fbpx

อ่านจีนให้รู้จัก

สำหรับผู้ที่สนใจความเป็นอื่นระหว่างไทยและจีนในเชิงวิชาการหรือนันทนาการ หนึ่งในสะพานสำคัญที่ใช้ในการทำความเข้าใจสองฟากฝั่งที่ดูเหมือนใกล้ชิด แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงไกลห่าง คือ ‘สังคมจีนในไทย’ (2564) (Chinese Society in Thailand: An Analytical History, 1957) โดย จี. วิลเลียม สกินเนอร์ (G. William Skinner) นักวิชาการด้านจีนวิทยาคนสำคัญที่นำเสนอภาพตั้งแต่การไหลบ่าเข้ามาของแรงงานจีนอพยพในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ จนถึงยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่นโยบายการเมืองเรื่องชาตินิยมถูกชูขึ้นเพื่อสร้างชาติ

ข้อเสนอเรื่องจีนสยาม-จีนไทยอย่างเป็นระบบของสกินเนอร์ในเวลานั้นสอดคล้องพอดีกับบริบทประวัติศาสตร์ของสงครามเย็น ซึ่งมีจีนคอมมิวนิสต์เป็นตัวแปรสำคัญในการยุทธ จึงทำให้เกิดแรงส่งต่อเนื่องให้สังคมจีนในไทยถูกสถาปนาขึ้นเป็นแนวทางหลักทั้งในด้านการศึกษาและด้านการเมือง

อิทธิพลของสังคมจีนในไทยที่อยู่เหนือแนวคิดอื่น ในแง่หนึ่งทำให้เกิดภาวะสถิตของจีนศึกษาในไทย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงระหว่างสองเชื้อชาติในสังคมเป็นพลวัต เมื่อเกิดกระแสความคิดที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ความแออัดบนสะพานการศึกษาเดิมเริ่มคลี่คลายลง และบังเกิดการสำรวจเพื่อศึกษาหาเส้นทางใหม่

‘เขียนจีนให้เป็นไทย’ (2564) ของสิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ พัฒนามาจาก Textualizing the “Chinese of Thailand”: Politics, Knowledge, and the Chinese in Thailand during The Cold War (2017) ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาเมื่อศึกษาอยู่ที่ National University of Singapore



การศึกษาของสิทธิเทพเริ่มต้นจากการสำรวจว่าพื้นที่แต่เดิมว่า ก่อนจะมีการลงหลักปักฐานของสังคมจีนในไทยนั้น จีนศึกษาในสังคมไทยและสังคมโลกมีสภาพแวดล้อมอย่างไร ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของงานวิชาการดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการสถาปนาอำนาจนำในระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา

การแย่งชิงพื้นที่ทางอุดมการณ์บนแผนที่โลกทำให้มีการส่งออกนักวิชาการอเมริกันจำนวนมากมาศึกษาและสร้างองค์ความรู้จากในพื้นที่ประเทศไทย อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ใช้ตอบโต้การขยายตัวของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ของชาวจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานวิชาการเหล่านี้ได้กลายเป็นที่มั่นสำคัญในโครงการศึกษาวิจัยของสหรัฐอเมริกา

สกินเนอร์ผู้เข้ามาศึกษาเรื่องสังคมจีนในไทยในขณะนั้นได้เสนอแนวคิด ‘กลืนกลาย’ ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนคนจีนเป็นคนไทยภายในช่วงสองถึงสามอายุคน โดยความคิดเรื่องกลืนกลายนี้จะเกิดผลอย่างมีนัยสำคัญเมื่อผู้คนถูกตัดขาดจากอิทธิพลความเป็นจีนที่ต่อเนื่อง และซึมซับแนวคิดชาตินิยมของรัฐไทยที่ส่งผ่านมาทางการปกครอง ถึงแม้ว่าแนวคิดของสกินเนอร์จะถูกต่อต้านจากแนวคิดของนักวิชาการคนอื่นๆ แต่การได้รับเลือกให้เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการจัดการคนจีนและความเป็นจีนในไทยให้พ้นจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ทำให้คำจำกัดความและความเข้าใจเรื่องจีนสยามและจีนไทยอยู่ในกรอบการลบและล้างความเป็นอื่น

แนวคิดของสกินเนอร์ถูกท้าทายมากขึ้นเมื่อนักวิชาการในไทยเองเริ่มเห็นข้อบกพร่องในข้อเสนอ จุดเปลี่ยนสำคัญคือองค์ความรู้ของสหรัฐอเมริกาเริ่มเสื่อมมนต์ขลัง ความแนบแน่นทางการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัฐบาลเผด็จการนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากปัญญาชนในสังคมไทย การปลดแอกอาณานิคมทางปัญญาเกิดขึ้นจาก ‘ชาตินิยมวิชาการ’ ที่ตั้งคำถามกับแนวคิดอันปลูกฝังจากโลกเสรี

ท่าทีที่เปลี่ยนไปของสหรัฐอเมริกาต่อจีนเป็นอีกตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ทัศนคติของรัฐไทยต่อคนจีนเปลี่ยนแปลง การไปเยือนจีนของนิกสันทำให้ความตึงเครียดคลี่คลายลงไป การเสนอความเห็นเกี่ยวกับจีนศึกษามีอิสระมากขึ้น แม้แต่เรื่องเล่ากระแสหลักของประวัติศาสตร์ไทยก็ถูกสั่นคลอนจนกระทั่งทลายลง

ความรู้ความเข้าใจระหว่างจีนกับไทยเริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้น เมื่อมีการไปมาหาสู่กันระหว่างนักวิชาการจีนกับไทยหลังการสถาปนาทางการทูต ความเป็นอื่นที่เคยเป็นกำแพงใหญ่หดตัวลงผ่านการสานสัมพันธ์ทางปัญญา คนจีนได้ถูกนับรวมเข้ากับความเป็นไทยย้อนกลับไปไกลกว่ากรุงรัตนโกสินทร์ เทือกเขาอัลไตเป็นเพียงมรดกตกสมัยของอุดมการณ์ชาตินิยม

จากช่วงระยะเวลาประมาณ 40 ปีที่ปรากฏใน ‘เขียนจีนให้เป็นไทย’ ประเด็นหลักที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองฟากฝั่งคือ ‘ความเป็นอื่น’ ซึ่งเกิดขึ้นจากการพบกันระหว่างอัตลักษณ์ของจีนกับไทยในประเทศไทย แต่เดิมการพบกันนั้นเป็นเพียงการปะทะอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ระหว่างอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่ต่อมาเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์นำพาไปสู่การสังสรรค์ ผลของความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ความหมายตายตัวของความเป็นอื่นถูกลบล้างไป

สิทธิเทพนำเสนอให้เห็นว่าสิ่งที่จะทำความเข้าใจความเป็นอื่นระหว่างจีนกับไทยในสังคมไทย คือการศึกษาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกระบวนการคิดและการเขียนความหมาย รวมไปถึงการนำความหมายเหล่านั้นไปปรับใช้เพื่อสนองผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ทั้งในเชิงมหภาคและจุลภาค

การศึกษาอัตลักษณ์และความเป็นอื่นเปิดเผยให้เห็นถึงความดุเดือดของการตีโต้กันทางความคิด สิ่งที่ ‘เขียนจีนให้เป็นไทย’ นำเสนอแสดงให้เห็นว่าแนวรบที่อาจจะเงียบงันในความรับรู้ของคนส่วนใหญ่นั้นเต็มไปด้วยแง่มุมที่แหลมคม รูปลักษณ์ของสังคมนั้นถูกปลูกสร้างขึ้นบนซากปรักหักพังของปัญญาที่พ่ายแพ้

นอกเหนือไปจากเรื่องของอัตลักษณ์และความเป็นอื่น สิ่งที่ทรงพลังอย่างยิ่งใน ‘เขียนจีนให้เป็นไทย’ คือภาพของสงครามเย็นในมิติของงานสังคมศาสตร์ การค้นคว้าจากหลักฐานของไทย สหรัฐอเมริกา และจีน ได้สร้างความรับรู้ใหม่เกี่ยวกับการใช้งานวิชาการด้านสังคมศาสตร์ของแต่ละชาติในการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

‘เขียนจีนให้เป็นไทย’ อาจไม่ได้นำเสนอคำจำกัดความใหม่ที่ตื่นตาตื่นใจในการอ่านจีนให้รู้จัก แต่บนจุดประสงค์ที่สิทธิเทพต้องการนำเสนอนั้นได้สร้างความ ‘อิ่ม’ จากการอ่านประวัติศาสตร์ความคิดในการให้ความหมายของอัตลักษณ์ของความเป็นอื่น สิ่งที่ยังขาดอยู่บ้างคือความ ‘เอม’ ที่จะนำมาอภิปรายอีกครั้งในการพบกันครั้งหน้า


หมายเหตุ

  • ขอมอบบทความนี้แด่ความทรงจำของเรืองรอง รุ่งรัศมี
  • ขอขอบคุณ 蕭兆賢 สำหรับค่ำคืนหนึ่งของการเดินเล่นบนถนนสีลมที่ทำให้ความรู้เรื่องคนจีนในไทยที่มีอยู่ก่อตัวขึ้นในระบบความคิดอย่างเป็นรูปธรรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save