fbpx

‘ข้าวผัดรถไฟ’ เมนูคู่บุญรถไฟไทย

ต้นเหมันตฤดูอันเจือด้วยเม็ดฝนประปรายปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2566 ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมทริปของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยสารโบกี้ปลดระวางของอดีตพันธมิตรร่วมวงไพบูลย์สมัยสงครามมหาเอเชีย นามว่า ‘KIHA 183’[1] ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘เหมันต์หรรษา เที่ยวทุ่งดอกไม้งาม แบบไปเช้าเย็นกลับ’ [2]

โปรแกรมที่เลือกเดินทางคือ ‘หัวลำโพง-บางซื่อ-ดอนเมือง-รังสิต-อยุธยา-มวกเหล็ก-เขื่อนปาสักชลสิทธิ์’  ด้วยว่าปีนี้ครบรอบ 90 ปีของสงครามกลางเมืองครั้งสำคัญที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘กบฏบวรเดช’ เส้นทางนี้นับว่าเป็นการตามรอยประวัติศาสตร์ครั้งนั้น อันประจวบกับผู้เขียนได้ทำงาน 2 ชิ้นใหญ่รำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวกับทางสำนักพิมพ์มติชน คือ หนึ่ง รับบทบรรณาธิการหนังสือ ‘กำศรวลพระยาศรีฯ’ โดย ณเพ็ชรภูมิ[3] (แพทย์หญิง โชติศรี ท่าราบ) และ สอง เขียนบทความขึ้นปกศิลปวัฒนธรรมเดือนตุลาคมศกเดียวกัน[4]


ภาพปก ‘กำศรวลพระยาศรีฯ’ สำนักพิมพ์มติชน
บทความปกกบฏบวรเดช นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม พ.ศ.2566

รถไฟมือสองของญี่ปุ่นที่ไทยเรารับมาบูรณะนี้นับว่าอยู่ในสภาพยังใช้งานได้ดี เบาะนั่ง เครื่องปรับอากาศ ความเสถียรและเสียงระหว่างเดินทาง ล้วนอยู่ในระดับน่าพึงพอใจ ข้อสำคัญคือห้องน้ำ ‘ส้วม KIHA’ นับว่าใช้ได้ ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาระหว่างการเดินทางเหมือนที่เคยรู้สึกมาตั้งแต่เด็ก อย่างไรก็ตาม บทความนี้คงไม่ใช่เรื่องการรีวิวทริป เพียงแต่เดิมผู้เขียนคาดหวังลึกๆ ว่าจะได้ชิม ‘ข้าวผัดรถไฟ’ เคล้าบรรยากาศสองข้างหวนรำลึกอดีต ส่วน ‘ไก่ย่างรถไฟ’ (ที่ขึ้นชื่อเช่น ‘ไก่ย่างบางตาล’[5] และ ‘ไก่ย่างห้วยทับทัน‘[6]) ที่บุพการีเคยควักอัฐซื้อให้กินระหว่างสถานีสมัยเด็กๆ ไม่ได้อยู่ในห้วงคำนึง ด้วยเห็นว่าเมนูนี้คงไม่เหมาะกับตู้โดยสารระบบปิดติดแอร์เท่าใดนัก แต่ในท้ายที่สุด เมนูข้าวผัดสีแดงที่คุ้นเคยในอดีตก็มิได้ถูกเสิร์ฟขึ้นโต๊ะใน 3 มื้อของการเดินทางครั้งนี้


หัวขบวน Kiha 183 ภาพถ่ายขณะแวะจอด ‘ผาเสด็จ’


เมื่อล้อเหล็กแตะชานชาลาเวลา 3 ทุ่มคืนนั้น (ขอชมเชยในความตรงต่อเวลาของรถไฟไทยในทริปนี้) ทันทีที่ถึงเคหาสน์จึงพลอยเกิดอินเนอร์ในการเขียนถึง ‘ข้าวผัดรถไฟ’


Kiha 183 ยามค่ำคืน ภาพถ่ายโดยผู้เขียน


กำเนิด ‘ข้าวผัดรถไฟ’
ข้าวหรู สู่ ข้าวเร่?


เมื่อ พ.ศ.2561 วรชาติ มีชูบท เคยให้ความเห็นกับผู้เขียนเรื่องที่มาของข้าวผัดรถไฟไว้ว่า “ข้าวผัดรถไฟที่เคยรับประทานบนรถไฟสมัยห้าสิบปีก่อนจานละ 15 บาท (แพงมาก) เป็นข้าวผัดมีหอมใหญ่หั่นเป็นแว่นกับหมูชิ้น ผัดกับซอสมะเขือเทศ มีไข่ดาววางมาบนข้าว เสิร์ฟพร้อมน้ำปลาพริกถ้วยเล็กๆ เล่ากันว่า คณหญิงเดชานุชิต (เบอร์ทา) ชาวเยอรมันเป็นภรรยาพระยาเดชานุชิต (หนา บุนนาค) เป็นผู้คิดสูตร และเสิร์ฟที่โรงแรมรถไฟหัวหิน ก่อนที่จะมาเป็นอาหารขึ้นชื่อบนรถเสบียงโดยเฉพาะบนขบวนรถด่วนและรถเร็ว”

ด้านข้อมูลเว็บไซต์สำหรับแฟนรถไฟไทยและการขนส่งระบบรางในประเทศไทย แสดงถึงต้นกำเนิดพร้อมสูตรข้าวผัดชนิดนี้ไว้ในหัวข้อ ‘พลิกตำนานข้าวผัดรถไฟ เมนูไฮโซในอดีต’[7] ว่าเกิดจากเส้นทางการเดินทางจากพระนครสู่หัวหิน[8] โดยว่า

“ชนชั้นสูงที่เดินทางมาตากอากาศที่หัวหินเท่านั้นที่จะมีสิทธิได้รับประทานเมนูพิเศษที่วัตถุดิบในการปรุงหลายชนิด ต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นเนย กุนเชียง ซอสมะเขือเทศ และถั่วลันเตา…ด้วยระยะทาง 212.95 กิโลเมตร จากธนบุรีถึงหัวหินในสมัยนั้นกินเวลายาวนานถึง 5 ชั่วโมง ทำให้กรมรถไฟหลวงจัดบริการตู้ รถขายอาหาร (บกข.) ซึ่งมีที่นั่งสำหรับนั่งรับประทานอาหารพ่วงกับขบวนรถโดยสาร จัดบริการในรถเสบียง กำหนดมาตรฐานการบริการให้คล้ายคลึงกับการบริการในรถเสบียงของต่างประเทศ เนื่องจากผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะดี กรมรถไฟจึงมอบให้กองโรงแรมจัดพนักงานชั้นประจำตู้รถ บกข.เพื่อขายอาหาร รายการอาหารจะเน้นหนักไปทางอาหารสากล ซึ่งต้องนั่งรับประทานให้เรียบร้อย เนื่องด้วยมีอุปกรณ์บนโต๊ะมากมาย ส่วนอาหารไทย จะใส่ถาดเป็นชุดๆ และนำไปให้ถึงที่นั่ง และการเตรียมอาหารของรถ บกข.นี้ จะเตรียมไว้เพียงพอกับจำนวนของผู้โดยสารที่ขึ้นและลงที่หัวหินเท่านั้น”

อนึ่ง ในตอนท้ายของบทความดังกล่าวยังเผยสูตรข้าวผัดรถไฟของห้องอาหาร Railway Restaurant โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล หัวหิน รีสอร์ท ไว้ให้ศึกษาและทดลองทำเองอีกด้วย

แน่นอนว่าในเวลาต่อมา การโดยสารรถไฟเป็นการสัญจรสาธารณะอันชนทุกหมู่เหล่าสามารถเข้าถึงได้ และเนื่องจากข้าวผัดรถไฟเป็นอาหารที่ปรุงสะดวก โภชนาการครบหมู่ รสชาติถูกปาก พกพาง่าย (ห่อใบตองห่อกระดาษในอดีตหรือข้าวกล่องในปัจจุบัน) จึงปรากฏเป็นที่นิยม จนเป็นอาหารที่เข้าถึงได้ง่ายและร่วมเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์เคียงคู่กับวิวัฒนาการรถไฟของประเทศไทยอย่างยาวนาน แม้กระทั่งทุกวันนี้ยังมักปรากฏการรำลึกเมนูนี้ผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กเช่น “มาช่วยกันทำ ‘ข้าวผัดรถไฟ’ แบบฉบับ ‘กุ๊กตู้สบียงรถไฟ’ ”[9]


ภาพบรรยากาศตู้เสบียงรถไฟไทยในอดีด (ที่มาภาพ http://portal.rotfaithai.com/ )


ข้าวผัดรถไฟ บรรพบุรุษ ข้าวผัดอเมริกัน?


อาจเพราะสูตรอาหารที่ผัดข้าวให้เป็นสีแดง โปะหน้าด้วยไข่ดาว คลุกเคล้าด้วยถั่วลันเตา หรืออย่างไรไม่ทราบได้ จึงบังเกิดความสงสัยดังที่ปรากฏในกระทู้พันทิปว่า ‘ความจริงข้าวผัดอเมริกัน นี่คือ ข้าวผัดรถไฟเวอร์ชั่นอัพเฟิร์มแวร์ ใช่ไหมครับ?’ [10]

ความคลุมเครือของจุดกำเนิดอาหารจานเด็ดในสังคมไทยดูจะเป็นเรื่องปกติ ดังกรณีคลาสสิกอย่าง ‘ข้าวผัดอเมริกัน’ อย่างน้อยมีการเคลมอยู่ 2 แหล่งที่น่าพิจารณาตาม คือ

1. คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือสกุลไทยฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2549 ว่านี่เป็นอาหารที่คุณหญิงสุรีพันธ์คิดค้นขึ้นเองตอนที่ทำงานเป็นผู้จัดการราชธานีภัตตาคาร ร้านอาหารในสนามบินดอนเมืองของกรมรถไฟในขณะนั้น (ราวต้นทศวรรษ พ.ศ.2490)[11] เรื่องเล่านี้แม้แต่ข่าวการลาโลกของคุณหญิงเมื่อกันยายนปีนี้ สำนักข่าวหลายสำนักยังโปรยให้เครดิตถึงเธอเสมอ[12]

2. ในขณะที่ข้อสันนิษฐานอีกกระแสหนึ่งโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา ว่ามาจาก “สูตรข้าวเม็กซิกัน หรือ ข้าวสเปนของชาวอเมริกัน น่าจะเดินทางออกจากประเทศพร้อมทหารอเมริกัน อย่างช้าที่สุดก็ประมาณช่วง ค.ศ.1950-1955  (พ.ศ.2493-2498) พร้อมกับสินค้าอเมริกันคือ ซอสมะเขือเทศ และข้าวพร้อมปรุงยี่ห้อ Minute Rice ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาหารปันส่วนของจีไออเมริกันที่รบในสมรภูมิยุโรป และทางตอนใต้ของแปซิฟิก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1942 –1943 (พ.ศ.2485-2486) แล้วสูตรข้าวเม็กซิกัน หรือข้าวสเปน ก็คงติดข้างกล่องข้าวในฐานะเสบียงของจีไอไปด้วย”[13]

กล่าวโดยสรุปในทฤษฎีที่ 2 ข้าวเม็กซิกันคือที่มาของวิวัฒนาอาหารของทหารอเมริกันที่เข้ามาฝังตัวในประเทศไทยยุคสงครามเย็น จนแปรเป็น ‘ข้าวผัดอเมริกัน’ ที่คุ้นเคยกันทุกวันนี้

ด้านที่มาของข้าวผัดรถไฟไม่เป็นปัญหาในมติร่วม (Consensus) ทุกฝ่ายดูจะเห็นพ้องคล้อยตามไปกับเส้นทาง ‘พระนคร-หัวหิน’ ที่เปิดดำเนินการมากว่า 112 ปี (นับจากปีแรกในรัชกาลที่ 6 พ.ศ.2454) และกำลังจะย้ายสถานีปลายทางหัวหินในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2566 ที่กำลังจะถึงนี้[14] ซึ่งย่อมชัดเจนว่า ‘เกิดก่อน’ ข้าวผัดชื่อ ‘อเมริกัน’ ที่เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลัง พ.ศ.2488 และเริ่มเข้าสู่ภาวะสงครามเย็นนับจากนั้น


สูตรข้าวผัดรถไฟของ ‘ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์’ เจ้าของตำนาน เชลล์ชวนชิม


ข้อมูลข้างต้นทั้งหมดเรื่องข้าวผัดรถไฟ มีลักษณะเป็นเรื่องเล่าต่อกันมา (Hearsay) ไม่ถึงกับมีหลักฐานเชิงประจักษ์นัก จึงถึงคราวที่ผู้เขียนต้องลองรื้อกรุหนังสือตำรับตำราอาหารเก่าๆ จากหิ้งมาเปิดหาเรื่องราวของข้าวผัดชนิดนี้ ซึ่งในหนังสือก่อน พ.ศ.2500 เท่าที่ค้นดูก็ไม่พบชื่อ ‘ข้าวผัดรถไฟ’ แต่อย่างใด จะมีบ้างที่ให้กลิ่นฝรั่งๆ หน่อยก็เห็นจะเป็นจาน ‘ข้าวผัดหมูแฮม’ ของหม่อมเจ้าหญิง เครือมาศวิมล ทองแถม (พ.ศ.2427-2482) ที่จัดพิมพ์ในงานศพของตนเองเมื่อ พ.ศ.2483[15] แต่เมื่อดูในรายละเอียดการปรุงก็ยังเรียกว่าห่างไกลจาก ‘ข้าวผัดรถไฟ’ สูตรที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน


ภาพปกนิตยสาร ‘อาหาร ภัตตาคาร โรงแรม’ ฉบับปฐมฤกษ์ เดือนกันยายน พ.ศ.2526


กระนั้น หากเป็นหนังสือที่กระเถิบเข้ามาใกล้มากขึ้น ผู้เขียนลองค้นภายในหมวดนิตยสารอาหารที่สะสมไว้คือ ‘อาหาร ภัตตาคาร โรงแรม’ นิตยสารรายเดือนหัวนี้ประเดิมฉบับปฐมฤกษ์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2526 แต่ช่างมีอายุแสนสั้นเพียงสองปี ปิดตัวลงเมื่อ พ.ศ.2528[16] (ตีพิมพ์ได้ราว 20 เล่มเศษ)

เนื้อหาฉบับที่ 8 เดือนเมษายน พ.ศ.2527 (ราว 40 ปีก่อน) ปรมาจารย์กูรูอาหารระดับตำนาน ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ (พ.ศ.2469-2562) ได้เขียนบทความชื่อว่า ‘ข้าวผัดรถไฟ’ พร้อมโปรยหัวประกอบว่า “ข้าวผัดรถไฟที่แสนอร่อยนั้น ต้องใส่ซ้อสมะเขือเทศสีแดงแช้ด แตงกวา พริกชี้ฟ้า ต้นหอม อย่าขาดเป็นอันขาด” พร้อมปิดท้ายด้วยว่า “อยากอนุรักษ์ไม่ให้ข้าวผัดรถไฟหายไป”

เพื่อเป็นการสนองเจตจำนงของท่านผู้เขียน ณ ที่นี้จึงเห็นสมควรนำเสนอเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับข้าวผัดรถไฟแบบไม่ตัดตอนดังต่อไปนี้


บทความ ‘ข้าวผัดรถไฟ’ ของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ในนิตยสาร


“ตอนสงกรานต์ปีนี้ คุณวิชัย ทรรทรานนท์ คุณประจักษ์ ที่ร้าน ประจักษ์เบเกอรี่ เอาข้าวเหนียว ก.พานิช พร้อมกับมะม่วงอกร่อง มะม่วงทองดำมาให้ในวันสงกรานต์ แล้วก็มีข้าวผัด คือ คุณประจักษ์ผัดข้าวผัดรถไฟใส่ภาชนะอับพลาสติก ได้พอดีจาน เอามาไว้ที่บ้าน แล้วเขียนบอกไว้ด้วยว่า ตำรับข้าวผัดรถไฟนี่ถูกต้องหรือไม่ จะต้องแก้อย่างไรกรุณาให้ผมทราบด้วย เพราะทางประจักษ์เบเกอรี่ที่อยู่ซอยสุขุมวิท 71 ได้เปิดขายอาหารอีกแผนกหนึ่ง แรกเริ่มมีขนมสาลี่ ขนมฝรั่ง และไอศกรีม ตอนนี้ขยายห้องออกไป 2 คูหา ติดเครื่องปรับอากาศ มีอาหารประเภทจานๆ ขายอย่างร้านอาหารที่ติดเครื่องปรับอากาศทั่ว ๆ ไป ก็อยากจะทำข้าวผัดรถไฟเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง จึงได้ส่งข้าวผัดรถไฟมาให้รับประทาน ผมเองก็เลยฉลองศรัทธาเสียหมด คือกลับบ้านมากำลังหิวพอดี

สำหรับข้อท้วงติงนั้น ผมได้บอกผ่านทางรายการวิทยุไปแล้ว เชื่อว่าตอนนั้นคงกำลังฟังอยู่ เอกลักษณ์ของข้าวผัดรถไฟนั้น ต้องผัดข้าวกับมะเขือเทศบด หรือที่เขาเรียกว่า ซ้อสมะเขือเทศเข้มข้น หรือภาษาฝรั่งเรียกว่า โทเมโต เพสต์ อันนี้ไม่ใช่แคชชัพ ไม่ใช้ซ้อสมะเขือเทศที่เราใส่ไข่ดาว แฮมเบอร์เกอร์อะไรพวกนี้ แต่เป็นมะเขือเทศบด บรรจุในกระป๋องเล็ก ๆ เรียกว่าซ้อสมะเขือเทศเข้มข้น ตามธรรมดาแล้วเขาจะใช้สีของมะเขือเทศ ไม่ใช้สีผสมอาหาร แต่สมัยผมยังเด็ก ๆ นั้น เขาใช้สีผสมอาหารไปด้วย

โบราณปลอมปนอาหารไม่เป็น ถ้าสีผสมอาหารก็สีผสมอาหาร ไม่ใช้สีย้อมผ้า คนโบราณทำอะไรประณีต ซ้อสมะเขือเทศ เขาใส่สีผสมอาหาร มันยิ่งแดงกว่าซ้อสมะเขือเทศแต่อย่างเดียว พอผัดข้าวสีแดงเชียว บางทีเขาผัดก๋วยเตี๋ยว แต่ก่อนมีก๋วยเตี๋ยวแดง ข้าวผัดแดง คนรุ่น ๆ ผมคงจะนึกออก รุ่น ๆ ที่กัดก้อนเกลือกิน เคยยากจนมาด้วยกันนี่ เราเคยสั่งก๋วยเตี๋ยวผัดราดหน้าใส่ซ้อสมะเขือเทศสีแดง ๆ สั่งมาหนึ่งจาน สั่งข้าวมาคนละจาน เอาก๋วยเตี๋ยวเป็นกับกินกับข้าวสวย เป็นกับข้าวอย่างหนึ่ง

อีกอย่าง สั่งข้าวผัดแดงมา แล้วสั่งข้าวขาว เอาข้าวผัดเป็นกับกินกับข้าวสวย อย่านึกว่าผมไม่เคยจนมาก่อนนะครับ สมัยก่อนใครจะมีฐานะอะไรก็ตาม แต่ได้เงินเสมอกันหมด คือได้เงินสิบสตางค์ ไอ้ข้าวผัดแดงนี่ก็สิบสตางค์เข้าไปแล้ว ต่อให้จานพูน ๆ เรากินไม่อิ่ม ต้องกิน 2 จาน แล้วเราจะไปเอาสตางค์ที่ไหนล่ะ ทีนี้ก็หาจากที่อื่นสัก 2 สตางค์มาร่วมหุ้น เอาข้าวผัดมาเป็นกับ ส่วน 2 สตางค์นั่นซื้อข้าวสวย ก็ผลัดกัน ถ้าเพื่อมาร่วมหุ้นมีสองสตางค์ ซื้อข้าวสวยไป เรามี 10 สตางค์ เป็นฝ่ายซื้อข้าวผัด นั่นคือข้าวผัดแดงในสมัยโบราณ และเป็นเอกลักษณ์ของข้าวผัดรถไฟไป เขาจะผัดข้าว และข้าวต้องเป็นข้าวเย็น ซึ่งต้องยีเสียก่อน ไม่ใช้จับเป็นก้อน แล้วนำไปผัดน้ำมันนิดหน่อยกับมะเขือเทศบด ผัดแล้วเอาเก็บไว้ในภาชนะ ต่อไปก็ผัดเครื่อง เอาหอมหัวใหญ่ผ่าครึ่งแล้วผ่าตามขวางให้เป็นเส้น ๆ อย่าให้บางนัก อย่าให้หนานัก ส่วนมะเขือเทศนั้น ถ้าใช้มะเขือเทศเล็กขนาดสีดานั้น ลูกขนาดหัวแม่มือก็ควรผ่าสี่ หาพริกชี้ฟ้าแดงบ้างเขียวบ้าง หั่นตามขวาง คล้าย ๆ กับพริกดองน้ำส้ม แตงกวา ต้นหอม นี่เป็นผักสำคัญ 3 อย่าง แตงกวา ต้นหอม พริกชี้ฟ้า

วิธีผัด น้ำมันใส่ลงไปอย่ามาก เอาหอมใหญ่ลงไปเจียวก่อน ผัดจนกระทั่งหอมใหญ่อ่อนตัว ทีนี้ก็หั่นหมูหรือเนื้อ ห้ามสับนะครับ หั่นชิ้นบาง ๆ บางมากทีเดียว บางขนาดสันมีด อย่าเอาชิ้นใหญ่ ชิ้นหนึ่ง ๆ ขนาดหัวแม่โป้ง หรือเล็กกว่านั้นก็ไม่เป็นไร หั่นอย่าตั้งอกตั้งใจมากนัก ถ้ามีมากใส่มาก ถ้ามีน้อยใส่น้อย เอาลงไปผัดให้เข้ากัน

ผัดเสร็จแล้วใส่น้ำตาลทราย 1 ช้อน ซีอิ๊วขาว หรือซ้อสภูเขาอย่างขวดใหญ่ห้ามใช้น้ำปลา พอผัดหอมดีแล้วใส่มะเขือเทศลงไป ใส่ข้าวลงไป กระทะหนึ่งจะได้ประมาณ 4 จาน กะดูให้เหมาะก็แล้วกัน พอตักขึ้นใส่จานเรียบร้อย เอาไข่ดาวซึ่งทอดข้างนอกเกรียม ข้างในเป็นยางมะตูม วางโปะลงไป

ไข่ดาวนี้ อย่าทอดแบบไข่ดาวหมูแฮม ซ่าลงไปแล้วเอาขึ้นเลย ข้างนอกเกรียม ข้างในเป็นยางมะตูม นั่นละเป็นลักษณะของข้าวผัดรถไฟ กินกับผัก 3 อย่าง พริกชี้ฟ้าหั่นแตงกวา ต้นหอม เชื่อว่าคงจะขายได้นะครับ

นอกจากที่ประจักษ์เบเกอรี่แล้ว ใครสนใจจะทำอีก ก็บอกผม ๆ จะดูให้ อยากอนุรักษ์ไม่ให้ข้าวผัดรถไฟหายไป[17]


ลายเส้นการ์ตูน ม.ร.ว.ถนัดศรี กำลังผัดข้าวผัด รฟท


สีแดงในอาหาร ฝรั่ง ‘มะเขือเทศ’ จีน ‘อั่งคัก’[18]


เรื่องการใช้สีปรุงข้าวพอมีเกร็ดประวัติศาสตร์ให้พูดถึงกรณี เจ้าจอมมารดาโหมด (ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศไวยวัฒน์ และเป็นเจ้าจอมมารดาของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์) เคยลองหุงข้าวมันสีโดยผสมดอกอัญชันถวายในหลวงรัชกาลที่ 5 และพระราชธิดาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตรขัตติยนารี “ได้ทรงทดลองเสวยข้าวมันสีม่วงอ่อน จากตำหนักคุณโหมดแล้วก็พอพระทัยทั้งสองพระองค์ ถึงขนาดรับสั่งหาตัวเจ้าของเครื่องเข้าเฝ้าโดยด่วน” ความพอพระราชหฤทัยครั้งนั้นถึงกับพระราชทานเงินรางวัลพิเศษให้ถึง 5 ชั่ง[19]

นั่นคือเรื่องของ ‘สีน้ำเงิน’ แต่สำหรับ ‘สีแดง’ ในการย้อมอาหาร หากเป็นฝรั่งมักจะใช้มะเขือเทศเป็นวัตถุดิบหลัก ฝ่ายเจ๊กโดยมากมักใช้ ‘อั่งคัก 紅麴’ (ข้าวยีสต์แดง)[20] ตัวอย่างเช่นเต้าหู้ยี้ (豆腐乳) ของจีนแคะ หมูแดง (ชาซิว 叉焼)[21] ของกวางตุ้ง หรือ อั่งถ่อก้วย (紅桃粿) ของแต้จิ๋ว

ในกรณี ‘สีแดง’ จากข้าวผัดรถไฟนั้น สูตรของ ม.ร.ว.ถนัดศรี ซอสมะเขือเทศที่ใช้คือ ‘โทเมโต เพสต์’ (Tomato Paste) ไม่ใช่ ‘แคชชัพ’ (Ketchup) ในขณะที่บ้างก็พบการแนะนำ “อั่งคัก” เช่น รายการยอดเชฟไทย โดย เชฟวิชิต มุกุระ เสนอซอสเต้าหู้ยี้ที่ให้ความเข้มของสีแดงมากกว่า อีกทั้งการใช้ซอสมะเขือเทศเยอะไปจะทำให้กลายเป็นข้าวผัดอเมริกันไป[22]


ส่งท้าย


หลังซึมซับบรรยากาศของสถานีรถไฟหัวลำโพง กับการเดินทางผ่านฉากสองข้างทางที่เปลี่ยนไปจากอดีตพอสมควร ถึงตัวฮาร์ดแวร์จะใหม่ขึ้น (แม้จะถูกโละจากประเทศโลกที่หนึ่งก็ตามเถิด) โดยรวมในเชิงอายตนะ ‘รูป เสียง กลิ่น สัมผัส’ แม้ ‘รส’ จะพร่องไป กระนั้นยังพอเป็นเหตุปัจจัยหนุนนำบังเกิด Nostalgia ลึกๆ จนนำมาปรุงสุกเป็นบทความเล็กๆ ชิ้นนี้เพื่อบำรุงบำเรอกัน ในทางกลับกัน ถ้าหากผู้อ่านพบว่ามีเอกสารชั้นต้นหรือสูตร ‘ข้าวผัดรถไฟ’ ที่ไปไกลกว่านี้ ปีลึกกว่านี้ ผู้เขียนย่อมหวังใจว่าจะได้รับความกรุณาในการแบ่งปันความรู้ไว้ด้วยเช่นกัน


 
‘ข้าวผัด’ แบบไทยๆ อาหารจานด่วนอันคุ้นเคย


การตามรอยชื่อเรียก ‘ข้าวผัดรถไฟ’ ดูจะคล้ายคลึงกับ ‘ผัดไทย’[23] ที่ยากจะบ่งชี้ว่าเริ่มเรียกใช้ครั้งแรกเมื่อใด เช่นเดียวกับวัตถุดิบและกรรมวิธีอันหลากหลายไม่ตายตัว ในปี 2503 อีกหนึ่งปรมาจารย์อาหารชั้นครู หม่อมหลวง เติบ ชุมสาย ได้ส่งสูตรอาหารให้เจ้าภาพจัดพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานศพ[24] ภายในพบสูตรพบ ‘ข้าวผัด’ แตกต่างกันถึง 4 ชนิดโดยมิได้กำหนดชื่อเรียกเฉพาะไว้แต่อย่างใด อีกทั้งก่อนหน้านั้นส่วนตัวผู้เขียนเองก็ยังไม่พบบัญญัติ ‘ข้าวผัดรถไฟ’ ในตำราอาหารใดๆ

ผู้เขียนขอแถมสูตร ‘ข้าวผัด 4 ชนิด’ ของ หม่อมหลวง เติบ ชุมสาย (พ.ศ.2456-2529) ไว้ให้ผู้อ่านพิจารณาเทียบเคียงกับข้าวผัดรถไฟสัมพัทธ์ไปตาม ‘อัตวิสัย’ ของผู้คนยุคปัจจุบัน (ถ้าลองกูเกิ้ลคำว่า ‘ข้าวผัดรถไฟ’ จะพบสารพัดสูตรเหลือคณานับ ) ซึ่งพอจะพบลักษณะเฉพาะของ ‘ข้าวผัดรถไฟ’ (สีแดงของซอสมะเขือเทศ) และ ‘ข้าวผัดอเมริกัน’ (เนย, ลูกเกด) อันคุ้นเคยกันดีสมัยนี้ ดังยินดีแสดงไว้เป็นปัจฉิมลิขิตของบทความนี้

ข้าวผัด วิธีที่ 1

ส่วนผสม : ข้าวหุงละมุนละไม 4 ถ้วย, เนื้อหมูติดมันหั่นเล็ก ๆ 1/4 ถ้วย, กุ้งน้ำจืดหั่นเช่นเดียวกัน 1/4 ถ้วย (ใช้มันด้วย), ไข่ตีพอเข้ากัน 2 ฟอง, ซ๊อสมะเขือเทศกระป๋อง 2 ช้อนโต๊ะ, กระเทียม 7-8 กลีบใหญ่ ๆ สับหยาบ ๆ, น้ำมันพืชหรือน้ำมันหมู 1/3 ถ้วย, น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ, น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ : น้ำมันใส่กะทะตั้งไฟแรง พอร้อนจัดใส่กระเทียมพอเป็นสีนวล ใส่หมู กุ้ง ผัดจนสุก แล้วจึงใส่ไข่คนให้แตกละเอียด และสุกดี ใส่ ซ๊อสมะเขือเทศ น้ำตาลและน้ำปลา คนให้ทั่ว ใส่ข้าวผัดให้ร้อนจัดจริง ๆ ตักใส่ภาชนะตามชอบ โรยผักชี พริกไทย เสิฟทันที รับประทานกับผักดองต่าง ๆ

ข้าวผัด วิธีที่ 2

ส่วนผสม : ข้าวหุงละมุนละไม 4 ถ้วย, เนื้อปูทะเล 1 ถ้วย, ไข่แดง 4 ฟอง, กระเทียม 7-8 กลีบใหญ่ ๆ สับหยาบ ๆ, น้ำมันพืชหรือน้ำมันหมู 1/3 ถ้วย, ซีอิ๊วใส 3 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ : น้ำมันใส่กะทะตั้งบนไฟแรง พอร้อนจัดใส่กระเทียม พอเป็นสีนวล ใส่ไข่คนให้ละเอียดและสุกดีแล้วใส่ปูทะเล และซีอิ๊ว คนให้ทั่ว ใส่ข้าวผัดให้ร้อนจัดจริง ๆ ยกลงตักใส่ภาชนะตามชอบ โรยพริกไทย เสิฟทันที

ข้าวผัด วิธีที่ 3

ส่วนผสม : ข้าวหุงละมุนละไม 4 ถ้วย, เนื้อสันในหั่นบาง ๆ เล็ก ๆ 1/2 ถ้วย, หัวหอม 4-5 หัว กระเทียม 5-6 กลีบ พริกชี้ฟ้าเขียวแดง 3-4 เม็ด พริกไทยป่น 1 ช้อนชา กะปิ 1 ช้อนชา โขลกรวมกัน,  น้ำมันพืชหรือน้ำมันหมู 1/3 ถ้วย, น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ, น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ, ไข่เจียวกรอบอย่างบางหั่นฝอย 1/2 ถ้วย, ผักชี พริกไทย

วิธีทำ : น้ำมันใส่กะทะตั้งบนไฟแรง พอร้อนจัดใส่เครื่องที่โขลกไว้ลงผัดให้หอมและเครื่องเกรียมดี ใส่เนื้อผัดพอสุก ใส่น้ำตาล น้ำปลา คนให้ทั่ว แล้วใส่ข้าวผัดจนร้อนจัดจริง ๆ ยกลงตักใส่ภาชนะตามชอบ โรยด้วยไข่เจียว หั่นฝอยและผักชี รับประทานกับผักดองต่าง ๆ

ข้าวผัด วิธีที่ 4

ส่วนผสม : ข้าวหุงละมุนละไม 4 ถ้วย, ไก่อบ หั่นเล็ก ๆ 1/2 ถ้วย, หอมใหญ่ สับหยาบ ๆ 1/4 ถ้วย, แฮมหั่นฝอยหยาบ ๆ 1/2 ถ้วย, ลูกเกด 1/2 ถ้วย, ผักดองขวดหั่นเล็ก ๆ 1/4 ถ้วย, เนย 1/3 ถ้วย, เกลือ 1/3 ถ้วย, พริกไทย 2 ช้อนชา

วิธีทำ : เนยใส่กะทะตั้งไฟกลาง ๆ พอร้อนจัดใส่หอมลงผัดจนเหลือง จึงใส่ไก่แฮมและลูกเกด ผัดต่อไป ประมาณ 2 นาที ใส่เกลือ แล้วจึงใส่ข้าวลง ผัดให้ร้อนจัดจริง ๆ ใส่ผักดอง คนให้ทั่วยกลง ตักใส่ภาชนะตามชอบ โรยพริกไทย เสิฟทันที


หม่อมหลวง เติบ ชุมสาย




[1] ญี่ปุ่นอึ้งรถไฟ ‘KIHA 183’ ไทยฟื้นชีพวิ่งฉิวได้อีกครั้ง จุดเชื่อมต่อ https://www.matichon.co.th/economy/news_3575747  และ  ดู คิฮะ 183 ซีรีส์ https://th.wikipedia.org/wiki/คิฮะ_183_ซีรีส์

[2] ทริปท่องเที่ยวสุดพิเศษกับขบวนรถไฟ KIHA 183 ต้อนรับลมหนาว #เหมันต์หรรษา เที่ยวทุ่งดอกไม้งาม 14 ทริป จุดเชื่อมต่อ https://www.railway.co.th/NewsAndEvents/TraveldetailSRT?value1=00DE5502B5AA7B42A92BE9FF953D8EBD01000000DB4D44452BE94FDF0971D5E39383BAF7002293B42BB2FF8005BFB85F54F89095C35149248FC42A6FE0D5B0F72856DE11

[3] ณเพ็ชรภูมิ (โชติศรี ท่าราบ) เขียน, นริศ จรัสจรรยาวงศ์ บรรณาธิการ, กำศรวลพระยาศรีฯ, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2566, (มติชน) ดู https://www.matichonbook.com/p/กำศรวลพระยาศรีฯ.html

[4] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ณ บรรณภูมิกบฏบวรเดช พ.ศ.2476, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 44 ฉบับที่ 12 เดือนตุลาคม พ.ศ.2566, น.48-82.

[5] เปิด 5 ตำนานไก่ย่างชื่อดัง เกิดจากไหนและใครเก่าแก่ที่สุด? จุดเชื่อมต่อ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/6759.html

[6] พานิชย์ ยศปัญญา, ไก่ย่างไม้มะดัน ห้วยทับทัน ศรีสะเกษ เริ่มต้นที่สถานีรถไฟ ทำสืบทอดมาเกือบ 80 ปี จุดเชื่อมต่อ https://www.silpa-mag.com/culture/article_10136

[7] พลิกตำนานข้าวผัดรถไฟ เมนูไฮโซในอดีต จุดเชื่อมต่อhttp://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=25

[8] สถานีรถไฟหัวหิน จุดเชื่อมต่อ https://th.wikipedia.org/wiki/สถานีรถไฟหัวหิน  

[9] มาช่วยกันทำ “ข้าวผัดรถไฟ” แบบฉบับ ‘กุ๊กตู้สบียงรถไฟ’ จุดเชื่อมต่อ https://pantip.com/topic/40854952

[10] ความจริงข้าวผัดอเมริกัน นี่คือ ข้าวผัดรถไฟเวอร์ชั่นอัพเฟิร์มแวร์ ใช่ไหมครับ? จุดเชื่อมต่อ https://pantip.com/topic/40725091

[11] MDs’ LIFE | ตามหาที่มา ข้าวผัดอเมริกัน อาหารที่ถูกใจคนทุกวัย ที่คนอเมริกันไม่ได้คิด จุดเชื่อมต่อ https://www.mendetails.com/life/ข้าวผัดอเมริกัน-food-jul22/

[12] อาลัย “คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต” นักเขียนนวนิยายดัง “แก้วตาพี่” เสียชีวิตแล้ว จุดเชื่อมต่อ https://www.thairath.co.th/news/society/2725948

[13] ณัฎฐา ชื่นวัฒนา, แกะรอยสาแหรกรสชาติจากเทคนิคการปรุง: จาก ‘ข้าวเม็กซิกัน’ สู่ ‘ข้าวผัดอเมริกัน’ จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/american-fried-rice/

[14] นับถอยหลัง 11 ธ.ค. 66 วันสุดท้ายของสถานีรถไฟหัวหิน ย้ายสู่อาคารใหม่รถไฟทางคู่ จุดเชื่อมต่อ https://www.thairath.co.th/news/local/localbusiness/2743006

[15] เครือมาศวิมล ทองแถม (หม่อมเจ้าหญิง), ตำราปรุงอาหาร คาว, หวาน พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพหม่อมเจ้าหญิง เครือมาศวิมล ทองแถม ณะวัดมกุฏกษัตริยาราม 4 เมษายน พ.ศ.2483, (โรงพิมพ์กิลหลีหงวน), น.70.

[16] ญาณทวี เสือสืบพันธุ์, ผู้ประกอบอาชีพทำอาหารในสังคมไทย ช่วงทศวรรษ 2490-2550 วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2560, น.44.

[17] ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, ข้าวผัดรถไฟ ใน อาหาร ภัตตาคาร โรงแรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 8 เมษายน พ.ศ.2527, น.54-55.

[18] สายใจ แก้วอ่อน, ข้าวแดง (อังคัก), คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จุดเชื่อมต่อ https://agro-industry.rmutsv.ac.th/agro/Vichakran/FTI/Posterการผลิตข้าวแดง-Saijai.pdf

[19] ส.พลายน้อย, กระยานิยาย อนุสรณ์ในงานฌาปนิกจศพ คุณพ่อสันต์ จารุกาญจน์ ณ เมรุวัดอนงคาราม กรุงเทพฯ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2540, (สำนักพิมพ์น้ำฝน), น.57-59.

[20] เสาวลักษณ์ เชื้อคำ,อั่งคัก ราข้าวสีแดงสวยในครัวจีนโบราณ จุดเชื่อมต่อ https://krua.co/food_story/redyeastrice

[21] เชฟขวัญ, ข้าวหมูแดงสูตรโบราณ (อั่งคัก) จุดเชื่อมต่อ https://www.facebook.com/watch/?v=894508830948405

[22] ข้าวผัดรถไฟ I ยอดเชฟไทย (Yord Chef Thai) 16-12-17 นาทีที่ 5:40 จุดเชื่อมต่อ https://www.youtube.com/watch?v=qdx3GSYkKFM

[23] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, เปิด 8 ตำรับก๋วยเตี๋ยวจอมพล ป. ‘มรดกจานด่วน’ คณะราษฎร จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/8-noodles-phibulsongkharm/

[24] เติบ ชุมสาย (หม่อมหลวง), ตำราอาหารต่าง ๆ จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ เจ้าคำแสน แสนศิริพันธ์ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 19 พฤษภาคม 2505, (คณะช่าง), น.63 และ 71-73.

บทความนี้พิสูจน์อักษรโดย นางสาวสุกัญญา เจริญวีรกุล (บาลีศึกษา 9 ประโยค)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save