fbpx

เปิด 8 ตำรับก๋วยเตี๋ยวจอมพล ป. ‘มรดกจานด่วน’ คณะราษฎร

ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยว ของไทยใช้พืชผล

อยู่ในไทยรัฐทั้งสิ้น ทรัพย์ในดินหาได้ทั่วไป

ช่วยซื้อขายให้มั่งมี เพราะไทยเรานี้ช่วยกันตลอดไป

คนขาย ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยว[1]

…คนขาย ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยว คนซื้อ ไหนเอามาสิ อยากลองแห้งสักชาม

…คนขาย ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยว คนซื้อ ไหนเอามาสิ อยากลองน้ำสักชาม[2]

เนื้อร้องเพลงก๋วยเตี๋ยวข้างต้นกำเนิดขึ้นในยุคที่รัฐบาล ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม รณรงค์ให้ราษฎรไทยบริโภคก๋วยเตี๋ยว เมื่อปลาย พ.ศ. 2485 วัฒนธรรมการกินแป้งเส้นขาวชนิดนี้ในประเทศไทยเกิดจากการค่อยๆ ซึมซับผ่านการติดต่อกับประเทศจีนอย่างยาวนาน จึงเป็นการยากที่จะบอกได้ว่าเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อไร

กระนั้น ความนิยมรับประทานเมนูนี้ในสังคมไทยระดับแพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้าก็ใช่ว่าจะหาคำตอบมิได้เสียทีเดียว อย่างน้อยปรากฏการณ์หนึ่งเมื่อ 80 ปีที่ผ่านมายังเพียงพอจะค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์ซึ่งแสดงให้เห็นจุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งสำคัญของอาหารชนิดนี้ในสังคมไทยที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนขอนำเสนอบางแง่มุมที่น่าสนใจของประวัติศาสตร์ พร้อมกับเผยแพร่ตำรับก๋วยเตี๋ยว 8 สูตรของรัฐบาล ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ‘ท่านผู้นำ’ ประเทศในยุคสมัยนั้น


น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2485[3]

ปฐมเหตุแห่งนโยบาย ‘ก๋วยเตี๋ยวสัญชาติไทย


เหตุจากการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2484 ส่งผลให้ประเทศไทยต้องประกาศสงครามกับประเทศสัมพันธมิตร ก่อเกิดเป็นสงครามมหาเอเชียบูรพาที่นำพาไปสู่การ ‘ถูกบอมบ์’ (ทิ้งระเบิด) และราษฎรจำต้องคุ้นชินกับเสียง ‘หวอ’ เป็นเวลาต่อเนื่องอีกเกือบ 4 ปี

ในปีแรก พ.ศ.2485 นี้ นอกจากจะเป็นปีครบรอบวาระ 10 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่รัฐบาลของคณะราษฎรโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถือฤกษ์วันชาติ 24 มิถุนายนเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (สัญลักษณ์ของชัยชนะสงครามอินโดจีน) และเดินทางต่อไปเปิดวัดพระศรีมหาธาตุ (เดิมใช้ชื่อวัดประชาธิปไตย) ในช่วงบ่ายแล้ว แนวโน้มสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังดูอึมครึมจากภัยสงครามนั้นยังถูกซ้ำเติมด้วยอุทกภัยใหญ่


น้ำท่วมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พ.ศ. 2485
ภาพน้ำท่วมใหญ่ในมุมกว้างของถนนราชดำเนิน
ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2485 เป็นวันเริ่มกฤษฎีกาเคารพธงชาติ ซึ่งตรงกับช่วงน้ำท่วมใหญ่พอดี


เมื่อล่วงเข้าเดือนตุลาคม น้ำเหนือไหลบ่าเข้าสู่พระนครจนขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่งแทบไม่เว้นวันตลอดเดือน (ดูกาลานุกรมข่าวด้านล่างบทความนี้) ระหว่างน้ำท่วมจนถึงน้ำลดจึงเกิดปัญหาขาดแคลนข้าวสารอาหาร เรือกสวนไร่นาราษฎรถูกทำลาย (แม้แต่สวนทุเรียนที่นนทบุรีของมารดาท่านผู้นำก็ตายหมด[4]) กระทั่งต้นเดือนพฤศจิกายนถัดมา รัฐบาลจึงเริ่มนโยบายรณรงค์โภชนาการทางเลือกที่ได้รับความนิยมกันทั่วทั้งประเทศในภายภาคหน้า นั่นคือ ‘ก๋วยเตี๋ยว 粿條’ (คำยืมจากภาษาจีนนี้ออกเสียงตามสำเนียงแต้จิ๋ว หากอ่านเสียงต้นฉบับจะออกเสียงว่า ‘ก๋วยเตี๊ยว’)


“ไทยต้องกิน ไทยต้องขาย ก๋วยเตี๋ยว” วาระแห่งชาติ


“อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วถึง เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์ กับร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม ทําเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลง วันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับ เก้าแสนบาท เป็นจํานวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้าแสนบาทนั้นก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกัน ไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้ เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยชน์เต็มที่ในค่าของเงิน..”

จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

7 พฤศจิกายน พ.ศ.2485 [5]

ผู้เขียนพบปฐมบทแห่งการรณรงค์เรื่องการกินก๋วยเตี๋ยวในหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ คือ ‘ศรีกรุง’ และ ‘ประชาชาติ’ ของวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 พาดหัวพ้องกันว่า “ต้องการคนไทยที่มีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยว พนะท่านผู้นำมอบเงิน เพื่อเปนทุนส่งเสิม” ทั้งนี้ เบื้องต้นพึงเข้าใจการใช้อักขระภาษาไทยในสื่อสิ่งพิมพ์ปีนั้นว่ายังอยู่ในระยะของการ ‘ปฏิวัติภาษา’ (เริ่ม มิ.ย. 2485 สิ้นสุด พ.ย. 2487) ซึ่งริเริ่มดำเนินการในปีนั้น (ตัดพยัญชนะ 13 ตัว และสระ 5 ตัว เป็นต้น)[6]

ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยในเดือนตุลาคม หนังสือพิมพ์ศรีกรุงพบข่าวการนำเสนอการขยายโรงงานวุ้นเส้น แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การณ์ปรากฏว่าเพียงเดือนถัดมา ผลลัพธ์ของรัฐบาลกลับเทไปยังตัวเลือกอย่างก๋วยเตี๋ยว

เมื่อหนังสือพิมพ์ชั้นนำยุคนั้นทั้ง ‘ศรีกรุง’ และ ‘ประชาชาติ’ พร้อมเป็นกระบอกเสียงแก่ภาครัฐ นำเสนอข่าวกระตุ้นให้ราษฎรไทยร่วมใจกันทั้งขายและกิน ‘ก๋วยเตี๋ยว’ ระดับ ‘วาระแห่งชาติ’  ฯพณฯ จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ถึงกับเสนอให้ยืมทุนเริ่มต้นรายละ 30 บาทโดยไม่คิดดอกเบี้ยเพื่อแพร่การขายออกทั่วประเทศโดยเร็ว รวมทั้งระดมภาคราชการทุกหน่วยงานเร่งรัดนโยบายนี้อย่างเป็นการด่วน โดยเฉพาะกรมประชาสงเคราะห์ที่ดำรงสถานะเสมือนเป็นแม่งานทั้งในแง่การกระจายเงินทุน ผลิตอุปกรณ์การขาย เช่นรถเข็นเร่ขาย และข้อสำคัญคือเผยแพร่ ‘สูตรก๋วยเตี๋ยว 8 ชนิด’ ปรากฏสู่สาธารณชนเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ซึ่งนับว่ารวดเร็วอย่างยิ่งเมื่อนับจากวันที่พบการรณรงค์ครั้งแรกไม่ถึง 10 วัน!


จอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ. 2485


สูตรก๋วยเตี๋ยวท่านผู้นำ พ.ศ.2485


รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้จัดตั้งกรมประชาสงเคราะห์ขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2483 สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีเป็นอธิบดีคนแรก หน้าที่หลักมีอยู่ 3 ประการคือ 1. การช่วยเหลือในด้านอาชีพ 2. การช่วยเหลือในเรื่องที่อยู่อาศัย และ 3. การส่งเสริมสุขภาพอนามัยและจิตใจ


ปกหนังสือกรมประชาสงเคราะห์ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ปกจอมพล ป.พิบูลสงครามถือคบไฟนำชาติฉลองวันเกิดท่านผู้นำ


ในปีน้ำท่วมใหญ่ กรมนี้ได้ย้ายมาอยู่กับกระทรวงมหาดไทยแล้ว รับผิดชอบช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย[7] และได้เผยแพร่สูตรก๋วยเตี๋ยวตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน ‘ศรีกรุง’ ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ดังมีตำรับก๋วยเตี๋ยว 8 ประเภทดังต่อไปนี้ (คงการสะกดตามต้นฉบับด้วยอักขระปฏิวัติภาษา)


กรมประชาสงเคราะห์แนะวิธีการทำและปรุงก๋วยเตี๋ยว

ก๋วยเตี๋ยวที่พวกเราบริโภคกันมีหยู่หลายชนิด แต่มีชนิดที่นิยมกันเปนส่วนมากและการปรุงก็ไม่พิสดารนัก ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์ขอถือโอกาสแนะนำไนเรื่องการทำและปรุงวิธีง่ายๆ เพื่อผู้สนไจได้ยึดถือเปนแนวทาง ดังนี้—–

1 ก๋วยเตี๋ยวแห้ง

เครื่องปรุง เส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กหรือเส้นไหย่ ถั่วงอก น้ำมันหมู กะเทียมเจียว เนื้อหมู ตับหมู กุ้งแห้งตัวเล็ก หรือกุ้งฝอย ถั่วลิสงป่น เต้าหู้เหลือ น้ำปลา น้ำตาน[8] ตั้งฉ่าย น้ำส้มหรือมะนาว ผักชี ต้นหอม พริกแห้งป่น พริกดอง

วิธีปรุง เนื้อหมู ตับหมู ต้มไห้สุก หั่นชิ้นสี่เหลี่ยมบางๆ เต้าหู้เหลือหั่นชิ้นเล็กๆ ถั่วลิสงขั้วบุบพอแตก เอาของเหล่านี้ไส่จานไว้ต่างหาก ต้มน้ำไห้เดือด เอาเส้นก๋วยเตี๋ยวถั่วงอกไส่ตะกร้อลวดตาข่ายลวกประมาณ 10 วินาที ยกขึ้นสลัดน้ำไห้แห้งแล้วไส่ชามที่สะอาด เอาน้ำมันหมู กะเทียมเจียวไส่ลงไปพอสมควน เคล้าไห้เข้ากันดีแล้ว ไส่น้ำปลา น้ำตาน กุ้งแห้ง ตั้งฉ่าย พริกป่น ถั่วลิสง เนื้อหมูหรือตับหมู น้ำส้มหรือมะนาว พริกดอง ต้นหอมหั่น ผักชีโรยหน้า เมื่อผู้บริโภคชอบรสไดเปนพิเสสก็จะเติมได้ตามต้องการ


2 ก๋วยเตี๋ยวน้ำ

เครื่องปรุง เส้นก๋วยเตี๋ยวไทยหรือเล็ก ถั่วงอก เนื้อหมู ตับหมู กุ้งแห้งตัวเล็ก เต้าหู้เหลือง ตั้งฉ่าย ต้นหอม ไบหอม ผักชี พริกไทยป่น พริกดอง

วิธีปรุง เอากะดูกหมูและกะดูกไก่ไส่ไนหม้อต้ม และไส่เกลือเล็กน้อย เพื่อไห้น้ำเชื้อขาวมีรสดี ถ้าจะไห้รสดียิ่งขึ้นก็ควนไส่กุ้งแห้ง ปลาหมึกสักเล็กน้อย เนื้อหมูตับหมู่ไส่ไนหม้อต้มไปด้วยกัน สุกแล้วตักขึ้นหั่นเปนชิ้นสี่เหลี่ยมบางๆ แล้วเอาเนื้อหมูติดมันเจือกะเทียมเล็กน้อยสับไห้ละเอียดไส่ชามไว้ต่างหาก ไนขณะนี้ไห้เอาเส้นก๋วยเตี๋ยวกับถั่วงอกไส่ไนตะกร้อลวดตาข่ายแช่ลงไปหม้อต้ม แล้วเอาชามที่สะอาดหยิบเนื้อหมูที่สับไส่ชามเล็กน้อย เอาต้นหอมไบหอม ผักชี ตั้งฉ่ายหรือหัวผักกาดเค็ม ที่หั่นไส่ลงไปพอสมควน น้ำปลาไส่เล็กน้อย แล้วตักน้ำเชื้อไนหม้อไส่ลงไปไนชาม แล้วเอาทับพีเคล้าเครื่องปรุงไห้เข้ากัน เอาเส้นก๋วยเตี๋ยวและถั่วงอกที่ต้มไว้ยกขึ้นสลัดไห้แห้ง ไส่ลงไนชาม หยิบเนื้อหมูหรือตับหมูไส่ลงไนชามประมาน 3-4 ชิ้น พริกไทยป่นโรยหน้า เอาน้ำมันหมูกะเทียมเจียวไส่นิดหน่อย รับประทานได้ ถ้าผู้ซื้อจะรับประทานเปนต้มยำ ไห้เติมถั่วลิสงป่น พริกแห้งป่น น้ำตาน พริกดอง


3 ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว

เครื่องปรุง เส้นก๋วยเตี๋ยวเล็กไหย่ ถั่วงอก ไบผักกาดหอม ต้นหอมไบหอม น้ำเต้าหู้ยี้ น้ำปลา พริกดอง น้ำส้ม

วิธีปรุง ไห้เอากะดูกวัวไส่ลงไนหม้อต้ม แล้วเอาเนื้อวัว เครื่องไนวัวต้มลงไปด้วย เอาเส้นก๋วยเตี๋ยวกับถั่วงอกไส่ตะกร้อลวดตาข่าย แช่ลงไปไนหม้อประมาน 15 วินาที แล้วเอาชามที่สะอาด เอาผักกาดหอมเด็ดไส่ก้นชาม แล้วเอาก๋วยเตี๋ยวที่แช่ไว้สลัดน้ำไห้แห้งไส่ชาม หั่นเนื้อและเครื่องไนไส่ ต้นหอมไบหอม น้ำเต้าหู้ยี้ น้ำปลา พริกดอง น้ำส้ม แล้วเอาถ้วยเล็กๆ ไส่พริกดอง น้ำส้ม ไว้ต่างหากเพื่อจิ้มเนื้อวัวกำกับไปด้วย


4 ก๋วยเตี๋ยวไก่

เครื่องปรุง ก๋วยเตี๋ยวเส้นไหย่ เนื้อไก่ ถั่วงอก กุ้งแห้งตัวเล็กหรือกุ้งฝอย ถั่วลิสง เต้าหู้เหลือง น้ำปลา น้ำตาน น้ำส้มหรือมะนาว ตั้งฉ่าย ต้นหอมไบหอม ผักชี พริกป่น พริกแดง

วิธีปรุง หั่นเนื้อไก่ชิ้นบางๆ รวน[9]กับน้ำมันหมู กะเทียมเจียว นอกจากนี้ให้ปรุงหย่างก๋วยเตี๋ยวแห้ง หรือ ก๋วยเตี๋ยวน้ำทุกหย่าง เว้นแต่ไส่เนื้อไก่ที่รวนไว้เท่านั้น


5 ก๋วยเตี๋ยวปูทเล

เครื่องปรุง เส้นก๋วยเตี๋ยวเล็กไหย่[10] ถั่วงอก ปูทเล กุ้งแห้งตัวเล็ก หรือกุ้งฝอย กะเทียมเจียว ถั่วลิสง เต้าหู้เหลือง น้ำปลา น้ำตานซาย น้ำส้มหรือมะนาว ตั้งฉ่าย หรือหัวผักกาดเค็ม ต้นหอมไบหอม ผักชี พริกป่น

วิธีปรุง ต้มปูทเลไห้สุก แกะเอาแต่เนื้อไส่จานไว้ต่างหาก นอกจากนี้ปรุงหย่างก๋วยเตี๋ยวแห้งหรือน้ำทุกหย่าง เว้นแต่ไส่เนื้อปูทเลเท่านั้น


6 ก๋วยเตี๋ยวผัดถั่วงอก

เครื่องปรุง ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ถั่วงอก ไข่เป็ด หัวผักกาดเค็ม ถั่วลิสง น้ำปลา น้ำตาน ไบกุ้ยช่าย พริกป่น มะนาว น้ำมันหมู กะเทียมเจียว ผักหัวปลี ผักไบบัวบก หรือผักอื่นที่ชอบ

วิธีปรุง เอาก๋วยเตี๋ยวกับถั่วงอก ประมานเส้นก๋วยเตี๋ยว 1 ส่วน ถั่วงอก 2 ส่วน ไส่ลงไนกระทะที่ตั้งไฟ แล้วเอาน้ำพรมนิดหน่อย เพื่อไห้เส้นก๋วยเตี๋ยวอ่อนตัวลงแล้วไส่น้ำมันหมูที่เจียวกะเทียม ผัดไห้เข้ากันดีแล้ว แหวกเส้นก๋วยเตี๋ยวไห้เปนช่องตรงกลาง ไส่น้ำมันหมูนิดหน่อย ต่อยไข่ลงไป 1 ฟอง แล้วผัดรวมกันกับเส้นก๋วยเตี๋ยวและถั่วงอก เอาถั่วลิสง น้ำปลา น้ำตานซาย ตั้งฉ่ายหรือหัวผักกาดเค็ม ไบกุ้ยช่ายไส่ลงไป คนไห้เข้ากัน ตักไส่จาน ไส่พริกป่น มะนาวเล็กน้อย ผัก มีหัวปลี ไบบัวบก ไส่ข้างจาน รับประทานได้


7 ก๋วยเตี๋ยวกวางตุ้ง หรือ ก๋วยเตี๋ยวผัดไบกาน้า[11]

เครื่องปรุง ก๋วยเตี๋ยวเส้นไหย่ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ น้ำมันหมู กะเทียม น้ำปลา แป้งมัน ไบกาน้า พริกดอง น้ำส้ม

วิธีปรุง หั่นเนื้อวัว หรือ เนื้อหมู ไห้เปนชิ้นบางๆ เอากะทะตั้งไฟไส่น้ำมันหมู ทุบกะเทียมไส่เจียวพอเหลือง เอาเนื้อไส่ผัดพอสุก ไส้เส้นก๋วยเตี๋ยวผัดไปด้วยกัน เอาแป้งมันละลายน้ำนิดหน่อยไส่ลงไป น้ำปลา ไบกาน้าทุบหั่นไส่ลงไปผัดไห้เข้ากัน ตักไส่จาน พริกไทยป่นโรยหน้า แล้วตักพริกดองไส่ชามเล็กกำกับไปด้วย หรือจะทำโดยวิธีผัดเส้นก๋วยเตี๋ยวไห้สุกไส่จานเสียก่อน แล้วจึงไส่เครื่องพายหลังก็ได้


8 ก๋วยเตี๋ยวผัดกะทิ

เครื่องปรุง ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ถั่วงอก เต้าหู้เหลือง ถั่วลิสงป่น กุ้งแห้งป่น ตั้งฉ่ายหรือหัวผักกาดเค็ม ไบกุ้ยช่าย น้ำปลา น้ำตาน มะนาว น้ำกะทิ หัวปลี

วิธีปรุง เอาเส้นก๋วยเตี๋ยว ถั่วงอก ผัดด้วยน้ำกะทิที่เคี่ยว เต้าหู้เหลืองหั่นเล็กๆ ถั่วลิสงป่น กุ้งแห้ง หัวผักกาดเค็มหรือตั้งฉ่าย น้ำปลา น้ำตาน ไบกุ้ยช่าย ไส่ลงไป ผัดไห้เข้ากันดีแล้ว ตักไส่จาน เอาหัวปลี มะนาวไส่ข้างจาน รับประทานได้[12]


8 ตำรับก๋วยเตี๋ยว โดย กรมประชาสงเคราะห์ หนังสือพิมพ์ศรีกรุง 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485


8 ตำรับก๋วยเตี๋ยวของรัฐในสิ่งพิมพ์อื่น


การเผยแพร่ 8 สูตรก๋วยเตี๋ยวโดยรัฐบาลครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อวงวรรณกรรมอาหารไทย ตำรับทั้ง 8 ชาม/จานนี้ยังปรากฏแทรกพิมพ์ไว้จำนวน 5 หน้า (มีความยาวมากกว่าฉบับหนังสือพิมพ์ แต่โดยสูตรหลักไม่แตกต่าง) ต่อจากตำรับอาหารของ ม.ร.ว. หญิงเตื้อง สนิทวงศ์ (พ.ศ. 2426-2510 ครูใหญ่โรงเรียนสายปัญญาผู้เลื่องชื่อด้านการทำอาหาร)[13]

ภายในหนังสืออนุสรณ์งานศพของนางสงวน ล่ำซำ ชื่อว่า ‘ตำหรับสืบสาย’[14] ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นในระยะเวลาเดียวกันนั้น นางสงวนเป็นภริยาของเจ้าสัวใหญ่แห่งยุค นายจุลินทร์ ล่ำซำ[15] ซึ่งเขียนคำไว้อาลัย ‘ไนชีวิตของเมียฉัน’ ระบุวันเวลาเดียวกับการเผยแพร่สูตรก๋วยเตี๋ยวนี้ คือ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ภายในงานฌาปนกิจศพภริยาคราวนั้น “พนะท่านผู้นำจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัถมนตรี และพนะท่านนายพันโท ท่านผู้หยิงละเอียด พิบูลสงคราม” ได้ให้เกียรติเป็นเจ้าภาพ


ปกหนังสืองานศพ นางสงวน ล่ำซำ พ.ศ. 2485 “ตำหรับสืบสาย”


5 ชามลวก 3 จานผัด

ต้นตระกูลเมนูก๋วยเตี๋ยวไทย


เมื่อพินิจพิเคราะห์จากวัตถุดิบและวิถีปรุงก๋วยเตี๋ยวทั้ง 8 ตำรับนี้ จะพบว่า ‘ชามที่ 1-5’ ใช้กรรมวิธีลวกเส้น ‘จานที่ 6-8’ เป็นการผัด ตัวเส้นจะใช้เส้นเล็กและเส้นใหญ่ เฉพาะชามที่ 1-3 ใช้ทั้ง 2 ชนิดได้หมด มีเฉพาะ ‘ก๋วยเตี๋ยวไก่’ ที่ใช้เส้นใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในสูตรของการลวก ดูเหมือนจะไม่ถึงกับซีเรียสนักกับการใช้ตัวเส้น เมื่อพบว่าสูตรในหนังสือพิมพ์ศรีกรุงให้ใช้ทั้งเส้นเล็กและใหญ่กรณีก๋วยเตี๋ยวปูทะเล แต่ฉบับในหนังสืองานศพกลับพบว่าใช้เพียงเส้นใหญ่ ขณะที่ ‘จานผัด 6-8’ กลับได้รับการระบุอย่างเจาะจง กล่าวคือ สูตร 5 ก๋วยเตี๋ยวผัดถั่วงอก กับ สูตร 8 ก๋วยเตี๋ยวผัดกะทิ ให้ใช้เส้นเล็ก และ สูตร 7 ก๋วยเตี๋ยวกวางตุ้ง หรือ ก๋วยเตี๋ยวผัดไบกาน้า (ฉบับตำหรับสืบสายสะกด ‘คะน้า’) ใช้เฉพาะเส้นใหญ่

ด้านวัตถุดิบ เป็นที่ทราบดีว่าสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้นำรัฐระบอบใหม่สนับสนุนการบริโภคโปรตีน โดยเฉพาะจากแหล่งเนื้อสัตว์ นม ถั่วเหลือง ไข่ ฯลฯ เฉพาะเนื้อสัตว์ที่ใช้จะเห็นได้ว่ามีความหลากหลาย ทั้ง หมู วัว ไก่ ปู กุ้งฝอย ด้านพืชผักก็หลากหลาย ทั้ง ถั่วงอก ผักคะน้า (ฉบับศรีกรุงสะกด ‘ไบกาน้า’ 芥藍) หัวปลี รวมถึงส่วนผสมต่างๆ เช่น น้ำมันหมู น้ำตาล น้ำปลา และเครื่องปรุงจีนอย่าง ตังฉ่าย (冬菜) และ เต้าหู้ยี้ (豆腐乳) อย่างไรก็ตาม สูตรก๋วยเตี๋ยวฉบับนี้ยังไม่พบการใช้คำว่า ‘น้ำปลาถั่วเหลือง’ ซึ่งเป็นคำเรียกสมัยนั้นก่อนจะถูกนิยามทับศัพท์ว่า ‘ซีอิ้ว 豉油’ ในเวลาต่อมา

เมื่อเชื่อมโยงกับก๋วยเตี๋ยวในปัจจุบัน พอจะเห็นเค้าลางได้ว่า สูตร 1-5 คือก๋วยเตี๋ยวลวกใส่เครื่องทั่วไปอันมีอัตลักษณ์ความเป็นไทยในเรื่องการใส่ถั่วงอกบ้าง มะนาวบ้าง แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ‘จานผัด’ ซึ่งดูเหมือนสูตร 6 และ 8 จะเป็นต้นตระกูลของ ‘ผัดไทย’ ในเวลาต่อมา (การใช้เฉพาะเส้นเล็ก ถั่วงอก กุยช่าย ถั่วลิสงป่น พร้อมเสิร์ฟคู่หัวปลี และมะนาวหั่น จะขาดก็เพียงน้ำมะขามเปียกเท่านั้น!) ส่วนสูตร 7 ก็คือบรรพบุรุษของ ‘ราดหน้า’ ที่สังคมไทยคุ้นเคย (การเจาะจงเส้นใหญ่ ใช้แป้งมันทำให้น้ำเหนียว และระบุผัดคะน้า)

ทั้งนี้ ข้อที่ว่าวัตถุดิบก๋วยเตี๋ยวหลากหลายจานต้องมี ‘ถั่วงอก’ นั้น สมัยรัฐบาลจอมพล ป. เคยผลักดันระดับที่ตัวท่านเองเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับครอบครัว ถึงกับเคย ‘ออเดอร์’ พิเศษด้วยเหตุผลการรณรงค์ให้บริโภคถั่วงอกในระยะนั้น คุณจีรวัสส์ ธิดาของท่านเล่าว่า “จอมพล ป. เลยร้องขอ ‘อาหารถั่ว’ สำหรับมื้อเช้าวันหนึ่ง…สุดท้ายได้มื้อเช้าที่เกือบทุกจานมีถั่วงอกเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น แกงจืดถั่วงอก ถั่วงอกยำ ทอดมันถั่วเขียว ฯลฯ”[16]

ครั้นเมื่อเอ่ยถึงชื่อ ‘ผัดไทย’ บุตรสาวท่านนี้ยืนกรานว่าไม่เกี่ยวข้องกับบิดา เธอว่า  “ไม่ใช่ ไม่ใช่เลย ผัดไทยนี่ไม่ใช่ของคุณพ่อ ไม่ใช่ของเรา เขามีมานานแล้ว ที่ราชวงศ์เยอะแยะไป อร่อยจะตาย ป้ากินแต่เด็กๆ แต่เรื่องก๋วยเตี๋ยวนี่ใช่ คุณพ่อให้คนไทยขายก๋วยเตี๋ยว เพราะแต่ก่อนมีเฉพาะคนจีนขายเท่านั้น อันนี้สิผลงาน แต่ผัดไทยไม่ใช่ แล้วหลายคนก็มาพูด ป้าต้องบอกไม่ใช่ ไม่รับเป็นอันขาด คืออะไรที่ไม่ใช่ จอมพล ป. เราก็ต้องไม่รับสิ”[17]

อย่างไรก็ดี ชื่อของก๋วยเตี๋ยวผัดไทยดูเหมือนจะเป็นที่จดจำเคียงคู่กับ จอมพล ป. จนร้านทิพย์สมัย ผัดไทยประตูผีชื่อดังถึงกับนำมากล่าวถึงประวัติร้านไว้ท่อนหนึ่งว่า “วันหนึ่งท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มาลองลิ้มรสฝีมือผัดไทยของคุณสมัย ท่านรู้สึกประทับใจจนเป็นอันต้องเอ่ยปากกล่าวชื่นชมว่า ‘ผัดไทยประตูผีนี่แหละคือรสชาติของผัดไทยที่แท้จริง’”[18]

ถึงวันนี้ในแวดวงวิชาการยังไม่มีข้อยุติว่าชื่อเรียกอาหารยอดนิยม ‘ผัดไทย’ ว่าถูกนิยามขึ้นนับแต่ปีไหน จากการศึกษาของ ผศ.ดร. ชาติชาย มุกสง พบชื่อเมนู ‘ผัดไทย’ ในหนังสือก็ล่วงเข้าถึงปี พ.ศ. 2505 ยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปรากฏใน ‘ตารางอาหารประจำวันคู่มือแม่บ้านทางวิทยุและโทรทัศน์’[19]


ส่งท้าย


เพื่อแสดงให้เห็นภาพที่มาที่ไปก่อนการก่อเกิดของนโยบายเร่งด่วน ‘ก๋วยเตี๋ยว’ ผู้เขียนขอนำเสนอข่าวจากหนังสือพิมพ์ยุคนั้นที่น่าสนใจระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 มาผนวกต่อท้ายบทความ นอกเหนือจากได้เห็นภาพเหตุปัจจัยในการตัดสินใจของรัฐบาลสมัยนั้น ยังได้รับความบันเทิงกับสำนวนและแนวคิดของผู้คนร่วมสมัยดังกล่าวอีกไม่น้อยทีเดียว (คงการสะกดตามต้นฉบับด้วยอักขระปฏิวัติภาษา)

เป็นที่น่าสังเกตว่าเพียงข้ามเข้าสู่เดือนธันวามคมปีเดียวกันนี้เอง ข่าวคราวส่งเสริมเรื่องก๋วยเตี๋ยวก็เริ่มสร่างซาไปจากเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง คงพบเพียงข้อความสั้นๆ ประปราย หรือคล้ายคลึงกับความนิยมปัจจุบันแนว Hashtag (แฮชแท็ก) แทรกระหว่างหน้าเนื้อหาเช่น “อาหารกลางวันของท่านคือก๋วยเตี๋ยว” และ “ไทยต้องกิน ไทยต้องขาย ก๋วยเตี๋ยว”


กาลานุกรม (ไทม์ไลน์) ข่าวหนังสือพิมพ์

ก่อนการมาของก๋วยเตี๋ยว


ตุลาคม พ.ศ. 2485

1 ตุลาคม (ศรีกรุง)

“เคารพทงชาติเวลา 8 น.ทุกวัน พระราชกริสดีกานี้ประกาสบังคับแล้ว”


2 ตุลาคม (ศรีกรุง)

“บทความพิเสส ของ ท่านสามัคคีชัย ท่านว่าทุกๆ ฝ่ายได้ทำการป้องกันน้ำเต็มที่” (สามัคคีชัยคือนามปากกาของ จอมพล ป.)


3 ตุลาคม (ศรีกรุง)

“พนะท่านผู้นำออกตรวดเพื่อเตรียมช่วยผู้ประสบอุทกภัย”


4 ตุลาคม (ศรีกรุง)

“สั่งปิด ร.ร. 1 เดือนด้วยน้ำได้ไหลบ่ามามาก”


14 ตุลาคม (ศรีกรุง)

“น้ำเหนือลดแล้ว หลาย จ.ว.น้ำลดลงเปนปรกติ”


24 ตุลาคม (ศรีกรุง)

“สี่กะซวงตั้งโรงงานทำวุ้นเส้น

ไม่ต้องไช้เครื่องจักร จะตั้งขึ้นหลายแห่ง…ขนะนี้กะซวงอุสาหกัมพร้อมด้วยกะซวงพานิชย์ กะซวงกเสตราธิการ กะซวงการคลัง กำลังร่วมมือกันที่จัดตั้งโรงงานทำวุ้นเส้นขนาดไหย่ขึ้นไนที่หลายแห่ง และได้วางโครงการไว้โดยเรียบร้อย

โรงงานทำวุ้นเส้นนี้ ปรากดว่าการจัดตั้งไม่สู้จะลำบากนัก…”


25 ตุลาคม (ศรีกรุง)

“เร่งส่งเสิมการเลี้ยงสัตว์ 3 ภาค

กรมปสุสัตว์ดำเนินการเร่งมือส่งเสริมเต็มที่

ตามที่เราได้เสนอข่าวไว้แล้วว่า กรมปสุสัตว์และสัตว์พาหนะได้ออกคำชักชวนให้ประชาชนทางภาคเหนือ ภาคอิสาน และภาคไต้ ช่วยกันเร่งทำการเลี้ยงสัตว์ให้มากขึ้น เพราะขณะนี้หลายจังหวัดทางภาคกลางต้องประสบอุทกภัย…”


29 ตุลาคม (ศรีกรุง)

“ทำไร่ถั่วเขียวป้อนโรงงานทำวุ้นเส้น

จะตั้งโรงทำวุ้นเส้นไนที่ต่างๆ หลาย จ.ว. …

แม้ว่าไนประเทสเราจะมีโรงงานทำวุ้นเส้นหยู่ไนเชียงไหม่แล้ว 1 โรง ไปกรุงเทพฯ 4 โรงแล้วก็ตาม แต่ปริมานก็หาเพียงพอแก่การบริโภคของประชาชนไนประเทสไม่ จำเปนต้องสั่งซื้อวุ้นเส้นจากต่างประเทสเพิ่มเติมเข้ามาอีก

อาหารวุ้นเส้นนี้ นอกจากจะมีรสอร่อยแล้ว ยังปรากดว่าเปนประโยชน์ต่อร่างกายเปนอันมาก เพราะวุ้นเส้นทำด้วยถั่วเขียว ซึ่งมีธาตุวิตามิน เอ.บี.ซี…”


29 ตุลาคม

“สั่งไห้ช่วยราสดรเมื่อน้ำลด

โดยจัดหาอาหารและงานไห้เป็นรายบุคคล

ดังที่มีข่าวมาว่า รัถบาลได้เตรียมช่วยเหลือราสดรที่ถูกน้ำท่วมโดยเตรียมเงินไว้ถึง 10 ล้านบาท ทั้งยังได้เตรียมการหย่างอื่นๆด้วย ตามข่าวที่เราได้เสนอแล้วเมื่อ 2-3 วันมานี้นั้น…

กะซวงมหาดไทยได้แจ้งเพิ่มเติมว่า ระหว่างนี้ปรากดว่าพ่อค้าข้าวได้กดราคาซื้อข้าวเปลือกโดยให้ราคาถูกๆ แล้วขายข้าวสารโดยราคาแพงขึ้น จนเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยที่ต้องอาสัยซื้อข้าวสารกิน ซึ่งทางกะซวงมหาดไทยได้แจ้งไปยังกะซวงพานิชเพื่อช่วยเหลืออีกทางหนึ่งแล้ว”


30 ตุลาคม (ศรีกรุง)

“อธิบดีกรมโฆษณาการแถลงข่าว

 การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครั้งนี้ไหย่หลวงมาก

การช่วยเหลือผู้ต้องอุทกภัยไนคราวนี้ก็ได้เคยแถลงมาหลายครั้งแล้วว่า ประชาชนของเราที่ประสบอุทกภัยครั้งนี้ไหย่หลวงมาก น้ำท่วมไนปี พ.ส.2460 ยังไม่สามารถจะเปรียบเทียบกับคราวนี้ได้ ถ้าพูดถึงการช่วยเหลือของรัถบาลซึ่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชนใน พ.ส.2485 นี้ รัถบาลและองค์การต่างๆ ได้ร่วมมือช่วยเหลือกันทันท่วงที ฉะนั้นความเสียหายที่ว่าไหย่หลวงจึงเปนการเสียหายไม่เท่าไดนัก สำหรับขวันของราสดรที่ประสบอุทกภัยนี้ ประชาชนชาวไทยของเราขวันดีเปนที่สุด ได้กัดฟันสู้กับเหตุการน์น่าชมเชยมาก”


ก๋วยเตี๋ยวมาแล้วจ๊ะ!


พฤศจิกายน พ.ศ. 2485

5 พฤศจิกายน ศรีกรุง และ ประชาชาติ พร้อมเพรียงกันลงพาดหัวและเนื้อหา

ต้องการคนไทยที่มีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยว

พนะท่านผู้นำมอบเงิน เพื่อเปนทุนส่งเสิม

ด้วยกรมประชาสงเคราะห์ได้รับบันชา พนะท่านนายรัถมนตรี ให้จัดขายกวยเตี๋ยวตามสถานที่ราชการให้พอเพียงความต้องการ ในการนี้ พนะท่านจะได้มอบเงินเพื่อเปนทุนส่งเสิม ฉะนั้น กรมประชาสงเคราะห์จึงขอประกาสไห้คนไทยที่มีอาชีพทางขายก๋วยเตี๋ยวไปติดต่อขอซาบรายละเอียดที่แผนกกัมกร กรมประชาสงเคราะห์ วังปารุสกวัน ถนนราชดำเนินนอก โดยด่วน.”




7 พฤศจิกายน  

จอมพล ป. ปราศรัยทางวิทยุเรื่องก๋วยเตี๋ยว (ดูรายละเอียดในตัวบทความข้างต้น)


7 พฤศจิกายน (ประชาชาติ)    


“คนขายก๋วยเตี๋ยวไทยมีเครื่องแบบแต่งตัว

ขายก๋วยเตี๋ยวเพิ่มอีก 9 แห่ง

เพื่อความเปนระเบียบเรียบร้อย กรมประชาสงเคราะห์ ได้จัดไห้ผู้ขายก๋วยเตี๋ยวไนความอุปการะของกรมได้มีเครื่องแต่งกายตามแบบของกรมสาธารนะสุขด้วย และจะได้จัดให้มีการขายก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นอีก 9 แห่งไปวันที่ 6 เดือนนี้ คือที่ สำนักงานพระคลังข้างที่ กรมสรรพาวุธทหานเรือ โรงพยาบาลเสนารักษ์ พญาไทย บริเวนที่ทำการไปรสนีย์หน้าพระลาน กรมเชื้อเพลิง กะซวงพานิช สำนักพระราชวัง กองพันทหานม้าที่ 1 และ กะซวงกเสตราธิการ.”


10 พฤศจิกายน (ศรีกรุง)  

ข่าวจอมพล ป. สนับสนุนเงินคนขายก๋วยเตี๋ยวรายละ 30 บาท

“ท่านนายกไห้ยืมทุนค้าก๋วยเตี๋ยว รายละ 30 บ. เพื่อแพร่การขายออกทั่วประเทสโดยเร็ว

โดยความมุ่งหมายที่จะขยายการขายก๋วยเตี๋ยวโดยคนไทยให้มีแพร่หลายทั่วทุกจังหวัดและโรงเรียนทุกแห่งทั่วราชอานาจักร กรมประชาสงเคราะห์ได้วางระเบียบการขายก๋วยเตี๋ยวเพื่อไห้จังหวัดต่างๆ ถือปติบัติไปพลางก่อน โดยสำหรับคนขายไห้พิจารนาแบ่งแยกเปน 3 ประเภท คือ

1. คนไทยที่ทำการค้าหยู่แล้ว แต่ไม่มีทุนเพียงพอจะขยายกิจการหรือปรับปรุงคุนภาพไห้ดีขึ้น

2. ผู้ที่เคยค้ามาแล้ว แต่ต้องเลิกไปเพราะขาดการสนับสนุน

3. ผู้ที่ยังไม่เคยค้าเลย แต่ประสงค์จะทำการค้าตามคำแนะนำ

ทั้งนี้ไห้คัดเลือกช่วยเหลือคนไทยประเภท 1. ก่อน แล้วจึงขยายการช่วยเหลือไปถึงคนประเภทที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ไนเรื่องสถานที่ขายนั้น เมื่อขายตามสถานที่ทำงาน และโรงเรียนได้เปนการเพียงพอแล้ว ขอไห้ขยายการขายไห้เพียงพอสำหรับประชาชนทั่วไปด้วย นอกจากนี้ไห้คอยตรวดตรามารยาทผู้ขาย ไห้ผู้ขายมีกิริยาวาจาสุภาพอ่อนโยน สแดงตนเปนผู้รับไช้ผู้ซื้อโดยสมบูรน์ เช่นไม่กล่าววาจาหยาบคายหรือไม่อ่อนน้อม อันจะเปนเหตุไห้ผู้ซื้อขาดความพอไจ การแต่งกายของผู้ขายก็ต้องสุภาพเรียบร้อยและสอาด ซึ่งไนเรื่องเครื่องแต่งกายนี้ กรมประชาสงเคราะห์จะได้จัดส่งแบบของกองสาธารนะสุขไปไห้ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเพอไนเร็ววันนี้ สำหรับอนามัยของผู้ขายก็เปนเรื่องสำคันที่พึงไห้ได้รับการตรวจโรคจากแพทย์ก่อนเสมอ

ส่วนการช่วยเหลือนั้น กรมประชาสงเคราะห์จะได้ช่วยโดยจะไห้ผู้ขายยืมเงิน ซึ่งได้รับจากพนะท่านนายกรัถมนตรีโดยไม่คิดดอกเบี้ย รายละไม่เกิน 30 บาท โดยไห้ผ่อนไช้พายไนกำหนดเวลา กับช่วยจัดหาและไห้ความสดวกไนเครื่องอุปกรณ์ เช่น หม้อก๋วยเตี๋ยว รถเข็น เรือเร่ ถ้วยชาม เหล่านี้เปนต้น ผู้ไดต้องการจะสั่งจองได้ที่กรมประชาสงเคราะห์

อนึ่ง กรมประชาสงเคราะห์ได้พิจารนาเห็นว่าอาหารอื่นๆ อีกบางอย่าง เช่น เต้าส่วน ลูกบัว ถั่วเขียว ถั่วดำต้มน้ำตาน เต้าฮวย เฉาก๊วย กวยจั๋บ เต้าหู้ทอด เปาะเปี๊ยะสดไส่ถั่วงอก เหล่านี้ เปนอาหารที่มีผู้บริโภคกันหยู่มาก ทั้งวัตถุที่ไช้สำหรับประกอบส่วนมากก็เปนอาหารถั่วมีประโยชน์แก่ร่างกายและหาได้ไนประเทศไทยทั้งสิ้น จึงได้ดำหริจะจัดไห้คนไทยได้ทำการค้าอาหารประเภทดังกล่าวนี้ต่อไปด้วย คนไทยผู้ไดประสงค์จะได้รับความช่วยเหลือไนเรื่องเหล่านี้ประการได จะติดต่อสอบถามได้ที่กรมประชาสงเคราะห์ วังปารุสกวัน.”


11 พฤศจิกายน (ประชาชาติ)

“ท่านนายกฯชักชวนไห้อธิบดีจัดขายก๋วยเตี๋ยว

ชักชวนไปยังข้าหลวงและนายอำเพอด้วย

เมื่อวันที่ 8 เดือนนี้ พนะท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีคำชักชวนถึงอธิบดีทุกกรม ครูอาจารย์ไหย่ทุกโรงเรียน ทุกท่านข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเพอทุกท่านความว่า

ฉันพิจารนาเห็นว่าก๋วยเตี๋ยวเปนอาหารหย่างดีของประชาชนทั่วไปและเปนทางหนึ่งช่วงให้ราสดรมีอาชีพหลายประการ จึงขอแรงท่าน…ได้ช่วยจัดการขายก๋วยเตี๋ยวคนละ 1 หาบ การขายนี้จะเปนส่วนตัวของท่านเองหรือเปนของหน่วยราชการ หรือจ้างคนไทยขายก็ได้ สุดแต่จะสะดวกไจของท่าน ถ้าท่านผู้ไดได้จัดการขายขึ้นเส็ดแล้ว กรุนาแจ้งมาให้ซาบยังทำเนียบสามัคคีชัย จะขอบไจมาก.”


12 พฤศจิกายน (ศรีกรุง)

“ประชาสงเคราะห์เปนธุระไห้แก่ผู้จะค้าก๋วยเตี๋ยวดียิ่ง

หลายจังหวัดติดต่อมายังกรมประชาสงเคราะห์ เพื่อขอเครื่องมือเกี่ยวกับการค้าก๋วยเตี๋ยว

ตามที่พนะท่านนายกรัถมนตรีได้มีคำชักชวนไปถึงอธิบดีทุกกรม ครูอาจารย์ไหย่ทุกโรงเรียน ข้าหลวงประจำจังหวัดทุกแห่ง นายอำเพอทุกท่าน ไห้ทำการส่งเสิมไห้ประชาชนได้ดำเนินการค้าก๋วยเตี๋ยวนั้น

ไนเรื่องนี้เปนเรื่องที่จะต้องจัดการส่งเสิมไห้ประชาชนทุกจังหวัดได้ดำเนินการประกอบอาชีพการค้าก๋วยเตี๋ยวไห้มีปริมานเพิ่มขึ้น ซึ่งไนเบื้องต้นนี้กรมประชาสงเคราะห์ได้เริ่มจัดงานส่งเสิมไห้มีร้านขายก๋วยเตี๋ยวขึ้นตามสถานที่ราชการต่างๆ ไนจังหวัดพระนครก่อน โดยไห้ผู้ยืมเงินซึ่งพนะท่านนายกรัถมนตรีได้มอบไห้รายละ 30 บาท ซึ่งเมื่อได้ส่งเสิมไห้มีร้านขายก๋วยเตี๋ยวตามสถานที่ราชการ โรงเรียนและที่สำคันแห่งอื่นๆหมดแล้ว ก็จะได้เปิดการส่งเสิมไห้ดำเนินการขายก๋วยเตี๋ยวหาบเร่ต่อไป

สำหรับจังหวัดและอำเพอต่างๆนั้น กรมประชาสงเคราะห์จะได้ขอความร่วมมือจากคนะกรมการจังหวัดและคนะกรมการอำเพอไห้ส่งเสิมไห้ประชาชนดำเนินอาชีพการค้าก๋วยเตี๋ยวขึ้นตามสถานที่ราชการต่างๆ เช่น สาลากลาง สาล โรงเรียน อำเพอ และที่ตลาดต่างๆ ตามที่เห็นสมควน ถ้าจังหวัดได อำเพอไดต้องการความสะดวกไนการจัดหาเครื่องอุปกรณ์ เช่น หม้อ ชาม รถเขน เรือเร่ หาบ กรมประชาสงเคราะห์ยินดีที่จะไห้ความสดวกไนการจัดหาไห้ ส่วนผู้ไดต้องการเงินของพนะท่านนายกรัถมนตรีเปนจำนวนรายละ 30 บาทนั้น ไห้คนะกรมการอำเพอ คนะกรมการจังหวัดดำเนินการ เสนอเรื่องมายังกรมประชาสงเคราะห์ เพื่อกรมประชาสงเคราะห์ได้พิจารนาเปนรายๆไป

นอกจากนี้กรมประชาสงเคราะห์ยังได้พิจารนาที่จะจัดตั้งโรงงานทำเส้นก๋วยเตี๋ยวไทย โรงงานเพาะถั่วงอก และโรงงานทำเครื่องก๋วยเตี๋ยวต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกไห้แก่ผู้ค้าก๋วยเตี๋ยว ซึ่งจะซื้อสิ่งของเหล่านี้โดยราคาถูกไนโอกาสต่อไป

สำหรับจังหวัดและอำเพอต่างๆนั้น กรมประชาสงเคราะห์จะได้ส่งคำแนะนำไนการค้า การเพาะถั่วงอก การทำเส้นก๋วยเตี๋ยว และตลอดจนเครื่องแบบการค้าก๋วยเตี๋ยว รวมทั้งคำแนะนำไปเรื่องการตรวดอนามัยของผู้ขาย ไปยังคนะกรมการจังหวัด และคนะกรมการอำเพอต่อไป

ส่วนเงินที่พนะท่านนายกรัถมนตรีที่ได้มอบไห้แก่กรมประชาสงเคราะห์ไว้เปนทุน และรางวันไนการดำเนินการค้าก๋วยเตี๋ยวนั้น กรมประชาสงเคราะห์จะได้จัดตั้งคนะกัมการขึ้นคนะหนึ่งพิจารนาจัดประเภทรางวันเปนชนิดไห้แก่ผู้ค้าก๋วยเตี๋ยว ส่วนตามจังหวัดต่างๆ ก็จะไห้มีการชิงรางวันด้วยเหมือนกัน.

อนึ่ง เปนที่น่ายินดีเปนอันมาก นับตั้งแต่กรมประชาสงเคราะห์ได้เริ่มจัดงานส่งเสิมนั้น ประชาชนชาวไทยได้ต้อนรับการค้าก๋วยเตี๋ยวของไทยเปนหย่างดี และมีประชาชนชาวไทยไปขอรับการช่วยเหลือไนการค้าก๋วยเตี๋ยวจากกรมประชาสงเคราะห์อีกเปนจำนวนมาก ส่วนไนจังหวัดต่างๆ ตามรายงานข่าวที่ได้รับก็ปรากดว่าได้มีผู้ค้าก๋วยเตี๋ยวไทยเกิดขึ้นเปนจำนวนมากแล้ว เปนที่เชื่อว่างานค้าก๋วยเตี๋ยวของไทย คงจะได้เปนปึกแผ่นไนเร็วๆนี้”


12 พฤศจิกายน (ศรีกรุง)

“ไทยขายก๋วยเตี๋ยวเพิ่มจำนวนรวดเร็ว สถานที่ราชการเปิดเกือบหมดทุกแห่งแล้ว

กะซวงกเสตราธิการ เชิงสะพานอุบลรัตน์ เปนแหล่งขายก๋วยเตี๋ยวที่สำคันแห่งหนึ่ง ผู้ขายเปนสตรีล้วน แต่งเครื่องแบบสอาดเรียบร้อย การขายไนชั้นต้นเฉพาะวันแรก ขายได้ 8 บาทเสส และสถิติวันสุดท้ายขายได้ 14.75 บาท ในเวลา 12.00 น. จะมีข้าราชการตั้งแต่ชั้นเจ้าพนักงานหัวหน้าแผนก หัวหน้ากอง กรม และถึงอธิบดีรับประทานก๋วยเตี๋ยวกันเปนจำนวนมาก และทั้งท่านรัถมนตรีว่าการกะซวงเองก็สั่งก๋วยเตี๋ยวไปรับประทาน…ก๋วยเตี๋ยวไนย่านนี้จะเพิ่มพูลรายได้และความนิยมยิ่งขึ้น

สำนักพระราชวังเปิดขายในพระราชวังเลยทีเดียว ซาบว่าการจำหน่ายหยู่ไนระดับดี และกำลังจะดียิ่งขึ้นไปอีก”


12 พฤศจิกายน (ประชาชาติ)

“ปติวัติการค้า

นะบัดนี้ การค้าอาหารประจำวันโดยน้ำพักน้ำแรงของพี่น้องชาวไทยกำลังได้รับความฟื้นฟูจากพนะท่านผู้นำเปนการไหย่ ผลสำเหร็ดที่ได้รับเนื่องไนการนี้ เปนอีกก้าวหนึ่งที่ทำไห้ชาติจเรินก้าวหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย

อันที่จิง การค้าอาหารประจำวันนั้น ชาวเราไม่ไคร่เอาไจไส่มาแต่กาลก่อน เห็นเสียว่าเปนของเล็กๆน้อยๆ เปนต้นว่า การขายก๋วยเตี๋ยวเราก็ได้มองข้ามไปเสีย ไม่เหลียวแล เมื่อเราไม่เอาไจไนที่สุด การขายขนมนมเนยและอาหารต่างๆ เช่นเข้าแกง หรือฟักทองต้มน้ำตาน สาคูเปียกตลอดจนถึงขนมจีนน้ำยา ก็ได้เปลี่ยนมือไปหยู่กับบุคคลต่างชาติ อันเปนที่น่าเสียดายยิ่งนัก.

…ชาวเรายึดไนหลักการของเราเองว่า ‘เชื่อมั่นและทำตามท่านผู้นำ’ ชาวเราจำต้องปติบัติโดยเคร่งครัด โคสกทางวิทยุกะจายเสียงได้กล่าวสแดงทางวิทยุเมื่อคืนวันที่ 8 เดือนนี้ว่า ‘เรื่องก๋วยเตี๋ยวนี้แหละ จะเปนเรื่องเปิดฉากสำคันที่จะนำเราไปสู่การทำมาหากินไหย่ๆสำเหร็ดได้’…”


13 พฤศจิกายน (ศรีกรุง)

“เลี้ยงก๋วยเตี๋ยวไนทำเนียบ

รัถมนตรีและอธิบดีปรุงก๋วยเตี๋ยวเอง…”

“ขายก๋วยเตี๋ยวช่วยอุทกภัย สมเด็ดพระพันวัสสาส่งสมทบอีก 800 บาท”


14 พฤศจิกายน  (ศรีกรุง)

“กรมประชาสงเคราะห์แนะ วิธีการทำและปรุงก๋วยเตี๋ยว” (รายละเอียดเสนอไปแล้วในตัวบทความ 8 ตำรับ)


14 พฤศจิกายน (ศรีกรุง)

“ส้างรถเร่ขายก๋วยเตี๋ยวส่งทั่วประเทส

กรมประชาสงเคราะห์ออกแบบไว้เรียบร้อย

การค้าก๋วยเตี๋ยวของประชาชนไนความอุปการะของกรมประชาสงเคราะห์ไนระยะกาลเวลาที่ผ่านพ้นมา 2-3 วันนี้ ได้มีข่าวคืบหน้าต่อไปว่า บัดนี้กรมประชาสงเคราะห์ หาทางเพื่อไห้ความสะดวกแก่บันดาผู้ที่จะต้องการค้ายิ่งขึ้น อาทิ เช่นขนะนี้กรมประชาสงเคราะห์กำลังดำหริที่จะส้างรถเข็นสำหรับเร่ขายก๋วยเตี๋ยวขึ้น ความประสงค์ไนการส้างรถเข็นนี้ก็เพื่อจะไห้การค้าก๋วยเตี๋ยวแพร่หลาย โดยที่ผู้ค้าไม่สามาถจะหาบไปได้ไกลๆ ก็จะได้อาสัยรถเข็นนี้ รถเข็นตามที่ว่านี้หยู่ไนระหว่างส้าง และเมื่อสำเหร็ดเรียบร้อยแล้ว กรมประชาสงเคราะห์จะเปิดโอกาสไห้ผู้ต้องการค้าก๋วยเตี๋ยวเช่า หรือผู้ที่มีความประสงค์จะซื้อก็จะขายไห้เลยทีเดียว แบบของรถเข็นนี้ ซาบว่าเปนแบบพิเสส กรมประชาสงเคราะห์เปนเจ้าของแบบและจะได้จัดการพิมพ์แบบส่งออกไปตามต่างจังหวัด เพราะมีความมุ่งหมายว่าจะไห้รถเข็นเร่ขายก๋วยเตี๋ยวนี้เปนแบบหย่างเดียวกันทั่วราชอานาจักร์ ตลอดจนการทาสีก็จะไช้สีเดียวกัน ส่วนการอนุเคราะห์และไห้ความสดวกแก่ผู้ต้องการค้าก๋วยเตี๋ยวนั้น ก็ยังดำเนินหยู่เปนปรกติ ข่าวที่ได้รับซาบมาด้วยความยินดีก็คือนอกจากเส้นก๋วยเตี๋ยวและถั่วงอกที่กรมประชาสงเคราะห์จัดไห้มีจำหน่ายขึ้น ด้วยราคาเยากว่าที่อื่นแล้ว กรมประชาสงเคราะห์ยังจะได้จัดหาชาม และเครื่องไช้อื่นๆ อันเปนส่วนประกอบไนการขายก๋วยเตี๋ยวมาจำหน่ายไห้ไนราคาถูกอีกด้วย”


17 พฤศจิกายน

“วันอาทิจที่ 15 พรึสจิกายน ฉันไปบ้านกลางนาที่หลักสี่ตอนกลางวัน ฉันนึกได้ว่าที่อำเพอบางเขน นายกรัถ-มนตรีชมเชยนายอำเพอบางเขนว่าจัดการขายก๋วยเตี๋ยวเร็วทันไจ พอจวนเที่ยงฉันหยากลองฝีมือก๋วยเตี๋ยวอำเพอบางเขนบ้าง ไห้คนไปซื้อ แต่ผู้ไปซื้อกลับมาบอกว่า วันนี้วันอาทิจ หยุดขายก๋วยเตี๋ยว เห็นแต่เครื่องขายหยู่ไนบ้าน ฉันเลยอดก๋วยเตี๋ยว ดีเหมือนกัน ฉันจึงได้ความรู้ไหม่ว่าก๋วยเตี๋ยวราชการหรือของคนไทยนั้น วันหยุดราชการไม่มีขายเพราะต้องหยุดราชการ และซาบเช่นเดียวกันว่า การขายก๋วยเตี๋ยวของราชการกรมประชาสงเคราะห์ก็หยุดราชการเหมือนกัน ตกลงเปนประเพนีได้ว่า ท่านผู้ไดจะกินก๋วยเตี๋ยววันหยุดราชการ ไห้ไปหาก๋วยเตี๋ยวที่จีนขาย ของไทยหยุดราชการ และฉันทายว่า อีกราวหนึ่งเดือนทั้งวันหยุดหรือไม่หยุดราชการ เราจงพากันไปกินก๋วยเตี๋ยวของพี่น้องชาวจีนเถิด ของชาวไทยล้มหมดแน่นอน…อนิจจา น่าอนาถชาติไทยของเรา เอาแต่สนุก สบาย สดวก สวยหรู ฉันเห็นทำกันหย่างนี้ คอยดูไปไม่ช้าหัวเข่าจะไม่มีเช็ดน้ำตาด้วย การขายก๋วยเตี๋ยวเปนปรอทวัดการงานอื่นไหย่น้อยของชาติหย่างดี ฉันจึงนำมาพูดหย่างเอาไจไส่ เปนการช่วยรัถบาลท่านตามหน้าที่พลเมืองดี…

เมื่อวานนี้ ฉันซาบว่า นายกรัถมนตรีได้พบปะและคุยกับท่านรัถมนตรีบางท่าน ฉันฟังและขอเก็บมาเล่าพอเปนคติคือ

เมื่อเวลากินข้าวกลางวัน ท่านรัถมนตรีกะซวงสึกสาพูดว่า เวลานี้ทางราชการได้เพาะความนิยมการกินก๋วยเตี๋ยวแก่คนไทย ชาวจีนหัวเราะชอบมาก มีผู้ถามท่านว่า เพราะอะไร? ท่านตอบว่า เพราะเมื่อคนไทยชอบกินก๋วยเตี๋ยวก็ไปกินก๋วยเตี๋ยวจีนมากขึ้น ฉันเห็นจิงด้วย จะเปนอะไรไป เรา 2 ชาติเปนพี่น้องกัน ยิ่งกว่านั้นฉันยังมองเห็นรางๆ แล้วว่า ไม่ช้าการขายก๋วยเตี๋ยวของไทยก็เลิกหมดด้วยซ้ำไป หย่างกิจการไหย่น้อยทั้งหลาย ทำกันพักหนึ่งเหมือนไต้ฝุ่น แล้วก็สูนย์ไป”


18 พฤศจิกายน (ศรีกรุง)

“นำถั่วเขียว ถั่วทอง ไปแจกจ่ายราสดรด้วย

นับตั้งแต่ได้เกิดอุทกภัยขึ้นในจังหวัดต่างๆ ทางภาคกลางและภาคเหนือนั้น ปรากดว่าข้าวไนนาของชาวนาหลายจังหวัดได้รับความเสียหาย จากเหตุนี้ได้ซาบว่ากะซวงกเสตราธิการได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำหรวดการเสียหายข้าวตามจังหวัดต่างๆที่ถูกน้ำท่วม เพื่อจะไห้ดำเนินการช่วยเหลือ…”


19 พฤศจิกายน (ศรีกรุง)

“ผลการประชุมเรื่องการขายก๋วยเตี๋ยว ไห้ทุกหน่วยราชการจัดการขายก๋วยเตี๋ยว”


24 พฤศจิกายน (ศรีกรุง)

“ก๋วยเตี๋ยวไทยมีทุกโรงเรียน

คนไทยจัดตั้งโรงงานทำเส้นก๋วยเตี๋ยวขาย

การค้าก๋วยเตี๋ยวไนปัจจุบันนี้นับว่าได้จเรินและขยายตัวกว้างขวางขึ้นอีกเปนลำดับ ตามสถานที่ราชการได้เปิดการขายก๋วยเตี๋ยวแล้วแทบทุกแห่ง และโดยเฉพาะตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งโรงเรียนราสดร์ และโรงเรียนรัถบาล ได้มีการขายก๋วยเตี๋ยวไห้เปนอาหารกลางวันแก่นักเรียนกันแล้วเปนส่วนมาก และทั้งปรากดว่าเปนที่นิยม แก่บันดาผู้ที่รับประทานยิ่งกว่าอาหารประเภทอื่น

หาบและร้านค้าก๋วยเตี๋ยวซึ่งนำไปขายยังโรงเรียนต่างๆนั้น เปนหาบและร้านค้าของคนไทย และโรงเรียนก็ได้ไห้ความสะดวกแก่ผู้ขายเปนหย่างดี ขนะนี้อาดจะกล่าวได้ว่า ไม่มีหาบหรือร้านค้าซึ่งเปนชนต่างชาติมีโอกาสเข้าไปขายไนโรงเรียนต่างๆได้อีกแล้ว และนับวันจะหายไปทุกที ทั้งนี้เปนการสแดงว่าชาวไทยได้รู้จักก๋วยเตี๋ยวดีแล้วทั้งผู้ขายและผู้รับประทาน

อนึ่ง  เพื่อความสะดวกไนการหาซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวเพื่อนำไปประกอบจำหน่าย เราได้ซาบว่ามีคนไทยผู้หนึ่งได้ตั้งโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวออกจำหน่าย ซึ่งขนะนี้ได้เริ่มจัดการทำหย่างจิงจังแล้ว โรงงานนี้ชื่อ “แสงเพชร” ตั้งหยู่ที่อาคาร 8 เลขที่ 45 ถนนราชดำเนินกลาง ซาบว่าโรงงานนี้ไช้คนงานไทยและทำเส้นก๋วยเตี๋ยวได้ด้วยความสอาดเรียบร้อย


ผู้เขียนขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยการชักชวนฟัง ‘เพลงก๋วยเตี๋ยว’ เวอร์ชั่น มหกรรมคอนเสิร์ต 50 ปี เพลงไทยสากล กองทุนอนุสรณ์ผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ณ หอประชุมธรรมศาสตร์ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2526 เพลงก๋วยเตี๋ยว เป็นหนึ่งในเพลงยุครัฐนิยมของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อรณรงค์ให้คนไทยหันมาทานก๋วยเตี๋ยว


YouTube video


“ก๋วยเตี๋ยวมาแล้วจ้า ก๋วยเตี๋ยวจ้า ก๋วยเตี๋ยวเอ๊ย ของไทยใช้พืชผล เกิดในไทยรัฐทั้งสิ้น ทรัพย์ในดินหาได้ทั่วไป ช่วยซื้อขายกันให้มั่งมี เพราะไทยเรานี้ช่วยกันตลอดไป…(มาสิจ๊ะ)

ก๋วยเตี๋ยวอร่อยจ้า ก๋วยเตี๋ยวรสจ้า ก๋วยเตี๋ยวเชิญครับ ฉันชิมบ้างสิ อยากลองแห้งสักชาม…

ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยว (ทั้งแห้งและน้ำ) ไหนเอามาสิ อยากลองน้ำสักชาม…

ก๋วยเตี๋ยว (เร็วๆ) ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยว ไทยปรุงรสอร่อย สะอาดงาม ขายตามระเบียบดี…

ก๋วยเตี๋ยว (อร่อยไหมจ๊ะ) ก๋วยเตี๋ยว ของไทยใช้พืชผล เกิดในไทยรัฐทั้งสิ้น ทรัพย์ในดินหาได้ทั่วไป ช่วยซื้อขายให้มั่งมี เพราะไทยเรานี้ช่วยกันตลอดไป…

ก๋วยเตี๋ยวจ้า ก๋วยเตี๋ยว (ตับไส้เนื้อหมู มีทั้งสิ้น) (เชิญจ้า)  ไหนลองต้มยำ ไม่ใส่พริกสักชาม (เห้ยต้มยำบ้าไรไม่ใส่พริก)

ก๋วยเตี๋ยว (เร็วๆเดี๋ยวหมดนะจ๊ะ) (เชิญๆๆ ทุกคนมารับประทานก๋วยเตี๋ยวกันครับ) ฉันเคยกินแล้ว ใช่เจ้านี้อร่อยดี

ก๋วยเตี๋ยว (ใครเอาไม่งอกบอกด้วยนะจ๊ะ) (เอาเลือดด้วยไหม ตับสดๆก็มีนะครับ) (อร่อยไหม) (เชิญๆๆ ส่งได้ตามความชอบใจ) (อ่าวคนนู้นว่าไงครับ) (ไม่เอาหรอ) (ต้มยำไม่ชอบ) (ใส่งอกป่าว)”[20]


บทความชิ้นนี้ขออุทิศแด่ ‘อาแหมะ’ ผู้เลี้ยงดูผู้เขียนให้เติบโตมากับสารพัดความอร่อยของ ‘ก๋วยเตี๋ยว’



[1] สุมณฑา ศักดิ์ชัยสมบูรณ์, เพลงไทยสากลตามนโยบายของจอมพลป.พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487, วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2540, น.78.

[2] อ้างแล้ว,น.149.

[3] ดูภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2485 ถ่ายทำโดย นายแท้ ประกาศวุฒิสาร เผยแพร่โดย หอภาพยนตร์ เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/HsdhU

[4] จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม, อยากลืมกลับจำ, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2561 (มติชน), น.145.

[5] จอมพล ป.  ปราศรัยทางวิทยุเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2485 ดู ระดม พบประเสริฐ, ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการกินอาหารไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2549, น.75.

[6] ดูรายละเอียดการปฏิวัติภาษาในบทความของผู้เขียน นริศ จรัสจรรยาวงศ์, พุทธทาส กับ คณะราษฎร 90 พรรษสวนโมกข์ 90 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง เข้าถึงได้จาก https://www.the101.world/buddhadasa-bhikkhu-revoluiton-2475/

[7] ประวัติวิวัฒนาการ ของ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย มิตรสหาย จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพและฌาปนกิจศพ นายบุญส่ง บรรจงโพธิ์กลาง และ นายสุรชัย บรรจงโพธิ์กลาง ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร 27 มกราคม 2509, (โรงพิมพ์ของโรงเรียนประชาสงเคราะห์), น.-๓-.

[8] ตำหรับสืบสายหน้า -๑- พิมพ์เป็น ‘น้ำตาล’

[9] ตำหรับสืบสายหน้า -๓- พิมพ์เป็น ‘รวม’

[10] ตำหรับสืบสายหน้า -๔- ใช้เฉพาะเส้นใหญ่ พิมพ์ว่า ‘ก๋วยเตี๋ยวไหย่’

[11] ตำหรับสืบสายหน้า -๕- พิมพ์ว่า ‘คะน้า’

[12] กรมประชาสงเคราะห์แนะวิธีการทำและปรุงก๋วยเตี๋ยว, สรีกรุง วันเสารที่ 14 พรึสจิกายน 2485, น.5 ต่อ น.11.

[13] ตำรับอาหาร ของ ม.ร.ว. หญิงเตื้อง สนิทวงศ์ โรงเรียนสายปัญญา และ สายปัญญาสมาคม ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดพิมพ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว.หญิงเตื้อง สนิทวงศ์ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 14 มีนาคม พ.ศ. 2511,

[14] การทำและปรุงก๋วยเตี๋ยว ใน ตำหรับสืบสาย รวมรวมและเรียบเรียง โดย ม.ร.ว.หยิงเตื้อง สนิทวงศ์ พนักงานบริสัทไทยนิยมพานิช จำกัด พิมพ์แจกไนงานชาปนกิจสพ นางสงวน ล่ำซำ นะ วัดไตรมิตต์วิทยาราม ๒๔๘๕, (โสภนพิพัทธนากร), น.-๑- ถึง -๕-,

[15] ความสนิทชิดเชื้อของเจ้าสัวท่านนี้กับจอมพล ป. ดู จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม, อยากลืมกลับจำ, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2561 (มติชน), น.143.

[16] จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม, อยากลืมกลับจำ, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2561 (มติชน),น.136.

[17] อ้างแล้ว, น.144-145.

[18] ความเป็นมา ทิพย์สมัย ผัดไทยประตูผี เข้าถึงได้จาก https://thipsamai.com/thai/story-thipsamai/

[19] “ผัดไทย” ไม่ใช่นวัตกรรมอาหารของจอมพล ป. !? ดูนาทีที่ 3:50 เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/watch/?v=585102619496023

[20] ดู เลาะถนนเส้นก๋วยเตี๋ยว ผลตกค้างจากรัฐนิยมไทย เข้าถึงได้จาก https://shorturl.asia/AiIzV

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save