทางสังคม’ อีกมากมายนับไม่ถ้วน รวมไปถึงความภินท์พังและล่มสลายของปัจเจกบุคคลอีกด้วย

เวลา/ความสัมพันธ์/การสวมรอย/ปัจเจกบุคคล/ความรุนแรง/โรคระบาด

โครงเรื่องของ ‘กัลปวิบัติ’ นั้นสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง ตัวโครงเรื่องหลักเป็นเรื่องของ ตัวละคร ‘ฉัน’ ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องด้วย โดย ‘ฉัน’ มีภารกิจกอบกู้โลกจากโรคระบาด วิธีการคือ จะต้องใช้เครื่องที่เรียกว่า ‘โปรโตไทป์’ ซึ่งมีลักษณะเหมือนเตียงผ่าตัดและเป็นเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นบนฐานคิดแบบพุทธศาสนา ดังที่ตัวละคร ‘ทิวา’ อธิบายไว้ว่า “เครื่องโปรโตไทป์ไม่ได้ถือกำเนิดบนฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์” แต่เกิดจาก “คัมภีร์ใบลานที่เราตั้งชื่อให้ว่าอจินไตย” ( หน้า 117) ลักษณะการทำงานของเครื่องนี้คือ มันเป็นเครื่องมือที่เล่นอยู่กับเวลา ทำให้ผู้ที่เข้าเครื่องนี้หลับใหลและไปตื่นในตัวตนของตัวเองในช่วงเวลาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต เมื่อสามารถไปตื่นในร่างของตัวเองในเวลาที่แตกต่างกันได้ ภารกิจที่ ‘ฉัน’ ได้รับมอบหมายก็คือการไปยับยั้งการระบาดของโรคใหม่ที่อาจทำให้มนุษยชาติสูญพันธุ์ได้

นอกจากการกอบกู้โลกแล้ว ตัวโครงเรื่องรองเป็นการเล่าถึงความสัมพันธ์ของตัวละคร ‘ฉัน’ ที่ทั้งภินท์พัง ผุกร่อน ล่มสลาย ตัวของเขาเองเป็นคนที่ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง คบกับใครก็กลายเป็นพิษกับคนนั้น ‘ฉัน’ ไม่ประสบความสำเร็จในการคบหากับผู้หญิงคนไหนเลย เพราะตัวตนที่ “เลวทรามบัดซบ”  ดังที่ ‘ฉัน’ เล่าถึงตัวเองเอาไว้ในตอนต้นเรื่องว่า

“…ฉันแม่งประสาทแดก เป็นผู้ชายแบบที่เฟมทวิตเรียกขยะมีพิษ เป็นหลักฐานยืนยันการมีอยู่ของกระดอพูดได้ เป็นไอ้สัตว์ที่ฝักใฝ่แนวคิดปิตาธิปไตย โบราณและล้าหลัง…ฉันเคยมีประวัติการใช้ความรุนแรง แต่ฉันพยายามจะห้ามมัน ทั้งการกระทำและคำพูด ฉันบอกทุกอย่าง ทุกความเลวทรามบัดซบ ทว่าพวกเธอก็ยังอยากคบเพียงเพื่อตอนจบ ฉันจะถูกถ่มถุยด้วยข้อกล่าวหาที่ อีห่า ก็กูบอกมึงแล้ว” (หน้า 36)

นอกจากนี้ ‘ฉัน’ ยังสวมรอยเป็นอีกคนหนึ่ง คือ อนันต์ นาดี ผู้ซึ่งกำลังจะฆ่าตัวตายด้วยการโดดน้ำ แต่โชคชะตาทำให้อนันต์หล่นมาบนเรือที่ ‘ฉัน’ นั่งอยู่ โทรศัพท์ของเขาตกน้ำและเขาขอให้อนันต์ชดใช้ อนันต์จึงมอบโทรศัพท์ของเขาและรหัสผ่านต่างๆ ให้ทั้งหมด ‘ฉัน’ จึงเข้าไปสวมรอยชีวิตของอนันต์นับตั้งแต่นั้น เรื่องนี้ช่างดูไร้แก่นสารและแอบเสิร์ต (absurd) เหลือเกิน แต่ก็ต้องเล่าเพราะตัวตนของอนันต์ต้องไปเกี่ยวข้องกับการกอบกู้โลกจากโรคระบาดด้วย

โรคระบาดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและกลายเป็นปมปัญหาที่สำคัญของเรื่องที่ ‘ฉัน’ ต้อง ‘เดินทาง’ ข้ามเวลาไปมาเพื่อคลี่คลายว่าโรคระบาดเกิดขึ้นได้อย่างไรและเขาจะต้องหยุดยั้งมันอย่างไร แต่แล้วเรื่องก็คลี่คลายในประเด็นที่ว่า โรคระบาดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นและปล่อยออกมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมมนุษย์ในฐานะต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อม (อันที่จริงแล้วดูเหมือนว่าจะเป็นแรงจูงใจเดียวกับ ธานอส จากจักรวาลหนังมาร์เวลที่ต้องการดีดนิ้วเพื่อลดจำนวนประชากรในจักรวาลให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งเพื่อรักษาสมดุลของจักรวาล)

เรื่องทั้งหมดเหล่านี้ถูกผูกและโยงให้เข้ากันกลายเป็นเรื่องเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้เขียนพยายามโยนใส่เข้ามาในตัวเรื่องกลายเป็นส่วนหนึ่งของปมขัดแย้ง ประเด็นเหล่านั้นบางเรื่องเป็นปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ทางสังคมการเมืองที่เกิดขึ้น เช่น การใช้วัคซีนที่ไร้คุณภาพจนทำให้โรคระบาดกลายพันธุ์ การเพิกเฉย เมินเฉยต่อผู้ที่ถูกทำร้ายเพียงเพราะไม่อยากอยู่ในความขัดแย้งของคนอื่นๆ ความซับซ้อนของเรื่องนี้บางทีอาจหมายถึงความพยายามในการเล่าหรือโยนทุกเรื่องทุกประเด็นที่ผู้เขียนสนใจเข้ามาใส่ในตัวเรื่อง แต่สิ่งที่เป็นข้อสังเกตของผมคือ เรื่องเหล่านั้นยังขาดพื้นที่มากพอที่จะพัฒนาประเด็นแต่ละประเด็นให้แหลมคมและเชื่อมโยงทุกประเด็นให้เป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างกลมกลืน

ผมสังเกตว่า เรื่องและเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนวนิยาย ‘กัลป์วิบัติ’ นั้นขาดการอธิบายให้เพียงพอที่จะทำให้โน้มตามหรือคล้อยตามไปได้ว่ามันเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าตัวเรื่องมันอาจกำลังนำเสนอความไม่สมเหตุสมผลก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะทำให้เห็นถึงที่มาของความไม่สมเหตุสมผลเหล่านั้น ผมคิดว่าผู้เขียนกำลังยืนอยู่ตรงกลางระหว่างความพยายามที่จะอธิบายให้เพียงพอกับเรื่องจำนวนมหาศาลที่อยากจะเล่า เพียงแต่ผมคิดว่าจุดที่สมดุลของทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนยังไม่อาจพบได้

การเล่นกับเรื่องของเวลาในลักษณะที่ว่า เวลาไม่ได้เป็นเส้นตรง ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลกันแบบ อดีต ปัจจุบัน อนาคต เวลาเป็นสิ่งที่ไม่มีทิศทางที่แน่นอน ดังที่กล่าวไว้ในตัวเรื่องว่า “รูปแบบเวลาที่ไหลจากอดีตไปหาอนาคตซึ่งเราคุ้นชิน ไม่ใช่พฤติการณ์แท้จริงของเวลา เวลาไม่มีทิศทาง เหตุการณ์หนึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังอีกเหตุการณ์ก็ได้” (หน้า 103) มันทำให้ผมนึกถึงแนวคิดแบบ ‘คตินิยมสมัยใหม่’ (modernism) แต่เพียงเปลี่ยนคำว่า ‘เวลา’ ในตัวเรื่องเป็นคำว่า ‘เหตุการณ์’ แน่นอนว่าเหตุการณ์กับเวลานั้นสัมพันธ์กัน คตินิยมสมัยใหม่ทำให้เราตระหนักถึงเหตุการณ์ต่างๆ ว่าไม่ได้มีความเป็นเหตุเป็นผลกัน เวลาก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นงานเขียนคตินิยมสมัยใหม่จึงนำเสนอเหตุการณ์และเวลาที่ท่วมท้น เพราะคนเราไม่อาจรับรู้ถึงเหตุการณ์และเวลาต่างๆ ได้เหมือนกันหรือเหตุการณ์และเวลาต่างๆ นั้นไม่ได้สัมพันธ์กันแบบเป็นเหตุเป็นผล แต่ทั้งหมดทั้งมวลของงานเขียนแบบคตินิยมสมัยใหม่ต่างก็พยายามนำเสนอเหตุการณ์และเวลาที่เราไม่อาจตระหนักได้ มันจึงเป็นเหมือนความแอบเสิร์ตในตัวเองที่ไม่จำเป็นต้องอธิบายด้วยความเป็นเหตุเป็นผล

สิ่งที่เกิดขึ้นในนวนวนิยาย ‘กัลป์วิบัติ’ นั้น ผมคิดว่าแทนที่จะนำเสนอความแอบเสิร์ตไปเลยโดยที่ไม่ต้องไปสนใจว่าจะอธิบายเชื่อมโยงความเป็นเหตุเป็นผลให้กับตัวเรื่องอย่างไรกลับมีความพยายามจะทำให้ตัวเรื่องมีปมที่เป็นเหตุเป็นผลกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางข้ามเวลา กล่าวคือ จะเป็นนิยายไซไฟ เดินทางข้ามเวลาเพื่อไปแก้ไขปมปัญเรื่องโรคระบาดและเป็นแบบแอบเสิร์ตไปเลยก็ได้ แต่ดูเหมือนว่าผู้เขียนจะพระว้าพะวงว่าเรื่องเหตุการณ์และความขัดแย้งทั้งหมดจะไม่สมเหตุสมผลกัน ความพะว้าพะวงนี้จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้เรื่องราวทั้งหมดที่ผู้เขียนอยากเล่าไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้เต็มที่ เพราะผู้เขียนเองดูมีเรื่องอยากจะเล่ามากมาย แต่ก็อยากจะเก็บรายละเอียดหรือแก่นสำคัญของการเล่นกับประเด็นเรื่องเวลาเอาไว้ เรื่องความสัมพันธ์ที่ล่มสลายของตัวละครก็อยากเล่าให้เป็นเหตุเป็นผล ประเด็นทางสังคมก็อยากเก็บไว้ อย่างน้อยเป็นฉากในเรื่องก็ยังดี

ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่า สิ่งที่ ‘ท่วมท้น’ มากๆ ไม่ใช่เหตุการณ์ของตัวเรื่องที่มีหลายชั้น หลายเรื่อง แต่เป็น ‘เรื่อง’ ที่ผู้เขียนอยากเล่าแต่ไม่อาจพัฒนาเรื่องเหล่านั้นให้แหลมคมหรือมีความชัดเจนมากพอที่จะส่งสารที่สำคัญออกมาได้ เรื่องทั้งหมดจึงกลบเกลื่อนกันไปมาเหมือนกองดินพูนๆ กันหลายๆ ชั้น จริงอยู่ว่ากองดินเหล่านั้นอาจมีวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านได้ขุดคุ้ยเพื่อตามหาสารบางอย่างที่ซ่อนเร้นไว้ แต่ผมอาจยังไม่เห็นอย่างชัดเจนว่าการขุดกองดินเหล่านั้นเพื่อตามหาสารของตัวเรื่องจะทำไปเพื่ออะไรและเราจะมองเห็นอะไรที่มากขึ้นในตัวเรื่องหรือไม่ เพราะยิ่งขุดก็ยิ่งเห็นสิ่งที่ตัวเรื่องพยายามพาหนีออกไปจากแก่นสารของเรื่องที่ต้องการจะนำเสนอ

ล่มสลายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

สิ่งที่ผมสนใจหลังจากอ่านนวนิยายเรื่องนี้จบก็คือ การเล่าถึงความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลที่ล่มสลาย ภินท์พังซ้ำเล่าซ้ำเล่า ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ไม่ประสบความสำเร็จ ชีวิตที่มีแต่สิ่งที่ผุกร่อน ผมคิดว่า แก่นเรื่องลักษณะนี้เป็นสิ่งที่พบเห็นมากในงานเขียน และกินอาณาบริเวณกว้างขวางหลากหลายประเภท เช่น ในหมู่วรรณกรรมสร้างสรรค์ นิยายวาย นิยายออนไลน์ หรือแม้กระทั่งนิยายโรมานซ์ กล่าวคือ อ่านอะไรก็เห็นแต่ความภินท์พัง ผมสนใจว่า ทำไมงานวรรณกรรมไทยร่วมสมัยจึงเต็มไปด้วยเรื่องเช่นนี้

ผมไม่ได้คิดว่านี่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงของแวดวงวรรณกรรมไทยที่มักนำเสนอแต่เรื่องความล่มสลายในมิติต่างๆ ของชีวิตซ้ำๆ ซากๆ แต่ผมสนใจว่า ทำไมนักเขียนจำนวนมากโดยเฉพาะนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ถึงเขียนเรื่องแนวนี้ออกมามาก ความล่มสลายนี้หากไม่ปรากฏอยู่ในชีวิตตัวละครก็อาจอยู่ในฉาก อยู่ในบริบททางสังคมในตัวเรื่อง

คำถามและข้อสังเกตของผมนั้นอาจตอบได้อย่างลำลองว่า ‘ในสังคมไทยนี้ไม่ได้มีความหวังให้เขียนถึงมากมายนัก’ ผมคิดว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นสังคมไทย -แน่นอนว่าเริ่มต้นมาจากสังคมการเมือง- พัฒนาตัวเองมาอย่างต่อเนื่องและลุกลามกลายเป็นประเด็นใหญ่ๆ แทบจะในทุกมิติของสังคมไทย เช่น ความขัดแย้งในครอบครัว ความขัดแย้งของคนหลายกลุ่มหลายความคิด ความขัดแย้งระหว่าง ‘รุ่น’ สภาพเศรษฐกิจที่คนรวยรวยมากขึ้นทุกวันส่วนคนจนก็จนลงไปทุกวัน งานหายาก ค่าตอบแทนต่ำ รายจ่ายสูงขึ้น คนหนึ่งคนต้องมีความสามารถที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อทำงานในค่าตอบแทนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน สุขภาวะในสังคมไทยที่ย่ำแย่ เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลครั้งหนึ่งต้องรอคิวทั้งวันเพราะการเข้าถึงการแพทย์ที่ดี ทันสมัย อยู่ในมือคนอีกชนชั้นแล้วและไม่เคยล้นมาถึงมือคนธรรมดาได้เลย ฯลฯ

สิ่งที่ผมนั่งครุ่นคิดก่อนที่จะเขียนถึงนวนิยาย ‘กัลป์วิบัติ’ ก็คือ สังคมไทยนี้ต้องน่าเศร้าเพียงใดกัน นักเขียนจำนวนไม่น้อย แม้กระทั่งนักเขียนหน้าใหม่ๆ เองก็ไม่สามารถจินตนาการถึงความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีได้เลย

มันวิบัติจริงๆ ทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการด้วย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save